ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มูลเหตุแห่งการอภิวัฒน์ ตอนที่ 2 : เศรษฐกิจภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

6
เมษายน
2567

 

การประกอบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นๆ ในชั้นแรก กล่าวโดยทั่วไป มีการประกอบการกสิกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ต่อมาก็เปลี่ยนจากระบอบกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์นั้นไปสู่ระบอบกสิกรรมเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรม และที่สุดมีหลายประเทศที่เปลี่ยนจากระบอบนี้ไปสู่ระบบอุตสาหกรรมแต่อย่างเดียว ทั้งสามระบบนี้ ระบบที่สองคือ กสิกรรม, เลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรม นำความเจริญอย่างถาวรมาสู่ประเทศนั้นๆ เป็นอย่างมาก

ส่วนระบบอุตสาหกรรมแต่อย่างเดียว แม้จะประสบกับความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัตถุดิบอันต้องอาศัยประเทศอื่น และสำหรับระบบที่ ๑ คือระบบกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์นั้น พิจารณาเผินๆ อาจจะเห็นว่า ย่อมจะมีความเจริญได้ เพราะวัตถุดิบอันเป็นผลิตผลกสิกรรมย่อมขายให้ประเทศอุตสาหกรรมได้ ตามที่เป็นจริง ผลิตผลกสิกรรมเช่นนั้นไม่อาจรอเวลา ยกตัวอย่างเช่น ยางพารา เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมผลิตวัตถุจากยางออกมาเต็มตลาดแล้ว ก็ย่อมจะลดการผลิตลง และนั่นก็คือต้องลดซื้อยางดิบ พ่อค้ายางก็จะขายยางได้ลดน้อยลง และเจ้าของสวนยางหรือผู้ปลูกยางก็จะขายยางได้น้อยลง เมื่อมีผู้เสนอขายหลายราย และมีผู้ซื้อน้อยรายก็จะมีการแย่งขายราคายางก็จะต่ำลง ถ้าโรงงานหยุดซื้อ ผู้มียางก็ขายไม่ได้เลย จะเอายางไปทำอะไร ที่ยกตัวอย่างยางนี้ ย่อมจะไม่ถูกกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนัก เพราะในสมัยนั้น การปลูกหรือการซื้อขายยางมีน้อยเต็มที แต่ตัวอย่างในเรื่องวัตถุดิบทำนองนี้ย่อมใช้ได้สำหรับกรณีย์ของประเทศไทย ประเทศกสิกรรม

ประเทศไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ราษฎรไทย ๙๙ ใน ๑๐๐ คน ประกอบการกสิกรรมคือทำนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ทำไร่ ทำสวนผัก ทำสวนผลไม้ต่างๆ เลี้ยงสัตว์ จับปลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีได้เป็นการประกอบการอย่างใหญ่หรือประสบความเจริญรุ่งเรืองแม้ตามสมควรแก่ระยะเวลาที่เป็นมา ผลิตผลเหล่านี้ นอกจากข้าวแล้วก็มีการซื้อการขายภายในท้องที่นั้น หรือท้องที่อันอยู่ใกล้เคียงกันเท่านั้น ส่วนท้องที่ที่อยู่ห่างไกลกันออกไป แม้ในจังหวัดเดียวกันก็ไม่มีการซื้อขาย เพราะสภาพการขนส่งไม่อำนวยให้ และยิ่งกว่านั้น การประกอบการกสิกรรมและการซื้อขายผลิตผลกสิกรรมเหล่านี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงคือ ภาษี อากร ขนอน ซึ่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชบังคับให้ผู้เป็นเจ้าของผลิตผลหรือผู้ประกอบการกสิกรรมนั้นๆ ต้องเสีย

นอกจากการประกอบการกสิกรรมและอื่นๆ บนพื้นดินและในน้ำแล้ว ประเทศไทยซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่โลหะธาตุต่างๆ เช่น ดีบุก วูลแฟรม ทองคำ ฯลฯ ก็มิได้รับการเอาใจใส่ค้นคว้าหรือขุดค้นขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริงแต่อย่างใด ความมั่งคั่งของประเทศไทยส่วนใหญ่จึงยังคงถูกฝังดินตลอดมา จริงอยู่มีการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในภาคใต้ของประเทศอยู่บ้าง แต่ก็มีอยู่น้อยเต็มที และก็มิใช่เป็นของคนไทย และเช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมป่าไม้ก็ตกอยู่ในมือชาวต่างประเทศทั้งสิ้น

ส่วนการทำสวนยางนั้นแทบจะไม่รู้จักกันเลย อุตสาหกรรมอื่นๆ กล่าวได้ว่าไม่มี ไม่มีโรงงานผลิตภัณฑ์ใดๆ นอกจากโรงสีข้าวซึ่งเป็นของคนจีน และโรงเลื่อยจักรซึ่งไม่ใช่ของคนไทย คนไทยส่วนมากประกอบอุตสาหกรรมในครอบครัว เช่น ทอผ้าที่เชียงใหม่ หรือในภาคอิสาน หรือที่นครศรีธรรมราช ทำร่มทำเครื่องเขินในภาคเหนือ เหล่านี้มิใช่เป็นอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การค้าอย่างใหญ่เลย

การค้าภายในกับนอกประเทศอยู่ในมือของคนต่างด้าว คนไทยถูกอบรมให้เป็นข้าราชการตั้งแต่เกิด พอเกิดออกมา พ่อหรือญาติพี่น้อง เอากระดาษดินสอใส่ให้ในเบาะเสียแล้ว คนต่างด้าวหรือชาวต่างประเทศที่อยู่ในเมืองไทย และที่เป็นผู้ค้านี้ก็คือ ชาวยุโรป ชาวจีนและอินเดีย แม้คนไทยจะเคยรู้จักการค้าต่างประเทศมาก่อนก็เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยา และยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น

ชาวไทยยุคนี้ถูกอบรมให้รู้จักเคารพนบนอบ รู้จักฝากเนื้อฝากตัวเพื่อจะได้เป็นนายเสมียนแทบทั้งสิ้น หรือไม่อย่างดีก็เป็นลูกจ้างหรือลูกมือของคนต่างด้าวเหล่านั้น สภาพที่เป็นอยู่ดังนี้ ความร่ำรวยอันเกิดจากการค้าหรือการอุตสาหกรรม ก็ตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติเหล่านั้น ส่วนรัฐบาลคงได้แต่ภาษีขาเข้าและภาษีขาออกเท่านั้น

เหตุใดคนไทยจึงไม่รู้จักทำการค้าและการอุตสาหกรรม สำหรับการค้านั้น เหตุข้างต้นชัดแจ้งอยู่แล้ว ถ้าจะถามว่าเป็นความผิดของราษฎรไทยเหล่านั้นหรือ แน่นอนเขาไม่ผิด แต่การที่คนไทยไม่รู้จักทำการค้านี้เอง ทำให้ฐานะของประเทศไทยง่อนแง่นทั้งทางการเมืองและการเศรษฐกิจตลอดมา ถ้าเป็นความผิดก็ต้องเป็นความผิดของผู้ปกครองบริหารประเทศชาตินั่นเอง

สำหรับการอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน การอุตสาหกรรมอันจัดเป็นการประกอบอย่างใหญ่นั้นต้องอาศัยทุน ชาวไทยโดยทั่วไปมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ คือแบบพริมิตีฟ ในระยะครึ่งศตวรรษที่แล้วมานี้ คนไทยส่วนมากนอกนครหลวงเกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความเป็นอยู่เลย และโดยที่ประกอบการกสิกรรมตามแบบพริมิตีฟ ไม่ได้ทำการค้าเอง คนไทยจึงยากจนข้นแค้น

จริงอยู่ โดยปรกติเราอาจกล่าวทั่วไปได้ว่า ไม่มีการอดตาย ความจริงก็มีอยู่บ้าง และโดยที่ราษฎรต้องเสียภาษีอย่างแรงความยากจนข้นแค้นนั้นก็ยิ่งทวีหนักขึ้น ราษฎรจึงไม่มีทุนเป็นเงินหรือแม้ทุนเป็นของ นอกจากวัวหรือควายสองสามตัว แห ๑ ปาก เรือ ๑ ลำ หรือครกซ้อมข้าวเท่านั้น

ความเป็นจริงสมัยนั้นประเทศไทยมิได้อยู่ในฐานะยากจน เช่นที่ราษฎรส่วนมากซึ่งเป็นกสิกรเป็นอยู่ มีบุคคลบางประเภทที่มั่งคั่งสุขอย่างมหาศาล บุคคลเหล่านั้นคือ

