ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม (ตอนจบ)

19
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนระบบสังคมไทยสยามจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยดำเนินการตามแนวของประเทศยุโรปที่สังคมไทยเองไม่มีประสบการณ์มาก่อน จึงจำเป็นต้องมีการใช้คำศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองใหม่เพื่อถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศสู่สังคมไทยสยาม
  • ระบบสังคมใหม่ของสังคมไทยสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจาก พ.ศ. 2489 (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489) ได้ให้สิทธิประชาธิปไตยแก่ราษฎรในการศึกษาและการเผยแพร่ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง ลัทธิที่ก้าวหน้า และทรรศนะทางสังคมอย่างเปิดเผย อันรวมถึงสิทธิในการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์-เลนินที่จำเป็นต่อการมีคำไทยสยามเพิ่มขึ้นในการอธิบายลัทธินี้
  • หลักเกณฑ์การใช้คำที่คิดขึ้นใหม่ ควรมีดังนี้ (1) พิจารณาตามความหมายภาษาไทยสยามของศัพท์หรือวลี (2) สอบสวนว่าศัพท์หรือวสีใหม่ มีความหมายตรงกับความหมายของคำต่างประเทศที่ถ่ายทอดหรือไม่ (3) เคารพความเคยชินที่มวลราษฎรใช้คำกันอย่างแพร่หลายมาช้านาน มิใช่คำที่เคยใช้กันเฉพาะบางคน/คณะ/กลุ่ม แต่ยังไม่เป็นภาษาของมวลราษฎร โดยปรับปรุงการใช้คำให้เหมาะสมใหม่ได้ และ (4) ภาษาไม่ควรใช้กันตามเฉพาะชนชั้นอย่างเป็นสูตรสำเร็จ แต่ควรเป็นภาษาของผู้คนในสังคมที่ใช้ร่วมกัน

 

ข้อ 6

การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนระบบสังคมไทยสยามจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินระบบใหม่เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย หากแต่เป็นระบบที่มีเยี่ยงอย่างอยู่ในยุโรป แม้สังคมเอเชียอื่นๆ จะได้มีระบบทำนองนั้นบ้าง แต่ก็ถ่ายทอดเอาเยี่ยงอย่างมาจากยุโรปทำนองเดียวกัน คณะราษฎรจำต้องร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งต่อมาเรียกว่ารัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นแม่บทแห่งกฎหมายทั้งหลาย ซึ่งเป็นข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน และระหว่างเอกชนกับรัฐตามความสัมพันธ์แห่งระบบใหม่ ในการนั้นก็ได้คิดคำไทยสยามขึ้นใหม่หลายคำเพื่อถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศ การจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นครบถ้วนอันเป็นพื้นฐานแห่งการเจรจาเรียกร้องให้จักรวรรดินิยมต่างๆ เลิกอำนาจพิเศษในทางศาลนั้นก็ได้ทำให้เกิดความจำเป็นที่ผู้ร่างประมวลกฎหมายคิดคำไทยสยามขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดคำกฎหมายต่างประเทศหลายคำ

อนึ่ง ระบบสังคมใหม่ของสังคมไทยสยามดังกล่าวข้างต้นได้ให้สิทธิประชาธิปไตยแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ การศึกษาและการเผยแพร่ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, ทรรศนะทางสังคมทำได้อย่างเปิดเผย จึงได้มีบุคคล และคณะบุคคลคิดคำไทยขึ้นใหม่หลายคำเพื่อถ่ายทอดคำต่างประเทศที่แสดงถึงสิ่งเหล่านั้น

แม้ต่อมาสิทธิประชาธิปไตยดังกล่าวได้ถูกจำกัดบางครั้งบางคราว แต่บุคคลส่วนที่รักชาติประชาธิปไตยก็ได้ ฟื้นฟูสิทธิประชาธิปไตยดังกล่าวนั้นขึ้นเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ทำได้ ในที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2489 สมาชิกรัฐสภาฝ่ายรักชาติประชาธิปไตยได้ร่วมกันฟื้นฟูสิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แก่ราษฎร ซึ่งสามารถนับถือศึกษาเผยแพร่ลัทธิเศรษฐกิจ, การเมือง, ทรรศนะทางสังคมทุกๆ อย่าง ได้โดยเปิดเผย รวมทั้งสิทธิในการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยด้วย ฉะนั้นจึงได้มีผู้นำลัทธิมาร์กซ์-เลนินไปเผยแพร่ในประเทศไทยอย่างเปิดเผย โดยถ่ายทอดตำรานั้นจากภาษายุโรปโดยตรงหรือจากภาษาจีนที่ถ่ายทอดจากภาษายุโรปมาชั้นหนึ่งแล้ว ในการนั้นผู้โฆษณาเผยแพร่ก็มีความจำเป็นที่ต้องคิดคำไทยสยามเพิ่มขึ้นโดยวิธีถ่ายทอดความหมายหรือโดยวิธีทับศัพท์

นับตั้งแต่ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบันพวกปฏิกิริยาได้จำกัดสิทธิประชาธิปไตยของราษฎรดังกล่าวแล้ว แม้กระนั้นการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์-เลนินและทรรศนะที่ก้าวหน้า ซึ่งเคยทำได้โดยเปิดเผยไว้ก่อนนั้นก็ได้ทำการเผยแพร่ต่อไปในทางลับ และกึ่งลับ ความจำเป็นที่ต้องคิดคำไทยสยามขึ้นใหม่ และใช้คำไทยสยามที่คิดขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดลัทธิที่ก้าวหน้า ซึ่งตำราเดิมเป็นภาษายุโรปนั้น จึงมีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยสยามทำนองเดียวกับสังคมอื่นๆ ในเอเชียที่รับเอาสิ่งใหม่จากยุโรป ก็ต้องคิดคำของสังคมนั้นขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดคำยุโรป เช่นสังคมจีนต้องมีคำจีนขึ้นใหม่เพื่อการนั้นตามที่ประธานเหมาเจ๋อตุงได้กล่าวไว้ อนึ่ง ต้นตำราของลัทธิมาร์กซ์-เลนินนั้นได้เขียนขึ้นเป็นภาษายุโรป ผู้ที่ต้องการถ่ายทอดลัทธิมาร์กซ์-เลนินมาเป็นภาษาหนึ่งภาษาใดแห่งเอเชียก็ต้องถ่ายทอดศัพท์ยุโรปแห่งตำรานั้น

ปัจจุบันนี้มีหลายบุคคลกับคณะบุคคลได้คิดศัพท์หรือไทยสยามขึ้นใหม่มากมายเพื่อถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศความปรากฏว่าศัพท์ต่างประเทศบางศัพท์ได้มีศัพท์ หรือวลีไทยหลายคำเพื่อถ่ายทอด เช่นคำอังกฤษ “REVOLUTION” มีคำและวลีไทยเพื่อถ่ายทอดว่า “พลิกแผ่นดิน” “เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน” “ผันผวน”, “ปฏิวัติ”, “อภิวัฒน์” ฯลฯ และคำอังกฤษ “IMPERIALISM” มีคำไทยเพื่อถ่ายทอดว่า “จักรวรรดินิยม” , “จักรพรรดินิยม”, “บรมธนานุภาพ” ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าเมื่อมีศัพท์ใหม่หลายคำที่มีผู้คิดขึ้นเพื่อแปลคำต่างประเทศคำเดียวกันแล้ว บุคคลจะควรอาศัยหลักเกณฑ์ใดในการเลือกใช้คำที่คิดขึ้นใหม่

(1) สำหรับราษฎรส่วนมากในสังคมสยาม ซึ่งรู้แต่ภาษาไทยสยามจึงไม่อาจสอบสวนค้นคว้าว่าศัพท์ หรือวลีไทยสยามที่มีผู้คิดขึ้นใหม่ มีความหมายตรงกับความหมายของศัพท์ต่างประเทศคำใดหรือไม่นั้นก็ต้องไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าไม่รู้ภาษาต่างประเทศซึ่งไม่ใช่ภาษาของตน ข้าพเจ้าขอเสนอว่า ราษฎรส่วนมากสามารถเลือกใช้ศัพท์หรือวลีที่คิดขึ้นใหม่ได้โดยพิจารณาตามความหมายภาษาไทยสยามของศัพท์หรือวลีนั้น ซึ่งราษฎรไทยสยามได้ทราบเป็นเวลาช้านานหลายศตวรรษมาแล้ว อาทิ เมื่อได้ยินได้อ่านคำว่า “จักรพรรดินิยม” ราษฎรส่วนมากก็ทราบได้ว่าหมายถึง การนิยมพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าราชามากหลาย

ถ้าสงสัยก็ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ได้ให้ความหมายของคำว่า “จักรพรรดิ” ไว้ดังต่อไปนี้

“จักรพรรดิ น. พระราชาธิราชโบราณเขียนว่าจักรพัตราธิราชก็มี” ฯลฯ

(2) สำหรับผู้ที่รู้คำต่างประเทศอยู่บ้าง และรู้ว่าศัพท์ หรือวลีไทยสยามที่คิดกันขึ้นใหม่นั้นผู้คิดประสงค์ถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศคำใดก็ควรใช้พื้นความรู้ของตนสอบสวนให้ถ่องแท้ว่าศัพท์ หรือวลีใหม่นั้นมีความหมายตรงกับความหมายของวลีไทยสยามที่ถ่ายทอดมาหรือไม่ ถ้าเห็นว่าศัพท์หรือวลีใหม่ยังไม่เหมาะสมก็ต้องใช้ศัพท์หรือวลีที่ถูกต้องเหมาะสม หรืออาจคิดศัพท์หรือวลีขึ้นใหม่ หรือใช้ประโยคหรือถ้อยคำที่มวลราษฎรสามารถเข้าใจได้ และตรงกับความหมายของคำต่างประเทศที่ถ่ายทอดมา

ความผิดพลาดในการเลือกใช้ศัพท์ หรือวลีใหม่อาจเนื่องมาจากการไม่พิจารณาถึงความหมายหลายอย่างของคำต่างประเทศหนึ่งๆ และไม่พิจารณาถึงความหมายของมูลศัพท์หรือวลีใหม่นั้น ความเสียหายจะเกิดได้มาก ถ้าหากใช้ศัพท์ หรือวลีที่ผิดความหมายของศัพท์ต่างประเทศทางวิทยาศาสตร์สังคมก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในทฤษฎีสังคมนั้นทั้งระบบได้ (ดูตัวอย่างในบทที่ 2)

(3) บทความเห็นแนะว่าผู้ใดเคยใช้คำใดในการถ่ายทอดคำต่างประเทศมาแล้วก็ให้ใช้คำนั้นต่อไป

ความเคยใช้นี้จะต้องแยกพิจารณาว่าเป็นความเคยชินที่มวลราษฎรใช้กันอยู่แพร่หลายในเวลาช้านานมาแล้ว หรือความเคยชินเฉพาะบางคน บางคณะบางกลุ่ม

ถ้าคำใดเป็นคำที่มวลราษฎรเคยใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายเป็นเวลาช้านานแล้ว คำนั้นก็เป็นภาษาของปวงชนที่เราจำต้องเคารพ

แต่ถ้าคำใดเคยใช้เฉพาะบางคนบางคณะบางกลุ่มแล้วก็ยังไม่เข้าลักษณะที่เป็นภาษาของมวลราษฎร

โดยเฉพาะศัพท์ หรือวลีที่เพิ่งมีผู้คิดกันขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้แต่ภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่ปีมานี้นั้น ยังเป็นคำใหม่สำหรับมวลราษฎรไทยสยาม ฉะนั้นจึงมีหลายคำที่มวลราษฎรยังไม่เคยชินและยังไม่ใช้กันแพร่หลาย (นอกจากคำที่ต้องใช้เพราะมีกฎหมายบังคับไว้) ฉะนั้นคำที่คิดกันขึ้นไหม่เหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างที่ต้องพิจารณาปรับปรุงให้ถูกต้องเหมาะสมแก่ราษฎรยิ่งขึ้น

การอ้างความเคยชินของคนบางคนบางคณะบางกลุ่มนั้นขัดแย้งต่อทฤษฎีสังคมที่ก้าวหน้า ซึ่งให้พิจารณาทุกสิ่งด้วยการพิเคราะห์วิจารณ์ (Criticism) รวมทั้งพิเคราะห์วิจารณ์ตนเอง (Seif Criticism) เพื่อแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง เพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมในทางความคิดและในทางปฏิบัติ

ส่วนบางท่านที่มาจากสังคมเก่าซึ่งน่าจะเป็นผู้ถือทิฐิมานะ แต่ท่านก็ถือคติของปราชญ์ที่ถือเอาความถูกต้องเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อมีศัพท์ที่บางท่านบัญญัติขึ้นใหม่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม ท่านก็แก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม อาทิ

พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ซึ่งชาวไทยสดุดีว่าพระองค์ทรงเป็น “พระมหาธีรราชเจ้า” ได้เคยทรงใช้วลีไทยสยามว่า “สหกรณ์รัฐอเมริกา” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “United States of America” แต่เมื่อมีผู้เสนอให้ใช้คำว่า “สหปาลีรัฐอเมริกา” แล้วต่อมาก็ได้มีผู้ใช้คำใหม่ว่า “สหรัฐอเมริกา” พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นก็ยอมแก้ไขแล้วใช้ต่อมาจนเป็นที่แพร่หลายอยู่ทุกวันนี้โดยมิได้ทรงถือว่าคำไหนใช้มาก่อนก็ต้องยึดคำนั้นตายตัวไม่ยอมรับการแก้ไข

ในสมัยก่อนมีประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ อาจารย์กฎหมายเคยใช้คำไทยสยามว่า “ประทุษร้ายส่วนแห่ง” เพื่อถ่ายทอดคำว่า “TORT” ของคำอังกฤษ ต่อมาก็ได้ยอมเปลี่ยนใช้คำว่า “ผิดสิทธิ” แล้วต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น “ละเมิด” ซึ่งใช้มาจนทุกวันนี้

ส่วนราชบัณฑิตยสถานของไทยสยามปัจจุบัน ก็ได้แสดงความมีใจกว้างที่รับฟังความคิดเห็นที่จะพัฒนาภาษาไทย โดยอ้างว่า “ภาษาที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ว่าภาษาอะไรย่อมไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปฯ องค์ประธานราชบัณฑิตยสถานก็ได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นตัวอย่างในการยอมรับให้บรรจุความหมายของคำว่า “ปฏิวัติ” ไว้ในพจนานุกรมฉบัราชบัณฑิตยสถานตามมูลศัพท์ว่า “การหมุนกลับ” นั้นด้วย ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วภาคผนวกแห่งบทความเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม”

ฉะนั้น จึงหวังว่าผู้ก้าวหน้าแท้จริงจะได้คำนึงถึงคติแห่งปราชญ์ทั้งหลายไว้ประกอบการพิจารณาภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่รับใช้ทุกชนชั้นแห่งสังคม ดังที่จะได้ชี้แจงต่อไปใน (4)

(4) คอมมิวนิสต์บางสาขา แนะสานุศิษย์ให้ถือเอา “ชนชั้น” ประดุจยาหม้อใหญ่ที่แก้ไขทุกชนิดนั้นมาเป็นหลักวินิจฉัยการใช้ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่ด้วย คือให้ถือว่าศัพท์ใดที่ชนชั้นใดคิดขึ้นก็เป็นศัพท์เฉพาะชนชั้นนั้น

ความเห็นของคอมมิวนิสต์บางสาขาขัดแย้งกับลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ดังที่สลาตินได้อธิบายไว้ว่า

“ภาษามิได้เป็นผลิตผลของรากฐานอันใดอันหนึ่งว่าจะเป็นรากฐานใหม่หรือเก่า และไม่ว่าจะเป็นรากฐานของสังคมใด แต่ทว่าภาษานั้นเป็นผลิตผลของกาลเวลาทั้งหมดแห่งประวัติศาสตร์ของสังคมและประวัติศาสตร์ของรากฐานทั้งหลายซึ่งได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ภาษามิได้ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ถูกสร้างขึ้นโดยส่วนรวมในสังคมโดยทุกชนนั้นวรรณะในสังคมและโดยความพยายามของมนุษยชน หลายร้อยชั่วอายุคน ภาษามิได้สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของชนชั้นวรรณะใดโดยเฉพาะ แต่ทว่าเพื่อสนองความต้องการของสังคมเป็นส่วนรวมของทุกชนชั้นวรรณะในสังคม กล่าวอย่างกระชับก็คือ ภาษาได้รับการสร้างขึ้นมาในฐานะเป็นภาษาอันหนึ่งอันเดียวสำหรับสังคม เป็นภาษาร่วมกันของมวลสมาชิกในสังคม เป็นภาษาร่วมกันของมวลราษฎร ด้วยเหตุนี้บทบาทอันเป็นหน้าที่ของภาษาในฐานะเป็นปัจจัยหรือสื่อแห่งการติดต่อเกี่ยวพันกันระหว่างประชาชน จึงมิใช่เป็นไปเพื่อใช้ประโยชน์ชนชั้นหนึ่งและทำลายประโยชน์อีกชนชั้นหนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อรับใช้ส่วนรวมของสังคม และทุกชนชั้นในสังคมโดยเท่าเทียมกันหมด”

ความเป็นจริงที่ปรากฏเช่นนี้ ย่อมอธิบายให้เห็นโดยไม่ยากเย็นเลยว่าภาษานั้นอาจรับใช้ทั้งระบบเก่าที่จวนจะตาย และระบบใหม่ที่กำลังเติบโต รับใช้ทั้งรากฐานเก่ารากฐานใหม่ รับใช้ทั้งผู้ขูดรีดและผู้ถูกขูดรีด

“ภาษารับใช้สมาชิกทุกคนของสังคมเท่าเทียมกันหมด โดยมิได้คำนึงถึงสถานะทางชนชั้นวรรณะของแต่ละคน…”

สตาลินได้ชี้ให้เห็นอีกว่า “การเอาลักษณะแห่งชนชั้นวรรณะมาเป็นสูตรสำเร็จในการวินิจฉัยภาษานั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์”

เรามีความเห็นต่อไปว่า การเอาชนชั้นเป็นสูตรสำเร็จทุกกรณีรวมทั้งทางภาษาด้วยนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่การสมานมวลราษฎรของสังคม ให้เป็นแนวร่วมอันกว้างใหญ่เพราะการถือสูตรสำเร็จภาษาเฉพาะชนชั้นวรรณะที่พูดกันเข้าใจเฉพาะคนจำนวนเล็กน้อยในสังคมเท่านั้น

 

ที่มา

  • ปรีดี พนมยงค์, “บทที่ 1 หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์สยาม” ใน หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม. (กรุงเทพฯ: นีลนาราการพิมพ์, 2510), น. 34 - 46.

บทความที่เกี่ยวข้อง :