การจัดตั้งองค์กรยึดอํานาจรัฐ
การจัดตั้งองค์กรยึดอํานาจรัฐเป็นเงื่อนไขสําคัญต่อความสําเร็จของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม ถ้าจะกล่าวตามทัศนะอันโตนิโอ กรัมชี การจัดองค์กรดังกล่าวเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติภารกิจขั้นสุดท้ายของกระบวนการเข้าครองความเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม สําหรับรูปแบบการจัดองค์กรนี้ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่นักทฤษฎีปฏิวัติมาโดยตลอด ประเด็นของการถกเถียงก็คือ ขนาดความมากน้อยของการรวมอํานาจในการบังคับบัญชาหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อการกับผู้สนับสนุน[1]
เลนินเสนอหลักการจัดองค์กรปฏิวัติที่มีอํานาจเด็ดขาดรวมศูนย์มีสายบังคับบัญชาที่เข้มแข็ง หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ (democratic centralism) เพราะปรารถนาจะให้องค์กรนี้เป็นกองหน้า (vanguard) ของขบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรนี้จึงไม่ต้องมีขนาดใหญ่ที่มีมวลชนเป็นสมาชิกโดยตรง ซึ่งต่างกับองค์กรที่ต้องการยึดอํานาจรัฐโดยวิถีทางรัฐสภาโดยผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งในทัศนะของเลนินการปฏิวัติคือการร่วมพลังกัน (synthesis) ระหว่างองค์กรจัดตั้งและมวลชนโดยมีองค์กรจัดตั้งเป็นสมอง และเสนาธิการมีมวลชนเป็นฐานการคลัง[2]
แนวการจัดตั้งองค์กรแบบเลนิน มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายกลุ่ม ที่สําคัญคือ โรซา ลุกเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg) ลุกเซมบูร์กเห็นว่า การจัดตั้งองค์กรแบบเลนิน ทําให้กองหน้าหรือผู้ก่อการเป็นพวกเดียวที่กําหนดทิศทางความเป็นไปของกระบวนการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานอื่นตกเป็นเพียงลูกมือ ทําให้กลุ่มนําห่างจากมวลชน และอาจกลายเป็นเผด็จการเกิดระบบราชการ (bureaucracy) ที่อืดอาด ขาดความคล่องตัว ลุกเซมบูร์กเห็นว่า การจัดองค์กรควรให้เสรีภาพกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ และป้องกันการฉวยโอกาสสร้างความมักใหญ่ใฝ่สูงของผู้นํา[3]
กล่าวโดยสรุป การจัดองค์กรปฏิวัติมักเผชิญกับปัญหาได้อย่างเสียอย่างในตัวเอง หากต้องการให้การดําเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องมีแนวโน้มที่จะจัดองค์กรแบบรวมอํานาจ ปิดลับ มีผู้รู้เห็นน้อย แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ขาดการคานอํานาจกลุ่มนํา ขาดหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปตามเจตจํานงของมวลชน เป็นโอกาสให้เกิดระบบเผด็จการหลังการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าจัดองค์กรแบบเปิดกว้าง
ข้อเสียดังกล่าวอาจได้รับการประกันว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่อาจขาดประสิทธิภาพในการดําเนินงานโดยเฉพาะเมื่อเสรีภาพในทางการเมืองยังถูกปิดกั้น การกระทํากิจกรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายดัง เช่น ในรัสเซียและประเทศไทย ในช่วงก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังนั้น การจัดองค์กรปฏิวัติจึงมิได้ขึ้นกับการเลือกอย่างเสรีว่าจะเอาแบบใด หากแต่ขึ้นกับเงื่อนไขอื่น ๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการเมือง อันได้แก่ เงื่อนไขด้านกฎหมาย การตื่นตัวของประชาชน และประสบการณ์ของขบวนการท้าทายอํานาจรัฐที่ผ่านมาเป็นสําคัญ
กรณีการจัดองค์กรของคณะราษฎร มีลักษณะปิดลับ และขยายงานอย่างระมัดระวังโดยมุ่งที่จะยึดอํานาจแบบฉับพลัน เริ่มจากการรวมกลุ่มของผู้ที่ปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งอยู่ในทวีปยุโรป จากการยืนยันของปรีดี พนมยงค์[4]
การจัดองค์กรของคณะราษฎร
โดยการยืนยันของนายปรีดี พนมยงค์
การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ Rue du Sommerard ซึ่งกลุ่มก่อการเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมมี 7 คน คือ
(1) ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6
(2) ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ สําเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส
(3) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวด กรมทหารม้าที่ 4 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส
(4) นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1
(5) หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจํากรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และเป็นนายสิบตรีในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
(6) นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ
(7) นายปรีดี พนมยงค์ ที่ประชุมดังกล่าวได้มอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร
ผลการประชุมในครั้งนั้น นอกจากจะมีการกําหนดวัตถุประสงค์และวิธีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ที่สําคัญคือการจัดตั้งสมาชิก
ในการจัดตั้งสมาชิกนั้น ได้แบ่งผู้ที่เป็นสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท คือ กรรมการกลางและสมาชิกที่เข้ามาเพิ่มในภายหลัง กรรมการกลางคณะราษฎร คือกลุ่มผู้ก่อการที่เข้าประชุมครั้งแรก บุคคลเหล่านี้ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้ออกไปขยายจํานวนสมาชิก ด้วยการเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ และมีคุณสมบัติตามที่ร่วมกันกําหนดไว้มาเสนอให้กรรมการกลางพิจารณารับเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการกลางด้วยมติเป็นเอกฉันท์
ในการหาสมาชิกนี้ ในขั้นแรกกรรมการกลางแต่ละคน ซึ่งเรียกว่าหัวหน้าสายจะรับผิดชอบในการหาสมาชิกสายละสองคน สําหรับสมาชิกที่จะเข้าร่วมนั้น คณะผู้ก่อการได้กําหนดคุณสมบัติไว้สามประการ คือ ต้องมีความเสียสละ กล้าหาญ และสามารถรักษาความลับได้โดยอาศัยความมีมากน้อยแห่งคุณสมบัติดังกล่าว คณะผู้ก่อการได้แบ่งสมาชิกที่จะเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 3 ประเภท ที่เรียกว่า “ดี 1”, “ดี 2” และ “ดี 3”
ดี 1. ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคําชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอํานาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่า ผู้ใดควรได้รับคําชักชวนไว้แต่เนิ่น ๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทําการยึดอํานาจ มิให้ถือเพียงว่าบุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็จะชวนเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไปก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูด เพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลก และอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่าง แต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่แล้วพูดเลอะเทอะก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนเข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอํานาจ แต่เมื่อยึดอํานาจได้ในวันที่ 24 มิถุนายนแล้ว ไม่มีความลับที่จะปิดบังจึงชวนให้ร่วมมือได้
ดี 2. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคําชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอํานาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้
ดี 3. ได้แก่ บุคคลที่จะได้รับคําชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอํานาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอํานาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสําเร็จมากกว่าความไม่สําเร็จ
โดยอาศัยหลักเกณฑ์การจําแนกสมาชิกดังกล่าว กลุ่มผู้ก่อการได้จัดตั้งและขยายสมาชิกออกไปได้เรื่อย ๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งราษฎรสามัญและเชื้อพระวงศ์ รวมทั้งผู้นํามวลชน เช่น นายแช่ม มุสตาฟา (พรหมยงค์) บุตรผู้นําศาสนาอิสลาม ซึ่งรับภาระในการจัดตั้งชาวไทยมุสลิม นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นํากรรมกร จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2474 กลุ่มผู้ก่อการจึงได้ชวนพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และได้มอบให้พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร
เหตุที่การจัดองค์กรมีลักษณะปิดลับดังกล่าว เนื่องมาจากเงื่อนไขแวดล้อมทางการเมืองในขณะนั้นเป็นสําคัญ[5] เงื่อนไขที่บีบบังคับให้คณะราษฎรต้องจัดตั้งองค์กรในลักษณะปิดลับรวมศูนย์นั้น อาจจําแนกได้ออกเป็นสองส่วน ได้แก่ เงื่อนไขทางการเมือง เช่น สิทธิในการรณรงค์สร้างประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังไม่เกิดขึ้น คณะผู้ก่อการฯ ไม่อาจใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเครื่องมือระดมสมาชิกได้อย่างเปิดเผย[6] ทั้งไม่สามารถใช้วิธีให้ประชาชนจํานวนมากเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงโดยตรง เช่น การก่อสถานการณ์ให้เกิดการจลาจล เนื่องจากฝ่ายผู้ก่อการยังไม่ได้รับชัยชนะด้านอุดมการณ์โดยเด็ดขาด และหวั่นเกรงการเข้าแทรกแซงของชาติมหาอํานาจ หากเกิดการปั่นป่วนและยืดเยื้อสําหรับเงื่อนไขเกี่ยวกับประสบการณ์ในการจัดองค์กรยึดอำนาจนั้น คณะผู้ก่อการฯ ได้รับทราบสาเหตุความล้มเหลวของคณะเก็กเหม็ง ร.ศ. 130 เป็นอย่างดี คณะราษฎรตระหนักดีว่า การจัดตั้งที่ไม่รัดกุม เป็นผลให้ความลับรั่วไหลนั้น เป็นที่มาของจุดจบแห่งขบวนการ
การวางรากฐานอุดมการณ์ใหม่
นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน-31 ธันวาคม นั้น คณะราษฎรได้ออกกฎหมายเพื่อรื้อโครงสร้างของระบบเดิม โดยเฉพาะในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบหน่วยราชการ ช่วงเวลาไม่ถึง 10 วัน คณะราษฎรได้ออกกฎหมายฉบับสําคัญคือ ประกาศจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 กฎหมายฉบับนี้ซึ่งร่างขึ้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นหลักเกณฑ์ในการทําลายฐานกําลังของระบบเดิมลงเสีย (ดังจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป) โดยให้อํานาจมาอยู่ที่ตําแหน่งทางทหารใหม่คือ “ผู้บัญชาการทหารบก”[7] ซึ่งเป็นตําแหน่งใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการประกาศเลิกสภาป้องกันราชอาณาจักรในวันที่ 14 กรกฎาคม 2475[8] ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ “กําลังรบ” แก่พระมหากษัตริย์ในฐานะประธานสภา (เรียกว่าสภานายก)[9] (ดูตารางที่ 1)
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันกับการประกาศยกเลิกสภาป้องกันราชอาณาจักรอันเป็นฐานกําลังคณะราษฎรก็ได้ประกาศยกเลิกองค์กรที่เปรียบดุจกลไกสําคัญในการบริหารประเทศ ทั้งทางการปกครองและเศรษฐกิจพร้อม ๆ กันคือ องคมนตรี อภิรัฐมนตรีสภา สภาการคลัง[10]ลงเสีย และในท้ายที่สุดก็ได้ยกเลิกองค์กรที่คอยทําหน้าที่บริหารราชกิจส่วนพระองค์ลงเสีย คือ “ยุบเลิกกรมราชเลขาธิการ”[11] ทั้งนี้ คณะราษฎรได้ตั้งใจที่จะย้ายศูนย์อํานาจมาเสียเพราะในคำประกาศยกเลิกหน่วยงานเหล่านี้ได้มีการระบุแน่ชัดลงไปว่า เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ[12]ซึ่งเป็นหลักมูลฐานของอํานาจอันใหม่แล้วจึงไม่สมควรที่จะมีองค์กรหรือสถาบันใด ๆ ที่เหมาะสมสําหรับระบบเดิมอีกต่อไป
การรื้อถอนโครงสร้างเก่าของคณะราษฎร มิได้สิ้นสุดลงเฉพาะแต่การสร้างองค์กรใหม่แล้วยุบองค์กรเก่า โดยอ้างเหตุว่าของเดิมเป็นของเหลือใช้ ไม่เหมาะกับกาลสมัยเท่านั้น งานขั้นต่อไปคณะราษฎรได้พุ่งตรงไปที่ตัวบุคคลที่เป็นตัวผลักดันให้โครงสร้างใหม่ทํางานได้ทันที จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากตารางที่ 2 เรื่องกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนตําแหน่งราชการว่า ในราว 6 เดือนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระยะ 6 เดือนของการ ปลด ย้าย เปลี่ยนตําแหน่งอย่างขนานใหญ่ถึง 2 ครั้ง
เพียงสองวันหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็ปลดและเปลี่ยนตําแหน่งเสนาบดี ซึ่งเป็นตําแหน่งงานบริหารสูงสุดเสีย คือ
1. ให้นายพลตรีพระยาประเสริฐสงคราม ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
2. ให้มหาอํามาตย์ตรี พระยาจ่าแสนยาบดี ดํารงตําแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย
3. ให้มหาอํามาตย์เอกเจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ
4. ให้พระยาประมวลวิชาพูล ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ
5. ให้มหาอํามาตย์ตรีพระยาศรีวิสารวาจา ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
6. ให้มหาอํามาตย์โทพระยาเทพวิทูร ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
7. ให้มหาอํามาตย์โทพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดํารงตําแหน่งเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติดํารงตําแหน่ง
8. ส่วนกระทรวงวัง และกระทรวงมุรธาธร คงให้ผู้ที่เป็นเสนาบดีคงมีเกียรติอย่างเสนาบดีตามเดิม[13]
กฎหมายจัดระเบียบทางเศรษฐกิจสมัยคณะราษฎร
ตารางที่ 1 กฎหมายสำคัญ พ.ศ. 2475
ตารางที่ 2
นอกจากนี้ ยังได้มีการปลดอธิบดีกรมตํารวจภูธร[14] ปลดนายทหารออกจากประจําการถึง 41 คน[15] พร้อมทั้งได้นําเอาข้าราชการชุดใหม่ซึ่งเป็นคนในคณะราษฎรบ้าง หรือข้าราชการบางคนที่มิได้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎรเข้าไปดํารงตําแหน่งแทน เพื่อเป็นผู้คอยผลักดันกลไกใหม่นี้ให้ดําเนินไปได้ ในระยะ 6 เดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การปลด เปลี่ยน ย้าย ยังคงดําเนินต่อมาอย่างสืบเนื่อง เกือบจะทุกกระทรวง ทบวง กรมล้วนแล้วแต่เป็นตําแหน่งสําคัญ ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรพาณิชยการ[16] กระทรวงมหาดไทย[17] กรมรังวัดที่ดิน[18] กรมรถไฟหลวง[19] ซึ่งเป็นกรมที่ควบคุมการคมนาคมที่สําคัญที่สุดในสมัยนั้น[20] หรือแม้แต่สถาบันของนักปราชญ์ คือ ราชบัณฑิตยสภา[21]
อย่างไรก็ตาม การปลด เปลี่ยน ย้ายบุคลากรในช่วงนี้ เริ่มที่จะมิใช่การรื้อถอนจักรกลเก่าแล้วแต่ทําไปด้วยความเหมาะสมให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น แต่มีข้อน่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งก็คือ กรมราชเลขาธิการซึ่งเป็นของส่วนพระองค์ก็ถูกยุบ
ท้ายที่สุด เมื่อกรมราชเลขาธิการซึ่งเป็นส่วนของพระองค์ถูกยุบลงแล้วบุคคลหรือองค์กรใดที่เกี่ยวข้องกับของส่วนพระองค์ก็ล้วนแล้วแต่ถูกทําให้ออกไปทั้งสิ้น เช่น เจ้าพระยามหิธรราชเลขาธิการ[22] มหาเสวกตรีพระยาบรมบาทบํารุง (พิณศรีวรรธนะ) ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์[23] มหาเสวกตรีพระยาบัณฑิต สิทธิเศรณีอธิบดีกรมพระอาลักษณ์[24] และรวมทั้งบรรดาข้าราชการกรมราชเลขาธิการอีกถึง 7 คน[25]
จากการยุบกลไกของรัฐเดิม หรือการปลด เปลี่ยน ย้ายบุคลากรของกลไกรัฐเดิม และแทนที่ด้วยกลไกรัฐพร้อมทั้งบุคลากรชุดใหม่นี้ เท่ากับว่าเป็นความพยายามที่จะยักย้ายถ่ายเทศูนย์กลางอํานาจเดิมให้มาอยู่กับศูนย์กลางอํานาจใหม่ซึ่งนั่นก็คือ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นหลักมูลฐานใหม่ของสังคมซึ่งให้อํานาจกับคณะราษฎรไว้
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้นํามาซึ่งการสิ้นสุดของอุดมการณ์แห่งรัฐ (state ideology) อันเป็นมูลฐานแห่งอํานาจกฎหมายแบบเดิมราษฎรกลายมาเป็นมูลฐานแห่งอํานาจและความชอบธรรมแทนสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวสัญลักษณ์
อย่างไรก็ตาม โดยที่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของกระบวนการ (process) ที่เป็นการกระทําต่อเนื่อง แม้อุดมการณ์แห่งรัฐจะได้เปลี่ยนไปแต่องค์ประกอบอีกหลายประการของอุดมการณ์ เช่น ค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมเหล่านี้ ไม่อาจเปลี่ยนได้ด้วยการ “พลิกฝ่ามือ” หากแต่ยังคงท้าทายการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา งานหลักทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรจึงมิใช่สิ้นสุดอยู่แค่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หากแต่จะต้องรีบเร่งนับ แต่วันนั้นเป็นต้นไป ในการดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนแปลง “พลังตกค้าง” เหล่านั้นให้ลุล่วงไปให้ได้ในที่สุด
หมายเหตุ:
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้นำมาเผยแพร่แล้ว
- บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย, โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก, 9-10 พฤษภาคม 2528
- ปรับปรุงจากต้นฉบับโดยบรรณาธิการวิชาการ
- อักขรวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงคงไว้ตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- แล ดิลกวิทยรัตน์, รวมบทความเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ 60 ปี รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ (กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2560)
[1] ข้อถกเถียงที่สําคัญในเรื่องนี้คือ ข้อถกเถียงระหว่างเลนิน, ลุกเซมบูร์ก และเบินสไตน์ โปรดดู ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2519), บทที่ 7-8-9, หน้า 107-175
[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 113
[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 141
[4] ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย,” ในวิชัย บํารุงฤทธิ์ (รวบรวม), รัฐศาสตร์ 14 (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2514), หน้า 259-260
[5] ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่า บุคคลบางคนในกลุ่มผู้ก่อการมีแนวโน้มอํานาจนิยมอยู่แล้ว ดังนั้น สมาชิกคณะราษฎรบางคนจึงกลายมาเป็นผู้เผด็จการ หรือการตีขลุมเอา ด้วยข้ออ้างดังกล่าวว่า คณะราษฎรเป็นที่มาของระบบเผด็จการและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยกําลัง
[6] ปรีดี พนมยงค์ (2), อ้างแล้ว, หน้า 335
[7] “ประกาศจัดระเบียบป้องกันอาณาจักร 3 กรกฎาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 149, 152
[8] “ประกาศเลิกสภาการป้องกันราชอาณาจักร 14 กรกฎาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 159
[9] “ประกาศตั้งสภาการป้องกันราชอาณาจักร, 27 กรกฎาคม 2470,” ใน เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 39-40 ปี พ.ศ. 2469-2470 (พิมพ์ครั้งแรก 1 มิถุนายน พ.ศ. 2477), หน้า 101-102
[10] “ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470,” 14 กรกฎาคม 2475, “ประกาศเลิกอภิรัฐมนตรีสภา 14 กรกฎาคม 2475,” และ “ประกาศเลิกสภาการคลัง 14 กรกฎาคม 2475, ในเสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483)
[11] “ประกาศยุบเลิกกรมราชเลขาธิการ,” ใน เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 156, 157, 158, 295
[12] เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 156, 157, 158, 295
[13] “ประกาศผลัดเปลี่ยนเสนาบดีปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ และสามกระทรวง, 29 มิถุนายน 2475” ใน เสถียร ลายลักษณ์และคนอื่นๆ, ประชุมกฎหมายประจําศกเล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 142-144
[14] “ประกาศประธานคณะกรรมการราษฎร 3 กรกฎาคม 2475,” ราชกิจจานุเบกษา (ภาคราชกิจจา), เล่ม 49 ภาคที่ 1 (2475)
[15] “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่องนายทหารออกจากประจําการ,” ราชกิจจานุเบกษา (ภาคราชกิจจา), เล่ม 49 ภาคที่ 1 (2475), หน้า 1343-1346
[16] ให้ ม.จ.สกลวรรณกร วรวรรณ อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรพาณิชยการ ใน “ประกาศปลดและแต่งตั้งปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรพาณิชยการ 26 กรกฎาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 174
[17] “ประกาศปลดและตั้งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมทะเบียนที่ดินสิงหาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 193
[18] “ประกาศประธานคณะกรรมการราษฎร 1 สิงหาคม 2475,” ราชกิจจานุเบกษา (ภาคราชกิจจา), เล่ม 49 (2475), หน้า 1554
[19] “ประกาศปลดและตั้งผู้บัญชาการรถไฟหลวง 1 สิงหาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 194
[20] ศุภรเลิศ, “เล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการสองสมัย,” ธนาคารแห่งประเทศไทยปริทรรศน์, ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (ธันวาคม 2519)
[21] “ประกาศตั้งและปลดนายกราชบัณฑิตยสภา 28 กรกฎาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2 2483), หน้า 176
[22] “ประกาศเวนคืนตําแหน่งหน้าที่ราชการ 31 สิงหาคม 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 296
[23] “แจ้งความศาลาว่าการพระราชวัง 30 กันยายน 2475,” ใน ราชกิจจานุเบกษา (ราชกิจจา) เล่ม 49 ภาคที่ 2, (2475), หน้า 2426
[24] “ประกาศปลดอธิบดีกรมพระอาลักษณ์ 15 พฤศจิกายน 2475,” ใน เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 45 กฎหมาย พ.ศ. 2475 (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2483), หน้า 374
[25] 1) มหาเสวกตรีพระยาประพันธ์ดํารัสลักษณ์ (กม ศุขะวณิช) เจ้ากรมกองสารบรรณ
2) เสวกเอกพระยานิพุทธอิศรวงค์ (ม.ร.ว.กมล นวรัตน์) เจ้ากรมกองฐานันดร และทะเบียน
3) เสวกเอกพระยานิพนธ์พจนนาตถ์ (สันต์ วิจิตรานนท์) เจ้ากรมกองลัญจกร
4) เสวกเอกพระยาสุนทรลิขิต (ทองสุก โปตระนันทน์) เจ้ากรมกองราชกิจจา
5) เสวกเอกพระยาศรีวรโวหาร (สมบุญ อมัติรัตนะ) เจ้ากรมกองสารบรรณ
6) เสวกโทพระพิพัฒนวรรณกิจ (บุญ เสนาลักษณ์) เจ้ากรมกองรักษาหนังสือ
7) เสวกโทพระประสิทธิ์บรรณากร (แฉล้ม กฤษณามระ) เจ้ากรมกองบัญชี
ใน “ประกาศประธานคณะกรรมการราษฎร 1 ตุลาคม 2475,” ใน ราชกิจจานุเบกษา (ภาคราชกิจจา) เล่ม 49 ภาค 2, (2475), หน้า 2615-2616