ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #26 เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ : จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต

25
มิถุนายน
2567

วานนี้ (24 มิถุนายน 2567) ในวาระ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 สถาบันปรีดี พนมยงค์จัดงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ : จากบทเรียน 2475 สู่ อนาคต” เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 และศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้มีส่วนสำคัญในการอภิวัฒน์สยาม อันนำมาสู่การริเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงจัดงานเสวนานี้ขึ้นเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองต่อบทเรียน 2475 และทิศทางประชาธิปไตยอันมีเอกภาพหลังจากการอภิวัฒน์สยามอันนำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของประเทศไทยนั้น จากเดิมที่คณะราษฎรไม่สามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้ด้วยหลายปัจจัยและในประการสำคัญคือ ไม่ได้เตรียมการรับมือกับ “การโต้กลับการอภิวัฒน์” ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบทเรียน 2475 และชี้แนวทางในการกอบกู้และรักษาประชาธิปไตยก้าวแรกกลับมาและทำให้มีเอกภาพอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

 

 

งานเริ่มต้นด้วย รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงาน ลำดับถัดมาได้มีการเสวนา “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ : จากบทเรียน 2475 สู่ อนาคต” โดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ (สะอาด) นักเขียนการ์ตูนอาชีพ, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์, แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิธา ทิวารี อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย, อธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชนอิสระ ดำเนินรายการโดย วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวถึงแนวคิดราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญของนายปรีดี พนมยงค์ หลังการอภิวัฒน์ 2475 และเสนอให้เห็นเรื่องโต้การอภิวัฒน์จากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมเอียงขวาเรื่องผู้เกินกว่าราชา โดยอธิบายว่าระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญมีหลักการคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญคือ ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง มีรูปแบบการเมืองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาหากภารกิจของคณะราษฎรยังไม่สำเร็จเพราะว่าถูกจำกัด และกำจัดจนกระทั่งพ่ายแพ้ทางการเมืองโดยเฉพาะหลังการรัฐประหารครั้งแรกในปี 2489 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และจบบทบาทของคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา และชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบปรชาธิปไตยเป็นโครงการที่ไม่สิ้นสุด การต่อสู้ของประชาธิปไตยมันจะซับซ้อนลงไปเรื่อย ๆ อีก และการเป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดของคณะราษฎรและนายปรีดีจะต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ในหัวข้อเสวนาเรื่องเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตย ชัยธวัชกล่าวว่าดูเหมือนผู้จัดงานให้ความสำคัญหรือมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตย ทั้งมิติพรรคการเมือง นักกิจกรรม ปัญญาชน รวมถึงประชาชนแต่สำหรับตนเองกลับมองว่าเอกภาพมีความสำคัญทำให้การขับเคลื่อนมีพลังมากขึ้นหากประสบการณ์ซึ่งตนอาจมีน้อยที่สุดบนเวทีนี้และกล่าวถึงประสบการณ์ทางการเมืองของตนในยุคพฤษภาประชาธรรม ท้ายที่สุดในเรื่องเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยทางชัยธวัชสรุปไว้ว่า เอกภาพของขบวนการในความหมายที่ว่าเราไม่มีความขัดแย้ง ไม่เห็นต่างกันเลย เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดทุกเรื่อง อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในไทยหรือทั่วโลก และอาจเป็นสิ่งที่ไม่ควรนึกถึง เพราะอาจทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนา ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติและควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยด้วย

 

แล ดิลกวิทยรัตน์ กล่าวถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย และมองว่ามีค่านิยมเจ้าขุนมูลนายในขบวนการแรงงาน โดยแลได้เคยไปเยี่ยมเยียนนายปรีดีที่บ้านอองโตนี ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ของคำศัพท์การเมืองในบริบททางเมืองไว้อย่างน่าสนใจ ท้ายที่สุด แลวิเคราะห์ว่ากระบวนการทางสังคมที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในทางปัจจัยภายในและโดยเฉพาะผลกระทบต่อปัจจัยภายนอกรวมทั้งบริบทโลกทำให้การนำไปสู่ประชาธิปไตยมีการหยุดชะงักหากเป็นเรื่องที่ปกติและกล่าวไว้ในใจความสำคัญเกี่ยวกับเอกภาพและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันเป็นบทเรียนและมรดกจากยุคสมัยคณะราษฎรไว้ว่า “ผมเชื่อว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยอยู่ในทุกคน เมื่อมีอุปสรรคเข้ามาสุดท้ายคนก็จะกลับมารวมตัวกันเสมอ ซึ่งเป็นความหมายของเอกภาพ"

 

ศิธา ทิวารี กล่าวถึงการกลายพันธุ์ของรัฐธรรมนูญ โดยไล่เรียงตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งศิธามองว่าคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่คนร่างรัฐธรรมนูญแบบรัฐประหารจะทำให้รัฐธรรมนูญกลายพันธุ์ไปเป็นแบบเผด็จการ โดยกล่าวถึงในบริบททางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2557 และชี้ว่ารัฐธรรมนูญฯ ที่กำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้ที่กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเราซึ่งหมายถึง นักการเมืองไม่ใช่ดีไซน์มาเพื่อประชาชน ดังนี้พัฒนาการประชาธิปไตยหลังปี 2557 ในมุมมองของผู้มีอำนาจมักจะกล่าวว่าการยึดอำนาจปี 2549 เป็นการเสียของ และชี้ให้เห็นสอดรับกับเรื่องเอกภาพหลังการรัฐประหารปี 2557 ว่า เป็นเอกภาพของผู้มีอำนาจโดยการใช้กฎหมายและองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือในการเสริมอำนาจ ศิธามองว่าในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาหากกล่าวถึงเอกภาพจะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่เอกภาพคือ ผู้มีอำนาจ และจากเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นไปได้ยาก

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กล่าวถึงประสบการณ์ในยุค 14 ตุลา 2516 และความคิดของขบวนการนักศึกษาภายหลังจากนั้นว่าไม่ได้มีลักษณะประชาธิปไตยและไม่มีความเป็นเอกภาพโดยชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ข่าวสารหรือเรื่องราวทางการเมืองและประวัติศาสตร์ในสังคมไทยเน้นที่ความเชื่อของบุคคลในเรื่องต่าง ๆ มากกว่าความรู้ และการขาดข้อมูลความรู้เรื่องการวิพากษ์ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง และย้ำว่าจุดยืนคือ สังคมมีสิทธิเสรีภาพ เป็นสังคมประชาธิปไตยซึ่งเป็นการเปิดใจรักคนอื่นด้วย

 

ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ เสนอว่าหลักการของคณะราษฎรที่สำคัญคือ ประเทศนี้เป็นของราษฎรและสำหรับการทำงานศิลปะใดใดก็ตามควรรักษาจินตนาการของตนเองเอาไว้ว่า “เราควรมีจินตนาการว่าประเทศเป็นของราษฎร แม้ประเทศนี้อาจจะยังไม่เป็นของราษฎรจริงๆ...การรักษาจินตนาการนี้เป็นงานที่สำคัญ โครงสร้างอาจจะยังแก้ไม่ได้ แก้ยาก หรือเผชิญข้อจำกัด แต่จินตนาการที่ยังมีความเชื่อนี้เป็นความคิดที่สำคัญต่อการผลักดันประชาธิปไตย” 

และเสนอเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของคณะราษฎรในทศวรรษ 2470-2480 ซึ่งแต่ละคนล้วนมีจุดยืนของตัวเอง แต่บทเรียนสำคัญจากเรื่องนี้คือ แม้จะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงแต่ภารกิจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็สำเร็จด้วยความร่วมมือของทุกคน “จุดยืนทางการเมืองอาจต่างกันก็จริง แต่เรามีเป้าหมายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จให้ได้” และชี้ให้เห็นว่าคุณค่าของประชาธิปไตยคือการที่เห็นคนเท่ากัน 

ในช่วงท้ายเป็นการมอบของที่ระลึกโดยคุณสุดา พนมยงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แก่ผู้ร่วมการเสวนาฯ 5 ท่าน และผู้ดำเนินรายการ และ รศ. ดร. มุนินทร์ พงศาปาน กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกแก่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล 

งานเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่ง อาทิ ทายาทปรีดี-พูนศุข พนมยงค์, คุณชรินทร์ หาญสืบสาย กรรมการกลางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, คุณกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ประชาชน นิสิตนักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นต้น