ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ถ้อยแถลงของ ปรีดี พนมยงค์ ในพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่ง มธก.

5
กรกฎาคม
2567

จากประกาศคณะราษฎร ณ วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ได้ระบุหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรให้ปฏิญญาและเปรียบเสมือนหลักการเพื่อดำเนินนโยบายหลังการอภิวัฒน์ไว้ด้วยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรสยามให้มีความเสมอภาคและในหลักข้อ 6. คือ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ส่งผลให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นซึ่งต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 ได้มีการแต่งตั้งศาสตราจารย์วิสามัญฯ และจัดพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นโดยบทความนี้จะนำเสนอถ้อยแถลงของปรีดี พนมยงค์ ในพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญฯ ดังกล่าวและคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ ที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาสมัยคณะราษฎรเรืองอำนาจค่อนข้างมีเอกภาพสูงและสะท้อนความคิดทางสังคมการเมืองของนายปรีดีในช่วงทศวรรษ 2510

 


หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

 

ราว 1 ปีหลังการอภิวัฒน์ทางรัฐบาลฯ นายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นตามหลัก 6 ประการ ด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 โดยเสนอพิจารณาร่างฯ นี้อย่างเป็นทางการในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476

 


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ซ้าย) และ ขุนประเสริฐศุภมาตรา (ประเสริฐ จันทรสมบูรณ์) ณ เรือนไม้ริมน้ําเพื่อดูสถานที่ก่อสร้างตึกโดม

 

หลักการในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2476 เป็นการพิจารณาวาระสำคัญโดยมีการลงมติวาระที่ 3 ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยนายปรีดี พนมยงค์ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาสาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์ ที่สำคัญต่อระบบราชการสมัยใหม่ เรื่องระบบตลาดวิชา และคำนึงถึงความยุติธรรมแก่นักศึกษาจากระบบเดิมไว้ว่า

“สำหรับฐานะของนักเรียนทั้ง 2 ประเภท ที่ยังคงอยู่ในเวลานี้ ก็จะได้โอนมายังมหาวิทยาลัยใหม่...ส่วนผู้นั้นควรจะรับราชการอย่างไร…ตามเดิม รัฐบาลก็หางานให้ ต่อไปเราถือหลักอีกอย่างหนึ่ง คือถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นตลาดวิชา ผู้ที่สอบไล่ได้แล้วก็ต้องสอบแข่งขันอีก…

สำหรับหัวข้อนี้ต้องไปพิจารณาในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนว่าผู้ที่เข้าเรียนอยู่ในเวลานี้ และจะเข้ารับราชการ เราควรจะทำอย่างไรโดยไม่ให้เขาเสียประโยชน์ไปได้ ข้อนี้เราได้ระวังและรักษาความยุตติธรรมอย่างยิ่ง”

ถัดมาในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ดังนั้น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงเป็นผลโดยตรงจากการอภิวัฒน์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญและสอดรับกับคำกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรว่า

“เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยะประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว…”

การกำกับดูแลมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองระยะแรกประกอบด้วยตำแหน่งดังนี้ คือมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และคณบดีของคณะต่าง ๆ ส่วนกิจการภายในจะขึ้นตรงกับผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาเอกในวิชาที่เกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และสอนวิชาในมหาวิทยาลัยและในโรงเรียนชั้นสูงของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดในสยามมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

 


นายปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2470

 

และในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2477 นายปรีดีได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยความหมายของตำแหน่งผู้ประศาสน์การสามารถแปลโดยตรงได้ว่าหมายถึง ผู้ให้ และแปลโดยนัยหมายถึง ผู้ให้การสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้น

 


ใบสมัครมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2477

 

นายปรีดีได้วางรากฐานทั้งด้านการจัดการระบบในมหาวิทยาลัย และการจัดการความรู้ในการวางแผนหลักสูตร ในส่วนงานของมหาวิทยาลัยจะมี ดร.เดือน บุนนาค ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคนแรกของมหาวิทยาลัยฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยงานธุรการ  และทางด้านงานวิชาการจะมีศาสตราจารย์ แอล ดูปลาตร์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อช่วยเหลืองานในอีกส่วนหนึ่ง

 

พิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับถ้อยแถลงของปรีดี พนมยงค์

 


บัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

การจัดการศึกษาสมัยคณะราษฎรต่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้พยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาของพลเมืองด้วยคุณสภาพของผู้สอนและการเรียนการสอนอย่างมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ดังนี้ใน พ.ศ. 2477 จึงมีการเสนอชื่อให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นโดยประกอบด้วย หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ, พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา), พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน)และ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) และลงนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดย นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี จากรายชื่อแสดงให้เห็นว่ามีการประนีประนอมของคณะราษฎรกับกลุ่มผู้มีอำนาจในระบอบเดิม

กระทั่งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2482 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นโดยมีรายชื่อที่ประกอบด้วยสมาชิกคณะราษฎรมากกว่าบุคคลในระบอบเก่าดังใน พ.ศ. 2477 ดังนี้

 


“ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (24 มิถุนายน 2482)

 

ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี
เรื่องตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัย
วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้
๑.นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
๒. นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก จิตตะสังคะ)
๓.นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
๔. เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)
๕. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร์ สงขลา)
๖. นายนาวาเอก หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)

เป็นศาสตราจารย์วิสามัญ ตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศมาณวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

 


นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
มอบเสื้อครุยให้พลตรี หลวงพิบูลสงคราม พ.ศ. 2482
ที่มา: ท่านผู้ประศาสน์การปรีดีกับพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญ
แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  https://pridi.or.th/th/content/2021/04/671

 

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 เวลา 17.15 น. นายปรีดีผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยจึงได้แถลงในพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 นำมาเผยแพร่ไว้อย่างละเอียดว่า

 

ถ้อยแถลงของ
ปรีดี พนมยงค์ ในพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่ง มธก.

“ท่านศาสตราจารย์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รู้สึกเปนเกียรติยศอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำการต้อนรับท่านในวันนี้ เนื่องจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งท่านเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยในวันที่ ๒๔ มิถุนายนปีนี้ อันเป็นวันชาติและฉลองสนธิสัญญา.

การที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเป็นศาสตราจารย์ก็เนื่องด้วยคณะกรรมการมหาวิทยาลัยได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าท่านได้บำเพ็ญกรณีต่างๆ สมควรที่จะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย

อันคุณความดีของท่านนั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่จะขอกล่าว ณ ที่นี้ซึ่งนับว่าเกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นก็คือ

พล.ต. พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นหัวหน้าในการก่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เปนหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ควบคุมในการเจรจาสนธิสัญญาจนสำเร็จในหลายประเทศ ตลอดจนทั้งได้ดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการมหาวิทยาลัย มาเป็นเวลานับตั้งแต่ที่ตั้งมหาวิทยาลัย จนกระทั่งท่านได้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ควบคุมการทำประมวลกฎหมายสำเร็จอันเป็นสาระสำคัญในการขอเอกราชในทางศาลด้วย.

พล.ต. หลวงพิบูลสงคราม ได้เป็นหัวหน้าผู้หนึ่งในการก่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ได้บำเพ็ญกรณีตลอดมา และได้เปนหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ควบคุมการเจรจาสนธิสัญญา สืบต่อจากท่านนายพลตรีพระยาพหลพลพยุหเสนาจนสำเร็จ.

พล. ร.ต. หลวงสินธุสงครามชัย ได้เป็นหัวหน้าผู้หนึ่งในการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เปนนายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยนี้ตั้งแต่ท่านได้เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ นับว่าเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาของชาติและควบคุมให้กิจการของมหาวิทยาลัยดำเนินก้าวหน้าเปนอันมาก

น.อ. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้หนึ่งในการที่ได้ร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มีส่วนในการเปนผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยนี้ และได้ช่วยเหลือในการทำสนธิสัญญาคราวนี้ และเวลานี้ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม อันมีส่วนร่วมในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่.

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ได้เคยดำรงตำแหน่งนายกคณะกรรมการร่างกฎหมายซึ่งได้ร่างประมวลกฎหมายสำเร็จออกไปแล้วหลายบรรพ และเป็นทั้งครูของโรงเรียนกฎหมายและครูโรงเรียนข้าราชการพลเรือนอันเปนแหล่งที่มาของมหาวิทยาลัยนี้ และในตอนที่ได้เปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรมก็ได้มีส่วนช่วยเหลือในราชการตุลาการอันนับว่าเปนสาระสำคัญในการเจรจาขอเอกราชในทางกฎหมาย และขณะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็มีส่วนเปนผู้ลงนามในสนธิสัญญาฉะบับหลังนี้

เจ้าพระยามหิธร ได้เป็นผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้ชั้นที่หนึ่งแห่งเนติบัณฑิตรุ่นแรกของโรงเรียนกฎหมาย และ ได้เปนครูโรงเรียนกฎหมายมานาน เมื่อครั้งเปนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านก็ได้มีส่วนช่วยเหลือในราชการตุลาการอันนับว่าเป็นสาระสำคัญในการเจรจาขอเอกราชในทางศาล.

ประมวลคุณความดีของท่านดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยรู้สึกว่าการที่ท่านมาอยู่ในท่ามกลางศาสตราจารย์และครูผู้สอนทั้งหลาย ย่อมเปนประกันอันดียิ่งแห่งเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยนี้  ซึ่งนับแต่จะก้าวหน้าต่อไปไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยแห่งอารยประเทศทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสอันเปนศุภมงคลนี้ต้อนรับท่านในนามกรรมการ ศาสตราจารย์และผู้สอนของมหาวิทยาลัย และขอมอบเสื้อครุยอาจารย์ไว้แก่ท่านเพื่อเป็นเกียรติยศและเปนสง่าราษีแก่มหาวิทยาลัยนี้สืบไป.”

 

ภาพร่วมของถ้อยแถลงของนายปรีดีสะท้อนถึงเอกภาพของคณะราษฎรก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้นในสยามโดยข้อสังเกตประการสำคัญคือนายปรีดีจะกล่าวถึงผลงานของสมาชิกคณะราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิสามัญ อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนาว่าท่านทีบทบาทสำคัญอย่างไรในยุคสมัยดังกล่าว

พล.ต. พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เปนหัวหน้าในการก่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเปนระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เปนหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ควบคุมในการเจรจาสนธิสัญญาจนสำเร็จในหลายประเทศ ตลอดจนทั้งได้ดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการมหาวิทยาลัย มาเปนเวลานับตั้งแต่ที่ตั้งมหาวิทยาลัย จนกระทั่งท่านได้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ควบคุมการทำประมวลกฎหมายสำเร็จอันเปนสาระสำคัญในการขอเอกราชในทางศาลด้วย.”

และพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้กล่าวตอบรับในฐานะตัวแทนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิสามัญฯ ดังต่อไปนี้

“ท่านผู้ประสาทน์การ และ คณะกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้าพเจ้าขอกล่าวในนามของบรรดาผู้ซึ่งได้รับมอบเสื้อครุยศาสตราจารย์ในขณะนี้ในการที่ท่านผู้ประสาทการและคณะกรรมการมหาวิทยาลัยได้ลงมติเปนเอกฉันท์  จะให้ข้าพเจ้าทั้งหลายดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิสามัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  แล้วได้นำเรื่องขึ้นเสนอต่อไปตามลำดับ จนได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเปนศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจเปนอันมากในเกียรติยศอันนี้  ยังได้รับมอบเสื้อครุยมาเปนเครื่องประดับเกียรติอีกด้วย จึงทำให้ข้าพเจ้าเพิ่มปีติขึ้นอีกมาก 

ฉะนั้นข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านผู้ประสาทการและคณะกรรมการที่มีความตั้งใจดีแก่พวกข้าพเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงเจริญด้วยจัตุรพิธพร  และขอให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจงเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปไม่มีวันเสื่อมถอย ส่วนเสื้อครุยศาสตราจารย์นั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายได้รับมอบจะรักษาไว้เปนเครื่องประดับเชิดชูเกียรติยศต่อไป.”

จะเห็นได้ว่าการแต่งตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นมีนัยสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างน่าพิจารณา

 

คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ ในทศวรรษ 2510

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 นายปรีดีได้กล่าวคำปราศรัยต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส

ในครั้งนี้นายปรีดีได้ย้อนรอยอดีตการก่อตั้ง มธก. ไว้ตั้งแต่จุดตั้งต้นของการอภิวัฒน์

หลัก 6 ประการย่อ ๆ ก็คือ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ของชาติ, การรักษาความปลอดภัยในประเทศเพื่อให้การประทุษร้ายต่อกันให้ลดลงให้มาก, การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาค และมีเสรีภาพอันเป็นสิทธิของมนุษยชน และ ก็ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้วว่าสหประชาชาติได้มีปฏิญญาในเรื่องนี้ เมื่อ ค.ศ. 1948 และหลักประการที่ 6 คือ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษามาแล้วนั้น ก็ได้กล่าวถึงสภาพการณ์แต่หนหลังที่ท่านทั้งหลายได้ประสบมาในระหว่างที่ท่านศึกษาอยู่ที่สถาบันของเรา และทุกท่านก็ยังมีความทรงจำในเรื่องนี้ได้ดีอยู่ว่ามหาวิทยาลัยของเราได้เอาใจใส่ที่จะให้ผู้ต้องการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาอย่างเต็มที่

บางท่านก็ได้ระลึกว่าเมื่อครั้งกระทรวงธรรมการสมัยนั้น ได้จัดระบบการศึกษาใหม่ให้มีเตรียมอุดมศึกษาแทนมัธยม 7 และ 8 ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองของเราเรียกว่าเตรียม-ปริญญา เราได้ยอมรับหลักการที่มีการสอบแข่งขันให้เข้าเรียนตามจำนวนที่กำหนด แต่เนื่องจากมีผู้สมัครมากเกินกว่าจำนวนที่จะรับเป็นนักศึกษาเตรียมปริญญา ทางผมซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การก็คิดว่าพวกที่สอบได้เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้จะไปเรียนที่ไหนก็ไม่มีที่เรียน จึงได้จัดให้เขาเหล่านั้นเป็นนักเรียนสมทบเตรียมปริญญา และเรียนหลักสูตรเหมือนกันกับเตรียมปริญญา

และเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ของอาคารเรียนยุคแรกที่ใช้หลังคามุงจากว่า

ในการนี้ต้องเตรียมสถานที่ให้พอ คือ ในชั้นแรกก็ดัดแปลงอาคารเก่า ซึ่งกรมช่างแสงเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ในบริเวณวังหน้าที่มหาวิทยาลัยซื้อมานั้น ให้เป็นที่เรียนแม้จะเป็นพื้นดินหรือพื้นอิฐแต่ที่สำคัญก็คือได้มีที่เรียนต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมีทุนขึ้นก็ได้สร้างอาคารเพื่อให้นักศึกษามีที่เรียน แต่ในปีหลังๆ ตึกก็ไม่พอที่จะให้เรียน เพราะต้องการช่วยผู้ซึ่งไม่มีที่เรียน ดังนั้นจึงได้สร้างโรงไม้มุงหลังคาจากบนพื้นดินในบริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งยังมีที่ว่างอยู่เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์ศึกษาได้มีสถานที่ศึกษา เพราะเราเห็นว่าสาระแห่งการศึกษามีความสำคัญแม้สถานที่จะเรียนภายใต้หลังคาจาก

ในวันนี้ ผมมีความยินดีที่ธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่มาพบผมซึ่งมีตำแหน่งเป็นตุลาการชั้นผู้ใหญ่ แจ้งว่าได้เคยศึกษาในโรงที่มุงด้วยหลังคาจาก ในฐานะศิษย์เก่าที่ละการเรียนภาษาฝรั่งเศสมาเกือบ 30 ปีแล้ว ไม่เคยมาเมืองนอกก่อนเลย เพิ่งจะมาคราวนี้ ท่านผู้นั้นเปรียบตนเองเหมือนดังลูกทุ่ง ผมจึงได้ทดลองนำจดหมายภาษาฝรั่งเศสซึ่งองค์การแห่งนี้เขียนมาถึงให้ดู แล้วให้ลองอ่านให้ฟังก็ยังอ่านให้ผมฟังได้มีคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และก็ยังสนทนาถึงวิชาอื่น ๆ ที่เคยเรียนมาเมื่อยังเป็นวัยรุ่นอยู่ที่แผนกเตรียมปริญญาฯ ก็ทำให้ผมยินดีที่ธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่ผ่านเตรียมปริญญาฯ ใต้หลังคาจากยังมีพื้นความรู้เบื้องต้นอันเป็นความรู้ทั่วไปดีอยู่มากจึงขอสรรเสริญ ส่วนธรรมศาสตร์ผู้อื่นที่ได้เรียนบนตึกก็เป็นเพราะเมื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนเตรียมปริญญาฯ ได้ที่ดีกว่าก็เป็นธรรมดาว่าได้เรียนบนตึกและก็ได้มีความรู้ตามหลักสูตรเหมือนกับเพื่อนนักศึกษาอื่นๆ โดยมิได้มีความดูหมิ่นดูแคลนว่าใครได้เรียนที่ตึกและใครได้เรียนใต้หลังคาจาก

ที่สำคัญคือ นายปรีดีได้กล่าวถึงหลักในการจัดการหลักสูตรของ มธก. ไว้อย่างละเอียดพร้อมกับโต้แย้งข้อกล่าวหาว่านายปรีดีจัดหลักสูตร มธก. ตามแบบประเทศฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียวหรือเป็นหลักนั้น ไม่เป็นความจริง

มีบางคนเคยกล่าวไว้ว่า ผมได้นำหลักสูตรของฝรั่งเศสมาวางไว้ในแผนกเตรียมปริญญาและการศึกษาปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ที่เคยกล่าวเช่นนั้นไม่พิจารณาให้รอบคอบว่าในประเทศฝรั่งเศสเอง มีหลักสูตรอย่างใดและที่ผมได้นำไปสำหรับมหาวิทยาลัยของเรานั้น เป็นการเอาอย่างของประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศใดมาทั้งดุ้น ผมได้กล่าวแล้วว่าสิ่งใดของอังกฤษหรือฝรั่งเศสหรือของประเทศใดซึ่งเป็นวิธีการที่ดี เราก็ย่อมที่จะเอาแต่เพียงเป็นเยี่ยงแล้วปรับปรุงให้เหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาลสมัยของไทย และมีส่วนที่เราเห็นว่าเหมาะสมของเราเองปรุงแต่งขึ้นเพื่อของไทยเราโดยเฉพาะ ก็ผู้ที่เคยกล่าวตำหนิเช่นนั้นรังเกียจหลักสูตรที่อ้างว่าเอามาจากฝรั่งเศส เขาจะให้เอาหลักสูตรอะไรที่มิได้มีตัวเยี่ยงมาจากประเทศอื่นบ้าง

แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถิด ปัญหาก็อยู่ที่ว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาเตรียมปริญญาก็ดี ผู้ที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ดี มีความพอใจในความรู้ที่ได้ศึกษามาจากหลักสูตรนั้นหรือไม่ และได้ใช้ความรู้นั้น ๆ ประกอบอาชีพได้หรือไม่ เท่าที่ผมได้รับทราบจากท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้และจากเพื่อนของท่านที่มิได้มาในวันนี้ก็แสดงความพอใจ ซึ่งมิใช่แสดงความพอใจเพื่อจะเอาใจผม แต่ความสำเร็จในการงานที่ท่านได้บรรลุผลสำเร็จเป็นบทพิสูจน์คำพูดอันจริงใจของท่าน

ในส่วนผมซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การได้วางหลักสูตรโดยคำนึงที่จะให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา มีโอกาสได้ประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง โดยมิได้จำกัดอยู่เพียงกฎหมายแต่อย่างเดียวเพราะอาชีพนี้มีอยู่จำกัด ดังนั้นในขั้นเตรียมปริญญาจึงพยายามให้ได้ศึกษาวิชาหลาย ๆ อย่างซึ่งไม่มีในมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส

คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์
ต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ ที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2514

ท่านธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ ผู้เป็นกัลยาณมิตรของผมทั้งหลาย

โอกาสนี้เป็นโอกาสหนึ่งที่ผมมีความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งในการที่ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ในสันติภาพของชาติไทยที่จะคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติกับประเทศต่าง ๆ ที่มีระบบสังคมต่างๆ กัน ได้อุตสาหะเดินทางจากกรุงเทพฯ หลายพันกิโลเมตรมาประชุมที่กรุงเบลกราดเพื่อแสวงหาสันติภาพ โดยวิถีทางกฎหมายซึ่งเป็นวิถีทางอันหนึ่งซึ่งท่านทั้งหลายมีความรู้และความชำนาญ และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็ยังได้เสียสละโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเดินทางต่อมาจนถึงกรุงปารีส เพื่อทัศนาจรสิ่งที่เพิ่มความรู้ในทางประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วไป ซึ่งองค์การที่เป็นธุรในการเดินทางได้กำหนดรายการไว้แทบจะหาเวลาว่างเป็นของส่วนตัวได้ยาก แม้กระนั้นท่านทั้งหลายก็ยังได้อุทิศเวลาอันมีค่าส่วนหนึ่งของท่านมาเยี่ยมผมจนถึงที่พัก ณ ชานกรุงปารีส ผมจึงขอขอบคุณท่านทั้งหลายในไมตรีจิตอันแสดงออกซึ่งความเป็นกัลยาณมิตรของผม

เมื่อเราได้พบกันก็เป็นธรรมดาที่เราต้องสนทนากัน แต่การสนทนาของเราไม่เป็นภัยต่อผู้ใด เราได้สนทนากันส่วนมากถึงความระลึกถึงแต่หนหลังเมื่อครั้งท่านทั้งหลายได้เริ่มเข้าเรียน ตั้งแต่เมื่อครั้งเรายังมีเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และบางท่านก็ได้เรียนจนเสร็จชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท และบางท่านซึ่งมีอายุมากจัดอยู่ในรุ่นน้องของผมที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แม้จะมิได้เรียนจากผมโดยตรงแต่ก็ได้อ่านคำสอนและตำราของผมอยู่บ้างจึงเรียกผมว่าอาจารย์เหมือนดังรุ่นน้อง ๆ และก็เป็นธรรมดาที่ผู้รักชาติอันแท้จริงทั้งหลายไม่อาจอดเว้นแสดงออกถึงความเป็นห่วงใยในชาติไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา เกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่างของหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านทั้งหลายยังจำได้ และบางท่านก็คงยังจำเพลง 24 มิถุนา ที่ราษฎรไทยได้ร้องกันมาเป็นเวลาช้านานและเป็นที่ยอมรับกันมากว่า 20 ปี

หลัก 6 ประการย่อ ๆ ก็คือ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ของชาติ, การรักษาความปลอดภัยในประเทศเพื่อให้การประทุษร้ายต่อกันให้ลดลงให้มาก, การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาค และมีเสรีภาพอันเป็นสิทธิของมนุษยชน และ ก็ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้วว่าสหประชาชาติได้มีปฏิญญาในเรื่องนี้ เมื่อ ค.ศ. 1948 และหลักประการที่ 6 คือ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษามาแล้วนั้น ก็ได้กล่าวถึงสภาพการณ์แต่หนหลังที่ท่านทั้งหลายได้ประสบมาในระหว่างที่ท่านศึกษาอยู่ที่สถาบันของเรา และทุกท่านก็ยังมีความทรงจำในเรื่องนี้ได้ดีอยู่ว่ามหาวิทยาลัยของเราได้เอาใจใส่ที่จะให้ผู้ต้องการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาอย่างเต็มที่

บางท่านก็ได้ระลึกว่าเมื่อครั้งกระทรวงธรรมการสมัยนั้น ได้จัดระบบการศึกษาใหม่ให้มีเตรียมอุดมศึกษาแทนมัธยม 7 และ 8 ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองของเราเรียกว่าเตรียม-ปริญญา เราได้ยอมรับหลักการที่มีการสอบแข่งขันให้เข้าเรียนตามจำนวนที่กำหนด แต่เนื่องจากมีผู้สมัครมากเกินกว่าจำนวนที่จะรับเป็นนักศึกษาเตรียมปริญญา ทางผมซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การก็คิดว่าพวกที่สอบได้เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้จะไปเรียนที่ไหนก็ไม่มีที่เรียน จึงได้จัดให้เขาเหล่านั้นเป็นนักเรียนสมทบเตรียมปริญญา และเรียนหลักสูตรเหมือนกันกับเตรียมปริญญา

ในการนี้ต้องเตรียมสถานที่ให้พอ คือ ในชั้นแรกก็ดัดแปลงอาคารเก่า ซึ่งกรมช่างแสงเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ในบริเวณวังหน้าที่มหาวิทยาลัยซื้อมานั้น ให้เป็นที่เรียนแม้จะเป็นพื้นดินหรือพื้นอิฐแต่ที่สำคัญก็คือได้มีที่เรียน

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมีทุนขึ้นก็ได้สร้างอาคารเพื่อให้นักศึกษามีที่เรียน แต่ในปีหลังๆ ตึกก็ไม่พอที่จะให้เรียน เพราะต้องการช่วยผู้ซึ่งไม่มีที่เรียน ดังนั้นจึงได้สร้างโรงไม้มุงหลังคาจากบนพื้นดินในบริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งยังมีที่ว่างอยู่เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์ศึกษาได้มีสถานที่ศึกษา เพราะเราเห็นว่าสาระแห่งการศึกษามีความสำคัญแม้สถานที่จะเรียนภายใต้หลังคาจาก

ในวันนี้ ผมมีความยินดีที่ธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่มาพบผมซึ่งมีตำแหน่งเป็นตุลาการชั้นผู้ใหญ่ แจ้งว่าได้เคยศึกษาในโรงที่มุงด้วยหลังคาจาก ในฐานะศิษย์เก่าที่ละการเรียนภาษาฝรั่งเศสมาเกือบ 30 ปีแล้ว ไม่เคยมาเมืองนอกก่อนเลย เพิ่งจะมาคราวนี้ ท่านผู้นั้นเปรียบตนเองเหมือนดังลูกทุ่ง ผมจึงได้ทดลองนำจดหมายภาษาฝรั่งเศสซึ่งองค์การแห่งนี้เขียนมาถึงให้ดู แล้วให้ลองอ่านให้ฟังก็ยังอ่านให้ผมฟังได้มีคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และก็ยังสนทนาถึงวิชาอื่น ๆ ที่เคยเรียนมาเมื่อยังเป็นวัยรุ่นอยู่ที่แผนกเตรียมปริญญาฯ ก็ทำให้ผมยินดีที่ธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่ผ่านเตรียมปริญญาฯ ใต้หลังคาจากยังมีพื้นความรู้เบื้องต้นอันเป็นความรู้ทั่วไปดีอยู่มากจึงขอสรรเสริญ ส่วนธรรมศาสตร์ผู้อื่นที่ได้เรียนบนตึกก็เป็นเพราะเมื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนเตรียมปริญญาฯ ได้ที่ดีกว่าก็เป็นธรรมดาว่าได้เรียนบนตึกและก็ได้มีความรู้ตามหลักสูตรเหมือนกับเพื่อนนักศึกษาอื่นๆ โดยมิได้มีความดูหมิ่นดูแคลนว่าใครได้เรียนที่ตึกและใครได้เรียนใต้หลังคาจาก

ความสามัคคีที่แสดงให้ผมเห็นในการที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน และที่ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของธรรมศาสตร์บัณฑิต จนบรรลุสำเร็จที่ให้ธรรมศาสตร์บัณฑิตและนิติศาสตร์บัณฑิตได้เป็นวิสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ก็แสดงถึงความสามัคคีของธรรมศาสตร์บัณทิต ส่วนมากที่สุดที่ได้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ผมจึงขอถือโอกาสสรรเสริญและขอบใจไว้เป็นอย่างมาก ณ ที่นี้ด้วย

ขอกล่าวถึงสถานที่เรียนกฎหมายอีกสักเล็กน้อยว่า ในสมัยที่ผมเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมและเนติบัณฑิตอีกท่านหนึ่งซึ่งมาด้วยวันนี้ แม้จะเป็นรุ่นน้องแต่อาจเคยเรียน ณ สถานที่เดียวกันก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่อาคารห้างแบดแมนเก่า ซึ่งต่อมาเป็นอาคารกรมโฆษณาการ หรืออาจมีคนแจ้งให้ทราบว่า โรงเรียนกฎหมายเดิมนั้น เป็นอาคารไม้สองชั้นตั้งอยู่ระหว่างศาลสถิตยุติธรรมเก่าและเก๋งจีนที่ชั้นล่างเป็นศาลอาญา ชั้นบนเป็นที่ทำการเนติบัณฑิตยสภา โรงเรียนกฎหมายเป็นเรือนไม้ดังกล่าวนั้น ก็เป็นสถานที่เพาะเนติบัณฑิตรุ่นเก่าหลายรุ่น เวลาสอบไล่ก็ไปสอบกันที่ระเบียงวัดพระแก้ว คือในสมัยนั้นมีสถานที่ที่พอเรียนพอสอบไล่ที่ไหนได้ก็เรียนและสอบกันที่นั่น มิได้เปลืองงบประมาณของแผ่นดินที่จะต้องถือเอาอาคารโอ่อ่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ

บางท่านได้ถามถึงความเก่าเรื่องการศึกษาของเนติบัณฑิตยสภาว่าจัดแบบใด เอาหลักมาจากประเทศไหน ผมก็ได้ชี้แจงว่า เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ท่านได้ทรงเริ่มจัดขึ้น โดยหลักความเหมาะสมแก่สภาพของไทยเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างท่านได้เอาหลักแห่งการศึกษาที่บาร์ของอังกฤษมา แต่ท่านไม่ได้เอามาทั้งดุ้น ขอให้ท่านทั้งหลายเมื่อกลับประเทศไทยแล้วให้เอาหลักสูตรโรงเรียนกฎหมายตั้งแต่สมัยในกรมพระองค์นั้น มาเทียบดูกับหลักสูตรของบาร์ในอังกฤษสมัยนั้น ก็จะเห็นได้ว่าในสมัยนั้นบาร์ของอังกฤษไม่มีการสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง แต่นักเรียนกฎหมายไทยรุ่นที่ 1 ได้เรียนกฎหมายระหว่างประเทศคดีเมืองโดยเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกรกิจ (โรแลงส์ จักแมง) เป็นผู้สอน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ซึ่งเป็นปีที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมแบ่งการสอนออกเป็น 2 ภาค ในภาคที่ 1 ก็มีวิชาที่เรียกว่า “ธรรมศาสตร์” หรือ จูริสปรูเด้นซ์ ในภาษาอังกฤษซึ่งที่บาร์อังกฤษสมัยนั้นไม่มีการสอน ก็นับว่าโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมได้มีหลักสูตรที่ก้าวหน้าขึ้นมาอีกก้าวหนึ่ง (วิชาธรรมศาสตร์นั้นเมื่อได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า ความรู้เบื้องต้นแห่งกฎหมาย)

บาร์ของอังกฤษนั้น เป็นประเพณีของอังกฤษโดยเฉพาะ ซึ่งแต่เดิมเป็นสถาบันที่ผูกขาดการว่าความและอบรมทนายความ แม้ผู้เสร็จจากมหาวิทยาลัยมีปริญญาสูงเพียงใดก็จำต้องมาศึกษาซึ่งเป็นประเพณีเฉพาะของอังกฤษ ส่วนในประเทศไทยสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนกฎหมายอยู่ก็ปรากฏแก่ตนเองว่า เนติบัณฑิตยสภาสมัยนั้นไม่ผูกขาดการเป็นทนายความตามแบบอังกฤษ คือ ผู้ใดที่พอมีความรู้ในทางกฎหมายก็ขออนุญาตเป็นทนายความเฉพาะเรื่องได้ เช่น ผมเมื่อครั้งเป็นนักเรียนกฎหมายก็เคยขออนุญาตพิเศษเป็นทนายความในคดีระหว่างอัยการสมุทรปราการ โจทก์ นายลิมซุ่นหง่วน จำเลย ซึ่งถูกฟ้องว่าเรือใบเดินทะเลของตนไปชนพลับพลาในหลวงที่ปากน้ำ ผมในฐานะทนายต่อสู้ว่าเป็นภัย นอกอำนาจ เวลานั้นยังไม่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้ศัพท์ใหม่ว่า เหตุสุดวิสัย ผมจึงต้องใช้ศัพท์เก่าที่ปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จอ้างคดีตัวอย่างสมัยพระเอกาทศรถ ในคดีจีนเก๋งเซ่งที่เป็นผู้เช่าสำเภาไปค้าขายและถูกพายุอับปางลงกลางทะเลเจ้าของเรือได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย คดีว่ากันจนถึงฎีกาต่อพระเอกาทศรถ ซึ่งทรงวินิจฉัยว่าเป็น ภัยนอกอำนาจ ผู้เช่าเรือไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย ขอให้ท่านทั้งหลายไปตรวจดูคำพิพากษาฎีกาในปี พ.ศ. 2463 ผมได้กล่าวเลยไปถึงฎีกาเก่าๆ ดังกล่าวแล้วออกจะมากไปแต่สาระก็อยู่ที่ว่า

เนติบัณฑิตยสภาของไทยสมัยนั้น มิได้เอาอย่างอังกฤษมาทั้งดุ้น ท่านผู้ใหญ่สมัยนั้นถือว่า ชาติไทยเป็นชาติเอกราชไม่ใช่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ที่อังกฤษทำอย่างไรเราต้องทำอย่างนั้น หรือฝรั่งเศสทำอย่างไรเราจะต้องเอาอย่างนั้น เราเอาสิ่งที่ดีของเขามา โดยสมานกับสภาพท้องที่กาลสมัยให้เหมาะสมแก่ไทยเรา

มีบางคนเคยกล่าวไว้ว่า ผมได้นำหลักสูตรของฝรั่งเศสมาวางไว้ในแผนกเตรียมปริญญาและการศึกษาปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ที่เคยกล่าวเช่นนั้นไม่พิจารณาให้รอบคอบว่าในประเทศฝรั่งเศสเอง มีหลักสูตรอย่างใดและที่ผมได้นำไปสำหรับมหาวิทยาลัยของเรานั้น เป็นการเอาอย่างของประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศใดมาทั้งดุ้น ผมได้กล่าวแล้วว่าสิ่งใดของอังกฤษหรือฝรั่งเศสหรือของประเทศใดซึ่งเป็นวิธีการที่ดี เราก็ย่อมที่จะเอาแต่เพียงเป็นเยี่ยงแล้วปรับปรุงให้เหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาลสมัยของไทย และมีส่วนที่เราเห็นว่าเหมาะสมของเราเองปรุงแต่งขึ้นเพื่อของไทยเราโดยเฉพาะ ก็ผู้ที่เคยกล่าวตำหนิเช่นนั้นรังเกียจหลักสูตรที่อ้างว่าเอามาจากฝรั่งเศส เขาจะให้เอาหลักสูตรอะไรที่มิได้มีตัวเยี่ยงมาจากประเทศอื่นบ้าง

แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถิด ปัญหาก็อยู่ที่ว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาเตรียมปริญญาก็ดี ผู้ที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ดี มีความพอใจในความรู้ที่ได้ศึกษามาจากหลักสูตรนั้นหรือไม่ และได้ใช้ความรู้นั้นๆ ประกอบอาชีพได้หรือไม่ เท่าที่ผมได้รับทราบจากท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้และจากเพื่อนของท่านที่มิได้มาในวันนี้ก็แสดงความพอใจ ซึ่งมิใช่แสดงความพอใจเพื่อจะเอาใจผม แต่ความสำเร็จในการงานที่ท่านได้บรรลุผลสำเร็จเป็นบทพิสูจน์คำพูดอันจริงใจของท่าน

ในส่วนผมซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การได้วางหลักสูตรโดยคำนึงที่จะให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา มีโอกาสได้ประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง โดยมิได้จำกัดอยู่เพียงกฎหมายแต่อย่างเดียวเพราะอาชีพนี้มีอยู่จำกัด ดังนั้นในขั้นเตรียมปริญญาจึงพยายามให้ได้ศึกษาวิชาหลาย ๆ อย่างซึ่งไม่มีในมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส แต่เพื่อที่จะให้ผู้สำเร็จเตรียมปริญญาแม้จะมิได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ไปประกอบอาชีพลูกจ้างในวิสาหกิจหรือไปประกอบอาชีพอิสระได้ ซึ่งผมมีความยินดีที่หลายคนได้มีความสำเร็จในการค้าและการเศรษฐกิจต่างๆ และบางคนก็อาศัยวิชาดนตรีที่ตามหลักสูตรเตรียมปริญญาบังคับให้เล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อยคนละหนึ่งอย่างนั้น เมื่อนักศึกษาผู้นั้นไม่สามารถเรียนชั้นปริญญาตรีได้สำเร็จก็ไปเล่นเครื่องมือดนตรีร่วมกับวงดนตรีแล้วในที่สุดก็เป็นหัวหน้าวงดนตรีถือเอาการดนตรีเป็นอาชีพสำคัญ

ส่วนผู้สำเร็จขั้นปริญญาตรีซึ่งมีการเรียนทั้งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนรวมทั้งเศรษฐศาสตร์ด้วยนั้น นอกจากเป็นผู้พิพากษา อัยการและทนายความแล้ว ก็เป็นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายตำรวจ สหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลัง, การเศรษฐกิจ, การทูต และอื่นๆ อีกมากหลาย ดังนั้น ถ้าผมจะให้นักศึกษาขั้นปริญญาตรีเรียนแต่กฎหมายอย่างเดียว ก็คงจะต้องคอยตำแหน่งว่างซึ่งมีอยู่จำกัดเฉพาะในทางกฎหมายเท่านั้น ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นบทพิสูจน์ในทางปฏิบัติ ซึ่งท่านทั้งหลายเป็นผู้แสดงให้ประจักษ์แก่ราษฎรไทยแล้ว

บัดนี้จะขอกล่าวในทางทฤษฎีของวิทยาศาสตร์สังคมว่า การที่ผมได้กำหนดให้นักศึกษาขั้นปริญญาตรีเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยนั้น ก็มีเหตุผลว่า มนุษยชาติที่ร่วมกันอยู่เป็นมนุษยสังคมนั้นก็โดยต้องมีเศรษฐกิจเป็นรากฐาน คือ จำต้องมีปัจจัยในการดำรงชีพและออกแรงงานทางกาย หรือทางสมองเพื่อผลิตปัจจัยในการดำรงชีพนั้นขึ้นมา และในการนั้นก็จำต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในการผลิตชีวปัจจัย เศรษฐกิจจึงเป็นรากฐานสำคัญของมนุษยสังคม ส่วนสังคมใดจะเป็นไปโดยวิธีใดนั้น ก็สุดแท้แต่ความสัมพันธ์ในการผลิตชีวปัจจัย คือ ถ้าเป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้องอย่างระบบปฐมสหการ สถาบันการเมืองของสังคมก็เป็นไปเช่นนั้น ถ้าเป็นไปตามระบบทาสหรือระบบศักดินาระบบทุนหรือท่านทั้งหลายไปกรุงเบลกราดมาซึ่งที่นั่นเขาเรียกว่าสังคมนิยมตามแบบของเขา สถาบันของสังคมนั้น ๆ ก็เป็นไปตามความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจของเขา และประเทศจำต้องมีกฎหมาย กฎหมายนั้นก็บัญญัติขึ้นตามระบบของแต่ละสังคมซึ่งมีรากฐานมาจากระบบเศรษฐกิจของสังคม

ฉะนั้น การที่ให้นักศึกษาขั้นปริญญาตรีซึ่งแม้จะดำเนินอาชีพกฎหมายได้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็เพื่อให้รู้ถึงพื้นฐานของสังคมซึ่งเป็นที่มาแห่งสถาบันการเมืองและกฎหมายของสังคมและก็ให้มีความรู้กว้างขวางในทางเศรษฐกิจ แม้ผู้ที่ดำเนินวิชาชีพทางกฎหมาย ภาษิตโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม” ท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้ก็ดีหรืออีกหลายคนที่มาพบผมก็ดี ไม่เคยมาร้องอุทธรณ์ต่อผมว่า ท่านถูกแบกวิชาที่ผมให้ไว้จนหามไม่ไหวแล้ว แต่ตรงกันข้ามกลับบอกผมว่าอยากจะหาความรู้เพิ่มเติม ผมก็ชรามากแล้วจึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ค้นคว้าศึกษาด้วยตนเองต่อไป ตามแนวที่ผมเคยให้การอบรมไว้เมื่อก่อนแจกปริญญาบัตรว่า

ปริญญาที่มอบให้นั้นเปรียบประดุจเพียงแต่ยื่นกุญแจให้เท่านั้น ขอให้ท่านนำกุญแจนั้นไปไขคลังมหาศาลแห่งความรู้ของมนุษยชาติที่ได้สะสมมา และกำลังพัฒนาอยู่ในทุกวันนี้ และกำลังจะพัฒนาต่อไปในอนาคต

ขอให้ท่านทั้งหลายได้เดินก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ต้องกังวลบุคคลใดๆ ที่จะมารั้งให้ถอยหลัง ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และสรรพวิชาทั้งปวง ตลอดจนความก้าวหน้าของมนุษยสังคมอาจถูกรั้งไว้ได้บางระยะเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ไม่มีพลังใดๆ ที่จะยับยั้งไว้ได้ชั่วกัลปาวสาน คือ ความก้าวหน้าจะต้องมีชัยต่อความล้าหลัง

ในโอกาสนี้ ขออวยพรให้ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิต ผู้ใฝ่ในสันติภาพซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของผมทั้งที่มาในวันนี้ และมิได้มาในวันนี้ จงประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพร้อมด้วยความเจริญก้าวหน้า และบำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อความยุติธรรมของราษฎรเละความเป็นเอกราชประชาธิปไตยของชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนนั้นเทอญ.

 

ท้ายที่สุด บทความนี้แสดงให้เห็นผลงานของคณะราษฎรหลังการอภิวัฒน์ 2475 ที่มีหมุดหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรสยามให้มีความเสมอภาคตามหลัก 6 ประการข้อ 6. คือ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ส่งผลให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นขณะที่การแต่งตั้งศาสตราจารย์วิสามัญฯ และจัดพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นสะท้อนนัยการเมืองเรื่องความมีเสถียรภาพและเอกภาพสูงของรัฐบาลคณะราษฎรในยุคนั้นไว้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขร วิธีการสะกด เลขไทย และการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476,  เล่มที่ 50, หน้า 3220-3221.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1007-1026.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ. 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 205-206.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 902.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบการเข้าเรียนและอัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 พฤษภาคม 2477, เล่มที่ 51, หน้า 462-466.
  •  ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 1 กรกฎาคม 2477, เล่ม 51, หน้า 900.
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องตั้งศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 24 มิถุนายน 2482, เล่ม 56, หน้า 809.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475  ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 6-7.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1352-1377.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 24 มกราคม พุทธศักราช 2477 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 687-709.
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0601.4.1/9 กล่อง 1. เอกสารกรมที่ดิน เรื่อง คำบรรยายระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทะบวงการเมือง ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง [26 มิ.ย. 2477-18 เม.ย. 2479]
  • ประชาชาติ. 7 กรกฎาคม 2482

 

หนังสืออนุสรณ์งานศพ:

  • ปรีดี พนมยงค์. “คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อธรรมศาสตร์บัณฑิตและเนติบัณฑิต นักสันติภาพ ที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2514,” ใน “คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชศรีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517”. (กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์, 2517)

 

หนังสือภาษาไทย :

  • ชิต เวชประสิทธิ์, สงัด ศรีวณิก, สรุปวิชาธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2481)
  • เดือน บุนนาค, ฮัตเจสสัน, เจ. เอฟ และทวี ตะเวทิกุล, เศรษฐศาสตร์, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2477)
  • แลงกาต์, โรแบรต์, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (กฎหมายเอกชน), [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, 2478
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2477)
  • สมาน สุวรรณโชติ, ประวัติการต่อสู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก., (กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2540)
  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, 78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555)
  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, ธรรมศาสตรานุกรม 80 ปี (2477-2557), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557)
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477, (ม.ป.ท.: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2477)
  • เอกูต์, เอช., ธรรมศาสตร์ (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป), (ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2477)

 

บทความในหนังสือและวารสาร :

  • กษิดิศ อนันทนาธร, “บางเรื่องของโรงเรียนกฎหมาย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2565), น. 39-56.
  • ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 18-64.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับการเมืองไทย : เค้าโครงประวัติศาสตร์ 50 ปี”, วารสารธรรมศาสตร์ 13, 4 (ธ.ค. 2527): 8-33.

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (26 มิถุนายน 2563). “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (1),” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2020/06/318
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (27 มิถุนายน 2563). “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2),” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2020/06/319
  • ปรีดี เกษมทรัพย์. (25 มิถุนายน 2563). “ท่านผู้ประศาสน์การของเรา” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567.  https://pridi.or.th/th/content/2020/06/316
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (17 เมษายน 2564). “ท่านผู้ประศาสน์การปรีดีกับพิธีรับรองศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567.  https://pridi.or.th/th/content/2021/04/671
  • อัศนี พลจันทร. (15 กันยายน 2563). ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว.  [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2020/09/418