Focus
- “เรฟโวลูชัน” (ปฏิวัติ) นั้น เป็นการกระทำได้ในหลายลักษณะ อาทิ การกู้ชาติของชาวโปลและชาวฮังการีที่ต่อสู้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในกลางศตวรรษที่ 19 และการที่กษัตริย์ (เอมีร์) แห่งอัฟกานิสถานต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษเพื่อเอกราชของชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (กรรมาชีพ) เป็นส่วนประกอบ เป็นต้น โดย “ทุกๆ ก้าวที่ดำเนินก้าวหน้าตามแนวทางกู้อิสรภาพนั้น เป็นก้าวหนึ่งทางเรฟโวลูชันนารี” (อ้างจากหนังสือชื่อ “ปัญหาเลนิน” แต่งโดยสตาลิน)
- การเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องชี้ลักษณะของ “เรฟโวลูชั่น” เพราะการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต อาจเป็นการเปลี่ยนที่ก้าวหน้า หรือถอยหลังไปสู่ระบบเก่าได้ แต่การที่รัชกาลที่ 5 ต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศสจนสยามคงความเบ็นเอกราชทางนิตินัย ย่อมเป็นการต่อสู้ทางเรฟโวลูชัน
- ขอปฏิเสธการที่กรรมการพรรค (คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผู้หนึ่ง เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงฯ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” แต่เป็น “รัฐประหาร” เท่านั้น (เพราะเห็นว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมไทย) อันเป็นการปะปนที่ยุ่งเหยิงกันระหว่างเป้าหมายหรือหลักการของ “เรฟโวลูชัน” กับ “วิธีได้อำนาจรัฐ”
- การรัฐประหารที่ดึงสังคมให้ถอยหลัง ย่อมเป็น “รีแอคชันนารี” คือการถอยหลังเข้าคลองที่เรียกว่า “รัฐประหารปฏิกิริยา” ดังเช่น รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 และ “สงครามกลางเมือง” ก็เช่นกัน หากเปลี่ยนระบบสังคมเก่าเป็นสังคมใหม่ที่ก้าวหน้า ก็ไม่เป็นสงครามกลางเมืองปฏิกิริยา และการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากที่เคยมีอยู่เดิม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตที่เป็นปฏิกิริยา
8. ท่านที่เป็นอดีตกรรมการกลางของพรรค ซึ่งมีฐานะเป็นนักวิชาการนั้น อย่างน้อยก็ต้องอ่านหนังสือชื่อ “ปัญหาเลนิน” ซึ่งสตาลินแต่งไว้ อันเป็นหนังสือที่สมาชิกอันดับกรรมการต้องศึกษา ท่านก็น่าที่จะแจ้งความจริงทางวิชาการให้สานุศิษย์ของท่านทราบว่าเมธีนั้นๆ ได้อธิบายถึงลักษณะที่เป็น “เรฟโวลูชัน” ซึ่งบางท่านแปลว่า “ปฏิวัติ” นั้นตามที่เมธีกล่าวไว้ ดังต่อไปนี้
(1) มาร์กซ์สนับสนุนขบวน การกู้ชาติของชาวโปลและชาวฮังการีที่ต่อสู้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 นั้นว่าเป็น “ชาติเรฟโวลูชันนารี” (Revolutionary Nations)
(2) สตาลินอธิบายว่า ขบวนการกู้อิสรภาพของชาติภายใต้แอกจักรวรรดินิยมนั้นไม่จำเป็นต้องมีชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (กรรมาชีพ) เป็นส่วนประกอบ หรือจำเป็นต้องมีแผนกการสถาปนาสาธารณรัฐ ท่านยกตัวอย่างว่าการที่กษัตริย์ (เอมีร์) แห่งอัฟกานิสถานต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษเพื่อเอกราชของชาตินั้นเป็นการต่อสู้ทางเรฟโวลูชันนารี (Revolutionary Struggle) แม้ว่ากษัตริย์นั้นและผู้ร่วมมือของพระองค์มีทรรศนะราชาธิปไตย
