ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “ลุงโฮ” (ตอนที่ 30)

24
มีนาคม
2567

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

ปลายจากพ่อกับแม่มาเรียนตามลำพังที่ปักกิ่ง ย่อมคิดถึงพ่อแม่เป็นธรรมดา ทุกครั้งที่พ่อกับแม่ของปลายมางานฉลองวันชาติจีนที่กรุงปักกิ่งคราใด พ่อกับแม่ของปลายก็จะมาเยี่ยมปลายที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ปลายแนะนำ พ่อกับแม่ของปลายให้รู้จักกับ ‘คุณป้า’ และเพื่อนๆ ของปลาย

‘คุณป้า’ ชมว่าพ่อของปลายดูสง่าผ่าเผย ส่วนแม่ของปลายสวยเก๋ตามวัย

เมื่อมหาวิทยาลัยปิดภาคการศึกษาฤดูร้อน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ปลายก็จะกลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่กว่างโจ๊ว แล้วปลายก็ได้รับความอบอุ่นและความรู้จากพ่อกับแม่เหมือนเช่นเคย

พ่อของปลายมักเล่าเรื่องชาวเวียดนามต่อสู้เพื่อเอกราชให้ฟังเสมอ

พ่อเล่าว่า ปลายคริสต์ศักราชที่ 18 จักรวรรดินิยมตะวันตกได้ล่าประเทศที่ด้อยพัฒนาในภูมิภาคอาเซียอาคเนย์เป็นอาณานิคม อังกฤษยึดครองพม่าและมลายู ฝรั่งเศส ยึดครองเวียดนาม กัมพูชา และลาว มหาประเทศต่างจ้องจะยึดครองดินแดนสยาม ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ เมื่อความขัดแย้งในผลประโยชน์ไม่ลงตัว กอปรกับพระปรีชาในรัชกาลที่ 5 ทรงได้คบหาสมาคมกับจักรวรรดิรัสเซียและมหาประเทศอื่นๆ ฉันพระประยูรญาติสนิทและพระสหายจึงทำให้อังกฤษกับฝรั่งเศสเกรงใจ และตกลงให้สยามประเทศเป็นรัฐกันชน มิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง สยามประเทศจึงรักษาเอกราชไว้ได้โดยมหาอำนาจใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในแผ่นดินสยาม

ไม่ว่าจะเป็นชาวเวียดนาม กัมพูชา หรือลาว รวมทั้งชาวพม่า มลายู ไม่มีใครอยากเป็นอาณานิคม พวกเขาที่ต้องการกอบกู้เอกราชของชาติ ได้เข้ามาในสยาม ปลุกจิตสำนึกรักชาติให้แก่คนในสัญชาติตนอย่างลับๆ ในจำนวนนี้มีโฮจิมินห์หรือเหงียนอ๋ายก๊วก ซึ่งเป็นชื่อที่ท่านผู้นี้ตั้งเอง มีความหมายว่า “เหงียนผู้รักชาติ” รวมอยู่ด้าย

ปลายชอบฟังเรื่องราวของวีรบุรุษกู้ชาติ เช่น พระนเรศวรมหาราชทรงช้างสู้ศึกกับพม่า ปลายได้ฟังจากปากพ่อบ่อยครั้ง มาคราวนี้ปลายรบเร้าให้พ่อเล่าเรื่องโฮจิมินห์ให้ฟังบ้าง

 

 

พ่อครุ่นคิดสักครู่ ก่อนที่จะเล่าเรื่องโฮจิมินท์เหมือนกับจะลำดับชีวิตของท่านผู้นี้เพื่อจะถ่ายทอดให้ปลายฟัง

“โฮจิมินห์เกิดเมื่อพุทธศักราช 2433 ในครอบครัวชาวนาภาคกลางของเวียดนาม เป็นช่วงเวลาเดียวกับฝรั่งเศสปกครองเวียดนามอย่างกดขี่ขูดรีดเดิมท่านชื่อเหงียนทัตทัน พ่อแม่ พี่ชาย พี่สาวเป็นผู้รักชาติ ต่อสู้กับฝรั่งเศสจนพี่ทั้งสองถูกฝรั่งเศสจับกุม ในตอนนั้นใครหัวแข็ง ต่อต้านฝรั่งเศส ก็จะถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนและมีแผ่นไม้ตรึงบริเวณลำคอ ทำให้ไม่สะดวกต่อการเคลื่อนไหว ผู้รักชาติชาวเวียดนามบางคนถูกฝรั่งเศสสังหารชีวิตตัดศีรษะด้วยเครื่องกีโยตีน”

