Focus
- การจัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เป็นวันเดียวที่จัดร่วมกันไปกับวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก (International Day of the World's Indigenous Peoples) ดังที่สหประชาชาติให้ความสำคัญ โดยมีขึ้นในวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 ณ อาคารหอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง”
- ภายในงานมีการแสดงกิจกรรมต่างๆ ทางวัฒนธรรมของชนเผ่า การปราศรัยของปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้นำองค์การชนเผ่า อาทิ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และการร่วมสนทนาจากเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย และตัวแทนจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย การแสดงการละเล่น และการจัดแสดงด้านนวัตกรรมอาหาร รวมถึงการแสดงด้านการแต่งกาย
- ความหวังของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริญญาสากลที่เกี่ยวกับชนเผ่า นโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งให้ความสำคัญกับ “พื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม” ของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ต่างๆแล้ว ยังขึ้นอยู่กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรวมตัวและเสริมสร้างอัตลักษณ์ในพื้นที่ของตนเพื่อที่จะสามารถใช้ภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรแก่สมาชิกของตนให้เป็นผล บนเส้นทางการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆในรัฐแห่งการพัฒนาที่พลังเยาวชนคือหัวใจสำคัญ
เพลง “ต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง”
“จากถิ่นฐานเผ่าพันธุ์ที่แตกต่าง คือเส้นทางท้าทายการอยู่ร่วม เธอก็กล้า ฉันก็กล้า อย่าได้ห่วง จะทะลวงกำแพงของการแบ่งแยก ไม้ต้นเดียวมิอาจเป็นผืนป่าได้ ใบไม้เดียวก็ไม่อาจให้ร่มเย็น หลอมความกล้า หลอมหัวใจเป็นจุดเด่น เราจึงเป็นต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
*** ใจถึงใจจากเผ่าสู่เผ่าจากเธอและฉัน ร่วมแรงฝ่าฟัน ร่วมกันผลักดัน ร่วมสร้างเครือข่าย คนรุ่นหนึ่งไปคนรุ่นหนึ่งมา คนสืบเชื้อสาย สืบสานความดี สืบสานความจริง
*** จากใจถึงใจจากเผ่าสู่เผ่าจากเธอและฉัน ร่วมแรงฝ่าฟัน ร่วมกันผลักดัน ร่วมสร้างเครือข่าย คนรุ่นหนึ่งไป คนรุ่นหนึ่งมา คนสืบเชื้อสาย สืบสานความดี สืบสานความจริง รับใช้เผ่าพันธุ์
ด้วยความภูมิใจและศรัทธาในเผ่าพันธุ์ ฉันจึงกล้ายืนยันในตัวตนจะเป็นดาวดวงน้อยในเผ่าชน ที่เปล่งแสงบนนภาที่หมองมัว
ฉันคือมรดกแห่งเมล็ดพันธุ์ วัฒนธรรมงอกเงยเป็นต้นกล้า จะเปล่งเสียงร้อง ให้ก้องดังทั่วหล้า เป็นบทเพลงต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
*** จากใจถึงใจจากเผ่าสู่เผ่าจากเธอและฉัน ร่วมแรงฝ่าฟัน ร่วมกันผลักดัน ร่วมสร้างเครือข่าย คนรุ่นหนึ่งไป คนรุ่นหนึ่งมา คนสืบเชื้อสาย สืบสานความดี สืบสานความจริง
*** จากใจถึงใจจากเผ่าสู่เผ่าจากเธอและฉัน ร่วมแรงฝ่าฟัน ร่วมกันผลักดัน ร่วมสร้างเครือข่าย คนรุ่นหนึ่งไป คนรุ่นหนึ่งมา คนสืบเชื้อสาย สืบสานความดี สืบสานความดี สืบสานความจริง รับใช้เผ่าพันธุ์”
*** จากใจถึงใจจากเผ่าสู่เผ่าจากเธอและฉัน ร่วมแรงฝ่าฟัน ร่วมกันผลักดัน ร่วมสร้างเครือข่าย คนรุ่นหนึ่งไปคนรุ่นหนึ่งมา คนสืบเชื้อสาย สืบสานความดี สืบสานความดี สืบสานความจริง”
*** จากใจถึงใจจากเผ่าสู่เผ่าจากเธอและฉัน ร่วมแรงฝ่าฟัน ร่วมกันผลักดัน ร่วมสร้างเครือข่าย คนรุ่นหนึ่งไป คนรุ่นหนึ่งมา คนสืบเชื้อสาย สืบสานความดี สืบสานความดี สืบสานความจริง รับใช้เผ่าพันธุ์”
ชิ สุวิชานและเครือข่ายต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
“วันเดียวเขียวทั้งปี” คือนิยามที่คุณต้น อภินันท์ ธรรมเสนา ศมส. ว่าไว้ให้เห็นภาพการเตรียมงานของ “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” และ “วันชนเผ่าพื้นเมือง” ในประเทศไทย ที่จัดเวียนไปตามสถาบันต่างๆ ซึ่งให้การสนับสนุนตามที่เห็นเหมาะสม แต่ละปีแม้มีรายละเอียดที่ต่างกันออกไปในแนวทาง (Direction) และวิธีการการนำเสนอ (Presentation) แต่หัวใจของงาน (Theme) อันเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของเครือข่าย กลับโดดเด่นเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นทุกปี นั่นคือพันธกิจร่วมผลักดันขับเคลื่อน เพื่อประกาศขอทวงคืนและยืนยันสิทธิความเป็นมนุษย์จากมนุษย์ด้วยกัน งานนี้จึงถูกเตรียมการทั้งปีเพื่อให้วันที่ 9 สิงหาคมเป็นกระบอกเสียงส่งสารสู่สังคมผ่าน Theme ปีนี้เป็นการส่งเสริมพลังของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกระแสโลกมานานแล้ว และยิ่งประจักษ์ชัดเมื่อประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอย่างเกินความคาดหมายเพราะศักยภาพของเยาวชนกลุ่มก้าวหน้า เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีความเป็นอารยธรรมของคนชนเผ่า จึงถูกนำมาบอกเล่าให้โลกได้เข้าใจในแบบอย่างที่ต่างออกไปจากเดิม แม้ในประเด็นที่เป็นปัญหาก็ไดถูกนำมาสร้างสรรค์ให้ได้เห็นความจริงว่า ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่น้อยทั้งคุณภาพและปริมาณ 46 ชนเผ่าชาติพันธุ์ รวมทั้งหมดประมาณกว่าเจ็ดล้านคน เท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะเยาวชน เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่ไม่ควรมองข้าม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมประจำปี รณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก (International Day of the World's Indigenous Peoples) และ วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 2566 เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 ภายใต้ Theme งาน “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” ณ อาคารหอประชุม ศมส. พิธีกรเยาวชน สุพรรณษา จันทร์ไทย เยาวชนชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชน ต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) และ ผู้อาวุโสไวยิ่ง ทองบือ ดำเนินรายการช่วงพิธีเปิด 10.00 น. เริ่มด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมต้อนรับประธานพิธีและคณะ โดยศิลปินเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง 2 ชุด การแสดงแรกคือ ฟ้อนนกกิงกะหล่าแบบดั้งเดิมของไทยใหญ่
การแสดงที่สองโดยเยาวชนชาติพันธุ์ม้ง ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์ ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง เด็กสาวในชุดประจำเผ่าสวยงามเป่าเครื่องดนตรีประจำเผ่า เฆ่ง หรือ แคนม้ง จบเป่าแคนน้องก็สวมบทบาทเป็น RAPPER ประยุกต์วัฒนธรรมด้วยการร้อง RAP เป็นภาษาม้งบอกเล่าประวัติความเป็นมาการต่อสู้ของชาวม้งและทัศนคติ “กว่าจะถึงวันนี้ขอให้พี่น้องจงภูมิใจในเกียรติภูมิของเผ่าพันธุ์” นับเป็นการสร้างสรรค์ที่ทันสมัยสมวัยน่าสนับสนุนต่อยอด
“อยากให้เยาวชนม้งคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นใบเบิกทางให้กับชีวิตของเรา การศึกษาที่ไม่ใช่เพียงใบปริญญา แต่คือความรู้ ทัศนคติ และมุมมองความคิดจากคนในสังคมที่มีต่อพวกเราจะกว้างขึ้น ยิ่งกว่านั้นคืออยากให้ทุกคนร่วมช่วยกันผลักดันภาครัฐให้มีการกระจายอำนาจการศึกษาให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในชนบทหรือชานเมืองให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับตัวเมือง ลดการกระจุกเพิ่มการกระจายเพื่อลดปัญหาการไม่ได้อยู่ร่วมกันของเด็ก เยาวชนกับครอบครัว และคนในชุมชน เพราะเด็กทุกคนควรได้อยู่กับครอบครัว รับการดูแลจากพ่อแม่ตั้งแต่เล็กจนโตค่ะ” ศรสวรรค์ กล่าวกับสื่อ
เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) กล่าวรายงานในพิธีเปิด
“สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2557 ณ โพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีการรับรองสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยบนหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ปัจจุบันมีสมาชิกสภาที่เป็นตัวแทน 46 กลุ่มชาติพันธุ์และสภาชนเผ่าพื้นเมืองระดับพื้นที่อีก 3 แห่ง ในปี 2566 เป็นวาระของการสรรหาสมาชิกชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยชุดที่ 3 ทาง สชพ. ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (ศมส.) และภาคีได้จัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วย สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 เพื่อรับรองสมาชิกสภา คัดเลือกกรรมการบริหารสมาชิกสภา และสรรหาผู้อาวุโสสภา อีกทั้งร่วมรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สหประชาชาติกำหนดให้ วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงสถานการณ์และปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ รวมทั้งยอมรับคุณค่าสิ่งดีๆ ที่ชนเผ่าพื้นเมืองมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย สชพ. ร่วมกับ ศมส. และภาคีที่ทำงานประเด็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก และวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ในวันนี้ขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่สื่อสารให้สาธารณชนได้เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนและรูปธรรมความสำเร็จของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และสังคมของชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมของชุมชนตนเอง
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
- กิจกรรมสานฝันและความหวังของเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง
- กิจกรรมนำเสนออัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองร่วมสมัย
- กิจกรรมรณรงค์ของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง
- กิจกรรมเสวนาสาธารณะ
- นวัตกรรมอาหารชนเผ่าพื้นเมือง
- การแสดงศิลปะดนตรีวัฒนธรรมร่วมสมัย
- การแสดงชุดแต่งกายชนเผ่าพื้นเมือง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ประธานกล่าวเปิดงาน
“ยินดีที่ได้มาอยู่ท่ามกลางพี่น้องในวันนี้นะคะ รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ จึงได้มีการสนับสนุนส่งเสริมแนวนโยบายและกฎหมายในการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด ในปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร ก็ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการการพิจารณาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นอกจากการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมยังได้มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนส่งเสริมในการดำเนินงาน ในเรื่องมรดกภูมิปัญญามาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ขอชื่นชมสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร พี่น้องเครือข่าย กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ได้ช่วยกันจัดงานในวันนี้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาชุมชนของตนเองบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการตลอดสามปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์”
กิจกรรมสานฝันและความหวังของเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง
“เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองไทย ร่วมสานใจเสริมพลังให้กล้าแกร่งร่วมเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมที่ยั่งยืน”
กิจกรรมสานฝันและความหวังของเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้ Theme งาน “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” นำเสนอ โครงการพื้นที่ทำดี มีสโลแกนว่า “เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองไทยร่วมสานใจ เสริมพลังให้กล้าแกร่ง ร่วมเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมที่ยั่งยืน” ดำเนินรายการโดย สุพรรณษา จันทร์ไทย พี่น้องชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ตัวแทนเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ภูมิใจนำเสนอเยาวชนพัฒนากร 3 คน ที่มีผลงานร่วมพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งงานเผยแพร่นวัตกรรมใหม่ การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม และการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรใส่ใจ ผ่านผลงานวีดิทัศน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการบันทึกเรื่องราวของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองผู้สร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงในสังคม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และมีตัวจริงเสียงจริงมาร่วมยืนยันอุดมการณ์อย่างมีพลังแม้เป็นครั้งแรกของบางคนบนเวที
สุชาติ มาเยอะ ตัมแทนเยาวชนชาวอาข่า บ้านแม่จันใต้ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย กับความปรารถนาดีที่อยากให้คนรุ่นใหม่คืนถิ่น ด้วยโครงการปลูกกาแฟและแปรรูป เพื่อชักชวนให้กลับบ้านเกิดไปสร้างอาชีพ ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม พัฒนาชุมชน ได้มีความสุขอยู่กับครอบครัว ยืนยันด้วยบันทึกปณิธานของเขาในสารคดี “ทางกลับบ้าน”[1] และนำเสนอการรายงานบนเวทีที่ทรงพลังสำหรับการต่อสู้
“เราอยากให้คนรุ่นใหม่กลับมาอยู่บ้าน แต่เขาไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นจากที่ไหน หรือไม่มีต้นทุนที่รองรับ เศรษฐกิจที่ยังไม่มั่นคงในชุมชน แม่จันใต้ไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ปลูกไม้ผลเมืองหนาว ชา กาแฟ บ๊วย ลูกพลัม ลูกพลับ หลักๆ ปลูกกาแฟขายให้พ่อค้าคนกลาง แล้วเราไม่รู้ว่าจะขายได้ในระยะยาวสักเท่าไหร่ บางทีเราก็แอบน้อยใจว่า เราตื่นเช้ามาถือจอบเข้าสวนไปดูแลต้นกาแฟ แต่พอได้ผลผลิตมาไม่รู้จะไปขายให้ใคร ผมเลยขอพ่อแม่ออกไปศึกษาเกี่ยวกับกาแฟ การแปรรูป การทำตลาดได้ไหม ระยะเวลา 1-2 ปี แล้วกลับมาพัฒนาจะได้ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางอีก แล้วให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า การที่เราทำกาแฟนั้นสามารถตอบโจทย์ได้ เลี้ยงชีพได้ ได้อยู่กับพ่อแม่ด้วย
เมื่อก่อนในชุมชนแม่จันใต้ จะปลูกข้าว ข้าวโพดประทังชีวิตให้กับคนในครัวเรือนและชุมชน พอทำมาเยาวชนเห็นเป้าหมายแล้วว่า ถ้าเราทำอยู่แบบนี้คนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาอยู่ในชุมชนไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เพราะยุคสมัยของเยาวชนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปหมดแล้ว เราได้ไปศึกษาดูงานหลายที่เพื่อว่าในชุมชนที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ของเราสามารถนำพืชผลอะไรมาปลูกได้บ้าง ได้เห็นไม้ผลเมืองหนาวที่เขาปลูกกัน เลยไปเสนอโครงการหลวงเพื่อขอการสนับสนุน
นอกจากปลูกไม้ผลเมืองหนาวแล้วทางโครงการหลวงก็สนับสนุนเมล็ดกาแฟ ต้นกาแฟให้กับชุมชนบ้านแม่จันใต้ ก่อนหน้านั้นพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้มีการสนับสนุนให้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวแทนการทำไร่หมุนเวียน เรานำต้นกล้ากาแฟมาศึกษาว่าต้องดูแลรักษายังไง เมื่อก่อนชาวบ้านปลูกข้าว ข้าวโพด ดินของเราดีอยู่แล้วต้นกาแฟก็ค่อนข้างจะโตไว จากที่เรานำมา 100-200 ต้น ทุกวันนี้เราได้ขยายเป็น 10,000 - 20,000 ต้น ต่อครัวเรือน สามารถเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ต่อยอดทุนที่พ่อแม่ปลูกไว้เอาออกไปสู่ตลาด
