ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี

22
มิถุนายน
2566

Focus

  • รัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบอบประชาธิปไตยไทยตั้งแต่แรกเริ่มการอภิวัฒน์สยาม 2475 อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจึงถูกสร้างขึ้นในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดปัตตานี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดจันทบุรี โดยส่วนมากสร้างขึ้นจากความคิดริเริ่มของประชาชนในท้องถิ่นที่สะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมืองในระบอบการปกครองใหม่
  • สำหรับ “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2479 จากความคิดริเริ่มของหลวงเดิมบางบริบาล ปลัดจังหวัด ในการก่อสร้างมีกระบวนการชักจูงให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริจาค และได้เงินค่าก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 820 บาท 30 สตางค์ โดยประชาชนเหล่านั้นมีทั้งกลุ่มนักการเมืองระดับจังหวัดและท้องถิ่น กลุ่มข้าราชการฝ่ายปกครอง กลุ่มข้าราชการตุลาการ กลุ่มข้าราชการครู ธรรมการและนักเรียน กลุ่มข้าราชการตำรวจ-ทหาร ข้าราชการเกษตราธิการ กลุ่มคหบดีและพ่อค้า บาทหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไป
  • อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีมีภาพจารึก 4 ด้าน แสดงข้อความเกี่ยวกับมูลเหตุและเหตุผลในการสร้างอนุสาวรีย์ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ตราสมาคมคณะราษฎร จารึกรูปพานรัฐธรรมนูญพร้อมกับบทบัญญัติบางมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และโคลงสยามานุสสติและพระนามของรัชกาลที่ 6
  • แม้ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ต้องการนำเสนอถึงความทรงจำเกี่ยวกับการประนีประนอมของคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ในภายหลังปลายทศวรรษ 2500 ได้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์เพื่อก่อสร้างอาคารหอประชุมทองใหญ่อนุสรณ์ (ที่ตั้งสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดจันทบุรี) อนุสรณ์สถานแห่งการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบอบรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎร ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวจันทบุรีจึงหลงเหลือเพียงภาพถ่ายเก่าและความทรงจำเท่านั้น

 

ในบรรดาอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 และระบอบรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศสยาม ถือเป็นอนุสรณ์สถานที่มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของประวัติความเป็นมา เนื่องด้วยอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดหลายแห่งถูกสร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ โดยอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแห่งแรกคือ อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม ซึ่งประกอบพิธีเปิดในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ยิ่งไปกว่านั้นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดส่วนมากยังเกิดจากความคิดริเริ่มของประชาชนในท้องถิ่น ที่ต้องการสร้างอนุสรณ์ในการเชื่อมโยงท้องถิ่นของพวกเขาเข้ากับระบอบใหม่ อันสะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนตามหัวเมืองหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475

ทั้งนี้ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคอีสาน โดยพยายามค้นคว้าที่มาของอนุสาวรีย์เหล่านี้ พร้อมนำเสนอว่าอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคอีสานเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงสำนึก อีกทั้งความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองอีสานภายใต้ระบอบใหม่นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2470 จนถึงปลายทศวรรษ 2480[1] หลังจากนั้นผู้เขียนก็ได้พบหลักฐานใหม่ๆ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดสมุทรสาคร” ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแห่งที่ 2 ของประเทศสยาม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้แทนราษฎรกับประชาชนชาวสมุทรสาคร ประกอบพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2478 อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี รวมถึงอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดนครราชสีมา ที่บริเวณสวนสาธารณะใกล้กับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ล่าสุดผู้เขียนได้พบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคตะวันออก คือ “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี” (ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว) จากเอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่กรุงเทพฯ และจันทบุรี เอกสารชุดดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี” ในปี พ.ศ. 2480 การเรี่ยไรเงินบริจาค ตลอดจนรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์แห่งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