พ่อของปลายหยุดหายใจพักเหนื่อย หรือจะสะเทือนใจกับเรื่องที่กำลังพูดอยู่ แล้วเล่าต่อไปว่า

“โฮจิมินห์เคียดแค้นสิ่งที่พบเห็น ตั้งปณิธานตั้งแต่เยาว์วัยที่จะขับไล่พวกเจ้าอาณานิคมออกไป”

“ชีวิตของโฮจิมินห์ระเหเร่ร่อน เคยเป็นผู้ช่วยคนครัวในเรือเดินสมุทรจนกระทั่งไปถึงประเทศฝรั่งเศส ที่นี่โฮจิมินห์ได้รู้จักชาวฝรั่งเศสที่ต่างจากชาวฝรั่งเศสที่เป็นนักล่าอาณานิคม โฮจิมินห์เข้าร่วมพรรคสังคมนิยม และร่วมกับเพื่อนใหม่เหล่านี้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส แล้วต่อมาได้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์สากล จากฝรั่งเศส ท่านโฮไปสหภาพโซเวียตและอีกหลายประเทศแล้วเดินทางไปยังประเทศจีน ท่านถูกทางการอังกฤษจับกุมคุมขังที่ฮ่องกง เพราะทางการฝรั่งเศสแจ้งว่า เหงียนอ๋ายก๊วกเป็นบุคคลอันตราย ท่านติดคุกที่ฮ่องกงเป็นเวลา 2 ปีกว่า ด้วยการช่วยเหลือของทนายชาวอังกฤษผู้รักความเป็นธรรมท่านจึงได้รับอิสรภาพ”

พ่อเล่าคราวเดียวไม่จบ เรื่องราวของโฮจิมินห์ยังมีอีกมากมาย วันต่อมาปลายขอให้พ่อเล่าต่อ

“ระหว่างพุทธศักราช 2471 - 2473 โฮจิมินห์เคยมาที่เมืองไทยเราด้วย ท่านเคลื่อนไหวในหมู่ชาวเวียดนามที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดอุดรธานี และอีกหลายท้องที่ทางภาคอีสาน”

“หลังจากนั้น ท่านโฮได้กลับไปศึกษาลัทธิมารก์ซ–เลนินที่สหภาพโซเวียตอีกหลายปี แล้วท่านก็ได้กลับมาจัดตั้งกองทหารกู้ชาติในเวียดนาม”

พ่อของปลายทบทวนประวัติศาสตร์ในขณะนั้น

“สงครามครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้น กองทหารญี่ปุ่นยกทัพจากประเทศจีนเข้าสู่เวียดนาม”

“เพื่อเป็นพันธมิตรกับจีนคณะชาติร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่น ท่านโฮได้เดินข้ามเขาทางชายแดนภาคเหนือระหว่างเวียดนามกับจีน หมายจะเจรจากับนายพลจีนคณะชาติ แต่ท่านกลับถูกหักหลัง จีนคณะชาติจับกุมคุมขังท่านโฮเป็นเวลาร่วมปีเศษ สภาพในที่คุมขังแออัดสกปรก ฤดูหนาว เสื้อผ้านงุ่ ห่มไม่เพียงพอ เวลาย้ายที่คุมขัง ท่านโฮถูกจองจำ ด้วยโซ่ตรวน ทำ ให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมมาก แต่ท่านโฮมิได้ย่อท้อแม้แต่น้อย”

น้ำเสียงพ่อของปลายเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจและนับถือจิตใจอันกล้าหาญของโฮจิมินห์

พ่อของปลายได้อ่านบทกวีที่เป็นบทบันทึกในคุกของท่านโฮให้ปลายฟัง

“แม้ร่างกายจะถูกคุมขัง
แต่ใจยังอิสระโบยบินอยู่นอกกรง
ถ้าต้องการบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่
จิตใจจำต้องเด็ดเดี่ยวมั่นคง”

สภาพที่ยากลำบาก ฝึกฝนโฮจิมินห์ให้ท่านยิ่งกล้าแกร่ง

“หลังจากออกจากคุกในเมืองจีนแล้ว โฮจิมินห์ได้กลับมาเสริมสร้างกองทัพเวียดมินห์[1] ให้เข้มแข็ง แล้วสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามประกาศเอกราชเวียดนามเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488 เมื่อขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกไปแล้ว ต่อมาเวียดมินห์ภายใต้การนำของท่านโฮได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ซึ่งเป็นผลจากการรบชนะที่สมรภูมิเดียนเบียนฟูอันลือลั่นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2476”

ปลายสังเกตว่าพ่อของปลายรู้เรื่องโฮจิมินห์ดี จึงถามพ่อว่า

“คุณพ่อรู้จัก โฮจิมินห์ หรือเปล่าคะ”

พ่อของปลายจึงเล่าต่อไปว่า

“พ่อข้ามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไปตอนหนึ่ง คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการเสรีไทย ได้มอบอาวุธจำนวนหนึ่งให้โฮจิมินห์และเวียดมินห์เพื่อใช้ในการสู้รบกับฝรั่งเศส ท่านโฮได้ตั้งชื่อกองพันเวียดมินห์ที่ติดอาวุธจากสยามว่า ‘กองพันสยาม’”

พ่อหยุดถอนหายใจ เล่าต่อด้วยน้ำเสียงที่เสียดาย

“ท่านโฮได้เขียนจดหมายภาษาฝรั่งเศสด้วยลายมือของท่านแสดงความขอบคุณ แต่หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ตำรวจมาค้นบ้านสีลมที่กรุงเทพฯ แม่ของปลายจึงได้ทำลายจดหมายฉบับนั้นไม่ให้เป็นหลักฐาน”

“เพราะอะไร ปลายรู้ไหม” พ่อถาม

“ก็ตอนนั้น ประเทศไทยร่วมกับสหรัฐอเมริกา ปราบปรามคอมมิวนิสต์เป็นการใหญ่ เดี๋ยวจดหมายของโฮจิมินห์จะทำให้คุณแม่ต้องเดือดร้อน” ปลายชิงที่จะตอบเอง

จวบจนเหตุการณ์การเมืองในเมืองไทยอันยุ่งเหยิง ทำให้พ่อของปลายต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ โฮจิมินห์ทราบข่าวการลี้ภัยการเมืองในประเทศจีน ท่านได้แสดงน้ำใจระลึกถึงบุญคุณที่ราษฎรไทยเคยให้การสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประชาชนเวียดนาม ดังนั้นในปี พ.ศ. 2504 ท่านโฮจิมินห์ ในนามประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ได้เชิญพ่อกับแม่ของปลายไปเยือนกรุงฮานอย อย่างเป็นทางการ

ที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ปลายมีเพื่อนชาวเวียดนามหลายคนเพื่อนๆ ได้เล่าถึงความเสียสละส่วนตนเพื่อประเทศชาติ มีชีวิตเรียบง่าย สมถะกินน้อยใช้น้อยของลุงโฮตลอดชีวิตของท่านมีแต่ตรากตรำทำงาน ไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ศิษย์และผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดท่าน เสนอสุภาพสตรีให้ท่านเลือกเป็นมิตรคู่ชีวิต เพื่อเป็นคู่คิดและดูแลความเป็นอยู่ของท่าน แต่ลุงโฮตอบปฏิเสธท่านรักเด็กๆ ขอเป็น ‘บั๊คโห่’ หรือ ‘ลุงโฮ’ ของชาวเวียดนามทุกผู้ทุกคน

ปลายฝันที่จะได้ไปเยือนเวียดนาม ฝันที่จะไปกราบลุงโฮสักครั้งและความฝันก็เป็นจริงในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2506