หลังศึกษาดูงานพอกลับมาอยู่บ้านเราได้ทำการแปรรูปหลายอย่าง ทำให้พ่อแม่กับคนที่รับรู้ข่าวได้ภูมิใจว่าน้องคนนี้เก่งนะ จากกาแฟที่เป็นเชอร์รี่เป็นกะลา แต่สามารถนำไปแปรรูปเป็นสารนำไปคั่วขายได้ ชาวบ้าน พ่อแม่ก็มีกำลังใจมากขึ้น กาแฟของชุมชนจากที่ได้ยอดมา 500 กิโล จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ในชุมชนมีอยู่ประมาณ 50 ตัน ปีถัดไปขยับเป็น 70-80 ตัน จากที่เมื่อก่อนแม่จันใต้มีวัยรุ่นอยู่ไม่ถึง 5 คน เดี๋ยวนี้กลับมาอยู่บ้านประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์
ในชุมชนแม่จันใต้ก่อนหน้านั้น 20 ปี ไม่มีอะไรเลยจากที่เคยเป็นเขาหัวโล้น ชาวบ้านมาอยู่ปกปักรักษาจึงมีป่าที่เราเห็นอย่างในทุกวันนี้ พอเยาวชนรุ่นใหม่กลับบ้านมาช่วยคิดค้นว่าจะทำยังไงกับสิ่งที่เรามีอยู่ให้คนอื่นรู้ เราเลยทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาจนมีแบรนด์กาแฟเป็นของตัวเองประมาณ 15-20 แบรนด์มีคณะขององค์กรญี่ปุ่นมาสนับสนุนเรื่องเครื่องจักร ส่งเสริมให้เยาวชนได้ทำงานในชุมชนอยู่บ้านกับพ่อแม่ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯ มีร้านกาแฟแม่จันใต้ที่ Thai Tower แล้วมีแนวโน้มขยายสาขาในนามวิสาหกิจชุมชนที่เชียงราย ขอนแก่น และไปขายที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ได้เห็นเยาวชนกลับมาทำงานที่บ้านผมรู้สึกภาคภูมิใจมากเลยที่พวกเราได้กลับมาพัฒนาชุมชนจากที่ไม่มีอะไรมาก่อน อยากให้ทุกชุมชนทำเหมือนแม่จันใต้ เอาเยาวชนรุ่นใหม่กลับมา แต่เราต้องดูก่อนว่าในชุมชนของเรามีวัตถุดิบหรือสามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง จะทำให้มีรายได้ที่มั่นคงมีความสุขกับครอบครัวครับ”
จุฑามาส เรือนนุ่น (เดียร์) ตัวแทนเยาวชนชาวเลชนเผ่ามอแกน บ้านทุ่งหว้า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กเยาวชนในชุมชน เป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับชนเผ่ามอร์แกน และอูรักลาโว้ย (14 เขต พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ) น้องมีความฝันส่วนตัวที่อยากเที่ยวดอยเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่มีพันธกิจในใจที่ต้องแก้ไขปัญหาบ้านเกิดให้ลุล่วงก่อน เพราะมันคือความฝันของเผ่าพันธุ์ที่อยากเห็นกลุ่มชาวเลอันดามันได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ถูกต้องและไม่ถูกเอาเปรียบ ทุกคนมีบัตรประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมที่เป็นอยู่อย่างดั้งเดิมโดยที่ไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาทำลายวิถีชีวิตของชาวมอแกน ยืนยันด้วยบันทึกปณิธานของน้องในสารคดี “ความฝันของเยาวชนมอแกลน”[2] และนำเสนอการรายงานบนเวทีที่ทรงพลังสำหรับการต่อสู้
“ชีวิตของพวกเราก็มีความสุขดีนะคะ ถ้าไม่มีใครมากีดกันพวกเรา เด็กๆ ในชุมชนได้มีวิถีชีวิตของตัวเองหา กุ้ง หอย ปู ปลา เป็น เพราะอยู่กับทะเลมาอย่างยาวนาน ตอนที่หนูอายุ 2 ขวบ ทางภาครัฐจะย้ายเราไปอยู่ที่ตีนเขา ทำให้พวกหนูต้องอยู่ห่างจากทะเล ทำให้คนในชุมชนเกิดความวิตกกังวล กลัวว่าจะมีคนนอกเข้ามายึดพื้นที่ที่อยู่อาศัยไป นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยก็เป็นเรื่องสุสานที่มีการฝังมาแล้ว 300 ปี ก็ถูกแย่งที่ไป แล้วยังมีเรื่องทำมาหากินของคนในชุมชนที่โดนปิดกั้น ไม่ให้เข้าไปหากิน หน้าที่ของหนูในชุมชนก็คือเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ เยาวชน ในงานกิจกรรมพัฒนาชุมชน หนูได้ออกไปเรียนรู้นอกพื้นที่ต่างชุมชน ร่วมชุมนุมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของชนเผ่า มอแกลน มอแกน และ อุรักลาโว้ย ได้ไปรับฟังความรู้ความคิดเห็นจากชุมชนอื่นๆ ได้นำความรู้มาปรับปรุงชุมชนของตนเอง ความฝันของหนูก็คืออยากเห็นชาวเลอันดามัน ได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ถูกต้องและไม่ถูกเอาเปรียบ อยากให้ทุกคนมีบัตรประชาชน และมีคุณภาพชีวิตที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมที่เป็นอยู่อย่างดั้งเดิม โดยที่ไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาทำลายวิถีชีวิตของชาวมอแกน
ท้องทะเลของหนูมีธรรมชาติที่สวยงาม ชาวเลของเราเป็นผู้ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม เรามีปัญหาหลายอย่าง กว่าที่คนทั่วโลกจะมารู้จักเราก็หลังจากเกิดสึนามิในปี 2547 ตอนนั้นหนูอายุ 2 ขวบ แต่มารู้เรื่องราวจากพี่ป้าน้าอาเล่าว่าเกิดอะไรบ้าง ทำไมเราไม่มีที่ทำมาหากินเป็นของตัวเอง หรือสุสานอาจจะโดนยึด ผู้คนภายนอกจะเอาไปทำถนน หนูมีความฝันอยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง วิถีวัฒนธรรมคงอยู่เหมือนเดิม ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าวิถีวัฒนธรรมของชาวมอแกน ชุมชนชาวเลหายไป อยากให้ภาษาแม่ของทุกชนเผ่าเข้าไปในระบบการศึกษา เพราะเด็กรุ่นใหม่เริ่มที่จะไม่รับรู้ภาษามอแกน หรือภาษาแต่ละชนเผ่าของตัวเอง เด็กๆ จะพูดภาษาไทยไปเลยแล้วลืมภาษาดั้งเดิมของตัวเอง อยากให้มีการสอนเกี่ยวกับวิถีทำมาหากิน เป็นความฝันของเด็กมอแกน อยากให้สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในการศึกษาของภาครัฐด้วยค่ะ
อยากให้หลายกระทรวงนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่ามอแกน อุรักลาโว้ย มานิ หรือทุกชนเผ่าทางภาคเหนือ ทุกคนอยากให้ภาษาวัฒนธรรมของตัวเองอยู่ในประเทศไทย ไม่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าชนเผ่าเรามาเบียดเบียนการเป็นอยู่ของผู้คนอื่น อยากให้ที่อยู่เป็นสิทธิของชาวมอแกนไปเลย เพราะว่าตอนนี้ที่อาศัยเป็นพื้นที่ของสาธารณะที่คนอื่นสามารถเข้ามาอยู่ร่วมกับเราได้ แรกเราอยู่กันก็สบายใจแต่ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคนชนเผ่ามาอยู่ เขาจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทในชุมชนได้ค่ะ ก่อนสึนามิเราใช้วิธีทำกินแบบเดิม หลังสึนามิชายหาดของเราโดนยึดไปทำสิ่งต่างๆ ของคนภายนอก พื้นที่จิตวิญญาณที่ฝังปู่ย่าตายายมาประมาณ 300 กว่าปี กำลังจะโดนยึดไปเป็นทำที่จอดรถให้กับคนที่มาทำกิจกรรมแถววัดค่ะ อยากให้ทุกคนคิดว่าความฝันของเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง อยากให้ไปถึงฝันค่ะ เพราะว่าเป็นความฝันของทุกคน ฝากไว้ด้วยขอบคุณค่ะ”
ประหยัด เสือชูชีพ ตัวแทนเยาวชนชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ออกเดินทางเพื่อเล่าเรื่อง “ไร่หมุนเวียน” โดยใช้เครื่องดนตรี เตหน่า ของชาวปกาเกอะญอเป็นเครื่องมือคู่ใจในการสื่อสารผ่านบทเพลงภาษาปกาเกอะญอ เขาเดินทางโดยใช้มอเตอร์ไซค์ กว่าจะถึงจุดหมายแม้หลายวัน แต่ด้วยมุ่งมั่นให้ผู้คนเข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียนว่าไม่ใช่การทำลายป่า หรือเป็นการสร้างภาวะโลกร้อนเพราะเกิดจากการเผา และเพื่อผลักดันความฝันของทุกคนให้บ้านแม่ปอคีได้เป็นพื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรมอย่างมีความหวัง ประหยัดยืนยันด้วยบันทึกปณิธานของเขาในสารคดี “ไร่หมุนเวียน ลมหายใจของบ้านแม่ปอคี”[3] และการนำเสนอรายงานบนเวทีที่ทรงพลังสำหรับการต่อสู้
“ผมใช้เครื่องดนตรีของคนปกาเกอะญอที่เรียกว่า เตหน่า ในการสื่อสารผ่านบทเพลงของคนปกาเกอะญอครับ บรรยากาศการเดินทางจะแว๊นมอไซค์ไป บางทีไปทางแม่สอดบ้าง เชียงใหม่บ้าง เพื่อที่จะไปต่อรถ นั่งเครื่อง บางทีกว่าจะถึงเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ บางทีวันสองวันถึงกรุงเทพฯ ครับ
สิ่งที่สื่อสารประเด็นแรกเราอยากให้เข้าใจการทำไร่หมุนเวียน มีแนวคิดผิดๆ หลายอย่างว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำลายป่า เป็นการสร้างภาวะโลกร้อนจากการเผาไหม้ ไม่ใช่แบบนั้น แต่เราอยากให้เห็นว่ามันเป็นปัจจัยสี่
ปัจจัยแรก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ของคนที่มาทำไร่พักในกระท่อม
ปัจจัยที่สอง เครื่องนุ่งห่ม เสื้อหรือผ้าห่ม มาจากการปลูกฝ้ายได้วัตถุดิบจากไร่หมุนเวียนเหมือนกัน
ปัจจัยที่สาม ยารักษาโรค ในไร่หมุนเวียนมีสมุนไพรหลายขนาน แม้แต่ชา “ห่อวอ” ยังเป็นยารักษาโรคภายในตัว คือพืชที่อยู่ในไร่หมุนเวียนเป็นพืชสมุนไพร ทั้งปลูกและขึ้นเองตามธรรมชาติ
ปัจจัยที่สี่ เป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งแน่นอนว่าในไร่หมุนเวียนเราไม่ได้ปลูกเฉพาะข้าวอย่างเดียว เราปลูกพันธุ์พืชต่างๆ อีก 60-70 ชนิด พืชแต่ละชนิดจะกินตามฤดูกาลไม่มีตลอดทั้งปี
“พื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม” เราไม่ได้ต้องการสิทธิเหนือคนอื่น แต่เป็นพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรมของชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ ภูมิปัญญาในการทำไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากร ภูมิปัญญาในการใช้ชีวิต เกิด แต่งงาน เสียชีวิต ซึ่งจะทำให้การอนุรักษ์องค์ความรู้เหล่านี้ยังคงอยู่ในชุมชนของตัวเอง เพราะว่าทุกวันนี้มีความเปราะบางที่จะหายไปกับการพัฒนาแบบสมัยใหม่ที่ผมกับชุมชนรณรงค์ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อปกป้องความมั่นคงทางด้านอาหารในไร่หมุนเวียน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในผืนป่า ปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นป่าต้นน้ำ น้ำตก หรือว่าผืนป่าในชุมชนของตัวเอง ให้อยู่คู่กับสังคมไทยได้นานที่สุด
ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เรายังมีความมั่นคงทางด้านอาหาร มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะคนในชุมชนบ้านแม่ปอคีร่วมกันรักษาไว้โดยผ่านภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากร ภูมิปัญญาการใช้ชีวิตของคนในชุมชนบ้านแม่ปอคี พอมาวันหนึ่งมีคนเข้ามาบอกเราว่าวิถีชีวิตแบบนี้พวกคุณทำไม่ได้แล้วนะ เพราะว่ามันขัดกับข้อกฎหมาย ขัดกับนโยบายระดับชาติ ซึ่งตรงกับบทกวีของปกาเกอะญอบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “คิดว่าเราอยากจะทำเหมือนคนอื่น แต่ว่าเราต้องติดขัดมีเงื่อนไขไปหมด”
ในชุมชนเราอยากทำ 2 ประเด็น ให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป คือ
- รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
- รักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร
เรายังมีต้นทุนหลายอย่างที่อุดมสมบูรณ์อยากพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ระบบการเดินทาง - ถนนหนทาง ไฟฟ้า ฯลฯ เราก็ทำไม่ได้ติดขัดข้อกฎหมายเหมือนเดิมครับ แต่ว่าสิ่งที่ติดขัดเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ นะครับ ก็หาวิธีการแก้ปัญหาสิ่งที่เราทำก็คือรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ของคนในชุมชนบ้านแม่ปอคีร่วมกับสถาบันการศึกษา
เราสร้างแบรนด์หรือทำผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกมาเพื่อสื่อสารเรื่องราวของคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้พวกเราไม่ได้ทำกันแค่เยาวชน เรายังมีการ support จากปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน คนในชุมชนบ้านแม่ปอคี แม้ภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา ฯลฯ ก็มาร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เราอยากให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ อยากรักษาให้อยู่คู่กับสังคมไทย แต่ว่าเราทำไปก็เหมือนเสียงไก่กำพร้า ไก่ที่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีการต่อยอดผลักดันให้คนอื่นได้รับรู้ เรารับรู้ในชาติพันธุ์พื้นเมืองของเราเอง ยังไม่ได้ให้กับคนที่เป็นพ่อแม่ไก่ที่อยู่ในระดับประเทศได้ร่วมรับรู้ สิ่งที่ทำไปทั้งหมด เราทำเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษหรือพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ และอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมกันผลักดัน พรบ. ชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตพวกเรา คุ้มครองเราให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไปครับ”
ประหยัดปิดท้ายด้วยเพลงภาษาปกาเกอะญอที่เข้ากับเนื้อหานำเสนอ “ไก่กำพร้า คือไก่ที่ไม่มีพ่อแม่ แต่วันนี้ไก่ตัวนี้กำลังจะเป็นไก่ที่มีพ่อแม่แล้ว หวังว่าอย่างนี้นะครับ” และปิดช่วงเยาวชนรณรงค์ด้วยเพลง “ต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง” ที่อาจารย์ชิ สุวิชาน และเครือข่ายต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ประพันธ์ไว้ตั้งแต่ปี 2555 (2012) รวมพลังร้องทั้งหมด 15 คน โดยตัวแทนเยาวชนเครือข่ายต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง แม้ไม่มีดนตรีก็ไพเราะด้วยท่วงทำนองและเนื้อหา ถ้าซ้อมกันมาจนคล่องโดยไม่ต้องอ่าน แต่ร้องด้วยใจจะได้อารมณ์เพลงมาก เพราะจากเนื้อร้องที่ปกป้องรากเหง้าด้วยงานสืบสานพันธกิจ ต้องการการแสดงออกด้วยพลังเยาวชนอย่างเปี่ยมล้น ตามที่พิธีกรเยาวชน สุพรรณษา จันทร์ไทย กล่าวปิดช่วงว่า
“ทั้งสามคนคือแกนนำเยาวชนที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่เพื่อยืนหยัดรักษาพื้นที่ทำกินเชิงวัฒนธรรมของตัวเองให้คงอยู่กับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ คือพลังของเยาวชนที่ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมชนเผ่าพื้นเมืองของเราค่ะ แต่เราไม่ได้ทำกันเพียงไม่กี่คน พวกเรายังมีเพื่อนๆ ชนเผ่าพื้นเมืองอีกมากมาย นี่คือการรวมกลุ่มแสดงพลังของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง มีพลังมากมายในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมเพื่อจะขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชนเผ่าพื้นเมืองของเราต่อไปค่ะ”
ช่วงสำคัญที่น่าจับตาคือการยื่นข้อเสนอของ เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) เพื่อมอบให้กับตัวแทนหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดย สุรชาติ สมณา ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง มอบผ่าน ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้สาระสำคัญว่าด้วยสถานการณ์อันเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งประเทศ ผ่านมุมมองที่เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองพบเจอ แม้ไม่มีถ้อยแถลงบนเวทีถึงสถานการณ์ประเด็นปัญหาของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง เพียงมอบซองเอกสารอันเป็นผลจากการสรุปงานของ TKN และเครือข่าย ผ่านผู้มีอำนาจในการจัดการ แต่ทุกคนก็หวังว่าทุกหน้าของเอกสารการเรียกร้องครั้งนี้ผู้ใหญ่ใจดีจะรับทราบ ฟังเสียง และพร้อมนำไปขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างสอดรับกับสิทธิมนุษยชนที่พึงได้พึงมี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและความเท่าเทียมต่อเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองต่อไป
ข้อเสนอจากเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN)[4]
“พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง”
บันทึกการทำงานแนวร่วมคู่ขนานเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 สมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย[5] ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2566 จากเวทีประชุมแกนนำเยาวชนที่เป็นสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยชุดใหม่ ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ประเด็นปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแกนนำเยาวชนดำเนินงานในสัดส่วนสมาชิกสภาฯ เครือข่าย TKN (Tonkla Indigenous Tuth Network) และภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยน ได้รวบรวมสถานการณ์ที่เป็นปัญหาของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองก่อนนำเสนอในวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีทั้งสิ้น 7 ประเด็น ได้แก่
- ประเด็นด้านสถานะบุคคล/สัญชาติ
- ประเด็นด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
- ประเด็นด้านการสูญเสียอัตลักษณ์ ภาษาแม่และวิถีวัฒนธรรม
- ประเด็นด้านความยั่งยืนของชุมชนในการเปลี่ยนแปลงของสังคม
- ประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของแกนนำเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง
- ประเด็นด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและสุขภาวะชุมชน
- ประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศหรือเพศสภาพ
International Day of the World’s Indigenous Peoples
การจัดงาน วันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก 2023 ครั้งที่ 7 นี้ ไทยได้รับเกียรติจาก โจนาธาน คิงส์ (Jonathan Kings)[6] เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวทักทายเป็นภาษาพื้นเมืองของชนเผ่าเมาลี ประเทศนิวซีแลนด์ และราเชล ตัวแทนจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย สนทนาเป็นภาษาอังกฤษ โดยมี อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี[7] นายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(ศ.ว.ท./MPECT) ให้เกียรติเป็นล่ามกิตติมศกดิ์ ราเชล ตัวแทนจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย
“สวัสดีครับ (ทักทายด้วยสำเนียงภาษาไทยชัดมากได้รับเสียงปรบมือต้อนรับ) ยินดีที่ได้รับเชิญมาประชุมในครั้งนี้ ได้รับทราบประสบการณ์ของเยาวชนที่นำเสนอ ในประเทศนิวซีแลนด์มีสนธิสัญญาที่ลงนามระหว่างผู้ปกครองอาณานิคม (คนผิวขาว) กับชนเผ่าพื้นเมืองเมาลีเมื่อ 193 ปีก่อน เป็นสนธิสัญญา “Treaty of Waitangi”[8] จากนั้นมาประเทศนิวซีแลนด์ก็ถือเป็นประเทศที่มีสองวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่เป็นเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยด้วย ที่จะมีความสัมพันธ์กับชุมชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ที่จะมีการแบ่งปันในเรื่องของสันติภาพ เพื่อที่จะให้เข้าใจวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เข้าใจชีวิตของพี่น้องเมาลีของประเทศนิวซีแลนด์ด้วย การเข้าร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นลำดับความสำคัญต้นๆ ของสถานทูตนิวซีแลนด์ จากที่ได้มองเห็นในห้องประชุมนี้ก็ได้เห็นถึงความกระตือรือร้น ความตื่นตัวของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองเรา ขอบคุณครับ”
ราเชล ตัวแทนจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าว
“สวัสดีค่ะ (ทักทายด้วยสำเนียงภาษาไทยชัดมากได้รับเสียงปรบมือต้อนรับยินดี)
“ขอบคุณมากนะคะที่ได้เชิญดิฉันมา เป็นเรื่องยอดเยี่ยมมากที่ได้มารับฟังเพลง รับรู้เรื่องราวของพวกเรา และความมีเอกลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีความพยายามที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับชนเผ่าพื้นเมืองด้วย มีการทำงานร่วมมือกับประเทศเม็กซิโก แคนาดา ในการที่จะส่งเสริมเรื่องชนเผ่าพื้นเมือง รู้สึกชื่นชมความหลากหลายที่จัดแสดงให้ทุกท่านได้เห็น เรามองหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยต่อไป ขอบคุณค่ะ” อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ[9] ชาวปกาเกอะญอ เป็นตัวแทนมอบย่ามที่ระลึกก่อนปิดงานช่วงเช้า หลังเสร็จพิธีแขกผู้มีเกียรติเยี่ยมชมอุดหนุนร้านค้าหน้าห้องประชุม มีวงดนตรีอีสานพื้นเมืองบรรเลงกล่อมบรรยากาศให้ตลาดครื้นเครงถ้วนหน้า
การละเล่นทางวัฒนธรรมกิจกรรมกระชับมิตร : เรียนรู้และอยู่ร่วม
17.00 น. ก่อนอาหารเย็น เปิดการละเล่นทางวัฒนธรรมบนลานกิจกรรมด้านหน้าศูนย์ฯ ดำเนินรายการโดยสามหนุ่มพิธีกร ไก่ เก๋ บู๊ เป็นที่สนานสนุกปลุกมิตรภาพ อาบใจให้ชุ่มชื่นตื่นตา งานวันนี้มีน้อง นดา บินร่อหีม[10] ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งจาก สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คนล่าสุดเมื่อเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ก็มาร่วมงาน เกมส์แรกเปิดลานด้วยการแข่งขันโยนลูกสะบ้าลงตะกร้า เผ่าส่งผู้เข้าแข่งขันตัวแทนภาคจากภาคเหนือพื้นที่บนภาคอีสาน และภาคใต้ ผลการแข่งขันทุกภาคได้เท่ากัน 30 คะแนน
เกมส์ที่ 2 เขี่ยลูกบอลเข้าตะกร้าที่ห่างออกไปประมาณ 5 เมตร (แค่เฉียดขอบตะกร้าก็ถือว่าเข้าวินแล้ว) เป็นการละเล่นประจำเผ่าของชาวเขา “ของดั้งเดิมลูกบอลกับไม้เขี่ยจะทำจากไม้นะ แต่วันนี้เราจัดการสิ่งแวดล้อม” (reuse ด้วยการใช้ลูกบอลกับขวดน้ำพลาสติกแทน) แบ่งเป็น 3 ไม้ (รอบ) เผ่าส่งผู้เข้าแข่งขันตัวแทนภาคจาก เหนือบน เหนือล่าง กลาง อีสาน ใต้ มีการสลับสับเปลี่ยนตัวผู้เล่นแต่ละรอบเพื่อกอบชัย ท่ามกลางเสียงเชียร์รอบทิศ ผลพิชิตรวมคะแนน 3 รอบ เหนือบนได้ 40 คะแนน, เหนือล่างได้ 70 คะแนน, กลางเท่ากับอีสาน 60 คะแนน เหนือล่างชนะเลิศลอยลำ
เกมส์ที่ 3 พัดข้าว (เสียงใกล้เคียงกับ ฟัดข้าว ที่ใช้เทคนิคฟัดไล่ด้วยลมเหมือนกัน) เปลี่ยนผู้เข้าแข่งขันอีกชุดใช้กระด้งน้อยพัดลูกบอลพลาสติกสีสดให้ชนหลักโดยใช้ลมจากการพัดและต้องไม่ออกนอกลู่ เผ่าส่งผู้เข้าแข่งขันตัวแทนภาคจากเหนือสูง เหนือล่าง กลาง อีสาน ใต้ รอบแรกฟาวล์ (foul) ระนาว เพราะทุกคนพัดหลุดออกนอกลู่ 3 ไม้ (รอบ) ผ่านไปไม่มีใครชนะ
ย้ายวงไปหน้าครัวชั่วคราวดูราวร้านเป็นอาหาร ก่อนกลับมาที่ลานด้วย โชว์พิเศษ สร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับวิถีชนเผ่า ด้วยทักษะเป่าลูกดอกที่ไม่อาบยาพิษของพี่น้องมานิ พิธีกรเก๋ถามเย้าถ้าเอาแตงวางบนหัวพี่สุพจน์จะมั่นใจไหม? นักเป่าชนเผ่าตอบด้วยเสียงมั่นใจว่า ไม่!! อย่างชัดถ้อยชัดคำเรียกเสียงฮา พอเอาจริง มีแต่แตงลูกขนาดย่อมวางเป็นเป้าระยะห่างเกือบสิบเมตร พี่เขาเป่าแม่นเหมือนจับวางห่างไม่กี่ฟุต ฝีมือหล่อรับกับรูปลักษณ์นักกีฬามานิหนุ่ม
ระหว่างเวลาอาหารเย็นที่ลานกิจกรรมกลางแจ้ง มีการละเล่นและแสดงดนตรีของพี่น้องลีซู ที่มาจาก 4 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ด้วยเครื่องดนตรีประจำเผ่าชื่อ “ซือบือ”[11] ในบทเพลงที่บอกเรื่องราว คนกับคน คนกับธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่เกือกูล เล่นดนตรีชนเผ่าชวนพี่น้องล้อมวงเต้นรำ พี่น้องเอ๋ย ดูทิวเขาลูกนั้นเขียวขจี เป็นที่อยู่ของปู่ พี่น้องเอ๋ย ดูทิวเขาลูกนี้สิเป็นที่อยู่ของย่ายาย เทือกสวยขจีนกร้องเซ็งแซ่ พวกเรามาร่วมกัน มาร่วมกัน … พิธีกรไก่เล่าว่า ถ้าเป็นช่วงปีใหม่จะมีการเต้นรำเล่นดนตรี ซือบือ สลับกับดนตรีต่างกันมีทั้ง แคน ขลุ่ย ฯลฯ ทั้งวงเยาวชน ผู้ใหญ่ เล่นกันข้ามวันถึง 7 วัน 7 คืน ไม่หยุด แต่ในงานนี้คนเดียวเล่นทั้งซือบือและขลุ่ย ช่วงกุ๊กกิ๊กพี่น้องชาว กะแย จากกาฬสินธุ์ มอบตุ๊กตางานผ้าฝีมือชนเผ่าตัวเล็กน่ารักให้คุณต้น อภินันท์ ธรรมเสนา ศมส. เป็นที่ระลึกด้วย
“นวัตกรรมอาหารชนเผ่าพื้นเมือง”
อาหารภายในงานถ้าเป็นของทีมงานและสมาชิกชนเผ่าจะเป็นอาหารกล่องที่ไม่ใช่อาหารพื้นเมืองชนเผ่า สำหรับผู้เข้าร่วมงานจะเป็นอาหารพื้นบ้าน รับฟรีเหมือนทุกปีที่จัดให้ได้กินกันแบบไม่จำกัด จากสารพัดชนเผ่าที่ล้วนเลิศรส คุณสุพจน์ หลี่จา กับคุณเก๋ นำชมนำชิม ปีนี้การจัดโชว์วัฒนธรรมอาหารของพื้นเมืองชนเผ่าต่างออกไปจากทุกปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ไม่เกรงการกลืนกลาย “เพื่อให้กับสังคมเพราะเราเข้าใจว่าอาหารคือ Soft Power ที่ทรงพลัง ซึ่งสามารถสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจในวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” ทั้งรูปแบบและรสชาติจึงถูกออกแบบให้เป็น “Fusion Food”[12] เช่นเมนู “เมี่ยงลาบพริก” ของพี่น้อง ลีซู ชนเผ่าชาวเหนือพื้นที่สูง วัฒนธรรมดั้งเดิมจะทำใส่กระบอกไม้ไผ่ วันนี้ถูกประยุกต์ให้เป็นคำเดียวเคี้ยวรวมไปกับใบชะพลูที่นำมาห่อพอดีคำ, เมนูที่สองของพี่น้องไตลื้อ ไตเขิน (ไทลื้อ ไทเขิน) จากลำพูนมี “ข้าวแคบ” เป็นข้าวเหนียวที่ปลูกเองแล้วนำมาโม่แล้วปั้นเป็นก้อนมาคู่กับ “ข้าวแต๋น” (ลักษณะเหมือน “ข้าวแตน” ของอีสาน เป็นข้าวเหนียวปั้นตากแล้วนำมาทอดกรอบ) และอีกหลากหลายเมนู ฯลฯ
