ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา กรณีสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายพาดพิงถึงคณะราษฎรและประวัติศาสตร์ 2475

18
กรกฎาคม
2566

 

 

ที่ สปพ. 045/2566

18 กรกฎาคม 2566

เรื่อง   จดหมายเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา กรณีสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายพาดพิงถึงคณะราษฎรและประวัติศาสตร์ 2475

เรียน   ประธานรัฐสภา

สิ่งที่ส่งมาด้วย

  1. เอกสารถ้อยคำในการอภิปรายของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา
  2. ภาพประกอบการอภิปราย

 

ตามที่วุฒิสมาชิกผู้หนึ่งได้กล่าวอภิปรายในการประชุมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 โดยพาดพิงถึงคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี 2475 นั้น เมื่อพิเคราะห์เนื้อหาในการอภิปรายดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในหลายประเด็น สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เฉพาะในประเด็นที่มีความสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. วัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร และชื่อระบบการปกครองใหม่ ในปี 2475

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฎจากคำแถลงของคณะราษฎร รวมถึงจากเอกสารหลักฐานหลายฉบับของทางราชการและรัฐสภา ในกรณีวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” โดยคณะราษฎรได้ขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามที่คณะราษฎรได้ร่างถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 และพระองค์ทรงยอมตามคำขอ ดังที่มีรับสั่งในพระราชหัตถเลขาฉบับ 26 มิถุนายน 2475 ดังนี้

“อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จะหาทางกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้”

หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว ในวันรุ่งขึ้น (28 มิถุนายน 2475) สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ ลงมติให้มีคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับถาวร โดยประกาศใช้จริงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 กล่าวอีกนัยหนึ่งคณะราษฎรสามารถสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามขึ้นเป็นผลสำเร็จโดยมีความชอบธรรมและถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญทุกประการ

การมีรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงตรงกับ “สังคมสัญญา” ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ในฐานะตัวแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับปวงชนชาวไทยที่พระองค์ทรงโอนพระราชอำนาจเพื่อให้ประชากรของพระองค์ “ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์” ดังปรากฎในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งพระองค์ได้มีส่วนร่วมในการยกร่างขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แก่ราษฎรด้วยพระองค์เอง ราษฎรไทยโดยทั่วไปจึงยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้น คำอภิปรายของวุฒิสมาชิกผู้นี้ที่อ้างว่า คนไทยในสมัยนั้นต่อต้านการปกครองของคณะราษฎร จึงไม่ตรงกับความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์แต่ประการใด

อนึ่ง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยังปรากฏต่อไปว่า “ระบอบประชาธิปไตย (อัน) มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่วุฒิสมาชิกผู้นี้กล่าวอ้างว่า คนไทยในสมัย 2475  ได้เลือกมาแต่ปีนั้น กลับเป็น “ถ้อยคำ” ที่เพิ่งปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกในบทบัญญัติมาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 กล่าวคือ เป็นเวลาล่วงเลยจากปี 2475 มาแล้วถึง 17 ปี และควรตระหนักอย่างยิ่งด้วยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นผลมาจากการรัฐประหารในปีเดียวกัน (8 พฤศจิกายน 2490)

ดังนั้น คำว่า “ระบอบประชาธิปไตย (อัน) มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงหาใช่ถ้อยคำหรือชื่อเรียกที่ราษฎรไทยในปี 2475 ใช้เรียกระบบการปกครองที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้นในเวลานั้นแต่อย่างใดไม่

2. ปัญหาเกี่ยวกับถ้อยคำและความหมายของ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์”

ในการอภิปรายของวุฒิสมาชิกผู้นี้ ยังอ้างประเด็นสืบเนื่องต่อไปอีกว่า “ทำไมคนในสมัยนั้นจึงต่อต้านคณะราษฎร์ด้วยการไม่ปล่อยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เป็นที่น่าสังเกตในที่นี้ว่า วุฒิสมาชิกผู้อภิปรายแม้จะหยิบยกคำนี้ขึ้นกล่าวอ้าง แต่ในเวลาเดียวกันกลับมิได้อธิบายความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ให้ชัดแจ้งว่ามีนัยเป็นประการใด ดังนั้น การกล่าวขึ้นลอยๆ จึงทำให้ถ้อยคำมีความหมายคลุมเครือจนก่อความสับสนแก่ผู้ฟังได้ เพราะไม่เข้าใจว่าผู้อภิปรายกำลังกล่าวถึงประชาธิปไตยประเภทใด

