ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อบ วสุรัตน์ กับเครื่องพิมพ์ดีดของปรีดี พนมยงค์

3
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องอบ วสุรัตน์ กับเครื่องพิมพ์ดีดของปรีดี พนมยงค์ โดยยังเสนอชีวิตและงานของนายอบที่มีธุรกิจหนึ่งคือ ผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันในไทย ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่นายปรีดีใช้ทำงานเป็นประจำ ณ บ้านอองโตนี รวมทั้งได้รับเสนอความสัมพันธ์ และจดหมายส่วนบุคคลของนายปรีดีถึงนายอบไว้อย่างละเอียด

 


นายอบ วสุรัตน์ 

 

ปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ผมสบโอกาสได้ไปสอนนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แล้ววันหนึ่งสายตาเผอิญพบเข้ากับนามของ อบ วสุรัตน์

นั่นจึงทำให้ผมพลันหวนนึกถึงเรื่องราวของบุคคลผู้นี้ขึ้นมา มิหนำซ้ำ ยัง ยูเรก้า! แบบ อาร์คิมิดีส (Archimedes) นักคิดโบราณคดีชาวกรีกอีกด้วยว่า อบ เคยสานความสัมพันธ์กับ นายปรีดี พนมยงค์

มูลเหตุที่ อบ วสุรัตน์ มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2517-2521 ซึ่งขณะนั้นยังเป็น “วิทยาลัยการค้า” ก่อนที่จะกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2527

คงมิใช่เรื่องแปลกอันใดที่ อบ จะได้เป็นนายกสภาวิทยาลัยการค้า เนื่องจากเขายังครองตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 12 รวมทั้งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2516-2521 ซึ่งวิทยาลัยการค้าถือเป็นสถานศึกษาที่ขึ้นอยู่กับหอการค้าไทยนั่นเอง

 

 

จุดกำเนิดของหอการค้าไทยมาจากการรวมตัวของกลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจผู้มีแนวคิดและความปรารถนาจะจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุนของภาคเอกชน โดยเริ่มจดทะเบียนก่อตั้ง หอการค้าไทย หรือ Siamese Chamber of Commerce ขึ้นตามแบบที่เคยเห็นมาในต่างประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477) ผู้ที่เป็นประธานองค์กรนี้คนแรกสุดคือ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) และดำรงตำแหน่งไปจนถึงปี พ.ศ. 2482

เดิมที กลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจไปเข้าเฝ้าขอประทานนามภาษาไทยขององค์กรจาก หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ซึ่งก็ได้ประทานมาว่า “สภาคารการค้า” แต่ตอนนั้น รัฐบาลสงวนชื่อที่มีคำว่า “สภา” ไว้ให้ใช้เฉพาะกับองค์กรของรัฐ คณะผู้ก่อตั้งจึงต้องใช้ชื่อองค์กรแค่ “หอการค้า”

ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนั้น มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น “วิทยาลัยการค้า” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เปิดสอน ณ สำนักงานหอการค้าไทย ตึกพาณิชย์ภัณฑ์ ถนนศรีอยุธยา สนามเสือป่า โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาเรียนหลักสูตรตามต้นแบบของหอการค้าแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งการศึกษาจะมีสองหลักสูตรคือแบบ 6 เดือนและแบบ 2 ปี โดยในปีแรกสุดสามารถรองรับนักศึกษาได้ถึงประมาณ 300 คน

วิทยาลัยการค้าเปิดสอนได้เพียงหนึ่งปี สงครามโลกครั้งที่ 2 พลันอุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 สถานศึกษาแห่งนี้จึงต้องปิดตัวลง อีกทั้งรัฐบาลยังเปลี่ยนสำนักงานหอการค้าไทยให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานประสานงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ภายหลังจากปิดตัวไปนานกว่า 22 ปี จวบกระทั่งใน พ.ศ. 2506 คณะกรรมการหอการค้าไทยก็รื้อฟื้น “วิทยาลัยการค้า” ขึ้นมาเปิดใหม่อีกหนภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ แต่ย้ายสถานศึกษามาตั้งอยู่ ณ ที่ทำการหอการค้าไทย ถนนราชบพิธแทน ซึ่งตามหลักสูตรการเรียนการสอนแบบใหม่จะใช้เวลา 3 ปี และผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรการค้าชั้นสูง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2508 ได้มีการเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยใหม่เป็น “วิทยาลัยการพาณิชย์” หรือ College of Commerce of The Thai Chamber of Commerce

ครั้นล่วงมาถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 “วิทยาลัยการพาณิชย์” ได้รับอนุญาตและรับรองจากทางกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งขยายการศึกษาออกเป็น 7 สาขาวิชา ได้แก่ วิชาบริหารทั่วไป วิชาธุรกิจระหว่างประเทศ วิชาเลขานุการ วิชาการตลาด วิชาการบัญชี วิชาการคลังการธนาคาร และวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์

เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้มีการเปลี่ยนชื่อ “วิทยาลัยพาณิชย์” กลับมาเป็น “วิทยาลัยการค้า” อีกครั้ง

ทว่าถัดมาในปี พ.ศ. 2517 ขณะที่ อบ วสุรัตน์ ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิทยาลัยการค้า ก็ได้มีการโอนสถานศึกษาแห่งนี้มาสังกัดกับทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งย้ายสถานที่มาตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง ซึ่งก็ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาตราบปัจจุบัน

ชั่วระยะเวลาสิบปี วิทยาลัยการค้าพยายามปฏิบัติพันธกิจเพื่อยกระดับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของตนให้มีพัฒนาการและมีมาตรฐานดีเยี่ยมยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ทางทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปลี่ยนประเภทสถาบันกลายมาเป็น “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” เมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527

อบ วสุรัตน์ ย่อมมิแคล้วเกี่ยวพันกับหอการค้าไทย นั่นเพราะเขาเป็นนักธุรกิจคนสำคัญของประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งกิจการบริษัทวิทยาคมมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งที่ทำการบริษัทแห่งแรกมีขนาดเล็กตั้งอยู่ย่านสี่กั๊กพระยาศรี มีทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2495 บริษัทได้ย้ายที่ทำการมาตั้งใหม่ซึ่งขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้นบริเวณปากคลองตลาด จวบกระทั่งในปี พ.ศ. 2510 ก็ย้ายที่ทำการอีกหนมาตั้งอยู่ที่ถนนพญาไท อีกทั้งยังได้รับพระราชทานตราตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้เป็นบริษัทในพระบรมราชานุญาต สามารถประดับตราครุฑหน้าบริษัทได้

 

นายปรีดี พนมยงค์ กับการทำงานด้วยพิมพ์ดีดประจำตัว ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส

 

บริษัทวิทยาคมเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันในเมืองไทย  ขณะเดียวกันด้วยความที่ อบ เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องยารักษาโรค  เขาจึงรับเป็นตัวแทนจำหน่ายยาของบริษัท Abbott Laboratories, U.S.A และบริษัท Leo Phamaceutical, Denmark

 

 
 
นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ของบริษัท Picker International, U.S.A. และบริษัท Hitachi, Japan หรือเครื่องมือทางวิศวกรรม เช่น เครื่องยนต์เรือของบริษัท Niigata, Japan  และเครื่องควบคุมอุณหภูมิในอาคารของบริษัท Honeywell, U.S.A. หรือเครื่องมือการประมง รวมถึงเครื่องเขียนและอุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน เช่นเครื่องคิดเลข และเครื่องอัดสำเนา เป็นต้น
 
 
 

นายปรีดี พนมยงค์ กับการทำงานด้วยพิมพ์ดีดประจำตัว ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส

 

ดังกล่าวไปแล้วว่า อบ วสุรัตน์ เคยมีความสัมพันธ์กับ นายปรีดี พนมยงค์ นั่นเพราะเขาเคยมอบเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ายี่ห้อเรมิงตัน (Remington) ให้รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างงานเขียนต่าง ๆ ของ นายปรีดี

ควรอธิบายไว้ด้วยว่า ภายหลังความเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ที่นำโดย นายปรีดี ประสบความล้มเหลว จึงส่งผลให้เขาต้องเดินทางลี้ภัยทางการเมืองและพำนักอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน โดยลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลาถึง 21 ปี จนกระทั่งต่อมาในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) นายปรีดี และครอบครัวได้เดินทางจากมณฑลกวางตุ้งของจีนมาพำนักอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแทน

การได้มาพำนักในฝรั่งเศสทำให้ นายปรีดี มีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม เขาจึงสามารถเขียนจดหมายติดต่อสื่อสารกับใครต่อใครอีกมากมายนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา

ตลอดห้วงยามที่ นายปรีดี ลี้ภัยในต่างแดน เครื่องพิมพ์ดีดเป็นเสมือนอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของชีวิต โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ายี่ห้อเรมิงตัน

อย่างไรก็ดี เครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้การมาเป็นเวลานานคงมิแคล้วเกิดการชำรุด ทว่าเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันเครื่องโปรดของ นายปรีดี กลับไม่สามารถหาช่างซ่อมแซมในประเทศฝรั่งเศสได้

ดังนั้น นายปรีดี จึงเขียนจดหมายลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ส่งมายัง อบ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันที่เมืองไทย

 

เรียน คุณอบ วสุรัตน์ ที่รัก

ด้วยพิมพ์ดีดเครื่องเรมิงตันไฟฟ้าที่คุณให้ผมนั้นได้ช่วยงานของผมเป็นอันมาก บัดนี้แกนอักษร "้ ้  ็" ได้หักดั่งที่ได้ถอดสอดมาพร้อมจดหมายนี้ โดยที่ช่างในฝรั่งเศสไม่อาจซ่อมได้ ผมจึงขอรบกวนคุณโปรดช่วยให้ผมได้แกนอักษรใหม่ ถ้าคุณช่วยได้ก็ขอได้โปรดมอบแก่ใหม่นั้นให้แก่เตมีย์ บุนนาค หลานชายภรรยาผมด้วย เพื่อเขาจะได้จัดการส่งมายังผมที่ปารีส

ผมขอขอบคุณมายังคุณอีกครั้งหนึ่ง

และถือโอกาสวาระขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2522 อวยพรให้คุณและครอบครัวจงประสบสิริสวัสดิ พิพัฒนมงคล เจริญด้วยอายุ, วรรณะ, สุขะ, พละ, ทุกประการ

ด้วยความรักและคิดถึง

 

 

 

เพื่อให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จัก อบ วสุรัตน์ มากยิ่งขึ้น และทราบถึงเหตุที่เขาได้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทวิทยาคม และเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตัน ผมจะขอเล่าเพิ่มเติมว่า

ตามเสียงเล่าของบุตรนั้น อบ ลืมตาดูโลกหนแรกสุดในวันแรงงานสากลซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 แต่ตามการบันทึกข้อมูลของเขามักระบุว่าเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยบิดาเป็นหลงจู๊ของโรงสีในตระกูลหวังหลี และมีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 7 คน

ในวัยเยาว์ อบ รักการเรียนหนังสืออย่างมาก ภายหลังเรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก เขาจึงเดินทางไปเรียนต่อที่วิทยาลัยวาหยันในดินแดนฮ่องกง

ครั้นหวนคืนกลับมายังเมืองไทย ก็เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งอายุของ อบ อยู่ในวัยเกณฑ์ทหาร เขาจึงสมัครเข้าประจำการในกองทัพเรือ สังกัดหน่วยเสนารักษ์ ที่นี่เอง อบ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับยาและเครื่องมือแพทย์เป็นอย่างมาก ในช่วงระหว่างสงคราม เขาเคยช่วยให้ผู้หญิงสามารถคลอดบุตรได้เอง เพราะไม่สามารถจะไปตามหมอผดุงครรภ์มาได้ทันเวลา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อบ ได้เข้าทำงานที่บริษัทไทยนิยม ละแวกสามยอดของ จุลินทร์ ล่ำซำ โดยเขารับหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกยา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2489 เขากับเพื่อน ๆ ราว 4-5 คน จึงเปิดบริษัทวิทยาคมขึ้น โดยนำชื่อของบริษัทมาจาก พระอาจวิทยาคม หรือ ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์ (George Bradley Macfarland) นายแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้มีบทบาทสำคัญต่อจุดกำเนิดของเครื่องพิมพ์ดีดในเมืองไทย

ความเป็นมาของเครื่องพิมพ์ดีดไทยนั้น เริ่มปรากฏขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ (Edwin Hunter Macfarland)  หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่เกิดในเมืองไทย ซึ่งต่อมาได้รับเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น

 

 

กล่าวคือช่วงปี พ.ศ. 2434 เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสำรวจว่าจะมีบริษัทใดสนใจผลิตเครื่องพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทยบ้างหรือไม่ แล้วก็พบว่าบริษัท Smith Premier ที่นิวยอร์กต้องการจะร่วมผลิตด้วย แมคฟาร์แลนด์ จึงได้ร่วมมือกับบริษัทนี้สร้างต้นแบบเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น โดยออกแบบและวางตำแหน่งตัวอักษรไทยที่จะใช้ในเครื่องพิมพ์ดีดจนเป็นผลสำเร็จ

ปีถัดมาคือ พ.ศ. 2435 เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ นำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกสุดอันเป็นเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Smith Premier เข้ามาถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ได้ทรงทดลองพิมพ์ก็พอพระราชหฤทัยอย่างมาก หลังจากนั้น จึงได้ทรงสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อดังกล่าวเข้ามาใช้ในงานราชการของประเทศสยามอีกจำนวน 17 เครื่อง

ทว่า เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ ได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2438 ทำให้กรรมสิทธิ์ในเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยี่ห้อ Smith Premier ตกทอดมาเป็นของน้องชายคือ  ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์  ซึ่งต่อมาได้สั่งเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยี่ห้อ Smith Premier เข้ามาวางจำหน่ายในเมืองไทยเป็นรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยวางขายหน้าคลินิกทำฟันของตน

พอปีถัดมาคือ พ.ศ. 2441 นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์ จึงตั้งห้างจัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยี่ห้อ Smith Premier ขึ้นบริเวณหลังวังบูรพา กิจการนี้เฟื่องฟูและเครื่องพิมพ์ดีดก็ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ข้าราชการและพ่อค้า

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2458 บริษัท Smith Premier ได้ขายสิทธิ์การผลิตเครื่องพิมพ์ดีดให้แก่บริษัทเรมิงตัน (Remington) ซึ่งบริษัทใหม่นี้ได้เปลี่ยนมาผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแบบยกแคร่ได้แทนของเดิมที่แคร่พิมพ์ไม่สามารถเลื่อนได้

กระทั่งปี พ.ศ. 2465 นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์ ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมมือกับบริษัทเรมิงตันเพื่อผลิตเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขนาดเล็กที่สามารถพิมพ์สัมผัสแบบสิบนิ้วได้ ก่อนจะนำมาเผยแพร่ในเมืองไทย จนทำให้เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันได้รับความนิยมแทนที่เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Smith Premier แบบเดิม

ครั้นกลับมายังเมืองไทย นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์  ยังร่วมกับพนักงานในห้างจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดของตนอีก 2 คนออกแบบและจัดวางแป้นอักษรใหม่ โดย สวัสดิ์ มากประยูร เป็นช่างประดิษฐ์ก้านอักษร และ กิมเฮง เกษมณี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สุวรรณประเสริฐ) เป็นผู้ออกแบบการวางตำแหน่งแป้นอักษร กระทั่งภารกิจนี้ประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2474 เมื่อมีการนำไปใช้งาน คนจึงเรียกขานแป้นพิมพ์มาตรฐานนี้ว่า “แป้นแบบเกษมณี” ตามนามสกุลของผู้ออกแบบ

นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์ ยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ให้เป็น อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม

ต่อมา นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์ ได้ถึงแก่กรรมลง มิสซิสเบอร์ธา ภรรยาของมีความประสงค์จะรับช่วงเป็นผู้แทนจัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตัน เมื่อ นวม เศรษฐีธร เพื่อนเก่าของเธอทราบเรื่อง จึงได้มาปรึกษาหารือกับ พลเรือตรี เล็ก สุมิตร นายแพทย์ทหารเรือ ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของ อบ วสุรัตน์ ครั้งที่ประจำอยู่หน่วยเสนารักษ์ของกองทัพเรือ

พลเรือตรีเล็ก จึงชักชวน อบ ซึ่งกำลังทำงานอยู่ที่บริษัทไทยนิยมให้มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งบริษัทขึ้นเพื่อรับช่วงเป็นผู้แทนจัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตัน จึงทำให้ บริษัทวิทยาคม ถือกำเนิดขึ้นมานั่นเอง

อบ หาใช่นักธุรกิจที่มุ่งสนใจต่อผลกำไรจากกิจการแต่เพียงอย่างเดียว หากเขายังมีจิตสำนึกเพื่อสังคม ดังนั้น เขาจึงเข้ามามีบทบาทใน หอการค้าไทย นับตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง และเมื่อเขาสวมบทบาทประธานกรรมการหอการค้าไทยก็ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องในด้านต่าง ๆ เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2517 เขาพยายามเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงาน โดยเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น

ช่วงปลายทศวรรษ 2510 อบ ในฐานะประธานกรรมการสมาคมนายจ้างเวชภัณฑ์ ยังได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเพื่อก่อตั้งและจดทะเบียนให้มีสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีสมาชิกแรกเริ่มจากสมาคมและสหพันธ์ต่าง ๆ อันได้แก่

1. สมาคมนายจ้างเครื่องใช้ไฟฟ้า

2. สมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ

3. สมาคมนายจ้างเวชภัณฑ์

4. สมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย

5. สมาคมนายจ้างช่างเหมาไทย

6. สมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมห้องเย็น

7. สมาคมนายจ้างร้านตัดเสื้อแห่งประเทศไทย

8. สมาคมนายจ้างโรงแรมกรุงเทพฯ

9. สมาคมนายจ้างโรงแรมพัทยา

10. สมาคมนายจ้างเจ้าของเรือขนส่งทางน้ำประเทศไทย

11. สหพันธ์นายจ้างโรงแรมแห่งประเทศไทย

 

อบ ยังครองตำแหน่งประธานกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยคนแรกสุด ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2522

ความที่เป็นนักธุรกิจผู้โดดเด่น อบ จึงสบโอกาสเข้าไปมีบทบาททางการเมืองด้วย เขาเคยรั้งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตยที่มี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้น เมื่อ พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อบ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ถึงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523

ต่อมาในสมัยรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงปลายทศวรรษ 2520 อบ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 แต่พอในเดือนกันยายน พ.ศ. 2528 อบ จึงตัดสินใจขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพื่อมาเป็นนักธุรกิจดังเดิม

สำหรับ เตมีย์ บุนนาค หลานชายของนายปรีดี ซึ่งถูกวานให้มาช่วยรับแกนอักษรใหม่จาก อบ แห่งบริษัทวิทยาคมเพื่อจัดส่งมายังฝรั่งเศสนั้น เขาเป็นบุตรชายนายตำรวจใหญ่อย่าง พระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็มสุริยวงศ์ บุนนาค) กับนางพิศซึ่งมีนามสกุลเดิมว่า ณ ป้อมเพชร จึงถือเป็นหลานทางฝ่ายภริยาคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

เตมีย์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2463 และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องจากบิดารับราชการเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดในพระองค์ ช่วงวัยเยาว์ เขาอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านตลาดแขก ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของ พลโทเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ ต่อมาจึงย้ายตามบิดามาอยู่ที่บ้านสะพานดำ ซึ่งเป็นบ้านที่ได้รับพระราชทาน ก่อนจะย้ายอีกหนมาอยู่บ้านที่ถนนสุรวงศ์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านป้อมเพชร ถนนสีลม ของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฐ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) ผู้มีศักดิ์เป็นตา

เตมีย์ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" หรือ ต.ม.ธ.ก. รุ่นที่ 1 เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2480 แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Far Eastern ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

ยังมิทันได้สำเร็จการศึกษา กองทัพญี่ปุ่นก็บุกเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดถูกปิด เตมีย์ และนักเรียนไทยในฟิลิปปินส์รายอื่น ๆ จึงต้องเดินทางกลับคืนเมืองทางเรือโดยสารอย่างทุลักทุเลและลำบากยากเข็ญ รวมถึงเสี่ยงภัยอันตรายที่เรือจะอับปางจากการถูกโจมตีทางทะเล

กลับถึงเมืองไทยแล้ว เตมีย์ เข้าทำงานที่โรงงานยาสูบในสมัยที่ยังดำเนินกิจการโดยชาวต่างประเทศ ก่อนที่จะโอนมาเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นต่อกระทรวงการคลังของไทย เขาทำงานอยู่ที่นี่จวบจนเกษียณอายุ

เตมีย์ เข้าพิธีสมรสกับ นวลจันทร์ สุนทรารักษ์ ทั้งสองมีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน

ช่วงที่ นายปรีดี จะวานให้ช่วยไปรับแกนอักษรใหม่ของเครื่องพิมพ์ดีดจาก อบ แห่งบริษัทวิทยาคมนั้น เตมีย์ ยังคงทำงานประจำโรงงานยาสูบ

อบ วสุรัตน์ นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจของไทย การที่เขามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ นายปรีดี พนมยงค์ แม้กระทั่งในช่วงกำลังลี้ภัยทางการเมืองโดยพำนักอยู่ในต่างประเทศจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจรู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งที่ นายปรีดี ยังมีเป็นผู้ครองความโดดเด่นทางการเมืองในรัฐบาลคณะราษฎรและยังอยู่ในเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่ยืนยันเด่นชัดคือจดหมายที่ นายปรีดี เขียนมาหาเขาว่าด้วยเรื่องเครื่องพิมพ์ดีไฟฟ้ายี่ห้อเรมิงตัน อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีการติดต่อกันนี้คือปลายปี พ.ศ. 2521 ซึ่ง อบ ยังคงสวมบทบาทของนักธุรกิจอยู่ ยังมิได้เข้าไปมีตำแหน่งทางการเมืองถึงขั้นเป็นรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุด เขาก็ค้นพบว่าตนเองควรจะกลับมาเป็นนักธุรกิจย่อมเหมาะสมกว่านั่นเอง

 

 

หมายเหตุ : 

  • คงอ้กขร การสะกดคำ และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง :

เอกสารที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่

  • จดหมายนายปรีดี พนมยงค์ ถึงอบ วสุรัตน์ ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2521
  • จดหมายจากนายอบ วสุรัตน์ (ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย) เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2517

 

เอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายอบ วสุรัตน์ ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2536. [ม.ป.ท.]: ม.ป.พ.; 2536.