ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “ก้าวสู่มหาวิทยาลัยชีวิต” (ตอนที่ 31)

30
มีนาคม
2567

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

ฤดูร้อนเมื่อพุทธศักราช 2508 ปลายสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเป่ยจิ๊งซื้อฟ่านต้าซูเอ๋ ไม่มีพิธีรับปริญญา ปลายไปรับปริญญาบัตรเป็นสมุดปกผ้าไหมสีแดงจากเจ้าหน้าที่ธุรการ เปิดออกดูมุมหนึ่ง ด้านขวามีรูปปลายติดอยู่ระบุชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด สัญชาติ กับวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษา ลงนามโดยศาสตราจารย์เฉิน หยวน อธิการบดี แล้วประทับตราของมหาวิทยาลัย

ปริญญาบัตรใดๆ ไม่ได้ระบุระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ในความคิดของคนจีนขณะนั้นปริญญาบัตรก็แค่กระดาษใบหนึ่ง หรือสมุดเล่มหนึ่งเท่านั้นเอง

ปลายก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปริญญาบัตรเช่นกัน จนกระทั่งจากเมืองจีนมาพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส

ปลายใช้ปริญญาบัตรที่ได้รับการรับรองโดยสำนักงาน Public Notary[1] กรุงปักกิ่ง และสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐราษฎรจีนประจำกรุงปารีส ไปสมัครทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยปารีส 3 ซึ่งทางการฝรั่งเศสให้การรับรองว่า ปริญญานี้เทียบเท่าปริญญาโท ด้วยหลักสูตร 5 ปี บรรจุความเข้มข้นและหลากหลายทางวิชาการที่ปลายเรียนมา และการค้นคว้าเขียนสารนิพนธ์ก่อนสำเร็จการศึกษาปีที่ 5

หลังจากสำเร็จการศึกษา เพื่อนๆ ของปลายกระจัดกระจายกันไปทั่วประเทศจีน รัฐเป็นผู้บรรจุงานให้ทำบางคนเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยบางคนสอนในโรงเรียนมัธยม บางคนได้กลับไปทำงานที่บ้านเกิด มีบ้างที่ถูกส่งตัวไปทำงานยังเขตทุรกันดารที่ห่างไกล จะพอใจหรือไม่พอใจ ก็ต้องปฏิบัติตาม เงินเดือนคนละประมาณ 45-50 หยวน[2] เงินเดือนน้อยไปหน่อยในสภาพที่มาตรฐานการครองชีพในยุคนั้นไม่สูง แต่ก็พอแก่การยังชีพ ไม่มีใครตกงาน นับว่าโชคดีแล้ว

รักในวัยเรียนเป็นเรื่องปกติของนักศึกษา หนุ่มสาวสมัครรักใคร่กันในชั้นเรียนมีอยู่หลายคู่ แต่ใช่ว่าใครใคร่แต่ง พวกเขาและเธอต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยเหนือที่สังกัดอยู่ก่อน จึงจะจดทะเบียนสมรสประกอบพิธีตามประเพณีได้แล้วทั้งคู่เกี่ยวก้อยกันไปบุกเบิกชีวิตใหม่ สร้างครอบครัวเล็กในสังคมใหญ่ของจีนปลายตัดสินใจกลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่กว่างโจ๊ว ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวและล่ามภาษาจีนให้พ่อ

อยู่ร่วมห้องกับต้าเจี่ยมา 5 ปี สนิทชิดเชื้อกันเหมือนพี่เหมือนน้องถึงคราวต้องจากกัน ย่อมอาลัยอาวรณ์ ต้าเจี่ยเอ่ยปากชวนให้ปลายไปเยือนทะเลสาบสวรรค์ บนเทือกเขาอัลไต ชมชีวิตชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงปศุสัตว์ในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ปลายรับปากต้าเจี่ย แต่จนแล้วจนรอด 50 กว่าปีแล้ว ปลายก็ยังไม่เคยไปเทือกเขาอัลไตสักที

