เมื่อพูดถึง ‘ปรีดี พนมยงค์’ สิ่งที่หลายท่านอาจจะเห็นภาพที่แตกต่างกัน ปรีดี พนมยงค์ สำหรับนักประวัติศาสตร์ ก็อาจจะเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แต่ขณะเดียวกัน สำหรับชนชั้นปกครองของประเทศนี้ ปรีดี พนมยงค์ ก็มีสถานะของการเป็นปีศาจร้ายที่อยู่มาอย่างยาวนาน
แต่สำหรับผม ผู้ที่ศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็นรัฐสวัสดิการ สิ่งที่ผมอยากย้ำคือ “ปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่เพียงแค่บุคคล แต่ ปรีดี พนมยงค์ คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และที่สำคัญที่สุด จิตวิญญาณของ ปรีดี พนมยงค์ ก็คือจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ นั่นหมายความว่า ปรีดี พนมยงค์ นี้ เป็นอมตะ และไม่ได้ตายไปจากการต่อสู้ทุกยุคทุกสมัย”
หลายสิ่งซึ่งเป็นความปรารถนา การต่อสู้ของปรีดี พนมยงค์ เมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว หลายสิ่งซึ่งเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อสังคมที่เท่าเทียม ความทุกข์ยากซึ่งสร้างคนอย่างปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมา ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม สิ่งเหล่านี้แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนไป แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม
เมื่อช่วงปีที่แล้ว วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งเข้ามาหาผม เขาเล่าถึงชีวิตที่ยากลำบากของเขา เขาบอกว่า บางทีเขาอาจจะไม่ได้เรียนต่อ บางทีเขาอาจจะไม่สามารถที่จะหาค่าเทอมมาจ่ายได้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า
แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ณ ปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้คนทั่วไปที่จะสามารถเข้าถึงได้ คนธรรมดาต้องพยายามอย่างหนักมาก กว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ จากสถิตินักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจนจะมีเพียงแค่ 4% เท่านั้น ที่มีโอกาสจะได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
นักศึกษาคนนี้บอกผมว่า ถ้าหนูไม่ได้เรียนต่อ มันก็น่าจะกลับมาสู่การตั้งคำถามสำคัญว่า “หรือว่าที่นี่ ไม่ใช่ที่ของหนู” และที่ของเด็กผู้หญิงคนนี้ควรจะอยู่ที่ไหน เธออธิบายต่อไปว่า “บางทีคนธรรมดาอย่างหนู เมื่อเรียนจบ ม.6 ควรไปทำงานโรงงานเก็บเงินให้ได้มากเพียงพอ แล้วค่อยคิดฝัน เรื่องการเรียนต่อ ธรรมศาสตร์ไม่ใช่ที่ของหนู” ผมได้ฟังประโยคนี้ ผมรู้สึกสะท้อนใจอย่างมาก เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่ที่ของเขา มันจะมีที่ใดของประเทศนี้ ที่สามารถเป็นที่ของเขาได้อีก
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าสู่ให้ทุกท่านได้ฟัง ในฐานะการเป็นครูบาอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำในประเทศนี้ คือ การเซ็นผ่อนผันค่าเทอม มีนักศึกษาคนหนึ่งมาหาผมเช่นเดียวกัน มาให้เซ็นผ่อนผันค่าเทอม ผมทำแบบนี้มาจนกระทั่งเกือบจะถึงช่วงเวลาของการสอบกลางภาค ผมถามว่า ถ้าหากไม่มีเงินที่จะสามารถมาจ่ายได้ เหตุใดถึงไม่กู้ กยศ. นักศึกษาคนนี้ตอบว่า เขาเองก็อยากกู้ กยศ. แต่ทุกครั้งที่เขาเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับพ่อเขา เขาบอกว่าเขาทราบดีว่า พ่อของเขาเป็นคนขายประกัน รายได้ต่อเดือนมีอยู่เท่าไหร่ ไม่มีทางหรอกครับ ที่จะเสกเงินมา 20,000-30,000 บาท มาจ่ายค่าเทอมให้เขาได้
ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เขาก็บอกพ่อว่าเขาอยากกู้ กยศ. จะได้แบ่งเบา มีประโยคหนึ่งที่สำคัญ ที่พ่อของเด็กคนนี้บอกเด็กคนนี้ พ่อซึ่งเป็นคนขายประกันบอกกับลูกชายว่า “มึงจำคำกูไว้เลยนะ พ่อมึงเป็นคนขายประกัน และมึงก็เป็นลูกคนขายประกัน ถ้าชีวิตของมึงต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 3 แสนบาท ตอนอายุ 22 ชีวิตของมึงทั้งชีวิต ก็คงจะเป็นได้แค่คนขายประกัน”
เรื่องเหล่านี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน และฟังดูไม่สมเหตุสมผล ตอนจบของเรื่องนี้ คุณพ่อท่านนี้ ก็ไปกดบัตรเงินสด กดเงินจากบัตรเครดิตมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก ฟังดูไม่สมเหตุสมผล ดอกเบี้ยในบัตรเครดิตสูงกว่า กยศ. หลายเท่า แต่พอมองในกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองมันน่าเศร้า เมื่อพ่อคนหนึ่งบอกว่า อยากให้ความจนมันจบอยู่ที่รุ่นเขา ไม่ถูกส่งต่อไป จะเป็นหนี้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เขาก็อยากให้มันจบอยู่ที่รุ่นของเขา ไม่ต้องถูกส่งต่อไป
ทุกท่านครับ ณ ปีนี้ จากสถิติของธนาคารโลกได้ชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนไทย หากคุณเกิดในครึ่งล่างของประเทศ หากคุณพยายามอย่างเต็มที่ คุณจะมีโอกาสเพียงแค่ 1 ใน 7 หรือ 15% เท่านั้น ที่จะมีโอกาสกลายเป็นชนชั้นกลาง หรือ 25% ของประเทศนี้ นั่นหมายความว่าคุณต้องทำงานหนักเป็น 7 เท่า เพียงเพื่อแค่จะมีชีวิตตามแบบมาตรฐานของคนทั่วไป
ลักษณะเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในประเทศนี้ มีผู้คนจำนวนมากที่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด แม้ว่าจะทำงานอย่างหนักก็ไม่สามารถจะยกระดับชีวิตของตัวเองได้ ติดลบตั้งแต่วันที่ 1 ของชีวิต จนกระทั่งวันที่จากไป ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเลย
คำถามสำคัญว่า “ทรัพยากรของประเทศนี้ไปอยู่ที่ไหน” คำถามสำคัญว่า “ทำไมสิทธิ์พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งรายได้ที่เพียงพอ ถึงต้องเอาชีวิตของคนรุ่นหนึ่งแลกไป เพื่อให้ชีวิตของคนรุ่นหลังมีชีวิตที่ดีขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น”
ไร้รัฐสวัสดิการ: ย่ำอยู่กับที่ ย้ำรอยเดิม ซ้ำรอยประวัติศาสตร์
ทุกครั้งที่ผมสอนวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ ผมจะอ่านบทความนี้ให้นักศึกษาฟัง บทความนี้มีการดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้สามารถที่จะเผยแพร่ได้ แต่ทุกท่านครับ ลองฟังบทความนี้ แล้วลองคิดตามผม แล้วเดี๋ยวเราจะมาคุยกัน
บทความนี้ เขียนไว้อย่างง่ายดายครับ ด้วยเริ่มต้นที่ว่า “เงินเหล่านี้จะต้องเอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีการทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง คนตกงานอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ อดอยากไปตามยถากรรม ข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบและเสมียนไม่สามารถได้รับค่าจ้างที่เพียงพอ
ความจริง ถ้าเอาเงินของพวกเขากวาดรวมกัน มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรตอบสนองคุณราษฎรที่เสียภาษีอากรให้แก่พวกเขาได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเขาหาได้ทำอย่างนั้นไม่ ยังคงสูบเลือดกันต่อไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อประเทศชาติบ้านเมืองทรุดโทรมลง”
ผมถามนักศึกษาในห้องว่า “ทุกท่านคิดว่าบทความนี้ เขียนเมื่อไหร่” มีคำตอบหนึ่งครับ เขาตอบว่า “ผมคิดว่าบทความนี้น่าจะเขียนเมื่อวาน” ผมถามไปว่าทำไมเขาบอกว่าเพราะเรื่องราวที่มันปรากฏอยู่ในบทความนั้น เหมือนกับประเทศไทยในปี 2563-2564 ไม่ผิดเพี้ยน
สิ่งที่ผมได้อ่านจบไปมีการดัดแปลงเล็กน้อย ตัดบางถ้อยคำ แต่คือแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำครับ “ความเหลื่อมล้ำที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง กับ ความเหลื่อมล้ำ และอยุติธรรมที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ออกมาตั้งคำถามในวันนี้ แทบจะเป็นตัวเดียวกัน”
เราเห็นผู้ใช้แรงงานผูกคอตาย เราเห็นผู้คนสิ้นหวังจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความสิ้นหวังนี้ แทบจะไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 90 ปีที่แล้วเลย
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: สาเหตุ การสืบทอดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อเราเห็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่ ณ ตรงนี้ สิ่งที่ผมอยากจะชวนทุกท่านสนทนากันต่อไป อะไรคือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่ยังคงอยู่ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 90 ปีที่ผ่านมา
อธิบายง่ายๆ ก็คือ “การผูกขาดความทรงจำของชนชั้นนำ” หมายถึง การพยายามบอกว่า ถ้าคุณเกิดมายากจน คุณเกิดมาอยู่ในสถานะหรือฐานันดรที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ปู่คุณเป็นชาวนา พ่อคุณเป็นชาวนา แม่คุณเป็นผู้ใช้แรงงาน ย่าคุณเป็นคนงานโรงงานเย็บผ้า คุณก็ต้องพอใจกับสถานะแบบนี้ต่อไป ไม่สามารถที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงอันใดได้ นี่คือการผูกขาดความทรงจำ ราวกับว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้มาชั่วนาตาปี มีลำดับชั้น มีความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ถูกทำให้เป็นสิ่งปกติ และเมื่อใดก็แล้วแต่ ที่เราพูดถึงสิ่งที่ปกติที่สุดในสังคมมนุษย์ นั่นคือ “ความเท่าเทียม” สังคมไทยกลับทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปีศาจร้าย ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่อันตราย ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพ้อฝันและเป็นไปไม่ได้
สิ่งที่ผมอยากย้ำ คือ ในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจจะมีหลายสิบปี หลายทศวรรษหรือว่าเกือบศตวรรษที่ล้มเหลว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่มันอาจจะมีเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เคยมีมาในประเทศนี้
หากเราไล่ตามประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงไป ปฐมบทของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มากกว่าเพียงแค่ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่พูดถึงความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะสิทธิ์พื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ปฐมบทของการต่อสู้ครั้งนี้เริ่มต้นที่ปี 2475 “เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์” “พระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ตัวพระราชบัญญัตินี้ ได้นำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุด แม้จะมาตรวัดด้วยสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน
ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์: รัฐสวัสดิการ รูปแบบ และการโต้แย้ง
ข้อเสนอที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ ถ้าวัดตามมาตรฐานปัจจุบันแล้ว เราเรียกว่า “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ผนวกรวมด้วยเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า การทำให้ทุกคนมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต การวางนโยบายที่ง่ายและตรงจุดที่สุด การที่จะทำให้ผู้คนในประเทศนี้ คงอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต
เรื่องที่น่าเสียดายที่สำคัญก็คือ พระราชบัญญัติตัวนี้ไม่เคยประกาศใช้ นโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอในปีแรกของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโต้แย้งของฝั่งอนุรักษนิยม ทั้งในคณะราษฎรเอง ทั้งฝั่งอนุรักษนิยมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมเอง พยายามโต้แย้งว่า “ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยแม้จะไม่ได้มั่งคั่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เดือดร้อนยากจน”
ในเอกสารโต้แย้งของรัชกาลที่ 7 ต่อ ปรีดี พนมยงค์ นี้ มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดและกลายเป็นข้ออ้างที่ยังคงปรากฏอยู่ในเมืองไทย แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 90 ปีก็ดี ข้ออ้างกับคำอธิบายนี้คือบอกว่า ประการแรก ที่สำคัญ ประเทศไทยยังไม่พร้อมกับเรื่องนี้ ประการที่ 2 เรื่องเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย โดยอ้างว่าปรีดี พนมยงค์ ชอบใช้คำว่าอดตาย แต่รัชกาลที่ 7 ก็พยายามที่จะอธิบายว่าประเทศไทยไม่มีคนอดตาย แม้แต่สุนัขจรจัดที่ไปอยู่ที่วัด ไม่มีข้าวกิน เดินเข้าไปพระยังหาอาหารให้กินได้ ประเทศเราในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่มีใครที่จะสามารถอดตายได้ เว้นแต่คนที่ไม่สามารถอ้าปากกินข้าวได้เท่านั้นเอง เป็นเรื่องน่าเศร้าครับ เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีนี้ นำสู่ความขัดแย้งฉากแรกระหว่างคณะราษฎรกับฝั่งอนุรักษนิยม และความพยายามในการที่จะลดบทบาทของปรีดี พนมยงค์อย่างมาก
ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ ง่ายมากครับ การจัดรัฐสวัสดิการและเงินเดือนพื้นฐานให้คนไทยทุกคน เริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน คิดเป็นมาตรฐานของค่าครองชีพปัจจุบันแล้วประมาณ 4,000 ต่อเดือน สิ่งเหล่านี้ ภาคประชาชนกำลังพูดถึง “เรื่องบำนาญ” กำลังพูดถึง “เรื่องเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า” พูดกันมา 80-90 ปี นี่คือสิ่งที่ถูกนำเสนอในรอบแรกของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ผ่านมา 15 ปี เมื่อปรีดี พนมยงค์ มีโอกาสในการที่จะเป็นรัฐบาลและผลักดันประเด็นทางการเมือง การต่อสู้ของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย การต่อสู้ของนักการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ถูกขานรับอย่างมาก ในช่วงหลังสงครามโลกที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสากลโลก อังกฤษก็ดี เยอรมนีหรือแม้กระทั่งฝรั่งเศส ไล่ลงมาถึงกลุ่มประเทศนอร์ดิก สแกนดิเนเวีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศบอบช้ำในสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการสถาปนารัฐสวัสดิการ และการปกครองตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเปลี่ยนประเทศและก็สร้างความเสมอภาค ธำรงซึ่งประชาธิปไตยอย่างยาวนาน
แต่สำหรับประเทศไทยครับ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ มีนักการเมืองสายปรีดี พนมยงค์ หลายท่านที่ต้องถูกให้จบชีวิตด้วยการพยายามผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้า อย่างเช่น คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ การพยายามนำเสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายในสภาวะคับขัน พระราชบัญญัติตัวนี้นัยยะก็คือการลดอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลให้ ควง อภัยวงศ์ ต้องทำการลาออก แล้วก็มาตั้งพรรคประชาธิปัตย์
อย่างที่ทุกท่านทราบว่าช่วงเวลานั้น คือช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในปี 2489 เรามี “รัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด” และเชื่อกันว่าน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำสู่การวางรากฐานรัฐสวัสดิการ รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ภายใต้การพยายามผลักดันและการร่างของปรีดี พนมยงค์ ในมาตรา 12 ได้เขียนไว้ว่า “บุคคลทุกคนมีฐานะเสมอภาคกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีฐานันดรโดยกำเนิดก็ดี หรือฐานันดรสถานะทางเศรษฐกิจที่ได้มาแต่หนหลังก็ดี ไม่ทำให้บุคคลนั้นมีเอกสิทธิ์เหนือผู้ใดเลย” นั่นคือจิตวิญญาณของรัฐสวัสดิการครับ ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489
แต่น่าเสียดายอย่างที่ทุกท่านทราบกัน ความพยายามของปรีดี พนมยงค์ กลุ่มการเมืองที่ก้าวหน้า ได้ถูกใช้ข้อกล่าวหาอันไม่เป็นธรรม การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายความก้าวหน้าของกระบวนการการต่อสู้ ซึ่งเราเชื่อกันว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการ และแน่นอนที่สุด การรัฐประหารและการกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีกของนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงปี 2490 ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ นักการเมืองฝ่ายซ้ายหลายคนในช่วงเวลานั้น ถูกปิดชีวิตอย่างโหดเหี้ยมในช่วงเวลาดังกล่าว
