ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

อุดมการณ์และการจัดตั้งของคณะราษฏร : อุดมการณ์ของคณะราษฎร (ตอนที่ 1)

3
มิถุนายน
2567

ภาพถ่ายนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ Place du Trocadéro ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 : พรมแดนแห่งความรู้

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งนําโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับจนบัดนี้ก็ล่วงมาได้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนได้ผ่านการรับรู้เรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า[1] แต่ละครั้งก็ได้ความต่างกันไป บ้างก็ว่า “ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น...ทุกวันนี้ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าประเทศของเรามีประชาธิปไตย”[2] บ้างก็ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเพียง “เครื่องประดับเกียรติยศ” ชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่บางพวกก็ โจมตีว่า กลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงเป็น “พวกรื้อถอนอารยธรรมสังคม”[3]

จริงอยู่ ความพยายามที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ใด ๆ ให้ถ่องแท้จะต้องมาจากความหลากหลายของวิธีการมอง แต่สําหรับความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และคณะราษฎรนั้น ความหลากหลายของทัศนะการมองไม่ช่วยให้ได้ภาพครบถ้วนเท่าที่ควรเป็น แต่เป็นความหลากหลายที่จํากัดความสนใจเฉพาะจุดเท่านั้น

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับความครบถ้วนของมิติการมองปรากฏการณ์แล้ว ภาพที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังเผชิญหน้าการนําเสนออย่างน้อยสองประการด้วยกันคือ ปัญหาเกี่ยวกับกรอบทฤษฎีที่ใช้เป็นแนววิเคราะห์และปัญหา “การเมือง” ของข้อมูล

ถ้าจะกล่าวเฉพาะปัญหาเรื่องทฤษฎีประกอบการวิเคราะห์ฐานะของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจแบ่งกลุ่มผู้ให้ความเห็นออกได้เป็นสองพวก พวกแรก มองไปที่เหตุแห่งการก่อกวนของขบวนการและการเปลี่ยนแปลง ส่วนพวกหลังมองที่ผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พวกที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงโดยดูที่สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นของคณะบุคคลเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย[4] ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลให้ฐานะการคลังทรุดและกระทบกระเทือนราษฎรในที่สุด[5] หรือความขัดแย้งระหว่างขุนนางกับเจ้า[6]ก็ตาม เหล่านี้ไม่มีข้อใดเลยที่ช่วยให้ความกระจ่างต่อฐานะของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้เกินไปกว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การอธิบายโดยดูจากด้านสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ สิ้นพลังการอธิบายลงแค่วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

ต่อการประเมินผลของการเปลี่ยนแปลงวิธีอธิบายดังกล่าวกระทําโดยดูจากการประกอบตัวของปัจจัยต่าง ๆ ขึ้นเป็นคณะราษฎร ผลที่ได้จากการวิเคราะห์แบบนี้ก็คือ ขบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความอ่อนแอ แต่หากจะถามต่อไปว่า เมื่ออ่อนแอแล้ว ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เชียวหรือ? วิธีการวิเคราะห์เช่นนี้ไม่อาจตอบคำถามนี้ได้

ส่วนพวกที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากด้านผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นแยกออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกพยายามใช้ทฤษฎีปฏิวัติประชาธิปไตยเข้ารับ ส่วนกลุ่มหลังอาศัยทฤษฎีปฏิวัติกระฎุมพีเข้าวิเคราะห์

กลุ่มที่ใช้กรอบทฤษฎีปฏิวัติประชาธิปไตยได้หยิบยกปัญหาความเป็นประชาธิปไตยเป็นเกณฑ์วัด พวกนี้ได้หยิบยกเอาเรื่อง “เผด็จการทางรัฐสภา” ที่อ้างว่าสมาชิกรัฐสภาสมัยแรกทั้งหมดเป็นสมาชิกคณะราษฎร การตั้งศาลพิเศษขึ้นกําจัดศัตรูทางการเมือง การใช้กําลังเข้าควบคุมอํานาจรัฐดังกรณีปราบขบถบวรเดช ฯลฯ เป็น “หลักฐาน” ที่นําไปสู่ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ไทย[7] เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบการปกครองและกลุ่มบุคคลผู้ควบคุมอํานาจรัฐ หรือถ้าจะเป็นอะไรนอกจากที่กล่าวมาแล้ว อย่างมากก็เป็นเพียงการระเบิดของความกดดันซึ่งสะสมกันมานับตั้งแต่สมัยเริ่มรับแนวความคิดแบบตะวันตก[8] ทั้งหมดนี้หาใช่การปฏิวัติในความหมายที่แท้จริงไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการกระทําของคณะราษฎรหรือการบริหารประเทศ ภายใต้การนําของคณะราษฎรจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าคณะราษฎร “ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้น” ในสังคมไทยไม่ใช่หรือ กระบวนการบริหารประเทศโดยหลักนิติธรรม การเห็นว่าประชาชนเป็นที่มาของความชอบธรรมในการใช้อํานาจบริหารประเทศ ระบบเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันในแบบที่เท่าเทียมกันแทนความสัมพันธ์แบบเจ้าแผ่นดินกับผู้อาศัย เหล่านี้เรากล่าวได้เต็มปากเต็มคําเพียงใดว่าไม่ใช่ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

กลุ่มที่สองใช้ทฤษฎีการปฏิวัติกระฎุมพีเข้าจับแทนทฤษฎีปฏิวัติประชาธิปไตย นักคิดกลุ่มนี้แม้จะใช้กรอบความคิดเดียวกันก็ไม่ลงรอยกันในข้อสรุป ขณะที่ อรัญญ์ พรหมชมภู กล่าวไว้ในปี 2493 ว่า

เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการทําลายอํานาจศักดินาอย่างจํากัดมาก แม้จะมีความใฝ่ฝันเป็นประชาธิปไตยของนายทุน แต่ก็เป็นเพียงการรัฐประหารของพวกขุนนาง ทหาร และพ่อค้า เป็นการกระทําของคนส่วนน้อยที่มิได้นําประเทศชาติไปสู่ความเป็นเอกราช และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์[9]

ในปี 2500 ปรีดี พนมยงค์ โต้แย้งว่า

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแต่ตัวผู้นํา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต คือยกเลิกความสัมพันธ์ใหม่แบบผู้ให้เช่ากับผู้เช่าแห่งระบบธนานุภาพ[10]

ชะรอยการที่ลงรอยกันไม่ได้ในข้อสรุปของนักคิดทั้งสอง เปิดทางให้กับวฤทธิ์ เผ่าอารยะ ตั้งคําถามเอากับความเป็นไปได้ในการใช้ทฤษฎีปฏิวัติกระฎุมพี อธิบายการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย

ในบทความชื่อ “อะไรคือการปฏิวัติกระฎุมพีในทัศนะของมาร์กซ์: วิเคราะห์กรณีการปฏิวัติ 2475 และการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524” วฤทธิ์ได้หยิบยกลักษณะสําคัญของการปฏิวัติกระฎุมพีจากการศึกษางานของมาร์กซ์ 4 เล่ม แล้วสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 “ไม่เข้ากับสูตรเลย” โดยให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้นําโดยชนชั้นกระฎุมพี ไม่นองเลือด ไม่เปลี่ยนรูปการปกครอง โครงสร้างสังคม และจิตสํานึกของชนชั้น หากเป็นแต่เพียงการลดสิทธิพิเศษของชนชั้น ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพียงแต่ลดความเข้มงวดลงเท่านั้น[11]

ข้อสรุปนี้ แสดงให้เห็นว่าการที่จะได้คําตอบอย่างน่าพอใจเกี่ยวกับฐานะของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และสถานะของคณะราษฎร ยังคงเป็นปัญหาต่อไป ยังท้าทายการสืบค้นทางวิชาการอย่างไม่จบสิ้น งานวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นเพียงความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะหาคําตอบในมิติที่ต่างไปจากเดิมเท่าที่จะทําได้

การประเมินฐานะของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และฐานะของคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทยให้ได้ตรงที่สุดน่าจะดูจากกระบวนการก่อตัวของสังคมไทย (social formation) อันเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของระบบ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งมีความผูกพันและกําหนดซึ่งกันและกัน กระบวนการก่อตัวของสังคมไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นระบบที่รวบศูนย์อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งอํานาจ และความชอบธรรม ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การประเมินฐานะของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงควรจะเปลี่ยนเป็นการตอบคําถามว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดความเป็นไปอย่างไรบ้างกับระบบความสัมพันธ์เช่นว่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากสังคมมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยู่ตรงไหน และมีบทบาทอย่างไร ในกระบวนการนั้น

 

อุดมการณ์ และการจัดตั้งของคณะราษฎร

การศึกษาเรื่องอุดมการณ์และการจัดตั้ง (organization) ของคณะราษฎรนี้แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นอุดมการณ์กับส่วนที่เป็นการจัดตั้ง ส่วนแรกเป็นจุดหมาย ในขณะที่ส่วนหลังเป็นวิธีการที่จะดําเนินไปสู่จุดหมายนั้น

โดยเหตุที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การศึกษาเรื่องของอุดมการณ์ให้ได้ภาพที่ชัดเจนและเข้าใจ ตรงกันจึงเป็นสิ่งที่จําเป็น การศึกษาเรื่องนี้จึงเริ่มจากการทําความเข้าใจกับความสําคัญและความสัมพันธ์ของอุดมการณ์กับการเปลี่ยนแปลงสังคม ถัดจากนั้นจึงเสนอภาพอุดมการณ์แห่งรัฐไทย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นความขัดแย้งและวิกฤติการณ์ที่เกิดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพุทธศตวรรษที่ 25 การก่อตัวของกลุ่มอาชีพใหม่อันเนื่องมาแต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของรัฐประชาธิปไตย

การแสวงหาอํานาจและฐานะการนําของกลุ่มอาชีพข้าราชการ การท้าทาย ความชอบธรรมของอุดมการณ์หลักของรัฐ และการก่อตัวของอุดมการณ์ ส่วนที่สองเป็นการศึกษาเรื่องการจัดตั้ง เริ่มจากการเสนออุดมการณ์ของ คณะราษฎร การตีความในแง่ที่สัมพันธ์กับพื้นฐานทางสังคม การจัดตั้งคณะราษฎรในรายละเอียดและการชี้ให้เห็นเงื่อนไขที่กําหนดรูปแบบการจัดตั้งดังกล่าว และการดําเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของรัฐเป็นประเด็นสุดท้าย

 

การก่อตัวของอุดมการณ์ประชาธิปไตย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติได้ทรงมีพระราชปรารภกับ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ให้เห็นถึงความถดถอยของสถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นอย่างแจ่มชัด[12] ทรงชี้ว่ามีผู้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์หนักขึ้น ในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงพระองค์เจ้าธานีนิวัต[13] ทรงปรารภว่า เป็นการสายเกินไปเสียแล้วที่รัฐบาลของพระองค์จะสร้างความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ให้เกิดในหมู่ประชาชนเหมือนกับรัฐบาลฟัสซิสต์ของมุสโสลินี ทั้งนี้เนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้านั้นคุ้นกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์จนติดนิสัยเสียแล้ว ทรงเห็นว่า เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ มีส่วนกระหน่ําซ้ําเติมภาวะถดถอยดังกล่าวให้ทรุดหนักยิ่งขึ้น พระองค์ยังทรงตั้งข้อสังเกตว่า คลื่นของการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องชี้ว่า ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ในฐานะเสื่อมถอยลงทุกขณะ หลังจากนั้นอีก 6 ปี พระราชปริวิตกของพระองค์ก็เป็นจริง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ข้อที่น่าถามก็คือ การขยายตัวของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหลักของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนเป็นเหตุให้ระบอบดังกล่าวถึงที่สิ้นสุดลงนั้น ถือกําเนิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร

การสร้างระบบราชการให้เป็นกลไกอํานาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ กระทําโดยได้สร้างชนชั้นผ่านกระบวนการศึกษาสมัยใหม่ โดยเฉพาะการศึกษาจากต่างประเทศกระบวนการสร้างกลไกรัฐดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ใหม่ที่มีฐานเศรษฐกิจและโลกทัศน์ต่างไปจากชนชั้นภายใต้โครงสร้างสังคมเดิมให้เกิดขึ้น ข้าราชการจํานวนไม่น้อยเป็นชนชั้นใหม่ที่มีพื้นฐานครอบครัวมาจาก ชาวจีนและสามัญชน อันหมายความว่า มิได้มาจากครอบครัวที่อาศัยระบบ “กินเมือง” ในโครงสร้างสังคมแบบศักดินา เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบราชการ คนเหล่านี้กลายมาเป็นผู้ที่กินเงินเดือนประจํา ความก้าวหน้าของพวกเขามิได้ขึ้นอยู่กับ “นาย” คนใดคนหนึ่งดังแต่ก่อน หากแต่ขึ้นอยู่กับความสําคัญของสถานะแห่งอาชีพตนในกระบวนการเติบโตของรัฐในความหมายใหม่ นั่นคือ รัฐประชาชาติ (nation state) ไม่ใช่รัฐราชสมบัติ (empire state) ดังที่เคยเป็นมา

เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร นั่นก็คือความคิดที่ว่า ประเทศมิได้เป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว หากแต่เป็นของราษฎรทั้งหมดร่วมกัน แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่ขัดแย้งโดยตรงต่อแนวความคิดเรื่องรัฐราชสมบัติ-กษัตริย์เป็นเจ้าแผ่นดิน อันเป็นเสาเอกของอุดมการณ์ศักดินาที่โอบอุ้มระบบสังคมแบบนั้นต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ คํากราบบังคมทูลของกลุ่มพระราชวงศ์ และขุนนางที่อยู่ในยุโรป เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2427 (ร.ศ. 103) เป็นการแสดงให้ปรากฏเป็นครั้งแรก ซึ่งแนวความคิดดังกล่าว ดังข้อความที่ว่า

ถ้ามิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาตามที่รู้เห็นแล้ว ก็เป็นการขาดความกตัญญูและน้ําพิพัฒน์ ทั้งความรักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และทั้งพระราชอาณาเขต ซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้าชาวสยามทั่วกันหมด...”[14]

จากแนวความคิดดังกล่าว “คณะ ร.ศ.103”  จึงเรียกร้องให้รัชกาลที่ 5 เปลี่ยน ระบบการปกครองจาก “แอบโซลูดโมนากี” เป็น “คอนสติตัวชันแนลโมนากี” และเพื่อให้ “กรุงสยามนั้นเป็นเมืองราษฎร”[15]

การแสดงออกซึ่งความคิดและข้อเรียกร้องดังกล่าว แสดงให้เห็นการตื่นตัวของผู้ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมไปในทิศทางเดียวกับคณะราษฎร ซึ่งได้ลงมือทําในอีกครึ่งศตวรรษต่อมา

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของคณะ ร.ศ. 103 มิได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง นอกจากการปฏิรูปกลไกการควบคุมอํานาจรัฐระหว่างปี 2435-2453 ที่เรียกว่า “คอเวอนเมนต์รีฟอม”[16] ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรก็ยังคงเป็นไปตามเดิม

ข้อเรียกร้องของคณะ ร.ศ. 103 ได้รับการรื้อฟื้นโดยเทียนวรรณกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ งานของเทียนวรรณซึ่งตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2443-2449 นั้น นอกจากจะสืบทอดความคิดของคณะ ร.ศ. 103 แล้ว ยังยกเอาปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมในการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร ความล้าหลังของประเทศ และเรียกร้องให้นำเอาระบบรัฐสภามาใช้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งเทียนวรรณเห็นว่า ความชอบธรรมในการปกครองขึ้นอยู่กับราษฎรเป็นหลักเพราะ “ราษฎรเป็นพื้น ไม่ใช่ดอกดวง”[17] เป็น “สายโลหิตของแผ่นดิน”[18] ความเห็นและข้อเรียกร้องของเทียนวรรณไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลสมัยก่อน ด้วยเหตุผลว่า “ป่วยการกล่าวไปถึงความคิดที่จะจัดตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในหมู่ซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดการ และไม่เป็นความต้องการของคนทั้งปวง”[19]

ความต้องการนําเอาความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนระบอบการปกครอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกนําไปลงมือปฏิบัติเป็นครั้งแรก โดยกลไกที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อค้ําจุนระบบนั้นในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ นั่นคือ เหตุการณ์ ร.ศ. 130[20] แม้การยึดอํานาจครั้งนั้นจะล้มเหลว คาดหวังไม่ได้เกิดขึ้น แต่อุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร มิได้สลายตัวไปจากสังคมไทย แต่กลับทบทวีขึ้นควบคู่ไปกับการขยายตัวของ เศรษฐกิจทุนนิยมและการขยายตัวของการศึกษา

โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจเงินตรา และเปิดรับอิทธิพลตลาดโลกอย่างเต็มที่ นํามาซึ่งวิกฤติการณ์ครั้งสําคัญถึง 2 ครั้ง คือวิกฤติการณ์ ข้าวในปี พ.ศ. 2460 และ 2462[21] เมื่อประกอบเข้ากับความล้มเหลวของการบริหารการคลังอย่างล้ําสมัยของรัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[22] นํามาซึ่งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ความแพร่หลายของจํานวนผู้มีการศึกษา[23] และหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ได้แผ่ขยายความไม่พอใจ ไปอย่างกว้างขวาง อุดมการณ์กษัตริย์-เจ้าแผ่นดิน ถูกท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กับการบริหารประเทศเท่านั้น หากแต่รวมถึงระบบการปกครองในครั้งนั้นออก บทความส่วนหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์สมัยนั้นชี้ชัดว่า การท้าทายสถาบันเจ้าเป็นไปอย่างรุนแรง

ดังบทความเช่น “เห็นว่าเจ้าเป็นตุ้มถ่วงความเจริญ” (ราษฎร, มกราคม 2471), “กลียุคเป็นเหตุแห่งความอิสรภาพ มิคสัญญีเป็นเหตุทําให้เกิด ความเสมอภาค” (ราษฎร, 11 มกราคม 2471) และ “ทูตพระศรีอาริย์” (ราษฎร, 14 มกราคม 2471) เป็นต้น ใน “เห็นว่าเจ้าเป็นตุ้มถ่วงความเจริญ” ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นความจําเป็นถึงการเลิกล้มการปกครองโดยเจ้าดังที่ดร.ซุน ยัต เซน ทํากับประเทศจีน

ผู้เขียนยังได้ชี้ว่า ระบบศักดินานั้นมีการขูดรีดเอารัด เอาเปรียบระหว่างชนชั้น กล่าวคือ นอกจากเจ้าเป็น “ลูกตุ้มก้อนมหึมาที่ถ่วงความเจริญของประเทศไม่ให้ก้าวไปสู่ความเจริญได้แล้ว” “พวกเจ้านายมีแต่จะ คอยสูบเลือดประชาชน” น่าสังเกตว่า ข้อความนี้ใกล้เคียงกับที่ใช้โจมตีเจ้าใน ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มาก

ส่วนบทความเรื่อง “กลียุคเป็นเหตุแห่งความ อิสรภาพฯ” นั้น ผู้เขียนพยายามโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นความจําเป็นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสังคมที่เป็นอยู่ขณะนั้นหากต้องการเสรีภาพและความเสมอภาค ผู้เขียนชี้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคน (มิคสัญญี) ความเสมอภาคอย่างแท้จริงก็จะยังไม่เกิดขึ้น “วัตถุทุก ๆ อย่างย่อมไม่เท่ากัน ต่อเมื่อบดกันเข้าละเอียดแล้วจึงเท่ากัน ดังนี้ เป็นความเสมอภาค”

กล่าวโดยสรุป อุดมการณ์ศักดินาที่โอบอุ้มความสัมพันธ์ของสังคมไทยก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลง 2475 นั้น ได้ถูกสั่นคลอน ทั้งโดยวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และโดยความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์และโลกทัศน์ของชนชั้นปกครองเดิมกับกลุ่มชนชั้นกลางที่เกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นกลไกอํานาจรัฐนั้นเอง การขยายตัวของเสรีภาพและสถาบันหนังสือพิมพ์ ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นผลของความพยายามที่จะปรับตัวของโครงสร้างรัฐให้ “ศิวิไลซ์” และอยู่รอด ได้กลายมาเป็นกลไกการเผยแพร่อุดมการณ์ท้าทาย อุดมการณ์ใหม่ได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่จํากัดอยู่กับกลไกอํานาจโดยตรงเช่นทหาร ตั้งในกรณี ร.ศ. 130 หากแต่แพร่ออกไปยังข้าราชการพลเรือน และผู้ได้รับการศึกษาเป็นวงกว้างดังที่เคยเป็นมา

 

อุดมการณ์ และการจัดตั้งของคณะราษฎร

การตอบคําถามที่ว่า คณะราษฎรมีอุดมการณ์อย่างไรนั้น อาจทําได้เป็นสองขั้น ขั้นแรกคือการตอบคําถามที่ว่า ทําไมชื่อคณะผู้ทําการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเป็นคณะราษฎร และขั้นที่สอง คือการตอบคําถามที่ว่า คณะราษฎรมีเจตจํานงอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันโตนีโอ กรัมซีกล่าวว่า การปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทําที่มากไปกว่ารัฐประหาร[24] ในการปฏิวัติจะต้องเอาชนะทางอุดมการณ์ให้ได้เสียก่อน เพื่อให้ได้รับความยินยอมจากประชาชน จนกลายมาเป็นความสนับสนุนในการกระทําเพื่อให้ได้รับความยินยอม มาร์กซ์ชี้ไว้ใน “German Ideology” ว่า กลุ่มผู้ล้มการปกครองเดิมจะต้องแสดงให้เห็นว่า ตนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของส่วนรวม อุดมคติของพวกตนเป็นสิ่งเดียวกับของทุกคน การต่อต้านหรือโค่นล้มผู้ปกครองเดิม จึงมิใช่กระทําไปเพื่อกลุ่มตน แต่ทําในฐานะตัวแทนของทุกคนในสังคมเพื่อแสดงว่า การปฏิวัติเป็นเรื่องของการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนทั้งหมดกับผู้ปกครองเพียงกลุ่มเดียว[25]

ในการโน้มน้าวความสนับสนุนจากประชาชน กรัมซีกล่าวว่า จะต้องเน้นหลักการที่เป็นอุดมคติหรือคุณค่าที่เป็นสากล ไม่เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นหนึ่งใดโดยเฉพาะ เช่น หลักการประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความรักชาติ และผลประโยชน์ของประชาชน เป็นต้น[26] การที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเลือกใช้คําว่า คณะราษฎร นั้น ความสําคัญจึงมิได้อยู่ที่ “เพราะผู้ก่อการทุกคนเป็น ราษฎรไทยแท้จริง”[27] หรือไม่ แต่อยู่ที่ชื่อนี้ได้ช่วยงานปฏิวัติโดยเฉพาะในแง่การโน้มน้าวการสนับสนุนได้มากน้อยเพียงใดมากกว่า

สําหรับผู้ก่อการบางคนให้เหตุผลการใช้คํา “คณะราษฎร” ว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิป ไตยในความหมายที่ว่า “รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร”[28] ผู้เขียนไม่มีความมุ่งหมายที่จะประเมินว่า คณะผู้ก่อการมีความตั้งใจให้ได้มาซึ่งระบบการปกครองดังว่านั้นจริงหรือไม่ และไม่ตั้งใจจะประเมินว่า ในที่สุด จนบัดนี้ความมุ่งหมายที่ผู้ก่อการตั้งใจได้เห็นนั้นเป็นจริงหรือยัง แต่ผู้เขียนมุ่งที่จะตอบคําถาม ที่ว่าทําไมผู้ก่อการจึงเลือกใช้คํา “ราษฎร” เป็นชื่อคณะของตน

การตอบคําถามดังกล่าว จะต้องพิจารณาความหมายของราษฎรในบริบทของประวัติศาสตร์ ทั้งในช่วงที่เป็นมาแต่เดิม และช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการ เปลี่ยนแปลงในบริบทของประวัติศาสตร์ไทย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คําว่า “ราษฎร” นอกจากจะหมายถึงคนสามัญโดยทั่วไปแล้ว ในมิติทางเศรษฐกิจยังหมายถึงไพร่ผู้มีพันธะที่จะถูกเกณฑ์แรงงาน ส่วย หรือ รัชชูปการ ในมิติทางสังคม หมายถึง ผู้ที่มีวิถีชีวิตหยาบกระด้าง ไม่ได้รับการอบรมขัดเกลา (ตรงข้ามกับผู้ดี) และหมายถึงผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง และไม่มีอํานาจการเมือง

ในมิติทางการเมือง กล่าวโดยส่วนรวม ราษฎรหมายถึงชนชั้นล่างภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อนําคํานี้มาใช้กับคณะบุคคลที่ดําเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย่อมมีนัยทางอุดมการณ์ว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงจะดําเนินการโดยผู้ที่อยู่เบื้องล่างเพื่อประโยชน์ของคนที่อยู่เบื้องล่างซึ่งเป็นคนข้างมากแล้ว ยังแสดงว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่าง หรือ “พลิกแผ่นดิน” ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การที่กลุ่มผู้ก่อการอุดมการณ์ เพื่อลบล้างอุดมการณ์ศักดินาของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งตั้ง เปลี่ยนแปลงใช้คําว่า ราษฎร เป็นชื่อขบวนการก็โดยมุ่งที่จะให้เป็นอาวุธทางอํานาจและความชอบธรรมของสังคมรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์และแทนที่ด้วยอุดมการณ์ทุกอย่างมารวมอยู่ที่ราษฎร โดยเน้นการเปลี่ยนแปลง จากเบื้องล่างนั่นเอง

นอกจากการสร้างภาพว่า กลุ่มผู้ก่อการเป็นใครแล้ว ปัญหาต่อไปก็คือ กลุ่มผู้ก่อการจะทําอะไร การตอบปัญหานี้ทําได้อย่างตรงไปตรงมาก็คือ การนําเสนอซึ่งเจตนารมณ์ของคณะราษฎรเอง เจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎรแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

1. ยกเลิกการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
2. สร้างชาติตามหลัก 6 ประการ[29]

ข้อแรกนั้นเห็นได้ชัดว่า เป็นอุดมการณ์ที่สืบเนื่องมาแต่ปี ร.ศ. 103 เป็นอุดมการณ์ที่ท้าทายความชอบธรรมของอุดมการณ์เดิมมาเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ข้อนี้เป็นความสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในยุคสมัย มิใช่เป็นเรื่องที่ “คว้า” เอามาจากต่างประเทศ และมิใช่เป็นการกระทํา ของคนหนุ่มที่ “ใจร้อน” หรือ “ชิงสุกก่อนห่าม” ดังที่มักกล่าวอ้างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นการกระทําที่มีการปูพื้นฐานทางอุดมการณ์พอสมควร แม้การปูพื้นฐานเช่นว่านี้จะมิได้ทําโดยน้ํามือของคณะราษฎรโดยตรง แต่ผู้ก่อการฯ ก็รู้จักใช้ประโยชน์จากสถานการณ์อย่างถูกต้อง

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มิได้เป็นความพยายามให้บรรลุถึงนับตามตัวอักษรเท่านั้น หากแต่มีความมุ่งหมายกว้างกว่านั้น พิจารณาจากงาน ทางการเมืองของคณะราษฎรจะพบว่า คณะราษฎรไม่ได้มุ่งแต่จะเปลี่ยนแปลงการ ปกครองหรือระบบการเมืองเท่านั้น แต่มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ ของสังคมในทุกด้าน ทั้งนี้เพราะข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบ หรือ “วิกฤติการณ์ของการครองความเป็นใหญ่” ในระบบเดิมนั้นมิได้จํากัดอยู่แต่ในเรื่องของการปกครองเท่านั้น หากแต่ได้มีการเรียกร้องได้เปลี่ยนแปลงทุกด้าน[30] ข้อนี้ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ได้สรุปไว้ว่า

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิต และการที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งหลายในสังคม มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนอาญาสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นอํานาจรัฐชนิดหนึ่งที่ให้เจ้าของมามีอํานาจยึดทรัพย์สินนั้นก็ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติห้ามยึดทรัพย์สินของกสิกร พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิตในชนบทของไทยที่สําคัญประการหนึ่ง[31]

การเปลี่ยนแปลงที่สําคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ปกครองกับราษฎร หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การตรากฎหมายใด ๆ ขึ้นบังคับใช้ ไม่ได้มีการอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะที่มาแห่งอํานาจในแผ่นดิน หากแต่กลายเป็นการอ้างถึงรัฐธรรมนูญอันเป็นตัวแทนของอํานาจปวงชนแทน ดังจะเห็นได้ว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลคณะราษฎรพยายามอย่างแข็งขันที่จะปลูกฝังอุดมการณ์รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมแห่งเจตจํานงของปวงชนและเป็นที่มาของอํานาจรัฐแทนอุดมการณ์กษัตริย์เจ้าแผ่นดินมาโดยตลอด

กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิต หรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรโดยผ่านการเปลี่ยนฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสถาบันภายใต้กฎหมาย มีนัยสําคัญ 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1. เปลี่ยนจากรัฐศักดินาเป็นรัฐประชาชาติ ประชาชนไม่ใช่ข้าแผ่นดิน รัฐเลิกอ้างความเป็นเจ้าของแผ่นดินในการออกกฎหมายบังคับราษฎรเป็นครั้งแรก
2. ประชาชนกับประชาชนมีความเสมอภาค เสรีภาพ เลิกการยอมรับความแตกต่างโดยกําเนิดอย่างเป็นทางการ พระมหากษัตริย์ถูกกําหนดหน้าที่ด้วยกฎหมาย
3. ประชาชนปกครองตัวเอง
4. รัฐเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจโดยมุ่งบํารุงความสุขของราษฎร มิใช่จะเรียกเก็บภาษีแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนประเด็นที่สองนั้น กล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการสร้างชาติใหม่ ซึ่งประกอบด้วยหลัก 6 ประการอันได้แก่

1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
3) บํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว
6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

พิจารณาจากหลัก 6 ประการ อาจสรุปได้ว่า หลักดังกล่าวนี้ นอกจากจะมุ่งสร้างชาติไปในแนวทางใหม่แล้ว ยังมุ่งที่จะลบล้าง “พลังตกค้าง” ของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมูลนาย-ไพร่ทาสด้วย ในแง่ของการสร้างชาตินั้น คณะราษฎรพยายาม “บํารุงความสุขสมบูรณ์” และ “ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” โดยอาศัยแนวทางการพึ่งตนเองหรือ “เอกราช” เป็นหลัก

นอกจากนั้นยังมุ่งที่จะลดการเอารัดเอาเปรียบกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการ “ประทุษร้าย” ในด้านเศรษฐกิจ หรือการขูดรีดกันนั่นเอง ในด้านการลบล้าง “พลังตกค้าง” ของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมูลนาย-ไพร่ทาส คณะราษฎรมุ่งที่จะสร้างความเสมอภาค โดยเฉพาะความเสมอภาคในทางชาติกําเนิด ไม่ยอมรับความแตกต่างระหว่างเจ้ากับไพร่ ทั้งพยายามลบล้างสิ่งที่ตกค้างอยู่ในประเพณีปฏิบัติหรือในกฎหมายให้หมดไป พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้มีเสรีภาพด้วย

ประเด็นสุดท้าย แต่มีความสําคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งในแง่การปูพื้นฐานสําหรับการสร้างชาติ และการลบล้างอุดมการณ์เดิม ก็คือการศึกษา คณะราษฎรได้ใช้การศึกษาเป็นเครื่อง ผลิตอุดมการณ์ประชาธิปไตย พร้อม ๆ กับการลบล้างอุดมการณ์เดิมไปด้วย การศึกษาที่คณะราษฎรใช้เป็นเครื่องมือนี้มีทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเนื้อหาของการศึกษา และการจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อการขยายความเชื่อในแนวประชาธิปไตยดังเช่น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

กล่าวโดยสรุป อุดมการณ์ของคณะราษฎรโดยส่วนรวมมุ่งสร้างสังคมประชาธิปไตยที่รัฐมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงมากกว่าช่วงการก่อตัวของรัฐกระฎุมพีในอังกฤษและฝรั่งเศส อุดมการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการสนองตอบการเรียกร้อง และการก่อตัวของชนชั้นกลางที่มีมาก่อนหน้านั้น ดังเช่น หลักประกันความสุขสมบูรณ์ โดยเฉพาะการจัดหางานให้คนทํานั้น ตอบสนองทั้งวิกฤติการณ์เฉพาะหน้า คือการว่างงาน อันเนื่องจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล และวิกฤติการณ์ระยะยาวอันเนื่องมาแต่การเปิดประเทศและการพึ่งตลาดภายนอกมากเกินไป ขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพลังการผลิตให้กับสังคม แต่ในการพัฒนานั้นได้อาศัยการพึ่งตนเองเป็นหลักตามที่ปรากฏในหลักว่าด้วยเอกราชทางเศรษฐกิจ

 

โปรดติดตาม “อุดมการณ์และการจัดตั้งของคณะราษฏร : การจัดตั้งคณะราษฎร” ต่อ ในตอนที่ 2

 

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้นำมาเผยแพร่แล้ว
  • บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย, โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก, 9-10 พฤษภาคม 2528
  • ปรับปรุงจากต้นฉบับโดยบรรณาธิการวิชาการ
  • อักขรวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงคงไว้ตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

  • แล ดิลกวิทยรัตน์, รวมบทความเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ 60 ปี รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ (กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2560)

 


[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475: พรมแดนแห่งความรู้" วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 เล่มที่ 2 (มิถุนายน 2525), หน้า 7-35

[2] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, "ความจําเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 24 มิถุนายน 2475" เล่มเดียวกัน, หน้า 67

[3] "บทส่งท้าย," ปาจารยสาร, ปีที่ 8 ฉบับที่ 3 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2524), หน้า 141

[4] ชัยอนันต์ สมุทวณิช (1), การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2523), หน้า 178 และ 185-187

[5] พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, "การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468)" (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517)

[6] Benjamin Batson, "Siam's Political Future Documents from the End of the Absolute Monarchy," Cornell, Southeast Asia Program Data Paper No. 96, July 1974, 102

[7] แถมสุข นุ่มนนท์, "ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475," ใน การเมืองและการต่างประเทศในประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2524), หน้า 32

[8] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม), เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ. 2417-2477) (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2518), หน้า 195

[9] อรัญญ์ พรหมชมภู (นามแฝง), ไทยกึ่งเมืองขึ้น (พระนคร : สํานักพิมพ์อักษร, 2532), หน้า 131-134

[10] ปรีดี พนมยงค์ (1), ความเป็นอนิจจังของสังคม (พิมพ์ครั้งที่ 3) (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2513), หน้า 22-23

[11] วฤทธิ์ เผ่าอารยะ, "อะไรคือการปฏิวัติประชาธิปไตยกระดุมที่ในทัศนะของมาร์กซ์ : วิเคราะห์กรณีการปฏิวัติ 2475 และการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524," ปาจารยสาร, อ้างแล้ว, หน้า 67-68

[12] ในพระราชบันทึก (memorandum) ที่ทรงมีถึง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 1926 ตอนหนึ่งใน Benjamin A, Batson (ed.). "Siam's Political Future: Documents From the End of the Absolute Monarchy," Data Paper: No. 96, Southeast Asia Program Department of Asian Studies (New York, Ithaca: Cornell University, 1974), p. 14.

[13] เพิ่งอ้าง, หน้า 96

[14]  "เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการ แผ่นดิน ร.ศ. 103," ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, อ้างแล้ว, หน้า 47

[15] เพิ่งอ้าง, หน้า 61

[16] ชัยอนันต์ สมุทวณิช (1). อ้างแล้ว, หน้า 30

[17] เทียนวรรณ, ตุลยวิภาคพจนกิจ เล่มที่ 4 ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2) ชีวิตและงานของเทียนวรรณ และ กศร. กุหลาบ (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ), หน้า 886

[18] ชัยอนันต์ สมุทวณิช (1). อ้างแล้ว, หน้า 45

[19] เพิ่งอ้าง, หน้า 48

[20] แนวความคิดนี้ได้มาจากงานของนาย Anderson ใน Benedict R.O'G. Anderson, “Studies of the Thai State, the State of Thai Studies” ซึ่งเป็นบทความเสนอในที่ประชุมทางวิชาการด้านไทยคดีศึกษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2521 ณ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ข้อความที่อ้างถึงปรากฏในบทความพิมพ์โรเนียว, หน้า 204-205

[21]  ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสมภพ มานะรังสรรค์ (รวบรวม), ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2484 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), หน้า 458

[22] เพิ่งอ้าง, หน้า 473

[23] "นับตั้งแต่ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของราษฎรในพระบรมราโชบาย...ดูเบาบางลงมาก เกิดมีความเห็นว่าทําอย่างนั้นจะดีกว่าทําอย่างนั้นเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎร ความคิดดังนี้มีแพร่หลาย ก็เนื่องจากราษฎรมีความรู้มากขึ้น โดยที่ได้ทรงพระมหากรุณาจัดการศึกษาให้เจริญขึ้นโดยเร็ว ผิดกว่าแต่ก่อนมาก" หจช. ร.6 ก.1-12 ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ กราบถวายบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 8 มิถุนายน 2454 ใน แถมสุข นุ่นนนท์, อ้างแล้ว, หน้า 137

[24] สมบัติ พิศสะอาด, อ้างแล้ว

[25] Karl Marx, "the German Ideology ใน Robert C, Tucker (ed.). The Marx- Erpels Reader (New York W.W. Norton & Co. Inc., 1972), p. 138.

[26] สมบัติ พิศสะอาด, อ้างแล้ว, หน้า 170

[27] ปรีดี พนมยงค์ (2), "คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน," ใน ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 344

[28] เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน

[29] เพิ่งอ้าง, หน้า 346

[30] จะเห็นได้ว่า ลําพังการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองแต่อย่างเดียวนั้น คณะราษฎรแทบจะไม่ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้ครองอํานาจเดิมเลย ยิ่งกว่านั้นยังได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายบางองค์เสียอีก แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเห็นด้วย

[31] ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, ปรีดี พนมยงค์กับความคิดทางเศรษฐกิจ ใน ปรีดีปริทัศน์และปาฐกถาชุดปรีดี พนมยงค์อนุสรณ์ (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์เทียนวรรณ, 2526), หน้า 157