ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เสพศิลป์ถวิลวาร The Year of Nostalgia through art evolution

7
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • การผลิตงานละครที่มีคุณภาพ นอกจากจะอาศัยเค้าโครงเรื่องดั้งเดิมและหรือดัดแปลงเพิ่มเติม คณะศิลปิน และคณะหรือองค์กรผู้สร้างงานที่มีความสามารถแล้ว ยังต้องอาศัยสถานที่การจัดแสดงที่มีศักยภาพอีกด้วย ดังเช่น โรงละครกรุงเทพที่เปิดดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2536 (ปรับปรุงใหม่เป็น M Theatre  ที่เปิดดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมสำหรับประชาชน และแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้รักการละคร
  • หากถวิลหาอดีตของละครชื่อดังและหลากรสแล้ว ละครเวทีที่มีผู้ชมชื่นชอบจำนวนมาก ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา อาทิ  “คู่กรรม เดอะ มิวสิคัล” (จากวรรณกรรมเรื่องคู่กรรม) “อลหม่านหลังบ้านทรายทอง” (จากวรรณกรรมเรื่อง “บ้านทรายทอง”) ละครเรื่อง “ข้างหลังภาพ” (จากวรรณกรรม “ข้างหลังภาพ”) และละครเรื่อง “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” (จากภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน”) และ “มนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” (จากภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง”)
  • ละครที่ผู้คนประทับใจและสามารถยืนนานผ่านกาลสมัยก็ดี หรือละครที่นำมาสร้างให้ตื่นตาตื่นใจอีกครั้งก็ดี มักจะแสดงถึงหลากหลายความจริงของชีวิตในสังคม ความใฝ่ฝันของบุคคล การเปลี่ยนแปลงในสังคม การขัดแย้งหรือการปรับจัดความคิดที่ต่างกันระหว่างสมัยเก่ากับใหม่ สัมพันธภาพที่ไม่หยุดนิ่งของผู้คนในสังคม การต่อสู้ระหว่างกัน รวมถึงความรัก ความเกลียดชัง ทุกข์ และสุข ในบางช่วงหรือหลายช่วงชีวิตที่เกิดขึ้น ละครจึงเป็นสื่อที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมและอาจชี้นำสังคมได้เสมอ

 

ขอแสดงความยินดี 30 ปี  โรงละครกรุงเทพ  และ  25 ปี อลหม่านหลังบ้านทรายทอง

โรงละครกรุงเทพ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2536 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงละคร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 โรงละครแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นศูนย์กลางในการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่รักการละครทุกคน โดยมีปรัชญาความเชื่อว่า

“ประเทศไทยจะก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นในโลกได้ต้องมีปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ การพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพราะเมื่อปราศจากความเข้มแข็งในด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว ประเทศก็จะ พัฒนาไปได้เฉพาะแต่เปลือกที่เป็นเทคโนโลยี แต่ปราศจากแก่นที่เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพของคน”

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

Dass Entertainment เป็นอีกหนึ่งผู้บุกเบิกละครเวทีไทย (ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2533) ก่อนพัฒนาเป็นบริษัท DREAMBOX ในปัจจุบัน (เริ่มใหม่ปี 2544) บริหารโดยบุคลากรผู้ก่อตั้ง แดส เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ และเปิด ‘โรงละครกรุงเทพ’ (Bangkok Theatre) เมื่อ 28 กรกฎาคม 2536 ด้วยความรักในละครเวทีต้องการขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น โรงภาพยนตร์จึงเป็นอีกตัวเลือกที่หวังจะแชร์ผู้ชมได้ ชวนคนดูหนังมาชมละครเวที จึงมีการพยายามขยายสาขาในย่านธุกิจใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อปี 2548 ดรีมบอกซ์ ได้ร่วมกับ บริษัท Major Cineplex และ EGV จำกัด (มหาชน) ทดลองดัดแปลงโรงภาพยนตร์ 3 ที่ EGV Metropolis Complex ย่านถนนราชดำริ เป็น โรงละครขนาด 600 ที่นั่ง โดยให้ชื่อว่า Bangkok Theatre @ Metropolis และในปี 2550 ดรีมบอกซ์ได้ร่วมกับ บริษัท สหมนูญผล ปรับปรุง ‘โรงละครกรุงเทพ’ เดิม พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น M Theatre โดยเริ่มดำเนินการอีกครั้งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผูกพันกับผู้ชมมานาน สร้างงานละครคุณภาพเป็นสะพานเชื่อมใจ ผ่านการผจญกับภัยทางเศรษฐกิจอย่างทรหด ดำรงอยู่อย่างทรนงมั่นคงเพื่อสิ่งที่รักคือ   ‘ละครเวทีไทย’ ในปี 2566 Dass Entertainment ได้เดินทางมาถึง 30 ปีเต็ม และ ตุลาคม 2566 ละครเวทีเรื่องแรกที่จัดแสดงคือ “คู่กรรม เดอะ มิวสิคัล” ครบรอบ 20 ปี

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

“อลหม่านหลังบ้านทรายทอง”

“อลหม่านหลังบ้านทรายทอง”  เป็นผลงานของบริษัท DREAMBOX ที่ทำสถิติจำนวนรอบการแสดงได้สูงที่สุดของละครเวทีไทย รูปแบบเป็นละครซ้อนละคร ดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่อง “บ้านทรายทอง” ซึ่งถูกสร้างจากบทประพันธ์นวนิยายชื่อดังเรื่อง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ (หรือ กัณหา เคียงศิริ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2529) จัดแสดงมาแล้ว 100 รอบเต็ม เริ่มปี 2542 – 2548 ณ โรงละครกรุงเทพ ( Bangkok Theatre)  หลังจากนั้นออนทัวร์ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น จนมาบรรจบครบรอบที่ 100 ณ Bangkok Theatre และล่าสุด กลับมาเปิดรอบที่ 101 - 108 เมื่อ 30 มิถุนายน 2566 และ 1-2-7-8-9 ก.ค  2566  ณ โรงละคร M Theatre (ชื่อเดิม Bangkok Theatre)

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

“บ้านทรายทอง” ถูกนำมาถ่ายทอดและดัดแปลงหลาย version ทั้งละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ “บ้านทรายทอง” ฉบับภาพยนตร์ในปี  2523 ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากที่สุด จนกลายเป็น ‘ภาพจำของยุคสมัย’ เพราะประสบความสำเร็จสูงสามารถทำรายได้ถึง 6 ล้านบาท ในการออกฉายครั้งแรก สร้างชื่อให้ จารุณี สุขสวัสดิ์ โด่งดังเป็นดาราวัยรุ่นหน้าใหม่ในยุคนั้น และกลายเป็นนางเอกอันดับหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย และถูกสร้างเป็นละครทีวีโดยช่อง 3 ในปี 2543 กระแสแรงต่อเนื่องจนมีภาคต่อเป็น “พจมาน สว่างวงศ์” (บ้านทรายทอง ภาค 2) โดยช่อง 7 ในปี 2530 นิสิตนักศึกษาวิชาการละครทั่วฟ้าเมืองไทยนำไปศึกษาพัฒนาเป็นการแสดงละครศิลปนิพนธ์ จนกลายเป็นอีกหนึ่งแบบเรียนในวิชาการศิลปการแสดงของไทยไปแล้ว เช่น

  • โครงการศิลปนิพนธ์ทางด้านศิลปะการแสดง ครั้งที่ 15 "การสอบทักษะการแสดงละครเวที" ของ นิสิตชั้นปีที่ 4  เอก ศิลปการละคร  สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 14 - 15 มีนาคม 2558
  • สื่อสารการแสดง มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน จัดแสดงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2560
  • ศิลปกรรมศาสตร์การละคร  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันท์ ปี 2564  ฯลฯ

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

‘คณะละครม่วนอลหม่าน’ นี้ประกอบไปด้วย ผู้กำกับการแสดงจอมเจ๊าะแจ๊ะขี้หลีรับบทโดย นีโน่ เมทะนี บุรณศิริ , ผู้กำกับเวที จอมจัดการเพื่อให้ละครดำเนินไปอย่างราบรื่น รับบทโดย หมอก้อง สรวิชญ์ สุบุญ , นางเอกสาวสวยขาวีนผู้มีวิธีการแสดงแบบ ‘เป็นตัวของตัวเองเต็มที่’ พจมาน รับบทโดย ปุยฝ้าย ภัทณชา วิภัทรเดชตระกูล , อดีตนางเอกยอดนิยมที่เคยเล่นบทพจมาน แต่ครั้งนี้ต้องมารับบท หญิงใหญ่ รับบทโดย จอย รินลณี ศรีเพ็ญ , พระเอกหนุ่มผู้มีชื่อเสียง ชายกลาง รับบทโดย เวล ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ , พี่เลขา นักแสดงขาเก๋าเมาตลอดกาลเพราะกลุ้มกับปัญหาเก่าๆ ในครอบครัวผัวไม่อยู่ในโอวาทเป็น หม่อมแม่ รับบทโดย จิ๊ อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ , นางอิจฉาขาประจำ หญิงเล็ก รับบทโดย ผัดไท ดีใจ ดีดีดี , นักแสดงวัยไม่เด็กผู้รับบท ชายน้อย รับบทโดย ก่อ กมลพัฒนะ และนักศึกษาฝึกงานจอมโก๊ะ รับบทโดย เนย กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

“อลหม่านหลังบ้านทรายทอง” เปิดการแสดงรวมทั่วประเทศ 108 รอบ
เขียนบทโดย  ดารกา วงศ์ศิริ / กำกับการแสดง โดย สุวรรณดี จักราวรวุธ