เราจะเห็นได้ว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กฎหมายต่างๆ ที่เราเชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้า อย่างเช่น พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งควรจะถูกผลักดันให้แล้วเสร็จก่อนปี 2500 และมีการบังคับใช้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การรัฐประหารของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 จึงทำให้กฎหมายฉบับนี้ ถูกดองเป็นเวลากว่าเกือบ 40 ปี ไม่ถูกนำมาบังคับใช้และผลักดันประเทศไทย แทนที่เราจะก้าวหน้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการตามเจตจำนงของคณะราษฎร และผู้คนจำนวนมากที่ได้สละชีวิตต่อสู้ ประเทศไทยหลังปี 2500 เดินหน้าสู่การเป็นรัฐสังคมสงเคราะห์และรัฐข้าราชการอภิสิทธิ์ชน เงินสวัสดิการจำนวนมากถูกเอามาให้แก่ระบบราชการเพื่อใช้ในการต้านภัย คอมมิวนิสต์ และ ในขณะเดียวกันก็มีระบบ คุณหญิง คุณนาย บริจาคสังคมสงเคราะห์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่แนวคิดรัฐสวัสดิการ
แนวคิดรัฐสวัสดิการ: การต่อสู้ การได้มา ไม่เคยหวนคืน
เรื่องที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งครับ แนวคิดรัฐสวัสดิการไม่เคยหายไปจากสังคมนี้ การต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรมแม้จะถูกคั่นกลางโดยการรัฐประหารและเผด็จการทหารอยู่หลายครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อใดที่แล้วแต่ที่ประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า จะมีเรื่องรัฐสวัสดิการถูกพ่วงขึ้นมาอยู่
เหตุการณ์ที่น่าเศร้าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุผลหนึ่งก็เกิดจากการที่ชนชั้นนำในประเทศนี้มองว่า คนไทยกำลังจะได้สิ่งที่ท้าทายอำนาจของพวกเขา ชนชั้นนำกลัว พวกเขากลัวและเกลียดสิ่งที่ประชาชนรัก นั่นคือความเสมอภาคและความยุติธรรม พวกเขากลัวแล้วก็เกลียดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่พวกเขากลับรักและเชิดชูในสิ่งที่ประชาชนเกลียด นั่นคือความเหลื่อมล้ำ เผด็จการและระบบทุนนิยม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ปี 2519 จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญและทำลายจิตสำนึกของการต่อสู้ เพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยและสังคมที่เท่าเทียม
การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการไม่เคยหายไปจากประเทศนี้ แต่เสียงของมันจะเบา เสียงของมันจะค่อย ทุกครั้งเมื่อเผด็จการทหารมีอำนาจ เมื่อเผด็จการทหารมีอำนาจจะทำให้เสียงเหล่านี้เงียบหายไป หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้า ให้พรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายที่เป็นคุณแก่ประชาชน และผูกพันพรรคการเมืองต่อคำสัญญาต่างๆ มันนำไปสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 ภายใต้การบริหารงานของพรรคไทยรักไทย
นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ไล่มาถึงรัฐประหารปี 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นสำคัญก็คือ พลังของฝั่งอนุรักษนิยมเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น เมื่อพวกเขาทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยซึ่งเป็นรอยต่อสำคัญของประชาชนสู่อำนาจรัฐ เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ต้องผูกพันกับประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออำนาจของกลุ่มทุนที่เข้ามาแนบสนิทชิดเชื้อกับอำนาจของฝั่งรัฐบาลมากขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นก็คือ ผู้คนที่คิดต่างถูกอุ้มหาย หลายคนต้องลี้ภัยทางการเมือง ไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดเมืองนอนออกไป สิ่งที่เราเห็นก็คือผู้คนที่ปรารถนาสังคมใหม่ คนรุ่นใหม่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศนี้ มีกำลังวังชา มีสติปัญญา ก็ต้องลี้ภัยไปจากประเทศนี้ไป หลายคนปรารถนาที่จะต่อสู้ ก็ถูกคุกคาม คุมขัง
ณ ปัจจุบันนี้ ความผิดเดียวที่เราเห็นนักศึกษาถูกคุมขังอยู่ เห็นคนรุ่นใหม่ ต้องลี้ภัยมากมายและหลายคนหายออกไปจากโลกนี้ โดยไม่มีคำอธิบายอะไร ความผิดของพวกเขาคือพวกเขาปรารถนาสังคมที่มันเสมอภาคมากขึ้น
อุปสรรคของรัฐสวัสดิการ: อะไรที่ทำให้ประเทศถอยหลังลงคลอง
อุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมในปัจจุบัน คือ กลุ่มชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางการเมืองและชนชั้นอนุรักษนิยม ที่ผูกขาดค่านิยมจารีตประเพณีต่างๆ ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันเรามี 3 อัตลักษณ์ที่สะท้อนความล้าหลังและทำให้รัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้
อันดับแรก คือ ความอัปลักษณ์ด้านการเมือง การผูกขาดอำนาจทางการเมืองผ่านเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กองทัพและอำนาจที่เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นไป การทำงานเป็นเครือข่ายแบบนี้ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาได้ ไม่มีความคิดใหม่ ไม่เกิดการนำเสนอนโยบายที่ท้าทายอำนาจ ในทางวิชาการเรา เรียกระบบเหล่านี้ว่า Democrasubjection แปลเป็นไทยก็คือ “การเป็นไพร่ในสังคมประชาธิปไตย” มีเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ มีพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ นำเสนอนโยบายได้ แต่ไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการมีรัฐประหารที่ต่อเนื่องยาวนาน มีกลไกการสืบทอดอำนาจ เมื่อเสียงความต้องการของประชาชนไม่สามารถถูกส่งออกต่อไปได้ ความเท่าเทียมกันทางนโยบายก็ไม่เกิดขึ้น
ความอัปลักษณ์ข้อที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ตระกูล ที่ครอบครองแทบจะทุกอย่างในประเทศนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เราบอกว่า ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ คนที่ยากจนที่สุดในประเทศนี้ คือกลุ่มคนที่ทำงานหนักมากที่สุด ยิ่งรายได้น้อย ชั่วโมงการทำงานก็ยิ่งสูง
ทุกวันนี้เกิดกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มใหม่ ผมขอเรียกว่าเป็น “กลุ่มแรงงานเสี่ยง” แต่ก่อนนี้ ชนชั้นนายทุนผูกขาดในประเทศนี้ มักจะบอกว่า เขาเสี่ยง เขาจึงสามารถมั่งคั่งได้ เขาเสี่ยง เขาจึงสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่ปัจจุบันนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือ ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทนนายทุน ไม่มีโอกาสที่จะรวมตัวต่อรอง กลไกเทคโนโลยีการผูกขาดต่างๆ ก็ทำให้นายทุนมั่งคั่งมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานแบบรับความเสี่ยงมากขึ้น ๆ จนไม่สามารถที่จะต่อรองอะไรได้
ทุกท่านครับ มอเตอร์ไซค์ก็มอเตอร์ไซค์เรา แรงก็แรงเรา หมวกกันน็อค ก็หมวกกันน็อคเรา น้ำมันก็น้ำมันเรา แต่ผู้ใช้แรงงานต้องแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อให้นายทุนมั่งคั่งมากขึ้นใน เศรษฐกิจ Platform ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ”
ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้ใช้แรงงานอิสระที่ไม่มีเงินเดือนประจำอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 20 ล้านคน และครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้มีรายได้น้อยกว่า 8,000 บาทต่อเดือน ชั่วโมงการทำงานสูงมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่มันเกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขที่ทำให้ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจมั่งคั่งมากขึ้นและแนบชิดกับกลไกอำนาจของชนชั้นนำทางการเมือง
