ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นมาของศัพท์ไทย : 'ปฏิวัติ' เปรียบเทียบกับ 'เรฟโวลูชัน' และ 'เก๋อมิ่ง' (ตอนที่ 2) - ปรีดี พนมยงค์

18
มีนาคม
2567

Focus

  • คำศัพท์ “ปฏิวัติ” ที่บัญญัติขึ้นจากคำว่า “Revolution” ดังที่ปรากฏในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพ.ศ. 2493 นั้น หมายถึง “การหมุนกลับ, การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล (ป. ปฏิวดฺดิ)” แต่คณะผู้จัดทำเน้นไปในทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มิใช่ในทางสังคมศาสตร์
  • อย่างไรก็ตาม คำว่า “Revolution” ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (เมื่อพิจารณาในทางสังคม) ก็มีหลายความหมาย อาทิ (1) การเปลี่ยนหลักมูล (Fundamental Change) แห่งระบบการเมือง หรือแห่งรัฐบาล หรือแห่งระบบรัฐธรรมนูญ (2) การล้มรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ โดยผู้ถูกปกครองเข้ามามีอำนาจ และ (3) การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ายิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคการผลิตในทางเศรษฐกิจ เช่น “Industrial Revolution” ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18
  • เมธีวิทยาศาสตร์สังคมหลายท่าน รวมทั้งมาร์กซ์ เองเกลส์ และเลนิน เรียกการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าสู่ระบบใหม่ของสังคมว่า “Revolution” ดังเช่น มาร์กซ์เรียกการเปลี่ยนระบบสังคมฝรั่งเศสจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ค.ศ. 1789 ว่า “เรฟโวลูชั่น”
  • หาก “การปฏิวัติ” (Revolution) ยังจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตด้วยแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็เป็นการปฏิวัติ เพราะคณะราษฎรได้ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตศักดินา เช่น ออกกฎหมายห้ามยึดทรัพย์สินของกสิกร ยกเลิกอากรค่านาและเงินรัชชูปการที่เป็นการ “ส่งส่วย” ในระบบเศรษฐกิจศักดินา แม้คณะราษฎรจะยังทำได้ไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ก้าวหน้ากว่า “เก๋อมิ่ง” หรือ “เก๊กเหม็ง” ที่เป็นการปฏิวัติในจีนสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋งหลังรัฐบาลซุนยัดเซ็น

 

4. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2475 กระทรวงธรรมการแห่งรัฐบาลคณะราษฎรได้มีคำสั่งตั้ง “กรรมการชำระปทานุกรม” โดยเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอองค์นั้นเป็นประธาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลนั้นได้ตั้งราชบัณฑิตยสถานขึ้น ซึ่งรับงานชำระปทานุกรมต่อจากกรรมการที่กระทรวงธรรมการได้ตั้งขึ้น ราชบัณฑิตยสถานจึงได้ตั้งกรรมการชุดเดิมให้เป็นกรรมการชำระปทานุกรม ของราชบัณฑิตยสถานแล้ว ต่อมาก็ได้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในทางภาษาศาสตร์เป็นกรรมการเพิ่มเติมขึ้นอีก พระเจ้าวรวงศ์เธอองค์นั้นก็ทรงเป็นประธานกรรมการตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2490 ที่ทรงจากประเทศไทยไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้วก็ทรงเป็นกรรมการต่อไปอีก จนราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำปทานุกรม ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “พจนานุกรม” เสร็จ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493

ราชบัณฑิตยสถานได้บรรจุคำว่า “ปฏิวัติ” ไว้ในพจนานุกรมโดยให้ความหมายดังต่อไปนี้ “ปฏิวัติ น. การหมุนกลับ, การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล (ป. ปฏิวดฺดิ)”

พจนานุกรมฉบับนั้นได้ให้ความหมายของคำว่า “ปฏิ” ไว้ดังต่อไปนี้

“ปฏิ-เป็นอุปสรรคในภาษาบาลี ใช้นำหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ”

ดังนี้ ผู้อ่านย่อมสังเกตได้ว่าตามมูลศัพท์บาลีอันเป็นที่มาของคำ “ปฏิวัติ” นั้นหมายถึง การหมุนกลับ คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถอยหลัง ส่วนในความหมายว่า “การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล” นั้นราชบัณฑิตยสถานเติมความนี้ไว้เป็นความหมายอันดับรองภายหลังความหมายว่า “การหมุนกลับ”

 

5. เมื่อ พ.ศ. 2516 สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยได้พิมพ์หนังสือชื่อ “บัญญัติศัพท์ของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์” ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปฯ ทรงนิพนธ์คำนำ ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ได้บัญญัติศัพท์ไทยสยามว่า “การหมุนรอบ รอบหมุน” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “Revolution” โดยมีหมายเหตุในวงเล็บว่า ว.ค. ที่ย่อมาจากคำว่า วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ ทั้งนี้แสดงว่าคณะกรรมการฯ ได้ถ่ายทอดดำอังกฤษนั้น เพียงเฉพาะความหมายทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น มิได้ถ่ายทอดความหมายทางสังคมศาสตร์

ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “บัญญัติศัพท์ของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์” โดยมีคำนำของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ในตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานและประธานกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย ในหนังสือเล่มนั้นปรากฏคำว่า “Evolve” บัญญัติเป็นศัพท์ไทยว่า “วิวัฒน์” แต่คำว่า “Revolution” นั้นไม่ปรากฏว่าบัญญัติศัพท์ไทยไว้ จึงน่าคิดว่าคำอังกฤษนี้ราชบัณฑิตยสถานอาจกำลังปรึกษาที่จะบัญญัติศัพท์ไทยขึ้นใหม่ซึ่งมิใช่คำว่า “ปฏิวัติ” ก็อาจเป็นได้ เพราะมูลศัพท์ของคำว่า “ปฏิวัติ” นี้หนักไปในทาง “การหมุนกลับ” จึงทำให้ตีความได้ว่าการผันแปรเปลี่ยนหลักมูลของคำว่า “ปฏิวัติ” เป็นการผันแปรชนิดถอยหลังกลับไปเป็นระบบเก่าหรือทำนองระบบเก่า

 

6. ผมขอให้ท่านที่ได้พึ่งปาฐกถาของผมและท่านที่ทราบว่าคำว่า “เก๋อมิ่ง” 革命 หรือ “เก๊กเหม็ง” นั้น ซุนยัดเซ็นใช้เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “เรฟโวลูชัน” (Revolution) โปรดเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายของคำนี้ไว้ ท่านก็จะพบว่าคำอังกฤษนี้มีความหมายหลายอย่าง อาทิ (1) ความเคลื่อนไหวก้าวหน้า (โพรเกรสสีฟ) ขององค์กายที่หมุนรอบแกน (2) การโคจรเป็นวงรอบแกนของโลกและดาว (3) การเปลี่ยนหลักมูล (Fundamental Change) แห่งระบบการเมือง หรือแห่งรัฐบาล หรือแห่งระบบรัฐธรรมนูญ (4) การล้มรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ โดยผู้ถูกปกครองเข้ามามีอำนาจ พจนานุกรมภาษาอังกฤษบางฉบับให้ตัวอย่างของการที่คนอังกฤษเรียกว่า “เรฟโวลูชัน” ไว้ เช่น “เรฟโวลูชันอเริกัน (ค.ศ. 1775-83)” “เรฟโวลูชันอังกฤษ (ค.ศ. 1688)” ที่ต่อสู้ระหว่างราษฎรอังกฤษกับพระเจ้าเจมส์ที่ 2, “เรฟโวลูชันฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789-99)”, “เรฟโวลูชันรุสเซีย (ค.ศ. 1917)” ฯลฯ (5) การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ายิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคแห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น “Industrial Revolution” (เรฟไวลูชั่นอุตสาหกรรม) ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยมีผู้คิดเครื่องจักรกลกำลังไอน้ำ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีการผลิตยิ่งใหญ่จากการผลิตเศรษฐกิจศักดินา ที่ใช้เครื่องมือหัตถกรรม

ท่านที่อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ของเมธีวิทยาศาสตร์สังคมต่างๆ รวมทั้งของมาร์กซ์, เองเกลส์, เลนิน หรือจากคำแปลที่ท่านเหล่านี้ตรวจแล้วก็จะเห็นได้ว่า ท่านเหล่านี้ใช้คำที่เขียนเป็นอักษรว่า “Revolution” นั้นตามความหมายที่ผมกล่าวข้างบนนั้น เช่น มาร์กซ์เรียกการเปลี่ยนระบบสังคมฝรั่งเศสจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ค.ศ. 1789 ว่า “เรฟโวลูชั่น” และเรียกการต่อสู้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เยอรมัน ค.ศ. 1848 ว่า “เรฟโวลูชัน” ฯลฯ พจนานุกรมภาษาอังกฤษบางฉบับให้ความหมายว่าการเปลี่ยนระบบสังคม โดยวิธีใช้กำลัง (By Force) แต่มิได้บอกว่าการใช้กำลังนั้น จะต้องทำโดยวิธีสงครามภายในหรือวิธีรัฐประหาร

 

7.) คณะราษฎรไม่ประสงค์จะผูกขาดศัพท์ไทยว่า “ปฏิวัติ” ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอองค์นั้นบัญญัติขึ้น แม้ว่าคณะนี้มีอำนาจในรัฐบาลอยู่จนกระทั่งเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีทางที่จะใช้ศัพท์ “ปฏิวัติ” เรียกการกระทำของตน แต่คณะราษฎรก็คงเรียกการกระทำของตน เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ตามการกระทำที่เป็นจริงว่าเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และสมาชิกคณะราษฎรก็มิได้ทนงตนในการที่จะเรียกตนเองว่า “นักปฏิวัติ” คือคงเรียกว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือเรียกย่อๆ ว่า “ผู้ก่อการ”

ชาวยุโรปที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 ก็เรียกการนั้นว่า “เรฟโวลูชัน” เอกสารของผู้ใหญ่จีนก็เรียกการนั้นว่า “เก๋อมิ่ง” 革命 หรือออกสำเนียงแต้จิ๋วว่า “เก๊กเหม็ง”

แต่ภายในประเทศไทยเองนั้น ภายหลังที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ซึ่งให้สิทธิประชาธิปไตยแก่พลเมืองในการนับถือลัทธิการเมือง และในการตั้งพรรคการเมืองโดยไม่จำกัดลัทธิแล้ว คอมมิวนิสต์บางสาขาได้ให้ทรรศนะแก่สานุศิษย์ของตนว่าการเปลี่ยนแปลงฯ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้นไม่ใช่สิ่งที่สาขานั้นเรียกเป็นศัพท์ไทยว่า “ปฏิวัติ” โดยอ้างตามอัตโนมัติของตนว่าทฤษฎีมาร์กซ์ถือว่าการจะเป็นปฏิวัติได้ต้องมี “การเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต” เมื่อ พ.ศ. 2517 บางคนมาพบผมที่ชานกรุงปารีส แสดงว่ายึดถือคำขวัญว่า

“การเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน ไม่ใช่ปฏิวัติ เพราะไม่มีการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต”

ผมจึงถามผู้มาพบว่าเข้าใจว่าการเปลี่ยนความสัมพันธ์ การผลิตคืออะไร ท่านผู้นั้นก็ตอบไม่ตรงกับหลักสสารธรรมประติการและวิวรรตการ เพราะได้รับความรู้มาเพียงเป็นคำขวัญดังกล่าวแล้ว ผมจึงขอถือโอกาสชี้แจงตามที่ผมอ่านต้นฉบับของเมธีแห่งลัทธินั้นว่าเรื่อง “การเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต” หมายถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจ คือเมธีอธิบายไว้ว่า การที่มนุษย์จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานของสังคมจากระบบหนึ่งมาสู่อีกระบบหนึ่งก็เพราะ “พลังการผลิต” (Productive Forces) ซึ่งประกอบด้วย “เครื่องมือการผลิต” (Instruments of Production) และบุคคลที่สามารถทำและใช้เครื่องมือนั้นได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้นก่อน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต (ทางเศรษฐกิจ) ให้สอดคล้องกัน มิฉะนั้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น

เมธีได้กล่าวว่าระบบสังคม (ทางเศรษฐกิจ) มี 5 ประเภทพื้นฐานสำคัญ ซึ่งในต้นฉบับภาษาอังกฤษท่านใช้คำว่า “Main Types” (เมนไทป์) ท่านที่รู้ภาษาอังกฤษพอสมควรก็ย่อมรู้ว่าคำอังกฤษนี้หมายถึงประเภทพื้นฐานสำคัญ ซึ่งภายในแต่ละประเภทก็มีหลายชนิดและหลายชนิดปลีกย่อย ประเภทพื้นฐานสำคัญนี้มีศักดินา, ระบบทุนนิยม, ระบบสังคมนิยม

เมธีกล่าวว่าในสมัยเครื่องมือหินและโลหะอย่างหยาบนั้น มนุษย์ก็มีความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจตามระบบปฐมสหการ ต่อมามนุษย์พัฒนาเครื่องมือการผลิตให้มีสมรรถภาพและก้าวหน้าตามลำดับ มนุษย์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต ให้สอดคล้องกันตามลำดับเป็นระบบเศรษฐกิจทาส, ระบบเศรษฐกิจศักดินา และเมื่อมนุษย์สามารถทำเครื่องจักรกลที่ใช้กำลังไอน้ำได้ มนุษย์ก็ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตมาเป็นระบบทุนนิยม ต่อมาเครื่องมือการผลิตพร้อมด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคนิดได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์การผลิตทุนนิยมซึ่งเจ้าสมบัตินายทุนที่พัฒนาทุนของตนเป็นทุนผูกขาดไว้ในกำมือของคนจำนวนน้อยแห่งสังคม แต่คนส่วนมากของสังคมต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่เบียดเบียนของเจ้าสมบัติที่พัฒนาเป็นนายทุนขาดเป็นบรมธนานุกาพหรือจักรวรรดินิยมนั้น การผลิตของสังคมก็ตกต่ำไม่พอแก่ความต้องการของปวงชน วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (Means of Production) เพื่อสังคมอำนวยการผลิตและปันผลการผลิตให้แก่ปวงชนตามความเป็นธรรมแก่ความสามารถของแต่ละคนที่ทำงานให้สังคมและให้สวัสดิการแก่ปวงชน คือเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทุนนิยมมาเป็นความสัมพันธ์การผลิตสังคมนิยม เมื่อความสัมพันธ์การผลิตเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานของสังคมต้องเปลี่ยนไปแล้ว ระบบการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนก็ต้องเปลี่ยนไปตาม แต่ถ้าระบบเศรษฐกิจคงที่อยู่ บุคคลและราษฎรที่ก้าวหน้าก็อาจผนึกกันทำการเปลี่ยนระบบการเมืองขึ้นก่อนเพื่อใช้อำนาจการเมืองเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาของ “พลังการผลิต” ซึ่งสามารถแก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของปวงชนแห่งสังคมได้

ผมจึงขอให้ท่านที่ถือคำขวัญว่า การปฏิวัติจะต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตนั้นศึกษาจากนักวิชาการของท่านด้วยว่าการเปลี่ยนระบบจักรพรรดิจีนมาเป็นสาธารณรัฐ นำโดยซุนยัดเซ็นนั้น นอกจากจะล้มระบบจักรพรรดิจีนแล้ว ได้มีการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษกิจศักดินา ระหว่างเจ้าที่ดินกับชาวนาอย่างไรบ้าง ระหว่างนายทุนจีนกับกรรมกรจีนอย่างไรบ้าง และระหว่างจักรวรรดินิยม (Imperialism) กับมวลราษฎรจีนอย่างไรบ้าง

เท่าที่ทราบนั้น สนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างจีนกับจักรวรรดินิยมสัมพันธมิตรหลายชาติได้ยกเลิกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คือภายหลังสยามได้จัดการทำสนธิสัญญาเสมอภาคกับจักรวรรดินิยมนานาชาติแล้วหลายปี ส่วนความสัมพันธ์การผลิตศักดินาและทุนนิยมก็ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งที่สืบต่อจากซุนยัดเซ็นนั้นไม่เคยทำเลย จนกระทั่งรัฐบาลของราษฎรจีนที่ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1949 เป็นผู้เปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต แต่รัฐบาลของคณะราษฎรได้จัดการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตศักดินาที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหลายในสังคมมาเป็นระบบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ได้ออกกฎหมายห้ามยึดทรัพย์สินของกสิกร ได้ยกเลิกอากรค่านาและเงินรัชชูปการซึ่งเป็นซากของการ “ส่งส่วย” ตามระบบเศรษฐกิจศักดินา

แม้คณะราษฎรจะยังทำไม่สมบูรณ์ในการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตศักดินาและทุนนิยม ถ้าท่านที่มาพบผมมีใจเป็นธรรมก็จะเห็นว่าคณะราษฎรได้กระทำการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจมากกว่าการเปลี่ยนจักรพรรดิจีนนำโดยซุนยัดเซ็น แต่เหตุใดท่านเรียกการเปลี่ยนระบบจักรพรรดิจีนนำโดยซุนยัดเซ็นว่า “ปฏิวัติ” ส่วนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามนำโดยคณะราษฎรจึงถูกตกอันดับว่าไม่ใช่สิ่งที่ท่านผู้นั้นเรียกว่า “ปฏิวัติ”

หมายเหตุ : คงการเขียนตามอักขระเดิมของต้นฉบับ

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ” “รัฐประหาร” “วิวัฒน์” “อภิวัฒน์”. (กรุงเทพฯ : นีลการพิมพ์, 2510), น. 60 - 72.