เอกสารจดหมายเหตุนั้นเป็นเอกสารราชการจากคณะกรมการจังหวัดจันทบุรีถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2480 (2481 ตามปฏิทินใหม่) ได้ระบุว่า “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี” เกิดจากความคิดริเริ่มของ หลวงเดิมบางบริบาล ปลัดจังหวัด ได้เสนอโครงการสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญขึ้นและคณะกรมการจังหวัดเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่รัฐธรรมนูญ และเป็นที่ระลึกของประชาชนชาวจันทบุรีต่อคุณงามความดีของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ตกลงและร่วมมือกันในการก่อสร้างนับตั้งแต่ พ.ศ. 2479 โดยใช้เงินบริจาคสำหรับก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 820 บาท 30 สตางค์[2]

 

หลวงเดิมบาลบริบาล (เดิม กุณฑลบุตร, 2436-2530)
หลวงเดิมบาลบริบาล (เดิม กุณฑลบุตร, 2436-2530)

 

ทั้งนี้ หลวงเดิมบางบริบาล (เดิม กุณฑลบุตร) เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2436 ณ บ้านวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ได้รับการศึกษาพื้นฐานที่จังหวัดจันทบุรี เริ่มรับราชการเป็นเสมียนด่านภาษีกันตังในปี พ.ศ. 2453 จากนั้นในปี พ.ศ. 2462 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนสมรรถชัยศรีและกลับมารับราชการที่จังหวัดจันทบุรี จนในปี พ.ศ. 2469 ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภอเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอเดิมบางนางบวช) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเดิมบางบริบาลในปี พ.ศ. 2471 หลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 หลวงเดิมบางบริบาลได้โยกย้ายไปเป็นนายอำเภอเมืองสมุทรสาครในปี พ.ศ. 2476 กระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2479 ได้กลับไปรับราชการที่จังหวัดจันทบุรีในตำแหน่งปลัดจังหวัด หลวงเดิมบางบริบาลได้มีความก้าวหน้าในงานราชการมหาดไทยโดยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดสมุทรสาครในปี พ.ศ. 2490 และเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2492 หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลจันทบุรีและสมาชิกสภาจังหวัดจันทบุรีอีกหลายสมัย[3]

จากหนังสือเรื่อง “โลกและธรรม” ที่เรียบเรียงโดยหลวงเดิมบางบริบาล ได้กล่าวถึงความเจริญก้าวหน้าของจังหวัดจันทบุรีภายใต้ระบอบใหม่นับตั้งแต่การยกฐานะสุขาภิบาลเมืองจันทบุรีมาเป็นเทศบาลเมืองจันทบุรีในปี พ.ศ. 2478 โดยในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรีมีสุขศาลาเป็นสถานที่รักษาพยาบาลประชาชน มีนางผดุงครรภ์และผู้ช่วยแพทย์ประจำสุขศาลา มีการสร้างสาธารณูปโภคใหม่ในเขตเทศบาล อาทิ โรงไฟฟ้าและโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล มีการตัดถนนคอนกรีตในเขตเทศบาล ส่วนนอกเขตเทศบาลมีการสำรวจเส้นทางและตัดถนนเพื่อเชื่อมระหว่างอำเภอต่างๆ การสร้างโรงพยาบาลจันทบุรี โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลวงนรินทร์ประสาทเวชช์ ส.ส.จันทบุรี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงอนุสรณ์รัฐธรรมนูญตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ที่หลวงเดิมบางบริบาลเป็นผู้จัดสร้าง[4]

จากเอกสารรายงานโครงการก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ที่หลวงเดิมบางบริบาลส่งไปถึงกระทรวงมหาดไทย มีข้อมูลของการเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ ภาพวาดแบบอนุสาวรีย์ บัญชีค่าใช้จ่าย รวมถึงรายนามผู้บริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาที่มาและรูปแบบสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยเฉพาะการให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวอนุสาวรีย์ว่ามีขนาดฐานกว้าง 3×3 เมตร สูง 1 เมตร บริเวณฐานมีศิลาจารึก 4 ด้าน เหนือชั้นฐานเป็นบุษบกวางพานแว่นฟ้าและรัฐธรรมนูญจำลอง ซึ่งหล่อด้วยโลหะปิดทอง รวมระยะความสูงจากพื้นดินถึงยอดบุษบก 6.15 เมตร บริเวณฐานอนุสาวรีย์ในแต่ละด้านให้มีปืนใหญ่โบราณประจำ 4 มุม นอกจากนี้ยังสร้างซุ้มประตูคอนกรีตด้านหน้า 1 ซุ้ม

 

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี

 

ทั้งนี้ทางกรมการจังหวัดจันทบุรีได้มีการประกาศชักชวนให้ประชาชนชาวจันทบุรีร่วมบริจาคเงินในการสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2479 ใบประกาศได้กล่าวถึงเหตุผลของการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้เพื่อ “ให้ประชาชนชาวเราทั้งหลาย ในปัจจุบันและอนาคตได้ระลึกถึงคุณงามความดีของคณะก่อการ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของชาวเรา ที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงประชากรของพระองค์ได้มีสิทธิส่วนการปกครองบ้านเมือง เป็นพระเดชพระคุณอันล้นเหลือที่จะพรรณนา”[5] ด้านสถานที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าสาขาสมาคมคณะรัฐมนตรี ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อสะดวกแก่การบำรุงรักษาและประกอบพิธีในงานประจำปี โดยผู้ที่ร่วมบริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์จะได้รับการพิมพ์รายงานและจำนวนเงินในสมุดที่พิมพ์แจกในงานฉลองอนุสาวรีย์นี้[6] นอกจากนี้ทางกรมการจังหวัดยังจัดทำแผ่นใบปลิว “โฆษณาการ” ชักชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยมีภาพวาดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญและข้อความว่า

 

“โฆษณาการ ท่านรักรัฐธรรมนูญ ท่านที่เคารพรัฐธรรมนูญ ท่านจงช่วยกันบริจาคทรัพย์สร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะประดิษฐานพานทองและแผ่นศิลาจารึกไว้ชั่วกาลนาน อันเป็นของท่านมีส่วนสร้างถาวรวัตถุสาธารณสถานสำคัญนี้ ท่านจะได้ชื่อว่ามีความเลื่อมใสสนับสนุนการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แล้วจะเห็นได้ทุกเช้าค่ำเมื่อท่านผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี จะเป็นความปลื้มปิติ ใจท่านจะเบิกบานมีจิตต์อันเป็นกุศลประจำ”[7]

 

ใบปลิวโฆษณาการชักชวนให้ร่วมบริจาคเงินสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดจันทบุรี ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ใบปลิวโฆษณาการชักชวนให้ร่วมบริจาคเงินสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดจันทบุรี
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

สำหรับภาพวาดแบบอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี มีจำนวน 6 แผ่น ประกอบด้วยภาพวาดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญในภาพรวมจำนวน 1 แผ่น ภาพวาดซุ้มประตูทางเข้าอนุสรณ์รัฐธรรมนูญที่มีข้อความเหนือซุ้มว่า “รมณียสถาน” จำนวน 1 แผ่น และภาพจารึกแต่ละด้านของอนุสาวรีย์จำนวน 4 แผ่น

 

ภาพวาดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภาพวาดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

เมื่อพิจารณาภาพวาดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ถือได้ว่ามีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดสมุทรสาคร ที่ประกอบพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478 โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต ที่ยังคงแบบอย่างสถาปัตยกรรมไทยจารีตเอาไว้ แต่ตัดทอนรายละเอียดของลวดลายไทยเหลือเพียงเส้นกรอบเรขาคณิตที่เรียบง่าย[8] กล่าวคือ อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดสมุทรสาครเป็นบุษบกคอนกรีตประดิษฐานพานแว่นฟ้าและรัฐธรรมนูญ บริเวณฐานมีแผ่นจารึกข้อความทั้งสี่ด้าน มีเสา 6 ต้นแสดงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรรอบตัวอนุสาวรีย์ และมีปืนใหญ่ 1 กระบอกบริเวณด้านหน้า มีความเป็นไปได้ว่าอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่จังหวัดสมุทรสาครน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลวงเดิมบางบริบาล ที่เคยรับราชการเป็นนายอำเภอเมืองสมุทรสาครตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2479 มาใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจันทบุรี อันทำให้อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีมีลักษณะคล้ายคลึงกับจังหวัดสมุทรสาครอย่างชัดเจน แตกต่างที่จังหวัดจันทบุรีนั้นเสาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่ 4 กระบอกแทน

