ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ข้อเสนอบำนาญถ้วนหน้า” ทำไมชนชั้นนำจึงปฏิเสธ?

23
กันยายน
2566

Focus

  • การที่กระทรวงมหาดไทย (ก่อนรัฐบาลชุดใหม่) ปรับระบบเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาท ถือเป็นการย้อนกลับไปสู่ระบบการสงเคราะห์ที่ให้เฉพาะคนจน จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ดังที่เรื่องเช่นนี้ สมัยปี พ.ศ. 2476 ด้วยการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่มีนัยการสร้างสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ประชาชนก็ถูกต่อต้านโดยฝั่งอนุรักษนิยมในขณะนั้น
  • การที่ชนชั้นนำปฏิเสธหรืออยู่ตรงข้ามกับข้อเสนอเรื่องบำนาญถ้วนหน้า มีเหตุผลได้ดังต่อไปนี้คือ (1) ข้อกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย (2) การต่อต้านนโยบายกระจายความมั่งคั่ง (3) กำไรที่อาจลดลง (4) การสนใจในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว (5) ความกังวลเรื่องความไม่มั่นคงในสังคม และ (6) การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มทุนหรือเครือข่ายอื่นๆ ของชนชั้นนำ
  • ข้อสรุปเบื้องต้น คือ การที่ชนชั้นนำปฏิเสธระบบบำนาญของประชาชนที่เป็นเพียงงบประมาณเศษเสี้ยวของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เป็นความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจในเชิงนโยบาย หรือความตั้งใจผ่านชุดความคิดทางอุดมการณ์ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มอนุรักษนิยม

 

เมื่อเดือนที่แล้วเราจะเห็นได้ว่า มติของกระทรวงมหาดไทยได้เดินหน้าสู่การผลักดันให้ระบบเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาท ย้อนกลับสู่ระบบการสงเคราะห์ให้เฉพาะคนจนผ่านการพิสูจน์โดยรัฐ เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามมากว่า กระบวนการนี้ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศประหยัดงบประมาณไปเท่าไรนัก และยังส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 5 ล้านคนจะไม่ได้รับงบประมาณนี้

แน่นอนที่สุดว่าค่าใช้จ่ายนี้ แม้เพียง 600 บาทต่อเดือนนั้น มีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในสังคม และการตัดเบี้ยผู้สูงอายุนี้จะทำให้ชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ยากลำบากอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามคือ ทำไมชีวิตของประชาชนจึงเป็นเรื่องยากเย็นมากนัก และทำไมชนชั้นปกครองถึงได้ยุ่งวุ่นวายกับเงินเศษเสี้ยวนี้?

จะว่าไปแล้วเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หากย้อนไปในช่วงปี พ.ศ. 2476 การเสนอ เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ที่มีนัยการสร้างสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ประชาชนก็ถูกต่อต้านโดยฝั่งอนุรักษนิยมในขณะนั้น และรุนแรงถึงการเป็นมูลเหตุการรัฐประหารเงียบครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

ปกหนังสือ “สมุดปกเหลือง” หรือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ปกหนังสือ “สมุดปกเหลือง” หรือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”
โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

ข้อเรียกร้องพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ระคายหูชนชั้นปกครองมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2476 เรื่อยมา โดยระหว่างปี 2562-2566 รัฐบาลก็ได้ปัดตกพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า[1] จนกระทั่งปี 2566 ที่เราเข้าถึงฐานข้อมูลสมัยใหม่ ชนชั้นนำก็ยังคงวนอยู่กับการพยายามคว่ำจานข้าวของประชาชน อันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์อันใดจากนโยบายนี้ แต่ก็ยังคงกีดขวางตลอดเวลา

 

ที่มาภาพ : FB: We Fair
ที่มาภาพ : FB: We Fair

 

ผู้เขียนขอสรุปประเด็นคำถามสั้นๆ ว่า ทำไมชนชั้นนำ จึงอยู่ตรงข้ามกับข้อเสนอเรื่องบำนาญถ้วนหน้ามาอย่างยาวนาน?

ชนชั้นนำที่รวมถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจและมีอิทธิพล มีจุดยืนการต่อต้านระบบบำนาญถ้วนหน้าของประชาชน อันขึ้นอยู่กับบริบทและประเด็นเฉพาะของชนชั้นนำในประเทศหรือสังคมแต่ละแห่ง แต่ก็มีลักษณะทั่วไปที่พบในกลุ่มชนชั้นนำที่ต่อต้านระบบบำนาญถ้วนหน้าดังนี้

  1. ข้อกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย พวกเขามักสร้างคำอธิบายว่าการใช้ระบบบำนาญถ้วนหน้าอาจมีค่าใช้จ่ายสูง และชนชั้นนำอาจกังวลเรื่องภาระทางการเงินที่รัฐบาลหรือเศรษฐกิจโดยรวมต้องรับผิดชอบ พวกเขาอาจกังวลว่าการเพิ่มภาษีหรือรายจ่ายของรัฐเพื่อรองรับระบบบำนาญถ้วนหน้านั้น อาจส่งผลกระทบทางการเงินที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา ดังนั้นหากเลือกได้พวกเขาอยากสนับสนุนให้งบประมาณเหล่านี้ส่งตรงสู่กลุ่มเศรษฐกิจที่พวกเขาได้ประโยชน์โดยตรงมากกว่า
  2. การต่อต้านนโยบายกระจายความมั่งคั่ง ระบบบำนาญถ้วนหน้าบ่งบอกถึงการแจกจ่ายทรัพย์สินจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รายได้สูงให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รายได้ต่ำกว่า ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแจกจ่ายทรัพย์สิน ชนชั้นนำอาจต่อต้านนโยบายเช่นนี้เนื่องจากพวกเขามองว่านั่นเป็นอันตรายต่อสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทรัพย์สินที่พวกเขาสะสมไว้ การสูญเสียความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจยังเป็นบ่อเกิดของการสูญเสียอำนาจทางการเมืองสำหรับพวกเขาด้วย
  3. กำไรของพวกเขาอาจลดลง สมาชิกในชนชั้นนำอาจมีความเชื่อทางอุดมคติที่เน้นการแทรกแซงของรัฐบาลในเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ ว่าเป็นเรื่องอันตราย พวกเขาอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความกำไรสุทธิของพวกเขา การลดภาษีของบริษัทหรือการสร้างเงื่อนไขเศรษฐกิจที่เป็นที่น่าพอใจสำหรับธุรกิจมากกว่าการลงทุนในระบบประกันสังคม เช่น ระบบบำนาญถ้วนหน้า
  4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ชนชั้นนำอาจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่าสวัสดิการทางสังคมในระยะยาว จริงอยู่แม้ทุกคนจะทราบดีว่าสังคมที่เสมอภาค สังคมที่ผู้สูงอายุปลอดภัยดีต่อทุกคนในระยะยาว แต่กลุ่มทุนและชนชั้นนำมองว่าผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้ดีกว่า มั่นคงมากกว่า
  5. กังวลเรื่องความไม่มั่นคงในสังคม ชนชั้นนำอาจกังวลว่าการใช้ระบบบำนาญถ้วนหน้าอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางสังคมหรือความต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนทางสังคมและเศรษฐกิจที่กว้างขวางขึ้น เมื่อคนธรรมดาสามารถตั้งคำถามหรือท้าทายต่ออำนาจรัฐได้เมื่อพวกเขามีชีวิตที่มั่นคง คลายความกังวลจากความเหลื่อมล้ำและยากจน พวกเขาอาจพยายามรักษาสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในอำนาจและอิทธิพลของพวกเขาให้สถานะของพวกเขามั่นคงและมีอำนาจผ่านระบบอุปถัมภ์ในสังคมไร้สวัสดิการต่อไป
  6. การโฆษณาชวนเชื่อ กลุ่มชนชั้นนำทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แม้ว่าชนชั้นนำทางการเมืองส่วนหนึ่งจะมาจากการเลือกตั้งและมีผลประโยชน์เชื่อมตรงกับประชาชน แต่การล็อบบีของกลุ่มทุนหรือเครือข่ายอื่นๆ ของชนชั้นนำก็อาจสามารถผลักดันให้งบประมาณถูกผันสู่โครงการขนาดใหญ่ที่มีผู้ได้ประโยชน์ส่วนน้อยมากกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าของประชาชน

โดยสรุป เมื่อพิจารณาเบื้องต้นจะพบว่า การที่ชนชั้นนำปฏิเสธระบบบำนาญของประชาชนที่เป็นเพียงงบประมาณเศษเสี้ยวของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือการขาดความเข้าใจ แต่เป็นความตั้งใจไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจในเชิงนโยบายหรือความตั้งใจผ่านชุดความคิดทางอุดมการณ์ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

การเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ของชนชั้นนำและอุดมการณ์ของพวกเขา จำเป็นต้องอาศัยการต่อสู้ทางการเมือง มากกว่าเพียงแค่ชุดข้อเสนอทางนโยบายเพื่อทำความเข้าใจกับพวกเขา เพราะพวกเขาล้วนตัดสินใจทางนโยบายหลายอย่างล่วงหน้า ผ่านชุดความคิดที่ฝังรากลึกในกลุ่มอนุรักษนิยมไว้แล้ว

 

บรรณานุกรม

  • Thammaboosadee, S. (2021) “A Century of Struggle Brief History of Thailand's Social Democratic Movement, 1932-2020” PRAKSIS the Journal of Asian Social Democracy. Praxis 1(1). P. 33-47.

บทความที่เกี่ยวข้อง โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี :


[1] นายกปัดตกไม่รับรองกฎหมายบำนาญ 5 ฉบับรวด !!!! ตอกย้ำการไม่เห็นหัวประชาชน สวัสดิการอภิสิทธิ์ชน และระบบสงเคราะห์