แม่ของปลาย พาปลายกับพี่สาวของปลายนั่งรถไฟจากหนานหนิง ผ่านด่านมิตรภาพจีน-เวียดนาม เข้าสู่ดินแดนเวียดนาม

สัมผัสแรกในรถไฟสายเวียดนาม เมื่อเข้าไปในรถเสบียงอบอวลด้วยกลิ่นน้ำปลาแบบเวียดนามที่กลิ่นฉุนกว่าน้ำปลาไทย แต่ถึงกระนั้นก็ทำให้ปลายกระหายที่จะได้ลิ้มลองอาหารเวียดนาม ที่อุดมด้วยผักสดสีเขียวนานาชนิด

ปลายไม่รู้สึกแปลกหูแปลกตากับภูมิประเทศที่ไม่ต่างจากเมืองไทย ทุ่งนาดงกล้วย ดงมะพร้าว มีให้เห็นดารดาษ

ทางการเวียดนามให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นดุจการมาเยือนของญาติสนิท

ปลายได้ชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในกรุงฮานอย และยังได้ไปชมความงามทางธรรมชาติที่อ่าวฮาลอง ภูหินที่มีต้นไม้สีเขียวแซมขึ้นตามชะง่อนผา ทรงรูปกรวยคล้ายหมวกสานของสาวเวียดนามบ้าง ทรงหมวกกะโล่แบบทหารเวียดนามบ้าง ผุดขึ้นนับไม่ถ้วนตามท้องทะเลที่นิ่งเรียบและใสสะอาดเรือประมงชักใบสีน้ำตาลแล่นผ่านภูหินอย่างระมัดระวัง หลบหลีกไม่ให้เกยภูหินหรือขึ้นไปเกยบนหาดทรายสีขาว ความรื่นรมย์ที่ปลายได้เห็นอยู่เบื้องหน้าสมดัง “ศรีบูรพา” ได้บรรยายไว้ว่า

“โอ้ฮาลอง             ล่องฟ้า        มาโลมโลก
ถึงแสนโศก            ก็จะหาย      เมื่อได้เห็น
ฮาลองโลม             หฤทัย          ให้เยือกเย็น
ด้วยภาพเช่น          เทพนิมิตร    วิจิตรา”

วันที่ 21 สิงหาคม 2506 เป็นวันที่ปลายจำได้แม่นยำไม่รู้ลืม ปลายได้บันทึกในสมุดบันทึกประจำวันไว้ว่า

 

 

ดวงอาทิตย์ในฤดูร้อนส่องแสงเจิดจ้า ท้องฟ้าสีครามแต่งแต้มด้วยปุยเมฆประดุจดอกบัวขาวน้อยใหญ่บานสะพรั่งในบึงกว้าง กรุงฮานอยคึกคักและมีชีวิตชีวา ท่ามกลางการสร้างสรรค์ประเทศ

บ่ายวันนั้น หลังจากที่พวกเราไปชมพิพิธภัณฑ์การทหารอภิวัฒน์แล้ว จากถนนเดียนเบียนฟูผ่านจัตุรัสบาดิ่นห์ตรงไปยังทำเนียบประธานาธิบดี รถเก๋งแล่นผ่านประตูซี่เหล็กเข้าไปตามถนนที่โรยด้วยก้อนกรวด แล้วหยุดลงหน้าตึกโอ่โถงสีเหลือง ทั้งประตูกรงเหล็กและหน้าต่างไม้บานเกล็ดตลอดจนประตูตึกทาด้วยสีเขียวเข้ม เหลืองเขียวเป็นสีสันบ้านเรือนในกรุงฮานอย อันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน

ทำเนียบผู้ว่าราชการฝรั่งเศสประจำภูมิภาคอินโดจีนในอดีต ปัจจุบันคือทำเนียบประธานประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ลุงโฮมีตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศและพรรคเลาด่ง หรือพรรคแรงงาน โดยตำแหน่งแล้ว ท่านน่าที่จะพำนักในทำเนียบ แต่ด้วยความสมถะเรียบง่าย อันเป็นอุปนิสัยของท่าน ลุงโฮกลับพำนักในบ้านไม้หลังไม่ใหญ่นัก ท่ามกลางพฤกษานานาพันธุ์ในสวนป่าด้านหลังของทำเนียบใต้ถุนเรือนไม้สูงโปร่งโล่ง ลักษณะเดียวกับบ้านเรือนของชนชาติไทในจังหวัดเกาบั่ง ในเขตเหนือสุดของเวียดนามติดชายแดนจีน ซึ่งครั้งหนึ่ง ลุงโฮได้ใช้เป็นฐานที่มั่นในการนำการต่อสู้ของราษฎรเวียดนาม กอบกู้เอกราชจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสและกองทหารญี่ปุ่น

ทำเนียบประธานาธิบดีเป็นเพียงสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง

ณ ทำเนียบประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีฝ่ามวันดงเดินออกมาบริเวณชานบันไดหน้าตึก ให้การต้อนรับแม่ของปลายกับลูกๆ อย่างมีไมตรีจิต ขณะสนทนากันอยู่ สายตาทุกคนจ้องมองไปยังประตูด้านในทันใดนั้น ปลายเห็นชายชราร่างเล็กที่น่าเคารพน่ารักท่านหนึ่งในชุดชาวนาเวียดนามที่ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีน้ำตาล เท้าสวม “แยป” รองเท้าทำจากยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว (คนเวียดนามบ้างก็เรียกรองเท้านี้ว่า “รองเท้าสงคราม

ต่อต้าน” ซึ่งใช้กันแพร่หลายในหมู่เหล่าทหารกู้ชาติ) เดินเข้ามาในห้อง

 

 

รับแขกอย่างสง่าผ่าเผย ปลายรีบสาวเท้าเข้าไปใกล้และพนมมือไหว้ท่านตามประเพณีไทย ลุงโฮยกมือรับไหว้อย่างไม่ถือตัว

ลุงโฮดูกระฉับกระเฉงกว่าคนวัย 73 ปี ใบหน้าที่ตากแดดกรำฝนนั้น อิ่มเอิบกว่ารูปภาพท่านที่ปลายเคยเห็น ดวงตาแวววาว บ่งถึงความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว

ลุงโฮทักทายพวกเราทุกคนอย่างเป็นกันเอง ท่านถามปลายว่า

“จ๋าวไฮเหมยลำต๋วย” (หลานอายุเท่าไหร่)

เมื่อปลายตอบท่านเป็นภาษาไทยว่า

“22 ค่ะ”

ลุงโฉชูนิ้วชี้และนิ้วกลางพร้อมๆ กัน เปรียบเป็นตัวเลข “2” ความจำของท่านยอดเยี่ยมมาก แม้จากเมืองไทยมานานกว่า 31 ปีแล้ว แต่ท่านยังฟังภาษาไทยได้รู้เรื่องดี ท่านเล่าว่า ขณะอยู่เมืองไทยนั้น ท่านได้เรียนศัพท์ภาษาไทยวันละ 10 คำด้วยความขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้ลุงโฮเป็นนักภาษาคนหนึ่ง ปลายรู้มาว่าท่านมิเพียงแต่รู้ภาษาไทยเท่านั้น หากยังเชี่ยวชาญภาษาจีน ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย และอีกหลายภาษา

ลุงโฮพูดคุยไปพลาง มือลูบเคราเป็นครั้งคราว ท่านได้เล่าให้ฟังเรื่องสมัยที่ท่านเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสเพื่อกู้ชาติในหมู่ชาวเวียดนามอพยพที่พำนักในประเทศไทย ท่านระลึกถึงไมตรีจิตมิตรภาพของพี่น้องชาวไทยที่ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจกอบกู้เอกราชของพี่น้องชาวเวียดนาม ท่านตระเวนไปทั่วริมฝั่งเจ้าพระยาและริมฝั่งโขง จากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือสู่พิจิตรจากพิจิตรไปยังอุบลฯ อุดรฯ สกลนคร และนครพนม ดินแดนที่ราบสูงอีสานท่านได้อาศัยศาลาวัดและอาหารที่ชาวบ้านถวายพระสงฆ์มายังชีพในขณะที่รอนแรมไปยังที่ต่างๆ

