ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ไม่ง่าย ไม่จบ ไม่กลับไปเหมือนเดิม” บทเรียน 2475 ถึงเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยไทย

29
มิถุนายน
2567

 

Focus

  • แล ดิลกวิทยรัตน์ กล่าวถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย และเสนอแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ไว้ว่าต้องประกอบด้วย 3 แนวทาง คือประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางสังคม
  • แลได้เคยไปเยี่ยมเยียนนายปรีดี พนมยงค์ที่บ้านอองโตนี ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ของคำศัพท์การเมืองในบริบททางเมืองไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ เรื่องศัพท์คำว่า คณะราษฎร และวาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม
  • สุดท้ายแลวิเคราะห์ว่ากระบวนการทางสังคมที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในทางปัจจัยภายในและโดยเฉพาะผลกระทบต่อปัจจัยภายนอกรวมทั้งบริบทโลกทำให้การนำไปสู่ประชาธิปไตยมีการหยุดชะงักหากเป็นเรื่องที่ปกติและกล่าวไว้ในใจความสำคัญเกี่ยวกับเอกภาพและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันเป็นบทเรียนและมรดกจากยุคสมัยคณะราษฎรไว้ว่า “ผมเชื่อว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยอยู่ในทุกคน เมื่อมีอุปสรรคเข้ามาสุดท้ายคนก็จะกลับมารวมตัวกันเสมอ ซึ่งเป็นความหมายของเอกภาพ"

 

 

 

วรรณภา ติระสังขะ

ความมุ่งหมาย บทเรียนจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 จนถึงทุกวันนี้ เรามีบทเรียนอะไรที่สำคัญ เราควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง และเราควรจะหวังอะไรได้บ้างในอนาคต

 

 

แล ดิลกวิทยรัตน์

สวัสดีครับ เมื่อครู่คุณชัยธวัชบอกคงตอบไม่หมดเพราะว่าคำถามยาวมาก เพราะฉะนั้น จะตอบเท่าที่จำได้ จะตอบได้ไม่หมด ผมมีความสามารถในการจำคำถามจำกัดลงทุกที หรือว่าถ้าไม่เป็นที่พอใจ แล้วอาจารย์ค่อยถามต่อ ผมคิดว่าประเด็นที่เราควรจะคุยกัน และคุยกันทุกปี เรื่องของบทเรียนที่เกิดจากความพยายามที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นในสังคมนี้ แต่ผมคิดว่าบทเรียนอาจจะสรุปได้สัก 3 คีย์เวิร์ด อันแรกจะต้องสรุปว่า ไม่ง่าย อันที่สอง อยากจะสรุปว่า ไม่จบ อันที่สาม สรุปว่ามันจะไม่กลับไปเหมือนเดิม

ผมอยากจะบอกแบบนี้ครับว่า ที่บอกว่าไม่ง่ายนี่ทุกคนรู้ ไม่ต้องอธิบายก็ได้มันจะครบศตวรรษแล้ว เรายังต้องมาพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ไม่ประชาธิปไตย เราต่อสู้กันมาตลอด มันได้อย่างที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง มีคนมาแย่งกลับไปบ้าง ก็แน่นอนว่า ประชาธิปไตยเองนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการการสร้างประชาธิปไตยมันไม่ใช่หนังม้วนเดียวจบ มันเป็นหนังซีรีส์ อาจจะบอกว่าสำหรับหลายคนมันไม่จบในชีวิตของเรา เราคุยกับคนที่มีบทบาท 2475 เราคุยกับคนรุ่นต่อมา หลายคนที่เราคุยด้วยวันนี้ไม่ได้มีชีวิตอยู่กับเราแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นหนังซีรีส์ที่ยาว

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดจากเจตจำนงของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถเกิดจากความตั้งใจและควบคุมได้ กระบวนการประชาธิปไตยจะต้องถูกกระทบจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมเสมอ ช่วงแรกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีคนหลากหลาย หลายฝ่าย แต่ละฝ่ายเข้าใจวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงตรงกันก็จริงแต่ต่างขนาดกัน แต่ต่างขนาดกัน เราสังเกตดูเวลาเราอภิปรายเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ฝ่ายหนึ่งเข้าใจเค้าโครงการเศรษฐกิจว่าเอาตามหลัก 6 ประการนี้ชัดเจน แต่บางคนก็จะบอกว่าเอาเท่าที่ทำได้ก่อน อย่างนี้เป็นต้น มันเริ่มที่จะมีปัญหาแบบนี้ แม้ในกลุ่มคณะราษฎรเอง บางครั้งก็เข้าใจไม่เท่ากัน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

เพราะว่าในเรื่องของการที่จะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่มันมีต้นทุนถึงขนาดตัดหัว 7 ชั่วโคตร ใครจะมาพูดกันได้ละเอียดจนกระทั่งเข้าใจถ่องแท้เป็นวงกว้างถึงขนาดที่เราจะไม่ขัดแย้งกันเลย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซียหลังจากนั้นก็จะต้องมีความขัดแย้งแล้วก็พยายามที่จะต้องหาความลงตัวซึ่งประกอบด้วยปัจจัยภายนอกอีกเยอะ เพราะอย่างนั้นกระบวนการอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา ความที่มีอุปสรรคบ้าง ก้าวเดินช้าบ้าง เร็วบ้าง หยุดชะงักบ้าง เป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ผมจึงบอกว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย

อันที่สองอยากจะบอกว่า ไม่จบ ไม่จบเพราะอะไร เพราะว่าทุกวันนี้เรายังพูดประชาธิปไตยสมบูรณ์ใช่ไหมครับ แม้ว่าท่านอาจารย์ปรีดีเองจะพูดไว้เมื่อหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถ้าเข้าใจไม่ผิดก็น่าจะเป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2516 ด้วยซ้ำไปนะครับ เราต้องดูบริบทของเรื่องนี้

แน่นอนว่าเราพูดถึงคำว่า สมบูรณ์ แปลว่า ณ จุดที่เรากำลังพูดมันยังไม่สมบูรณ์มันเป็นสิ่งที่ต้องไป มันเป็นอุดมคติเรากำลังเดินเข้าหาดวงจันทร์ หาดวงดาว เราก็ต้องเดินไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่ง เราจะไม่สามารถแล้ว เราพูดว่าเรากำลังเดินเข้าหาดวงดาวแปลว่าเรายังไปไม่ถึง เรากำลังพูดว่า เรากำลังพยายามสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ก็แปลว่ามันยังไม่สมบูรณ์ เรื่องสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ก็เป็นเรื่องอุดมคตินะครับ แน่นอนว่ามันมีการแตกตัวออกมาว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นมันจะต้องมีการอย่างที่คุณชัยธวัชว่า ประชาธิปไตยที่อาจารย์ปรีดีพูดถึง ก็คืออำนาจของประชาชน และอำนาจของประชาชนท่านก็บอกว่า ต้องแตกออกมาให้มันชัด ไม่ใช่อำนาจทางการเมืองอย่างเดียว คือไม่ใช่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจรัฐอย่างเดียวแต่จะต้องหมายถึงประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย นั่นแปลว่ามันจะต้องไม่มีการผูกขาด หมายถึงว่าทรัพยากรทั้งหลายต้องตกแก่คนข้างมากของแผ่นดินไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง จะต้องมีประชาธิปไตยทางสังคมที่ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน นี่จึงจะเรียกว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์ การที่จะเรียกว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์เพราะสิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นเรื่องมันยังไม่จบ

ผมคิดว่า ถ้าพูดเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้วดึงไปหาบริบทในปี 2516 นี่คือ เป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีพยายามจะบอกก็คือว่า 14 ตุลา ไม่ใช่จุดจบของหนังเรื่องนี้นะ มันยังจะต้องไปอีก เป็นคำเตือนเพราะเรื่องพรรณนี้เราต้องไม่พูดลอย ๆ เราต้องดูว่าพูดเมื่อไหร่ในบริบทอะไร และ ณ จุดนั้น ท่านกำลังบอกอะไรเรา ซึ่งผมคิดว่า อย่างนี้สำคัญ มันเป็นเรื่องที่เราต้องเดินต่อไป ท่านอาจารย์ปรีดีกำลังบอกว่ายังไม่จบนะพูดง่าย ๆ มันยังไม่จบเราก็ต้องเดินต่อไป

เรื่องหนึ่ง ถ้าเราพูดถึงเอกภาพอันหนึ่งที่คิดว่าสำคัญมากเวลาที่เราพูดถึงเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตย ที่จริงเอกภาพมันดูได้หลายระดับ นอกเหนือจากคำถามว่า มันจำเป็นที่ต้องมีเอกภาพหรือไม่ คุณชัยธวัชบอกว่า คิดเหมือน ๆ กันนี่มันจะเป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า นอกจากในความหมายนั้นแล้ว ถ้าจะพูดถึงเอกภาพ มันมีความหมายของเอกภาพในหลายนัยยะด้วยกัน เวลาเราพูดถึงขบวนการเรามักจะพูดถึงขบวนการของฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายประชาธิปไตยแล้วเราก็จะบอกว่ามันมีการแตกกัน มีการขัดกัน มีการสะดุดหยุดชะงักอะไรแบบนี้

เรากำลังพูดถึงเอกภาพของขบวนการจะเรียกว่าเป็นพรรคการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่  อันนั้นก็เป็นสิ่งที่มันจะต้องมีการสะดุดหยุดชะงักเพราะมันมีตัวแปรข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง มันมีบริบทที่เปลี่ยนไปกระแสโลกเปลี่ยนไป ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาแต่อันหนึ่งซึ่งเราอาจจะพูดได้ว่ามันเป็นเอกภาพจริง ๆ นั้น ก็คืออุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่เคยขาดตอน ผมคิดว่าแม้ว่าบางครั้งจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยมันมีอยู่ในทุกคนเหมือน 'แหน' ที่อยู่ในบ่อ เวลามันใครเอาหินทุ่มตู้มลงไป 'แหน' อาจจะกระจายออก มีการใช้ความรุนแรงอะไรก็มันอาจจะกระจายออกแต่ว่าเมื่อน้ำมันสงบนิ่ง 'แหน' ย่อมกลับมารวมกันเสมอ อันนี้คือเอกภาพ ทุกครั้งที่เราเผชิญอะไรต่าง ๆ สักพักนึงเราจะกลับมารวมกันไม่เคยขาดคือเอกภาพ

สุดท้ายที่ผมบอกคือ ไม่เคยย้อนกลับ เราเองถึงจะยังเถียงกันอย่างไรก็แล้วแต่จะเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายไม่ประชาธิปไตยก็แล้วแต่ ทุกคนยังคงไม่มีใครปฏิเสธเรื่องประชาธิปไตย สำคัญที่สุดคือแม้กระทั่งฝ่ายที่ยึดอำนาจก็จะอ้างว่าให้ฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจนั้นไม่ทำการอันเป็นประชาธิปไตยเพราะฉะนั้นสิ่งที่คณะราษฎรมอบให้เรานั้นคือความเป็นประชาธิปไตยและการของโหยหาประชาธิปไตยชนิดที่ไม่มีโอกาสหวนกลับไปอีกแล้วก่อน 2475 ขอบคุณครับ

 

วรรณภา ติระสังขะ

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์แล บทเรียนที่อาจารย์บอกน่าสนใจมากนะคะ ไม่ง่าย ไม่จบ ไม่กลับไปจุดเดิม เพราะว่าการต่อสู้นี้ ขบวนการประชาธิปไตยแบบนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีปัจจัย บริบท ตัวแสดงอะไรเข้ามาแต่ก็ยังเดินยังเดินไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบนะคะ แล้วเราก็คาดหวังว่ามันก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์คะในฐานะที่อาจารย์สนใจแล้วก็ขับเคลื่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยในขบวนการแรงงานด้วยนะคะ อาจารย์เห็นว่าการขับเคลื่อนหรือกระบวนการประชาธิปไตยแรงงานหลังการอภิวัฒน์ 2475 จนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วทุกวันนี้ขบวนการแรงงานมีการขับเคลื่อนอย่างไร และอาจารย์อยากจะส่งเสริมแนะนำให้บทเรียนหรือว่าเสนอแนะอะไรได้บ้าง เรียนเชิญค่ะอาจารย์

 

แล ดิลกวิทยรัตน์

ผมคิดว่า สิ่งที่คณะราษฎรพูดเป็นหลักอันนึง คือเรื่องของความเสมอภาคทีนี้ความเสมอภาคผมเห็นด้วยนะครับ ว่ามันจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่ความเสมอภาคนั้นยังอยู่วันนี้อาจจะมีความเสมอภาคทางเพศทางอะไรหลายอย่าง ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการพูดถึงความเสมอภาคของคนไทยกับคนต่างด้าว แต่ว่าแรกเริ่มจริง ๆ ผมคิดว่าความเสมอภาคที่คณะราษฎรพยายามเสนอก็คือความเสมอภาคระหว่างเจ้ากับไพร่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือระหว่างเจ้าของที่ดินกับเจ้าของแรงงานเพราะเราถือว่าไพร่เหมือนในงานของเทียนวรรณ ไพร่ก็เป็นพื้น

ประเด็นสำคัญก็คือว่าสิ่งที่คณะราษฎรถูกโจมตี คือคณะราษฎรไม่ใช่ราษฎรแต่ว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ขุนนางกลุ่มน้อยที่มีการศึกษาเพราะฉะนั้นจะไปพูดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมโดยประชาชนไม่ได้ สิ่งที่คณะราษฎรพยายามพิสูจน์ก็คือว่า ในคณะราษฎรนั้นมีตัวแทนของกรรมกรด้วย เช่น คุณถวัติ ฤทธิเดช อันนี้ขบวนการแรงงานก็ยกมาและเป็นผู้นำกรรมกรรถรางนะครับ และวงการแรงงานก็พูดถึงคณะราษฎรในแง่ของความพยายามที่จะยกนะเอาไพร่กับนายให้เท่าเทียมกัน

ดังนั้นกระบวนการมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นะครับ วันนี้เราจะสังเกตเห็นว่าลูกจ้างพยายามที่จะต่อรองให้ได้รับความยุติธรรมในการที่จะจ่ายค่าจ้างหรือการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างทุนกับแรงงานใช่ไหมครับ การที่ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค่าตอบแทนหรือว่าเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในระดับกินอยู่ได้อย่างเป็นผู้เป็นคนมันก็คือผลพวงที่มาจากการพูดถึงเรื่องความเสมอภาคระหว่างผู้ใช้แรงงานนะกับเจ้านายหรือว่าไพร่กับนายมันไม่ต่างกัน

แต่ว่าอันหนึ่งที่น่าสนใจจะบอกว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญนะก็คือว่าเนื่องจากในแง่สังคมมันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร ค่านิยมแบบเจ้าขุนพลนายมันยังดำรงอยู่ ดังนั้น รัฐไทยก็จะใช้ค่านิยมอันนี้ไปดูดซับพลังแรงงานออกมาด้วยการที่มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีอะไรต่าง ๆ โดยให้ตัวแทนกรรมกรขัดแย้งกันแยกตัวกันเพื่อที่จะใครจะได้เป็นตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลในคณะกรรมการไตรภาคีเพราะสังเกตว่าหลายคนพอได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการไตรภาคี เช่น กรรมการค่าจ้าง กรรมการสวัสดิการอะไรต่าง ๆ เราก็จะไปใส่ชุดขาวถ่ายรูปติดไว้หน้าบ้านและบางคนได้สายสะพายก็ติดไว้หน้าบ้าน อันนี้มันทำให้เกิดกระบวนการถอดเขี้ยวถอดเล็บตัวแทนแรงงาน สิ่งนี้ตัวขบวนการแรงงานรู้ดีว่ามันเป็นตัวบ่อนเซาะพลังของแรงงานออกไปเยอะในการต่อสู้เพื่อให้ได้เกิดความเท่าเทียม

ทุกวันนี้ความขัดแย้งทางด้านแรงงานภายในขบวนการแรงงานเองก็คือความขัดแย้งระหว่างคนที่คิดว่าตัวเองพยายามจะสู้นะครับเพื่อชนชั้นแรงงานกับคนอีกพวกหนึ่งซึ่งอาจจะพยายามสู้เพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในกรรมการไตรภาคีที่รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งแล้วถือว่าเหมือนกับเป็นคนของรัฐนะครับต้องดูแลผลประโยชน์ทุกฝ่ายไม่ใช่ฝ่ายแรงงานอย่างเดียว อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ผมอยากจะฝากนิดนึงครับ เป็นเรื่องส่วนตัวคือเมื่อปี 2522 ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์-กองบรรณาธิการ) อ้างอิงนิดนึงว่าผมไปกับวิทยากร(เชียงกูล-กองบรรณาธิการ)และภรรยาอาจารย์วิทยากร คือ อาจารย์พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม สิ่งที่อาจารย์ปรีดีฝากแล้วผมจำได้แม่น ๆ 2 อย่างนะครับ อย่างแรก อาจารย์ปรีดีบอกว่าขอฝากให้ไปบอกทุกคนว่าคณะราษฎรนั้นใช้ชื่อว่าคณะราษฎร เราไม่เคยเรียกว่าคณะราษฎร์ซึ่งมันเป็นการบิดเบือนนัยยะความหมายของคณะราษฎรว่าอันนี้เป็นของราษฎรจริง ๆ อย่างที่ 2 ช่วยไปอธิบายทฤษฎีชิงสุกก่อนห่ามว่าคณะราษฎรไม่ใช่เด็กวัยรุ่นใจร้อนนึกอยากจะยึดอำนาจก็ขึ้นมายึดนะครับ เขาคิดอะไรกันมามากมาย

เมื่อครู่ผมนั่งรถมาก็คุยกับลูกชายว่า ชิงสุกก่อนห่ามจะไปเปรียบเทียบกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้เพราะว่าผลไม้นั้นมันห่ามตามธรรมชาติ สังคมมันเปลี่ยนแปลงมันเป็นเงื่อนไขที่มนุษย์กระทำเยอะ ไม่ใช่เป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นทฤษฎีชิงสุกก่อนห่ามที่ใช้โจมตีคณะราษฎรนั้นมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออย่างที่บอกกัน ผมเรียนมาตั้งแต่ผมเข้ารัฐศาสตร์ปี 1 นะครับทฤษฎีนั้นแล้วก็ผมคิดว่าทุกวันนี้อาจจะมีการพูดกันและอาจจะพาดพิงมาถึงพรรคการเมืองที่เห็นว่าเด็กแล้วเข้ามาได้อำนาจ อย่างเช่นพรรคฝ่ายค้านที่นั่งอยู่ตรงนี้(หมายถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล-กองบรรณาธิการ) อันนี้ก็ใช้กันมาตลอด ผมฝากด้วยเพราะผมอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดบนเวทีเท่าไหร่ ผมฝากมรดกของท่านอาจารย์ปรีดี 2 ข้อนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

 

วรรณภา ติระสังขะ

ขอบคุณอาจารย์แลมากเลยค่ะ ที่จริงค่านิยมเจ้าขุนมูลนายที่ดูดซับขบวนการแรงงาน ทำให้ขบวนการแรงงานแตกและถูกยกระดับแตกต่างกันออกไป ทำให้ดิฉันนึกถึงหนังสือ Animal Farm ของ George Orwell หลังจากการปฏิวัติเสร็จเรียบร้อยหมูก็ขึ้นมานอนบนเตียงทั้งที่ตนเองก็บอกว่าฉันไม่...นะในตอนต้น อันนี้ก็น่าสนใจมากโดยเฉพาะเกร็ดที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ฝากไว้ด้วย จริง ๆ ก็ถูกต้องเลยค่ะ เพราะทุกวันนี้ สิ่งนี้ก็ยังทำอยู่ตลอดเวลาคือ การแย่งชิงพื้นที่ของคำ คำทำให้คนจินตนาการและคนคิดถึงสิ่งที่ตามมาแตกต่างกันออกไป ทำให้การแย่งชิงพื้นที่นี้มันจึงดำรงอยู่ตลอด อยากจะฝากไว้ว่า ในสังคมเราควรจะตระหนักดี ๆ ในเรื่องราวเหล่านี้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ 

 

 

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/YVb4lfLzWIE?si=YxynccePR8-K5Juj

ที่มา : PRIDI Talk #26: 92 ปี อภิวัฒน์สยาม “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” เนื่องในวาระ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น.-17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์