ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

อนาคตของประเทศไทย ควรดำเนินไปในรูปใด

23
มิถุนายน
2567

Focus

  • ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งต่อหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์มายังคนหนุ่มสาวและเผยแพร่สู่สังคมไทยครั้งแรกในวารสารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ 'วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516' ซึ่งประกอบด้วยปาฐกถาสำคัญ อาทิ ข้อสังเกตของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ในงานชุมนุมของชาวธรรมศาสตร์ ประจำ พ.ศ. 2515 และอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516
  • ข้อเสนอของนายปรีดีที่ยังร่วมสมัยในบริบทการเมืองไทยระยะเปลี่ยนผ่านและไม่ได้รับการเผยแพร่สู่วงกว้างมากนักคือ ปาฐกถาอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งนายปรีดีแสดงความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และทัศนะทางสังคมไว้อย่างแยบคาย และอธิบายความหมายของประชาธิปไตยสมบูรณ์ไว้ดังในบทความชิ้นนี้

 


นายปรีดี พนมยงค์ ณ สามัคคีสมาคม ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์
ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ประเทศอังกฤษ
เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2516

 

สวัสดี ท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านสภานายก, ท่านกรรมการ, และท่านสมาชิก สามัคคีสมาคมที่เชิญผมและภรรยามางานประชุมประจําปีของสมาคมครั้งนี้ และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาฟังปาฐกถาและมาร่วมสนทนากับผมในวันนี้

ท่านสภานายกได้มีจดหมายแจ้งให้ผมทราบว่าสนทนากรรมการขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า “อนาคตของประเทศไทยควรดําเนินไปในรูปใด” และท่านได้แจ้งเป็นวาทะของท่านด้วยว่า “สิ่งที่มีค่ามากและเป็นที่ต้องการคือการได้มีโอกาสซักถามท่าน (ซึ่งหมายถึงผม) ในปัญหาต่าง ๆ โดยไม่จํากัดหัวข้อ” ผมมีความยินดีที่จะสนองศรัทธาเท่าที่จะทําได้ แต่ก็จําต้องขอความเห็นใจไว้ล่วงหน้าว่าในบรรดาเรื่องที่ท่านจะซักถามผมนั้น อาจมีเรื่องที่ผมไม่รู้หรือเกินสติปัญญาของผม ผมก็ต้องขอผลัดคําตอบไว้ในโอกาสหน้าภายหลังที่ ผมได้ค้นคว้าศึกษาเสียก่อน และก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้แต่เผอิญเข้าลักษณะของคําพังเพยโบราณว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ผมก็ต้องขอผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อํานวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใดคือประวัติศาสตร์จะต้องดําเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่านและชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย

เพื่อสงวนเวลาไว้สําหรับโอกาสซักถามปัญหา ผมจึงขอกล่าวพอสังเขปถึงความตามหัวข้อปาฐกถา ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องกว้างขวางพิสดารมากเกี่ยวกับรูปแห่งระบบเศรษฐกิจ, ระบบการเมือง, และ ทัศนะสังคม ท่านก็ย่อมเห็นได้ว่า ถ้าจะกล่าวให้ละเอียดถึงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลามาก

ในสังคมที่มนุษย์มีฐานะและวิถีดํารงชีพแตกต่างกันนั้น ความขัดแย้งย่อมมีขึ้นระหว่างจําพวกต่าง ๆ หรือชนชั้นวรรณะต่าง ๆ ของสังคมในปัญหาดังกล่าว ตามปกตินั้น คนจํานวนส่วนข้างน้อยของสังคมซึ่งเป็นผู้กุมอํานาจเศรษฐกิจ อํานาจการเมือง มีอิทธิพลทางทัศนะสังคมทําให้มีจิตใจเป็นไปตามอํานาจเศรษฐกิจการเมืองนั้น รวมทั้งบุคคลที่อาศัยหาประโยชน์จากผู้กุมอํานาจและมีอิทธิพลชนิดนั้นก็พอใจในระบบสังคมเท่าที่เป็นอยู่ ถ้าหากจะเปลี่ยนแปลงบ้างก็เพื่อให้ฐานะเศรษฐกิจการเมืองและอิทธิพลทางจิตใจนั้นมั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกเว้นผู้ที่มองการณ์ไกลเห็นกฎแห่งความเป็นอนิจจังว่าระบบเพื่อประโยชน์ของชนจํานวนน้อยจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสานไม่ได้ คืออนาคตจะต้องเป็นของราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมาก

ส่วนราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองจํานวนส่วนข้างมากของสังคม คือผู้ไร้สมบัติ, ชาวนายากจน, ผู้มีทุนน้อย, รวมทั้งนายทุนที่รักชาติซึ่งมิได้คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว หรือส่วนของวรรณะพวกตัวเป็นที่ตั้งแล้วก็ต้องการระบบสังคมใหม่ที่ จะช่วยความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนข้างมากให้ดีขึ้น คือมีระบบการ เมืองที่สอดคล้องสมานกับพลังการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมเพื่อให้ การเบียดเบียนหมดไปหรือลดน้อยลงไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ในบรรดาพลเมืองส่วนข้างมากของสังคมนั้นที่แม้ตามสภาพหรือฐานะถูกเบียดเบียนจากคนจํานวนส่วนข้างน้อยแต่ยังไม่เกิดจิตสำนึกเช่นนั้น เพราะความเคยชินต่อการถูกเบียดเบียนมาช้านานหรือเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งทัศนะสังคมที่ทําให้เกิดสภาพทางจิตพอใจในระบบเศรษฐกิจและการเมืองเท่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตามราษฎรที่เป็นพลเมืองส่วนข้างมากนั้นแม้จะยังไม่แสดงความต้องการให้ประจักษ์ชัดแจ้ง แต่ก็เป็นพลังเงียบที่พร้อมต้อนรับระบบที่ทําให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น

สังคมจะดํารงอยู่ได้ก็โดยมวลราษฎร ดังนั้นระบบของสังคมที่จะทําให้มวลราษฎรมีพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าก็คือ ระบบประชาธิปไตยท่านย่อมได้ยินหรือบางท่านอาจเคยพูดหรือเคยเรียกร้องที่จะให้ประเทศไทยมีระบบประชาธิปไตย ท่านย่อมรู้ความหมายของคํานี้และผมเคยกล่าวไว้แล้วในที่หลายแห่งคือหมายถึงระบบที่ประชาชน หรือมวลราษฎรมีอธิปไตยตามมูลศัพท์คือ “ประชา” สนธิกับ “อธิปไตย”

ผมได้กล่าวแล้วว่ารูปของสังคมใด ๆ นั้นย่อมประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจ, การเมือง, ทัศนะสังคม ดังนั้นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางการเมือง, ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนําการมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้นแม้จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรส่วนมากดีกว่า ไม่มีระบบประชาธิปไตยทางการเมือง เลยก็จริงอยู่ แต่ถ้าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้เพราะคนส่วนน้อยที่กุมอํานาจเศรษฐกิจอยู่ในมือย่อมมีโอกาสดีกว่า

ในการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางการเมือง ขอให้ดูตัวอย่างการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของหลายประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้นพวกของผู้กุมอํานาจทางเศรษฐกิจสามารถทุ่มเทเงินมาใช้จ่ายได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในรัฐสภายิ่งกว่าผู้มีความสามารถทางการเมืองแต่ไม่มีทุนมาลงในการเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้อํานาจทางการเมืองก็ตกอยู่ในมือของผู้กุมอํานาจทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถใช้อํานาจทางการเมืองดลบันดาลให้เศรษฐกิจเป็นไปตามความประสงค์ของตนและพวกของตนที่เป็นคนจํานวนส่วนข้างน้อยของสังคม

สังคมของมนุษย์จะดําเนินไปสู่รูปใดนั้นก็โดยความเคลื่อนไหว ของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ มนุษย์จะสามารถผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้นั้นก็จ ต้องมีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนําในการดําเนินกิจกรรมทางสังคม ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์

หรือแม้แต่ต้องการเพียงระบบประชาธิปไตยทางการเมือง ทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนําแล้วก็ย่อมดําเนินกิจกรรมไปตามแนวทางที่ไม่อาจเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามความต้องการนั้นได้ อะไรคือทัศนะประชาธิปไตยทางสังคมนั้นก็เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ซึ่งย่อมพิสูจน์จากผลแห่งการดําเนินทัศนะที่ยึดถือนั้นคือถ้าทัศนะนั้นนําไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลให้สังคมมีระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือแม้แต่ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเป็นเบื้องต้นแล้ว ทัศนะนั้นก็อยู่ในจําพวกประชาธิปไตย ถ้าไม่บังเกิดผลดังกล่าวก็สมควรวิเคราะห์พิจารณาว่าทัศนะนั้นขัดต่อความเป็นประชาธิปไตยและเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยตรงคงอยู่ได้ตราบเท่าที่ทัศนะนั้นยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม ผมจึงขอมอบให้ท่านทั้งหลายค่อย ๆ หาเวลาตรึกตรอง แล้ววินิจฉัยเพื่อแสวงหาทัศนะที่เป็นประชาธิปไตยทางสังคมเป็นหลักนำ

ส่วนระบบประชาธิปไตยทางการเมืองโดยเฉพาะนั้นเกี่ยวกับระบบอํานาจรัฐที่ราษฎรมีสิทธิในการใช้อํานาจรัฐนั้นมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทและกฎหมายเลือกตั้งอีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับระบบบริหารและระบบตุลาการ ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองที่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่สุดคือระบบที่ราษฎรทั้งปวง ในสังคมนั้นมีสิทธิออกเสียงบัญญัติกฎหมายได้โดยตรงไม่ใช่ผ่านทางผู้แทนราษฎร ระบบประชาธิปไตยชนิดนี้ย่อมทําได้ในประเทศเล็ก ๆ ที่มีพลเมืองไม่มาก อาทิในสมัยพุทธกาลมีรัฐหนึ่งชื่อว่า “สักกชนบท” ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงอธิบายไว้ ในหนังสือพุทธประวัติว่าสักกชนบทนี้ปกครองโดยสามัคคีธรรมไม่มีพระราชา

การที่ราษฎรในรัฐนั้นใช้อํานาจอธิปไตยได้โดยตรงเพราะรัฐนั้นมีพลเมืองน้อย ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีรัฐ หรือ canton เล็ก ๆ ใน สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ เช่น Appenzell ซึ่งมีพลเมืองรวมทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ประมาณ 10,000 คน มีผู้บรรลุนิติภาวะที่มีสิทธิออกเสียงไม่กี่พันคน ผู้มีสิทธิออกเสียงของรัฐนั้นมาประชุมกันในท้องสนามเพื่อลงมติโดยตรงในร่างกฎหมายใด ๆ ได้ แต่ในประเทศที่มีพลเมืองหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านคนที่เป็นการพ้นวิสัยที่จะนัดประชุมราษฎรทั้งปวงให้มาลงมติในร่างกฎหมายใด ๆ โดยตรงได้ ฉะนั้นจึงจะเป็นต้องมีระบบเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้มาใช้สิทธิแทนราษฎร

ปัญหาระบบการเมืองประชาธิปไตยโดยผ่านทางผู้แทนราษฎรนี้มิใช่อยู่ที่ว่ารูปภายนอกมีรัฐสภาอันประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่ยังจะต้องพิจารณาถึงระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรว่าในทางปฏิบัติ ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงเสมอภาคกันและมีความสะดวกเพียงใด ท่านที่อยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นแม่แห่งระบบประชาธิปไตยทางรัฐสภานั้นย่อมเห็นว่าระบบเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของอังกฤษมีความเป็นประชาธิปไตยพอควร อาทิ เขาแบ่งเขตเลือกตั้งเขตหนึ่ง ๆ เพื่อเลือกตั้งผู้แทนราษฎรคนหนึ่งเท่านั้นและมีหน่วยลงคะแนนไว้มากพอที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจะเดินมาลงคะแนนได้โดยไม่เสียเวลาอันจะทําให้เกิดเบื่อหน่าย

แต่ในประเทศไทยภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490  ซึ่งบางคราวได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่ใช้วิธีถือเอาเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งโดยมิได้แยกออกเป็นหลายเขตในจังหวัดที่มีพลเมืองมาก ส่วนจํานวนผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีได้นั้น ให้คํานวณตามจํานวนพลเมือง 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน ดังนั้นจังหวัดที่มีพลเมืองน้อยกว่า 150,000 คน เช่นจังหวัดระนองก็มีผู้แทนราษฎรได้เพียงคนเดียว ส่วนจังหวัดที่มีพลเมืองมาก เช่นจังหวัดพระนครก็มีผู้แทนราษฎรได้ 9 คน เมื่อ พ.ศ. 2501 ดังนั้นความไม่เสมอภาคหรือความไม่เป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นระหว่างราษฎรไทยในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ราษฎรระนองมีสิทธิเลือกผู้แทนได้คนเดียว ส่วนราษฎรจังหวัดพระนคร มีสิทธิเลือกผู้แทนได้ 9 คน เหตุผลที่อ้างมีหลายอย่างที่ฟังไม่ขึ้น แต่เราก็เห็นได้ว่าเมื่อราษฎรไม่มีความเสมอภาคกันเช่นนั้นแล้วก็จะเรียกว่าระบบประชาธิปไตยไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลกันจึงไม่สะดวกแก่การที่ราษฎรมาลงคะแนนได้ทั่วถึง เป็นเหตุให้ราษฎรที่มาลงคะแนนน้อยมากและเป็นเหตุให้ราษฎรไทยเป็นส่วนรวมถูกกล่าวหาเพื่อเป็นข้ออ้างว่ายังไม่พร้อมที่จะรับความเป็นประชาธิปไตยแต่อันที่จริงราษฎรไทยนิยมความเป็นประชาธิปไตยมาแต่โบราณกาลแล้ว อาทิในสมัยก่อนเมื่อสมภารวัดใดในชนบทว่างลงก็มีการประชุมพระในวัดและราษฎรในหมู่บ้านเลือกสมภาร ผู้ใหญ่บ้านว่างลงที่ประชุมราษฎรเลือกผู้ใหญ่บ้านซึ่งราษฎรส่วนมากก็มาประชุมกันโดยไม่ต้องเดินทางมาหน่วยเลือกตั้งที่ห่างไกล ดังนั้นระบบการเมืองที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ก็จําต้องมีรัฐธรรมนูญ วิธีเลือกตั้งซึ่งให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เสมอภาคกัน และมีความสะดวกในการออกเสียงได้ในทางปฏิบัติ อีกทั้งจะต้องมีระบบที่ฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง และระบบที่ฝ่ายตุลาการจําต้องมีอิสระและดํารงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม

ปัญหารูปแห่งระบบประชาธิปไตยทางการเมืองนี้มีความพิสดารมาก ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่สนใจหาโอกาสศึกษาค้นคว้าต่อไป ผมขอฝากข้อสังเกตไว้อีกเล็กน้อยว่าท่าน อาจได้ยินวาทะของบางคนว่า ระบบประชาธิปไตยในอนาคตของประ เทศไทยนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างไทย ๆ วาทะนี้ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใสถ้าผู้กล่าวปรารถนาอย่างจริงใจให้ระบบการเมืองของไทยเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาละสมัยของมวลราษฎรไทย แต่ก็ควรพิจารณาว่า คําที่ว่าอย่างไทย ๆ นั้น ขออย่าให้เหมาะสมเพียงแต่เฉพาะคนไทยส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น

บัดนี้ผมขอเข้าสู่ปัญหาระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานสําคัญของสังคม

ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้นไม่หมายถึงระบบที่มีบางคนกล่าวว่าใช้วิธีการริบทรัพย์สินเงิน สินเงินทองของทุกคนในสังคมแล้วเอามา ๆ หากเป็นระบบตามวิธีการนี้ ระบบนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพราะมิใช่ระบบที่เป็นธรรมคือคนที่ไม่แบ่งเฉลี่ยเท่า กับแบ่งเฉลี่ยเท่า ๆ กัน ถ้าหากเป็นระบบตามวิธีการนี้ ระบบนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพราะมิใช่ระบบที่เป็นธรรม คือคนที่ไม่ทํางานหรือทํางานอย่างเกียจคร้านก็จะได้ส่วนแบ่งเท่ากับคนที่ทำงานด้วยความอุตสาหะ และจะนําไปสู่ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ สังคม ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจหมายถึงราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจํานวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอํานาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันท์พี่น้องออกแรงกาย หรือแรงสมองตามความสามารถเพื่อผลิตสิ่งอุปโภค และบริโภคให้สมบูรณ์ ครั้นแล้วแต่ละคนก็จะได้รับผลด้วยความเป็นธรรมตามส่วนแรงงานทางกายหรือทางสมองที่ตนได้กระทํา ผู้ใดออกแรงงานมากก็ได้มาก ผู้ใดออกแรงงานน้อยก็ได้น้อย

ในขณะที่ราษฎรไทยส่วนมากมีความอัตคัดขาดแคลนทางเศรษฐกิจอยู่นี้ ปรากฏว่าในประเทศไทยได้มีผู้กล่าวมากขึ้นถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยวิธีสังคมนิยม เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ว่าท่านผู้มีเกียรติจํานวนหนึ่งได้อภิปรายกันถึงความดีของระบบสังคมนิยม เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ท่านผู้อภิปรายสรุปว่าสังคมนิยมนั้นดี แต่ทําไม่ได้สําหรับประเทศไทย ในฐานะนักประชาธิปไตยเราก็ต้องรับฟังความเห็นทุก ๆ ด้านคือรวมทั้งด้านที่ว่าทําได้และทำไม่ได้ในประเทศไทย ครั้นแล้วจึงนำมาวินิจฉัยว่าระบบสังคมนิยมไม่มีทางทำได้เลยในประเทศไทยโดยปล่อยให้ชนส่วนน้อยในสังคมกุมอำนาจเศรษฐกิจของชาติไว้ต่อไป หรืออาจมีระบบสังคมชนิดใดที่สามารถทำได้ในประเทศไทยที่จะช่วยให้เกิดระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

เมื่อประมาณ 1 ปีเศษมาแล้ว ได้มีพระองค์เจ้าองค์หนึ่งเสด็จมาเยี่ยมผมที่ชานเมืองปารีส ท่านมีความเห็นว่าสังคมนิยมเคยทําได้ในเมืองไทยเช่นพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาได้จัดสําเภาไปค้าขายในต่างประเทศ เรื่องนี้มีความจริงตามที่พระองค์เจ้านั้นมีความเห็นเพราะในกฎหมายว่าด้วยศักดินาพลเรือนที่ตราขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์ที่ทรงปรีชาสามารถได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่เรือสําเภาของพระองค์เป็นขุนนางดํารงฐานะศักดินาจํานวนที่ไร่ตามลําดับรวมทั้งตําแหน่งที่ท่านเรียกทับศัพท์จีน “จงโผ้ว” คือคนทําครัวในเรือสําเภาก็มีศักดินา แสดงว่าพนักงานการค้าหรือวิสาหกิจของรัฐภายใต้พระมหากษัตริย์นั้นเป็นพนักงานของสังคมนิยมชนิดหนึ่ง

ระบบสังคมนิยมนั้นมีมากมายหลายชนิดซึ่งในวิชาว่าด้วยลัทธิเศรษฐกิจกล่าวไว้ว่ามีประมาณกว่า 80 ชนิด ถ้าจะรวมเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือประเภทปฐมกาลเมื่อครั้งมนุษยชาติอยู่ในระบบปฐมสหการ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีเอกชนผูกขาดตัดตอนที่ดินเป็นส่วนของตน ประเภทสังคมนิยมทาษตามทํานองของพลาโต ประเภทสังคมนิยมศักดินา ที่เจ้าศักดินาดําเนินวิสาหกิจส่วนรวมเอามาเป็นของตน ประเภทสังคมนิยมของผู้มีทุนน้อย ประเภทสังคมนิยมของผู้มีทุนชนิดต่าง ๆ ประเภทสังคมนิยมของวรรณะได้สมบัติ สังคมนิยมเพ้อฝัน สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

ทัศนะสังคมนิยมแต่ละประเภทและแต่ละสาขาปลีกย่อยมีความขัดแย้งระหว่างกัน บางครั้งถึงขนาดเขียนโต้แย้งกันรุนแรง ปัญหาที่ควรพิจารณาคือ ชนิดใดเป็นไปถูกต้องตามกฎธรรมชาติ อันเป็นกฎที่นํามาใช้แก่มนุษยชาติได้ แม้กระนั้นก็มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพของแต่ละสังคมว่าจากสภาพที่กําลังเป็นอยู่นั้นจะเปลี่ยนระบบสังคมจากระบบเดิมเข้าสู่ระบบสังคมนิยมได้ทันทีทันใดหรือจะต้องดําเนินเป็นขั้น ๆ ไป เพื่อมิให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจส่วนรวมของสังคม ผมขอให้ท่านใช้เวลาศึกษาค้นคว้าว่าระบบใดเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อความไพบูลย์ของมวลราษฎรหรือประชาชน 

ตามที่ผมเสนอวิธีใช้ความคิดในปัญหาระบบประชาธิปไตยต่าง ๆ แล้วนั้นเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยที่ทุกชนชาติปัจจุบันนี้ ซึ่งรวมกันอยู่เป็นอาณาจักรประเทศไทยอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ระหว่างนี้ ได้มีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งท่านทั้งหลายย่อมได้ยินได้ฟังจากข่าวของรัฐบาลไทยเองถึงเรื่องที่มีชนชาติส่วนน้อย อาทิ คนไทยเชื้อชาติมลายูในภาคใต้ที่มีขบวนการเคลื่อนไหวที่จะแยกตนออกจากประเทศไทย ข่าวนี้เราไม่ควรมองข้ามไปเสีย คือควรสนใจพิจารณารูประบบของสังคมให้เหมาะสมที่สามารถรวมชนชาติส่วนน้อยต่าง ๆ เข้าร่วมอยู่ในอาณาจักรไทยตลอดไป

ปัญหานี้ผมได้เคยส่งบทความมาให้ที่ชุมนุมชาวธรรมศาสตร์ ในอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งชุมนุมนั้นได้นําลงพิมพ์ในวารสาร 19 สิงหาคม 2515 ของชุมนุมนั้นแล้ว คือบทความว่าด้วย “ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย” ซึ่งหลายท่านคงได้อ่านแล้ว ถ้าท่านผู้ใดยังไม่ได้อ่าน แต่สนใจใน ปัญหาสําคัญนี้ก็ขอให้หาโอกาสอ่านด้วย จะได้ช่วยกันคิดปัญหานี้ด้วย ความเป็นธรรม ใจความของบทความนั้นก็อยู่ที่ว่าการรักปิตุภูมิท้องที่ (Local Patriotism) ของชนชาติส่วนน้อยในประเทศต่าง ๆ นั้นยังไม่อาจหมดสิ้นไปได้ภายในเวลาสั้น ๆ แม้ในประเทศอังกฤษเองชนชาติไอร์แลนด์เหนือที่รวมอยู่ในสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลากว่า 800 ปี แล้วก็ยังมีความดิ้นรนที่จะแยกตนจากสหราชอาณาจักร 

ผมได้ยกตัวอย่างแคว้นเวลส์ ตัวอย่างของนอร์เวย์ที่แยกตนจากสวีเดน เบลเยี่ยม ที่แยกตนจากเนเธอร์แลนด์ ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรไทยซึ่งรวมชนชาติต่าง ๆ หลายชนชาติได้มากเป็นอาณาจักรใหญ่กว่าเมื่อครั้งสมัยอยุธยานั้นก็ประมาณเมื่อ 200 ปีเป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย ในภาคพายัพซึ่งเป็นประมุขของชนชาติส่วนน้อยนั้นก็เพิ่งหมดสิ้นไป ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชาหรือสุลต่านต่าง ๆ ก็ชนชาติส่วนน้อย เชื้อชาติมลายูในภาคใต้องค์สุดท้ายก็เพิ่งหมดสิ้นไปเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังที่ชุมนุมชาวธรรมศาสตร์ในอังกฤษได้ตีพิมพ์บทความนั้นของผมแล้ว ผมได้อ่านบทความของ พ.ต.อ. กัมปนาท จินตวิโรจน์ ในวารสาร ต.ม.ธ.ก. รุ่น 2 ฉบับ 3 มีนาคม 2516 ได้ทราบความเพิ่มเติมเกี่ยวกับขบวนการแยกดินแดนของคนเชื้อชาติมลายูที่เป็นพวกนิยมเชื้อสายราชาหรือสุลต่านเดิมของตน พวกนิยมสาธารณรัฐ พวกนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อไม่นานมานี้บรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์และสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ได้ขออนุญาตนําบทความของผมไปลงพิมพ์ ผมหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะให้ความสนใจต่อเอกภาพของชาติไทยและช่วยกันคิดที่จะมิให้เอกภาพของชาติต้องสลายไปโดยใช้เวลาศึกษาตรึกตรองว่า วิธีใช้อํานาจปราบปรามพวกคิดแยกดินแดนเพียงวิธีเดียวนั้น มีตัวอย่างประเทศใดในปัจจุบันนี้บ้างที่รักษาเอกภาพของชาตินั้นไว้ได้อย่างราบรื่น และวิธีโบราณที่ให้ทุกชนชาติในสังคมถือพระศาสดาองค์เดียวกันนั้น เห็นแล้วว่าชนชาติต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธองค์เดียวกันก็ดีพระเยซูองค์เดียวกันก็ดี ไม่สามารถรวมกันเป็นเอกภาพได้ 

ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าถึงเวลาหรือยังที่จะไม่สายเกินไปในการใช้วิธีรักษาเอกภาพของชาติไทย จากรากฐานที่แท้จริงของสังคมโดยสถาปนาระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ทัศนะสังคมอันเป็นรูปสังคมที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกชนชาติเห็นว่าระบบนี้นําความผาสุกในความเป็นอยู่แท้จริงของเขาได้ พวกเขาก็จะเต็มใจร่วมกับชนชาติไทยคงอยู่เป็นอาณาจักรอันเดียวกันตลอดไป

ผมขอจบปาฐกถาโดยสังเขปเพียงเท่านี้.

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขรและวิธีสะกดตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบบทความจากสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

บรรณานุกรม :

  • กองบรรณาธิการฯ, วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2556 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)