ชาวชนเผ่ามี “ข้าวไร่” เป็นอาหารหลัก “ถ้าไม่มีข้าวไร่นั่นแปลว่าไม่มีที่ดิน ถ้าไม่มีที่ดินนั่นแปลว่าไม่มีพืชพันธุ์กิน คือสิทธิการเข้าถึงที่ดิน” … อีกกลุ่ม ไทโย้ย[13] จากสกลนคร มาพร้อมเมนูยอดนิยม ส้มตำ ส่วนพี่น้องทางใต้มีห่อหมกหอย แกงหอยกัน กับปูสีส้มตัวใหญ่มาเรียกน้ำย่อยได้ดีไม่มีน้อยหน้า ท่านอาจารย์หมอโกมาตรมาถึงงานได้ชิมห่อหมกหอยอร่อยจนต้องตั้งชื่อว่า “ห่อหมกลืมภรรยา” คุณสุพจน์แซวว่า “ห่อหมกลืมเมีย” (ล้อชื่อ ข้าวลืมผัว) เฮฮาก่อนเปิดงานเป็นที่ชื่นบานกันทุกฝ่าย ส้มผักกาดดองของชาวเขาเผ่ากะแยรสชาติไม่แย่กำลังดี มีแตงดอยจากอำเภอแม่ฟ้าหลวงติดชายแดนไทย-พม่ามาแจกให้กับทุกคน บอกความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่จนอยากมีเข่งขนไม้ผลกลับบ้าน เพราะไร้สารและสดใหม่จากไร่เลย
คิดถึงอาหาร Organic ระดับชุมชน ปนเรื่องเล่าเคล้าเมนูย้อนกลับไปสู่เผ่าพันธุ์ ที่เคยมีมาให้ชิมทุกปี แต่ปีนี้ไม่เน้นนัก กระบอกไม้ไผ่ใส่อาหารยังมีโชว์ไว้ให้เห็นเป็นเสน่ห์เสริมเพิ่มเอกลักษณ์ที่นักออกแบบและตกแต่งอาหาร (Food Stylist) นิยมนำแนวคิดนี้ไปจัดขึ้นโต๊ะหรูดูดีมีระดับ จัดวางในภาชนะทุกชิ้นจากงานฝีมือประดิษฐ์หรือที่ผลิตจากธรรมชาติประกาศความเป็น Fusion Food เต็มที่ (present ให้มีรากเหง้าเผ่าพันธุ์) คือเทคนิคการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ (add value) ไม่มีจานโฟมโถมเข้ามาใส่ให้เสีย concept สามารถหลีกเลี่ยงได้ (มันจะกลายเป็นจุดขาวบนพื้นเขียวที่เห็นแล้วอยากเขี่ยทิ้ง) คิดถึงใบตองที่สวยอ่อนโยนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสร็จงานไม่นานก็ย่อยสลายได้ ไม่ต้องรอชั่วนิรันดร์จนมันล้นโลก ดูไม่ถูกโฉลกกับบรรยากาศ ที่เป็นจานกระดาษยังพออนุโลม แม้ใส่แล้วรสอาหารจะไม่ต่างกัน แต่ความสำคัญคือการดูแลสิ่งแวดล้อมและถนอมไม่ให้วิถีพื้นบ้านหายไปแม้ในสิ่งเล็กน้อยที่เห็นชัดเป็นรูปธรรม ไม่ต่างจากการสร้าง Brand & Packaging เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่จับต้องได้ มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ที่มีคุณค่า หวังให้เป็น Theme ของงานในปีหน้าที่จะถึง
หลังชิมอาหารแล้วผู้ใหญ่ใจดี ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์[14] ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดงานช่วง “นวัตกรรมอาหารชนเผ่าพื้นเมือง” หน้าครัวชนเผ่าในลานกิจกรรมด้านหน้าศูนย์ (ศมส.) อาจารย์หมอ กล่าวนุ่มนวล หนักแน่น มีพลังที่ทุกคนสัมผัสได้ด้วยใจถึงใจ รู้สึกลึกซึ้งถึงเยื่อใย การให้เกียรติ จากความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มาตลอด
“ผมไม่ได้คิดว่างานจะดูยิ่งใหญ่และมีสีสันขนาดนี้นะครับ รู้สึกภูมิใจ มีความรู้สึกว่างานในลักษณะนี้ ไม่ใช่ว่าเราให้โอกาสกับพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองนะครับ แต่ว่าพี่น้องชาติพันธุ์ก็ให้โอกาสกับเราสูงในการรองรับงานที่มีคุณค่า เรียกได้ว่าไม่เคยมีที่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะมารวมพร้อมกันมากขนาดนี้ มาด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานด้วยกัน สร้างสรรค์ให้สภาชนเผ่าพื้นเมืองมีบทบาท ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ต่อรอง ต่อสู้ กับปัญหาที่เราเผชิญอยู่ร่วมกัน เป็นงานที่ผมดีใจมากที่สุดงานหนึ่งในชีวิตของการทำหน้าที่ผู้อำนวยการที่นี่ (ศมส.) ที่นี่สามารถรองรับพวกเราได้ ก็อยากให้พวกเราคิดว่าศูนย์ฯ เป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่งของพี่น้อง ถ้าหากว่ามีอะไรที่ศูนย์ฯ จะช่วยเหลือได้ มีความต้องการที่จะใช้สถานที่ในการประชุมหารือ ผลักดัน ขับเคลื่อน ก็ติดต่อประสานงานมาเรายินดีเสมอที่จะสนับสนุนครับ เราทราบว่ามีหน่วยงานไม่มากนักที่จะเห็นคุณค่าและสนับสนุนพี่น้องชาติพันธุ์ได้ ยิ่งทำงานด้วยก็ยิ่งมีความรู้สึกผูกพัน ยิ่งเห็นความหลากหลายท่ามกลางความงดงามของแต่ละกลุ่มที่มาร่วมงานกันในวันนี้ก็ยิ่งมีกำลังใจ
ขอบคุณมากครับสำหรับโอกาสที่มีให้กับทางศูนย์ มีความยินดีขอต้อนรับพวกเราที่นี่ทุกปีถ้าเป็นไปได้ ทุกครั้งที่ทางศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกรรมการบริหารศูนย์ฯ ไปเยี่ยมพี่น้องชาติพันธุ์ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยมเสมอจากชุมชน เพราะฉะนั้นเมื่อชุมชนมาเยี่ยมเราบ้าง เราก็อยากจะต้อนรับให้เหมือนกับที่พวกท่านได้ต้อนรับเรา ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยด้วยนะครับ ถ้ามีโอกาสครั้งหน้าก็ขออนุญาตแก้ตัวใหม่ ขอให้เราเริ่มต้นทำงานได้งอกงามจากนี้และตลอดไปครับขอบคุณครับ
การแสดงชุดแต่งกายชนเผ่าพื้นเมือง
ช่วงเย็นได้เวลาอาหารที่ลานกิจกรรมด้านหน้าตึกใหญ่ มีการเดินแบบเครื่องแต่งกายประจำเผ่าดั้งเดิม น้องเปียกับน้องนีเป็นพิธีกรคู่แรก โชว์ชุดสวยอย่างมีอัตลักษณ์ จากตัวแทนชนเผ่าชาติพันธุ์ภาคเหนือพื้นที่สูง 11 ชนเผ่า (เริ่มเดินจากด้านหน้าทางเข้าตึกอ้อมไปตามทางเดินเข้าสู่เวทีในลานกิจกรรม แสงต่ำไปหน่อย แต่ได้อารมณ์เหมือนเดินชมป่าชุมชน บริเวณตรงข้ามตึกใหญ่ยกพื้นต่ำถูกเซตทำเป็นเวที ตกแต่งสำหรับเล่นดนตรีและโชว์ตัวนางแบบนายแบบชาติพันธุ์กันอย่างง่ายๆ แต่มากความหมายด้วยผืนผ้าหลากสี สื่อถึงสัญลักษณ์ของสภาชนเผ่าพื้นเมือง สีเขียวหมายถึงธรรมชาติป่าไม้เขียวขจีที่ซึ่งคนกับป่าต้องอยู่ด้วยกัน, สีน้ำตาลหมายถึง ดิน ที่เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ พืช อาหารทุกชนิดของมวลมนุษยชาติ และสีฟ้าคือทะเล ท้องฟ้า จากภูผาสู่มหานที เปิดเวทีด้วยวงดนตรีอีสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองเต็มวง ร่วมกันรำวงรวมเผ่าก่อนเข้าโชว์ชุดชนเผ่า
เซ็ทที่ 1. เปิดแคทวอล์คด้วยชนเผ่า อาข่า ตามมาด้วยพี่น้อง อิ้วเมี่ยน, ม๊ง (คำขวัญ - ถ้าไม่กินก็ตาย ถ้าไม่สู้ก็แพ้), ลีซู, ลาหู่ - กะเหรี่ยง (สาวชุดขาว ใช้ภาพของศมส.), ถิ่น (ลัวะ), ดาราอัง, ลาเวื้อคำขวัญ - อยู่ดีกินดี มีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี) และคะฉิ่น
เซ็ทที่ 2. ภาคเหนือพื้นที่ราบ 10 ชาติพันธุ์ (ประกอบด้วยเผ่า กะแย, ขะหมุ, ไตหย่า, ไทเขิน, ไทใหญ่, ไทยอง, ไทลือ, บีซู, ปะโอ, อึมปี) แต่ส่งเข้าประชัน 4 ชาติพันธุ์ ชุติมา มอแลกู่ ดำเนินรายการ เปิดแคทวอล์คด้วยพี่น้อง กะแย หรือที่รู้จักกันในนามกะเหรี่ยงแดง มีพลเมืองน้อยแล้วยังเหลืออยู่เพียงจังหวัดเดียวคือแม่ฮ่องสอน เฉพาะในเขตอำเภอเมือง 11 ชุมชน พิธีกรไก่ให้ข้อมูลว่านำทีมโดยพี่กัลยามาทั้งครอบครัว ตามติดด้วย ไทยใหญ่ ให้คำมั่นว่า “สภาชนเผ่าพื้นเมืองของเรา สภาผู้อาวุโสหมดวาระการทำงานไปแล้ว เยาวชนรุ่นใหม่จะเป็นตัวแทนสานงานต่อ” ตามติดด้วย ไทลื้อ (อ.เชียงของ จ.เชียงราย) และ ปะโอ (มีเครือข่ายในกรุงเทพฯ เหมือนไทยใหญ่)