 

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดสมุทรสาคร
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดสมุทรสาคร

 

ส่วนภาพจารึกของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีแต่ละด้านนั้น ด้านแรก เป็นข้อความเกี่ยวกับมูลเหตุและเหตุผลในการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยเรียงข้อความในรูปแบบพานพุ่ม ด้านบนของพานพุ่มมีพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 7 และมีเทพีโปรยดอกไม้อยู่ 2 ฝั่ง ข้อความของจารึกกล่าวถึงคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองและวางหลักหกประการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และได้รับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 นำไปสู่การตั้งสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร จากนั้นรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ดังนั้นคณะข้าราชการ ทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชนจังหวัดจันทบุรี จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์จัดสร้างอนุสาวรีย์นี้ไว้[9]

ด้านที่สอง เป็นจารึกหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยมีภาพประกอบ 6 ภาพที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลัก 6 ประการ และมีตราสมาคมคณะราษฎรอยู่กึ่งกลางจารึกด้านบน ด้านที่สาม เป็นจารึกรูปพานรัฐธรรมนูญพร้อมกับบทบัญญัติบางมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้แก่ มาตรา 1 มาตรา 3 มาตรา 13 มาตรา 20 และมาตรา 58 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยประเทศสยามเป็นราชอาณาจักรแบ่งแยกมิได้ องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม และการพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในนามพระมหากษัตริย์ ส่วนด้านสุดท้าย เป็นจารึกโคลงสยามมานุสติ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 และด้านบนของจารึกมีพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 6

 

ภาพจารึกทั้ง 4 ด้านของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดจันทบุรี ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภาพจารึกทั้ง 4 ด้านของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดจันทบุรี
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

เมื่อพิจารณารูปแบบสถาปัตยกรรมและจารึก 4 ด้านของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี แสดงให้เห็นว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ต้องการนำเสนอความทรงจำเกี่ยวกับการประนีประนอมของคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนนำไปสู่การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร การนำหลัก 6 ประการของคณะราษฎรมาเป็นหลักในการบริหารประเทศ รวมถึงเน้นย้ำถึงความสามัคคีสมานฉันท์ของประชาชนในประเทศสยาม

สำหรับบัญชีรายนามผู้บริจาคเงินสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 317 รายชื่อ มียอดบริจาครวม 820 บาท 30 สตางค์ รายนามผู้บริจาคล้วนมีภูมิลำเนาหรือมีหน้าที่การงานในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ดังปรากฏชื่ออำเภอหลังนามผู้บริจาค และมีการเรียงลำดับรายนามจากผู้บริจาคเงินมากสุดไปน้อยสุด โดยรายนามแรกคือ หลวงเดิมบางบริบาล บริจาคเงิน 218 บาท 32 สตางค์ และรายนามสุดท้ายเป็นกลุ่มผู้บริจาคเงินต่ำกว่าสลึง 190 ราย รวมเป็นเงิน 17 บาท 99 สตางค์

จากบัญชีรายนามนี้สะท้อนเครือข่ายความร่วมมือร่วมใจของพลเมืองจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ที่ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของรัฐธรรมนูญ รวมถึงพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ของจังหวัดจันทบุรีผ่านการสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้ จากรายนามนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพต่างๆ อย่างหลากหลายของผู้บริจาคเงินทั้งหมดซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 9 กลุ่ม ได้แก่