ชนชั้นนำกลุ่มสุดท้ายก็คือ “ชนชั้นนำแบบจารีตประเพณี” อาศัยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต วัฒนธรรมที่ให้ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง วัฒนธรรมที่ผูกคนไว้กับความกตัญญู ครอบครัวและการรับผิดชอบ บอกให้เราอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน เพื่อชีวิตที่ดี ให้เสียสละเพื่อชีวิตของคนภายหน้า เพื่อครอบครัวของเรา พ่อแม่ของเราทำงานหนักทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถทำให้ผู้คนในครอบครัวมีชีวิตที่ดีได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่กำลังถูกขังไว้อยู่กับสังคมผู้สูงอายุ ที่พ่อแม่ของเราทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่กลับไม่สามารถมีเงินบำนาญที่เพียงพอในการที่จะดูแลชีวิตของพวกเขายามเกษียณคนรุ่นใหม่กำลังเหนื่อยล้า ด้วยสิ่งที่กดทับพวกเขา ทั้งอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ อำนาจทางจารีตประเพณี
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ ที่ชนชั้นนำ อำนาจเผด็จการมีชัยชนะเหนืออำนาจของประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้เราไม่สามารถที่จะมีความทรงจำหรือจินตนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมได้เลย และสุดท้ายเราก็ได้แต่หลอกตัวเองว่า ประเทศไทยนี้ไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และไม่พร้อมต่อรัฐสวัสดิการ
การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่: ความหวัง ความต้องการชีวิตที่ดีขึ้น
ประเด็นสุดท้าย แม้ในวันที่จะดูสิ้นหวังมากที่สุด เรายังเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกมาตั้งคำถาม คนรุ่นใหม่ที่เขาเงยหน้า แล้วเขาเห็นความอยุติธรรมค้ำคอพวกเขาอยู่ ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานหนักหรือขยันเรียนหนังสือขนาดไหน โลกใบนี้ก็แทบจะถูกจองโดยชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม
พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เราเห็นในข้อเรียกร้องของพวกเขาด้านหนึ่ง คือ “เรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” และ “แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย” รูปธรรมของมันคืออะไรครับ ผมขออธิบายอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
“รัฐสวัสดิการ” คือ “รูปธรรมสำคัญของประชาธิปไตย” เพราะมันทำให้เราตั้งคำถามว่า “รัฐคงอยู่เพื่ออะไรและเพื่อใคร” ถ้าเป็น “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ทรัพยากรบาทแรกจนกระทั่งถึงบาทสุดท้าย ก็เพื่ออำนาจสมบูรณ์ของคน 1 คน ถ้าเป็น “รัฐทุนนิยม” บาทแรกจนกระทั่งถึงบาทสุดท้าย ก็เอาไว้เพื่อปรนเปรอความมั่งคั่งของนายทุน เหลือเท่าไหร่เป็นเศษเนื้อก็โยนมาให้ประชาชน
แต่วันนี้ คนรุ่นใหม่กำลังฝันถึง คำนี้คือคำว่า “รัฐสวัสดิการ” บาทแรกบาทสุดท้ายมารับประกันชีวิตของผู้คน เป็นสวัสดิการให้แก่ผู้คนเหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปทำอย่างอื่น ทุกวันนี้เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ครับ เมื่อเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ บาทแรกถึงบาทสุดท้ายก็ถูกเอาไปใช้ทำอย่างอื่น อาวุธ ยุทโธปกรณ์ เรือดำน้ำ ตำรวจ ทหาร ชนชั้นนำใช้คุก ศาล ทหาร ตำรวจ แบ่งผู้คนออกจากกัน ขังพวกเราไว้อยู่อีกฝั่งหนึ่งของกำแพง และโยนเศษเนื้อมาให้ในฐานะสังคมสงเคราะห์ แต่เราสามารถได้สิ่งที่ดีกว่านี้
ผมอยากย้อนสุดทางให้ทุกท่านเห็นภาพ พระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของคณะราษฎรนำเสนอโดยปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 89 ปีก่อน พระราชบัญญัตินี้ ผมเองเคยคำนวณว่า ถ้าทำตามข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ การสร้างรัฐสวัสดิการของไทยให้ก้าวหน้าที่สุด เงิน 3.2 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ประเทศไทยมี ถ้าทำตามข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เราทำได้ไหม ผมลองคำนวณตามค่าเงิน ความต้องการของประชาชน ความมั่งคั่งของประเทศที่เพิ่มเติมมากขึ้น ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เราจะใช้เงินเพียงแค่ 2 ล้านล้านบาท มันเป็นไปได้ครับ
คำถามสำคัญคือ เราคิดว่าคนเท่ากันไหม ถ้าเราคิดว่าคนเท่ากัน รัฐสวัสดิการก็เป็นไปได้ ปัจจุบันนี้เงินบำนาญของข้าราชการ 1 คน สูงกว่าเบี้ยผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยของประชาชน 42 เท่า ในนั้นมีนายพลทหารอยู่นับหมื่นคน นายพลทหารที่เกษียณไป ไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่ประเทศนี้ ไม่เคยรบป้องกันประเทศ วีรกรรมอย่างเดียวของนายพลปลดเกษียณของไทยที่มีอยู่นับหมื่นคน พวกเขาไม่เคยป้องกันประเทศ พวกเขาเคยเพียงแค่ทำรัฐประหารและปราบปรามประชาชน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ในวัยที่ต้องเกษียณ เมื่อมีอายุครบ 60 ปี ถ้าเราจะทำให้พ่อแม่ของเรา มี “เงินบำนาญประชาชนถ้วนหน้า” เดือนละ 3,000 บาท เหมือนกับที่อารยประเทศเขามี เหมือนกับที่อารยประเทศใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่ทำงานหนักมา เราจะใช้เงินเพียงแค่ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือถ้าเทียบแล้ว ในเงินประเทศ 100 บาท เราใช้เงินเพียงแค่ 8 บาท เท่านั้น เพื่อที่จะทำให้พ่อแม่ของเรามีหลักประกันบำนาญ
“เราต้องใช้เงินเท่าไหร่ครับที่จะทำให้คนที่เกิดมาใหม่ ไม่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด ไม่ติดลบ พ่อแม่ไม่ต้องไปกู้นอกระบบมา เพื่อเป็นค่านมลูก” เราเห็นคนจำนวนมากครับ ที่ติดลบตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย “เงินเด็กถ้วนหน้า” 0-18 ปี ใช้เงิน 4.5 แสนล้านบาท หรือว่า 9 บาทจาก 100 บาทของบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศนี้ ทำให้พี่น้องที่ทำงานแพลตฟอร์ม แรงงานนอกระบบ คนขับส่งของ คนรับงานกลับไปทำที่บ้าน แรงงานภาคเกษตร มีประกันสังคมที่สามารถใช้ได้จริง มากกว่ามาตรา 40 ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่ำ ไม่จูงใจ ทำให้ทุกคนมีประกันสังคมถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 300,000 ล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 7 บาทจาก 100 บาท 7 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อคน 20 ล้านคน ต้องใช้เท่าไหร่ครับ ให้คนสามารถเรียนฟรี จนจบปริญญาเอก พร้อมกับมีเงินเดือน
เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เหมือนครั้งหนึ่งที่เราคิดว่ากับประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่การทำให้คนกว่า 2 ล้านคนในระบบมหาวิทยาลัยเรียนฟรี จนกระทั่งถึงปริญญาเอก มีเงินเดือนแบบนานาอารยประเทศที่เขาพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ใช้เงินประมาณปีละแค่ 200,000 ล้านบาทหรือประมาณ 8 บาทจาก 100 บาทของบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ประเทศนี้ใช้ ทำให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทดีขึ้น เทียบเท่ากับระบบราชการสามารถที่จะร่วมกองทุนได้ ก็ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเพียงแค่ 300,000 ล้านบาทหรือประมาณ 6 บาท 6 เปอร์เซ็นต์
สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ เพียงแค่เราคิดว่า รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่สำหรับคนประเทศนี้ เราต้องการหมอ ต้องการพยาบาล ต้องการครูสอนอนุบาล ต้องการรถเมล์ ต้องการน้ำไฟที่เข้าถึงทุกคนแล้วก็ราคาถูก ต้องการมหาวิทยาลัยที่เรียนฟรี หรือว่าต้องการเรือดำน้ำ ต้องการคุกที่มากขึ้น ต้องการตำรวจคุมฝูงชนที่มากขึ้น เราต้องการแบบไหนกัน !!!!!
ความสงสัยต่อรัฐสวัสดิการ: ปลายทางชีวิตที่ดีขึ้น
ท่านอาจจะมีคำถามว่า สิ่งเหล่านี้จะทำร้ายประเทศไทยไหม บางท่านสงสัยว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการจะทำให้ผู้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน บางท่านสงสัยว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการกลุ่มทุนจะย้ายหนีออกนอกประเทศหมดหรือว่าประเทศจะล่มจม จะเงินเฟ้อ ของจะแพง ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริงครับ
แม้แต่ประเทศที่จัดรัฐสวัสดิการมากมายมากกว่าประเทศไทย ซึ่งมีเยอะมาก มากกว่าที่ผมได้พูดถึงอีกเยอะ ก็ไม่มีงานวิจัยตัวไหนยืนยันได้เลยว่า ผู้คนขี้เกียจ หรือ เกียจคร้านไม่ยอมออกไปทำงานเมื่อมีสวัสดิการที่ดี เช่นเดียวกันครับ ทุกวันนี้เราคิดเพียงแค่ว่า เราต้องการภาษีต่ำ สวัสดิการต่ำ ค่าแรงต่ำ เพื่อดึงดูดกลุ่มทุนต่างประเทศให้เข้ามา ภาษีมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนก็จริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด
มิฉะนั้น เหตุใดประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดีค่าแรงสูงสุด เขาสามารถที่จะดึงดูดกลุ่มทุนมากมายที่เข้ามาลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเขา แต่ถ้าเรากดค่าแรง กดชีวิตของประชาชน กดความฝันของประชาชน เราก็จะได้เพียงแค่กลุ่มทุนที่เข้ามาสูบเลือดสูบเนื้อกอบโกยก็ขนเงินกลับประเทศของเขาไป
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่ล่มจม และ ล้มละลายด้วยการทำให้คนได้เรียนหนังสือฟรี ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่ล่มจมพังพินาศ เพราะดูแลคนป่วย เพราะดูแลคนแก่ ไม่เคยมีประเทศไหนเช่นเดียวกันครับ ที่ล่มจมพังพินาศเพราะให้กับหลักประกันคนว่างงาน และก็เด็กเกิดใหม่ ไม่มีประเทศไหนเช่นเดียวกันครับ ที่ล่มจมและพังพินาศด้วยการจัดรถเมล์รถไฟให้ประชาชนใช้ถึงหน้าบ้าน ไม่มีครับ จากประสบการณ์ของผมในประวัติศาสตร์
“ประเทศที่ล่มจมพังพินาศ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการดูแลประชาชน แต่เกิดจากที่ชนชั้นปกครองเมินเฉยต่อประชาชน เกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นปกครองละทิ้งประชาชน เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองมองประชาชนว่า เป็นไพร่ เป็นทาส เป็นเบี้ย เป็นหมาก ประเทศนั้นจึงจะล่มจมและก็ล่มสลายได้”
ถ้าจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งล่มจมเพราะดูแลคนแก่ ล่มจมเพราะดูแลเด็ก ล่มจมเพราะดูแลคนป่วย ก็ขอให้ก็ให้มันล่มจมไปเถอะครับ เพราะนั่นคือ หน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของสังคมที่ต้องโอบอุ้มดูแลกัน
ผมมีโอกาสสนทนากับมิตรสหายจากต่างประเทศ เป็นพลเมืองของประเทศสวีเดน เขาเคยบอกผมว่า คุณเชื่อไหมว่าสวีเดนเคยยากจนมาก ถึงขนาดที่ต้องกู้เงินประเทศอาร์เจนตินา คนหนุ่มสาวครึ่งประเทศอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ไปเป็นพยาบาล ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไปเป็นแรงงานภาคเกษตร ยากจนและสิ้นหวังมาก ผมถามว่า “แล้วมันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้สวีเดนเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรัฐสวัสดิการ กลายเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่ง” ประโยคเดียวสั้นๆ ง่ายๆ มิตรสหายผมท่านนั้นบอกว่าเพราะ “ประชาชนของเราชนะ”
อย่างที่ผมได้พูดมาก่อนหน้านี้ อาจมีหลายสิบปีที่เราพ่ายแพ้ อาจมีหลายสิบปีที่ไม่มีเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในประเทศนี้ อาจจะมีไม่กี่สัปดาห์ที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่มีมา “เมื่อประชาชนชนะ เมื่อชนชั้นปกครองค้อมหัวลงฟังประชาชนบ้าง รัฐสวัสดิการจะเป็นทางออกเป็นฉันทามตินำสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”
ชวนกันคุยเรื่อง “รัฐสวัสดิการ”
ผู้ดำเนินรายการ โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
เมื่อสักครู่อาจารย์ษัษฐรัมย์ได้พูดประเด็นไว้ดีมากนะครับ โดยเฉพาะประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ว่า “การสร้างสังคมสวัสดิการ หรือ รัฐสวัสดิการ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากประชาชนยังไม่สำเร็จในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน”
ทีนี้ ณ เวลานี้ ชัยชนะของประชาชนยังไม่มีนะครับ เราเป็นประเทศที่เครือข่ายทหารยังคงปกครองประเทศอย่างต่อเนื่องอยู่ สัญญาณที่ฝ่ายเผด็จการทหารจะลงจากประเทศนี้ไปยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นในบริบทนี้การสร้างรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชน บางคนอาจรู้สึกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบประชาธิปไตยได้ งั้นก็เข้าไปเจรจาต่อรอง เข้าไปเป็น lobbyist ไปขอให้รัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจในเวลานี้ ทำเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก่อน คิดอย่างไรกับมุมมองแบบนี้ครับ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ผมคิดว่ามันมีคำอธิบายแบบนี้มาอยู่เยอะเหมือนกันครับ ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะได้อะไรที่สมบูรณ์ เราก็เข้าไปประนีประนอม ไปคุกเข่า ไปค้อมหัวเพื่อให้เราได้เศษเนื้อกลับมาบ้างครับ จริงๆ แล้วมันเหมือนกับขบวนการคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เขาก็พยายามย้ำ ให้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ว่ารัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าการต่อสู้แบบคุกเข่า ค้อมหัว กอดคอ มันเป็นวิธีการที่สำเร็จ ผมคิดว่าเราคงได้รับรัฐสวัสดิการไปนานแล้ว เพราะว่าวิธีการต่อสู้แบบนี้ใช้มานานมาก แล้วก็มีข้ออ้างอยู่เยอะมาก ในการที่จะบอกว่าต้องไปร่วมรัฐบาลก่อน ต้องสามารถนั่งโต๊ะจีนกินข้าวด้วยกันได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน แต่เราก็พิสูจน์แล้วว่ากลไกเหล่านี้ สุดท้ายมันทำให้เราได้แค่เศษเนื้อ แล้วก็มันไม่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการไปไม่ถึงไหน เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วครับ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
ในเวลานี้เศรษฐกิจประเทศไทยไม่ดีนะครับ ประเมินกันว่า สิ้นปีนี้เศรษฐกิจไทยจะดี อย่างมากก็ 2% แล้วก็เศรษฐกิจดีเนี่ยก็จะมีการบอกว่าเศรษฐกิจ อย่าเพิ่งขอ อย่าเพิ่งทำเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะเศรษฐกิจจะฝืด ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีการขยับเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็น่าจะยากมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองประชาชนเองและประชาชนบางกลุ่มก็จะคิดแบบนี้ว่า เศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้ ทำไมถึงมีคนอยากเห็นรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศไทย จะอธิบายเรื่องแบบนี้กับคนที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี เราเลยไม่พร้อมสำหรับรัฐสวัสดิการ จะทำอย่างไร มีประชาชนกลุ่มหนึ่งคิดอย่างนี้ แล้วก็เชื่อโดยสุจริตใจจริงๆ ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดียังไงก็ไม่ควรจะมีรัฐสวัสดิการ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
คือมันก็จะมีคำอธิบายเยอะ ว่าเศรษฐกิจดีก็อย่าเพิ่งทำและสวัสดิการ เพราะว่าต้องให้ได้นายทุนเขาเติบโต เราสามารถอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ ทำงานหาเงินได้ ไม่เห็นต้องพึ่งพารัฐ พอเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะมีคำอธิบายเศรษฐกิจไม่ดี แล้วคุณมาจัดรัฐสวัสดิการอีก ก็จะเป็นภาระของรัฐ
ผมคิดว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คำอธิบายแบบนี้ในส่วนของผมที่ monitor เรื่องนี้อยู่ตลอด ผมรู้สึกว่ามันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด คนรุ่นใหม่มีการตั้งคำถามต่อเรื่องพวกนี้น้อยลง คือ คิดว่า ทำไมเขาไม่สามารถเรียนหนังสือฟรีได้ ทำไมเขาต้องดูแลพ่อแม่เขา นี่คือคำถามของคนรุ่นใหม่นะครับ บางอย่างมันควรที่จะเป็นสิทธิ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
ผมคิดว่าด้านหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่บอกว่า เราอาจจะต้องใช้ทรัพยากรมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจเลย คือเรื่อง mindset หรือฐานความคิด เนื่องจากว่าเราอยู่ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมานาน พอพูดถึงความเท่าเทียมเพียงเล็กน้อย อย่างเช่น บางทีก็เห็นผู้ว่าต่อแถวขึ้นเครื่องบิน เราก็ตื่นเต้นแล้ว แบบประหลาดพิสดาร ชื่นชมกัน แต่มันเป็นเรื่องปกติมากใช่ไหมครับ
เรื่องรัฐสวัสดิการผมคิดว่า ด้านหนึ่งมันใช้เวลา อย่างเรื่องคำว่า ถ้วนหน้า ไม่ถ้วนหน้าหรือว่าเอาเงินมาจากไหน คนตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้น้อยลงมาก เพราะเห็นว่า รัฐบาลมีเงิน แต่ว่าวิธีการจะให้เจ้าสัวก่อนแล้วก็ค่อยไหลลงมาข้างล่างหรือว่ามองว่าคนเท่ากันแล้วควรได้ อันนี้คือเป็นข้อถกเถียงใหม่
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
ในช่วงประมาณปีนี้ก็มีพรรคการเมืองที่พูดเรื่อง Universal Basic Income (UBI) หรือว่าเรื่องของการสร้างรายได้ขั้นต่ำมาตรฐานให้กับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าถ้าเรามีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ หรือว่าอาจจะประมาณปี 2 ปีนี้ ประเด็นนี้จะถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกพรรคไหน หรือ ไม่เลือกพรรคไหน เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งการทำนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคเคยเป็นเงื่อนไขในการจะทำให้คนตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง อย่างพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 เรื่องของการทำ Universal basic Income หรือว่ารายได้ขั้นต่ำมาตรฐานสำหรับประชาชน
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
เรื่อง UBI ถ้าผมเทียบง่ายๆ คือการที่ทำให้ทุกคนมีเงินเดือนพื้นฐาน ไม่ว่าคุณจะยากดี มีจน มีงานทำ ไม่มีงานทำ สิ่งเหล่านี้ก็นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และสำหรับโลก คือ ยังไม่มีพื้นที่ไหนในโลกที่ใช้ระบบนี้แบบ full scale แบบทั้งประเทศ ยังไม่มี แต่ว่าก็มีในอลาสก้า ในฟินแลนด์
ทีนี้ สำหรับประเทศไทย เราก็เคยเชื่อว่าเป็นประเทศยากจน ทำประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้ คือ คุณต้องมีรายได้สูงก่อน ถึงจะสามารถทำได้ เรื่องเหล่านี้ผมก็ท้าทาย แต่ว่าผมก็เสียดายแทนรัฐบาลชุดนี้ เพราะว่าจริงๆ รัฐบาลชุดนี้มีแผลที่ผมคิดว่าต้องจดจำ เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้มีการปัดตก พ.ร.บ. บำนาญ ทั้งฉบับภาคประชาชนและฉบับพรรคการเมือง รวม 4 ฉบับ ก็คือมีของพรรคการเมือง 3 พรรค และก็มีของภาคประชาชนที่ร่างรายชื่อหมื่นกว่าชื่อเข้าไป ซึ่งหลักการมันก็คือเป็นคล้ายๆ เป็น pilot ของUBI ที่ทำให้เรามองเห็นภาพได้ว่า ให้เงินคนแก่ถ้วนหน้า รัฐบาลยังมีการปัดตกก็น่าคิด ว่าถ้าเราอยากให้เรื่อง UBI หรือ เรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า กลายเป็นนโยบายที่แข่งขัน
ณ ตอนนี้ผมคิดว่าประชาชนสามารถร่วมกันส่งเสียงกดดันรัฐบาล ว่าสิ่งที่เขาสัญญาว่าด้วยการเลือกตั้งปี 62 หลายนโยบายแทบไม่มีการพูดถึงเลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ผมคิดว่ามีการพูดถึงพวกนี้น้อยมากเลย
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
เรื่องบำนาญควรจะเป็นเรื่องที่ควรจะผลักดันได้ง่าย เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ประโยชน์หมด พ่อแม่ของทุกคนที่อายุ 60 ก็ได้ประโยชน์หมด แต่ว่าทำไมมันไม่สามารถง้างให้รัฐบาลทำเรื่องนี้สำเร็จได้ อยู่ดีๆ ก็ถูกพลเอกประยุทธ์ปัดตกไปเฉยๆ และตอนปัดตก คือเงียบมาก แทบไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ประเมินว่ามันเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้เรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ อย่างนี้ถูกรัฐบาลปัดโดยที่ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าเสียงที่มีก็เบามากเหลือเกิน
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ผมว่ามันมีปัจจัยเรื่องรัฐธรรมนูญ อันดับแรกอย่างกรณีศึกษา ก็คือการที่นายกรัฐมนตรีสามารถปัดตกร่างที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จริงๆ มีหลายตัวที่ถูกปัดตก เช่น กฎหมายแรงงานที่เพิ่มขึ้น การลาคลอดเป็น 180 วันก็ถูกปัดตกไม่ได้เอาเข้าสภา เพราะว่าเกี่ยวข้องกับเงินประกันสังคม ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเพิ่มขึ้นน้อยมาก แค่เพิ่มเป็น 100 ล้านเท่านั้นเอง
ผมได้พูดไปตอนปาฐกถา ในรัฐธรรมนูญปี 60 มันสร้างภาวะความเป็นไพร่ในระบบประชาธิปไตย นั่นคือ ฝ่ายค้านก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเอามาจริงจังอะไรกับเรื่องนี้มาก เพราะว่าจริงจังไปรัฐบาลก็สามารถปัดตกได้ แล้วถ้าทำไปแล้วเกิดมันเป็นนโยบายที่มันไม่ popular ชนชั้นกลางหรือว่ากลุ่มนักธุรกิจ เขาเกิดไม่ชอบนโยบายนี้ขึ้นมา ก็เหมือนกับขึ้นชก ถูกต่อยฟรี และ ไม่ได้ผลงาน
