ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บทบาทสื่อมวลชนกับการต่อสู้ของผู้หญิง เพื่อสิทธิและสันติภาพ

20
มกราคม
2567

Focus

  • การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรายงานข่าวของนักข่าวผู้หญิง แต่อาชีพนักข่าวก็ไม่ใช่อาชีพที่มีรายได้มาก ความสุขและความภาคภูมิใจในการทำงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น การทำข่าวเพื่อแก้ปัญหาคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ถูกกดทับทางสังคม หรือคนที่มีปัญหา
  • การเป็นลูกจ้างในองค์กรมีส่วนจำกัดการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะนอกจากจะต่อสู้กับปัญหาในสังคมแล้ว นักข่าวก็ยังต้องต่อสู้กับโครงสร้างภายในองค์กร และการต่อสู้กับภายในตัวเองอีกด้วย การมีสำนักข่าวของตนเองจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง
  • การทำข่าวในเชิงสิทธิมนุษยชนและเพื่อสันติภาพให้เกิดขึ้นในหลากหลายประเด็นและในพื้นที่เสี่ยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นักข่าวเพื่อสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องก้าวข้ามความกลัว อันจะทำให้เกิดความกล้าที่จะเป็นเสียงแรกของการนำเสนอข่าวออกไป และกลายเป็นเสียงที่ใหญ่ขึ้นและมีพลัง ในการต่อสู้กับอำนาจมืด หรืออำนาจที่ไม่ชอบธรรม

 

 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

หากย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน น้อยนักที่เราจะเห็นนักข่าวผู้หญิงลงพื้นที่แต่พวกเรามักจะเห็นภาพ แยม ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กับการรายงานข่าวภาคสนามทางโทรทัศน์ เรียกได้ว่าไม่มีนักข่าวหญิงคนไหน มีความกล้าหาญเท่าแยม ฐปณีย์  อีกแล้ว อยากให้พี่แยมร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในบทบาทของการเป็นนักข่าวภาคสนามของผู้หญิงว่ามีแรงเสียดทานอะไรอย่างไรบ้าง

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ต้องขอขอบคุณทางสถาบันปรีดี พนมยงค์และทางทายาทที่ได้เชิญมาเป็นส่วนหนึ่งของเวทีนี้ โปสเตอร์ที่เห็นมีความทรงพลังมาก อยากจะขอเก็บไว้ที่บ้านเป็นภาพความภาคภูมิใจในชีวิต

เหนือสิ่งอื่นใดคือการรวมตัวของผู้หญิงที่ทำงานเพื่อสิทธิและสันติภาพ และได้มาพูดถึง “112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” สิ่งที่เชื่อว่าผู้หญิงที่ทำงานด้านนี้มีความรู้สึกว่า วันหนึ่งเราได้มาพูดถึงท่าน พูดถึงสิ่งที่เราทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องของสิทธิและสันติภาพ เมื่อสักครู่อาจารย์พัทธ์ธีราได้พูดถึงท่านผู้หญิงไปแล้ว เป็นการพูดถึงงานของท่าน ทำให้เรามีความระลึกถึงแล้วมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง

 

 

สำหรับประสบการณ์ในการทำงานเรื่องสิทธิและสันติภาพ ต้องยอมรับว่า นอกจากการเป็นผู้หญิงแล้ว การเป็นนักข่าวที่จะต้องทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นับเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้พลังมาก หลายครั้งที่ทุกท่านเห็นพี่แยมถูกเป็นข่าวเสียเองบ่อยมากจนรู้สึกว่า “เราเป็นนักข่าวแต่เรากลับมาเป็นข่าวเสียเอง”

การเป็นข่าวนั้นมาจากอะไร? ก็มาจากการทำงานที่เราไปพูดถึงเรื่องของคนที่ถูกละเมิดสิทธิ์ เป็นจุดนึงที่หลายคนบอกว่า “พี่แยมเจอมาหลายเรื่อง อันที่จริงแล้วน่าจะท้อ แต่ทำไมถึงอดทนทำงานกับเรื่องเหล่านี้ได้จนมาถึงปัจจุบัน” แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นพลังที่อยากจะทำต่อ

อยากจะเริ่มต้นพูดถึงเรื่องของการทำข่าวเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อน ตั้งแต่สมัยเป็นนักข่าวช่วงตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ที่จริงแล้วสภาพสังคมไทยในยุคนั้น เป็นยุคที่เริ่มมีความหวังทางด้านประชาธิปไตยเกิดขึ้น แต่พอช่วงประมาณหลังปี 2549 ที่เกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง สังคมไทยก็เริ่มย้อนกลับไปสู่เรื่องความขัดแย้งและยาวนานมากว่า 20 ปี

อย่างที่เราได้รับทราบ ได้รับรู้ และเห็นอยู่ การเป็นนักข่าวคนหนึ่ง บางทีเราอาจจะเข้ามาในเส้นทางอาชีพ อาจจะมองว่าเป็นแค่อาชีพที่ทำงานเพื่อหาเงินหรือทำหน้าที่ในการรายงานข่าวไปวันๆ สิ่งนั้นอาจจะเป็นงานสำหรับคนที่ทำข่าว สำหรับพี่แยมกลับพบว่า อาชีพการเป็นนักข่าวสามารถทำอะไรให้เราได้หลายอย่างมาก และไม่ใช่เพียงแค่เราทำงานเพื่อให้ได้เงินเดือน เพราะที่จริงแล้วงานนักข่าวไม่ได้รวย แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เราทำงานและอยู่ได้ คือความสุขและความภาคภูมิใจในทุกวันที่เราได้ทำงาน โดยเฉพาะทำข่าวที่เกี่ยวกับคนตัวเล็ก ตัวน้อย คนที่ถูกกดทับทางสังคม หรือคนที่มีปัญหา เราไม่ได้ลงทุนอะไรเลย เราจะมีแค่เรื่องของการที่เราไปนั่งคุยกับเขา เล่าเรื่องราวของเขา แต่สิ่งสำคัญเราต้องมีพื้นที่กลางให้เขาในการที่จะสื่อสารเรื่องของเขา

 

 

แต่ก่อนเราทำงานอยู่ในองค์กรที่เราเป็นแค่ลูกจ้าง และการทำงานในองค์กรที่เราเป็นแค่ลูกจ้าง สิ่งเหล่านี้ยากมากกับการที่จะฝ่าฟันในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเกี่ยวกับเรื่องปัญหาของคนเล็กคนน้อย การต่อสู้กับทุน เป็นเรื่องยากมากแค่จะขอเวลาแค่ 3 นาทีในการออกข่าว เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องต่อสู้ซึ่งเราไม่ได้ต่อสู้กับเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แต่บางครั้งเราต้องต่อสู้กับโครงสร้างภายในองค์กร และอีกอย่างก็คือการต่อสู้กับภายในกับตัวเราเอง

อย่างที่เมื่อสักครู่อาจารย์พัทธ์ธีราพูดได้ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เรื่องของความกล้า เป็นอำนาจภายในอันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หลายเรื่องที่แยมทำ บางคนก็บอกว่าเป็นผู้หญิงเราอย่าเดินทางไปอิสราเอลคนเดียวหรือเดินทางเข้าไปในฐานกองทัพ KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) หรือคะเรนนี เราเป็นผู้หญิงกลัวไหมหรืออะไรต่างๆ แม้กระทั่งการเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในยุคที่โซเชียลไม่ได้เยอะขนาดนี้

อย่างเรื่องของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนถามว่า เราลงไปทำข่าวแล้ว เราไม่กลัวเหรอ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นคำนิยามที่เรารู้สึกถูกมองว่า “ผู้หญิงเราจะไปในพื้นที่สงครามหรือไปทำข่าวที่อันตรายรุนแรงจะไปได้หรือ?” กับ “การเป็นนักข่าวที่ทำข่าวเหล่านี้คุณไม่กลัวหรือ?”

สิ่งสำคัญ คือ ทุกครั้งที่เราถามตัวเอง แล้วเราจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง ก่อนที่เราจะมีความกล้า เราจะต้องก้าวข้ามความกลัวให้ได้ก่อน ถ้าเราก้าวข้ามความกลัวได้เราก็จะมีความกล้าที่จะทำงาน แล้วก็เราก็จะมีเกราะคุ้มกัน ถ้าเราทำมันมากๆ เราก็จะเกิดความกล้าหาญในตัวเรา ซึ่งจริงๆ เราก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ย่อมจะมีความกลัวอยู่แล้ว แต่เวลาที่เรากล้า เราก้าวข้ามความกลัวนั้นได้ แล้วเรากล้าเป็นเสียงแรกที่จะมาพูดตรงนี้ คำคำนี้จะมีความหมายมากว่าเสียงแรกที่จะพูด จะทำให้เกิดเสียงต่อๆ มา แล้วเรานั้นจะกลายเป็นเสียงที่ใหญ่ขึ้นและมีพลัง

ในการเป็นนักข่าวผ่านช่วงเวลาของการก้าวข้ามความกลัวจนเรากล้าหาญที่จะพูด กล้าแล้วก็ต้องเป็นที่จะเป็นเสียงแรกที่จะพูดด้วย ณ วันนี้เรามีสื่อ แต่ก่อนอย่างช่วงที่ทำข่าว 3 มิติ เป็นเวลา 15-16 ปี คือช่วงเวลาที่เราได้รับโอกาสที่สำคัญในประเด็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ช่วงเวลาเหล่านั้นหล่อหลอมให้เรามาทำ The Reporters ขึ้นภายใต้หลักคิด “การเป็นสื่อ เป็นพื้นที่กลาง”

 

 

นอกจากตัวเราเป็นนักข่าวเรากล้าที่จะนำเสนอแล้ว เราต้องมีพื้นที่กลางให้เขานำเสียงเหล่านั้นออกมา ทำไมมาทำ The Reporters เอง เพราะว่าอยากมีพื้นที่ของตัวเองที่ไม่ถูกใครสั่ง ที่ไม่ถูกใครปิดกั้น นำเสนอเรื่องที่ตัวเองอยากทำได้อย่างไม่มีอะไรที่มาปิดกั้นเรา อยู่ในช่อง 3 รายการข่าว 3 มิติ ได้โอกาสก็จริง แต่มันก็มีกระบวนการบางอย่างหลายๆ เรื่องที่ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อโดยตรง ด้วยเหตุเหล่านั้นจึงทำให้มีการเกิดขึ้นของ The Reporters ซึ่งนอกจากจะเป็นสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้วเป้าหมายใหญ่คือ Peace Media หรือ สื่อเพื่อสันติภาพ

อยากจะพูดถึงสิ่งที่ได้ทำมา สิ่งที่จุดเริ่มต้นให้แยมสนใจหรืออยากจะทำข่าวเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อน เพราะว่าช่วง 20 หรือ 15 ปีก่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นที่รับรู้หรือว่าคนในสังคมไทยไม่ได้อินกับคำนี้ ยิ่งช่วงที่ผ่านเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการแบ่งสี แบ่งข้าง ยิ่งทำให้เกิดการเหยียด หรือการไม่ได้เคารพสิทธิและเสียงของผู้คน

จุดเริ่มต้นของแยมกับการที่อยากจะมาทำสื่อเพื่อคนตัวเล็ก คนตัวน้อย คือช่วงเริ่มต้นเราทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ เรื่องของงานต่างด้าว แรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกหลอกมา หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่ถูกหลอกให้มาค้าประเวณี มีกรณีหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการให้เราอยากจะต่อสู้ แล้วมองว่าพื้นที่เล็กๆ ของเราเป็นพลังยิ่งใหญ่ก็คือ เด็กผู้หญิงอายุ 14 จากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ถูกหลอกไปที่สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อขายส่งชายแดนมาเลเซีย เเต่ในขณะนั้นเราได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กคนนี้มาได้ ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเพียงแค่ข่าวๆ หนึ่งที่ช่วยเด็กผู้หญิงที่ถูกหลอกมาค้าประเวณีหรือค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งข่าวนี้ก็จะจบไป

1 ปี หลังจากนั้น พี่แยมได้ไปที่เวียงจันทน์ เราไปทานอาหารที่ร้านอาหารบนแพตรงเขื่อนที่ลาว แล้วในระหว่างที่เรายืนเข้าห้องน้ำมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาเราแล้วก็ถามว่า “พี่คะ พี่จำหนูได้ไหมคะ ที่พี่ช่วยหนูมาจากที่โก-ลกค่ะ” เราก็ถามกลับไปว่าวันนี้หนูมาทำอะไร “หนูเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ที่ร้าน ได้กลับมาอยู่บ้านได้อยู่กับพ่อ ได้ชีวิตใหม่ ขอบคุณพี่มากๆ ค่ะที่ช่วยหนู” แล้ววันนั้นเราก็โอบกอดกับน้องผู้หญิง มันทำให้เรารู้สึกว่าแค่งานชิ้นเดียวที่อาจจะผ่านมาแล้ว แต่ชีวิตคนหนึ่งเมื่อเขาได้โอกาสที่จะได้มีชีวิตใหม่ มีคุณค่ามาก เรารู้สึกว่านี่แหละคุณค่าของการทำงาน อาจจะไม่ได้มองเห็นเป็นตัวเงินหรือรางวัลที่จะกลับมา แต่ว่าการที่คนคนหนึ่งได้มีชีวิตใหม่มันสร้างพลังให้กับตัวเรา แล้วตัวเราก็จะมีพลังในการทำเรื่องเหล่านี้ต่อ

 

 

หลังจากนั้นพี่แยมก็ทุ่มเทกับการทำงานในเรื่องของการค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าก็ได้ช่วยคน ทำให้รู้สึกว่าคนเหล่านั้น เขามีคุณค่า เราจึงเริ่มเรียนรู้กับคำว่า “สิทธิมนุษยชน” มากขึ้น แต่ก่อนเราอาจจะไม่ได้ลึกซึ้งมาก แต่พอเราได้เห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นบนพื้นฐานความเป็นคน ไม่ใช่แค่คนไทย แม้กระทั่งเด็กลาวหรือเด็กพม่าที่ถูกหลอกมา เราเจอกรณีพวกนี้มากขึ้น เรารู้สึกว่าพื้นที่สื่อเหล่านี้มีน้อยมาก หรือคนที่ทำงานด้านนี้ก็มีน้อยมาก เราพยายามที่จะทำตรงนี้ ไม่นับรวมถึงเรื่องการต่อสู้ของกลุ่มม็อบที่มาต่อสู้เรียกร้องต่างๆ ตั้งแต่สมัชชาคนจนหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครให้พื้นที่กับเขา แล้วพอเราไปเจอกลุ่มแรงงานเมียนมาหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็เลยทำให้เราเริ่มรู้ว่ามีคนที่เขาต้องหนี นี่คือเรื่องของเพื่อนบ้านเรา

เราเริ่มรู้จัก “แรงงาน” ตอนทำข่าวเรื่องค้ามนุษย์ เรื่องแรงงานเถื่อนทำให้เรารู้จักเรื่องชาติพันธุ์ในพม่ามากขึ้น ทำให้เราเริ่มสนใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในเมียนมา เริ่มเดินทางไปที่ไทยใหญ่ รัฐมอญไปพบกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เราเป็นคนที่ถ้าสนใจอะไรแล้วก็จะรู้สึกว่าต้องเรียนรู้กับสิ่งนั้น

เราไปสนใจกระบวนการสันติภาพในเมียนมา จากกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนกลุ่มแรงงานที่เขามาถูกค้ามนุษย์อยู่ในประเทศไทย เราก็มองว่าทำไมเขาต้องหนีมา เราต้องตั้งคำถามก่อนว่า ทำไมคนเหล่านี้เขาต้องหนีมา บางคนลี้ภัยมา ออกมาจากค่ายมาหางานทำ บางคนมาเป็นแรงงานในประเทศไทย เพราะอะไร? เพราะว่าเขาไม่มีบ้านที่จะอยู่ เขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องต่อสู้มาเพื่อที่จะได้สันติภาพ จะได้การยอมรับในความเป็นชาติพันธุ์ ความเป็นรัฐของเขา ก็เลยเป็นที่มาของการเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในเมียนมา

 

 

สุดท้ายก็ไปเจอกลุ่มโรฮิงญา กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิความเป็นพลเมือง ไม่มีสิทธิอะไรเลย การที่เราไปทำข่าวโรฮิงญาก็กลายเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราต้องโดนอะไรต่างๆ กลับมามากมาย กับการแค่พูดถึงคนที่ไร้สิทธิ

การแค่พูดถึงคนที่ไร้สิทธิทำให้เราถูกตราหน้าเป็นคนขายชาติ แต่เราก็รู้สึกว่าแล้วการที่เราคนหนึ่งที่กล้าที่จะพูดเรื่องนี้ เรามาถูกกระทำด้วยกระบวนการอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญามากขึ้น ดูเหมือนเป็นความผิดของเราที่เราทำแล้วเขาก็ยังเกลียดอยู่ ตอนนั้นรู้สึกผิดมากๆ เลยว่าข่าวของเรา หรืองานของเรายิ่งทำให้คนโรฮิงญาถูกเกลียดเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเราก็โดนเหมือนกันแต่เรากลับคิดว่า เรามีหน้าที่ตรงนี้ ดังนั้นเราต้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้คนมีความเข้าใจมากขึ้น หรือต้องรู้มากขึ้นว่าคนโรฮิงญาเป็นอย่างไร ผ่านอะไรมาถึงต้องออกมาลี้ภัย แล้วกลายเป็นถูกหลอกในขบวนการ เราก็เลือกลุกขึ้น

ในตอนนั้นคิดถึงขั้นว่าอยากจะออกจากการเป็นนักข่าวด้วยซ้ำ แต่พอเรามานั่งทบทวน เราจึงอยากขอพิสูจน์ก่อนว่างานที่เราทำ มันคือสิ่งที่เราจะสร้างความเข้าใจ

 

 

ตอนนั้นเดินทางไปเมืองมอดอว์ รัฐยะไข่ ไปติดตามชีวิตคนโรฮิงญา มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราลุกขึ้นมามีพลังอีกครั้ง คือ เราไปถึงหมู่บ้านเมืองมองดอ ชายแดนบังกลาเทศซึ่งปัจจุบันถูกเผาไปแล้วจนทำให้คนโรฮิงญานับล้านคนลี้ภัยไปในหมู่บ้าน ซึ่งกว่าจะเดินทางไปยากลำบากมาก ถูกปิดกั้น กว่าเราจะฝ่าฟันเข้าไปถึงหมู่บ้าน

เราไปเจอแม่ของคนโรฮิงญาเป็นคนที่อยู่ในเรือที่เป็นประเด็นข่าวที่ว่าเราพบอยู่กลางทะเลในประเทศไทย เขาเอารูปลูกเขาที่อยู่ในมือถือมาให้เราดู นี่คือลูกของเขาซึ่งอยู่ในเรือลำนั้น เราบอกกลับไปว่า ภาพเราเองที่เราถ่ายที่ถูกเผยแพร่ไป เราเองที่เป็นคนทำข่าวนี้ เขาบอกขอบคุณมากที่เขาได้เห็นภาพลูกชายของเขา หลังจากที่ออกเดินทางจากบ้านไป 2 เดือนแล้ว โดยที่ไม่รู้ชะตากรรม

ในวันที่เราเจอเรือลำนั้น เราเห็นภาพเหล่านั้นถูกส่งรายงานข่าวออกไป บางคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบกับภาพนั้น หรือเกลียดชาวโรฮิงญาจากภาพนั้น แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นภาพนั้นแล้วเขารู้สึกว่าชีวิตนี้เขาไม่ต้องการอะไรแล้ว เพราะเขารู้ว่าลูกเขาปลอดภัย ณ วันนั้นที่เขาเห็นภาพนั้นคือเรือต้องเดินทางต่อโดยไม่รู้ชะตากรรมเหมือนกันว่าออกจากชนบทน้ำที่ประเทศไทยไปแล้วจะไปถึงที่ไหน แต่สุดท้าย 2 อาทิตย์ต่อมาเรือไปถึงฝั่งที่ท่าเรือจังหวัดอาเจะฮ์ อินโดนีเซีย แล้วลูกชายเขาก็ได้โทรศัพท์หาแม่บอกว่า เขาถึงที่อาเจะฮ์แล้ว แม่เขาดีใจมากที่รู้ว่าลูกเขารอดชีวิต

เขาเห็นข่าววันนั้น เขาก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าลูกเขายังไง แต่อย่างน้อยข่าวของเราบางครั้งมันไม่ได้มีคุณค่าที่จะทำให้คนทั้งโลก หรือสังคมทั้งสังคมเข้าใจอะไรกับปัญหาที่มันเกิดขึ้นหรอก แต่แค่ทำให้แม่คนหนึ่งที่เขารอคอยว่าลูกจะปลอดภัยหรือไม่ มีความหมายมาก นี่แหละคืองานของเรา

บางทีคุณค่าไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการที่จะปกป้องอะไรใครทั้งโลกหรอก เราไม่สามารถ มือเรา ตัวเราไม่สามารถปกป้องคนทั้งโลก แต่ว่าแค่ให้ความรู้สึกของแม่คนหนึ่งเขาได้รู้สึกมีพลัง เลยทำให้ทุกครั้งในเวลาที่จะเกิดอะไรก็จะนึกถึงความรู้สึกนี้ว่าทำไปเถอะ การที่จะพูดหรือต่อสู้เพื่ออะไร บางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากไม่ต้องมาก ล่าสุดคือการเเค่พูดว่าเพื่อช่วยปกป้องน้องๆ นักกิจกรรมที่ออกมาทำกิจกรรม เรื่องชุดมาลายู แล้วเราก็ไปร่วมงานและก็โพสต์รูปของเรา เป็นรูปที่เราไปร่วมงานแล้วพูดว่า นี่คือสิ่งที่อัตลักษณ์วัฒนธรรม มันคือสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่เรื่องของสันติภาพ เราก็จะโดนตีกลับ โดน IO โดนอะไรกลับมาเยอะแยะ แต่ว่าเราก็ไม่สนใจแล้วเพราะว่าเราก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นมาได้หมดแล้ว

ช่วงการทำงานเกี่ยวกับ 3 จังหวัด เรื่องของโรฮิงญามันมีอะไรอีกหลายอย่างที่เรารู้สึกว่ามันเป็นโมเดลหนึ่งของการที่เราจะต่อสู้ สุดท้ายเราเดินทางไปที่รัฐยะไข่ตอนนั้น แล้วก็กลับมาทำรายงานทำสารคดี แล้วได้รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) เกี่ยวกับสารคดียอดเยี่ยม 8 ปีของการทำเรื่องโรฮิงญา สังคมไทยเพิ่งมาเรียนรู้และเพิ่งรู้สึก

 

 

บางคนมาขอโทษกับคำพูดที่เคยไปพูดในเรื่องนั้นมา การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิของคนมันใช้เวลา แต่ทำไปเถอะ คุณค่าอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ แต่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เช่นเดียวกับที่ท่านผู้หญิงพูนศุขทำใน 112 ปีที่ผ่านไปเราก็ยังพูดถึงท่าน และคำว่า “สันติภาพ” มีความหมายมาก รอบต่อไปยังคงอยากจะพูดถึงเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับการเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ เพราะว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดแล้ว และคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เราต้องมีพื้นที่กลาง เพราะสันติภาพในทุกๆ พื้นที่ของความขัดแย้งมีความแตกต่างหรือคิดต่าง

สงครามทำให้เกิดเรื่องของผู้ลี้ภัย แต่ก็โชคดีว่าในงานของตัวเองทำเรื่องของผู้ลี้ภัย จึงได้มีโอกาสไปเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของผู้ลี้ภัย จึงเข้าใจความรู้สึกของผู้ลี้ภัยทุกคนดี เหมือนกับที่ทางครอบครัวเคยเจอ แยมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องถ่ายทอดว่า ทุกคนเขาไม่อยากที่จะลี้ภัย เขาไม่อยากเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง หรือความรุนแรงอะไร เขาก็อย่างที่จะกลับบ้าน ดังนั้นการเป็นนักข่าวจึงมีคุณค่ากับเรามาก เพราะบางครั้งคือเราไปเรียนรู้ เราเอาตัวเราเองไปทำข่าว เราเรียนรู้เรื่องราวของผู้คน เรื่องราวสังคมตรงนั้นมาถ่ายทอด เพื่อให้มันเกิดพลังของการที่เราจะต้องก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้น แล้วเราต้องกล้าหาญพอที่เราจะพูดถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่

เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำมา 10 กว่าปีแล้ว อาจารย์ โคทม (โคทม อารียา) ก็ทำมามาก แต่ทุกวันนี้เราแทบจะพูดคำว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เลย เพราะมีแต่คำว่าต้องการสันติสุขแต่ไม่ได้ต้องการสันติภาพ สังคมไทยยังต้องทำความเข้าใจกับคำว่าสันติภาพอีกเยอะมาก ทั้งๆ ที่เรามีวันสันติภาพไทย

เราเคยผ่านอะไรต่างๆ มา แต่คำว่าสันติภาพมันไม่เคยถูกยอมรับ แม้กระทั่งในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ต้องทำเพื่อสันติภาพแต่ไม่เคยมีคำนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนที่อยากจะทิ้งท้ายประเด็นนี้ คำว่า “เสียงแรก” ในช่วง 3 ปีที่เกิดเหตุการณ์ขบวนการนักศึกษา สื่อไทยตกใจกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน ตกใจกับมาตรา 112 ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ธรรมศาสตร์ ที่มีการพูดข้อเรียกร้องนี้ครั้งแรก นี่คือเรื่องของการก้าวข้ามที่สำคัญ ก้าวข้ามความกลัวของสื่อไทยก็เช่นเดียวกัน

“เสียงแรก” มีความหมายเพราะวันนั้นพี่แยมกล้าพูดได้เลยว่า พูดคำนี้นำเสนอข่าวออกทีวี หรือแม้กระทั่งเราหลายคน ทุกคนก็กล้าที่จะรายงานข่าวออนไลน์หรือในโซเชียลมีเดีย แต่สำหรับพี่แยมพบว่า ณ วันนั้นเรากล้ารายงานข่าวที่จะพูดคำนี้ออกทีวีเพื่อพิสูจน์ว่าคำนี้พูดได้ เสียงแรกจะมีความหมายเพราะหลังจากนั้นสื่อไทยก็เริ่มมาย้อนคิดว่า ก็เราก็พูดได้แต่เราไม่พูดมันเอง

 

 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

หลังจากที่มายด์ได้ฟังเรื่องราวของพี่แยม รู้สึกว่าคำว่า “สื่อมวลชน” ในปัจจุบันถูกหลงลืมที่จะความสำคัญของคำนี้ไปเยอะมาก ซึ่งถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เหมือนแค่คนทำข่าว แค่เล่าข่าวให้ฟัง หรือคนแค่นำเสนอประเด็นที่คนในสังคมต้องรับรู้ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วลึกซึ้งมากกว่านั้น

เพราะคือสื่อที่มาจากฝั่งมวลชน ฝั่งประชาชน ฝั่งคนตัวเล็กที่พยายามนำเสนอความจริงทุกอย่าง ข้อเท็จจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม คนในสังคมต้องรับรู้ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง แล้วอีกคำหนึ่งที่มายด์รู้สึกว่า พี่แยมเหมาะสมกับคำนี้มาก ก็คือคำว่า “นักข่าวเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ”

 

 

สิ่งที่พี่แยมเล่าให้ฟังเหตุการณ์แต่และเหตุการณ์ มีหลากหลายเชื้อชาติมาก มีหลากหลายกลุ่มคนมากๆ เพราะว่าจริงๆ แล้ว คำว่ามนุษยชนมันไม่ได้มีกรอบ ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นแค่คนกลุ่มไหนและไม่ควรจำกัดด้วย มนุษย์ก็คือมนุษย์ เพราะฉะนั้นสิทธิมนุษยชนมันก็เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน แล้วการที่มนุษย์คนไหนที่ถูกกระทำอะไรอยู่ สื่อกล้าหาญมากในการที่จะไปเอาความจริงตรงนั้นออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ นี่เป็นสิ่งที่สื่อในปัจจุบันก็ควรต้องทำ เสียงแรกเป็นเสียงที่สำคัญมาก

ลำดับถัดไปอยากจะชวนทุกท่านพูดคุยถึงปัญหา และอุปสรรค รวมถึงอยากจะให้มีข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการแก้ไขกฎหมายอะไรต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิงเกี่ยวกับเด็กหรือรวมไปถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงอาจจะพูดถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยก็ได้ อยากให้ทุกท่านลองฉายภาพทางออกกันหน่อย ว่าถ้าหากเราอยากทำให้มันเกิดอะไรสักอย่าง ในการประกันสิทธิหรือทำอะไรสักอย่างให้มันเกิดสันติภาพ ที่ไม่จำเป็นจะต้องมาพูดถึงเรื่องเพศกันอีกแล้ว เราจะนำเสนอกันอย่างไรได้บ้างนะคะ

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

จริงๆ อาจจะไม่ใช่คนที่มีลูก ต้องเลี้ยงลูกแบบเป็นแม่แบบแจม (ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์) แต่จริงๆ พี่ยิ่งกว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว คือเราเป็นผู้นำครอบครัวจริงๆ จะศรัทธาผู้หญิงทุกคนมากที่ต้องเลี้ยงดูลูก ต้องทำงานไป หรืออะไรต้องต่อสู้อะไรมากมายที่ต้องดูแลครอบครัว คือไม่ได้มีลูกเองแต่ว่าก็เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เป็นผู้นำครอบครัวและปัจจุบันทำ The Reporters ก็ทำงานหาเงินเลี้ยงลูกอีกสิบกว่าคนเพื่อมาจ่ายเงินเดือน ทุกคนย่อมมีภาระครอบครัว ผู้หญิงที่จะต้องทำงาน ที่ต้องต่อสู้กับคนอื่น มันก็เลยมีอะไรที่มันยากมากกว่าคนอื่นอย่างที่พวกเราถ่ายทอดเรื่องท่านผู้หญิงพูนศุข เมื่อมีผู้หญิงแบบนี้อีกมากมายในโลก ที่เขาต้องลุกขึ้นสู้ เพื่ออันดับแรก เพื่อมีลมหายใจ เพื่อที่จะมีชีวิต เพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว บางคนขอแค่ข้าวมื้อเดียวเพื่อจะเลี้ยงลูกในครอบครัว

 

 

ตรงนี้คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราก้าวข้ามไปทุกๆ วัน เพราะเราไปเจอผู้คนแบบนี้ทุกๆ วัน จริงๆ น่าจะเป็นคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ เราไปทำข่าวเรื่องผู้ลี้ภัย ก็จะไปเจอคนที่ต้องลี้ภัย เริ่มพูดคุยกับผู้ลี้ภัยซีเรียส ไปตุรกี เลบานอน เจุดเริ่มต้นคือการที่ว่าไปทำข่าวผู้ลี้ภัย ตอนนั้นพอเจอเรื่องโรฮิงญา เราตั้งเป้าว่าเราต้องทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจคำว่าผู้ลี้ภัย บางทีการที่ไปเรียนรู้ผ่านคนโรฮิงญา ซึ่งอาจจะมีอาจจะมีทัศนคติบางอย่างที่มาปิดกั้นอยู่ เราต้องเริ่มให้เขามองเห็นคนอื่นก่อน เราจึงเริ่มเดินทางไปทำเรื่องผู้ลี้ภัยซีเรีย ไปทำเรื่องของผู้ลี้ภัยที่ยูกันดา เราต้องทำให้คนไทยเรียนรู้ว่าสงครามความขัดแย้งทำให้คนเป็นผู้ลี้ภัย

ทุกคนไม่ได้ต้องการแต่ว่าพอวันหนึ่งถ้าเราต้องมาเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว เราจะต้องเจอกับอะไรบ้างเรา ต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง พอวันหนึ่งถ้าตัวเราต้องไปเป็นแบบนั้น เราจะได้เรียนรู้และเข้าใจเขา ดังนั้นสิ่งที่ทำมาตลอด 20 ปีนอกจากเรื่องของข่าวสิทธิมนุษยชนแล้ว คำหนึ่งที่แยมพูดเสมอ คือ นี่คือเรากำลังต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิความเป็นคน คำนี้เมื่อ 10 กว่าปีก่อนแทบไม่ค่อยมีคนพูด แล้วเชื่อไหมตอนปี 2563 ที่พี่เห็นเด็กๆ มาทำม็อบด้วยกัน เราทำ The Reporter แล้วเราเห็นเด็กมาพูดเรื่องสิทธิ เรื่อง Human Rights เรื่องความเป็นคนที่เท่ากัน คือน้ำตาไหล

ณ วันนั้นที่ยืนมอง ยืนทำข่าว นี่คือสิ่งที่เราต่อสู้มา 10 กว่าปี เราพูดแต่ไม่เคยมีใครเข้าใจ แต่พอวันหนึ่งตอนเราทำข่าว ตอนที่เด็กๆ ว่าหนูดูข่าวพี่ หนูดูข่าวโรฮิงญา สิ่งที่เราทำในวันนั้นเข้าไปอยู่ในใจของเด็กๆ ที่มาแสดงออกอยู่บนท้องถนนในวันนี้ ทำให้รู้สึกว่าทำไปเถอะ เราทำวันนี้ไม่มีใครมองเห็น ผ่านมา 10 ปีเด็กที่เติบโตมา เข้าใจถึงคำนี้ ณ วันนั้นที่ฉันทำมามันเห็นผลแล้ว ทำให้เราเรียนรู้ว่า ถ้าเราอยากจะบอกอะไรกับใคร เราก็ต้องเข้าถึงกับสิ่งนั้น เหมือนกับเราที่เรียนรู้และเดินทางไปเรื่องของผู้ลี้ภัย

 

 

เช่นเดียวกันในเรื่องของปัญหาสันติภาพในบ้านเรา เราต่อสู้กับคำว่าสิทธิมนุษยชน เพื่อคนเท่ากัน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรารู้สึกว่าเรา Success แล้ว กับการทำข่าว แต่ว่าตอนนี้มีคำคำหนึ่งที่เราจะต้องคิดว่าเราต้องทำต่อ แล้วน่าจะเป็นงานที่อยากจะทำในนี้ช่วงหลังจากนี้ ก็คือว่า “สื่อเพื่อสันติภาพ” เพราะว่าปัญหาใหญ่ เราต่อสู้เพื่อสิทธิ บางทีเรื่องของความขัดแย้งความไม่เข้าใจ คนไทยเรายังไม่เข้าใจคำว่าสันติภาพ

อาจารย์โคทมเดินจากภาคใต้มากรุงเทพฯ เดินไปนู่นไปนี่ อาจารย์เดินทุ่มเททั้งชีวิตกับการพูดเรื่องสันติวิธี สมัยหนึ่งก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครสนใจ เราจะทำเพื่อเดิน หรือเดินเพื่อสันติภาพไม่มีใครสนใจ แต่ว่าคำคำนี้ จะต้องทำให้สังคมได้เห็นว่า สุดท้ายแล้วเราอยู่กันท่ามกลางความขัดแย้ง ทุกคนบอกว่าสันติภาพที่แท้จริงหมายถึงอะไร

ยกตัวอย่างไม่ใช่เรื่องของสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้ 20 ปีจะถึงวันนี้ที่พูดไปเมื่อช่วงแรกว่า มันมีแต่คำว่าสันติสุข เพราะมีคนที่ไม่อยากให้เกิดสันติภาพ ในเรื่องของ 3 จังหวัด ก็ต่อสู้มาเยอะมากเหมือนกันในฐานะสื่อ เราเป็นสื่อเป็นผู้หญิงแล้วเขาก็บอกเราเป็นนักข่าวโจร ถามว่าเราทำข่าวใน 3 จังหวัด ทุกคนก็ทำแต่ข่าวความรุนแรง แต่เราเป็นคนที่รู้สึกว่าเราต้องมอง หรือเปิดพื้นที่อื่น

 

 

ยุคที่ไปทำตั้งแต่แรกๆ เลยสมัยอยู่ที่ไอทีวี คนอื่นก็สัมภาษณ์ทหาร แต่ว่าเราจะเป็นคนที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน หรือสัมภาษณ์คนที่ได้รับผลกระทบ เพราะเรารู้จริงๆ คนบอกว่าฐปณีย์ ต้องทำอะไรใหญ่ๆ แต่ว่าไม่ใช่เลย เราจะไปทำหรือไปคุยกับคนที่ไม่มีใครคุยไม่มี ใครสนใจ เพราะนั่นคือเสียงของเขาควรจะมีบ้างในพื้นที่ข่าว ต้องมีเสียงคนเหล่านี้ ทำไมเราต้องไปคุยกับ ‘เมีย มะรอโซ’ เพราะเขาคือคนที่ได้ผลกระทบ แล้วเขาไม่มีพื้นที่ไม่มีใครสนใจ ทำไมต้องไปคุยกับ ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ที่ถูกซ้อมทรมาน คือคนเหล่านั้นเขาไม่มีพื้นที่ เราเป็นสื่อ เราสามารถที่จะพูดแทนเขาได้ เพราะบางเรื่องเขาอาจจะไม่สามารถที่จะพูดออกสื่อให้เห็นได้ แต่เขาพอพูดกับเรา เราสามารถมาสื่อสารแทนเขา เวลาที่เรารู้บทบาทหน้าที่ของเราแล้ว ทำให้เราสามารถที่จะใช้บทบาทหน้าที่ของเรา โดยการพูดแทนคนอื่นได้

ทุกคนมีบทบาทของตัวเอง มายด์ (ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล) เป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหว มายด์สามารถพูด เพื่อที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้ อ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เป็นนักวิชาการทั้งสอนนักศึกษา แล้วก็พูดเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการให้สังคมได้ความรู้ แจม (ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์) จากทนายความที่ต่อสู้เรื่องทางกฎหมาย มาเป็น ส.ส. คือเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน สื่อก็ต้องทำหน้าที่ของเราเอง ที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ไม่อย่างนั้นในท่ามกลางสังคมความขัดแย้ง ถ้าเรารู้เรามีเป้าหมายเพื่ออะไรร่วมกัน เรารู้หน้าที่ของเราเอง เราใช้บทบาทหน้าที่ของเราเอง เราก็จะเดินทางไปสู้เป้าหมายเดียวกัน

ตอนนี้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาถึง 20 ปีแล้ว เรายังมองไม่เห็นสันติภาพเหมือนกับย้อนกลับไปช่วงแรกอีก อะไรก็ตามที่ถูกกดทับ ก็มีการดำเนินคดีกับน้องๆ นักกิจกรรมที่แค่แต่งชุดมลายู หรือแม้กระทั่งร้องเพลงหรือบทกวีที่พูดถึงเรื่องชาติของตัวเอง ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ที่มา หรือแม้กระทั่งแบบการพูดถึงเป้าหมายอะไรต่างๆ ใช้เวลากับการทำข่าวใน 3 จังหวัดมา 20 ปี แต่ก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สิ่งที่ทำก็คือว่า เราต้องเข้าใจเขาก่อนว่าเขาต้องการอะไร

 

 

บางทีคนกลุ่มที่มาจับอาวุธต่อสู้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บอกว่าต้องการเอกราช จริงๆ เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาก่อน เพราะเขาถูกกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกกดทับอัตลักษณ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องดินแดนซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วเราต้องเริ่มต้นจากการที่ต้องเข้าใจว่า ถ้าพื้นฐานเขาได้รับการยอมรับ เรื่องของความเป็นคน เรื่องของชาติพันธุ์เขา เรื่องภาษาวัฒนธรรม การที่พูดภาษามลายู การได้แต่งกายในชุดที่เขาภาคภูมิใจ การได้พูดถึงประวัติศาสตร์ของตัวเอง ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตัวเอง อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้มันผ่อนคลายบรรยากาศของความขัดแย้งหรือการต่อสู้

ตอนนั้นทำแม้กระทั่งเรื่องพาคนไปรู้จักว่าคนใน 3 จังหวัดเป็นอย่างไร แล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อนทำเรื่องเกี่ยวกับเขตเมืองเก่าของปัตตานี ซึ่งในทางข่าวเขาไม่มีใครเขาทำสารคดีนี้กันหรอก แต่เราทำเพื่อให้รู้จักว่าเคยเป็นเมือง เคยมีประวัติอย่างไร บางทีเราต้องใช้วิธีการในการสอดแทรกเรื่องพวกนี้ แล้วในขณะที่เราทำข่าวที่เป็นภัยเรื่องของคนใน 3 จังหวัด ก็จะมีกระบวนการในการ IO มาเล่นงานเรา มาปิดทับเรา

คำว่า “ปาตานี” เป็นคำที่ถูกห้ามต้องห้าม แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วก็เริ่มมีนักกิจกรรม กลุ่มหนึ่งนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่พูดคำนี้อยู่ในแวดวงวิชาการ แต่นักข่าวไม่เคยกล้าที่จะพาดหัวข่าวหรือเขียนข่าวเลย พี่แยมขอพูดว่า พี่แยมคือเสียงแรกที่ใช้คำว่า ปาตานี ซึ่งน่าจะออกข่าว 3 มิติ แล้วเราเป็นนักข่าวที่มาพูดคำนี้ออกทีวี แล้วเราบอกว่าคำนี้เป็นคำที่พูดได้ เขียวข่าวได้ ออกข่าวได้ และหลังจากวันนั้นก็ใช้กันจนถึงปัจจุบัน คณะพูดคุยก็ยอมรับคำว่า ปาตานี เห็นไหมว่าครั้งแรกมันจะยากเสมอ แต่ถ้าเรากล้าที่จะพูดขึ้นมาก่อนแล้ว อีกอย่าง คือเราไม่สามารถพูดคนเดียวได้

การที่พี่แยมพยายามจะทำ The Reporters หรือน้องๆ ที่มาฝึกงานกับพี่แยมก็พยายามที่จะสอนเขาทำให้แบบนี้ เพราะว่าเราอยากให้มีฐปณีย์แบบนี้หลายๆ คน แล้วก็ดีใจมากในปัจจุบันที่น้องๆ สื่อรุ่นใหม่

 

 

แม้กระทั่งสื่ออิสระที่มายด์มาทำ หรือเพจใหม่ที่ตระกูล The ต่างๆ มีนักข่าวรุ่นใหม่ที่มาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แล้วเมื่อไหร่ก็ตาม เวลาเราพูดอะไรเราจะไม่โดดเดี่ยว เพราะว่าเราจะมีคนที่มาพูดเรื่องเดียวกันกับเราเหมือนสิ่งที่แจมพูดว่าอยากให้มี ส.ส. หญิงเยอะๆ อยากให้มีนักวิชาการทางด้านสันติวิธี สันติภาพเยอะๆ มีนักกิจกรรมเยอะๆ อยากให้มีนักข่าวแนวนี้เยอะๆ เพราะว่าอะไร เวลาเราพูดอะไรเราจะไม่โดดเดี่ยว เสียงเราจะดัง เมื่อดังเราจะต่อสู้กับอำนาจมืด หรืออำนาจที่ไม่ชอบธรรมได้ เพราะเสียงดังกว่า คิดว่างานที่จะทำหลังจากนี้ก็คงจะเน้นในเรื่องของคำว่า “สื่อเพื่อสันติภาพ” ให้มากขึ้น เพราะว่าโลกต้องการสิ่งนี้จริงๆ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=UuTa8SIzB7Q&t=2599s

 

ที่มา :  PRIDI Talks #24: 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” เนื่องในวาระ 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี.