ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ ผู้พลิกความคิดของสังคมไทย

13
พฤษภาคม
2566

Focus

  • ในการอภิวัฒน์สังคมไทย ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไม่ต้องการพลิกแผ่นดิน แต่ท่านพลิกความคิดของผู้คนเพื่อจะพลิกแผ่นดิน และผ่านการเปลี่ยนแปลงด้วยการอาศัยกฏหมาย
  • ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญกับธรรมในฐานะปัญญา คือธรรมศาสตร์ ในการนำมาใช้เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและอย่างสันติวิธี
  • สังคมไทยสมควรมีวิชาความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่นักศึกษาจะต้องเรียนหรือคนไทยจะต้องรู้

 

ความจริงผมวันนี้ คิดจะมาพูดคุยกับท่านที่เคารพสัจจะ เพราะว่าผมเห็นว่าคนเคารพสัจจะนี่ดีกว่าผู้ที่มีเกียรตินะครับ เราบอกว่า “ท่านผู้มีเกียรติ ผู้มีเกียรติ” แต่ถ้าไม่มีสัจจะเลย ผมคิดว่าก็ใช้คำว่ามีเกียรติไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมมาพูดคุยกับท่านที่เคารพสัจจะ และผมก็ได้กราบเรียนให้ท่านทราบไปแล้ว “สัจจะปรากฏแล้ว ในวันนี้ ในวินาทีนี้”

ผมจะพูดคุยกันต่อไป คงจะเสริมจากท่าน อาจารย์แลนิดหน่อย อาจจะมีติงบ้างนิดหน่อย คือท่านอาจารย์แลเน้นอยู่หลายคำ ท่านใช้คำว่า ท่านอาจารย์ปรีดีต้องการที่จะพลิกแผ่นดิน ผมไม่ค่อยที่จะถนัด ผมคิดว่าถ้าเราได้ศึกษาประวัติของท่านอาจารย์ปรีดี และแม้แต่ผลงานจะเห็นว่าท่านอาจารย์ปรีดี ท่านไม่ต้องการที่จะพลิกแผ่นดิน แต่ถ้าจะใช้คำว่าพลิกความคิดเพื่อที่จะพลิกแผ่นดิน ผมคิดว่าน่าจะไปได้เหมาะสมกับท่านมากกว่า ทำไมผมถึงใช้คำว่า พลิกความคิด เพราะแม้แต่การที่เราเรียกกันว่าเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 ท่านอาจารย์ปรีดี ผมก็ต้องเรียกแบบชาวธรรมศาสตร์นะครับ เรียกท่านอาจารย์ ท่านการกระทำของคณะราษฎรเป็นเรื่องของการอภิวัฒน์ คือการเปลี่ยนแปลงไปในทางวิถีที่ก้าวหน้า และโดยใช้วิถีสันติอาจารย์จะเน้นอยู่เสมอ บอกไม่ใช่การปฏิวัติ ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ที่ยึดหลักใช้วิถีสันติทุกอย่าง อันนี้อาจจะเป็นเพราะว่าท่านศึกษากฎหมายมาแต่ดั้งเดิม นักกฎหมายก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ใช้วิถีสันติทุกคน อย่างที่ผู้อภิปรายได้ให้ข้อสังเกตุไว้แล้ว นักกฎหมายเป็นเครื่องมือของทรราชก็มี นักกฎหมายเป็นทรราชก็มี  ใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นสิ่งด่างพร้อยจนมาถึงทุกวันนี้ อย่างนั้น นักกฎหมายประเภทนั้นไม่ใช่นักกฎหมายที่ใช้วิถีสันติ แต่สำหรับท่านอาจารย์ปรีดีท่านใช้วิธีสันติ เพราะทุกอย่างที่ท่านต้องการจะเปลี่ยนแปลงท่านจะใช้วิธีของกฎหมาย ทุกเรื่อง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ออกมาจากความคิดของท่าน แม้กฎหมายต่างๆ ที่ท่านอาจารย์แลหยิบยกขึ้นมา ที่สำคัญเช่น กฎหมายห้ามยึดทรัพย์กสิกร กฎหมายเกี่ยวกับการเพื่อที่จะหาว่ากรรมกรผู้ใด มีความอดยากอะไรทำนองนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้กฎหมายมาแก้โดยวิถีสันติทั้งสิ้น

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็เลยมองเห็นคือเรื่องของกฎหมายท่านอาจารย์ปรีดีได้ตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงความคิดท่านอาจารย์ปรีดี ที่ผมเน้นว่าท่านต้องการเปลี่ยนความคิดของบุคคลมากกว่าที่จะพลิกแผ่นดิน ความจริงแล้วในเรื่องของการพลิกแผ่นดิน ถ้ามองกันผมคิดว่าในตอนนั้น 24 มิถุนายน คณะราษฎร ทำได้ แต่ทำไมถึงไม่ทำ เพราะท่านใช้วิถีสันติ ใช้ธรรมเข้ามาแก้ไขเพื่อที่จะการเปลี่ยนความคิด เมื่อความคิดเปลี่ยนได้ แผ่นดินมันก็เปลี่ยนไปได้ อันนี้จึงเป็นจุดที่ผมเน้นว่าคงจะไม่ใช่เรื่องพลิกแผ่นดิน

ท่านตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้นมา ดูจากชื่อของมหาวิทยาลัย ท่านใช้คำว่าวิชาธรรมศาสตร์ วิชาธรรมศาสตร์นักกฎหมายเราชอบไปมองในแง่ของกฎหมายเป็นความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปที่เรียกวิชาธรรมศาสตร์ การคิดอย่างนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว ความจริงคำว่าธรรมศาสตร์มีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น ท่านพระคุณเจ้าท่านทราบดี ท่านอาจารย์ปรีดีเอาธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอกาลิโกมาเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในโลกที่เอาชื่อธรรมมาเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจะมองเห็นท่านต้องการเอาหลักธรรมมาเป็นศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือโดยใช้ธรรมมาเป็นปัญญาในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เมื่อเปลี่ยนความคิดของบุคคลได้โดยใช้ธรรมเปลี่ยนแปลง ก็สามารถพลิกแผ่นดินได้ นี้คือเจตนารมย์ของท่านอาจารย์ปรีดีที่ปรากฎมาจากชื่อของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งนี้ ผมจึงพยายามเน้นเสมอแม้กับนักศึกษาปัจจุบัน เราทุกคนเป็นผู้ใช้ธรรมและกฎหมายถ้าสอดคล้องกับธรรมคือหลักธรรมศาสตร์ กฎหมายอย่างนั้น ก็เป็นกฎหมายที่ใช้ปกครองบ้านปกครองแผ่นดินได้ เพราะกฎหมายอย่างนั้น เราเรียกว่า กฎของธรรมศาสตร์ คือกฎที่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ต้องใช้ปัญญา

เพราะฉะนั้นในสิ่งนี้จึงมีความสำคัญมากจากความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี ที่ใช้หลักธรรมมาเป็นหลักปกครองบ้านเมือง ผมจึงมีความเห็นว่า ท่านมิต้องการที่จะพลิกแผ่นดินเป็นสำคัญ อันนี้ส่วนหนึ่ง ก็อาจจะสอดคล้องกับท่านอาจารย์ธรรมเกียรติที่บอกว่าท่านต้องการเปลี่ยนแนวความคิด อีกส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะเรียน คือท่านอาจารย์ปรีดีอาจจะมองเป็นข้อผิดพลาดของท่านอย่างที่ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้หลายเรื่อง คือเมื่อจิตใจวิญญาณของท่านใช้วิถีสันติแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง และใช้ธรรมแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ท่านก็เลยมองศัตรูเป็นมิตร อันนี้อาจจะเป็นสิ่งผิดพลาดของคน ที่เรียกว่านักปฏิวัติ นักปฏิวัติจะต้องไม่มองศัตรูเป็นมิตร แต่ความมีธรรมอย่างสูงของท่าน ท่านจึงเห็นศัตรูเป็นมิตร ผลของการเห็นศัตรูเป็นมิตรผมเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของท่าน แต่เป็นความผิดพลาดที่ทำให้ชื่อของท่านยังเป็นอมตะอยู่จนทุกวันนี้ และจะเป็นตลอดไป ความจริงสัจจะไม่มีอายุความ ก็เปิดเผยมาอย่างวันนี้ ถ้ามองว่าท่านอาจารย์ปรีดีต้องการที่จะผลิกแผ่นดิน แน่นอนเราทุกวันนี้อาจจะมีอะไรในทางที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความยากจนอาจจะไม่มีขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจจะไม่เกิดขึ้น นั้นผลจากการที่ท่านใช้การผลิกแผ่นดิน แต่ชื่อของท่านจะไม่อยู่ถึงวันนี้ เพราะหากศึกษาการผลิกแผ่นดินจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ที่มีการผลิกแผ่นดิน ผู้นำในสมัยนั้นก็จะต้องมีอันเป็นไปโดยที่วิถีไม่สันติ เช่น การปฏิวัติใหญ่ในปี 1789 ของฝรั่งเศสผู้กระทำสำเร็จและพลิกแผ่นดินมีผลเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นอันนี้ผมคงจะต้องขอยืนยันและขออภัยท่านอาจารย์แลนะครับ ด้วยความเคารพกับท่าน อย่าใช้คำว่าพลิกแผ่นดินเลย

สิ่งต่อไปผมอยากจะเรียนให้ท่านทราบว่า ท่านอาจารย์ต้องการจะเปลี่ยนความคิดเมื่อท่านตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา ความจริงลูกศิษย์ลูกหาของท่านนั่งอยู่หลายท่านอาจจะพูดได้ดีกว่าผม เพราะผมเพียงศึกษาจากประวัติศาสตร์ ว่ามีวิชาหนึ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดีนำมาสอน เพื่อที่จะพลิกความคิด คือวิชาที่เด่นเหลือเกิน คือ วิชากฎหมายปกครอง  ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีนำมาสอนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านต้องเข้าใจ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนธรรมศาสตร์จะตั้งขึ้น ท่านนำวิชานี้ไปสอนที่โรงเรียนกฎหมาย ซึ่งปัจุบันเราเรียกว่า เนติบัณฑิต ท่านนำวิชานี้มาสอนในวิชากฎหมายปกครองของท่าน ท่านได้แทรกความคิดที่จะเปลี่ยนความคิด อย่างที่ผมเรียนให้ท่านทราบ ท่านใช้หลักต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน หลักเสรีภาพ หลักเสมอภาค หลักสมภาค ตามที่เราทราบกันมา ผลสุดท้าย ท่านจะเน้นในวิชากฎหมายปกครอง คือการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ความจริงกฎหมายจะไม่มีอย่างนี้ กฎหมายจะเป็นเรื่องของอำนาจ แต่ท่านเอาเรื่องอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องไปแทรกในวิชากฎหมายปกครอง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงมีหลายอย่างที่แสดงให้เห็นแนวความคิดของอาจารย์ปรีดี ท่านไม่ประสงค์เปลี่ยนแปลงสังคมโดยวิถีไม่สันติ เพราะท่านไม่ชอบใช้วิธีรุนแรง อันนี้ผมคิดว่าเป็นจิตวิญญาณของท่านที่ออกมา

อีกส่วนหนึ่ง ที่ผมอยากจะให้มองเห็น ตอนที่ผมพูดคุยกับท่าน ผลงานของท่านอาจารย์ปรีดี ประเทศไทยเรา นักศึกษาของเราในปัจจุบัน นับว่าเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสศึกษาโดยละเอียด สมัยหนึ่งท่านก็ทราบดีว่า ผมนำมาเรียนไม่ได้ การนำมาเรียนเป็นภัยที่ร้ายแรงต่อบุคคลนั้น แต่ในช่วงที่ผมไปเรียนที่ฝรั่งเศส เป็นเรื่องบังเอิญที่ผมจะต้องไปพบกับท่านอาจารย์ปรีดี และเรียนรู้ผลงานของท่านอาจารย์ปรีดีตลอดเวลา ผมไปเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยตอนใต้ของฝรั่งเศส ไกลจากปารีสมาก อยู่ในเมือง Nice ที่เป็นเมืองตากอากาศ ผมไปเรียนที่เมืองนั้นปรากฏว่าที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นมีสถาบันกฎหมายแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อแปลกแห่งเดียวในโลกอีกเหมือนกัน ชื่อว่า สถาบันกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและสันติภาพ โดยนำกฎหมายแนวเปลี่ยนความคิด กฎหมายที่เป็นเครื่องมือพัฒนาสังคม เครื่องมือในการสันติภาพ ผมไปเรียนในสถาบันแห่งนี้ มีวิชาหนึ่งที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นผลงานของท่านอาจารย์ปรีดีเกือบครึ่งเล่ม ซึ่งนักศึกษาที่จะเรียนระดับปริญญาเอก เกี่ยวกับบ้านเมืองทางด้านแถบบ้านเรา ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย ต้องเรียนวิชานี้นักศึกษาต่างชาติผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลืองอะไรก็แล้วแต่ มีโอกาสเรียนผลงานของท่านอาจารย์ปรีดีที่ปรากฎอยู่ในตำราเล่มนี้ผมนึกถึงอนาถใจคนไทยไม่มีโอกาสได้เรียนผลงานของท่านอาจารย์ปรีดี

ในตำราเล่มนี้ท่านเขียนอยู่สองส่วนที่ผมเห็นว่าสำคัญ และอาจจะเป็นประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้าคือ ท่านตั้งข้อสังเกตอยู่สองเรื่อง เรื่องหนึ่งท่านเขียนไว้ว่า ท่านอาจารย์ปรีดีลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีนก่อนระบบคอมมิวนิสต์จะเกิดขึ้น ก่อนระบบคอมมูนจะเกิดขึ้น ท่านไปอยู่ในสมัยรัฐบาลเจียง ไคเช็ก สมัยนั้นประเทศจีนยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ ยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ปรากฏว่าหลังจากระบบคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นมาโดย เหมา เจ๋อ ตุง มีระบบคอมมูนเกิดขึ้น ศาสตราจารย์ฝรั่งเศสคนนี้ ตั้งข้อสังเกตุไว้ที่น่าศึกษาเหลือเกิน บอกว่าระบบคอมมูนฝรั่งเศสมีส่วนละหม้ายคล้ายคลึงกับระบบสหกรณ์ ที่ท่านอาจารย์ปรีดีเสนอไปในเค้าโครงของสมุดปกเหลืองเมื่อปี 2475 หรือ 2478 ในส่วนนั้นท่านก็ตั้งข้อสังเกตต่อไป ท่านตั้งข้อสังเกต ประการแรก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ที่ท่านอาจารย์ปรีดีจะเอาระบบสหกรณ์มาจากระบบคอมมิวนิสต์หรือระบบคอมมูน เพราะตอนนั้นคอมมิวนิสต์จีนคอมมูนยังไม่เกิด แต่เป็นไปได้ไหมว่า เหมา เจ๋อตุง เอาระบบสหกรณ์ไปเปลี่ยนแปลงเป็นระบบคอมมูน ท่านทิ้งปัญหาไว้ให้นักศึกษาได้คิด สิ่งนี้ผมคิดว่าน่าศึกษาเหลือเกิน สำหรับคนที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องน ต้องฝากท่านอาจารย์แลไว้ด้วยนะครับว่าเป็นไปได้ไหม เพราะผมไม่ได้เรียนในทางเศรษฐศาสตร์ ผมเรียนในทางกฎหมาย

อีกส่วนหนึ่งในตำราเล่มนั้นหลังจากเขียนถึงผลงานของท่านอาจารย์ปรีดีอย่างยืดยาว ที่เมืองไทยไม่เคยเขียนเพราะเขาค้นคว้ามามาก ก็แสดงความเศร้าสลดต่อประเทศไทยเป็นการสูญเสียอย่างที่ไม่สามารถจะนำอะไรมาบรรยายได้ ถ้าเค้าโครงของท่านอาจารย์ปรีดี ข้อเสนอของท่านอาจารย์ปรีดีนำมาใช้กับประเทศไทย แม้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นท์ เพียงหกสิบหรือเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ คนไทยส่วนใหญ่ แปดสิบเปอร์เซ็นต์จะไม่ยากจนอย่างปัจจุบัน ท่านแสดงความเสียใจอย่างที่สุด หนังสือเล่มนี้ผมได้ซื้อมาก็จะต้องใช้เวลาแปลในส่วนนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะต้องกราบเรียนเสริมและพูดคุยกับท่าน

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะกราบเรียนเกี่ยวกับผลงานของท่านอาจารย์ปรีดี จะเป็นไปได้หรือไม่ อันนี้ผมจะพยายามทำ คือผมกำลังคิดกับอาจารย์หลายๆ คน กับท่านผู้รักสัจจะ ผลงานของท่านอาจารย์ปรีดี มีทั้งหลักธรรม หลักกฎหมาย ปรัชญาทุกอย่างมีอยู่ในนั้นหมดโดยเฉพาะหนังสือเล่มหนึ่งคือกฎแห่งความเป็นอนิจจัง เป็นหนังสือเล่มที่วิเศษที่สุด จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเปิดวิชาความคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นวิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แน่นอนมหาวิทยาลัยอื่นเราไม่ขัดข้อง เป็นเรื่องน่ายินดี ผมจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่สภามหาวิทยาลัยให้เปิดวิชานี้ วิชาความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี เป็นวิชาหนึ่งที่เป็นประโยชน์ นักศึกษาจะต้องเรียนหรือคนไทยจะต้องรู้

 

ที่มา : ปรีชา สุวรรณทัต , การอภิปรายเรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับประชาธิปไตยไทย” ณ เรือนไทยหอประชุมภายในเขตอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พฤษภาคม, 2529.