Focus
- รัฐบาลเมื่อแรกการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ถือว่าเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจที่เน้นหนักไปในทางกสิกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมตามลำดับ
- เศรษฐกิจทั้งสามสาขาต้องการความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชา และได้ผลผลิตและผลงานที่ทันสมัยและมีคุณภาพ วิทยาศาสตร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจของชาติ
- การประดิษฐานรัฐธรรมนูญจึงต้องบำรุงส่งเสริมการวิทยาศาสตร์ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น แต่ความสำเร็จผลต้องใช้เวลา ดังที่ประเทศอื่นกำลังเจริญด้วยอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ หลังจากที่ได้เริ่มอาศัยวิทยาศาสตร์มาระยะเวลาหนึ่งก่อนหน้าแล้ว
เศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎรซึ่งเป็นคณะผู้นำ ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2475 และรัฐบาลทุกๆ รัฐบาลก็ได้ถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาในปัจจุบันนี้ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้วางใจ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ศกนี้แล้ว.
ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะดำเนินการก้าวหน้าต่อไปตามหลัก 6 ประการในการประดิษฐานรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย” และเมื่อแถลงถึงหลักเศรษฐกิจ ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ในหลักเศรษฐกิจของชาติ รัฐบาลมีโครงการที่จะส่งเสริมอาชีพของพลเมืองให้หนักไปในทางกสิกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตามลำดับความสำคัญเพื่อให้เกิดกำลังทรัพย์อันจะเป็นทางนำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ”
นอกจากรัฐบาลจะมีนโยบายอันมั่นคงที่จะส่งเสริมการเศรษฐกิจแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนก็ดูเหมือนจะมีความคิดเห็นร่วมกันในแง่เศรษฐกิจ โดยเหตุที่ได้ตระหนักในความจริงว่า เศรษฐกิจนั้นเป็นตัวจักรสำคัญตัวหนึ่งที่จะพาให้ประชาชาติดำเนินก้าวหน้าไปได้โดยสวัสดิภาพ ความเป็นเอกราชอันสมบูรณ์ของชาติจะต้องประกอบไปด้วยความเป็นเอกราช 3 ประการ ได้แก่ เอกราชในทางการเมือง เอกราชในทางการศาล และเอกราชในทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลได้จัดการแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้นลงแล้ว ในบัดนี้เราได้ปลดเปลื้องข้อผูกมัดจำกัดสิทธิเสรีภาพทุกประการซึ่งเคยมีแก่เราแต่กาลก่อน แต่ฐานะของไทยจะเป็นที่นิยมนับถือในนานาประเทศด้วยการส่งเสริมทางสนธิสัญญาไมตรีเท่านั้นมิได้ เราจะต้องมีอะไรเป็นเครื่องแสดงให้ต่างประเทศทราบด้วยว่า เราอยู่ในฐานะอันควรแก่การนิยมนับถือของเขา นั่นคือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ
เอกราชในทางศาลไทยก็ได้รับแล้ว โดยนานาประเทศยินยอมคืนสิทธิ์ในการถอนคดีให้แก่เรา แต่เอกราชในทางศาลหาใช่หลักประกันความเป็นเอกราชโดยแท้ของประเทศไม่ เอกราชในทางการศาลเป็นแต่เพียงเครื่องแสดงความเป็นเอกราชของเราประการหนึ่งเท่านั้น
หลักใหญ่และสำคัญที่สุดที่จะประกันความเป็นเอกราชของไทย คือ หลักเศรษฐกิจ เมื่อใดไทยเป็นไทแก่ตนเองในทางเศรษฐกิจได้ เมื่อนั้นเราจะบรรลุถึงซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์ตามอุดมคติ เพราะฉะนั้นจุดหมายสำคัญแห่งชาติในเวลานี้น่าจะได้แก่การปรับปรุงตนเอง เพื่อความมีเอกราชในทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง
ฐานะในทางเศรษฐกิจของชาติทั่วๆ ไปอยู่ที่การกสิกรรม การพาณิชยกรรม การอุตสาหกรรม และการขนส่ง แต่เมื่อมาคำนึงดูว่าฐานะในทางเศรษฐกิจของไทยเวลานี้อยู่ที่ไหน เราก็จะตอบด้วยตนเองได้ว่าอยู่ที่การกสิกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ที่ข้าวเท่านั้น กิจการอื่นๆ จะมีความสำคัญอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย เราแต่ละคนอาจเป็นนักพยากรณ์ความเป็นอยู่ของประเทศในปีหนึ่งๆ ได้ด้วยการมองไปในทุ่งนาทั่วทั้งประเทศการค้าขายจะดี การเงินจะรุ่งเรือง ภาษีอากรจะเก็บง่าย โจรผู้ร้ายจะลดน้อยลง ฯลฯ ถ้าหากรวงข้าวมีน้ำหนักมาก สามารถดึงต้นให้โน้มน้อมลงสู่เบื้องต่ำ และตรงกันข้าม ถ้าข้าวมีรวงแต่น้อยไม่หนักพอที่จะโน้มน้อมต้นของมันลงมาได้ ทุกๆ อย่างที่จะฝืดเคืองไปทั้งสิ้นแต่น้อยไม่หนักพอที่จะโน้มน้อมต้นของมันลงมาได้ ทุกๆ อย่างจะฝืดเคืองไปทั้งสิ้น
เมื่อเราได้มอบความเป็นอยู่ของประเทศไทยไว้กับ ดิน ฟ้า อากาศ เราได้ยินยอมให้หลักเศรษฐกิจของชาติโอนอ่อนไปตามความไหวตัวของรวงข้าวดังนั้นแล้ว เราจะหวังความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้อย่างไร?
