ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : ปลายแถว (ตอนที่ 1)

11
มิถุนายน
2566
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2503 ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดน และในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. 2531 หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อย วันวานในโลกกว้าง ฝากไว้ในบรรณภิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำ วันวานในโลกกว้าง สู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม 2543

 

 

เช้าวันหนึ่งกลางเดือนกรกฎาคม ท้องฟ้าใสกระจ่างปราศจากฝุ่นละอองหลังจากถูกฝนชำระล้าง พายุฝนเมื่อคืนวานยังทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น พื้นดินชุ่มฉ่ำเกือบเฉอะแฉะ กิ่งไม้เล็กๆ ตกเกลื่อนเต็มสนาม กิ่งมะพร้าวสีเขียวอมน้ำตาลก้านหนึ่งหักพับคาต้น ที่เหลือโบกพัดไหวๆ น้ำในคลองสีลมถูกพายุฝนกวนเป็นสีเหลืองขุ่น เรือขายถ่านร้องโหวกเหวกเรียกลูกค้ามาแต่ไกล ประสานเสียงกริ๊งกร๊างของรถรางที่แล่นไปมา

ริมฝั่งคลองสีลมเรียงรายด้วยบ้านเรือนของเจ้านาย ขุนนาง พ่อค้าวาณิช และสามัญชน อาณาบริเวณใหญ่เล็กต่างกันไป บ้างทรงตึกฝรั่ง บ้างเป็นเรือนไม้แบบไทยตามฐานะของเจ้าของบ้าน ส่วนบ้านสวนของชาวสีลมดั้งเดิมหลบอยู่ในดงผลหมากรากไม้ อย่างเช่นต้นมะม่วง ต้นมะขาม ต้นมะตูม ต้นมะกอกน้ำ... ดินดำน้ำชุ่ม ทำให้เจ้าของสวนมีผลไม้ไว้กินตลอดปีไม่เคยขาด

 

 

ชาวสยามต้อนรับชาวต่างชาติต่างภาษาด้วยน้ำใจไมตรี คนผิวเหลือง ผิวขาว ผิวดำ รวมกันเป็นชุมชนสีลม ชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวเยอรมนี ชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกส ตั้งรกรากทำมาหาเลี้ยงชีพบนถนนสายนี้ร่วมกับชาวสยามอย่างกลมกลืน

จากด้านถนน ข้ามสะพานไม้มาอีกฝั่งหนึ่งของคลอง ตึกสีนวลหลังกะทัดรัดตั้งเด่นถนัดจากสนามหญ้า หลังคาปูด้วยกระเบื้องสีน้ำตาลเทลาด หน้าต่างทุกบานเปิดรับแสงสว่างของรุ่งอรุณ

ภายในบ้านดูจะชุลมุนวุ่นวายไม่น้อย หมอไหมพรมถูกตามตัวมาตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง

“รีบต้มน้ำร้อนเถอะครับ จวนจะคลอดแล้ว” เสียงคุณหมอสั่ง

“หัวเด็กออกมาแล้ว”

ผู้เป็นมารดาใช้ศอกแขนพยุงกายลุกขึ้นกึ่งนั่งกึ่งนอน

“ไหล่เด็กกว้าง” ด้วยท่าทางทะมัดทะแมง หมอไหมพรมผู้มีประสบการณ์ในการทำคลอด ใช้มือขวาช้อนศีรษะทารกไว้ มือซ้ายจับหัวไหลให้ตะแคงตัวออกมาสู่โลกกว้าง

“อุแว้ อุแว้” ทารกน้อยแผดเสียงร้องลั่น

หมอไหมพรมวางทารกแรกเกิดตัวแดงๆ บนอกของแม่อย่างเบามือ

“ลูกสาวคนเล็กของเราตัวโตเชียว”

พ่อบีบมือแม่แน่นด้วยความดีใจ ปลายลืมตาดูโลกในครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น เป็นปลายแถวในบรรดาพี่ๆ น้องๆ 6 คน พ่อของปลายรับราชการกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันเป็นผู้ประสิทธิ์วิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมจักร ส่วนแม่ทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลทุกข์สุขของสมาชิกในครอบครัว

 

 

ปลายเป็นเด็กเลี้ยงง่าย เมื่อใช้ปากน้อยๆ ดูดนมแม่จนเต็มอิ่มแล้วก็หลับปุ๋ย พี่ๆ ของปลายชอบวิ่งมาดูน้องน้อยของตน เมื่อปลายตื่นขึ้นมาหัวเราะเอิ๊กอ๊ากทักทายพี่ๆ พอเออๆ อาๆ ได้สักพัก ปลายก็ร้องไห้

“ไม่เป็นไรหรอก น้องกำลังหิวจ้ะ” แม่อุ้มปลายขึ้นจากเตียง ในอ้อมแขนที่อ่อนนุ่มของแม่ ปลายหยุดร้องไห้ จากนั้นดูดนมจ๊วบจ๊าบอย่างเอร็ดอร่อย

เมื่อปลายอายุ 1 เดือน แม่ไม่มีน้ำนมให้ปลายกิน แม่ต้องชงนมผงใส่ขวดนมไว้ แรกๆ เมื่อจุกนมขวดแหย่เข้าไปในปาก ปลายใช้ลิ้นดุนออกมา ปลายร้องไห้ประท้วง นมอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะหอมหวานเหมือนน้ำนมแม่ ต่อมา ความหิวทำให้ปลายดูดนมขวดหมดในเวลาอันรวดเร็ว

คราใดที่พ่อของปลายว่างเว้นจากงานราชการที่รัดตัว พ่อร้อง “นะ...นิง...นอย…” ให้ปลายฟัง ตอนนั้นปลายมีความสุขมาก บางทีก็ชูมืออวบเล็กๆ บางทีก็กระพือปีก โยกขาเคลื่อนไหวไปมาตามจังหวะเพลงในอ้อมอกของพ่อ

 

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ปลายแถว,” ใน วันวานในโลกกว้าง (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543), น. 1-3.