  1.  กลุ่มนักการเมืองระดับจังหวัดและท้องถิ่น อาทิ หลวงนรินทร์ประสาทเวชช์(ส.ส.จันทบุรี) และม.ล.เสริมสิงห์ ปราโมทย์ (เทศมนตรีเทศบาลเมืองจันทบุรี)
  2.  กลุ่มข้าราชการฝ่ายปกครอง อาทิ ขุนประสงค์สุขการี (ข้าหลวงประจำจังหวัดจันทบุรี)  หลวงเดิมบางบริบาล (ปลัดจังหวัดจันทบุรี)  ขุนประจญพาลปลาต (นายอำเภอแหลมสิงห์)  ขุนภูมิประศาสน์ (นายอำเภอท่าใหม่) และขุนบรรณการ (นายอำเภอขลุง)
  3.  กลุ่มข้าราชการตุลาการ อาทิ หลวงวรสารพิจิตร์ หลวงบริหารวินิจฉัยกิจ และคณะข้าราชการศาลจังหวัดจันทบุรี
  4.  กลุ่มข้าราชการครู ธรรมการ และนักเรียน อาทิ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ คณะธรรมการอำเภอและครูประชาบาลอำเภอมะขาม คณะครูและนักเรียนโรงเรียนในเขตเทศบาล คณะครูอำเภอแหลมสิงห์ คณะโรงเรียนประชาบาลอำเภอขลุง และคณะโรงเรียนประชาบาลตะปอน
  5.  กลุ่มข้าราชการตำรวจ-ทหาร อาทิ คณะตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี คณะตำรวจภูธรจังหวัดระยอง คณะตำรวจภูธรจังหวัดตราด คณะตำรวจภูธรอำเภอเขาสมิง คณะตำรวจภูธรกิ่งกำพุช คณะตำรวจภูธรกิ่งคลองใหญ่ พ.ต.หลวงกล้าผจญศึก ร.อ.ขุนเจริญโยธาพิทักษ์ และ ร.อ.ขุนจารุโยธิน
  6.  ข้าราชการเกษตราธิการ อาทิ หลวงมัศยจิตรการ (ข้าราชการกรมประมง) หลวงวิบูลวันกิจ (ข้าราชการกรมป่าไม้) และคณะข้าราชการกองป่าไม้ภาคจันทบุรี
  7.  กลุ่มคหบดีและพ่อค้า อาทิ หลวงราชไมตรี นายซองกุ่ย สีบุญเรือง เถ้าแก่ล็อก และนายบุ้นตง
  8.  บาทหลวงในจังหวัดจันทบุรี อาทิ บาทหลวงซีมอน เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี บาดหลวงบนิฟาส และบาทหลวงเกลแมนต์
  9.  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบรายงานการก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนแล้ว ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือขอบคุณในกุศลสาธารณประโยชน์ และมอบหมายให้สำนักงานโฆษณาการประกาศข่าวการก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน รวมถึงจัดทำเครื่องหมายเงินขนาดใหญ่จำนวน 1 ชิ้น มอบให้คณะกรมการจังหวัดจันทบุรีเป็นที่ระลึก[10]

ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์กับอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีอย่างไร แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในเขตเมืองจันทบุรี เนื่องจากอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการและสโมสรข้าราชการประจำจังหวัด รวมถึงอาจเป็นพื้นที่หนึ่งในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญของจังหวัดจันทบุรี เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแห่งอื่นๆ ของประเทศไทยในยุคสมัยคณะราษฎร

แม้ว่าคณะราษฎรจะสิ้นสุดอำนาจในช่วงหลังการรัฐประหาร 2490 และพลังอนุรักษนิยมขึ้นมามีอำนาจแทนที่ จนเริ่มเกิดความพยายามในการลดทอนความหมายและคุณค่าของระบอบรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎร กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญหลายแห่งในประเทศไทย[11] ส่วนอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีในช่วงทศวรรษ 2490 นั้น หน่วยงานราชการยังคงให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ในฐานะ 1 ใน 3 อนุสาวรีย์ของจังหวัดจันทบุรี ดังปรากฏจากเอกสารการสำรวจและดูแลรักษาอนุสาวรีย์ต่างๆ ของจังหวัดจันทบุรีในปี พ.ศ. 2494 ระบุว่าอนุสรณ์รัฐธรรมนูญอยู่ในความดูแลของสโมสรจังหวัดจันทบุรี โดยอาศัยแรงงานนักโทษถางหญ้าและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ[12]

 