หลายเหตุปัจจัยเกิดในวันซ้อมใหญ่และวันแสดงจริงของละครเวทีต้นทุนต่ำขำเยอะ“บ้านทรายทอง” ของตระกูล พินิจนันท์ ที่เสกสรรความอลหม่านสะท้านสะเทือนทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังประดังกันเข้ามาชวนฮาไม่ขาดระยะในละครซ้อนละครเรื่องนี้ งบประมาณคือปัญหาน่ารำคาญของการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญที่ต้องจ่าย เช่น จำใจต้องจ้างนางเอกระดับซูเปอร์สตาร์ตัวป่วนสุด “นุช – นุชวดี” (ภัทณชา วิภัทรเดชตระกูล) ที่ห่วงสวยรวยอารมณ์บูด ไม่ชอบท่องบท ชอบประชดทรงผมถักเปีย แต่ต้องมาละเหี่ยสวมบท “พจมาน” นางมั่นมากว่าที่ผู้ชมแห่แหนมาดูละครเพราะความสวยของตัวเอง จึงตั้งใจเป็น “พจมาน” ตามแบบฉบับของนางเท่านั้น สาวมั่นเป็นคู่ปรับกับ “หรั่ง” (สรวิชญ์ สุบุญ) เสตจแมเนเจอร์ปากจัด จอมถากถาง ผู้ต้องสะสางทุกปัญหาที่จะเกิดกับโปรดัคชัน ขณะเดียวกันเหตุที่ต้องประหยัดงบจัดหรั่งจึงต้องรับบท พนา พ่อของพจมานด้วย และบทท่านชายต้อมด้วย เอาเข้าไป อะไรมันจะขะไหนหนาด …

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

ส่วนบทใหญ่เล่นเยอะไม่มีใครเกิน “หม่อมพรรณราย”  จะเป็นใครก็ไม่ขลังเท่าพี่จิ๊ อัจราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ นักแสดงผู้เก๋าเหนือกาล มารับบทพี่เลขาใกล้บ้าเพราะมีเรื่องระหองระแหงให้ต้องระแวงเฒ่าหัวงูที่บ้านจะแอบคลานไปหาอีหนู นางจึงหาวิธีหนีทุกข์อย่างอยู่เย็นเพื่อเป็นสุขด้วยการดื่มน้ำเมา แม้ขณะกำลังซ้อมละครและในวันแสดงจริง เมื่อโป๊ะแตกแหวกความจริงจึงได้รู้ว่า ผู้หญิงที่เฒ่าหัวงูไปจู๋จี๋นั้น คือ เจ้จุ๋ม (ผัดไท ดีใจ ดีดีดี) นางร้ายเจ้าประจำที่มารับบท “หญิงเล็ก” ความป่วนโรงแตกจึงบังเกิดแก่สองแม่ลูกและ คณะม่วนอลหม่าน ทั้งหน้าฉาก-หลังฉาก กระชากเวลาผ่านไปสามชั่วโมงชิลๆ ไม่รู้สึกหิวเพราะอิ่มใจ

ฝ่ายชายก็ใช่ย่อยเมื่อ หนุ่ม (ดิษกรณ์ ดิษยนันท์) ซุเปอร์สตาร์ฝ่ายชายผู้รับบท “ชายกลาง” ที่มาปักหลักหลงรัก “สายน้ำ” (รินลณี ศรีเพ็ญ) ในบท “หญิงใหญ่” ผู้เคยเล่นบทพจมานมาก่อน , ทูน (เมทนี บูรณศิริ) ผู้กำกับฯ จอมเจ้าชู้ กับ”น้องพลอย” (กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล) เด็กฝึกงาน โดย ทูน ยังต้องรับบท “เจ้าคุณตา” และ พลอย ก็ต้องรับบท “สาวใช้ และ ท่านหญิงติ๋ว” อีกด้วย แต่กลายเป็นว่า ดอน (ก่อ กมลพัฒนะ) ที่รับบท “ชายน้อย” ผู้ไม่สมประกอบมาแต่เกิดกลับรับบทใหญ่ใส่เกียร์ว่างร่วมสร้างความป่วนรวนไม่เลิกรา

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

ผู้ชมมากกว่าครึ่งเป็นแฟนคลับของ ‘ละครแดส’ (Dass Entertainment บริษัทผู้บุกเบิกก่อตั้ง โรงละครกรุงเทพ) ที่สะสมสกอ์มากว่า 30 ปี และ FC ของนักแสดงขาเก๋าคนเก่งที่เปล่งเสน่ห์เฉพาะตัวประชันแบบไม่เกรงใจกัน บรรดาแฟนฉันต่างได้สนานไปกับการเปิดเปลือยเบื้องหลังงานสร้างอย่างทรหดของ ‘คนละคร’ ตั้งแต่เริ่มเตรียมร่างกายก่อนแสดง ไปจนถึงวิ่งรอกสลับเข้าออกสองปีกของเวที เพราะเทคนิคพลิกด้านของฉากละคร ถูกออกแบด้วยระบบหมุนแบบ chill - chic ที่พี่ Hydraulic หรู ต้องหลบให้ ทั้งโถงใหญ่ของบ้านทรายทอง และหลังฉากมากปัญหา พลิกไปพับมาตามฮาแทบไม่ทัน กลั้นหายใจไม่รู้ตัวในบางตอน เพราะทุกตัวละครต่าง ‘ปล่อยของ-ประลองพลัง’ กัน ใน ‘วันวายป่วง’ ที่ต้องประคองสถานการณ์ให้ “ The Show must go on” โดยเฉพาะถึงตอน ‘หม่อมแม่’ ออกมาแค่ขยับก็ฮาโรงร้าวแล้ว คนอะไรทำไมอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ถึงปานฉะนี้ คงปฏิบัติธรรมมาดีมีการเจริญสติภาวนาทำสมาธิก่อนเล่นเป็นแน่แท้ แม้มีอุบัติเหตุทำให้เท้าเจ็บเดินเป๋ หม่อมแม่ยิ่งเท่ได้อีกฉีกวัย พลังการแสดงแรงดีไม่มีตกยันรอบที่ 108 (ทำลายสถิติละครเวทีไทย) ไม่น้อยหน้าน้องๆ เลย

แม้กระนั้นในวันปิดม่านการแสดง หม่อมป้าจอมป่วน ยังม่วนไม่จบ เจ๊าะแจ๊ะว่า “เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับหน้าที่อันใหญ่หลวงของข้าพเจ้า รอบที่ 101 ถึง 108 ของละครเวที “อลหม่านหลังบ้านทรายทอง” เท่ากับได้กลับมาเรียนรู้การแสดงอย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง ละครเวทีเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด เพราะรวมทฤษฎีต่างๆ ไว้ในการแสดงนี้ ที่เรื่องเดียวเราต้องซ้อมแล้วซ้อมอีกเป็นเดือนๆ ชัดเจนในการพูดบท และต้องคมในคิวที่รับส่งกัน และ the show must go on กราบขอบพระคุณคนดูทุกๆ คน ที่มาให้กำลังใจนะคะ จบรอบที่ 108 แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รีสเตจ (restage) ก็ยังสนุกกับการแสดงไม่เสร็จเลยเจ้าค่ะ”

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

อะไรคือเหตุแห่งการอยู่ยงคงกระพันข้ามชาติผงาดทุกภพภูมิของ “บ้านทรายทอง” ที่บางกลุ่มซุ่มด่าว่าน้ำเน่าไม่เข้ายุคสมัย อะไรจะยืนยันได้เท่าความจริงสิ่งที่ควรพิจารณาเพื่อนำมาตระหนักรู้    

  1. บทประพันธ์มีความลุ่มลึกตกผลึกทางความคิดเรื่องสิทธิสตรี พจมานคือตัวแทนของผู้หญิงล้ำยุคที่ ก.สุรางคนางค์ หรือ กัณหา เคียงศิริ สร้างตัวละครให้เป็นตัวแทนผู้หญิงยุคใหม่เมื่อสมัยกว่า 60 ปีก่อน ซึ่งสะท้อนการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมไทย แม้หลายกลุ่มทำทีไม่รับรู้การมีอยู่จริงของสิ่งนี้ ที่มันสิงสู่อยู่ใน อาชีพ ทรัพย์สิน สถานะทางสังคม ฯลฯ อย่างไม่อาจถอดถอน เธอคือตัวแทนของยุคสมัย สะท้อนภาพสังคมไทยเรื่องใกล้ตัว
  2. ความแกร่งของพจมานไม่เพียงค้านเพื่อความถูกต้องยุติธรรม แต่ยังย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมทั้งในบ้าน และรัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ไร้ญาติขาดมรดกให้พึ่งพิงยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ ด้วยการจัดสรรระบบรองรับตามกฎหมาย โดยที่พ่อ(พนา)ไม่จำเป็นต้องส่งลูกสาว(พจมาน) มาร้องขอ ที่พัก อาหาร และงบประมาณเพื่อการศึกษาจากหม่อมป้า ตามสิทธิที่เธอควรได้รับอย่างยุติธรรม ในนามเยาวชนไทย (ซ่อนวิสัยมองการณ์ไกลของพ่อพนาไว้อย่างแนบเนียน)
  3. ความใกล้ตัวของปัญหาในครอบครัวเครือญาติคือ ‘ภาพแทน’ ของทุกวงศ์วรรณอย่างไม่มีชนชั้น วรรณะ ฐานะ สถานะ ในรูปแบบ ‘ละครบ้าน’ มีปัญหาคนน่ารำคาญ ความคับแค้นใจในความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย ฯลฯ ทุกเรื่องทั้งเล็กใหญ่ไปจนถึงการเข่นฆ่า เพื่อสมบัติบ้าที่ต้องการครอบครอง ล้วนสนองความสนใจใคร่รู้ โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมที่ไม่คุ้นเคย
  4. พจมานได้พิศูจน์ด้วยเองด้วยเอาวิริยะ อุตสาหะ เอาชนะมารผู้ดีผีชนชั้น ไม่ใช่เพียงคุณสมบัติที่มีชาติตระกูล แต่ด้วยวุฒิภาวะของความเป็นมนุษย์ที่จิตใจดี นิสัยดี ที่สำคัญคือไม่ยอมให้ใครข่มเหง โดยเฉพาะเวอร์ชันละครทีวี (ช่อง 3 ปี 2543) พจมาน แสดงโดย รินลณี ศรีเพ็ญ ที่แจ้งเกิดจากการแสดงละครทีวีเรื่องแรกในบทนางเอกยุคใหม่ เธอทันสมัยถูกใจคนรุ่นใหม่เพราะบุคลิกความเป็น ‘คนสู้คน’ ไม่ยอมจำนนตามแบบฉบับของนางเอกรุ่นเก่าที่ยินดีก้มหน้ารับกรรมอย่างคนดีแต่ไม่มีปากเสียง ปล่อยให้ความจริงเถียงพิศูจน์แทนเมื่อถึงเวลา
  5. ครบเครื่องเรื่อง ‘นิยายรักในฝัน’ ครบครันด้วยเจ้าชาย ที่สาวๆ หมายครองบัลลังก์ มีชายกลางนั่งเป็นตัวแทน ‘เจ้าชาย’ พจมานเป็นตัวแทน ‘ซินเดอเรลลา’ ที่ต้องกล้าและแกร่งพอที่จะพิศูจน์ตัวเอง (ไม่ใช่แค่ปราบนักเลงใหญ่ในบ้าน) จากเด็กสาวบ้านนอกเข้ากรุงมา กว่าจะเติบกล้าขาแข็งจนครอบครองมรดกได้ ตามที่พ่อพนาผู้มองการณ์ไกลวางกลไว้ก็สาหัสนัก แม้อายุน้อยแต่ต้องมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้คิด-รู้ความ ทั้งนิยายและเทพนิยายล้วนอธิบายให้รายละเอียดไว้ในทุกหน้าทุกตอนของเรื่องไม่ใช่แค่ฝันเฟื่องแล้วลอยมา แต่ต้องฝ่าฟัน ‘ปีศาจ’ ในใจคนอย่างมีน้ำอดน้ำทน ทั้งวิริยะอุตสาหะประคองจิตให้หนักแน่นเกินมนุษย์จึงจะชนะมาร 

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

“บ้านทรายทอง” มีต่อภาค 2 ตอน “พจมาน สว่างวงศ์” หลังนั่งบัลลังก์สำเร็จก็ต้องมีวิทยายุทธในการปกครองผู้คนบ้านเมืองด้วย (บ้านทรายทองและกองมรดก) ในชีวิตจริงมียิ่งกว่า ‘ละครน้ำเน่า’ ที่ถูกประณามอีกนะ เพราะฉะนั้นการมองเข้ามาในเนื้อหาของวรรณกรรมและการแสดงทุก version อีกส่วนสำคัญที่ควรไม่ลืมคือ ‘ต้องเปลี่ยนแว่น’ (ตรรกะในการตัดสินทุกสิ่งผ่านทัศนคติส่วนตัว) บทที่ใช้ในการแสดง “อลหม่านหลังบ้านทรายทอง” ของทุกกลุ่มเป็นต้นฉบับเดียวกันโดย ดารกา วงศ์ศิริ ที่ดัดแปลงไว้ก่อนเปิดการแสดงในปี 2542 เวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษ พอมองกลับไปในบริบทของสังคมเมื่อกว่า 25 ปีก่อน แล้วมองย้อนกลับมาในปัจจุบัน ภาพรวมแล้วแม้ mass มาก แต่สำหรับบางกลุ่มที่ไม่ต้องในรสนิยมก็อาจไม่อิน บางกลุ่มขำนิดหน่อยแต่ไม่ฟิน บางกลุ่มขำชักดิ้น ในขณะที่บางกลุ่มถวิลถึงวันวารที่ผ่านมาแล้วมีความสุข  ‘มหรสพ’ ล้วนมุ่งความบันเทิงเป็นหลักใครรับอะไรได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับทัศนคติ วิธีคิด และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนทั้งสิ้น สิ่งอื่นภายนอกเป็นเพียงสื่อนำ ‘สาร’ (ยานพาหนะ) เท่านั้นเอง.

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

เพลง “ทรายทองนิเวศน์”

เนื้อร้อง : ดารกา วงศ์ศิริ
ทำนอง : ไกวัล กุลวัฒโนทัย
ขับร้อง : ภัทณชา วิภัทรเดชตระกูล

โดดเดี่ยวเดียวดายหัวใจอ้างว้าง นี่หรือคือสถานที่หวังพึ่งพา
บ้านทรายทองที่ฉันตามหา ช่างเย็นชาไม่เคยอบอุ่นหัวใจ

โดดเดี่ยวเดียวดายหัวใจว้าเหว่ โซซัดโซเซซมซานมาถึงนี่
โปรดจงเมตตาปราณีอย่าไล่ฉันนี้กลับไป

โอ้บ้านทรายทอง เขาจะต้อนรับหรือจะขับไล่
ขอจงได้โปรดเห็นใจ ผู้มาอาศัยสักนิดหนึ่ง

โอ้บ้านทรายทอง เขาจะต้อนรับหรือจะขับไล่
ขอจงได้โปรดเห็นใจ ผู้มาอาศัยสักนิดหนึ่ง

 


photo : DreamboxTheatre Bkk

 

ขอแสดงความยินดี 88 ปี สถาปัตย์ จุฬาฯ และ 64 ปี ถาปัดการละคอน

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

เหตุเพราะ “ข้างหลังภาพ”

นักศึกษาคือผู้ใฝ่แสวงหาด้วยการค้นคว้าเรียนรู้ อีกหนึ่งธรรมเนียมภาคปฏิบัติที่สืบทอดกันมาเป็นประเพณีของนักศึกษาคือ ‘กิจกรรมประจำคณะ’ บ้างสร้างชื่อจนได้รับความนิยมจากผู้คนทั้งในและนอกสถาบันฯ ไปจนถึงสายงานในแวดวงบันเทิงไทยคือละครเวที ที่ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มี 3 คณะที่ทำละครในหลักสูตรคือ คณะอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งทุกคณะมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่โดดเด่นเน้นความเป็น MASS สูงกว่าทุกคณะคือ “ละครถาปัตย์” ในความรับผิดชอบหลักของนักศึกษาปี 3  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ต้องทำกิจกรรมประจำปี โดยใช้วิทยายุทธจากที่ได้ร่ำเรียนมา รวมกับองค์ความรู้สารพัดวิชาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปิดปล่อยของประลองยุทธเป็น Performing Art ในหลายรูปแบบทั้ง ละครเวที , แสดงดนตรี , Talk Show ฯลฯ สุดแต่จะขุดอะไรออกไปแข่งกันโชว์ (Creative) ที่โดดเด่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์คือ ละครเวที ซึ่งต้องแบ่งหน้าที่รับผิดชอบและลงมือทำกันเองทุกขั้นตอน เขียนบท , คัดเลือกตัวแสดง ,  ออกแบบ-สร้างฉาก , ออกแบบ-จัดหาเสื้อผ้า , กำกับการแสดง ออกแบบแสง - สี -เสียง , บริหารจัดการทุกส่วน ตั้งแต่ต้นจนจบ ฯลฯ ครบทุกฟังชันแบบมืออาชีพเลยทีเดียว

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

ละครเวที จึงกลายเป็น ‘เวที’ (พื้นที่) ปล่อยของประลองฝีมือสำหรับทุกฝ่ายายบันเทิง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังไปโดยวิถีธรรมชาติ ดาวหลายดวงจรัสแสงแจ้งเกิด เพราะการรวมตัวสร้างสรรค์งานใหญ่เอื้อให้ทุกคนได้แสดงออกถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอย่างเต็มที่ ใครมีความสามารถพิเศษหน่วยก้านดี รุ่นพี่จะทำหน้าที่ ‘ผู้จัด’ ชวนน้องไปหัดทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ หลังจบก็บรรจุเข้าทำเป็นพนักงานจ้างประจำได้เลย เพราะผ่านการทดสอบมาแล้วจากพื้นภูมิที่ใกล้เคียงกัน ไปจนถึงผูกพันนับญาติตามรุ่น ระบบพรรคพวกก็มีที่มาตามเหตุปัจจัยนี้ มากมีนัยสำคัญต่อลำดับชั้นของ Seniority ก็ล้วนเริ่มต้นจากกิจกรรมเป็นเหตุนำของทุกสถาบัน ซึ่งจำลองสนามแข่งขันในชีวิตจริงมาให้ฝึก รองรับความคึกของคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเปี่ยมพลังทั้ง ใจ กาย อุดมการณ์ วิทยาการ ฯลฯ มาสร้างความสนุกสนานให้ผู้ชม

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

เอกลัษณ์พิเศษกว่าของ ‘ละครถาปัตย์’ ที่คนทั่วไปรับรู้ในวงกว้างสร้างชื่อเสียง ซึ่งสื่อชอบใช้ว่า ‘มุกฮาปัญญาชน’ แท้จริงแล้วไม่ได้สูงส่งแบบจงใจจัดจริต แต่ดูดีมีการศึกษาเพราะสอดแทรกความหมายให้คนดูได้ขบคิดและขบขัน แบบแนบเนียนไม่จงใจใส่คำสอน แต่ป้อนสารที่ต้องการสื่อทุกก้าวขยับไล่นับกันไม่ถ้วน ล้วนสาระข้นปนมากับมุกที่ฟังสนุกเข้าใจง่าย ไม่ต้องตะกายปีนบันไดให้สะดุดเพราะหยุดคิดตาม สนานโดยไม่ขานคำหยาบคาย ภายใต้รูปแบบง่ายงามไม่ซับซ้อน ป้อนภูมิคารวะครูไว้ในองค์ความรู้ของการออกแบบ-สร้างฉาก ที่คนส่วนมากรับรู้ได้ว่า ‘ไม่ธรรมดา’ คือคุณค่าที่จับต้องได้ภายใต้เสียงหัวเราะเพาะความสุข ปัจจัยที่เป็นหัวใจสำคัญคือ ‘ธรรมชาติในตัวตนของคนทำงาน’ ซึ่งจะสื่อสารออกมาในสิ่งที่ทำ (เพราะพื้นฐานสำคัญของงานศิลปะทุกแขนงมักแฝงตัวตนคนทำที่ไม่อาจอำหรือเสแสร้งได้) เป็นความน่ารักที่รื่นไหลไปกับการแสดงอย่างรื่นรมย์ คือคุณสมบัติที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของ ‘คนถาปัตย์’ และ ‘ละครถาปัตย์’

 


photo : bit.ly/2MrSz5f

 

ในอดีตเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ‘ละครถาปัตย์’ คือเวทีที่ให้กำเนิดคนทำงานสายบันเทิงมากมายนับตั้งแต่ ‘ตลกปัญญาชน’ ที่รู้จักกันดีในวงกว้างยุค 80-90 ชื่อกลุ่ม “ซูโม่สำอาง” ตลกหน้าตายของรายการ “เพชฌฆาตความเครียด” โดย บริษัท ไนท์สปอต เริ่มปี 2527 ที่นับเป็นงานสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการตลกไทย (ไม่ซกมกพกถาดตีหัว โหมมุกฮาเสริมปัญญามาเต็มแต่ไม่พูดหยาบ เป็นตลกสุภาพชน) จนกลายเป็นสุดยอดรายการตลกหลังข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุด ปลุกช่อง 9 แดนสนธยาให้มีชีวาด้วยฮาแบบปัญญาชน ส่งผลถึงรายการตลกแนวตลาดต่างๆ เกิดตามมาอีกมากมาย ต้องเปลี่ยนสไตล์หลายเรื่อง ทั้งรูปแบบ บท บทบาท ฯลฯ ต้องคิดให้ขาด กลั่นกรองต้องใกล้มาตรฐานที่ซูโม่ฯ วางไว้ให้กับตลกไทยในรุ่นต่อมา อาทิ ยุทธการขยับเหงือก , สาระแนโชว์ , แก๊งสามช่า รายการตลก 6 ฉาก ฯลฯ และรายการตลกอีกมากมายที่ล้วนแต่มีต้นแบบมาจากแนวคิดของกลุ่ม “ซูโม่สำอางไอดอล” ทั้งสิ้น หลังจาก “เพชฌฆาตความเครียด” ของกลุ่ม “ซูโม่สำอาง” ร้างราไปแล้ว ในยุคหลังประมาณปี 2556 ช่อง Workpoint TV โดย ปัญญา นิรันดร์กุล นำกลับมาทำใหม่ แต่ยังคงรักษาจุดขาย (Theme) เดิมไว้ ใช้ชื่อว่า “เพชฌฆาตความเครียด 2013” โดย เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) แม้ผู้บริหารจะเป็นอดีตซูโม่ แต่ก็ยากจะโก้ได้ใกล้เคียง (ไม่ได้หมายให้เหมือนแค่เลื่อนขั้นจากตลกคาเฟ่ก็เก๋แล้ว)

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

         

“ซูโม่สำอาง” เริ่มต้นจากเวที-สู่ทีวี ตามลำดับ ด้วยคุณสมบัติดีเป็นนักแสดงที่มีคุณภาพ จากตัวตลกเติบไต่สู่ผู้บริหารคนสำคัญของหลากกลุ่มหลายค่ายในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาฯ ตัวอย่างรายชื่อที่รู้จักกันดีในช่วงเปลี่ยนผ่านงานทีวีไทย เช่น ซูโม่ตู้ (จรัสพงษ์ สุรัสวดี) , ซูโม่เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) , ซูโม่ตุ๋ย (อรุณ ภาวิไล) , ซูโม่เอ๋ (เกรียงไกร อมาตยกุล) , ซูโม่เป๊ปซี่ (ธีรวัฒน์ ทองจิตติ) , ซูโม่อิฐ (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์) , ซูโม่โค้ก (สมชาย เปรมประภาพงศ์) , ซูโม่สุ่น (ตรี บุญทิวากร) , ซูโม่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ) , ซูโม่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) , ซูโม่โญ (ภิญโญ รู้ธรรม) ฯลฯ และอีกหลายดาวเด่น ทั้งในสายนักแสดง-พิธีกร เช่น โย ญาณี ตราโมท , ดู๋ สัญญา คุณากร ฯลฯ / สายนักแสดง-นักโฆษณา ไอ๋ ดลชัย บุณยะรัตเวช ฯลฯ / สายนักร้อง เกี๊ยง เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ , ดี้ นิติพงศ์ ห่อนาค ฯลฯ / ดาวเด่นสายการแสดงหลายดวงหลากรุ่น เช่น ศรัญญู วงศ์กระจ่าง ผู้สร้างปรากฏการณ์ ‘ดาวถาปัตย์’ ด้วยคุณสมบัติยอดเยี่ยมทั้งในชีวิตจริง และวิถีทำงานในวงการบันเทิงไทย เป็นต้น

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

ผ่านไป 88 ปี ของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาในยุคปัจจุบัน ‘ละครถาปัด’ เปลี่ยนไปตามวัฏของโลกและกาลเวลา ละครเวทียังคงเป็นประเพณีที่ใช้พัฒนาศักยภาพและทักษะของนักศึกษาไม่เปลี่ยนไป แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือความอลังการของงานฉากที่มากไอเดีย ครั้งที่ 63 ในปี 2566 เปิดการแสดงด้วยละครเวทีเรื่อง “THE NUTCRACKER” เทพนิยายที่งานโปรดัคชันเข้าขั้นมืออาชีพ โดยเฉพาะฉากสวยวิจิตรเหมือนหลุดเข้าไปในแดนเนรมิตที่เด็กชอบ และล่าสุดครั้งที่ 64  ปี 2566-2567 “ข้างหลังภาพ”  ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมอมตะของ ศรีบูรพา นักเขียนบรมครูของไทย ในเค้าโครงเรื่องบอก Main plot ว่าเป็น “เรื่องราวของหญิงสาวผู้ใฝ่ฝันอยากมีรักที่สวยงาม แต่ท้ายที่สุดชีวิตของเธอกลับไม่เป็นดั่งฝัน นวนิยายรักอมตะที่ซึ้งกินใจใครหลายคน แต่นั่นไม่ใช่กับ ”เกล” นักเขียนสาวรุ่นใหม่ ที่ต้องเดินทางหาคำตอบ จากนวนิยายเก่าที่เธอไม่เคยเข้าใจ”

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

เสริมเค้าโครงของ Sub plot ด้วยรายละเอียดให้น่าสนใจยิ่งขึ้นว่า  ‘เกล’ หญิงสาวผู้มีความฝันบนเส้นทางการทำละครเวที จนเผลอละเลยในความสัมพันธ์ มาตกหลุมรักกับ ‘น็อต’ เด็กหนุ่มผู้อาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 10 ปี ที่มาช่วยสานฝันของเกลให้เป็นจริง ทั้งที่ตัวเธอเองก็มีความสัมพันธ์กับ ‘เจเค’ ชายผู้เพียบพร้อมอยู่แล้ว” ในตัวอย่างมีลูกเล่นผูกโยงต่อเนื่องจากเค้าโครงเรื่องได้น่าติดตามว่า “การเดินทางครั้งนี้จะพบเรื่องราวไม่คาดฝันที่จะเปลี่ยนแปลงภาพชีวิตของเธอไปอย่างไร ร่วมเขียนเรื่องราวพร้อมกัน 29-30 ธันวาคม 2566 และ 5-7 มกราคม 2567” พล็อตทั้งหมดชัดเจนในเรื่องราวที่ถูกผูกขึ้นใหม่ แต่ภาพที่นำเสนอทั้ง VDO และ Handbill ทุกชิ้นที่ใช้ในงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ล้วนออกแบบสวยสื่อแบบย้อนยุคที่ชวนถวิลถึง “ข้างหลังภาพ” ในแนวเหมือนจริงตามต้นฉบับเดิม

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาลิขสิทธิ์ของ “ข้างหลังภาพ” ที่ถูกซื้อตลอดอายุลิขสิทธิ์ไปแล้ว (โดยบริษัทการแสดงแห่งหนึ่ง ซึ่งจะสิันสุดในปี 2567 หลังการตาย 50 ปีของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ประพันธ์ ) น้องจึงสร้างอย่างที่ต้องการไม่ได้?  หรือเป็นความตั้งใจเพียงจะนำความประทับใจมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบทประพันธ์ขึ้นใหม่?  “ข้างหลังภาพ” ทั้งสองฉบับก็มีหัวใจเดียวกัน (Theme) คือ ความรักและจารีตของยุคสมัยที่หลอมตัวตนของผู้คนให้มีทัศนะและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บทที่เขียนขึ้นสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตผูกติดอยู่กับงาน จนบางเวลาลืมคุณค่าของความสุขแท้จริงที่มนุษย์ควรคำนึง

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

โดยจับหัวใจของเรื่องในประเด็นความรักของคนต่าง Generation ที่มีผลต่อตัวตน-ทัศนคติในการใช้ชีวิต การบูชารักแท้อย่างเด็ดเดี่ยวดีงามตามคุณลักษณะตัวละครเอกเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ในฉบับเดิมของ ‘คุณหญิงกีรติ’ จึงให้ทัศนคติที่แตกต่าง (อย่างตรงข้าม) กับความเป็นหญิงยุคใหม่ที่เงื่อนไขคือ ‘ไม่ควรรักใครมากไปกว่าตัวเอง’ ถูกนำเสนอผ่านผู้หญิงทันสมัย ‘เกล’ ผู้หญิงเก่ง เคร่งครัด จัดระเบียบ จริงจังกับการทำงานจนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อ ‘เจเค’ คนรักนักร้องดังที่มาคลั่งเธอหนักหนา เกลให้คุณค่าของคำว่า “ประสบความสำเร็จ”  ในโลกทุนนิยมที่จมอยู่กับงานจนลืม Balance ชีวิตกับการทำงาน ละครนำเสนอประเด็นนี้ได้โดดเด่นและชัดเจนมาก จากบทบาทของเกลกับประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญและช่ำชอง ผู้ชายของเธอจึงดูเป็นเด็กไม่ประสาในสายตาเกลผู้เก่งกาจแต่ขาดความสมดุลชีวิต

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

เมื่อเกลผู้เป็น Perfectionist ได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นดินแดนในฝันของคนรุ่นใหม่ กลไกทางธุรกิจจากคู่แข่ง และความซับซ้อนของกลโกง ส่ง ‘นอ็ต’ เด็กหนุ่มบุคลิกลวงสายตาเมื่อแรกคบหา ดูประหนึ่งว่าเขาไร้เดียงสาไม่มีพิษภัยใดๆ (ออกไปทางติงตอ๊งไม่เต็มเต็ง) แต่เมื่อวิกฤติสถานการณ์เขาสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหางานให้เธอได้ดี ท่ามกลางบรรยากาศโรแมนติคและมนต์เสน่ห์ของดินแดนซากุระ ที่โยงใยอยู่ในจินตนาการเรื่องราวความรักของคุณหญิงกีรติกับหนุ่มน้อยนพพร จึงเป็นความประทับใจทำให้เกลตกหลุมรักเขา แต่เมื่อความจริงเปิดเผยว่าเธอถูกหักหลัง เพราะนอ๊ตเพียงทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางผลประโยชน์ทางธุรกิจ เธอผิดหวังจนรู้สึกล้มเหลวทั้งชีวิต มีคำถามต่อความรักของคุณหญิงกีรติ

 


photo : ถาปัดการละคอน ครั้งที่ 64 : Arch CU Entertainment

 

จุดเด่นของความเป็นละครถาปัตย์ถูกฉายชัดในงานฉาก มากบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นที่ดูได้อารมณ์สมจริงในจินตภาพ โดยเฉพาะฉากค่ำคืนที่กลายกลืนความจริงไว้ในม่านความมืด อีกด้านของความงามมีความลวง และขณะที่เกลกับคุณหญิงกีรติสนทนากันเป็นฉากสำคัญของเรื่อง ทั้งบทสนทนาและฉากที่จำลอง ‘น้ำตกมิตาเกะ’ ให้ดูเหมือนจริงในจินตนาการ ด้วยเทคนิคชาญฉลาดวาดผืนผ้าด้วยแสงจำแลงจนเหนือจริง อิงกับสัญญะของความรัก หลักธรรมชาติของสายน้ำที่ไหลลงต่ำ กับถ้อยคำที่กลั่นจากประสบการณ์ของสองขั้วความคิด อุดมคติต่อความรักถูกซักถาม

เกล : ขอโทษนะที่ฉันทำมันไม่ได้
คุณหญิงกีรติ : เราสองคนที่อยู่บนยอดเขามิตาเกะนี้ไปตลอดชีวิต สุดท้ายต้องลงไปเจอกับคนอื่น กลับไปใช้ชีวิตในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น
เกล : แล้วทางที่เธอเลือกมันมีความสุขจริงๆ ใช่ไหมกีรติ
คุณหญิงกีรติ : เธอก็เลือก เลือกที่จะมีความสุขด้วยตัวเองมิใช่หรือ
เกล : ทางที่ฉันเลือก มันไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันคิด สุดท้ายฉันไม่เหลืออะไรเลย ฉันไม่เหลืออะไรเลย … ไม่ว่าจะงานของฉัน พี่เจ ฉันไม่เหลืออะไรเลย
คุณหญิงกีรติ :  ความจริงที่เธอต้องยอมรับ ความจริงเท่านั้น ความจริงเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิพากษาชะตาชีวิตของเรา

ชีวิตมักจะให้บทเรียนกับทุกเรื่องเสมอเมื่อถึงจังหวะเวลา คนที่ครองตนด้วยปัญญาจะตระหนักรู้ได้แม้ไม่มีใครคอยสอน สุดท้ายเกลก็ได้บทเรียนว่าเธอควรเลือกที่จะรักและดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อความสุขแท้จริงจากภายใน  ไม่ให้สิ่งใดๆ จากภายนอกมามีอิทธิพลเหนือในทุกๆ ด้าน จึงจะปลอดจากทุกพันธนาการ

 


photo : เพลงล่าสุด “ข้างเธอ” [OFFICIAL MV] ข้างเธอ - Ost. ข้างหลังภาพ
ถาปัดการละคอน'64 (TAPADKARNLAKORN

 

สิ่งที่เพิ่มมาสร้างเสน่ห์แบบใหม่ตามยุคสมัยคือ Music Video แต่ละเรื่องของละครถาปัดที่จัดแสดงมี MV เป็นอีกสื่อที่มาช่วยเสริมสาร เป็นอีกด้านของการตีความข้ามศาสตร์จากโจทย์เดียวกัน (บทละคร) เช่นเพลงล่าสุด “ข้างเธอ” [OFFICIAL MV] ข้างเธอ - Ost. ข้างหลังภาพ ถาปัดการละคอน'64 (TAPADKARNLAKORN) ที่ชวนมองกลับไปในมุมของผู้ชายบ้าง อีกแนวทางของวิธีรักษาใจไม่ให้ทุกข์เพราะรัก

 

เพลง “ข้างเธอ”

หลับตาลงเมื่อไหร่ ก็ยังเห็นเธอดังเมื่อวาน
แต่ดูคล้าย เหมือนมันจางหาย ก็เสียดายที่จบไป
แต่บอกตัวเองจะไม่กลับหลัง ให้เหลือแค่เพียงตัวฉัน

(*) ที่ยังคง อยู่ตรงนี้ และมันทำให้ได้รู้

(**) ว่าภาพความฝันที่วาดไว้ แม้นานสักแค่ไหน

ทุกช่วงเวลา ฉันเพิ่งรู้ตัวว่า คงไม่อาจ ลบเธอออกไป ภาพเธอนั้นยังคงอยู่ใน หัวใจ
ต่อให้ฉันต้องเจ็บช้ำ ทุกวันในความหลัง ก็ยอมแม้ต้องมีน้ำตา
แต่ไม่คิดย้อนเวลา ก็ไม่ขอให้คืนมา เพราะครั้งหนึ่งมีเธอข้างฉัน ก็พอแล้ว

(***) ความรักนั้นยังคงอยู่ตรงนี้ เป็นฉันเองที่เพิ่งรู้

(**) ว่าภาพความฝันที่วาดไว้ แม้นานสักแค่ไหน

ทุกช่วงเวลา ฉันเพิ่งรู้ตัวว่า คงไม่อาจ ลบเธอออกไป ภาพเธอนั้นยังคงอยู่ใน หัวใจ
ต่อให้ฉันต้องเจ็บช้ำ ทุกวันในความหลัง ก็ยอมแม้ต้องมีน้ำตา
แต่ไม่คิดย้อนเวลา ก็ไม่ขอให้คืนมา เพราะครั้งหนึ่งมีเธอข้างฉัน ก็พอแล้ว
จะไม่คิดย้อนเวลา จะไม่ขอให้คืนมา แค่ครั้งหนึ่งมีเธอข้างฉัน ก็พอแล้ว

(ซ้ำ */**)

 

 

ภาพของแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อที่อิงกลิ่นถวิลอดีต อาจทำให้หลายคนที่มาชมเพราะศรัทธาในบทประพันธ์คลาสสิค “ข้างหลังภาพ” ของ ศรีบูรพา คงผิดหวังอยู่บ้าง เพราะแนวทางที่น้องทำจงใจย้ำความเป็นตลกถาปัด (ที่เปลี่ยนไป) ด้วย mood - tone ที่ให้อารมณ์ผสมการ์ตูนส์ญี่ปุ่นกรุ่นกลิ่นตลกทีวีไทยกรี๊ดกร๊าดถูกใจวัยรุ่นตลอดเรื่อง กีรติกับนพพรมีโอกาสเพียงแพลมออกมาให้เห็นหน้าคนละสองฉากบทไม่มากอย่างที่ควรต้องเป็น แต่ได้ความหมายชัดเจนหนุนเนื้อหาใหม่ แม้ว่ามันถูกทำให้เจื่อนจางลงไปมากจากมุกเฮฮาตามประสาวัยรุ่นอารมณ์ดี เสียดสีด้วย Satire Comedy เป็นที่ถูกใจเพื่อน เอาไปเปรียบกับรุ่นพี่ไม่ได้จ้า เวลาเปลี่ยนทุกสิ่งเปลี่ยนหมุนเวียนตามวัฏเป็นสัจธรรม.

 


photo : ละครเวที “ข้างหลังภาพ” ครั้งที่ 64 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ

 

ขอแสดงความยินดี 40 ปี แกรมมี่ และ 20 ปี “แฟนฉัน”

 

 

ปี 2566 ฉลอง 20 ปี ภาพยนตร์ดังเกิดคาดหวังของทุกฝ่าย “แฟนฉัน” ด้วยละครเวที Feel Good แห่งปี “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” สุขจนดึงอดีตกลับมาได้

เพราะมีแม่เหล็กตัวเล็กตัวใหญ่มารวมกัน จนเกิดแรงดึงดูด ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ - นักแสดงนำ ไข่ตุ๋น ญาณรินทร์ อื้อตระกูลชัย วัย 12 ขวบ จาก โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง อ.เมืองเชียงใหม่ แชมป์ชนะเลิศ จากเวที The Golden Song : Season 5  “ผมต้องเป็นลมหายใจเดียวกันกับพี่ไอซ์ให้ได้” คือวาทะนักแสดงตัวน้อยเมื่อต้องประกบนักร้องนักแสดงรุ่นพี่ฝีมือดีได้แสดงเป็นตัวละครคนเดียวกัน  “น้องแสดงได้เป็นลมหายใจเดียวกับเราเลยครับ” ผู้ชม - บอย โกสิยพงษ์ ยืนยัน

“แฟนฉัน” หนังเรื่องแรกของค่ายใหญ่ GTH (บริษัทที่ทรงอิทธิพลต่อวงการบันเทิงไทยในยุค 90 ขณะนั้นคือ แกรมมี่ , ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และ หับโห้ฮิ่น) หลังจากที่หับโห้ฮิ่น ประสบความสำเร็จอย่างยับเยินจากหนังกล่องคุณภาพสูง 2 เรื่อง คือ “ 15 ค่ำเดือน 11” และ “มหาลัยเหมืองแร่” บทเรียนจากหนังดีที่ตลาดไม่รับทำให้ จิระ มะลิกุล คิดแขวนนวมการทำหนัง แล้วอยู่เบื้องหลังเป็นแม่ทัพ พร้อมปรับวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนเรื่องการตลาด หลังแลกบทเรียนล้ำค่ากับหุ้นส่วน วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้มีนโยบายขายขำนำเนื้อหาจนประสบความสำเร็จล้นหลามมาแล้วกับหนังแทบทุกเรื่องของ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (เจ้าแผนการตลาดที่แยบยลยิ่ง)

 

 

แต่หนึ่งในความสำเร็จงดงามของ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีหนังเล็กสุดที่วิสูตรยอมเสี่ยงอนุมัติเพราะใช้งบน้อย คือ “ปุกปุย” หนังเด็กเนื้อหาหนักอึ้งแต่ อุดม โรจน์ ผู้กำกับออกแบบให้เบาได้ด้วยความเป็นหนัง Feel Good บทดี งานสร้างสวยละมุนละไม สดใส เป็นหนังกล่องที่ต้องตาประทับใจของทั้งแฟนเก่าและได้กลุ่มใหม่ตามมา จนกลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าภูมิใจ ส่งอิทธิพลให้วิสัยทัศน์ทางการตลาดของจิระบรรลุโสดาบันทันที มีผลถึงนโยบายการทำงานของ GTH ที่หลอมรวมหนังตลาดกับหนังอาร์ตเข้าด้วยกัน “แฟนฉัน” คือสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี ทั้งบรรยากาศของยุคสมัยในเรื่องราวน่ารัก งานจัดการของผู้กำกับมือใหม่ไม่ธรรมดา 6 คน ตัวละครที่แสดงเป็นธรรมชาติ การออกแบบและควบคุมงานสร้าง ฯลฯ ล้วนคือหัวใจสำคัญที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จเกินคาดในทางการตลาด คือที่มาของปรากฎการณ์หนังเด็กทุนต่ำแต่ทำรายได้ติดสถิติลำดับที่ 5 ใน 10 อันดับทำเงินสูงสุดของ GTH รวม 137.7 ล้านบาท (เข้าฉายเมื่อ 3 ตุลาคม 2546)

 

 

“แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล”

กำกับการแสดงโดย สันติ ต่อวิวรรธน์ / อำนวยการผลิตโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ

"แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล" ถูกวางไว้ในแผนงานก่อน โควิด-19 (ปี 2562) จะมาถึงไทยและเตรียมงานกันไปแล้ว แต่เพิ่งได้จังหวะดีในวาระที่ “แฟนฉัน” ครบ 20 ปี มีการ RE-MASTER จากหนังฟิล์มภาพยนตร์ให้เป็นดิจิตอล และเสริมสารคดีเบื้องหลังการสร้างงานที่สร้างปรากฎการณ์เหนือความคาดหมาย จึงเป็นที่มาของ “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ถกลเกียรติ วีรวรรณ เขียนบทจับจุดที่เป็นหัวใจของเรื่องได้ชัดเจน ถ่ายทอดความเป็น Musical ผ่านบทเพลงหลากแนวในยุคนั้น ดึงมารวมกัน เสริมเทคนิคละครเวทีที่ทันสมัยในรูปแบบของการแสดงร่วมสมัย  พร้อมนักแสดงชุดใหม่สองรุ่นที่ถูกคัดเข้มอย่างเต็มศักยภาพของทุกคนอีกครั้ง แผนการตลาดถูกวางไว้ให้ทุกกลุ่มทุกวัยไปรื่นรมย์ร่วมกันในบรรยากาศยุค 80 ผู้ใหญ่มีความสุขกับความหลังเมื่อได้ฟังเพลงจะระลึกถึงเรื่องราวของตัวเองในอดีต เด็กๆ ได้สนุกกับเพลงกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ทุกกลุ่มมีเพลงเป็นสื่อสานสายใยคนในครอบครัว เมื่อวันที่ 6 - 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ โรงละครรัชดาลัยเธียเตอร์ มีบรรยากาศเหมือนงานเลี้ยงรวมทุกรุ่นของโรงเรียนใหญ่ที่ไหนสักแห่ง ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ละครเรื่องนี้มีชีวิตชีวา แม้ไม่ใช่คนที่ใฝ่ศึกษาด้านการแสดงหรือดนตรี ก็ยิ่งมีความสุขร่วมกันไปด้วยใช้หัวใจก็เพียงพอแล้ว…

  

 

เราต่างคุ้นกับคำถามที่ว่า “ถ้าย้อนอดีตกลับไปได้ อยากแก้ไขอะไรให้ดีกว่าเดิม” ... จากกระแสถวิลอดีตที่กรีดลึกอยู่ในหัวใจผู้คน สู่ความเป็นละครย้อนสมัยไปยุค 80 คือเสน่ห์หนึ่งซึ่งเป็นฐานที่แข็งแรงต่อเส้นเรื่องของ “แฟนฉัน เดอะมิสิคัล”

การร้อยเรียงเรื่องราวระหว่างอดีตหลอมรวมเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันระหว่างตัวละครเสมือนเป็นตัวแทนของคนสองยุค ที่ต่างสามารถเดินทางเข้าไปในมิติของจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind) และเด็กน้อยในตัวเรา (Inner Child) คือความสามารถของบทที่ถูกออกแบบให้สนองความปรารถนานี้ เป็นคีย์ที่เอื้อต่อการจัดกระบวนทัศน์คัดสรรค์เพลง บรรเลงล้อไปกับอารมณ์และการแสดงในแต่ละฉากได้เป็นอย่างดี

ทุกคนต่างมีปมที่อยากแก้ไขบางเรื่องราวที่เราผิดพลาดแต่ไม่อาจทำได้ คือปมในใจที่ถูกใส่ไว้เป็น key สำคัญของเรื่อง หลังเจี๊ยบกับน้อยหน่าตัวนำต้องจากกันทั้งที่ยังมีโจทย์ฝังใจไม่อาจลบเลือน เรื่องบางเรื่อง... แม้คนอื่นมองเป็นเรื่องเล็กน้อยของใครๆ แต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำคัญสำหรับผู้เป็นเจ้าของ ยากที่คนอื่นจะเข้าใจ …

หนังแก้ปมในใจตัวละครด้วยการนำจิตของคนสองวัยมาเชื่อมใจกัน ผ่านพระเอกเจี๊ยบในวัยเด็กกับวัยหนุ่ม ซุ่มปรึกษาช่วยกันแก้ปัญหาให้กับตัวเองและคนที่เขารัก ในวันที่เธอเจออุปสรรคสำคัญในชีวิต

 

 

ความงดงามของมิตรภาพที่บริสุทธิ์คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคุ้มครองความสุขของเรา   (สิ่งสำคัญที่สุดต่อสภาพจิตคือความอบอุ่นในชีวิตและสายสัมพันธ์ของมนุษย์)

เป็นหัวใจหลัก (Theme) ของเรื่องที่ละครเล่าผ่านวิกฤติงานแต่งที่เจ้าบ่าวสับสนจนเจ้าสาวทุกข์ทรมาน บทฉลาดบังอาจซ่อนเธอไว้ไม่ให้เราร่วมรับรู้การเป็นอยู่ในสภาพน่าเวทนา ปล่อยลอยมาแต่เสียง มีเจี๊ยบพยายามเลียบเคียงถามไถ่หน้าประตู เป็นฉากที่น่าเอ็นดูสุดๆ ก่อน fash back กลับไปในอดีตเมื่อเยาว์วัยใน “แฟนฉัน” ที่เคยทำความผิดต่อกัน ตัดสลับกับปัจจุบันที่ได้รับโอกาสให้แก้ปมในใจ โดยให้เจี๊ยบเป็นอัศวินม้าขาวมาช่วยคู่บ่าวสาวให้กลับมาแต่งงานกัน มันคือการสลายปมในใจ ปัญหาใหญ่ของเจี๊ยบกับน้อยหน่าได้รับการแก้ปมแม้ในโจทย์เงื่อนไขที่ต่างกัน การส่งเพื่อนเก่ามาดึงเราเข้าไปในอีกโลกขณะทุกข์ แล้วช่วยแก้ปัญหาดูแลกันมันคือความสุขยิ่งใหญ่ในสายสัมพันธ์ คือความสำคัญที่ทุกคนใฝ่หา…

ละครใส่เพลงขยี้อารมณ์แต่ละช่วงอย่างละเมียด คลี่ปมเครียดในใจให้คลาย สลายทุกข์ ทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นสุขแม้ตัวละครเศร้า ด้วยเพลงที่ทุกคนเข้าถึง(แม้เกิดไม่ทัน) และสามารถร้องตามได้แทบทุกเพลงฮิตที่เคยติดหู ทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมลุ้นไปกับเรื่องราวเหมือนเป็นภาพแทนใจในบางช่วงชีวิตของตัวเอง ...

 

 

ความสามารถพิเศษของเด็กๆ โดยเฉพาะ เจี๊ยบกับน้อยหน่าน่าทึ่งมาก (ไข่ตุ๋น ญาณรินทร์  อื้อตระกูลชัย อายุ 12 ขวบ รับบท ”เจี๊ยบ“ วัยเด็ก / อิงอิง ระอิงดาว อิทธิรัตนะโกมล อายุ 10 ขวบ รับบท “น้อยหน่า”) ไม่ใช่เพราะประสบการณ์ความสามารถและรางวัลจากหลายเวทีที่ทั้งสองกวาดมาเกินวัยเท่านั้น ไข่ตุ๋น - จากเวที The Voice Kids Thailand 2020 ขณะอายุเพียง 9 ขวบ , The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ซีซั่น 5 ฯลฯ  แชมป์นักร้องชนะเลิศได้รับรางวัล ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , แชมป์มาสเตอร์คีย์-ลูกทุ่งเด็ก , ฯลฯ / อิงอิง - รับรางวัล Cite de la Musique -Philharmonie de Paris ประเทศฝรั่งเศส , รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รายการ Paris Grand Prize Virtuoso 2022, ประเภท Vocal-Musical Theatre ประเทศฝรั่งเศสรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รายการ IYMMC Wien 2022 – เวียนนา ประเทศออสเตรีย ฯลฯ )

จุดสำคัญที่น่าสนใจคือวุฒิภาวะ ทั้งในการร้อง การแสดง และการวางตัว ซึ่งเกินเด็กทั้งคู่  ทั้งเล่นและร้องอย่างเปี่ยมพลังจากภายใน เห็นถึงวินัยการฝึกฝนและพรสวรรค์ ตรึงผู้ชมให้หวนทบทวนความหลังครั้งวัยเด็กน้อย คล้อยตามอารมณ์เพลงทั้งสุขสันต์และซาบซึ้ง โดยเฉพาะตอนร้องคู่เช่นเพลง “ใจเธอใจฉัน” (18 กะรัต) หรือตอนเจี๊ยบเด็ก (ไข่ตุ๋น ญาณรินทร์ ) ดูโอ้กับเจี๊ยบโต (ไอซ์ พาริส) ในเพลง “หัวใจขอมา” (ของ คริสตินา อากิลาร์) ที่ทำให้ลืมเพลงต้นแบบได้เลย เหมือนกับอีกหลายๆ เพลงที่พาเพลิดเพลินเชิญผู้ชมเดินออกไปจากโลกของความจริง ทิ้งปัจจุบันได้ชั่วขณะตลอดระยะเวลาเกือบสองชั่วโมงในโรงละครรัชดาลัยเธียเตอร์

 

 

นักร้องรุ่นกลางวางตำแหน่งแขกรับเชิญ เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ฉุดให้ละครมีสีสันมากขึ้นเมื่อเธอมาร้องเพลงของตัวเอง แม้จะเป็นการแสดงละครเวทีครั้งแรกแต่บทก็ไม่ได้แปลกแตกต่างไปจากการแสดงคอนเสิร์ตของ 'สาว สาว สาว' ที่เธอเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเพลง 'ประตูใจ' ยังได้อารมณ์เดิมเพิ่มเติมคือความเท่ในบุคลิก เสื้อผ้า ลีลา กับเสียงร้องที่ไม่โรยไปกับวัย ช่วยให้ผู้ชมกระชุ่มกระชวยตามไปด้วย ไม่แพ้เด็กๆ ที่อารมณ์จะสนุกเป็นพิเศษเมื่อได้ร่วมฉากกับพี่ๆ ที่มากฝีมือ มันคือการประชันข้ามรุ่นที่เรียกว่าเป็นก้าวกระโดดสำหรับเด็กๆ ได้เลยทีเดียว เทคนิคของโปรดัคชันทั้ง ฉาก แสง เสียง ทำให้ละครเด็กไม่เล็กอย่างที่เคยมีมา กลายเป็นความกล้าลงทุนสูงไปกับสิ่งที่ดูเหมือนไม่ยาก แต่มากด้วยความไม่ธรรมดา โดยเฉพาะภาพวาดลายเส้นขาวดำนำแอร์นิเมชัน ที่ออกแนวขบขันแบบการ์ตูนส์ ‘ขายหัวเราะ’ ล้อไปกับเทคนิคการเคลื่อนตัวของฉากแต่ละคราทำให้ไม่อยากละสายตา ที่กรี๊ดกันมากอีกฉากก็ตอนแก้ผ้าโดดน้ำที่สะพาน ทั้งห่ามทั้งฮาด้วยลูกเล่นง่ายๆ แต่งอหายกันทั้งโรง รู้สึกน่ารักน่าเอ็นดูทั้งเด็กและไอเดียบทและออกแบบงานสร้างได้น่ารักมาก กระชากผู้ชมกลับไปในวัยทะโมนกระโจนเล่นน้ำตามคลองหนองบึง ขอบคุณที่ดึงเวลากลับมาให้เราได้มีความสุขร่วมกัน

 

 

นอกจาก ‘ไข่ตุ๋น’ เด็กน้อยน่ารัก นักร้องอัจฉริยะแล้ว เด็กที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษในด้านการแสดงคือ น้องบูม สหรัฐ รับบท “มาโนช”  ได้บทน้อยนิดแต่น้องดูเป็นเด็กเนิร์ดได้เนียนเนี๊ยบ จนแว็บในใจว่าของจริงใช่เปล่าวะ? เหมือนนี่คืออาการที่เป็นโดยกำเนิดแจ้งเกิดได้ทันทีด้วยรัศมีดาวรุ่งพุ่งมาเงียบๆ จนไม่เป็นจุดสังเกตุและแทบไม่มีใครสังเกตุ แม้ว่ามีพลังพอที่คนดูจะรู้สึกได้ น่าจับตาเด็กคนนี้ให้ดี

รัชดาลัย เธียเตอร์ ทำละครเด็กแต่โปรดัคชันไม่เล็กเลย นักดนตรีเต็มวงยังคงบรรเลงสดให้ได้อรรถรสเหมือนเปิดแผ่น แม้มีความใหม่ในเสียงของดนตรีที่เรียบเรียง แต่กลับเป็นเสียงส่วนดีที่เติมเต็มให้เพลงไพเราะและสมบูรณ์มากขึ้น แค่นี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อการส่งผู้ชมขึ้นญาณ Time Machine เพื่อ BACK TO THE PAST ไปกับ “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ได้อย่างรื่นรมย์ และไม่ลังเลเลยที่จะกลับไปดูซ้ำสองรอบ เพราะมาตรฐานการสร้างงาน ที่ทำให้เบิกบานเกินพรรณาพาเรากลับไปสู่วัยเด็กได้ด้วยใจที่ถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ไปกับจังหวะของบทเพลงและการแสดง.

 

 

ขอแสดงความยินดีกับ 60 ปี เพลงลูกทุ่งไทย และ 54 ปี “มนต์รักลูกทุ่ง”

 

 

“หอมเอยหอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง” … เพียงเสียง พรพิมล กิจเจริญ ในละครเวที “มนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” แว่วกังวานหวานเอื้อนออกมาจากสปอตโปรโมต แม้ขึ้นเพียงประโยคแรกยังไม่มีดนตรีตามก็ชวนให้ถวิลถามถึง “มนต์รักลูกทุ่ง” อมตะภาพยนตร์ 35 ม.ม. ซีเนมาสโคป ที่สร้างสถิติเข้าฉายติดต่อกันนานถึง 6 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2513  สร้างและกำกับการแสดงโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ นำแสดงโดย ‘มิตร - เพชรา’ (มิตร ชัยบัญชา - เพชรา เชาวราษฎร์)  ดาราคู่ขวัญแห่งยุค (เป็นภาพยนตร์ต้นแบบที่ได้รับความนิยมสูงสุด เป็นปรากฎการณ์หน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในยุค 80-90 ) เป็น ‘ภาพจำแห่งยุคสมัย’ ที่นำความรู้สึกให้รื่นรมย์ไปกับช่วงสงบงามของบ้านเมืองไทยในยุคนั้น เหลื่อมซ้อนทับกับภาพวิถีชนบท แม่น้ำ ท้องนา ป่าเขา เคล้าเสียง… “ ขลุ่ยเป่าแผ่ว พลิ้วผ่านทิวแถวต้นตาล มนต์รักเพลงชาวบ้าน ลูกทุ่งแผ่วมา” … จนแทบจะได้กลิ่นหอมของข้าวอิ่มรวงลอยมากับสายลมแห่งจินตนาการ ….

 

“ทองกวาว เดอะ มิวสิคัล”

 

 

เมื่อประสความสำเร็จได้รับความนิยมสูงมักมีการสร้างซ้ำเป็นประเพณีสากลทั้ง ภาพยนตร์และละครทีวีอีกหลายรุ่นที่มี “มนต์รักลูกทุ่ง” เป็นครู โดยสร้างจากฐานเดิมของบทภาพยนตร์เดียวกันทั้งเรื่อง ตามมาอีกไม่ต่ำกว่า 7 version (ภาพยนตร์ 4 ละครทีวี 3) ซึ่งล้วนโดดเด่นเป็นที่จดจำตลอดการเดินทางผ่านกาลเวลา 54 ปีเต็ม

ยังไม่รวมไปถึง SHOW หลายรูปแบบที่นำบทภาพยนตร์ทั้งเรื่อง และเพลงทุกเพลงไปจัดแสดงหลากหลายแขนง แนวที่นิยมใช้ประกอบการแสดงดนตรีเพลงลูกทุ่งมากที่สุดคือโชว์แบบที่เรียกกันในวงการว่า ‘ละครเพลง’ เป็นการแสดงโดยนักร้องแม่เหล็กของวงออกวาดลวดลายบนเวที ระหว่างร้องเพลงหรือก่อนร้องเพลงในช่วงดึก (หัวหน้าคณะ นักร้องนำ จะเริ่มออกโชว์ประมาณ 22.00 น. - 24.00 น. หลังอุ่นเครื่องด้วยนักร้องและตัวตลกสมาชิกในวงนำร่องไปก่อนในช่วงหัวค่ำ ประมาณ 19.00 น. - 22.00 น.) สำหรับยุคนั้นถือว่าเป็นช่วง Highlight เลยทีเดียว นักร้องเด่นดังและยังมีพรสวรรค์ให้ความสำคัญกับการแสดงละคร เช่น เพลิน พรมแดน , ผ่องศรี วรนุช ฯลฯ ทั้งสองเป็นนักร้องทรงเสน่ห์และเป็นที่สุดของสองศาสตร์ที่ไม่อาจมองข้ามในคุณสมบัติพิเศษของนักร้องลูกทุ่งไทย

 

 

ล่าสุด ‘ลิเก’ แม่แบบพื้นฐานการแสดง ถูกเปลี่ยนจากแนวขบบประกบ ‘จำอวด’  (ใช้โครงเรื่องเดิมเสริมตลกเอาใจตลาด) เรื่อง “ละครเพลง ลูกกบ เสียงหวาน เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง”  แม้ใช้ชื่อเรื่องกับตัวละครเดิมเพิ่มกลิ่นอายลิเกรุ่นใหม่อาศัยเพียงภาพจำในหนังเก่ามาเล่าประกอบ สนุกกับการยืมเพลงหลายค่ายมาคั่วรวม เพื่อป้องกันปัญหาลิขสิทธิ์ บิดตอนจบส่งคุณหมอมาตามทุกคนกลับโรงพยาบาลศรีธัญญา ถูกคนบ้าหรอกให้ดู ‘ตลกคาเฟ่’ ก็เป็นจุดขายของกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน ฯลฯ ยืนยันความเป็นอมตะและพัฒนาการของ ‘หนังเพลง’ เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่ครองใจมหาชนคนไทยมาตลอดกว่าศตวรรษ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังคงตราตรึงใจผู้ชมทั้งภาพยนตร์ - ดนตรี - ละครทีวี หลาย version เพราะมีหลายเพลงอมตะเป็นส่วนสำคัญนำหน้านักแสดง โจทย์ของงาน Audition ครั้งนี้ จึงต้องคัดเลือกคนที่มีเสน่ห์มีความสามารถรอบตัวทั้ง ร้อง เต้น เล่นละคร ได้ในเวลาเดียวกัน “มนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” ก็เช่นกัน  (ทองกวาว - พรพิมล กิจเจริญ / คล้าว -  กิตติธัช แก้วอุทัย ฯลฯ

 

 

“ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” กำกับการแสดงโดย นัฐพงศ์ วงษ์กวีไพโรจน์ ผู้กำกับจาก ‘เรื่องเล่าคืนเฝ้าผี’ / บทละครดัดแปลงโดย วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล / ชื่อเพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เป็นผู้ตั้ง ได้แรงบันดาลใจจากหนังดังชื่อ “The Sound of Music” ด้วยความคิดว่าความเป็นเพลงนั้นมี ‘มนต์’ ต่อผู้คนจึงได้ชื่อสุดท้ายว่า “มนต์รักลูกทุ่ง” ก่อนรวบรวมขุนพลเพลงในยุคนั้นมาร่วมกันประพันธ์รวม 14 เพลง ตามรายชื่อในฉบับดั้งเดิมที่เป็นต้นแบบให้กับรุ่นต่อมานำไปขับร้องมากมายหลายแนวจนถึงปัจจุบัน

และล่าสุดในละครเวที “มนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” เพลงเอกประพันธ์คำร้องและทำนองดั้งเดิมโดย ไพบูลย์ บุตรขัน และ รุ่ง ทานตะวัน  / ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย ปัถวี เทพไกรวัล และ 28 โปรดัคชัน / กำกับวงโดย ทฤษฎี ณ พัทลุง / กำกับดนตรี ระพีเดช กุลบุศย์ และ ภาคภูมิ เจริญวิริยะ / ออกแบบและกำกับลีลาโดย คมสัน ประทีปสว่างวงศ์ / กำกับศิลป์และออกแบบฉากโดย พล หุยประเสริฐ และ สุพจน์ โสภณสิรินันท์ / ออกแบบแสงโดย สุพัตรา เครือครองสุข ฯลฯ / อำนายการผลิตโดย สยามพิฆเนศ

 

 

“มนต์รักลูกทุ่ง” อัลบั้มดั้งเดิม 14 เพลง

โดยนักร้องระดับตำนานของวงการเพลงลูกทุ่งไทย

01. มนต์รักลูกทุ่ง (ไพรวัลย์ ลูกเพชร) 02. สาวนาคอยคู่ (บุบผา สายชล)
03. อาลัย (ไพรวัลย์ ลูกเพชร) 04. หนุ่มพเนจร (บรรจบ เจริญพร)
05. 10 หมื่น (มิตร ชัยบัญชา) 06. น้ำลงนกร้อง (พรไพร เพชรดำเนิน)
07. นกร้องน้องช้ำ (บุบผา สายชล) 08. น้อยใจรัก (ผ่องศรี วรนุช)
09. แม่ร้อยใจ (มิตร ชัยบัญชา) 10. น้ำตา น้ำตก  (บุบผา สายชล)
11. ใจเจ้าชู้ (บรรจบ เจริญพร) 12. รูปหล่อถมไป (บุบผา สายชล)
13. รักร้าวหนาวลม (บรรจบ เจริญพร) 14. รักลาอย่าเศร้า (ผ่องศรี วรนุช)

เมื่อมีรายชื่อเพลงเรียงรายชวนให้ remind ถึง ‘ภาพยนตร์เพลง’ ของไทยในยุคเดียวกันผุดพรายขึ้นมาอีกหลายเรื่อง เช่น เงิน เงิน เงิน (1) ปี 2508 / มนต์รักลูกทุ่ง ปี 2513 / มนต์รักแม่น้ำมูล ปี 2520 / ลูกทุ่งเพลงสวรรค์ ปี 2522 / ชื่นรัก ปี 2522 / เงิน เงิน เงิน (2) ปี 2525 โดยเฉพาะ “มนต์รักแม่น้ำมูล” ที่เด่นดัง เพลงดี เหมือนกัน Mood -Tone ใกล้เคียงกัน (แม้ว่าวิธีการนำเสนอจะถูกออกแบบให้งานสร้าง (Production Design) ของหนังสองเรื่องนี้มี look ตรงข้ามกัน ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายต่างกันแต่ให้ความรู้สึกถวิลอดีตเช่นเดียวกับ “มนต์รักลูกทุ่ง” เพราะบริบททางสังคมเกี่ยวกับค่านิยมเรื่องความรักและการแต่งงานที่ไม่ต่างกัน

 

 

ในขณะที่  “มนต์รักลูกทุ่ง” (Romantic - Drama) เป็นบ้านนอกที่โก้หรูดูรวยเพราะความสวยของทุกส่วน เสื้อผ้า หน้า ผม โชว์ให้ชมอิทธิพลของลิเกที่มีต่อภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น แต่ “มนต์รักแม่น้ำมูล” (Romantic Realism) มีลุคที่เหมือนจริงทุกอย่าง โดยเฉพาะบทที่กำหนดให้พระเอกอีกคน ‘แคน’ (สุริยา ชินพันธ์ุ) ประสบความสำเร็จในชีวิตได้คนรักมาครอบครอง เพราะสามารถหอบเงินทองมาทุ่มซื้อตัวนางเอกไว้ได้ในนาทีสุดท้าย ก่อนขันหมากเศรษฐีมาตัดหน้า  นั่นเพราะรวยจากความมานะบากบั่นสร้างฝัน ที่ไม่ใช่แค่มีพรสวรรค์เพราะเสียงดี แต่ต้องมีพรแสวงดิ้นรนหาความเจริญด้วยการทิ้งทุ่งมุ่งเข้ากรุงเทพฯ เพราะ ‘เมืองเทวดาฟ้าอมร’เป็นศูนย์รวมทุกสิ่งศูนย์กลางทุกอย่างที่จะสร้างฝันเปลี่ยนวรรณะ

ตรงข้ามกับ ‘คล้าวคนดี’ ที่มีชีวิตรอเวลาพิศูจน์เอง บทต้องอวยช่วยกำหนดดรามาหาโอกาสให้ ใส่ไปที่ตัวโกงย่อมสำแดงทาสแท้ ‘จอม’ เศรษฐีที่หมายปองทองกวาวส่งสมุนบุกปล้นบ้าน จับทองกวาวกับแม่ไปจนนางเอกเกือบถูกโจรข่มขืน พระเอกพร้อมผู้ช่วยและกำลังตำรวจทั้งโรงพักเหาะมาช่วยทันอย่างหวุดหวิดไม่ให้ระคายผิว ตามแบบฉบับของหนังไทยพิทักษ์ใจราษฎร ไม่ให้เห็นตอนที่ต้องทุกข์ระทมจนเกินไป และไม่ว่าหนังแนวไหนก็ควรต้องปกป้องคนดีตามวิถีมหรสพไทยในยุคนั้น “มนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” ก็เช่นกัน แม้ตั้งใจจะขยี้ความรักปกปักษ์สิทธิของผู้หญิง แต่ก็ต้องไม่ทิ้งความเป็น ‘ปิตาธิปไตย’ ในความเป็นจริงของสังคมชายเป็นใหญ่สมัยนั้น ครั้นจะดัดแปลงบทก็ไม่เหมาะเพราะฉบับเดิมดีอยู่แล้ว

 

 

Production Design ของ ทองกวาว เดอะมิวสิคัล เลือกที่จะจับ ‘สูตรสำเร็จ’ ทางการตลาดแบบ ‘คอนเสิร์ต’ (Musical) โดยมีโชว์เป็น ‘ละครเวที’ ตามแบบความนิยมในยุคเก่า เอาความบันเทิงในขนบเป็นเกณฑ์ ประเคนเทคนิคอลังดูขลังแบบเจ้าพ่อเกมโชว์โก๋ทีวีไทย (workpoint ผู้ผลิต) จึงจับจิต mass จนอยู่หมัดได้ ขายกระฉูดด้วย ฉาก แสง สวยสมอารมณ์เพลงบรรเลงเต็มวง ชวนเพลิดเพลินเดินเรื่องตามต้นฉบับได้ครบ เป็นการเคารพบทและผู้ประพันธ์ สำคัญที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ชอบแบบนี้ บางกลุ่มอาจมีผิดหวังเพราะภาพจำของหนังเก่าเป็นเงาติดใจ จนลืมไปว่ากำลังดูละครย้อนยุคในรูปแบบละครเพลงสมัยใหม่ ไม่ใช่ทีวีที่มีเวลาละเมียดกับรายละเอียดอารมณ์ได้ทุกอณูเนื้อนาง จึงวันนี้เรามีอีกหนึ่งแนวของ “มนต์รักลูกทุ่ง” มาปรุงประวัติศาสตร์การแสดง ทำให้เพลงลูกทุ่งแรงขึ้นในแบบใหม่ตามความนิยมของยุคสมัย

 

 

“มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗”

 


photo : เรื่องย่อละคร : ผู้จัดการออนไลน์

                       

“มนต์รักลูกทุ่ง” ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยบริษัท ดาราวิดีโอ "ตั้ว" ศรัณยู วงษ์กระจ่าง กับ "น้ำผึ้ง" ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ ทำให้นางเอกแจ้งเกิดจากความโด่งดังของเรื่องนี้ ส่วนแว่น กับ บุปผา คือ "เอ" อนันต์ บุนนาค กับ "ต้อม" รัชนีกร พันธุ์มณี  และช่อง 7 เจ้าเก่าได้นำกลับมาสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2548 โดย ดาราวิดีโอ ผู้รับบท คล้าว กับ ทองกวาว คือ "ป๋อ" ณัฐวุฒิ สกิดใจ กับ "กบ" สุวนันท์ คงยิ่ง แว่น กับ บุปผา รับบทโดย "อู" ภาณุ สุวรรณโณ กับ "ยุ้ย" จีรนันท์ มะโนแจ่ม

 


photo : FB :  “มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗”

 

 

ยืนยันความเป็นอมตะของ “มนต์รักลูกทุ่ง” ด้วยเวอร์ชันล่าสุดละคร “มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗” โดย สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เจ้าเก๋าที่เคยสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553-2554 นำโดย "ปอ" ทฤษฎี สหวงษ์ และ "จ๊ะ" จิตตาภา แจ่มปฐม รับบทคู่พระนาง คล้าว กับ ทองกวาว ร่วมด้วย "กอล์ฟ" เบญจพล เชยอรุณ และ "ปุยฝ้าย" ณัฎฐพัชร์ วิภัทรเดชตระกูล รับบทแว่น กับ บุปผา )

 


photo : เรื่องย่อละคร : ผู้จัดการออนไลน์

 

ครั้งนี้มี "มิว" ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ รับบท คล้าว และชาล็อต ออสติน รับบท ทองกวาว ร่วมด้วย "คิมม่อน" วโรดม เข็มมณฑา รับบท แว่น และ "เปา" กิ่งกาญจน์ ส่องสว่าง รับบท บุปผา[4]จากบทประพันธ์ดั้งเดิมของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ สู่บทโทรทัศน์ดัดแปลง : วรวรรณ ชัยสกุลสุรินทร์ แนวละคร : Romantic - Comedy / กำกับการแสดงโดย สำรวย รักชาติ / ควบคุมการผลิต : ดร.วโรดม ศิริสุข / ออกอากาศ : ทุกคืนวันศุกร์ เวลา 22.45 น. ทางช่อง 3HD กด 33 ติดตามรับชมย้อนหลังทุกคืนวันศุกร์ เวลา 23.55 น. ทาง WeTV (เริ่มตอนแรกวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567)

 


photo : FB :  “มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗”

 

อ้างอิง