ทำอย่างไรเราจึงจะตั้งหลักปักฐานการเศรษฐกิจไว้ มิให้โอนอ่อนไปได้? ข้อสำคัญเราจะต้องไม่ยอมให้อนาคตของเราขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศเท่านั้น หรืออย่างน้อยเราจะต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่เรามีอยู่ในอันที่จะดัดแปลงหรือส่งเสริมให้กิจการของเราเหมาะสมแก่ภาวะของดินฟ้าอากาศตลอดไป เราจะต้องพยายามมิให้ตัวจักรเศรษฐกิจเดินไปได้ด้วยกำลังงานจากข้าวแต่อย่างเดียว เราจะต้องทำให้ตัวจักรเศรษฐกิจนี้เดินไปด้วยกำลังงานร่วมของการกสิกรรมประเภทอื่นๆ การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง โดยพร้อมเพรียง
การที่จะบำรุงการกสิกรรมให้เป็นไปอย่างดีนั้น เราจะต้องบำรุงตามแผนการวิทยาศาสตร์กสิกรรมที่ทันสมัย เป็นต้นว่าในการทำนา วิทยาศาสตร์กสิกรรมจะช่วยให้เรารู้จักการคัดเลือกพันธุ์ข้าวตามหลักวิชา เพื่อให้ได้พันธ์ข้าวบริสุทธิ์มีลักษณะดีให้ผลมาก จะให้เรารู้จักแก้ไขข้อบกพร่องในการทำนาให้ดีขึ้น รู้จักการเตรียมดิน การทำลายศัตรูของพืช การใช้ปุ๋ย รู้จักใช้เครื่องมือช่วยแรง ฯลฯ วิทยาศาสตร์กสิกรรมจะช่วยให้เรารู้จักเพาะปลูกพืชผลอย่างอื่นนอกจากข้าว ตามลักษณะและความเป็นอยู่ของพื้นที่และอื่นๆ
การที่จะส่งเสริมพาณิชยกรรมก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เช่น จะส่งสัมภาระดิบไปขายยังต่างประเทศ หรือจะทำการสำรวจทรัพย์ในดินของเราเอง เราจะต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการสืบค้นคุณสมบัติของสิ่งเหล่านั้น ว่าจะมีคุณภาพอันเหมาะที่จะเป็นประโยชน์ในการพาณิชย์หรือไม่ และอย่างใด
ในการอุตสาหกรรมต้องนับว่าวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจที่เดียว การเปลี่ยนเกษตรผลหรือวนผลอันเป็นสัมภาระดิบ ให้เป็นสัมภาระสำเร็จรูปนั้น จะต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยตลอดนับตั้งแต่การตรวจคุณภาพของสัมภาระดิบว่าสมควรใช้หรือไม่ จนกระทั่งถึงการตรวจคุณภาพของสิ่ง ที่ประดิษฐ์ขึ้นสำเร็จแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งจะมีนักวิทยาศาสตร์เป็นคนสำคัญคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย และในโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญมีทุนมาก ยังมีที่ค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งอีกด้วย
ประเทศเยอรมนี ภายหลังมหายุทธสงครามคราวก่อนเป็นประเทศที่อิดโรย บอบช้ำ และอยู่ในความผูกมัดของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรแทบจะกระดิกตัวไม่ได้ แต่ประเทศเยอรมนีในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เราย่อมทราบอยู่แล้วทั่วกัน การเปลี่ยนแปลงจากเยอรมนีที่บอบช้ำมาเป็นเยอรมนีใหม่ที่แข็งแกร่ง สามารถฉีกสัญญาแวร์ซายได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เป็นที่ท้าทายมหาอำนาจอื่นๆ ทั่วโลก เป็นเยอรมนีที่มีเสียงดังและดุดันอย่างน่าครั่นคร้ามนั้น ก็เพราะความสามารถในการบำรุงเศรษฐกิจของประเทศ มิใช่อื่นสาเหตุที่เยอรมนีสามารถถึงเพียงนี้ ก็เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่การวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลมาก หลังฉากที่แท้จริงของฮิตเลอร์หรือฟือเรอร์ของเยอรมนีในบัดนี้ มิใช่ปืนใหญ่หรือหอกปลายปืน แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งซุ่มกายอยู่ภายในห้องทดลองของเขาอย่างเงียบๆ ต่างหาก
ปัจจัยสำคัญของการเศรษฐกิจที่เกือบจะเรียกว่าเรา ไม่ได้เอาใจใส่กันมาก่อนเลยนั้น ได้แก่การขนส่ง การขนส่งที่ขาดสมรรถภาพจะทำลายการกสิกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมให้ย่อยยับ ในสมัยของเครื่องยนต์ กลไกเช่นนี้ เราจะมัวขนส่งกันด้วยเกวียน ด้วยเรือแจวอยู่ไม่ได้ ความรวดเร็วและความปลอดภัยเป็นยอดปรารถนาอันยิ่งใหญ่ เดียวนี้เรามีรถยนต์ เรือยนต์ เรือไฟ เรือบิน ซึ่งช่วยให้เกิดสมรรถภาพในการขนส่งอันเป็นเหตุให้การเศรษฐกิจก้าวหน้า และเราจะลืมเสียทีเดียวหรือว่าสิ่งเหล่านี้ มิใช่เป็นผลอันเกิดขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์?
การก่อสร้างและการประกอบอุปกรณ์ของการขนส่งทุกๆ ชิ้นจะต้องใช้ความรู้ ในทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้ว การขนส่งก็จะปราศจากสิ่งประกันในความปลอดภัยอย่างเพียงพอ
โครงร่างแต่ละชิ้นที่จะประกอบกันเป็นหลักเศรษฐกิจของชาติอย่างมั่นคง คือ การกสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่งดังกล่าวแล้ว ล้วนต้องการวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเหลืออย่างมากทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการเกินสมควรไปเลย ที่จะกล่าวอย่างยืนยันว่าวิทยาศาสตร์คือปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจของชาติ
ถ้าหากประเทศไทยจะวางหลักปักฐานการเศรษฐกิจให้มั่นคงให้เป็นหลักชัยในอันที่จะรองรับการประดิษฐานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติ ในอันที่จะเชิดชูความเป็นเอกราชอันสมบูรณ์ตามอุดมคติ เราจะต้องบำรุงส่งเสริมการวิทยาศาสตร์ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เราต้องไม่ท้อถอย ไม่เบื่อหน่าย เพราะผลแห่งการส่งเสริมวิทยาศาสตร์จะไม่บันดาลให้เห็นในเวลาอันสั้น เราได้เห็นประเทศอื่นกำลังเจริญด้วยอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ แต่ก็พึงเข้าใจเถิดว่า นั่นมิใช่อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ซึ่งเขากำลังทำอยู่ในเวลานี้ หากเป็นผลของวิทยาศาสตร์ที่เขาได้กระทำมาหลายปีก่อนหรือหลายสิบปีก่อนต่างหาก ประเทศไทยจะได้รับผลของการวิทยาศาสตร์เช่นนั้นได้ในเวลาต่อไป ก็ด้วยการเร่งลงมือส่งเสริม การบำรุงกันอย่างเป็นระเบียบ และอย่างจริงจัง เสียแต่บัดนี้เท่านั้น
หมายเหตุ :
- ปรับอักขรวิถีสะกดให้เป็นปัจจุบัน
ที่มา : ตั้ว ลพานุกรม. วิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจ. ใน ที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484. [ม.ป.ท.]: บริษัท การพิมพ์ไทย จำกัด; 2484. หน้า 98-105.