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ในหนังสือชุมนุมชาวจันทบุรี 2507
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ในหนังสือชุมนุมชาวจันทบุรี 2507

 

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีน่าจะอยู่คู่กับประชาชนชาวจันทบุรีจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 2500 ดังปรากฏให้เห็นจากภาพถ่ายของประชาชนที่ถ่ายรูปคู่กับอนุสาวรีย์แห่งนี้ รวมถึงภาพอนุสาวรีย์แห่งนี้ในหนังสือที่ระลึกสมาคมชาวจันทบุรีในปี พ.ศ. 2507[13] หลังจากนั้นภาพของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรีแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย อันสัมพันธ์กับการรื้อถอนอนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่อก่อสร้างอาคารหอประชุมทองใหญ่อนุสสร (ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของสมาคมกีฬาจังหวัดจันทบุรี) ดังนั้นอนุสรณ์สถานแห่งการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบอบรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎร ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวจันทบุรี จึงหลงเหลือเพียงภาพถ่ายเก่าและความทรงจำไปตลอดกาล

 

ภาพบุคคลกับอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี ที่มา : อัครชัย อังศุโภไคย
ภาพบุคคลกับอนุสรณ์รัฐธรรมนูญจังหวัดจันทบุรี
ที่มา : อัครชัย อังศุโภไคย

 

บรรณานุกรม :

เว็บไซต์

หนังสือ

  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ)ราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2562
  • สมาคมชาวจันทบุรี. ชุมนุมชาวจันทบุรี 2507. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วิทยาลัยเทคนิค, 2507.
  • หลวงเดิมบางบริบาล. เรื่องโลกและธรรม. พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา, 2496.
  • หลวงเดิมบางบริบาล. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงเดิมบางบริบาล (นายเดิม กุณฑลบุตร). ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2530.

เอกสารหอจดหมายเหตุ

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มท.5.3/54 ข้าราชการพ่อค้าและราษฎรบริจาคทรัพย์สร้างอนุสสรณ์รัฐธรรมนูญ ณ สนามหญ้าหน้าสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2480).
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี จบ 1.1.1.11/3 การก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 (20 มกราคม 2480).
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี จบ 1.2.2/117 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและดูแลรักษาอนุสาวรีย์ต่าง ๆ (16 กรกฎาคม 2488 – 27 พฤศจิกายน 2494).
 

[1] ดูบทความ “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน,” ใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), น. 25-86.

[2] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มท.5.3/54 ข้าราชการพ่อค้าและราษฎรบริจาคทรัพย์สร้างอนุสสรณ์รัฐธรรมนูญ ณ สนามหญ้าหน้าสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2480).

[3] หลวงเดิมบางบริบาล, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงเดิมบางบริบาล (นายเดิม กุณฑลบุตร) (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2530), น. (1)-(12). (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงเดิมบางบริบาล ณ วัดป่าคลองกุ้ง อ.เมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม 2530)

[4] หลวงเดิมบางบริบาล, เรื่องโลกและธรรม (พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา, 2496), น. 32-35, 41-43.

[5] “ประกาศชักชวน,” ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี จบ 1.1.1.11/3 การก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 (20 มกราคม 2480).

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] เรื่องเดียวกัน.

[9] หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี จบ.1.1.1.11/3 การก่อสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 (20 มกราคม 2480).

[10] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มท.5.3/54 ข้าราชการพ่อค้าและราษฎรบริจาคทรัพย์สร้างอนุสสรณ์รัฐธรรมนูญ ณ สนามหญ้าหน้าสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2480).

[11] “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน,” ใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ)ราษฎร, น. 70-75.

[12] อนุสาวรีย์ 3 แห่งของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ พระเจดีย์เขาแหลมสิงห์ พระเจดีย์น้ำตกพลิ้ว และอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี จบ 1.2.2/117 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและดูแลรักษาอนุสาวรีย์ต่างๆ (16 กรกฎาคม 2488 – 27 พฤศจิกายน 2494)

[13] สมาคมชาวจันทบุรี, ชุมนุมชาวจันทบุรี 2507 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วิทยาลัยเทคนิค, 2507).