นอกจากนี้ หากพิจารณาถ้อยคำ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ดังเช่นที่รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ หยิบยกขึ้นอธิบายและเป็นเจตนารมณ์สำคัญของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ด้วยนั้น ก็เป็นข้อที่น่าสงสัยมากว่า คงยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกับที่วุฒิสมาชิกผู้อภิปรายกล่าวอ้าง เนื่องจากประชาธิปไตยสมบูรณ์โดยนัยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เมื่อพิเคราะห์ในแง่เนื้อหาย่อมมีขอบเขตกว้างขวาง รวมตลอดทุกมิติของประชาธิปไตย กล่าวคือ ในมิติทางการเมือง อำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรของรัฐทุกองค์กร รวมถึงบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องมาจาก “การเลือกตั้ง”ของประชาชน หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องมีความเกี่ยวพันกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในทางใดทางหนึ่งเสมอ ถ้ามิใช่โดยทางตรง ก็ต้องโดยทางอ้อม (เช่น ตำแหน่งผู้แทนราษฎรย่อมมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มิใช่มาจากการแต่งตั้งคัดเลือกกันเองในบรรดากลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ดังเช่นวุฒิสมาชิกในชุดปัจจุบันนี้)

ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ โดยสรุปยังหมายรวมถึง มิติในทางเศรษฐกิจ (เช่น การที่คณะราษฎรนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี 2476 เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นในเวลานั้น) และทัศนะทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยด้วย จึงจะสามารถเรียกได้ว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์”

อนึ่ง การทำความเข้าใจที่ชัดเจนต่อระบบและเจตนารมณ์แห่งการปกครองระบบประชาธิปไตยนั้น สถาบันปรีดี พนมยงค์ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนและไขว้เขวของประชาชน อีกทั้งไม่จับฉวยเอาระบบการปกครองที่ผิดไปจากสาระสำคัญของประชาธิปไตยมาเป็นระบบประชาธิปไตยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออย่างน้อยที่สุด ผู้ประสงค์จะอธิบายในประเด็นที่ว่านี้พึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งในการใช้วิธีหยิบยกถ้อยคำเดียวกันขึ้นอ้าง แต่ไม่ประสงค์จะให้ความหมายที่ชัดเจนแก่ประชาชนผู้รับฟังการอภิปรายเสียเลย

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า การทำหน้าที่อภิปรายประเด็นต่างๆ ของวุฒิสมาชิกในฐานะผู้แทนราษฎรในที่ประชุมวุฒิสภาหรือแม้แต่ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ย่อมมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสาธารณชนอย่างมหาศาล วุฒิสมาชิกผู้อภิปรายจึงควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งซึ่งตนกล่าวอ้างต่อสาธารณะ ผู้อภิปรายจึงพึงตรวจสอบถ้อยคำต่างๆ ให้ถูกต้องและชัดเจนเสียก่อนที่จะนำไปกล่าวต่อที่ประชุม การกล่าวในสิ่งที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ปรากฏเห็นประจักษ์ทั้งในอดีตหรือในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง มิฉะนั้นแล้ว การอภิปรายจะทำให้ประชาชนสับสนและอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอภิปรายและยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน และในบางกรณี อาจมีผลกระทบไปถึงบรรดาผู้เป็นทายาทของบุคคลเหล่านั้นด้วย

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ให้การดำเนินการอภิปรายของสมาชิกผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกเป็นไปอย่างรัดกุมรอบคอบ และหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงบุคคลอื่นให้มากที่สุดด้วยในเวลาเดียวกัน

       

ขอแสดงความนับถือ

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

 
 

เอกสารตอบกลับแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงานเลขาวุฒิสภา

 
 
 
 
ดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร: