ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มูลเหตุแห่งการณ์อภิวัฒน์ ตอนที่ 1 วิวัฒนาการแห่งการเมืองและการเศรษฐกิจ

5
เมษายน
2567

ระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช อันมีพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจเด็ดขาดอยู่เหนือกฎหมายบ้านเมืองซึ่งใช้บังคับแก่ราษฎร และโดยใช้พระราชวงศ์หรือบรรดาขุนนางทั้งหลายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการบริหารปกครองราษฎรนั้น ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีอยู่ไม่กี่ประเทศในโลก กล่าวโดยฉะเพาะในเอเชีย ซึ่งดินแดนของชุมชนเชื้อชาติชาวอาเซียทั้งหลายเป็นส่วนมากอยู่ในความครอบครองของชาติผิวขาวแล้ว ก็มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น

ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชเช่นว่านี้ แม้พระมหากษัตริย์จะทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมและจริยวัตรธรรมก็ตาม ก็เป็นการเหมาะสมแต่เพียงสมัยหนึ่ง และสมัยนั้นก็คือสมัยที่ราษฎรยังมิได้รับการศึกษาพอสมควร หรืออีกนัยหนึ่งเมื่อความเป็นมนุษย์ของราษฎรยังถูกกดไว้ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองจนราษฎรไม่อาจจะแสดงสิทธิของการเป็นมนุษย์ได้ ถ้าหากราษฎรได้มีความรู้สึกถึงสิทธิอันนั้นของตน

เมื่อประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์กับนานาชาติหรือชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองในบรรดาวิทยาการต่างๆ รุ่งเรืองในอารยธรรมและวัฒนธรรม สิทธิของการเป็นมนุษย์ของราษฎรไทยก็เริ่มไหวตัวขึ้น เริ่มรู้สึกถึงผลที่ตนได้รับจากการดำเนินการปกครองของบรรดาขุนนางทั้งที่อาศัยอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ และมิใช่สิทธิแห่งมนุษยชนได้เตือนใจราษฎรให้คิดถึงความเจริญรุ่งเรืองของราษฎรเอง และของประเทศชาติ การปกครองของประเทศที่ราษฎรมีส่วนและมีเสียงในการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองตนเองโดยตรง หรือมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดก็ตาม ได้เตือนใจราษฎรไทยที่จะต้องเข้ามีส่วนและมีเสียงในการปกครองประเทศมาช้านาน

การปฏิวัติในประเทศไทยได้มีมาหลายครั้งหลายหนแล้ว การที่เรียกว่าการปฏิวัตินั้นก็ไม่ตรงกับความหมายนัก อันที่จริงการปฏิวัติที่เคยเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือในตอนกรุงธนบุรี เป็นแต่การปราบดาภิเศก คือ ใช้กำลังคนและอาวุธเข้าขับไล่หรือฆ่ากษัตริย์เสีย แล้วตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทนเท่านั้น แต่การคิดล้มราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หรือ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น เป็นเงาของการปฏิวัติโดยราษฎรพอที่จะเรียกได้ว่าอย่างแท้จริงครั้งหนึ่ง

อันแท้จริงในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แม้จะเป็นกษัตริย์ที่ทรงอำนาจเด็ดขาดในการปกครองเพียงไรก็ตาม มิได้ใช้อำนาจนั้นโดยพระองค์เองทั้งสิ้น กล่าวคือ ทรงแต่งตั้งขุนนางซึ่งขุนนางเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราษฎรเป็นผู้ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินถึง ๘ กระทรวงในกระทรวงทั้งหมดที่มีอยู่ ๑๒ กระทรวง การกระทำของพระมงกุฎเกล้าฯ เช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่พระบรมวงศานุวงค์อื่นๆ ที่ต้องการจะมีอำนาจ พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงฝักใฝ่กับขุนนางหรือราษฎรมากขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจแก่พระบรมวงศานุวงศ์เหล่านั้นขึ้นเพียงนั้น

ในตอนปลายรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าฯ พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ที่ไม่พึงพอใจพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ออกจากประเทศไทยไปพำนักอยู่ในยุโรปและส่วนมากอยู่ในประเทศฝรั่งเศสอย่างผาสุกและสำราญ คณะเจ้ากลุ่มนี้ได้คิดกันที่จะล้มบัลลังก์พระมงกุฎเกล้าฯ โดยยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินขับไล่พระมงกุฎเกล้าฯ ออกจากราชสมบัติ แล้วอัญเชิญเจ้านายองค์อื่นที่คณะตนเห็นชอบขึ้นเสวยราชแทนต่อไป

เจ้าองค์หนึ่งคือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ได้ร้องเพลงปฏิวัติของชาติฝรั่งเศส แต่การคิดของคณะเจ้าในยุโรปเพื่อการนี้ยังไม่ได้ทันปรากฏผลออกมาเป็นการกระทำ พระมงกุฎเกล้าฯ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้สืบราชสมบัติต่อมา

นายปรีดี พนมยงค์ ออกจากเมืองไทยไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ อันยังเป็นรัชสมัยแห่งพระมงกุฎเกล้าฯ อยู่ ในประเทศฝรั่งเศสนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ได้พำนักอยู่กับศาสตราจารย์ผู้หนึ่งของตน ที่ชานนครปารีส และได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเมืองกัง และมหาวิทยาลัยกรุงปารีส อันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในภาคพื้นยุโรป

นายปรีดี พนมยงค์ ในการศึกษานั้น นอกจากจะสนใจในวิชานิติศาสตร์แล้ว ยังสนใจและศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ และการเมืองเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาค้นคว้า การอบรมสั่งสอนจากศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโดยฉะเพาะอย่างยิ่งก็คือ ระบอบการปกครอง เรื่อง “รัฐ” และ “หน้าที่ของรัฐ” ได้ก่อให้นายปรีดี พนมยงค์ เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นเป็นอันมาก ได้เห็นชัดเจนว่า วิวัฒนาการทางระบอบการปกครองที่เป็นมาก็ดี ระบอบการเศรษฐกิจที่เป็นมาก็ดี จากยุคต้นของประวัติศาสตร์ จนถึงยุคปัจจุบันประเทศใดที่ราษฎรผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยที่แท้จริงได้เข้ามีส่วนมีเสียงในการปกครอง และดำเนินเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเศรษฐกิจให้เหมาะสม ประเทศนั้นย่อมต้องมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นยิ่งกว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองทรงสิทธิและอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว

นายปรีดี พนมยงค์ แม้จะอยู่ในต่างประเทศห่างไกล ก็พยายามสดับตรับฟังเหตุการณ์ข่าวคราวจากประเทศไทยอยู่เสมอมาจากเพื่อนฝูงในเมืองไทย และจากเพื่อนหรือผู้ที่คุ้นเคยในสถานทูตไทยในกรุงปารีส และได้นำเอากรณีย์ หรือพฤติการณ์ต่างๆ ที่เป็นมาในเมืองไทยเข้าปรับกับหลักวิชาการ แล้วเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ได้มีการวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงในทางการปกครองและเศรษฐกิจ เมื่อมีข้อสงสัยอะไรก็ได้ปรึกษาไต่ถามศาสตราจารย์ของตนอยู่เป็นเนืองนิจ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เรียกตามวิถีทางแห่งเศรษฐกิจว่าเป็น “ประเทศกสิกรรม” ราษฎรไทย ๙๙ คนใน ๑๐๐ คน ประกอบการกสิกรรม และร้อยละ ๙๙ ของผู้ที่ประกอบการกสิกรรมนั้นก็คือการทำนาข้าว

วิธีทำนาของราษฎรไทย เมื่อเริ่มวันที่ ๑ ของวันสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อมา จนถึงสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดรวก วัดศาลาปูนของกรุงเก่า และต่อมาจนกระทั่งบัดนี้เป็นอยู่อย่างใดก็เป็นมาอย่างนั้น กสิกรยังมีชีวิตอย่างเดิม ใช้วิธีทำนาและประกอบกิจเลี้ยงชีพอย่างเดิม คือมีชีวิตอยู่ตามแบบพริมิตีฟ และการประกอบการแบบพริมิตีฟ ไม่มีประเทศกสิกรรมประเทศใดที่จักเจริญรุ่งเรืองได้

วิวัฒนาการของการเศรษฐกิจแสดงให้เห็นชัดว่า ประเทศกสิกรรมและอุตสาหกรรม หรือประเทศอุตสาหกรรมแต่อย่างเดียว โดยการกระทำของผู้ปกครองประเทศคือ รัฐบาล ริเริ่มดำเนินการ หรือควบคุมแซกแซง ประเทศเหล่านั้นได้ประสบความเจริญรุ่งเรือง ส่วนราษฎรเล่า รัฐบาลก็ได้เอาใจใส่ปกครองให้มีชีวิตดีขึ้น มีความสุขสมบูรณ์ขึ้น

นายปรีดี พนมยงค์ได้พิจารณาระบอบการเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างใกล้ชิดถ่องแท้ทุกด้านทุกมุม และเห็นว่ามีทางเดียวที่จะเป็นไป คือ คงอยู่อย่างนั้น ประเทศชาติและราษฎรไม่เจริญรุ่งเรืองไม่สุขสมบูรณ์ และยิ่งกว่านั้นก็คือ จะต้องเดินไปสู่ความวิบัติในวันหนึ่งข้างหน้าโดยแน่แท้

ระบอบการปกครองที่ราษฎรมีสิทธิและมีเสียงในการปกครองนั้นก็คือ “ระบอบประชาธิปไตย” ระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครอง แต่โดยที่นายปรีดี พนมยงค์ มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และสำนึกอยู่เสมอว่าราษฎรไทยทุกๆ คนมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับตนที่มีความรู้สึกอยู่ ฉะนั้นเมื่อความคิดได้เกิดขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วที่ราษฎรไทยจะควรเข้ามีสิทธิและมีเสียงในการปกครอง ถึงเวลาแล้วที่ราษฎรไทยจะควรได้ปกครองตนเอง นำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดกำหนดรูปของการปกครองและวิธีบริหาร กับทั้งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอันเหมาะสมแก่ประเทศและสถานะการณ์

การเศรษฐกิจนี้เป็นปัญหาอันสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่าปัญหารูปการปกครอง เป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตและความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติและของประชาชน โดยเฉพาะปัญหานี้อยู่เหนือปัญหารูปแบบการปกครองเสียอีก อย่างไรก็ตามทั้งสองประการนี้จะทำได้ หรือมีขึ้นได้ก็โดยการปฏิวัติเท่านั้น เพราะในขณะนั้นไม่มีควันหลง หรือข่าวกระเซ็นกระสายออกจากราชสำนักเลยว่าพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอย่างที่ประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งพระเจ้ามัตสุหิโตได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรเลย และด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่มีดื่มด่ำอยู่ในจิตใจเช่นนี้นายปรีดี พนมยงค์ จึงเลือกระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญยิ่งกว่าแบบอื่นคือ ราชาเป็นธวัชแห่งประเทศชาติ “The King is the symbol of the country” นี่คือทางที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือก

การคิดล้มราชบัลลังก์พระมงกุฎเกล้าฯ โดยคณะเจ้ากลุ่มหนึ่งนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้ทราบโดยตลอด แต่ไม่ใช่ทางที่เขาจะสนใจหรือประหลาดใจ เพราะการล้มราชบัลลังก์เช่นนั้น มีปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายครั้งหลายหนมาแล้ว และแต่ละครั้งไม่มีความหมายหรือมีสิ่งใดๆ ดีขึ้นแก่ราษฎรเลย

ขณะที่นักเรียนไทยในกรุงลอนดอนได้จัดตั้งสมาคมนักเรียนขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของทูตนั้น ในฝรั่งเศส คณะนักเรียนไทยได้จัดตั้งสมาคมของตนขึ้นเหมือนกัน และได้รับการสนับสนุนจากทูตไทยเป็นอย่างดี พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรราชทูต ได้ตรัสแก่บรรดานักเรียนไทยว่า ในลอนดอนทูตเขาคุมสมาคมนักเรียนอย่างเต็มที่ แต่ที่ปารีสจะปล่อยให้มีเสรีและให้นักเรียนคุมกันเอง สมาคมนักเรียนไทยในกรุงปารีสนี้เป็นที่รวมของนักเรียนไทยทั้งที่เป็นเจ้าและเป็นคนสามัญ เพื่อความรื่นเริงสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ในการประชุมปีแรกของสมาคมเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารนั้น ที่ประชุมนักเรียนซึ่งมีพวกเจ้าเป็นส่วนมาก ได้ลงมติเลือก ม.จ.เจริญใจ จิตรพงศ์ โอรสในกรมพระนริศฯ เป็นประธาน และนายปรีดี พนมยงค์เป็นเลขาธิการของสมาคม

ต่อรุ่งปีขึ้นนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้รับเลือกเป็นประธาน เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธานสมาคมนักเรียนนั้น โอกาสนี้นับว่าเหมาะแล้วที่เขาควรจะริเริ่มเตรียมการตามความคิดของเขา คือ การปฏิวัติ โอกาสมีจริงแต่เขายังไม่มีเพื่อนฝูงคนใดที่ไว้ใจพอจะแสดงความคิดของเขาออกมาได้ นายปรีดี พนมยงค์ทราบดีว่า ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดเพียงใด ทั้งในกรุงปารีสเวลานั้นเล่าก็เต็มไปด้วยพวกของกษัตริย์ คือพวกเจ้า และลูกขุนนางอันภักดีต่อกษัตริย์ แม้จะมีลูกคนสามัญเช่นเดียวกับตนอยู่บ้าง ก็ไม่แน่ใจว่าพอที่จะแพร่งพรายความคิดของตนแก่เขาเหล่านั้นได้โดยปลอดภัย แต่กระนั้นในขณะที่รอเพื่อพบเพื่อนร่วมใจนั้น ประธานสมาคมนายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มสร้างความคิดและความรู้สึกทางการเมืองให้แก่เพื่อนนักเรียนไทย

ที่ทำการของทูตไทยในกรุงปารีสมีตึกอยู่ ๒ หลัง ดูไม่เป็นที่ประหลาดอันใดที่ประธานสมาคมนักเรียน คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเป็นนักเรียนการเมืองและการเศรษฐกิจ จะให้ความรู้และความเข้าใจในระบอบการปกครองแก่เพื่อนนักเรียนในระบอบการปกครองของอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

นายปรีดี พนมยงค์สมมุติตึกหลังหนึ่ง คือที่ทำการทูตเป็นสภาขุนนาง (House of Lords) และตึกอีกหลังหนึ่งเป็นสภาสามัญ (House of Commons) หรือ สภาผู้แทน และภายในตึกที่สมมุติเป็นสภาสามัญนี้เอง นักเรียนไทยได้มีการประชุมโต้เถียงความคิดความเห็นกันทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง และไกลยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ การวิจารณ์และตำหนิการกระทำของทูตอันมีต่อนักเรียนอันเป็นคนสามัญอีกด้วย

วิธีการของประธานสมาคมผู้นี้ มิใช่ได้รับการยกย่องจากบรรดานักเรียนที่เป็นบรรดาคนสามัญเท่านั้น แม้นักเรียนที่เป็นเจ้าตลอดจนข้าราชการในสถานทูตนั้นเองก็นิยมเลื่อมใสและชอบ ข้าราชการในสถานทูตถึงกับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามวิธีการอันนี้ของนายปรีดี พนมยงค์ ก่อให้นักเรียนที่เป็นพวกเจ้าเริ่มรู้สึกว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ และต่อคณะเจ้าขึ้นแล้ว

วันหนึ่ง ม.จ.นักขัตรมงคล ได้พูดแก่นายปรีดี พนมยงค์ว่า “ปรีดี แกจะทำให้พวกเจ้าบ่นปี้เสียแล้ว” นายปรีดี พนมยงค์มิได้กล่าวตอบคำของเจ้าผู้นี้แต่ประการใด แต่คำว่า “แก” นั้น ได้กระทบต่อความรู้สึกของเขาอย่างแรง นายปรีดี พนมยงค์รู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างบุคคลนั้น ยังคงมีอยู่ระหว่างบุคคลเช่นนี้เอง จาก ม.จ.นักขัตรมงคล เจ้าองค์หนึ่ง ไม่ต้องสงสัย พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ ราชทูตอีกองค์หนึ่งย่อมจะต้องรู้และตั้งแต่นั้นมา การเคลื่อนไหวของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกลอบสังเกตจากพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ เรื่อยมา

นายปรีดี พนมยงค์ รู้สึกตัวอยู่ดีว่า คณะเจ้าในกรุงปารีสมีความรู้สึกต่อเขาอย่างไร แต่เขาก็มิยอมหยุดยั้ง ตระเตรียมงานตามความคิดของเขา นายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มวิธีการใหม่ นั่นคือ เขาได้ชี้ให้บรรดานักเรียนเห็นถึงวิธีการอันอยุติธรรม ที่บรรดานักเรียนไทยได้รับจากการกระทำของทูต อาทิเช่น ในเรื่องเงินที่ได้รับเป็นค่ากินอยู่และค่าการศึกษา ซึ่งทางกรุงเทพฯ อนุมัติให้มาก แต่ทูตจ่ายให้น้อย แทบจะไม่พอใช้จ่ายตามความจำเป็น แม้จะกระเหม็ดกระแหม่อย่างที่สุด ยิ่งกว่านั้น ยังจ่ายให้ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย นักเรียนไทยและแม้นักเรียนที่เป็นพวกเจ้าก็เห็นพ้องกับข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ เห็นความไม่เป็นธรรมที่ตนได้รับจากทูตทั้งยังได้คิดกันที่จะแสวงหาความยุติธรรมในโอกาสต่อไป

ในปีที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธานสมาคมนักเรียนอยู่นั้นเอง ได้มีหนุ่มไทยรูปร่างหน้าตาเป็นฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งจากเมืองไทยไปอยู่ยุโรป ยังมิได้ศึกษาเล่าเรียนแต่อย่างใด หนุ่มไทยผู้นั้นคือ นายประยูร ภมรมนตรี ต่อมานายประยูรเดินทางจากสวิตเซอร์แลนด์ไปศึกษาในกรุงปารีส และได้รับการแนะนำจาก นายตั้ว ลพานุกรม นักเรียนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ให้ไปรู้จักกับนายปรีดี พนมยงค์เพื่อนสนิทของตน

นายประยูรได้รู้จักกับนายปรีดี พนมยงค์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควร นายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มขยายความรู้สึกนึกคิดของเขาที่มีอยู่ออกมาอย่างเปรยๆ ตามปรกติให้นายประยูรฟัง นายประยูร ภมรมนตรี เริ่มแสดงความรู้สึกของตนอันเกี่ยวกับระบอบการปกครองและการเศรษฐกิจของประเทศไทยออกมาให้นายปรีดี พนมยงค์ทราบ การแสดงออกของนายประยูร ภมรมนตรี เปิดช่องทางให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ที่จะแสดงความคิดของตนออกมายิ่งกว่าคราวที่แล้ว  และต่อจากนั้นทั้งสองคนได้สนทนากันถึงเหตุการณ์และสถานการณ์ของประเทศไทยทั้งในทางการเมืองและการเศรษฐกิจโดยทั่วๆ ไป

ทุกๆ ปัญหาเรื่องเหล่านี้ นายประยูร ภมรมนตรีมีความเห็นพ้องและสอดคล้องด้วยกันทั้งสิ้น และในที่สุด นายปรีดี พนมยงค์ก็ได้กล่าวแก่นายประยูร ภมรมนตรีว่า การที่จะแก้ไขและบำรุงการเศรษฐกิจของชาติไทยได้นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยได้มีการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศอื่นๆ แล้วเท่านั้น และจะมีรัฐธรรมนูญได้ก็โดยการปฏิวัติเท่านั้น เพราะสถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ไม่มีทางอื่นที่จะทำได้

นายประยูร ภมรมนตรีมีความเห็นพ้องด้วยอย่างเต็มที่ จากวันนั้นนายปรีดี พนมยงค์คงปล่อยคำพูดของเขาให้ล่วงเลยตามเวลาไปหลายเดือน เพื่อดูท่าทีของนายประยูร ภมรมนตรีต่อไป ในที่สุดเมื่อเห็นว่าจะไว้ใจนายประยูร ภมรมนตรีได้อย่างแท้จริงแล้ว บุคคลทั้งสองก็ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง และต่างได้ให้สัตย์ปฏิญาณต่อกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันในการดำเนินการตามความคิด เพื่อก่อตั้งคณะที่จะทำการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดิน และก็อีกครั้งหนึ่งที่นายปรีดี พนมยงค์ได้ชี้แจงและย้ำต่อนายประยูรว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของเราครั้งนี้ จุดใหญ่ก็คือเพื่อปฏิรูปการเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่จะเปลี่ยนเพียงการปกครองบนแผ่นกระดาษเท่านั้น นายประยูร ภมรมนตรีได้ให้คำรับรองโดยหนักแน่น และกล่าวว่าทุกสิ่งทุกอย่างเขาเห็นด้วย และยอมยกให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้คิดทำทั้งนั้น

จากนายประยูร ภมรมนตรีเพื่อนร่วมความคิดร่วมปฏิญาณคนแรก นายปรีดี พนมยงค์ได้เผยความคิดของเขาต่อ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนนายทหารม้าแห่งโชมูร์ ผู้ซึ่งมีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน ตรงกันอย่างที่สุด และจาก ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนโรงเรียนปืนใหญ่ฟองแตลโบลก็ได้เข้ามาร่วมความคิดร่วมการกระทำด้วย

บัดนี้ นายปรีดี พนมยงค์ มีเพื่อนร่วมตายสามคนแล้ว และเขาต้องการเพื่อนอีก เพื่อนที่จะร่วมตายเพื่ออุดมคติอันเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ ได้พบกับนักเรียน ช่างกลผู้หนึ่งคือ นายควง อภัยวงศ์ แต่นายปรีดี พนมยงค์คงให้ความสนิทชิดชอบอย่างที่มีอยู่ระหว่างเพื่อนฝูงทั้งหล่ายคือเป็นส่วนตัวเท่านั้น นายปรีดี พนมยงค์ รู้สึกว่าท่าที่กริยาและประวัติของนายควง อภัยวงศ์ เท่าที่ทราบในเวลานั้นยังหาสมควรที่จะเปิดเผยความคิดของเขาให้ทราบได้ไม่ นายปรีดี พนมยงค์คิดที่จะหาเพื่อนนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษต่อไป แต่ทำอย่างไรจะได้พบกับบรรดาเพื่อนนักเรียนเหล่านั้นเล่า

ขณะที่รอโอกาสเพื่อดำเนินการชักชวนแสวงหาเพื่อนร่วมตาย และด้วยความคิดแน่วแน่ว่าจะต้องทำการปฏิวัติ นายปรีดี พนมยงค์ ได้แสวงหาความรู้เพื่อการนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือเตรียมให้พร้อมมีอะไรบ้างที่จะต้องทำ และจะต้องทำอย่างไร ทำด้วยวิธีใดจึงจะให้ความคิดของตนสำเร็จโดยเรียบร้อย

ระหว่างนั้นในกรุงปารีส นักศึกษาชาวญวนได้คบคิดกันเพื่อแสวงหาเอกราชให้ชาติของตน คือ ปลดแอกฝรั่งเศสไปให้พ้น และในฐานะที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนักศึกษาที่กว้างขวาง ทั้งได้รับการชมเชยจากศาสตราจารย์และผู้ประศาสน์การอยู่เสมอๆ ทั้งเป็นนักศึกษาชาวอาเซียด้วยกัน ได้ทำให้นักศึกษาชาวญวณเหล่านั้นสนใจในตัวนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอันมาก และแล้ววันหนึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้รับการเชื้อเชิญจากเพื่อนนักศึกษาชาวญวณให้ไปร่วมการประชุมกับคณะของเขา ด้วยความรู้สึกที่ว่า จำต้องหาความรู้ให้กว้างขวางและด้วยการที่เพื่อนนักศึกษาเหล่านั้นเป็นชาวอาเซียด้วยกัน

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ไปในการประชุมของนักศึกษาชาวญวณ ๒ ครั้ง ครั้งแรกไปกับหลวงวิจิตรวาทการ ข้าราชการสถานทูต และครั้งสุดท้ายไปกับนายประยูร ภมรมนตรี จากการไปสังเกตการประชุมของนักศึกษาชาวญวณนี้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ได้ความรู้และความคิดใหม่ๆ ขึ้นหลายประการ

ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ ได้รับเลือกเป็นประธานสมาคม ต่อจากนายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาและในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สามเดือน ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์จะทำวิทยานิพนธ์เพื่อรับปริญญาดอคเตอร์อังดรัวด์นั้น ได้มีการประชุมของสมาคมนักเรียนไทยขึ้น นักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และจากประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสได้เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

นายปรีดี พนมยงค์ได้ทำเรื่องเสนอต่อประธานสมาคม เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่นักเรียนไทยได้รับจากทูต ที่ประชุมได้พิจารณา และลงมติให้ทำฎีกาทูลเกล้าถวายพระปกเกล้าฯ นายปรีดี พนมยงค์เจ้าของความคิดลงมือเขียนฎีการ้องทุกข์ และให้นักเรียนไทยลงชื่อในฎีกานั้น นักเรียนส่วนมากได้ลงชื่อ นอกจากนักเรียนที่เป็นคนสามัญแล้ว นักเรียนที่เป็นพวกเจ้า อาทิเช่น พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล ก็ลงพระนามด้วย ส่วนโอรสของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ แม้จะได้เห็นพ้องด้วย แต่ก็ขอตัวที่จะลงนามฟ้องบิดาของตน[1]

ขณะเดียวกันนั้น สมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษได้เชิญผู้แทนนักเรียนไทยในฝรั่งเศสไปประชุมร่วม ที่ประชุมของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสได้ลงมติให้นายปรีดี พนมยงค์ ไปเข้าประชุมแทน นายปรีดี พนมยงค์รู้สึกพอใจในโอกาสอันนี้อย่างยิ่ง แต่แล้วก็ผิดหวัง เพราะเมื่อทำรายงานแจ้งทูตขอเบิกเงินเป็นค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ทูตไม่ยอมเห็นด้วย ไม่อนุมัติเงิน ซ้ำไม่ทำวีซ่าหนังสือเดินทางให้ นายปรีดี พนมยงค์หมดทางที่จะไปโดยตนเองในเมื่อทูตเป็นเสียเช่นนี้

อย่างไรก็ตามนายปรีดี พนมยงค์ ได้ขอให้นายประยูร ภมรมนตรี ไปประชุมแทน และให้รับทราบนโยบายของเขาที่จะหาเพื่อนร่วมตายในอังกฤษ นายประยูร ภมรมนตรีออกเดินทางจากปารีส ย้อนไปเบลเยี่ยมแล้วข้ามเรือไปอังกฤษเข้าประชุม ร่วมจนได้ในลอนดอน นายประยูรได้เพื่อนใหม่หลายคน เพื่อนนักเรียนไทย ซึ่งมีความคิดเห็นสอดกล้องกับความคิดเห็นของนายปรีดี พนมยงค์และของเขาอยู่แล้ว

การกระทำของนายปรีดี พนมยงค์ในเรื่องที่ให้นายประยูร ภมรมนตรีไปประชุมร่วมกับนักเรียนไทยในอังกฤษนั้น เมื่อพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ทราบเข้าก็มีความโกรธมาก และเมื่อทราบต่อไป อีกว่านายปรีดี พนมยงค์ได้เป็นเจ้าความคิดให้นักเรียนไทยในฝรั่งเศสยื่นฎีกาฟ้องตนก็ยิ่งเพิ่มความเดือดดาลให้แก่ตนอย่างที่สุด พระองค์เจ้าจรูญศักด์ลืมตนว่า เป็นผู้ปกครองดูแลนักเรียน ซึ่งในลักษณะเช่นนั้น นักเรียนย่อมไม่เป็นศัตรูกับตน แต่แล้วเพราะความโกรธนั้นเอง พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ได้โทรเลขรายงานเข้ามายังกรุงเทพฯ กราบทูลพระปกเกล้าฯ ให้เรียกตัวนายปรีดี พนมยงค์กลับประเทศไทย โดยไม่พิจารณาถึงเรื่องการศึกษาของนายปรีดี พนมยงค์ เลยว่าจะสำเร็จหรือไม่ ในโทรเลขนั้นกล่าวว่า

“........ปรีดีเป็นหัวหน้าชักชวนนักเรียนก่อการขัดคำสั่งทูต เป็นหัวหน้าสหบาล (syndicate) นักเรียนไทย เป็นคนฝักใฝ่ในประชาธิปไตย เห็นจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์....”

แต่โทรเลขฟ้องของทูตและให้เรียกตัวกลับนั้น แม้ทูตจะพยายามปกปิดมิให้รั่วไหลถึงหูนายปรีดี พนมยงค์ หรือนักเรียนไทยคนอื่นๆ ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ก่อนที่โทรเลขของทูตจะถูกส่ง หลวงสิริราชไมตรี เลขานุการทูตนั้นเอง ได้แจ้งให้นายปรีดี พนมยงค์ทราบถึงการกระทำของทูต

หลวงสิริราชไมตรีเป็นสมาชิกของสมาคม นักเรียนไทยและยิ่งกว่านั้นก็คือเป็นเพื่อนร่วมตายคนหนึ่ง ที่จะทำการปฏิวัติร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ นายปรีดี พนมยงค์ทราบอยู่ว่า พระปกเกล้าฯ เป็นกษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎร จึงได้โทรเลขดักฟ้องทูตเข้ามาเสียก่อนและกราบทูลว่า ฎีกาจะตามมาภายหลังโดยเร็วที่สุด แต่พระปกเกล้าฯ ในขั้นต้นได้ทรงอนุมัติตามคำเสนอของทูต คือให้เรียกตัวนายปรีดี พนมยงค์กลับประเทศไทยโดยทันที แต่พระยาวิทุรธรรมพิเนตุ (โต๊ะ อัมระนันทน์) ซึ่งอยู่ในกรมราชเลขานุการในพระองค์เวลานั้นได้แจ้งไปให้บิดาของนายปรีดี พนมยงค์ทราบ ให้ทำฎีกาทูลเกล้าถวายขอพระบรมราชานุญาตเพื่อให้นายปรีดี พนมยงค์ ทำวิทยานิพนธ์เสียก่อน และด้วยการช่วยเหลือของเจ้าพระยายมราช พระปกเกล้าได้ทรงอนุญาตและให้แจ้งไปให้พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ทราบ นายปรีดี พนมยงค์ผู้ซึ่งเกือบหมดหวังในปริญญาดอคเตอร์อังดรัวต์นั้นจึงมีโอกาสได้ศึกษาต่อไป ทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยและแล้วก็พร้อมที่จะรับปริญญา

วันในปารีสสำหรับดำเนินการตามความคิดของนายปรีดี พนมยงค์มีเหลือน้อยเต็มที เพราะหลังจากรับปริญญาแล้ว ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ นั้น เขาจะต้องเดินทางกลับประเทศไทย ฉะนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จึงจัดให้มีการประชุมครั้งแรกของคณะร่วมตายที่จะทำการปฏิวัติขึ้น ตอนนั้นสมาชิกเก่ามี นายปรีดี พนมยงค์ นายประยูร ภมรมนตรี ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ สมาชิกใหม่มีหลวงสิริราชไมตรี นายตั้ว ลพานุกรม นายแนบ พหลโยธินและคนอื่นๆ คณะร่วมตายนี้ได้จัดวางแนวทางหน้าที่และแผนการณ์ดำเนินการของคณะไว้สำหรับผู้ที่จะกลับเมืองไทยและสำหรับผู้ที่อยู่ในยุโรปเพื่อปฏิวัติ นั่นคือให้แสวงหาพรรคพวกให้มากยิ่งขึ้น

นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยปริญญาดอคเตอร์อังดรัวต์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีส พร้อมด้วยความคิดคือการปฏิวัติ เพื่อนำความเจริญรุ่งเรื่องมาสู่ราษฎร และประเทศชาติกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๗๐ ส่วนทางยุโรป นายประยูร ภรมมนตรี ได้สมัครพรรคพวกอีกหลายคน อาทิ นายทวี บุณยเกตุ นายบรรจง ศรีจรูญ นายสินธุ์ กมลนาวิน และคนอื่นๆ ซึ่งได้เป็นแต่ทาบทามยังไม่ตกลงแน่ชัดประการใด

ภาพถ่ายนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ Place du Trocadéro ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926[2]

 

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์, “วิวัฒนาการแห่งการเมืองและการเศรษฐกิจ” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2526), น. 22-38.

หมายเหตุ :

  • อักขรวิธีสะกด ตามเอกสารชั้นต้น

[1] หลักฐานเอกสารมีที่สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์

[2] ภาพถ่ายที่มีสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน ใน ไทสัปดาห์  ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 ประจำวันจันทร์ที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2499 จากซ้ายคือ ชม จารุรัตน์, นายแดง คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก, ควง อภัยวงศ์, ม.จ. ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ. ลายฉลุทอง ทองใหญ่, ปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ, ประยูร ภมรมนตรี และแนบ พหลโยธิน