ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

'ประชาชนมีความสุข มีสิทธิเสรีภาพ' เป้าหมายและจุดยืนในการสร้างสังคมประชาธิปไตย

30
มิถุนายน
2567

 

Focus

  • นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เสนอเรื่องบทเรียนประชาธิปไตยที่ได้จากอดีตถึงปัจจุบันในประการสำคัญคือ ‘เราต้องลงมือทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาทำให้’ หากต้องการประชาธิปไตย ก็ต้องสนับสนุน สร้าง เรียกร้อง และส่งเสริมประชาธิปไตยด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลเพราะว่าการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ต้องการนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งที่ต้องการในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการในวันหน้า ต้องปรับตัวและแก้ไขไปตามสถานการณ์
  • การสร้างประชาธิปไตยที่ดีคือการสร้างความคิดที่ยอมรับความเห็นต่าง เคารพผู้อื่น และใช้ระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือ ควรมองที่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และยังเสนอให้การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยนับจากนี้มุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
  • ท้ายที่สุด นิธินันท์ เสนอว่าไม่ควรยึดติดเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตยแต่ให้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายบางอย่าง และวิเคราะห์บทเรียน ถอดรหัสความขัดแย้งจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฏร เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ล้วนมีความแตกแยกเกิดขึ้นทั้งสิ้น โดยชี้ว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเป็นแนวคิดเดียวกับที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

 

 

วรรณภา ติระสังขะ

อาจารย์นิธินันท์คะ ความเป็นเอกภาพหรือความไม่เป็นเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยสําคัญหรือไม่อย่างไร แล้วก็เรามีบทเรียน เราหวัง เราอยากเห็นอะไรในอนาคตได้บ้างคะ

 

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ดิฉันจะไม่ใช้คำว่า “สมบูรณ์” ทุกอย่าง ในโลกนี้มันมีคําว่าสมบูรณ์สําหรับอุดมคติ แม้คำนี้จะเป็นอุดมคติ แต่ในชีวิตจริงหากยึดติดกับมันมากเกินไป อาจนำไปสู่ความเศร้าหมองได้นะคะ ดิฉันได้ฟังความคิดเห็นของคุณชัยธวัชและอาจารย์แลแล้วรู้สึกว่ามีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย แต่เมื่อได้ฟังคุณศิธา กลับรู้สึกว่าประเด็นที่พูดถึงนั้นวนกลับไปสู่เรื่องความขัดแย้ง ดิฉันพยายามหลีกเลี่ยงเพราะรู้สึกว่ามันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ  คือชี้หน้าว่ากัน ไปมาซึ่งดิฉันบอกตรง ๆ ในวัยใกล้เจ็ดสิบดิฉันรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง จึงอยากตั้งคำถามว่าเรารักชาติกันแบบไหน ในเมื่อสิ่งที่ทำคือการชี้หน้าด่ากันตลอดเวลา

บทเรียนที่ได้จากอดีตถึงปัจจุบันคือ เราต้องลงมือทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาทำให้ หากต้องการประชาธิปไตย ก็ต้องสนับสนุน สร้าง เรียกร้อง และส่งเสริมประชาธิปไตยด้วยตัวเอง การต่อสู้เพื่อสิ่งที่ต้องการนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่ต้องการในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการในวันหน้า ดังนั้นเราต้องปรับตัวและแก้ไขไปตามสถานการณ์

ดิฉันไม่ได้เป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือสื่อมวลชน แต่ในฐานะนักศึกษาจิตวิทยา ดิฉันมองมนุษย์ด้วยความเป็นมนุษย์ ดิฉันมองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความสุข ความรักและความสงบสุข ดิฉันเชื่อว่าแม้แต่ที่คนที่เราเรียกว่าต่อต้านประชาธิปไตยก็อาจไม่ได้ต่อต้านจริง ๆ เพียงแต่พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย จึงแสดงออกด้วยการต่อต้าน หากเราพยายามเข้าใจเขามากขึ้น สังคมก็จะดีขึ้น ซึ่งสื่อนะคะจะช่วยทําได้มากเลย ความเข้าใจผิดมากมายทำให้โลกถูกแบ่งเป็นขาวดำ เป็นอุปสรรคต่อการเกิดประชาธิปไตยและนำไปสู่การรัฐประหารเนื่องจากความเชื่อเรื่องการเรียกร้องอำนาจนอกระบบและการไม่เชื่อมั่นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นความย้อนแย้งที่ทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเราไม่มั่นคง

เราติดอยู่กับโลกของความดีความชั่ว มองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและการต่อสู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดหากเรามองประชาธิปไตยในบ้านเราเป็นสงครามกลางเมือง ดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้วิธีการแบบนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตย การสร้างประชาธิปไตยที่ดีคือการสร้างความคิดที่ยอมรับความเห็นต่าง เคารพผู้อื่น และใช้ระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองอย่างแท้จริง หากไม่ชอบพรรคใดก็ไม่ต้องเลือก หากพรรคที่ไม่ชอบได้เป็นรัฐบาล ก็ควรรอให้ครบวาระ ไม่ใช่ไปเรียกร้องอำนาจนอกระบบ ดิฉันคิดว่าเราควรเลิกกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นเผด็จการ เพราะมันเป็นคำที่ใช้กันง่ายเกินไป ควรมองที่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ใช่การแบ่งฝ่ายดีฝ่ายเลว หรือประชาธิปไตยกับเผด็จการ หากเป็นเช่นนี้ จะมีแต่การต่อสู้ไม่สิ้นสุด เหมือนสงครามกลางเมือง

ดังนั้น คำว่า “เอกภาพในขบวนการประชาธิปไตย” จึงไม่จำเป็นต้องยึดติด เพราะความเป็นจริงคือการร่วมกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายบางอย่าง แต่หลังจากนั้นก็จะแตกกระจายออกไปตามความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เห็นได้จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฏร เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ล้วนมีความแตกแยกเกิดขึ้นทั้งสิ้น แม้แต่ในขบวนการ 6 ตุลาเอง ก็มีความแตกแยกทางความคิดระหว่างฝ่ายที่นิยมจีนกับฝ่ายที่นิยมโซเวียต ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง จนทำให้เสียเวลาไปกับการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของตัวเอง แทนที่จะมุ่งไปสู่การทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

 

 

ดิฉันคิดว่าการกล่าวหากันลักษณะนี้เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ จึงอยากให้การต่อสู้จากนี้มุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง หากมีสิ่งใดไม่ถูกต้อง ก็ควรพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช่การกล่าวหาหรือด่าทอผู้อื่นว่าเป็นเผด็จการ ดิฉันรู้สึกว่าสังคมแบบนี้มันโหดร้ายเกินไป และทำให้สังคมของเราไม่มีอนาคต ไม่ใช่เพราะขาดประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะผู้คนเต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน เราสร้างความเชื่อผิด ๆ ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากการไม่มีประชาธิปไตย แต่ความจริงแล้ว ความเกลียดชังต่างหากที่ทำให้เราไม่สามารถร่วมกันสร้างประชาธิปไตยได้

เราเลือกพรรคการเมืองที่ต่างกันได้ เราไม่จําเป็นต้องชอบพรรคการเมืองเหมือนกัน แต่ขอให้เราเลือกพรรคการเมืองด้วยความเห็นว่าเรา ชอบนโยบายของพรรคไหน ไม่ใช่เลือกเพราะว่าเขาเป็นเผด็จการในความคิดเราหรือเขาเป็นประชาธิปไตยกว่า เพราะว่าทุกวันนี้ ณ เวลานี้ถึงตอน นี้มันก็ไม่ใช่สามารถจะพูดอย่างนั้นได้แล้ว คือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปค่ะ มันไม่ใช่แบบเดิมมันไม่ใช่ยุคที่ดิฉันเป็นเด็ก ที่มีท็อปบู๊ททมิฬจริง ที่มีการถีบลงเขาเผาลงถังจริง สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะแล้วเราก็ควรจะเปลี่ยนมุมมองด้วย

สรุปสั้น ๆ ก็คือว่าดิฉันขอให้เรามันจะยั่งยืนต่อไปได้อย่างดีเราก็ต้องเปลี่ยนความคิดพื้นฐานหลายอย่างเลิกมองคนเป็นศัตรูเลิกมองโลกดําขาวเปลี่ยนความคิด วิกฤติศรัทธาหลายอย่างดิฉันบอกได้เลยว่าในฐานะคนทําสื่อเก่าวิกฤติศรัทธาหลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริงแต่เกิดขึ้นโดยสื่อสร้างเรื่องขึ้น ดิฉันว่าวันนี้ดิฉันอาจจะมาพูดด้วยความเศร้าก็ได้ กําลังจะเริ่มเป็นโรคซึมเศร้าวัยชรา เพราะ ซึมเศร้าว่าทําไมสังคมถึงเป็นกันแบบนี้ คนเราเอาความรักความหวังดีต่อกันไปไว้ไหน ทำไมถึงมีแต่ความเกลียดชัง

 

วรรณภา ติระสังขะ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราต้องการประชาธิปไตย เราต้องลงมือทำเอง ไม่ต้องรอใคร ทำให้ทุกวันของเราเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด อย่าแบ่งแยกพวกเราพวกเขา เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จริง ๆ มันมีคํานึงที่แวบเข้ามาในหัวอะค่ะ ที่คุณนิธินันท์พูดคือ empathy อะค่ะ มันคือความเข้าอกเข้าใจความเห็นอกเห็นใจ พยายามเข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงคิดต่างจากเรา เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เป้าหมายของประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม ความสุข และความสงบ ซึ่งทุกคนปรารถนา

คุณนิธินันท์ค่ะ ในฐานะที่ทํางานด้านสื่อ รอบก่อนพูดถึงสื่อว่าสื่ออาจจะเป็นจุดนึงที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหาได้ สื่อเป็นชนวนหนึ่งหรือไม่ในการลดทอนคุณค่าของขบวนการประชาธิปไตย รวมถึงการอภิวัฒน์สยาม 2475 รวมถึงตัวอาจารย์ปรีดีด้วย แล้วเราสามารถคาดหวัง หรืออยากเห็นบทบาทของสื่อทําหน้าที่ยังไงบ้างคะ

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

'เอกภาพ' กล่าวให้สั้น ๆ ว่ามันไม่จําเป็นต้องมี แต่ว่าก็ต้องยึดหลักการประชาธิปไตยคือ ทุกคนก็ต้องการประชาธิปไตยและแต่รูปแบบอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจกังวลว่ารูปแบบที่ตัวเองไม่คุ้นเคยจะกระทบกับความมั่นคงของตน เราจึงควรเปิดใจรับฟังกัน เพื่อให้สังคมพัฒนาไปได้ ไม่ใช่ชี้หน้าด่ากัน พูดอย่างนี้ราวบอกว่าไม่มีคนที่คิดเผด็จการ แล้วก็มาบั่นทอนอํานาจประชาชนเลยหรือ มีค่ะยังมีอยู่ แล้วถามว่าสู้ไหมก็สู้ค่ะ ก็ต้องคัดค้านต่อสู้ต้องพูด ต้องอะไร ด้วยวิธีการทางกฎหมาย ด้วยวิธีการในสภาแล้วก็ต้องทําอยู่ตลอดเวลานะคะ แต่ว่าหมายความว่าเราต้องมาพร้อมกับข้อมูลความรู้ค่ะ ต้องมาพร้อมกับชุดข้อมูลความรู้ที่เป็นจริงอ่ะ ไม่ใช่มากับชุดความเชื่อ คือสังคมถ้าเชื่ออย่างเดียวโดยที่ปราศจากข้อมูลความรู้แล้วฟันธงไปเลยว่าอะไร เป็นอะไร อย่างนั้น อย่างนี้ คนนี้เลว คนนี้ชั่วดําขาวมันสร้างปัญหาค่ะ แล้วมันทําให้สังคมเป็นสังคมที่ปราศจากความรู้แล้วก็ทําให้กองเชียร์พร้อมจะลุกขึ้นมา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ดูและคนนี้มันด่าพวกฉันไปแห่ตีกัน แล้วก็ไม่ต้องไปไหนเลย ตีกันไป ตีกันมา นี่ค่ะอันนี้ที่บอกว่า อันตราย

แล้วอันนี้เลยที่สัมพันธ์กับคําถามที่สองของอาจารย์ก็คือ สื่อ ค่ะ คือดิฉัน บอกได้เพราะดิฉันอยู่ในวงการสื่อมาก่อน คือ ใครจะด่ายังไงก็ด่าเพราะดิฉันก็เป็น คนไม่กลัวคนด่าเหมือนกัน ยอมรับว่าอึดอัดใจที่ต้องพูดเรื่องนี้ซ้ำ ๆ เพราะเห็นว่าสื่อมักเลือกเชื่อข้อมูลบางอย่างโดยขาดการพิจารณาอย่างรอบด้าน แล้วก็พร้อมจะปั้นแต่งข้อมูลนั้นให้คนอื่นเชื่อตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีคนพยายามสร้างความเชื่อว่าอาจารย์ปรีดีชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งเราก็เห็นว่าเป็นการใส่ร้าย ที่น่ากังวลคือ สังคมมักคล้อยตามข้อมูลที่สื่อนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาอาจารย์ปรีดี หรือการกล่าวหาว่าใครเป็นเผด็จการ ทั้งที่บางครั้งก็ไม่เป็นความจริง แต่เพราะเราพร้อมจะเชื่อตามสื่ออยู่แล้ว จึงทำให้ข้อมูลเหล่านี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

 

 

ดิฉันทำงานสื่อค่ะ ยกตัวอย่างกรณีที่บรรณาธิการข่าวรุ่นน้องได้ข่าวมาว่านาย ก ให้ทุนสนับสนุนนาย ข ตั้งพรรค บังเอิญดิฉันรู้จักทั้งนาย ก และนาย ข จึงบอกบรรณาธิการว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง แต่บรรณาธิการยืนยันว่าข่าวนี้มาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แม้ว่าจะเป็นแหล่งข่าวหลายทอดก็ตาม ดิฉันไม่ได้บอกว่าบรรณาธิการถูกหลอก แต่ขอให้ทบทวนข้อมูลก่อนเผยแพร่ข่าวสาร ในที่สุดข่าวมันก็ออกมาว่าคนละเรื่อง แต่ก็ลงข่าวไปแล้วอย่างนั้นเพราะถ้าถามว่าสื่อปั้นแต่งได้มั้ย สื่อปั้นแต่งได้ตลอดเวลา และสื่อที่ไม่ชอบอะไรก็พร้อมจะปั้นแต่งได้ตลอดเวลา บางทีคนทำงานสื่อมักคิดว่าตนเองถูกต้องเพราะเข้าถึงแหล่งข่าวระดับสูง และไม่เคยตั้งคำถามกับข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป แหล่งข่าวระดับสูงอาจใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้

แม้กระทั่งดิฉันเองก็ต้องตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมาอย่างรอบคอบเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง ไม่ใช่แค่รับฟังแล้วรีบเผยแพร่ข่าวทันที แต่สื่อในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโซเชียลมีเดีย มักเผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็วโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อน ทำให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในสังคม แล้วสังคม มันก็ไม่ไปไหน ไม่ใช่สังคมที่ดิฉันปรารถนา ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตยที่ฉันฝันถึง ไม่ใช่สังคมที่อาจารย์ปรีดีฝันถึงแน่ ๆ

 

 

ดิฉันเลือกเข้าธรรมศาสตร์เพราะรักในอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดีที่ต้องการสร้างสังคมที่ดีขึ้น และยังคงเชื่อมั่นในอุดมการณ์นั้นจนถึงปัจจุบัน ดิฉันเชื่อในพลังของคนหนุ่มสาว และให้กำลังใจพวกเขาเสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนทุกการกระทำของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการกระทำนั้นไม่ได้นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้กลับทำให้ดิฉันถูกมองว่าไม่รักประชาธิปไตยและไม่รักคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นการตัดสินที่รวบรัดเกินไปและขาดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้ดิฉันถูกผลักออกไปอยู่นอกกลุ่ม

ทั้งที่ความจริงแล้วดิฉันยังคงยืนหยัดในจุดยืนเดิม จุดยืนที่สังคมเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีความสุข มีสิทธิ เสรีภาพ และจุดยืนเดิมก็คือไม่ฆ่าคนอื่น ไม่ทําร้ายคนอื่น เปิดใจรักคนอื่นด้วย ฟังคนอื่นด้วย คิดต่างก็เถียงกัน ยืนหยัดด้วยตัวเอง ไม่ง้อ ไม่ต้องไปกราบกรานง้อว่าเอาฉันเป็นพวกไม่ต้อง แต่ฉันยอมรับว่ามีคุณอยู่ตรงนั้น พื้นที่ห้องนี้เป็นของคุณด้วย ฉันไม่ยึดคนเดียว ฉันไม่เอาไว้ทั้งหมดหรอกนี่คือจุดที่เราเชื่อว่าอาจารย์ปรีดีก็คิดอย่างนี้ ดิฉันเชื่อว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข นี่คือจุดที่เราเชื่อว่าแนวคิดเดียวกับที่อาจารย์ปรีดีและอาจารย์ป๋วยด้วยเช่นกัน

ดังนั้น สื่อควรมีบทบาทในการใช้ความรู้ความคิดในการนำเสนอข่าวสารที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นยอดไลค์หรือยอดวิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่สื่อโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยการด่าทอและโจมตีกัน ซึ่งไม่ได้ช่วยให้สังคมขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดิฉันเชื่อว่าสังคมขับเคลื่อนด้วยความรักก็แล้วกัน ดิฉันไม่เชื่อเรื่องการด่า

 

วรรณภา ติระสังขะ

ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะก็เห็นด้วยเลยนะคะว่าจริง ๆ แล้วสําคัญที่สุดคือข้อมูลความรู้ข้อเท็จจริงค่ะ ไม่ได้มาจากความเชื่อหรือความมีอคตินะคะ สื่ออาจจะเป็น ตัวแปร หรือตัวแสดงหนึ่งที่สําคัญในกระบวนการประชาธิปไตย ก็อันตรายมากถ้าสื่อเลือกเชื่อ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วสร้างความเชื่อนั้นออกสู่สังคมสิ่งที่ประชาชนเราทําได้ยังคิดว่าเราควรตั้งคําถามค่ะ ตั้งคําถามกับสิ่งที่เราเห็นเรารู้ เราเผชิญว่าสิ่งนั้นมันมีข้อมูลความรู้ข้อเท็จจริงยังไงนะคะ นี่ก็เป็นสิ่งที่ อาจารย์นิธินันท์ฝากไว้ให้กับพวกเราในบนเวทีนี้นะคะ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/YVb4lfLzWIE?si=YxynccePR8-K5Juj

ที่มา : PRIDI Talk #26: 92 ปี อภิวัฒน์สยาม “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” เนื่องในวาระ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น.-17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์