ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ - สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมวางพวงหรีดรำลึก 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519

6
ตุลาคม
2566

วันนี้ (6 ตุลาคม 2566) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึก 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ประจำปี 2566 บริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ "ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" เริ่มด้วยการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เป็นจำนวน 19 รูป และตามด้วยการกล่าวเปิดงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ และเชิญผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ลำดับถัดมาเป็นการขานรายนามชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดย คุณวัฒนา ชัยชนะสกุล ตัวแทนจากชมรมโดมรวมใจ ก่อนที่จะมีการวางพวงมาลาและช่อดอกไม้เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ตามลำดับ

ในการนี้ รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ และ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ผู้แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าร่วมพิธีและวางพวงมาลารำลึก พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และ คณะก้าวหน้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีปาฐกถาจาก รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ" 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดร้ายโดยรัฐบาลเผด็จการ เหตุการณ์นี้ควรถูกจดจำไว้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และเพื่อเตือนสติไม่ให้สังคมไทยตกอยู่ในวังวนของอำนาจนิยม บรรยากาศประชาธิปไตยเป็นปัจจัยสำคัญในการจดจำ หากสังคมไทยมีบรรยากาศประชาธิปไตย เหตุการณ์ดังกล่าวก็จะไม่ถูกบิดเบือนและลืมเลือนไป

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นการต่อสู้ของนักอุดมคติเพื่อสังคมที่ดีกว่า อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นการสังหารหมู่โดยอำนาจรัฐ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มองว่า นักศึกษาและประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ล้วนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสร้างสังคมที่เสมอภาค นักศึกษาหญิงท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าเราจะนิยามว่านักศึกษาและประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นนักสังคมนิยมหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถพูดได้อย่างชัดเจนคือพวกเขาล้วนมีความปรารถนาในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ยังได้กล่าวถึงตัวอย่างการต่อสู้ของประชาชนในปัจจุบัน เช่น การเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐสวัสดิการ การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน เป็นต้น โดยเห็นว่าการต่อสู้เหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความปรารถนาของประชาชนในการสร้างสังคมที่ดีกว่า

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของคนธรรมดาที่อยากให้สังคมดีขึ้น เท่าเทียมกัน และยุติธรรมมากขึ้นถึงแม้ว่าเวลาของผู้มีอำนาจจะยาวนาน แต่เวลาของคนธรรมดาก็ยาวนานไม่แพ้กัน เวลาของคนธรรมดายาวนานเสมอ เพราะพวกเขาต้องใช้เวลาในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและยุติธรรมคนธรรมดาเหล่านี้คือแสงสว่างปลายอุโมงค์ของสังคม พวกเขาคือคนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยและพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้คนในสังคมยังไม่จบสิ้น คำถามและการตั้งคำถามของคนธรรมดาสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคม คนธรรมดาที่ไร้อำนาจเหล่านี้คือแสงสว่างปลายอุโมงค์ของสังคม พวกเขาจะเติบโตมาเป็นนักสู้เพื่อสังคมที่ดีขึ้น

นอกเหนือจากนั้นยังมีกิจกรรมช่วงบ่าย ณ หอประชุมศรีบูรพาและกิจกรรมช่วงเย็น ณ บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ โดยปิดกิจกรรมเวลา 20.00 น.