ผมเลยมองว่า ด้านหนึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านจึงไม่อยากทำอะไรมาก พอถูกปัดตกไปก็ค่อนข้างเงียบ สำหรับรัฐบาลคงไม่ต้องพูดถึง คือ เขารู้สึกว่ามันมีกลไกอย่างอื่นที่สามารถรักษาอำนาจของเขาได้มากกว่าการหาเสียงตามนโยบายของประชาชน นี่ก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกลไกรัฐธรรมนูญตัวนี้
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
เรื่องของการแก้ปัญหาการระบาด covid-19 ของรัฐบาล ผลกระทบกับคนจน คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ แล้วก็ดูเหมือนรัฐบาลในรอบนี้ มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้คนจนน้อยลงมากอย่างเห็นได้ชัด
เสียงของคนจนที่โวยวายก็เหมือนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าตอน covid-19 ระบาดระลอกแรกเลย คนจนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ แต่รอบนี้มันเป็นคนจนวิจารณ์น้อยทั้งที่จากความเดือดร้อนน่าจะรุนแรงมากขึ้น คิดว่าปรากฏการณ์นี้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไงครับ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
คือผมคิดว่ามันมีปรากฏการณ์ที่สำคัญด้านหนึ่ง ก็คือการที่เราอยู่กับระบบนี้อย่างยาวนานมาก แล้วเราเห็นการต่อสู้ของเพื่อนฝูง พี่น้องที่ออกมา เราเห็นว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นการต่อสู้ระยะยาว พลังในการที่เราจะคิดว่า เฮ้ย เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือวิพากษ์วิจารณ์ และนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้
มันเหมือนกับว่าทุกคนมีต้นทุนในการในการที่จะออกมาตั้งคำถาม ว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอะไรต่างๆ มันมีต้นทุน ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ ยิ่งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนในวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาดพวกนี้ ก็ยิ่งทำให้คนไม่สามารถที่จะออกมาได้ อันนี้คือเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ว่าในอีกด้านหนึ่งแล้ว รัฐบาลเองก็พยายามที่จะกำชับ กระชับอำนาจของตัวเองผ่านกลไกผ่านองคาพยพอำนาจต่างๆ ที่มีที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
เรื่องของการแก้ปัญหา COVID-19 ระบาดระลอกนี้ ถ้าให้อาจารย์ประเมิน มันมีอะไรบ้างที่รัฐบาลควรจะต้องทำ แล้วก็ยังไม่ได้ทำ ในแง่ของการดูแลประชาชน หรือว่าคนด้อยโอกาสทางสังคม
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่ปี 2563 ในเรื่องการแก้ไขปัญหาจะมี 3 อย่าง ก็คือ การแก้ไขการระบาด และก็ การให้สวัสดิการ ก็คือการเยียวยาแบบที่เราพูดกัน แล้วก็อีกด้านหนึ่งก็คือ การที่ต้องรักษางาน คือไม่ให้มีการเลิกจ้าง ไม่มีการปลดออก เพราะมันจะเป็นแผลเป็นระยะยาว แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมันช้า และก็น้อยเกินไป ก็คือคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้สวัสดิการเมื่อไหร่ และบริษัทเองก็ไม่สามารถวางแผนในการรักษาคนไว้ได้
เพราะฉะนั้นจริงๆ ในตอนนี้ซึ่งมีการระบาด และคนติดโรคเฉลี่ยวันละ 1,000 - 2,000 คน มันสร้างความไม่แน่ใจของคนในการใช้ชีวิต และทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่า เขาจะทำยังไงกับธุรกิจของเขา การเลิกจ้างก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าควรทำคือ การเยียวยาต้องไว แต่การเยียวยาทุกวันนี้มันช้าเป็นเดือน
คนเราสามารถอดข้าวได้เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น เราเห็นในชุมชนคลองเตย เราเห็นปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นว่า คนไทยพื้นที่กักตัวน้อย รายได้ที่เป็นพนักงานรายวันไม่สามารถออกไปทำงานได้ ตัวนี้ที่มันขาดหายไป ถ้าเขาต้องกักตัวอยู่บ้าน หรือว่ามีคนในบ้านไปติด
เพราะฉะนั้น เรื่องเหล่านี้คุณต้องรีบเยียวยา ต้องใช้จังหวะนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วภาคประชาชนส่งสัญญาณตั้งแต่ปี 2563 แล้วว่าเรื่องกระบวนการเยียวยาถ้วนหน้าควรจะต้องไว แต่รัฐบาลก็ไม่เรียนรู้ในการแก้ไขปัญหานี้
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ดีนะครับ เพราะว่ารอบนี้การเยียวยาช้า ทั้งที่เป็นรอบที่ 3 -4 ของการระบาดแล้ว รัฐบาลอาจมีปัญหาในเรื่องของการเรียนรู้
Q&A จากผู้ร่วมรับชม FB Live
Q:
ทำไมเมืองไทยยังไม่มีพรรคแรงงาน พุทธศาสนามีผลอย่างไรต่อความคิดและสวัสดิการ ทำให้ประชาชนเห็นดีกับการบริจาคการทำบุญมากเกินไปหรือเปล่า การต่อสู้รัฐสวัสดิการก่อตัวในยุคอาจารย์ปรีดีแต่กว่าจะเป็นรูปธรรมคือปี 2544 ถามว่ากลุ่มสแกนดิเนเวียเรียกร้องนานไหม และอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ประเด็นแรกคือ มี “คำตอบอื่นนอกจากรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมกันบ้างไหม” ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สำคัญ คือ รัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นยาวิเศษ ที่จะไปแก้ทุกอย่างได้ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นยาเม็ดแรก คือ เราจะพูดถึงประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้ามีคนส่วนมากเกิดมาแล้วติดลบ เป็นหนี้ ต้องกังวลเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนหนังสือ มันก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการคงเป็นยาเม็ดแรกกับการแก้ไขปัญหาสังคมได้ แต่อาจจะไม่ได้เป็นยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหา เพราะว่าจริงๆ สังคมมนุษย์มีความซับซ้อน แต่ผมอยากย้ำถึงเรื่องความเป็นไปได้ที่เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงครับผม
“อะไรที่ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น” ที่ผมย้ำก็คือ การต่อสู้ ผมเคย Search Google Trend คือว่าคำว่า “รัฐสวัสดิการ” จะถูกค้นหาเพิ่มขึ้นในช่วงไหน ผมสังเกตว่าช่วงไหนมีม็อบและมีการเลือกตั้ง รัฐสวัสดิการจะถูกพูดถึงมากขึ้นๆ นั่นคือ พอคนพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันในคูหาเลือกตั้ง หรือว่าความเท่าเทียมกันในบนท้องถนนอะไรต่างๆ อัตราการ search เรื่องรัฐสวัสดิการจะเพิ่มสูงมากขึ้นเลย เพราะฉะนั้นการต่อสู้เรื่องการขยับของรัฐสวัสดิการ ผมว่าเรื่องเดียวกันครับผม
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
แสดงว่าถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตยน้อย คนก็จะรู้สึกว่ารัฐสวัสดิการเกิดได้ยาก
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ใช่ครับ ก็จะรู้สึกว่าเกิดได้ยาก เป็นไปไม่ได้ ต้องคอยไปก่อน 80-90 ปี ทั้งที่อาจารย์ปรีดีก็พูดเรื่องนี้มาเกือบ 90 ปีแล้ว