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเกินกว่า 1 ชั่วโมง พวกเราไม่อยากรบกวนเวลาอันมีค่าของท่านมากเกินไป จึงได้อำลาลุงโฮด้วยความอาลัย ก่อนจะออกจากห้องรับแขก ลุงโฮหยิบดอกเยอร์บีร่าสีแดงในแจกันมาแจกพวกเราที่เป็นลูกปรีดี-พูนศุข จะเป็นเพราะปลายยืนอยู่ข้างหลังหรืออย่างไร ปลายจึงไม่ได้รับดอกไม้จากมือของท่าน นายกรัฐมนตรีฝ่ามวันดงเห็นดังนั้นจึงหยิบดอกหนึ่งมาให้ปลาย ลุงโฮเดินมาส่งพวกเราถึงรถและจูบหน้าผากพวกเราที่เป็นหลานๆ ชาวไทย ปลายก้มศีรษะพนมมือไหว้ท่านอีกครั้ง รถของเราค่อยๆ เคลื่อนออกไป ปลายเหลียวกลับมาดูลุงโฮจนกระทั่งท่านเดินลับตาไป

ต้นไม้ใหญ่เเผ่กิ่งก้านสาขาเหมือนร่มคันใหญ่ ปกคลุมสองฟากถนนไม่ให้แสงอาทิตย์อันร้อนระอุสาดส่องลงมา สาวๆ ดุจดอกไม้แรกแย้มร่าเริงสดใส พวกเธอในชุด “อ๋าวส่าย” สีขาว และก็มีบางคนที่สวมกางเกงแพรสีดำ เสื้อเชิร์ตแขนยาวสีขาว บนศีรษะใส่หมวกสานทรงกรวยแหลม ตามที่คนเวียดนามเรียกว่า “หงอน” ปั่นจักรยานมาเป็นกลุ่ม เล็กบ้างใหญ่บ้าง พูดคุยหยอกล้อกันอย่างไม่เกรงกลัวรถยนต์ที่แล่นสวนมา ถึงอย่างไร จักรยานก็เป็นเจ้าครองพื้นผิวจราจรในกรุงฮานอยอยู่แล้ว

เมื่อกล่าวถึงจักรยาน อดนึกถึงจักรยานที่ตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์ที่ปลายเพิ่งไปดูไม่ได้ ใครจะนึกว่า อุปกรณ์คมนาคมที่ขับเคลื่อนสองล้อด้วยสองขาสองแขนของมนุษย์นี้ มีบทบาทในการอภิวัฒน์ชาติของชาวเวียดนามในสมรภูมิเดียนเบียนฟู จักรยานบรรทุกสรรพาวุธนานาชนิดรวมทั้งชิ้นส่วนของปืนใหญ่จนเพียบ ทางลาดชันเกินกว่าผู้คนจะปั่นขึ้นเขาได้ ก็ลากจูงขึ้นไป ถึงจะหนักเหมือนเข็นครกขึ้นเขาปานใด ก็ไม่เกินความมุ่งมั่นของคนเวียดนามที่จะเอาชนะฝรั่งเคสที่เป็นเจ้าอาณานิคม

... ... …

อีกสองวันต่อมา องเกาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามท่านหนึ่งนำของขวัญของลุงโฮมาให้ กล่องกำมะหยี่สีแดงในสี่เหลี่ยมเล็ก ในนั้นมีเข็มกลัดเงินรูปผีเสื้อกระจุ๋มกระจิ๋มตัวหนึ่ง ปลายปลื้มปีติในความเมตตาของลุงโฮ และทุกครั้งที่เห็นเข็มกลัดนี้ ภาพของลุงโฮชายชราร่างเล็ก ก็ปรากฏในมโนภาพของปลาย กระตุ้นเตือนและให้กำลังใจปลายที่จะคิดดี พูดดี ทำดี สมกับที่ได้ปวารณาตนเป็นหลานชาวไทยของท่าน

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ลุงโฮ,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 350-361.

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] เวียดมินห์ เป็นชื่อย่อ “สมาคมสันนิบาตเอกราชเวียดนาม” ในภาษาเวียดนาม.