(3) สตาลินยกตัวอย่างว่า พ่อค้าและปัญญาชนเจ้าสมบัติอียิปต์ที่ต่อสู้จักรวรรดิอังกฤษเพื่อเอกราชของชาตินั้นเป็น “การต่อสู้ทางเรฟโวลูชันนารี” (Revolutionary Strunggle) แม้บุคคลที่ต่อสู้นั้นจะคัดค้านระบบสังคมนิยม
(4) สตาลินยกตัวอย่างว่า การเรียกร้องให้มีรัฐสภา “ดูมา” สมัยที่พระเจ้าซาร์เป็นมหาบรมศักดินาใน ค.ศ. 1905 นั้น เป็น “การเรียกร้องทางเรฟโวลูชันนารี” (Revolutionary Demand)
(5) สตาลินอ้างคำของเลนินว่า “ทุกๆ ก้าวที่ดำเนินก้าวหน้าตามแนวทางกู้อิสรภาพนั้นเป็นก้าวหนึ่งทางเรฟโวลูชันนารี (Revoutionary Step)” ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่า เมธีดังกล่าวนานมาแล้วนั้น มิได้กล่าวว่าการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตเป็นเครื่องชี้ลักษณะของ “เรฟโวลูชั่น” เพราะการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตอาจเป็นการเปลี่ยนที่ก้าวหน้า หรือถอยหลังไปสู่ระบบเก่าก็ได้ เช่นการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตสังคมนิยมให้ถอยหลังกลับสู่ทุนนิยม หรือการเปลี่ยนความ สัมพันธ์การผลิตทุนนิยมให้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจศักดินา ฯลฯ ฉะนั้นหลักที่เมธีนั้นให้ไว้ในการพิจารณาลักษณะของ “เรฟโวลูชัน” คือ
1) ทุกๆ ก้าวที่ดำเนินตามแนวทางกู้อิสรภาพของมนุษย์ก็ถือว่าเป็นก้าวหนึ่งทางเรฟโวลูชัน
2) ความรู้เบื้องต้นที่ชาวมาร์กซิสต์จะต้องมี คือการพิจารณาปรากฏการณ์ทางสังคมจะต้องพิจารณาตามสภาพ, ท้องที่, กาละ, ของแต่ละสังคม ฉะนั้นสตาลินจึงวินิจฉัยว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติอัฟกานิสถานนำโดย กษัตริย์ (เอมีร์) และสาวกที่นิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษที่ยกกองทหารมารุกรานนั้นว่าเป็นการต่อสู้ทาง “เรฟโวลูชัน” เพราะสภาพของอัฟกานิสถานสมัยนั้นยังไม่มีอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ จึงยังไม่มี “เจ้าสมบัติ” (Bourgeois, Modern capiatis) ซึ่งเป็นนายทุนสมัยใหม่ และยังไม่มี “ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” (โปรเลตารียาต์) ซึ่งเป็นกรรมกรสมัยใหม่ ฉะนั้น เท่าที่กษัตริย์ และสาวกของพระองค์ทำการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นการก้าวหน้าทางเรฟโวลูชัน
ถ้าเรานำหลักที่สตาลินวินิจฉัยมาประยุกต์แก่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษฝรั่งเศสตามวิธีของพระองค์จนสยามคงความเป็นเอกราชทางนิตินัย ซึ่งคนไทยและลูกหลานจีนได้อาศัยอยู่ในสยามที่เป็นประเทศเอกราชทางนิตินัยนั้น ก็นับว่ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงต่อสู้ทางเรฟโวลูชันตามสภาพที่พระองค์และปวงชนชาวไทยสมัยนั้นได้ยอมเสียสละชีวิตกระทำตามสภาพของตน ซึ่งต่างกับ จักรพรรดิจีน
3) การที่มาร์กซ์สนับสนุนชาวโปล และชาวฮังการีเมื่อศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่อสู้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น แม้ประเทศทั้งสองมีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และมีชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (โปรเลตารียาต์) ซึ่งเป็นกรรมกรสมัยใหม่ แต่ตามสภาพแวดล้อมของโปแลนด์และฮังการีสมัยนั้น การเปลี่ยนสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เจ้าสมบัติก็เป็นการก้าวหน้าพอแก่สภาพขณะนั้น
4) ท่านที่เห็นด้วยกับอดีตกรรมการของพรรคหนึ่ง ซึ่งอธิบายไว้ในหนังสือ “ชีวทัศน์” ถึงทฤษฎี “ไดอาเล็กติคัล แอนด์ ฮิสตอริคัล แมทีเรียลิสม์” ว่า “วัตถุนิยมวิภาษและประวัติศาสตร์” นั้น ก็เป็นเสรีภาพของท่านที่จะเห็นเป็นเช่นนั้นได้ แต่ผมขอให้ท่านศึกษา “ประวัติศาสตร์” เพียงเบื้องต้นเป็นอย่างน้อยให้สมกับชื่อเรื่องที่ท่านตั้งเป็นศัพท์ไทยไว้ โดยเฉพาะกรณีแห่งการเปลี่ยนระบบสังคมของฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 ซึ่งบางท่านยอมให้เป็นสิ่งที่ท่านเรียกได้ว่า “ปฏิวัติ” นั้น ผมก็ขอให้ท่านศึกษาประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสโดยสังเขปต่อไปนี้
ก. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 “สภาฐานันดรทั่วไป” (Etats Generaux) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าศักดินา ฆราวาส บรรพชิต และเจ้าสมบัติ (บูรจัวส์) ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมกัน และมีการขัดแย้งเกี่ยวกับระบบการเมืองเก่าที่จะต้องเปลี่ยนเป็นระบบประชาธิปไตยโดยยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคมปีนั้น สภาฐานันดรทั่วไปซึ่งเจ้าสมบัติ (บูรจัวส์) เป็นผู้แทนราษฎรมีเสียงข้างมาก ได้ลงมติให้เปลี่ยนสภาพของสภานั้นเป็น “สภารัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติ และร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
วันที่ 14 กรกฎาคมปีนั้น ราษฎรกรุงปารีสได้โจมตีคุกบาสตียล์ ซึ่งถือว่าเป็นอนุสรณ์แห่งการกดขี่ทารุณของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วสถาปนาการปกครองตนเองของกรุงปารีส (1789) สภารัฐธรรมนูญได้ออกกฎหมายหลายฉบับเลิกสิทธิพิเศษของระบบศักดินา และได้ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับ 3 กันยายน ค.ศ. 1791 ให้ฝรั่งเศสเป็นระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
การกระทำที่เริ่มตั้งแต่พฤษภาคม ค.ศ. 1789 มาจนถึงตอนนี้ทั่วโลกก็เรียกกันว่า “เรฟโวลูชัน” ท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสจากภาษาจีนก็ขอให้ตรวจดูว่า จีนเรียกการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศส โดยสภารัฐธรรมนูญว่าเป็น “เก๋อมิ่ง” 革命 หรือมิใช่
ข. ใน ค.ศ. 1792 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีอองตัวเนตต์ได้ทรงติดต่อกับออสเตรียให้ยกกองทัพเข้ามาปราบราษฎรฝรั่งเศส จึงเป็นการจำเป็นที่รัฐสภาฝรั่งเศสต้องให้พระมหากษัตริย์งดใช้พระราชอำนาจชั่วคราว แต่ต่อมาฝรั่งเศสจำเป็นต้องทำสงครามกับออสเตรีย ราษฎรฝรั่งเศสจึงเรียกร้องให้ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น ถ้าท่านผู้ใดถือว่าการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มิใช่สิ่งที่ท่านเรียกว่า “ปฏิวัติ” ท่านก็ย่อมนับว่า “ปฏิวัติ” ฝรั่งเศสเพิ่งเริ่มเมื่อ ค.ศ. 1792 ต่างกับที่ทั่วโลกนับว่าเรฟโวลูชันเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1789
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ฝรั่งเศสสามารถสถาปนาสาธารณรัฐนั้น มิใช่มวลราษฎรฝรั่งเศสยกกำลังมาพิชิต หากเป็นไปโดยมวลราษฎรเรียกร้องให้รัฐสภาลงมติสถาปนาสาธารณรัฐ
ค. เมื่อฝรั่งเศสสถาปนาเป็นสาธารณรัฐแล้วก็ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในกับภายนอกหลายประการ คณะบริหารประเทศต้องเปลี่ยนกันหลายชนิดล้มลุกคลุกคลานในระหว่างเวลา 9 ปี โดยเฉพาะการเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เตรียมตัวมีแผนการแก้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไว้ให้ดีก่อน เศรษฐกิจที่ทรุดอยู่แล้วก็ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก บัตรแทนเงินตราที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “อัสชิญยาต์” (Assignat) ที่มีค่าลดลงมากอยู่ก่อนแล้วนั้น
เมื่อรัฐบาลเก็บภาษีอากรได้ไม่พอจ่ายก็ออกบัตรชนิดนั้นเพิ่มมากมาย จึงทำให้บัตรนั้นลดค่าลงเกือบถึงศูนย์ อันเป็นสภาพที่คล้ายกับจีนระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง 1949 (ก่อนสถาปนาสาธารณรัฐของราษฎรจีน) ซึ่ง 1 ดอลล่าร์อเมริกันมีค่าประมาณ 1,000,000 เหรียญจีน ผู้ใดไปจ่ายตลาดก็ต้องมีกระเป๋าหัวใส่ธนบัตรจีน ต่อมาก๊กมินตั๋งได้เปลี่ยนธนบัตรจีน มีอัตราเดิม 4 เหรียญต่อ 1 ดอลล่าร์อเมริกัน แต่ก็มีค่าตกลงเรื่อยๆ อีก เมื่อก่อนปลดแอกกรุงนานกิง 1 เหรียญอเมริกัน มีค่าประมาณ 500,000 เหรียญจีน
ง. “คณะอำนวยการรัฐ” (Directoire) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1795 ถึง 1799 ไม่สามารถแก้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้ดังกล่าวแล้ว ผู้ร้ายชุกชุม ความสงบเรียบร้อยภายในไม่มี
ดังนั้นใน ค.ศ. 1799 นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต จึงทำรัฐประหารล้มระบบ “คณะอำนวยการรัฐ” แล้วสถาปนา “ระบบกงสุลเผด็จการ” (Consult) ตามวิธีที่ชาวโรมันเคยทำมาในภาวะฉุกเฉิน
คณะกงสุลเผด็จการประกอบด้วยกงสุล 3 คน ท่านนายพลเป็นกงสุลคนที่ 1 มีอำนาจสูงสุดซึ่งเท่ากับเป็นเผด็จการรัฐ แม้ท่านนายพลเป็นทหารแต่มีความรู้ทางเศรษฐกิจและนิติศาสตร์ ท่านจึงตั้งธนาคารชาติแห่งประเทศฝรั่งเศส (Banque de France) เปลี่ยนบัตรแทนเงินตราเดิมที่เสื่อมค่า โดยมีเงินตราใหม่ และรักษาเสถียรภาพของเงินตราไว้ได้ อีกทั้งได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นในสมัยนั้น ท่านได้วางระบบปกครองภายในและรักษาความสงบเรียบร้อยได้ ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากจึงนิยมท่านนายพลคนนี้
ใน ค.ศ. 1804 ท่านได้อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งท่านเป็นผู้แต่งตั้งนั้นลงมติให้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกสาธารณรัฐโดยสถาปนาระบบ “จักรวรรดิ” (Empire) ขึ้นแทนที่ ซึ่งท่านนายพลเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็น “จักรพรรดิ” (Empereur) ทรงพระนามว่า “นโปเลียนที่ 1”
ต่อจากนั้นมาก็มีการต่อสู้ระหว่างพวกนิยมราชวงศ์เดิมซึ่งมีพระราชา (Roi) เป็นประมุขเรียกว่า “ราชานิยม” (Royaliste) กับพวกนิยมระบบซึ่งมี “จักรพรรดิ” (Empereur) เป็นประมุขเรียกว่า “จักรพรรดินิยม” (Imperialiste) หรือเรียกว่า “โบนาปาร์ตนิยม” (Bonapartiste) และพวกทั้งสองนั้นก็ขัดแย้งกับพวกนิยมระบบสาธารณรัฐ การต่อสู้ได้ผลัดกันชนะผลัดกันแพ้หลายยกในระหว่างเวลากว่า 70 ปี จนถึง ค.ศ. 1870 จึงได้มีระบบสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่ 3 แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 ในปัจจุบันนี้
9. สานุศิษย์ของอดีตกรรมการกลางแห่งพรรคหนึ่งที่กล่าวถึงนั้น ได้อ้างอีกว่า การเปลี่ยนแปลงฯ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่สิ่งที่เขาเรียกว่า “ปฏิวัติ” เพราะเขาถือว่าเป็น “รัฐประหาร” เท่านั้น ผมเห็นว่าผู้นั้นปะปนยุ่งเหยิงในเป้าหมายอันเป็นลักษณะของ “เรฟโวลูชัน” กับ “วิธีได้อำนาจรัฐ” คือเอาวิธีการปะปนกับหลักการ
ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า คำว่า “รัฐประหาร” นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปฯ ได้ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษและฝรังเศศ “กูป์ เด ตาต์” (Coup D' État) ที่แปลตามตัวว่า “การเขก” หรือ “กระแทกอำนาจรัฐ” อันเป็น “วิธีการยึดอำนาจรัฐโดยฉับพลัน” โดยลำพังวิธีการนั้น ยังไม่แสดงลักษณะว่าเป็นหรือไม่เป็น “เรฟโวลูชัน” คือจะต้องพิจารณาว่าวิธีการรัฐประหารใดนำไปสู่การเปลี่ยนระบบสังคม ให้ก้าวหน้าตามวิถีทางกู้อิสรภาพก็มีลักษณะเป็น “เรฟโวลูชั่น” ซึ่งปรากฏในหลายประเทศแห่งค่ายสังคมนิยม แต่รัฐประหารใดนำไปสู่การดึงสังคมให้ถอยหลัง รัฐประหารนั้นก็มีลักษณะเป็น “รีแอคชันนารี” คือการถอยหลังเข้าคลองที่เรียกว่า “รัฐประหารปฏิกิริยา” เช่น รัฐประหารในสยามเมื่อ 8 พ.ย. 2490
ส่วน “สงครามกลางเมือง” (ชีวิลวอร์) นั้นก็มิใช่เป็น “เรฟโวลูชัน” ทุกกรณีคือต้องสุดแท้แต่ว่าสงครามกลางเมืองนั้น ทำเพื่อเปลี่ยนระบบสังคมเก่ามาเป็นสังคมใหม่ที่ก้าวหน้า หรือเพื่อดึงสังคมให้ถอยหลัง เช่น สงครามกลางเมืองของสเปนนำโดยฟรังโกนั้นเป็นสงครามกลางเมืองปฏิกิริยา ทำนองเดียวกันกับการเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมใดๆ ถ้าทำให้ผลผลิตตกต่ำจากที่เคยมีอยู่เดิมต้องลดน้อยลงไป การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตเช่นนั้นก็เป็นปฏิกิริยา
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ” “รัฐประหาร” “วิวัฒน์” “อภิวัฒน์”. (กรุงเทพฯ : นีลการพิมพ์, 2510), น. 72 - 84.
หมายเหตุ : คงการเขียนตามอักขระเดิมของต้นฉบับ
บทความที่เกี่ยวข้อง :