๑. ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย และส่งทรัพยากรของชาติไทย เช่นข้าว ไม้สัก แร่และอื่นๆ ออกไปขายต่างประเทศ ส่วนเงินที่ขายได้นั้น เขาจะจำแนกออกไปดังนี้

ก. ลงทุนในต่างประเทศ หรือเก็บไว้ในต่างประเทศ

ข. ส่งเงินออกนอกประเทศ เช่น ชาวจีนซึ่งประมาณว่าปีหนึ่งๆ ส่งออกไปไม่ต่ำกว่า ๒๐ ล้านบาท

๒. เจ้าบางองค์ที่มีทรัพย์มั่งคั่งมาแต่กำเนิดโดยมิต้องออกแรงงาน แม้ทุกวันนี้ เราก็ย่อมทราบอยู่ ว่าทรัพย์สินในหัวเมืองและโดยเฉพาะในนครหลวงเป็นกรรมสิทธิของเจ้าเหล่านั้นเพียงไรเท่าใด ถึงกับต้องมีสำนักงานจัดการผลประโยชน์ มีเจ้าหน้าที่คอยรวบรวมเงินค่าเช่ารายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้น สำนักเหล่านั้นเช่นสำนักงานจัดการผลประโยชน์รังสิต (กรมขุนชัยนาทฯ) สำนักงานจัดการผลประโยชน์กรมพระนครสวรรค์ฯ สำนักงานจัดการผลประโยชน์พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สำนักงานพระคลังข้างที่และแม้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสำนักงานกลางจัดการผลประโยชน์ของเจ้าทั่วๆ ไป

สำนักงานเหล่านี้ส่วนมากเป็นที่รวบรวมเก็บดอกผลจากทุน ซึ่งทุนนั้นเกิดขึ้นโดยมากมีต้องออกแรงอย่างกสิกรชาวไร่ชาวนาเลย หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามีว่า “การศึกษาเป็นบ่อเกิดของความรู้ ความรู้เป็นบ่อเกิดของการงาน การงานเป็นบ่อเกิดของทรัพย์ และทรัพย์เป็นบ่อเกิดของความสุข” ฉะนั้นเราพอจะพิจารณาตามหลักธรรมนี้ได้ว่า บ่อเกิดของทรัพย์นั้นควรจะมาจากการงาน มิใช่มาจากการรับมรดก หรือได้มาโดยมิต้องออกแรงงาน

ราษฎรสามัญกว่าจะมีทุนได้ก็ต้องออกแรงเหงื่อท่วมกายโดยอาศัยหลักที่ว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” ทรัพย์สมบัติของชาติจึงถูกแจกจ่ายไปยังบุคคลบางคน บางจำพวกบางคน เช่น พระบรมวงศานุวงค์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏยิ่งกว่านั้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเกิดมาก็มีเงินสำหรับเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ตามชั้นของเจ้า คือชั้นทั่วไปอย่างต่ำ ๘๐ บาท อย่างสูง ๘๐๐ บาทต่อเดือน ไม่จำเป็นต้องทำงาน และเงินนั้นก็ได้มาจากภาษีอากรที่เก็บไปจากราษฎรผู้ต้องทำงานนั้นเอง

นอกจากเจ้าบางองค์แล้ว เงินทุนก็มีอยู่ในมือขุนนางบางคน ส่วนเงินในมือราษฎรทั่วๆ ไปเป็นเงินก็จริงแต่ไม่ใช่ทุน เพราะเป็นเบี้ยต่อไส้ และเพื่อเสียภาษีอากรเท่านั้นเอง ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าเหล่านั้นและขุนนางบางคนได้ส่งเงินของตนไปไว้ในต่างประเทศเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท แทนที่จะเก็บไว้ในประเทศและใช้ในการลงทุนสร้างบ้านเมือง

นายแลนดอน เขียนไว้ในหนังสือชื่อ System of Taxation ว่า “มีเจ้าบางองค์ได้ลงทุนในการประกอบกิจการในต่างประเทศ คือ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลผู้ซึ่งพระราชบิดาของพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ บริจาคเงินเป็นทานแก่สาธารณประโยชน์ในประเทศไทยอย่างมหาศาล กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ กรมพระยาดำรงฯ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งองค์สุดท้ายนี้ประทับอยู่ในอังกฤษตั้งแต่เยาว์วัยมาจนกระทั่งบัดนี้”

๓. ยังมีบุคคลที่ร่ำรวยอีกหนึ่ง คือ รัฐ แต่สมัยนั้น ภายหลังที่ขูดเลือดเก็บภาษีจากราษฎรโดยตรงและจากอย่างอื่นๆ มาแล้วก็กันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับพวกเจ้าทั้งหลาย เงินนี้เรียกในบัจจุบันนี้ว่า “เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์” เหลือจากนั้นจึงจัดสรรไปใช้ในประการต่างๆ ในการปกครอง กล่าวได้ว่า มิได้มีการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดอุตสาหกรรมอย่างใดเลย ทั้งมิได้มีการแสดงออกให้ปรากฏว่าได้มีความคิดเพื่อจะมีการลงทุนเพื่อสร้างการอุตสาหกรรมจากบรรดาวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นอเนกอนันต์แต่อย่างใด

จึงเห็นว่า ปัญหาเรื่องทุนที่ชาติไทยจะใช้เพื่อประกอบการเศรษฐกิจ อันเป็นทางที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาตินั้นไม่มี เราจะโทษใคร นอกจากผู้บริหารมิได้มีความคิด หรือไม่มีความสามารถ หรือไม่แสดงความสามารถออกมาเท่านั้นเอง

ข้อที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น ภาษีอากร ขนอน มีภาษีชั้นนอกแล้วก็มีภาษีชั้นใน ภาษีอากรขนอนทั้งมวลที่มีอยู่ในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า ไม่มีระบบภาษี (System of Taxation) และภาษีส่วนมาก ไม่เป็นไปตามความสามารถของผู้เสีย จึงไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสีย และไม่เป็นธรรมแก่สังคมเป็นการถูกต้องอย่างที่สุด

การเก็บภาษีอากรขนอนในสมัยนั้นต้องการแต่ “เงิน” อย่างเดียว ไม่ต้องการผลอย่างอื่น อย่างที่รัฐบุรุษในปัจจุบันนี้ได้ใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในสังคมแห่งชาติของตน หรือให้เกิดภาระการจำแนกทรัพย์ที่ดี ดูเหมือนว่าหลักภาษีอากรของอดัม สมิทที่ว่า “เก็บให้ได้มากและเสียค่าเก็บให้น้อยที่สุด” ได้รับการนิยมและนำมาใช้อย่างเต็มที่ ยิ่งกว่านั้นถ้าเรากลับหลักการภาษีของคอลแบร์ตที่ว่า “ถอนขนห่านให้ได้มากที่สุด และให้หนวกหู (เพราะห่านร้อง) น้อยที่สุด” และนำมาปรับแก่กรณีย์การเก็บภาษีของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช ก็เป็นการถูกต้องอีกเหมือนกัน

แต่ทว่าแม้ราษฎรไทยจะรู้สึกเรื่องภาระอันหนักของภาษีอากรในสมัยนั้นสักเท่าใด และอยากจะร้อง แต่ก็ร้องไม่ออกเพราะถูกปิดปากไม่ให้ร้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงจุดสุดท้ายที่ราษฎรจะตายด้วยประการหนึ่งประการใด คือ แบกภาระภาษีอากรจนตาย หรือตายเพราะรับโทษทัณฑ์ ราษฎรก็ได้เลือกเอาในทางที่จะตายโดยการรับโทษทัณฑ์ คือร้องฎีกาโดยหลักการที่ต้องการจะให้ได้เงินมากนั้นเอง

ภาษีอากรของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช จึงเป็นภาษีอากรมากประเภทและแต่ละประเภทก็ได้เงินน้อย กล่าวได้ว่า เป็นภาษีที่จุกจิกอย่างที่สุด และโดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ที่ดินและพืชผลกสิกรรมจึงกลายเป็นเครื่องกำหนดการเสียภาษีอากร เช่น อากรสมพัตรสร เก็บจากกสิกรผู้ปลูกต้นไม้ล้มลุก อากรสวนใหญ่เก็บจากกสิกรผู้ทำสวน ราษฎรผู้ปลูกต้นตาลตะโหนด ปลูกยาสูบ ทำสวนจากทำไร่อ้อย ทำนาเกลือ ฯลฯ ต้องเสียภาษีอากรค่าต้นตาลตะโหนด ค่าต้นยาสูบ ค่าสวนจาก ค่าไร่อ้อย และค่านาเกลือ ฯลฯ ไม่มีพืชผลใดที่จะหลุดพ้นไม่ต้องเสียภาษีอากรไปได้ โดยเฉพาะกสิกรชาวนาต้องเสียค่านา ซึ่งเก็บตามชั้นของนา นาเอก นาโท นาตรี นาจัตวา นาเบ็ญจ นาโคคู่ นาฟางลอย ราษฎรผู้มีที่ิดินต้องเสียภาษีที่ดินราษฎรผู้มีเรือไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องเสียภาษีเรือ ราษฎรผู้มีสัตว์พาหนะแม้ที่ใช้ทำนา ต้องเสียค่าธรรมเนียมทำตัวรูปพรรณสัตว์

เมื่อราษฎรผลิตหรือทำผลกสิกรรม หรืออื่นใดออกมาได้เมื่อจะขนย้ายเคลื่อนที่พืชผลเหล่านั้น จากแหล่งกำเนิดไปขายยังท้องที่อื่นก็ต้องเสียภาษีอากรขนอน ตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายังจำได้ก็คือเมื่อยังเยาว์วัยอยู่ ผู้ปกครองได้นำมะพร้าว ปลาเค็ม จากบ้านแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนังไปยังตลาด อำเภอปากพนัง และไปขายที่อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเดียวกันนั้น ต้องเสียภาษีอากรหรือขนอนสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงจะนำเคลื่อนที่ไปได้

แต่ร้ายที่สุดก็คือภาษีหัว (Poll Tax หรือ Head Tax) คือ รัชชูปการ กับ เงินศึกษาพลี รัชชูปการในเขตต์กรุงเทพฯ เก็บหัวหนึ่ง ๖ บาท นอกกรุงเทพฯ หัวหนึ่ง ๔ บาท ศึกษาพลีหัวหนึ่ง ๒ บาท ทั้งนี้ต่อ ๑ ปี เจ้าพระยาพระเสด็จฯ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “พลเมืองดี” บทที่ว่า “นายเมืองเป็นหนี้แผ่นดิน” ว่า

นายเมือง (ถามคนทำสวน) “วันนี้แกจะไปไหน ไม่ทำงานดอกหรือ”

คนทำสวน “วันนี้ผมต้องหยุดประเดี๋ยว เพราะต้องเอาเงินไปเสียค่าราชการ”

นายเมือง “เสียให้ใคร และทำไมจึงต้องเสียละ”

คนทำสวน “ก็เสียให้แก่นายอำเภอน่ะซิ ถึงปีใหม่ผมต้องไปเสียทุกปี”

และยังกล่าวต่อไปว่า ถ้าไม่ไปเสียจะต้องถูกปรับหรือถูกเกาะตัวไปทำงานโยธา เมื่อนายเมืองถามนายมั่นผู้เป็นลุง นายมั่นก็อธิบายให้ฟังว่า ที่ต้องเสียภาษีหัวนี้ก็เพราะราษฎรเป็นหนี้แผ่นดินอยู่ และคนที่เป็นหนี้แผ่นดินนั้นต้องเสียภาษีหัวนี้ทุกคน อันที่จริงคำว่า “รัชชูปการ” นั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปการะ (แก่ราษฎร) ราษฎรผู้เป็นหนี้ค่าอุปการะนั้น ต้องเสียค่าอุปการะชำระหนี้ตอบแทน และถ้าจะแปลอีกนัยหนึ่งว่า ราษฎรเป็นผู้อุปการะพระเจ้าแผ่นดิน ก็คงจะไม่ผิด

ไม่ต้องสงสัยเลยภาษีหัว หรือ รัชชูปการ เงินศึกษาพลีนี้เป็นภาษาที่อยุติธรรมที่สุด เพราะทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องเสียภาษีนี้เท่ากัน ถ้าพระยาดำมีเงินปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อเสียภาษีหัวนี้แล้วจะมีเงินเหลืออยู่ ๙,๙๙๒ บาท ส่วนราษฎรเขียวปีหนึ่งทำนา ถ้าโชคดีฝนไม่แล้งหรือน้ำไม่ท่วม ภายหลังเก็บเกี่ยวแล้วขายข้าวได้เงิน ๑๐๐ บาท เสียภาษีหัว ๘ บาท เหลือเงิน ๙๒ บาท พอดีวัวออกลูกมาอีก ๒ ตัวต้องไปเสียค่าทำตั๋วรูปพรรณอีก ๔ บาท เหลือ ๘๘ บาท เสียค่านาอีก ๑๒ บาท เหลือ ๗๖ บาท

ลองคิดดูว่าถ้าครอบครัวของพระยาดำมี ๑๐ คน ครอบครัวของนายเขียวมี ๑๐ คน ครอบครัวทั้งสองนี้จะมีชีวิตและความเป็นอยู่ต่างกันอย่างไร ครอบครัวนายเขียวก็ต้องเก็บผักเก็บหอยเก็บปูตามหนองน้ำและท้องนามากิน ไม่มีหวังได้ลิ้มหมูเนื้อแดง อย่างครอบครัวพระยาดำแ ละถ้าเมียนายเขียวเกิดอยากได้ผ้าม่วงขึ้นมาสักผืนหนึ่ง ก็เห็นจะเห็นจะต้องทะเลาะกับนายเขียวโดยแน่นอน เว้นแต่นายเขียวจะเป็นราษฎรภายใต้เปติโค็ตกอเวอร์นเมนต์อย่างที่เรียกกันในทุกวันนี้

ชีวิตของราษฎรที่เป็นอยู่อย่างนี้ เป็นชีวิตแบบพริมิตีฟ เป็นชีวิตในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งมีคำว่า เจ้า กับ ข้า ราษฎรทั่วไปได้ประสบกับภาระภาษีอากรนี้อย่างทารุณโหดร้าย หลายครั้งที่ข้าพเจ้าได้ประสบมา เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปทำการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระค่าภาษีอากร ราษฎรต้องหลบหนีอพยพครอบครัว วัวควายลูกเมียเข้าป่าไป ภาษีอื่นๆ ยังมีอีก แต่ที่น่าจะมีและก็ไม่มีก็มีอยู่มาก เช่น ภาษีมฤดก ซึ่งนักการคลังและรัฐบุรุษในนานาประเทศเห็นว่าเป็นภาษีที่จะนำความเป็นธรรมมาสู่สังคมได้ เพราะเป็นภาษีที่เก็บจากทรัพย์สินของผู้ตาย เมื่อจะตกไปถึงมือทายาท หรือภาษีการรับมฤดกซึ่งเก็บแก่ทรัพย์สินที่ตกไปถึงมือของทายาทแล้ว หากจะมีภาษีนี้ในเวลานั้นก็คงจะไม่มีประโยชน์ หรือเก็บไม่ได้เลย ถ้าเก็บให้ได้เงินก็ต้องเก็บจากเจ้าหรือชาวต่างประเทศเท่านั้น

สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศของเขาว่า

“มาถึงโรงภาษีฆ้องตีดังโต้โผนั่งแจ่มแจ้งด้วยแสงเทียน ไว้หางเปียเมียสาวขาวสล้าง เป็นจีนต่างเมืองมาไม่พาเหียร แต่ความรู้สิ่งไรไม่ได้เรียน ยังพากเพียรเป็นได้ถึงใหญ่โต”

นี่คือพฤติการณ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช จริงอยู่แม้พฤติการณ์เช่นนี้จะได้ถูกยกเลิกไปเสียบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อยในระยะหลังของระบอบนั้นนั้นเอง คือ มีวิธีการให้จีนผูกขาดภาษีไปจัดเก็บเอาเอง โดยเสียค่าภาษีที่ผูกขาดนั้นให้แก่เจ้าขุนมูลนายแล้วจึงจะไปเข้าคลังอีกต่อหนึ่ง จึงทำให้จีนเจ้าภาษีร่ำรวย เจ้าขุนมูลนายร่ำรวย ส่วนรัฐบาลได้เงินน้อย สำหรับราษฎรนั้นกลายเป็นเครื่องมือให้จีนเจ้าภาษีและบริวารข่มขู่รีดเอาเงิน

 

รายได้ รายจ่ายของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชมีดังนี้

ปี รายได้ รายจ่าย
๒๔๗๒ - ๒๔๗๓ ๑๐๗,๑๑๗,๙๓๔ ๑๗๐,๑๐๒,๔๘๘
๒๔๗๓ - ๒๔๗๔ ๙๖,๓๒๓,๒๑๙ ๙๖,๓๐๔,๙๑๕
๒๔๗๔ - ๒๔๗๕ ๗๘,๙๔๘,๒๓๓ ๘๗,๔๘๒,๑๒๓

ตัวเลขรายได้รายจ่ายแสดงให้เห็นผลในการที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชได้บริหาร และปล่อยให้ระบอบการเศรษฐกิจของชาติดำเนินไปโดยเสรี อันมีหลักปล่อยให้ทำไป ปล่อยให้ผ่านไป หลักนี้ใช้แก่ราษฎรไทยผู้ประกอบการกสิกรรมแบบพริมิตีฟซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะหลักนั้นควรใช้แก่ระบอบการเศรษฐกิจที่มีการประกอบการอุตสาหกรรมอย่างใหญ่มากกว่า แต่ก็ไม่มีหลักอื่นที่จะนำมาปรับแก่พฤติการณ์ที่กสิกรไทยประสบอยู่ในเวลานั้นได้ มีอยู่หลักเดียวคือหลัก “ยถากรรม” เท่านั้น และหลักนี้ไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้อยู่นอกจากในประเทศ หรือชุมชนอันอยู่ภายใต้การปกครองของชาติอื่น และก็เกือบไม่มีเช่นเดียวกัน เพราะดินแดนเหล่านั้นได้รับการบำรุงส่งเสริมแล้วแทบทั้งสิ้น เช่น ชวา อินโดจีน หรือสิงคโปร์ มลายู หลักยถากรรมนี้ นอกจากใช้แก่ราษฎรไทยแล้ว ก็มีใช้อยู่ในชุมชนในใจกลางทวีปอาฟริกาในยุคนั้นเท่านั้น

ประเทศไทยนอกจากไม่มีเอกราชในทางเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว เอกราชอื่นๆ เช่น เอกราชทางการศาลก็ไม่มี เพราะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น ยังมีศาลกงสุล หรือศาลต่างประเทศอยู่และข้อใหญ่ใจความคือ บรรดาสัญญาทางพระราชไมตรี การค้าขายและการเดินเรือ ซึ่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชได้ทำไว้กับนานาประเทศนั้น เป็นสัญญาที่ผูกมัดประเทศไทยอย่างหนาแน่น ประเทศชาติและราษฎรไทยถูกผูกมัดด้วยสัญญา เพราะการกระทำของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชให้มีสภาพไม่ต่างอะไรกับคนง่อยเปลี้ยเสียแขนและเสียขาทั้งสิ้น

อีกนัยหนึ่ง ก็คือ ประเทศไทยอยู่ในฐานะกึ่งเมืองขึ้น นั่นเอง ทั้งเมื่อเวลาล่วงเลยมานานเท่านาน รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชก็ไม่แก้ไข หรือไม่สามารถแก้ไขสัญญาเหล่านั้นเพื่อให้ประเทศชาติได้มาซึ่งเอกราช และอธิปไตยที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์ได้

 

หมายเหตุ :

  • อักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ปรับปรุงชื่อตอนโดยทีมบรรณาธิการ

 

บรรณานุกรม

บทความในหนังสือ :

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, “วิวัฒนาการแห่งการเมืองและการเศรษฐกิจ” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2526), น. 39-52.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ช่วงปลาย พ.ศ. 2465 ขณะที่ปรีดี ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส ได้เขียนปาฐกถาเรื่อง ตำรวจชาวนา และได้รับรางวัลชมเชย ตำรวจชาวนาในฝรั่งเศสนั้น มีขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 10 โดยช่วงสมัยกลางจะมีภารกิจหลัก คือ รักษาความสงบเรียบร้อยช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร จนถึงในศตวรรษที่ 20 ตำรวจชาวนา (La police des campagnes) เป็นหน่วยงานราชการที่สังกัดองค์กรปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเกษตรกรรมท้องถิ่น จากปัญหาหลักของชาวนาในสยามที่ปรีดีพบ คือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือและดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจากทั้งส่วนกลาง หรือส่วนท้องถิ่น อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปรีดี สนใจเรื่องบทบาทและหน้าที่ตำรวจชาวนาของฝรั่งเศส แล้วเขียนปาฐกถานี้ขึ้น ส่งผลเชื่อมโยงแนวคิดมาจนถึงการอภิวัฒน์สยามจนถึงการแก้ไขปรับปรุงภาษีต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ตามปฏิญญาที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ ใน วัลยา. (26 เมษายน 2565). “เศรษฐธรรมชาวนา” แนวคิดการลดภาษีและอากรค่านาของปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2022/04/1068. สืบค้นวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567.