ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อาชญากรรมคนจน vs อาชญากรรมคนรวย

12
กันยายน
2566
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

Focus

  • “อาชญากรรม” ที่เกิดจากคนจนและคนรวยเป็นความจริงที่ถูกอำพราง ด้วยอาจพบเห็นว่า อาชญากรรมของคนจนมีปริมาณมาก และอาชญากรรมของคนรวยไม่ถูกพบเห็นหรือ มีปริมาณน้อยกว่า และไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งๆที่อาชญากรรมโดยคนรวยอาจสร้างผลเสียมหาศาล
  • ปัจจัยจูงใจของการก่ออาชญากรรม ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านการเงินและเศรษฐกิจ (คนจนขาดแคลนเงินจึงก่ออาชญากรรม) (2) การเข้าถึงโอกาส (คนจนที่ไม่มีโอกาสในการศึกษาหรือพัฒนาทักษะเพื่อใช้ยกระดับรายได้จึงสามารถก่ออาชญากรรมได้) (3) สภาพแวดล้อม (คนจนที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความมั่นคง อาจเป็นตัวกระตุ้นการก่ออาชญากรรม) และ (4) ความเครียดและกดดัน (ความเครียดและความกดดันทางเศรษฐกิจทำให้คนก่ออาชญากรรมได้)
  • คนรวยอาจอำพรางอาชญากรรม ด้วยการหลีกเลี่ยงภาษี (การลดภาระภาษีโดยการใช้กฎหมายทำให้รัฐสูญเสียเงินมหาศาล) การมีความร่ำรวยจากธุรกิจ (การทำธุรกิจสร้างรายได้อาจแลกมาด้วยการกดค่าแรงผู้คน และการทำลายทรัพยากรของชุมชน) การให้ทาน/แจกเงิน (ทำให้คนรวยได้พื้นที่การยอมรับจากสังคม) และ การใช้กฎหมายและอำนาจทางการเมือง (คนรวยใช้กฎหมายปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของตน และกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่อไป) วิธีการแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมที่ง่ายที่สุดคือ การจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อทำให้ผู้คนไม่ต้องตกอยู่ในวังวนของความสิ้นหวังและอาชญากรรม

 

ในสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ สิ่งที่เราจะเห็นโดยทั่วไปคือ “อาชญากรรม” แต่ดูเราจะถูกตรึงใจกับอาชญากรรมที่เราเห็นเฉพาะหน้า อาชญากรรมที่มีการประหัตประหารกัน อาชญากรรมแห่งการปล้นชิง ทุกสิ้นเดือนเราจะเห็นอุปกรณ์กันขโมยแน่นหนาที่ผลิตภัณฑ์นมผงในร้านสะดวกซื้อ เราเห็นกล้องวงจรปิดมากมาย เราเห็นการดำเนินคดีกับคนจนที่พยายามแสวงประโยชน์กันเอง

ภาพอาชญากรรมของคนจนที่มากขึ้นในเชิงปริมาณทำให้เรามองไม่เห็นอาชญากรรมของคนรวยที่ไม่สามารถถูกส่องเห็นโดยกล้องวงจรปิด ไม่ถูกดำเนินคดีโดยกฎหมายมาตราใด บ่อยครั้งอาชญากรรมโดยคนรวยสร้างผลเสียมหาศาลมากกว่าการขโมยนมผงในร้านสะดวกซื้อ อาชญากรรมของคนรวยคือการกดให้คนส่วนใหญ่ยากจนและนำสู่อาชญากรรมของคนจนที่วนซ้ำ

ในบทความนี้จึงจะชวนพิจารณาเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่าง "อาชญากรรมคนจนและอาชญากรรมคนรวย"

ในเบื้องต้นเราลองพิจารณาว่าอาชญากรรมของคนจนเกิดขึ้นได้อย่างไร มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้คนจนมีโอกาสก่ออาชญากรรมได้ง่ายกว่าคนรวยดังนี้

  1. ปัจจัยด้านการเงินและเศรษฐกิจ คนจนบางครั้งอาจจำเป็นอย่างมากที่ต้องก่ออาชญากรรมเพราะไม่มีทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตกรณีฉุกเฉิน การขาดแคลนเงินสามารถทำให้คนจนเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงแต่ถูกชักนำด้วยข้อจำกัดหลายด้าน
  2. การเข้าถึงโอกาส คนจนบางครั้งอาจไม่มีโอกาสในด้านการศึกษาหรือพัฒนาทักษะที่สามารถยกระดับรายได้หรือโอกาสที่จะทำให้ต่อรองได้ การก่ออาชญากรรมจึงเป็นภาวะการผลักดันจากความสิ้นหวังด้านโอกาส
  3. สภาพแวดล้อม คนจนบางครั้งอาจต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความมั่นคง และมีความท้าทายมากในการดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาก่ออาชญากรรมได้
  4. ความเครียดและกดดัน จากปัจจัยทั้งหมดผลักดันให้คนเผชิญความเครียดและกดดันทางเศรษฐกิจอาจทำให้บางคนละเมิดกฎหมายและก่ออาชญากรรม เพราะพวกเขาอาจพยายามหาวิธีในทางการเงินในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

แต่หากมองในทางตรงกันข้าม เหตุใดข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ถึงมีแต่อาชญากรรมของคนจน คนรวยไม่เคยกระทำความผิดบ้างหรือไร? เมื่อเราลองพิจารณาจะพบเงื่อนไขต่อไปนี้ คนรวยมักมีทรัพย์สินและทรัพยากรทางการเงินในการจ้างทนายความที่มีความชำนาญทำให้พวกเขาสามารถดำเนินคดีในระดับทางกฎหมายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บางครั้งคนรวยอาจใช้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อสืบสวนหรือแก้ไขปัญหาภายในครอบครัวหรือองค์กรของพวกเขา โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะ

บางครั้งผู้ตัดสินใจทางกฎหมายอาจมีความผูกพันกับคนรวยที่มีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ที่ซับซ้อน และเมื่อพิจารณาก็จะพบว่ามีอาชญากรรมหลายอย่างของคนรวยที่แม้จะสร้างผลเสียให้แก่สังคมและสร้างความเหลื่อมล้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่อาจถูกโจมตีหรือจัดวางว่าเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำ ซึ่งสามารถระบุความเป็นเหตุเป็นผลได้ดังต่อไปนี้

  1. การหลีกเลี่ยงภาษี บางครั้งคนรวยอาจใช้กฎหมายเพื่อลดภาระภาษีโดยใช้การวางแผนการเงินและการลงทุน โดยไม่ก่อให้เกิดการกระทำอาชญากรรม แม้ว่าระบบภาษีอาจมีความไม่เท่าเทียมในบางกรณี แต่การลดภาระภาษีโดยการใช้กฎหมายไม่ได้ถือเป็นอาชญากรรม แม้จะทำให้รัฐสูญเสียเงินมหาศาล และผิดวัตถุประสงค์ของการลดหย่อนก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นอาชญากรรม
  2. ความร่ำรวยจากธุรกิจ คนรวยบางคนมีความสำเร็จในการทำธุรกิจ และการลงทุนที่สามารถสร้างรายได้และทรัพย์สินมากมายได้ตามกฎหมาย การดำรงชีวิตในระดับความรุ่งโรจน์ไม่ถือเป็นอาชญากรรม แม้ว่าความมั่งคั่งนั้นจะแลกมาด้วยการกดค่าแรงของผู้คน หรือการทำลายทรัพยากรของชุมชนก็ตาม
  3. การให้ทานแจกเงิน บางครั้งคนรวยมีการให้ทานแจกเงินกับกลุ่มที่มีความต้องการมากขึ้น เช่น การก่อตั้งมูลนิธิหรือการบริจาคให้กับโครงการสาธารณะ รวยจากเงินกู้นอกระบบ เมื่อทำทานด้วยการบริจาค พวกเขาก็ได้พื้นที่การยอมรับจากสังคมกลับคืนมา
  4. การใช้กฎหมายและอำนาจทางการเมือง คนรวยมักใช้ระบบกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิส่วนตัวและทรัพย์สินของตน แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อาชญากรรม แต่พวกเขาสามารถใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เอื้อต่อการสะสมทุนของพวกเขาและให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความเหลื่อมล้ำต่อไป

เมื่อพิจารณาความดังเบื้องต้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นแต่อาชญากรรมของคนจนเต็มท้องถนน เพราะอาชญากรรมของคนจนล้วนมีต้นตอการเกิดมาจากอาชญากรรมของคนรวย แต่อาชญากรรมของคนรวยส่วนหนึ่งอยู่เหนือกฎหมาย ด้วยอำนาจของพวกเขาบ่อยครั้งสิ่งที่ผิดเพี้ยนก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และพวกเขาก็ใช้ทรัพยากรมหาศาลในการจำกัดอาชญากรรมของคนจน คุก ศาล ทหาร ตำรวจ โดยละเลยว่า วิธีการแก้ปัญหาอาชญากรรมของคนรวยที่ง่ายที่สุดคือการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อทำให้คนไม่ต้องตกอยู่ในวังวนของความสิ้นหวังและอาชญากรรม

ดังที่ St.Augustine ระบุถึงบทสนทนาระหว่างจักรพรรดิและโจรสลัดว่า “เราถูกเรียกว่าโจรสลัดเพราะเราปล้นด้วยเรือลำเล็กๆ ไม่กี่ลำ เราจึงเป็นหัวขโมย แต่ท่านปล้นด้วยกองทัพเรือและปล้นโลกทั้งใบ ท่านถูกเรียกว่าจักรพรรดิ?”

อ่านประเด็นเพิ่มเติม : Noam Chomsky (2003). Pirates and Emperors, Old and New: International Terrorism in the Real World. South End Press.