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
ถ้าเกิดพลเอกประยุทธ์เป็นนายก จนครบ 20 ปี ประเทศนี้ก็สิ้นหวังเรื่องรัฐสวัสดิการสิครับ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ผมไม่อยากให้มันดูฟังดูสิ้นหวังขนาดนั้น แต่ว่าผมคิดว่าสิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้น จังหวะของการเปลี่ยนแปลงมันไวขึ้นมาก การต่อสู้เรื่องรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในสมัยอาจารย์ปรีดี แต่รูปธรรมคือปี 2544 กลุ่มสแกนดิเนเวียเรียกร้องนานไหม ปัจจัยอะไรที่ทำให้ไม่เจ็บตัว จริงๆ ทุก ประเทศได้มาด้วยการต่อสู้ แม้สวีเดนฟังดูสงบแต่ว่ามันก็เคยมีเหตุการณ์ที่ตำรวจยิงประชาชน ฟินแลนด์ก็เคยมีสงครามกลางเมือง มีคนเสียชีวิตหลักพันหลักหมื่นเลยก็มี มันมีการต่อสู้ แต่ปัจจัยที่ทำให้ไม่เจ็บตัวอีกด้านหนึ่งก็คือการพยายามที่จะมีพรรคการเมือง การที่ชนชั้นปกครอง ก็รู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องลดอำนาจของตัวเอง ผมคิดว่าก็เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การสูญเสียมันน้อยครับผม
อันนี้ ทำไมเมืองไทยไม่มีพรรคแรงงาน หรือว่าพรรคแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ คือ โดนปราบ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
ตกลงมันมีแต่คนไม่เลือกหรือไม่ ผมก็จำได้ว่ามีคนตั้งพรรคแรงงานหลายรอบ แต่คนไม่ค่อยเลือก มันเป็นเพราะอะไร
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
ผมคิดว่าพรรคแรงงานยุคหลังที่ถูกตั้งขึ้นมา คือ มีปัญหาในการเชื่อมโยงความเป็นแรงงานกับคนส่วนใหญ่ หรือที่เราเรียกกันว่า “เราทุกคนคือแรงงาน” อย่างที่อาจารย์ว่ามันมีปัญหาของการสื่อสารทางการเมือง การยึดโยงกับคนส่วนใหญ่ การพยายามอธิบายว่าแรงงาน คือกลุ่มเฉพาะมากกว่าแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ และอีกปัจจัยหนึ่งคือ จริงๆ เราเคยมีพรรคสังคมนิยมอยู่หลายช่วงเวลา แต่ว่าก็ถูกปราบ ถูกวางเงื่อนไขต่างๆ
“พุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการ เห็นดีกับการบริจาคทำบุญ” ผมคิดว่าคงไม่ใช่พุทธศาสนาอย่างเดียว หมายถึงว่าโดยทั่วไปแล้ว ชั้นปกครองชนชั้นนำก็ใช้ศาสนาในการควบคุมหรือการ maintain การคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำเป็นเป็นปกติ แต่จริงๆ คงไม่ใช่เป็นสูตรสำเร็จของประเทศไทย ว่าเป็นพุทธ เราเลยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไปดูแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ยังมีใช้ภาษาเชิงพุทธอยู่หลายครั้ง เมื่อพูดถึงความเท่าเทียมเหมือนกัน
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
เรื่องแรงงานนอกระบบ ประเทศไทยมีการพึ่งพิงแรงงานนอกระบบเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
การระบาดของเชื้อ COVID-19 จากประเทศเพื่อนบ้านมีจริง แล้วก็เป็นเชื้อซึ่งมีสายพันธุ์ที่ควบคุมได้ยากด้วย และที่สำคัญคือเริ่มมีการพยายามจะขนคนที่เป็นแรงงานต่างประเทศเพื่อนบ้านกลับมาเข้าไทย ซึ่งตามกระบวนการเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แล้วเราจะอธิบายความสลับซับซ้อนของเรื่องแบบนี้อย่างไร เพราะว่าคนจำนวนหนึ่งก็บอกว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน แต่ว่าในสถานการณ์การระบาด COVID-19 การไหลเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดของเชื้อ ซึ่งตามระลอกที่แล้วก็มีปัจจัยนี้จริงๆ เราจะอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งมันดูย้อนแย้ง 2 เรื่องนี้ยังไงครับ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
จริงๆ แล้วการจัดการเรื่องนี้ ก็จะอาจเป็นที่ซับซ้อนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าปัญหาใหญ่ของการจัดการแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยฝ่ายความมั่นคง และ วางอยู่บนฐานของวิธีการคิดของความมั่นคงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน
ผมคิดว่าเรื่องการควบคุมโรคเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเรื่องการที่เอาเรื่องความมั่นคงนำก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าสมมุติว่าจำเป็นที่ต้องใช้แรงงาน เราก็จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลเขา การกักกันโรค การฉีดวัคซีน หรือการดูแลในเรื่องอื่นๆ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐไทยจำเป็นต้องทำ และรัฐไทยต้องทำให้ได้
ผมเปรียบเทียบว่าคนไทยที่เป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายไปอยู่ในเกาหลีใต้ ไปอยู่ในไต้หวัน เขาดูแลเรานะครับ และ ดูแลเรามาก มากกว่าที่เราดูงานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ดูแลอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งผมไม่อยากใช้คำว่าทำงานที่คนในประเทศไม่อยากทำ แต่เขาทำในสิ่งที่เราเรียกกันว่า Social Maintenance การดูแลสังคม การทำความสะอาด การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย การเป็นแรงงานอิสระต่างๆ อันนี้คือการ maintian สังคมไว้ ซึ่งในเกาหลีใต้คนไทยเข้าไปแบบผิดกฎหมาย ก็ยังได้รับการดูแล ยังไม่ถีบกลับออกมาแบบทันทีทันใดโดยไม่มีเงื่อนไข
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:
การที่บริษัทกระจายหุ้นให้คนงานถือว่าเป็นการช่วยผู้ใช้แรงงานหรือเปล่า
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี:
จริงๆ แล้วมีคำอธิบายเรื่องระบบสหกรณ์ ในลักษณะแบบนี้ หรือว่าการกระจายความมั่งคั่ง ผมคิดว่าการกระจายหุ้นต้องดูว่าสุดท้ายแล้ว มันเป็นการทำให้สหภาพหรือคนงานมีอำนาจ ในการที่จะกำหนดนโยบายของบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน แต่ว่าถ้ากระจายหุ้นเหมือนกับว่าเพื่อเป็นค่าจ้างต่างตอบแทนเฉยๆ ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เช่นเดียวกันครับ คือเรานึกถึง scale ใหญ่ในระดับประเทศ แม้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าสัวจะกระจายหุ้นให้เราถือ เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศ หรือในบริษัทต่างๆ ได้นะครับ
รับชมวิดิโอบันทึกกิจกรรมย้อนหลังได้ที่: คลิกที่นี่
ที่มา: PRIDI Talks #10 ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์ “รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” เนื่องในวาระ 121 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้ปาฐก และ คุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการ
หมายเหตุ:
- ปรับปรุงและเรียงเรียงโดยบรรณาธิการ