... ... …

ก่อนลงสู่กว่างโจ๊ว กระทรวงอุดมศึกษาได้พานักศึกษาต่างชาติไปทัศนาจรทางภาคอีสานของจีน ปลายลงชื่อสมัครไปด้วย

กระทรวงอุดมศึกษาเป็นธุระจัดการขออนุญาตจากกระทรวงความมั่นคงในยุคม่านไม้ไผ่ มีกฎเกณฑ์ห้ามชาวต่างประเทศออกนอกตัวเมืองที่พำนักอาศัยโดยอำเภอใจ อย่างเช่นชานกรุงปักกิ่งมีป้ายของหน่วยงานความมั่นคงเขียนเตือน“ห้ามชาวต่างประเทศข้ามเขตก่อนได้รับอนุญาต” จะไปกำแพงเมืองจีนที่ป๊ะต๋าหลิ่งก็ต้องมีใบอนุญาต ด้วยความกลมกลืนทางหน้าตาท่าทาง และการพูดกับเพื่อนนักเรียนจีน การไปทัศนาจรสถานที่ท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์รอบๆกรุงปักกิ่ง ปลายจึงไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานความมั่นคง

แผ่นป้าย “ห้าม...” ติดไว้ตามสถานที่ราชการ “ห้ามถ่ายภาพ” “ผู้ไม่มีกิจห้ามเข้า” สารพัดจะห้าม นัยว่าป้องกันการจารกรรมของจารชนต่างชาติซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถูกหน่วยรักษาความมั่นคงนำตัวไปสอบสวน

ก็สมัยนั้นยังไม่มีดาวเทียมทำหน้าที่จารกรรมแทนมนุษย์

แต่มีอยู่ป้ายหนึ่งที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์เลย “ห้ามบ้วนน้ำลายและขากเสมหะ” ถึงแม้จะมีป้ายติดไปทั่ว แต่ผู้คนก็ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ เดินไม่ระวังอาจลื่นหกล้มเพราะไปเหยียบเข้าโดยไม่ตั้งใจ

ส่วนป้ายให้รักษาความสะอาดห้องน้ำ ก็มิได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่จากผู้ใช้และผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสะอาด เป็นที่โจษจันในหมู่ชาวต่างประเทศ

นักเรียนต่างประเทศกลุ่มใหญ่ มีชาวเนปาล คิวบา อินโดนีเซีย และไทย ฯลฯ นั่งรถไฟจากปักกิ่งไปฉางชุ้น เสิ่นหยาง อั๊นซ้าน และฮาเอ่อร์ปิน

ที่เมืองฉางชุ้น เมืองเอกของมณฑลจี๋หลิน ปลายได้ชมการผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถเก๋งยี่ห้อหงฉี (ธงแดง) ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนจีน รถยี่ห้อนี้สีดำมะเมื่อม ติดผ้าม่านทึบ เป็นรถเก๋งสำหรับผู้นำประเทศ นอกจากนี้ยังได้ชมโรงถ่ายทำภาพยนตร์ กระทบไหล่ดาราหลายคนที่ปลายแอบชื่นชอบ

ที่เมืองเสิ่นหยาง หรือที่ชาวตะวันตกรู้จักกันในชื่อเมือง “มุกเดน” เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิง ปลายได้ชมการผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ คนงานมีทั้งชายและหญิง ยืนทำงานอยู่หน้าเครื่องจักร เครื่องกลึง วันละ 8 ชั่วโมง

โรงถลุงเหล็กกล้าที่เมืองอั๊นซ้าน เตาหลอมเหล็กกล้าใหญ่กว่าที่ปลายเคยถลุงเหล็กกล้าเมื่อครั้ง “ขบวนการก้าวกระโดดใหญ่” ไม่รู้กี่เท่า เหล็กกล้าที่หลอมละลายเป็นสีแดงไหลลงตามเบ้า เหมือนลาวาที่ไหลทะลักจากปล่องภูเขาไฟ

อั๊นซ้านนอกจากขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเหล็กกล้าคุณภาพดีของจีนแล้ว ยังมีทิวทัศน์สวยงาม บนภูเขาอั๊นซ้าน ต้นสนยืนตระหง่านบนชะง่อนหินดูงามตาและน่าทึ่งในความกล้าหาญของไม้พรรณนี้นัก

ฮาเอ่อร์ปิน เมืองเอกของมณฑลเฮ้ยหลุงเจี๊ยงหรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่าฮารบิน เป็นอีกเมืองที่ปลายประทับใจ ปลายได้ลงไปว่ายน้ำตรง “เกาะแสงแดด” กลางแม่น้ำซงฮว่า สถาปัตยกรรมเมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากรัสเซียอยู่ไม่น้อยมีโบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ รูปทรงหัวหอมคล้ายกับที่ปลายเคยเห็นในกรุงมอสโก ตามท้องถนนเมืองฮารบิน ชาวรัสเซียขาวเดินปะปนกับชาวจีนรัสเซียขาวเหล่านี้อพยพมาสมัยหลังการอภิวัฒน์เดือนตุลาคม คริสต์ศักราช 1917

ที่เรียกกันว่า “รัสเซียขาว” หมายถึงชาวรัสเซียที่หลบลี้ระบอบสังคมนิยมและระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีสีแดงเป็นสัญลักษณ์ มาตั้งรกรากในประเทศจีนและอีกหลายประเทศ

ทัศนาจรครั้งนี้ ปลายยังได้ชมโบราณสถานหลายแห่ง พระราชวังกู้ก๊งหรือพระราชวังโบราณที่เมืองเสิ่นหยางก็น่าสนใจเช่นเดียวกับพระราชวังโบราณในกรุงปักกิ่ง

ตามปกติ ปลายจะใช้ชีวิตแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เรียนหนังสือ ไปห้องสมุดเล่นกีฬา

ส่วนกิจกรรมการบันเทิงนั้น บางครั้งได้ดูการแสดงบัลเล่ต์ของคณะ Bolchoi Theater จากกรุงมอสโก ซึ่งนำแสดงโดย Galina Ulanova นักบัลเล่ต์หญิงนามกระเดื่อง บางครั้งได้ฟังคอนเสิร์ต ดูละครร่วมสมัย รายการหลังนี้ ปลายชอบเป็นพิเศษ บทละครของกั๊วโม่รั่วและเฉาหยิ่ว[3] ดูกี่ครั้งก็ไม่เบื่อมีบ้างที่ได้ดูอุปรากรจีน เช่น งิ้วปักกิ่ง ปลายโชคดีที่มี “บุญตา” ได้ชมการแสดงของเหมยหลานฟั้ง นักแสดงชายในบทนางเอก น้ำเสียง อารมณ์ และลีลา สะกดผู้ชม ถึงจะวายชนม์ไปนานแล้ว ก็ยังเป็นศิลปินอมตะที่ชาวจีนยกย่องจวบถึงวันนี้

คืนวันเสาร์ ทางมหาวิทยาลัยจัดให้มีงานรื่นเริง ฉายภาพยนตร์บ้างลีลาศเพื่อสุขภาพบ้าง ลีลาศจังหวะวอลซ์เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา แม้ผู้นำซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคฯ และรัฐบาลจีนก็นิยมเช่นกัน สาวๆ เพื่อนต่างสถาบันของปลาย นักศึกษาจากสถาบันดนตรี ได้รับคัดเลือกให้เป็นพาร์ทเนอร์เต้นรำคู่กับประธานเหมาเจ๋อตุ๊งและผู้นำ คนอื่นๆ ที่พระราชวังจ๊งหนานไห่ แต่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชน เพราะบางท่านได้วิจารณ์ว่า การเต้นรำเป็นวิถีชีวิตแบบทุนนิยม ปลายฝึกเต้นรำกับเขาด้วย หากร่างกายมิได้อ่อนพลิ้วตามทำนองเพลง เหยีบเท้าคู่เต้นจนไม่มีใครอยากเต้นด้วย และปลายก็ไม่นึกสนุก จึงเลิกกีฬาประเภทนี้

ชีวิตหลากรสหลายสีสันของปลายในประเทศจีน ทำให้ปลายกระโดดออกจากบ่อน้ำที่เห็นแต่โลกแคบๆ หลุดจากกะลาที่ครอบศีรษะออกมาเป็น “กบนอกกะลา” เออ โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่จริงหนอ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ยังมีอีกมากมาย พ่อปลายก็เคยเตือนไว้มิใช่หรือ

 

 

ปลายอยากหมุนเวลาให้กลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจฉุดกระชากให้วันเวลาไหลย้อนกลับ ดังสุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“ลำน้ำร้อยสายไหลสู่มหานทีบูรพาทิศ
เคยหรือไหลย้อนกลับสู่ปัจฉิมทิศ
วัยหนุ่มสาวหากไม่ขยันหมั่นเพียร
แก่เฒ่าแล้วจะมัวเสียดาย (วันเวลาอันมีค่า) ก็ไร้ประโยชน์”

ประสบการณ์ชีวิตในประเทศจีนมีค่ามากสำหรับปลาย บางเหตุการณ์ปลายเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่ด้วยความเป็นชาวต่างประเทศ เป็นคน “นอก” บางเหตุการณ์ปลายยืนดูอยู่ปลายๆ ขอบของเหตุการณ์เหล่านั้น เช่นเดียวกับการดูรูปวาดโมนาลิซ่าของจิตรกรเอกก้องโลก เลโอนาร์โด ดา วินชี[4] รอยยิ้มและดวงตาของโมนาลิซ่า มองจากด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวา ด้านใกล้ ด้านไกล ถอยห่างออกมาหน่อย กระเถิบใกล้เข้าไปหน่อย ก็ต่างกันแล้ว ความงามแฝงอยู่ในแต่ละแง่แต่ละมุม แล้วแต่ว่าเรายืนอยู่ ณ จุดใด แต่ไม่ว่าจะมุมใดก็ตามโมนาลิซ่า คงเป็นโมนาลิซ่า ที่สง่างาม ลุ่มลึก ลี้ลับ และมีมนต์เสน่ห์ เป็นตำราเล่มใหญ่ที่เรียนกี่ปีกี่ชาติก็ไม่รู้จบรู้สิ้น การศึกษาเรียนรู้วิชาว่าด้วยประเทศจีนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตก็เป็นเช่นนั้น

ปลายไม่ลืมบุญคุณประเทศจีนและราษฎรจีน ถ้าไม่มีชีวิต 19 ปีในประเทศจีน ก็คงไม่มีปลายในวันนี้

การเรียนในระบบการศึกษาระดับชั้นมัธยมและอุดมศึกษาของปลายในประเทศจีน เดินทางมาถึงหลักสุดท้าย

ชีวิตต่อนี้ไป จะเป็นการเรียนนอกระบบการศึกษาที่เปี่ยมล้นด้วยความรู้ ดุจมหาสมุทรที่ไม่อาจหยั่งถึงความกว้างและความลึก ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต

 

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ก้าวสู่มหาวิทยาลัยชีวิต,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 362-369.

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] Public Notary: สำนักงานรับรองเอกสารโดยราชการ.

[2] อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น 10 บาทเท่ากับ 1 หยวน (RMB).

[3] กั๊วโม่รั่ว (Guō Mòruò) (พ.ศ. 2435-2521) กวี นักเขียน นักประพันธ์บทละคร นักกิจกรรมทางสังคม ฯลฯ

เฉาหยิ่ว (Cáo Yǔ) (พ.ศ. 2453-2539) นักประพันธ์บทละครร่วมสมัย.

[4] เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) (พ.ศ. 1995-2062) จิตรกรเอกนามก้องโลก ชาวอิตาลี.