เซ็ทที่ 3 โดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ พิธีกรโดย เก๋ (วิทวัส เทพสง ตัวแทนพี่น้องชาวเล) กับ เจี๊ยบ (ชัยยุทธ บุญนุ้ย ตัวแทนพี่น้องภูเขาภาคใต้) วันนี้มีหลายชนเผ่าเข้าร่วมเริ่มด้วยพี่น้อง มอร์แกน โชว์ลีลาเข้าจังหวะกับเสียงเพลงตั้งแต่เริ่มออกเดินมาในความสลัวเข้ากับสีเนื้อตัวคมขำ ตามด้วยพี่น้อง อุรักลาโว้ย (อุรัก แปลว่า คน - ลาโว้ย แปลว่า บ้านอยู่ทะเล) และ มานิ ชื่อทางการคือ ซาไก แต่ไม่ชอบให้เรียกซาไกเพราะแปลว่า ทาส จากเทือกเขาบรรทัด (จังหวัดพัทลุงฝั่งสตูลและสงขลา) น้องแน็ท ศรีปะเหลียน (ผู้หญิง) จากบ้านกอตง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรกที่ออกจากบ้านมาไกลต่างถิ่นถึงกรุงเทพฯ นายแบบเข้มผมบอก “บ้านผมอยู่ในป่าเขา หาอาหารในธรรมชาติก็ไปขุดมันหาสัตว์ป่ามากิน” พิธีกรเก๋แซวเสริมว่า “ผู้ชายหาโปรตีน (ล่าสัตว์) ผู้หญิงหาคาร์โบไฮเดรต (ขุดเผือกมัน) เด็กๆ หาวิตามินซี (ผลไม้ป่า) มากินกัน คือวิถีของพวกเขาไม่ได้กินเป็นมื้อแต่กินเมื่อหิว ร่างกายถึงได้ดีอย่างที่เห็น” ชวนชมซิกแพ็คหนุ่มมานิรูปร่างนักกีฬาไร้ไขมันกล้ามเนื้อแน่น
ส่วนป้ามอนชาวมอร์แกนถือโอกาสใช้เวทีนี้ร้องเรียนเรื่องที่อยู่อาศัย “ป้าเดินทางมาตัวคนเดียวมีคนช่วยให้ค่าเดินทาง ป้าอ่านหนังสือไม่ออกแต่เต็มใจจะมา เพราะว่าอยากได้น้ำและมีที่อยู่อาศัยให้มั่นคงกับลูกหลานต่อไปในวันข้างหน้า” ป้าร้องเพลงโชว์เป็นภาษามานิยาวเหยียด ทำเอาทั้งแดนซ์เซอร์และลูกคู่คอยปรบมือเข้าจังหวะหอบไปตามกัน ป้าปิดท้ายด้วยสองประโยคสุดท้ายเป็นภาษาไทยเราถึงได้รู้ว่า เพลงมีเนื้อหาหญิงท้าผัวไปหย่าที่อำเภอแสดงสิทธิสตรีเป็นพี่ชื่นมื่นครื้นเครงกันทั่วหน้ากับป้ามอน feminist
เซ็ทที่ 4 ภาคอีสาน พิธีกร พี่สุรวิทย์ กับน้องแอนด์ มิสกุยเวิร์ลด์ 2023 กลุ่มแรก กะเลอ ข้ามเขาภูพานมาจากอำเภอขุนแท่นจังหวัดสกลนคร พูดคำขวัญเก่าที่เราไม่เคยได้ยิน ด้วยภาษาพื้นถิ่นสำเนียงอีสานแท้ “ดินแดนที่ราบภูเขา แหล่งปลูกเข่า (ข้าว) ปลูกหวาย หลากหลายวัฒนธรรม กลุ่มผู้นำเสรีไทย” ตามมาด้วยชาติพันธุ์ ญ้อ, ญัฮกุร[15] (น้องแอนด์อ่านว่า ฮัง-กรู อยู่จังหวัดชัยภูมิ) แต่นายแบบเรียกตัวเองว่า ชนชาติพันธุ์ยะปุ้น, ไทโย๊ย พูดภาษาถิ่นปนไทยใจความว่า “มีความสุขตั้งแต่ยามมื้อแลงฮอดยามมื้อเซ่า (เช้า) อยู่ดีมีแฮงสบายดีพ่อแม่อ้ายน้องชนเผ่าไทโย๊ยเฮามีศาลเจ้าแก้วคุ้มเมือง ลือเลื่องผ้ามัดหมี่ประเพณีไหลเฮือไฟ ปลาใหญ่ลุ่มน้ำยาม สวยงามโย๊ยยามแลง”, โซ่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลือน้อยแล้ว มีที่เดียวคืออำเภอส่องดาว สกลนคร, ไทยพวน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มาพร้อมคำขวัญ “พระมหาธาตุเจดีย์ ประเพณีงานกฐิน ล้วนถิ่นพระเถระ ไหว้พระหลวงพ่อนาค หลากหลายสวนหิน ถิ่นอารยธรรมไทยพวน อยากชวนอ้ายบ่าวชาติพันธุ์ทุกท่าน ไปเที่ยวบ้านฉัน ชาติพันธุ์ไทยพวนเจ้า” ตามมาด้วยชาติพันธุ์ บลู สาวชุดขาวโชว์เดี่ยวมาคนเดียวจากสกลนคร, ภูไท, ไทแสก[16] นครพนม, โส้ สกลนคร[17] มาพร้อมชุดสวยรวยคติพจน์ “ไม่มีคำว่าจนในหมู่คนขยัน” ปิดท้ายด้วยพี่น้อง กูย[18] จากอีสานใต้ (ชาติพันธุ์นี้มีอยู่ใน 4 ประเทศ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม)
เซ็ทที่ 5 รวมเผ่า ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก พิธีกร ไก่ กับ น้องสุ เริ่มด้วยไทยดำ, ไทยยวน (ไท-ยวน) อยู่หลายจังหวัดวันนี้ราชบุรีส่งสาวสวยเป็นตัวแทนมา 5 คน เป็นจิตอาสาทำเรื่องรณรงค์หลายมิติ เช่น ปัจจัยเสี่ยง งดเหล้า มิติสุขภาพ นำโดยพี่ป้อมอุบลวรรณจากเครือข่ายงดเหล้า มาพร้อมเพลงคำเมืองสัจธรรมขำขื่น, ตามด้วยชาติพันธุ์ ปลัง จากนครปฐม[19] โชว์จัดดอกไม้งามประดับงานเป็นฝีมือของสามหนุ่มทีมนี้เลย, มอญ มาพร้อมคำคม “น้ำขึ้นให้รีบตัก พวกเราต้องรวมตัวให้เป็นหนึ่ง”, ไทขาวเลาพุด (ชื่อเดิม เลาตา) อุทัยธานี, ลาวครั่ง[20] ป้ามุ่ยมาเอง จากภาคกลางบน กำแพงเพชร (มีกระจายอยู่บริเวณโซนเหนือล่างทั้งหมด กาญจนบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร พิจิตร), ลาวหลวง (ไทแง้ว) บ้านหมี่ ลพบุรี, ไทยทรงดำ (หรือลาวโซ่ง) มาพร้อมคำครั่งคมผสมไทยกลาง “หลายคนเบา หลายเสาหมั่น … หลายคนงานก็เบาลง หลายคนก็มั่นคงแข็งแรง งานของชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องเดินไปข้างหน้า คนเราทำงานร่วมกันหลายๆ คน ตั้งแต่เหนือจรดใต้ งานต้องสำเร็จ ทุกคนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนะคะ จากใจไทยดำแม่ขวัญค่ะ
ลาวเวียง มาเพียงรายชื่อจากชัยนาท รวมเผ่าชาติพันธุ์ชุดสุดท้าย กะเหรี่ยงโผล่ว หรือ กะเหรี่ยงโปว์ และโชว์ของ ชอง ศมส. (โผล่ พันธุ์ใหม่ surprise กันเอง) โผล่ มาพร้อมข้อคิดเตือนใจ “เมื่อเรามีโอกาสถ้าไม่ไขว่คว้าไว้เราจะเสียโอกาสนั้นไป” และอีกคน ชอง โชว์ภาษาอังกฤษลีลาล้ำจนพิธีกรไก่อาสาแปลให้ได้ความว่า “คุณสุภาพบุรุษและสภาพสตรี ฉันมีทุเรียนมาขายครับ” จบคำมิสชองก็บิดตัวโชว์โฉมบึกบึนเป็น surprise พิเศษแทนคำขอบคุณให้ชนเผ่าพี่น้อง เรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากแฟนคลับ
พิธีจุดเทียนรำลึกถึงผู้สร้างคุณูปการ ผู้สละชีพในการต่อสู้และผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายทุกคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ จากอดีตถึงปัจจุบัน
เวลา 20.00 น. บนลานกิจกรรมแสงต่ำถูกทำให้มืดเพื่อพิธีรำลึกบรรพชนและคนที่สูญหาย ทุกคนมายืนรวมกันเป็นวงกลมหลายชั้นลักษณะเหมือนวงปีของต้นไม้ กระจายวงกว้างท่ามกลางความมืด ใจกลางวงกลมด้านในสุดมีเสียงสัญญาณเริ่มพิธีเอ่ยขึ้นเบาๆ เหมือนรำพึงกับตัวเองเพียงลำพัง แต่ดังพอจะได้ยินชัดในความสงบขณะที่ทุกคนกำลังนิ่งเคารพผู้สร้างคุณูปการ ด้วยจิตวิญญาณเดียวกัน … “ขอบคุณแม่พระธรณีที่ให้เราได้ยืนอยู่บนร่างของแม่ ความสว่างในหัวใจ ความสว่าง สว่างทั่วทั้งโลก” … สิ้นคำ เทียนถูกจุดขึ้นกลางวงด้านในสุด แล้วกระจายออกไปทั่วบริเวณลานกิจกรรมรำลึก เพลง “ต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง” ถูกนำมาร้องร่วมกันอีกครั้งคลอดนตรี ทั้งบรรยากาศและการร้องจากใจแบบที่ไม่อ่านเนื้อร้องทำให้เนื้อหาเพลงเพิ่มพลังขลังเข้มเต็มความหมายมากขึ้น จบเพลง อาจารย์ต้น อภินันท์ ธรรมเสนา กล่าวปิดงานพร้อมแจ้งข่าวดีที่ทุกคนรอคอย…
“ขอบคุณทุกคนนะครับที่มาร่วมเฉลิมฉลอง วันชนเผ่าพื้นเมือง ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผมเคยบอกว่าเราจะจัดที่นี่กันทุกปีใช่ไหมครับ เมื่อเช้านี้ท่านปลัดบอกว่าอยากจะให้จัดใหญ่กว่านี้ ถ้าเป็นไปได้ปีหน้าเราอยากจะไปจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ อาจเป็นอีกปีที่จะจัดใหญ่โต จากนี้ไปอีกหนึ่งปีงานวันชนเผ่า ผมขอใช้คำว่าเป็นงาน “วันเดียวเขียวทั้งปี” หมายความว่าทำงานวันเดียวแต่ต้องเตรียมงานทั้งปีนะครับ เพราะฉะนั้นปีหน้า 2567 เป็นงานใหญ่ครบ 10 ปี สภาชนเผ่าพื้นเมือง เพราะก่อตั้งปี 2557 คงไม่ใช่งานที่จะธรรมดาอีกต่อไป 14 ปี มติ ครม. คิดว่าจะเป็นปีแรกที่เรามี พรบ. ด้วยครับ” เสียงเฮลั่นลานกิจกรรมแทนเสียงไชโยปิดงาน
ความยิ่งใหญ่อยู่ในเนื้อหาของปฏิญญาสากลระหว่างคนชนเผ่า เครือข่าย และ ความร่วมมือจากภาครัฐ กระบวนการจัดงานที่ได้รับการออกแบบอย่างลุ่มลึกในรูปแบบและเนื้อหาเพื่อการสื่อสารอย่างมีพลัง คือความขลังของความเคลื่อนไหวที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ซึ่งเกิดจากงานประสานร่วมของทุกฝ่าย กลิ่นอายอัตลักษณ์ทุกมิติในวิถีความเป็นพื้นเมืองของคนชนเผ่าคือเสน่ห์ที่บอกความมีอารยะอย่างแท้จริง ทั้งภูมิปัญญา อาหาร เครื่องแต่งกาย ฯลฯ คือเครื่องหมายที่จะนำมาซึ่งอำนาจในการต่อรองทุกข้อเรียกร้องจากภาครัฐและสังคมโลก ในปีหน้าสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะมีอายุครบ 10 ปี เป็นวาระสำคัญ ทุกอย่างที่รังสรรค์สู่งานจะบอกถึงการเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะในอีกระดับ นับเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง
โดยเฉพาะการออกแบบงานที่ขึ้นอยู่กับวิธีคิดอย่างมีส่วนร่วมระหว่างตัวแทนของรัฐ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง และมวลชน โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองซึ่งซับซ้อนและละเอียดอ่อนต่อการรับรู้สู่สาธารณะ ประชาชนคนไทยไม่น้อยที่คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา เรื่องการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมายการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคม แต่ยังทำไม่สำเร็จ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ตัวแทนพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายต่อตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร วันมูหะมัดนอร์ มะทา 15 ชุด 6 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ์และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ นำโดย มานพ คีรีภูวดล, เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล[21] สส.บัญชีรายชื่อสัดส่วนชาติพันธุ์พรรคก้าวไกลเพื่อเร่งผลักดันร่างกฎหมายนี้ จึงเป็นความหวังที่มีต่อรัฐบาลใหม่ ว่าจะไม่ทอดทิ้งทุกชาติพันธุ์ เพราะพวกเขาคือกำลังสำคัญของประเทศไทย ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา บุกรุก เบียดเบียนความเป็นอยู่อย่างที่เคยเข้าใจอีกต่อไป
หมายเหตุสำคัญ
ขอขอบคุณภาพและวีดิทัศน์ โดย
ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร (องค์การมหาชน)
IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
ตะลอนตะหลอด : ชาติพันธุ์ลำปาง-แพร่ สื่ออิสระภาคเหนือ
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม :
- IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (21 สิงหาคม 2566), “ทางกลับบ้าน,”
- IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (22 สิงหาคม 2566), “ความฝันของเยาวชนมอแกลน,”
- IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (22 สิงหาคม 2566) “ไร่หมุนเวียน ลมหายใจของบ้านแม่ปอคี,”
- IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (18 กรกฎาคม 2562), “รู้จักสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.),”
- MGR Online (13 พฤษภาคม 2551). “Fusion Food การปะทะทางอารยธรรมอาหาร,” สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2566
- คณะกรรมการอำนวยการสมาคม, (ศ.ว.ท./MPECT). “ชูพินิจ เกษมณี,” สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
- เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (12 สิงหาคม 2566), “สมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2566,” สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “ประวัติอาจารย์วุฒิ บุญเลิศ,” สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566.
- มูลนิธิชนเผาพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดลอม (ม.ก.ส), “ชนเผ่าพื้นเมือง ญัฮกุร,” สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, “สนธิสัญญาไวตางี ( Treaty of Waitangi ),” สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. “ไทโย้ย,” สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. “ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,” สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
- สถานทูตนิวซีแลนด์, “โจนาธาน คิงส์เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย,” สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
- สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย. “นดา บินร่อหีม,” สืบค้น 15 สิงหาคม 2566
[1] IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (21 สิงหาคม 2566), “ทางกลับบ้าน,” สุชาติ มาเยอะ ชาวอ่าข่า บ้านแม่จันใต้ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, [online] สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2566.
[2] IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (22 สิงหาคม 2566), “ความฝันของเยาวชนมอแกลน,” จุฑามาส เรือนนุ่น, [online] สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2566.
[3] IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (22 สิงหาคม 2566) “ไร่หมุนเวียน ลมหายใจของบ้านแม่ปอคี,” ประหยัด เสือชูชีพ,[online] สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2566
[4] เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (12 สิงหาคม 2566), “สมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2566,” [online] สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
[5] IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (18 กรกฎาคม 2562), “รู้จักสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.),” [online] สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
[6] สถานทูตนิวซีแลนด์, “โจนาธาน คิงส์เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย,” [online] สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
[7] คณะกรรมการอำนวยการสมาคม, (ศ.ว.ท./MPECT), ชูพินิจ เกษมณี, [online] สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
[8] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, “สนธิสัญญาไวตางี ( Treaty of Waitangi ),” [online] สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566.
[9] มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ประวัติอาจารย์วุฒิ บุญเลิศ, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
[10] ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, นดา บินร่อหีม, สืบค้น 15 สิงหาคม 2566
[11] เครื่องดนตรี ซือบือ ของชนเผ่าลีซู (ลีซอ)
[12] MGR Online, “Fusion Food การปะทะทางอารยธรรมอาหาร,” [online] สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2566
[13] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,ไทโย้ย, ใน ฐานข้อมูลชาติพันธุ์, สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
[14] ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, [online] สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566
[15] มูลนิธิชนเผาพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดลอม (ม.ก.ส), ชนเผ่าพื้นเมือง ญัฮกุร, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
[16] ชนเผ่าไทแสก จ.นครพนม, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
[17] ประวัติศาสตร์ชาวไทยไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
[18] กลุ่มชาติพันธุ์กูย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
[19] ชาติพันธุ์ ปลัง นครปฐม, LangArchive-TH, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
[20] ลาวครั่ง, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2566
[21] เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล, พรรคก้าวไกล, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
- สิทธิมนุษยชน
- วันชนเผ่าพื้นเมือง
- กวินพร เจริญศรี
- วันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก
- ชนเผ่าชาติพันธุ์
- ชิ สุวิชาน
- เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
- TKN
- อภินันท์ ธรรมเสนา
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
- สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- IMN
- เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
- ตะลอนตะหลอด
- ไวยิ่ง ทองบือ
- ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์
- เกรียงไกร ชีช่วง
- ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร
- สุรชาติ สมณา
- นดา บินร่อหีม
- มานพ คีรีภูวดล
- เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล