ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2)

27
มิถุนายน
2563

การบริหาร การเรียน และการสอน (ธ.บ. และ ตมธก.)

ในด้านการบริหารและจัดการนั้น เข้าใจว่า ม.ธ.ก. อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่กําเนิดเป็นอิสระตั้งแต่ต้น (แต่จะถูกทําให้กลายเป็นระบบราชการในภายหลัง) ไม่ขึ้นเป็นองค์กรหรือส่วนของราชการตามปกติ มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมาแต่เริ่มแรก ขอให้เรามาดูจากรายรับ รายจ่ายของมหาวิทยาลัย 

2477/1934

  • รายรับ 6 แสนบาท
  • รายจ่าย 1 แสนบาท (เพราะมีนักศึกษาสมัครเข้ามามากดังที่กล่าวข้างต้น)

2485/1942

  • รายรับ 4 แสนบาท (น้อยลงไปเพราะตอนนี้นักศึกษาคงตัวแล้ว)
  • รายจ่าย 2 แสนบาท

2489/1946 (ก่อนสิ้นสุดสมัยท่านผู้ประศาสน์การ)

  • รายรับ 1 ล้าน 3 แสนบาท
  • รายจ่าย 7 แสนบาท 

กล่าวโดยย่อ มหาวิทยาลัยมีรายรับมากกว่ารายจ่ายทุกปี ในสมัยท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมาตลอด ส่วนหนึ่งมาจากค่าบํารุงของนักศึกษา ค่าเล่าเรียนในสมัยนั้นปีละ 20 บาท ถูกกว่าค่าเล่าเรียนมัธยมปลายครึ่งต่อครึ่ง ค่าเล่าเรียนมัธยมปลายสมัยนั้น 40 บาท (และถูกกว่าทางจุฬาฯ ซึ่งต้องสอบเข้าอีกต่างหาก) ธรรมศาสตร์เก็บ 20 บาท ก็ยังมีกําไรเลี้ยงตัวเองได้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ประศาสน์การพูดเอาไว้ในสมัยที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีว่า ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยนี้มีทรัพย์สิน ที่ดิน มีตึกของตัวเองนั้นก็ได้ด้วยเงินที่เก็บมาจากนักศึกษาทั้งสิ้น นักศึกษารุ่นแรก 7,094 คน ที่มาเสียค่าบํารุงในปีแรกนั่นแหละ ที่เงินของเขาและเธอซื้อที่ดินและสร้างตึกโดม ทําให้ ม.ธ.ก. มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ  ธรรมศาสตร์จะถูกบิดเบี้ยวและยึดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชการ และเป็นมหาวิทยาลัย “ปิด” อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันเมื่อหลัง พ.ศ. 2500/1957 ในยุคที่บ้านเมืองเข้าสู่สมัยของการพัฒนา และลัทธิการทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นเอง แต่ระหว่าง 2477-2500/ 1934-1957 ธรรมศาสตร์เป็นอิสระและล้ำหน้าเกินยุคสมัยในเรื่องของการจัดการและการบริหาร 

ที่นี้ ในแง่ของอาจารย์ผู้บรรยายนั้นเอามาจากไหน อาจารย์ประจํานั้นมีน้อยมาก อาจารย์ที่ได้รับสมัครเข้ามาช่วงแรกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เราได้ยินชื่อ 4 ท่านแรก คือ เสริม วินิจฉัยกุล, ทวี ตะเวทิกุล, วิจิตร ลุลิตานนท์ และขุนประเสริฐศุภมาตรา ที่รับอาจารย์ 4 ท่านแรกเข้ามานี้เพื่อที่จะช่วยทําตําราคําสอนของมหาวิทยาลัย สองท่านแรก คือ เสริม วินิจฉัยกุล และทวี ตะเวทิกุลนั้น ในที่สุดได้ทุนไปเรียนต่อฝรั่งเศส เมื่อมีอาจารย์ประจําน้อย ส่วนใหญ่จึงเป็นอาจารย์พิเศษ เช่น ดิเรก ชัยนาม, ไพโรจน์ ชัยนาม, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ส่วนใหญ่จะได้คนที่มีความรู้สูง มีใจรักที่มาสอน ได้คนที่อุทิศตัวเองให้กับการศึกษาหรือไม่ก็ได้อาจารย์ฝรั่งเด่น ๆ มาก หลายคนคงเคยได้ยินชื่ออย่าง ร. แลงกาต์ ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโท และเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กฎหมายไทย 

มหาวิทยาลัยยังมีวารสารทางวิชาการของตนเองที่มีชื่อว่า นิติสาส์น มีอาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยมีแผนกคําสอนของตัวเอง แผนกนี้ขายคําสอน (ตํารา) ให้นักศึกษา ซึ่งไม่จําเป็นต้องมาเรียน จุดกําเนิดของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นก็มาจากตอนนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ได้ยกสํานักพิมพ์นิติสาส์นของท่านให้มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2483/1940 (แท่นพิมพ์โบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าพิมพ์ “คําประกาศคณะราษฎร” ก็ตกเป็นสมบัติของ ม.ธ.ก. และสมควรอย่างยิ่งที่จะเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์) 

 

 

นี่เป็นภาพทั่ว ๆ ไปของมหาวิทยาลัย ที่ลักษณะขององค์กรต่าง ๆ มี อยู่อย่างนี้ ถ้าจะถามว่าบรรยากาศของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ช่วงประมาณ 2477/1934, 2478/1935, 2479/1936 เป็นอย่างไร คําตอบก็คือว่า คงไม่ใช่ภาพอย่างเราเห็นในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยกิจกรรม มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา มหาวิทยาลัยช่วงแรกค่อนข้างเงียบ มีคนมาเรียนประมาณวันละ 100 คน ตกบ่ายเงียบหมด  จากคําสัมภาษณ์ความรู้สึกของคนรุ่นนั้นเล่าว่า ตอนบ่าย ๆ คน หายไป กลับบ้านไป นักศึกษาถึงจะมีจํานวนเป็นพัน ๆ ส่วนใหญ่ก็อ่านคําสอนอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น ไม่แปลกใจอะไรเลย ถ้าเราจะดูอย่างคุณสมคิด ศรีสังคม ธรรมศาสตร์บัณฑิตคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่า ไม่เคยมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ วันหนึ่งไปฟังเขาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประทับใจมากที่เห็นผู้สมัครใส่เสื้อครุยมาหาเสียง เลยสมัครเรียนธรรมศาสตร์ แล้วก็รับคําสอนที่ส่งไปอีสาน ท่านอ่านแล้วก็สอบอยู่บ้านนอก ไกลมากต้องขี่ม้าเข้ามาในเมือง ในที่สุดก็จบ ธ.บ. เข้าทํางานกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม แล้วสอบชิงทุนไปเรียนถึงประเทศอังกฤษ นี่เป็นเส้นทางเดินของท่านและของอีกหลายคนที่มากับธรรมศาสตร์ 

บรรยากาศทั่วไปสงบ ต้นโพธิ์คงไม่ค่อยโตนัก ดูรูปในระยะนั้นต้นไม่โตแต่ใบหนา มีต้นจําปีอยู่ริมน้ํา มีต้นสนเรียงรายริมแม่น้ำ เปิดโล่ง แลเห็นตึกโดมโดดเด่นเป็นสง่า  ตึกโดมเปิดใช้เป็นทางการเมื่อ 9 กรกฎาคม 2479/1936 หลายคนคงทราบดีว่า ผู้ออกแบบตึกโดม คือ คุณหมิว อภัยวงศ์  ท่านผู้นี้ไปเรียนหนังสือมาจากปารีส มีความคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ท่านอาจารย์ปรีดีเชิญมาช่วยออกแบบว่า จะทําอย่างไรดีกับตึกเก่า ๆ ให้เป็นตึกใหม่ของธรรมศาสตร์ ท่านปรีดีได้ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหม่ที่บริเวณท่าพระจันทร์ เป็นที่ของทหารที่จะย้ายออกไปอยู่แล้ว ท่านก็เลยเจรจาขอซื้อ ซึ่งท่านก็เอาเงินค่าเล่าเรียนของนักศึกษานั่นแหละซื้อ ในปัจจุบันทั้งหมดมี 25 ไร่ 3 งาน (แล้วท่านก็เป็นผู้บริหารการศึกษาที่เฉลียวฉลาด คือ บอกว่า ค่อย ๆ ผ่อนใช้ เวลาผ่อนท่านก็ไปขอยืมเงินกระทรวงการคลังมาผ่อนใช้ ทําให้เงินที่ ม.ธ.ก. มีไม่หมดไปทันที)

เมื่อซื้อที่ดินตรงนี้ได้ก็เชิญนายหมิว อภัยวงศ์ มาดูตึกเก่าของทหารซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่งเหมือนกัน 4 ตึก เรียงกันอยู่เป็นแถว ให้ออกแบบปรับปรุงใหม่เป็นตึกมหาวิทยาลัย ไม่ต้องทุบทิ้ง (แล้วตั้งงบประมาณมาสร้างกันใหม่อย่างที่ชอบทํากันเป็นประจําในปัจจุบัน) ท่านให้แนวทางและหลักเกณฑ์ว่า ให้ใช้การได้ ทันสมัย สวยงาม  คุณหมิว อภัยวงศ์ ไปยืนที่ริมน้ําเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ดูไปดูมาแล้ว ท่านก็เชื่อมตึก 4 ตึกให้ต่อกันตลอดแล้วใช้หลังคาวิ่งยาว แล้วก็เอาโดมใส่ขึ้นไปตรงกลาง กลายเป็นตึกโดมธรรมศาสตร์ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลก เด่น และงามสง่า ซึ่งจะค่อย ๆ มีชีวิตและจิตวิญญาณขึ้นมา จนมีการตีความว่า โดม หมายถึง ดินสอ หมายถึง ปัญญาและความเฉียบแหลม และที่สําคัญคือเป็น “แม่” (!?)

 

ตึกโดมที่ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์
ตึกโดมที่ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์

 

ตรงนี้ขอแทรกในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินของ ม.ธ.ก. ที่ท่าพระจันทร์ (จากบทความของปรีชา สุวรรณทัต ใน ธรรมศาสตร์ 50 ปี) โดยเกิดปัญหาว่า เมื่อ ม.ธ.ก. ซื้อที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ตําบลท่าพระจันทร์ด้วยเงิน 3 แสนบาทจากกระทรวงกลาโหมนั้น ได้มีการนําเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออก พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ ก็มีปัญหาตามกระทู้ของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส. อุบลราชธานี ว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนแก่กันได้หรือไม่นั้น ข้าพเจ้าสงสัย เพราะว่าในทางปฏิบัติที่ข้าพเจ้าเคยทราบนั้น อย่างเราไปโอนที่ดินกรมทหารให้แก่กระทรวงธรรมการ อย่างนี้ก็หาได้ทําเป็นพระราชบัญญัติไม่” 

พระยามานวราชเสวี ร.ม.ต. คลัง ตอบว่า “จริงอยู่ ที่รายนี้เป็นของรัฐบาล แต่ว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นต่างหาก แยกจากวงการรัฐบาล รัฐบาลที่บํารุงหรืออะไรนั้นเป็นการช่วยเหลือเป็นซับไซดีเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเป็นล่ําเป็นสันเป็นงานของรัฐบาลโดยตรง เห็นว่า มหาวิทยาลัยนี้ทํางานเลี้ยงตัวเองได้ก็ส่งเสริมตามกําลังและความสามารถ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าในการที่ออกพระราชบัญญัติโดยมีหลักการเช่นนั้น เป็นการชอบแล้ว เพราะเหตุว่าที่จะเอาของหลวง ซึ่งใช้ในราชการนั้นจะไปให้แก่บุคคลซึ่งนับว่าเป็นเอกชนคนหนึ่งเหมือนกัน หากแต่ว่าเป็นนิติบุคคลเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นในการที่ออกพระราชบัญญัตินี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นการสมควรอย่างยิ่งเพื่อจะได้แสดงให้เห็นความเจตนาดีของรัฐบาลที่จะบํารุงการศึกษาในวิชานี้ด้วย” 

 

ที่ดินบริเวณโรงทหาร กรมทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ก่อนที่โอนมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่ดินบริเวณโรงทหาร กรมทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ก่อนที่โอนมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

สรุปแล้ว ม.ธ.ก. ก็ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนี้มาออกเป็น พ.ร.บ. เมื่อ 9 เมษายน 2478/1935 และยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ม.ธ.ก. มีสถานะเป็น “นิติบุคคลตั้งขึ้นต่างหากแยกจากวงการของรัฐบาล” ดังที่กล่าวมาแล้วในประเด็นของกําเนิดอิสระ 

นั่นคือ เรื่องการบริหาร เรื่องลักษณะอิสระของมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนคนที่มาเรียนกันก็น้อย แต่อยู่ ๆ ไปก็จะมีคนมาเรียนมากขึ้น ๆ มีการผลิตบัณฑิตมากขึ้น ๆ ในปี 2477/1934 พอเปิดปีแรกก็มีบัณฑิตเลยที่โอนมาและได้ เป็นบัณฑิตธรรมศาสตร์ 19 คน ปีเดียวกันนั้น ทางจุฬาฯ มีบัณฑิต 82 คน ปี ถัดไป 2478/1935 ที่คุณหญิงบรรเลง ชัยนาม เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรกนั้นมีบัณฑิต 137 คน ส่วนจุฬาฯ มี 116 คน ในปี 2485/1942 ธรรมศาสตร์มีบัณฑิต 250 คน จุฬาฯ มี 255 คน ที่เอาเรื่องการผลิตบัณฑิตมานี้จะโยงกับเรื่องปรัชญาการศึกษาด้วย คือในแง่นี้ถ้าเราดูลักษณะของการผลิตคนที่มีความรู้ในระดับสูงในระบอบราชาธิปไตย ซึ่งเริ่มมีการเปิดขยายการศึกษา มีการตั้งโรงเรียนขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของกระทรวงทบวงกรมที่ขยายตัวและมีความต้องการข้าราชการ ถ้าจะดูจากตัวเลขของคนที่จบการศึกษาระดับสูง คนจบจะมีจํานวนพอ ๆ กับความต้องการของหน่วยงานราชการจะไม่ผลิตให้เกินความต้องการแต่ในหลักการของธรรมศาสตร์หลัง 2475 

 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มองจากอีกฝั่งของแม่น้ําเจ้าพระยา
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มองจากอีกฝั่งของแม่น้ําเจ้าพระยา

 

เป็นเรื่องของเสรีภาพทางการศึกษา การให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ จะไม่มองว่าถ้ากระทรวงนี้ต้องการ 12 คน ก็ผลิตให้ 12 คน แต่ว่าจะให้จบออกไปแล้วหางานทําเองหรือแม้กระทั่งสร้างงานของตนเองขึ้นมา อันนี้เป็นความแตกต่างของธรรมศาสตร์  คือ จุดหมายเพื่อให้คนมีการศึกษามากขึ้นในสังคมประชาธิปไตยราษฎรควรมีความรู้ระดับสูงให้เหมาะสมกับการปกครองสมัยใหม่เป็นหลักของท่านผู้ประศาสน์การที่ว่าให้ให้ตามความสามารถที่เขาจะเรียนกันได้ 

เราจะเห็นได้จากบทบาทของท่านอีกต่อไปว่า เมื่อมีการตั้งโรงเรียนเตรียม ม.ธ.ก. ซึ่งเป็นในสมัยที่กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกการจัดการศึกษาระดับมัธยมปลายนั้น ธรรมศาสตร์ก็จะรับนักเรียนประเภทนี้จํานวนหนึ่ง ปรากฏว่า มีนักเรียนจํานวนไม่น้อยสอบเข้าไม่ได้และไม่มีที่เรียน ท่านก็ให้มี “ภาคสมทบ” ขึ้นโดยบอกว่า ให้เขาเรียนกันเถอะ ถึงแม้จะเรียนภายใต้หลังคาจากก็ให้เรียนกัน เรียนอยู่กับพื้นติดดินด้วยซ้ำไป นี่เป็นความคิดของท่าน ไม่อย่างนั้นแล้วจะเอาคนไปไหน ให้การศึกษาจะดีกว่า (คิดว่าหลักอันนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ทําต่อมาในสมัยที่คณะเศรษฐศาสตร์มีภาคค่ำในยุคทศวรรษ 2510/1967 และเราพยายามรื้อฟื้น ธ.บ. พิเศษขึ้นมาอีกในปี 2537-2538/1994-1995 แต่ไม่สําเร็จ) 

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บัณฑิต ม.ธ.ก. รุ่นแรก ซึ่งต่อมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายภาพร่วมกับ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก. คนแรกและคนเดียว
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บัณฑิต ม.ธ.ก. รุ่นแรก ซึ่งต่อมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายภาพร่วมกับ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก. คนแรกและคนเดียว

 

ชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์

ในที่นี้อยากจะขอขนานนามยุคเริ่มแรกของ ม.ธ.ก. เมื่อ พ.ศ. 2477-2492/1934-1949 ว่า “เมื่อจําปีเบ่งบาน ต้นโพธิ์เติบใหญ่ ริมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์” มหาวิทยาลัยจะค่อย ๆ มีชีวิตขึ้น ถ้าเราลองสัมภาษณ์ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก เราจะมองไม่ค่อยเห็นว่าเขามีความสัมพันธ์อย่างไรกับมหาวิทยาลัย แต่พอผ่านไปไม่กี่ปี สิ่งที่เรียกว่า ชีวิตและวิญญาณ จะเกิดขึ้นในธรรมศาสตร์

ปีแรก 2477/1934 เริ่มมีฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่สนามหลวง ปีแรกนั้นยังไม่มีเพลงประจํามหาวิทยาลัย ปีที่สองมีแข่งฟุตบอลอีกที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ในตอนนี้มี “เพลงประจํามหาวิทยาลัย” แล้ว โดยเอาทํานองเพลงไทยเดิมของ “มอญดูดาว” นํามาให้ขุนวิจิตรมาตราใส่เนื้อและความหมายใหม่ หลายอย่างเกิดขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์

ชีวิตของมหาวิทยาลัยเริ่มขึ้นในการสร้างสัญลักษณ์เหล่านี้ เข้าใจว่าท่านผู้ประศาสน์การคงคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ในแง่ของสถาบันการศึกษาจะต้องมีอะไรบ้าง (ไม่ใช่ทําไปเรื่อย ๆ วันต่อวัน) เช่น เปิดเรียนนั้นเปิดวันที่เท่าไร ภาคแรกของธรรมศาสตร์เปิด 27 มิถุนายนมีความหมายมาก คือเป็นวันรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ภาคสองเปิด 10 ธันวาคม ตรงกับวันรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 2) เป็นต้น 

ท่านปรีดี พนมยงค์ ดูจะเลือกคนระดับมีความสามารถสูงมาช่วยทํางาน ถ้าจะหาสถาปนิกก็ต้องเอาอย่างนายหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งโด่งดังมากในสมัยนั้น ถ้าจะหาคนแต่งเนื้อเพลงก็ต้องเป็นขุนวิจิตรมาตรา นักเขียน นักประพันธ์ นักการภาพยนตร์ใหญ่ ท่านเป็นผู้แต่งเนื้อร้องเพลงประจํามหาวิทยาลัยที่มีทํานอง “มอญดูดาว” ดังกล่าวข้างต้น ลองอ่านทีละประโยคจะเห็นถึงความหมายในลักษณะนามธรรม (เช่น สํานักไหนหมายชูประเทศชาติ สํานักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง) หลักการของธรรมศาสตร์กับสังคม (ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์การเมืองไทยจะเฟือง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี) สีเหลืองสีแดงหมายถึงอะไร (เหลืองของเรา คือ ธรรมประจําจิตต์  แดงของเรา คือ โลหิตอุทิศให้) คิดว่า หลายอย่างมีความหมายอย่างน่าภูมิใจ โดมกลายมาเป็นสัญลักษณ์ กลายเป็นแม่ (ซึ่งแปลกดี ม.ธ.ก. อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่เอาตึกมาเป็นสัญลักษณ์ของแม่ เป็นเพศหญิงตามประเพณีเดิม เช่น แม่น้ํา แม่ทัพ ฯลฯ) ลองสังเกตดูชีวิตและวิญญาณที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ ถามดูว่า ต้นไม้อะไรในบริเวณนั้นที่มีชีวิตและวิญญาณ คําตอบ ก็คือ ต้นโพธิ์ ต้นจําปี (ตอนหลังอาจมีต้นหางนกยูง) 

ขอตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า การสร้างสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนี้ มีลักษณะที่เป็นทางการกับที่เป็นไปตามธรรมชาติ ทางการมีธรรมจักรเป็นตราประจําของมหาวิทยาลัย แต่โดยธรรมชาตินักศึกษากําหนดขึ้นมาเองว่า โดม คือ สัญลักษณ์ โดยทางการมีต้นหางนกยูงเป็นไม้ประจํามหาวิทยาลัย (ที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในระยะหลัง) แต่โดยไม่เป็นทางการ เราก็มีต้นจําปี มีต้นโพธิ์ โดยทางการเรามีเพลงมหาวิทยาลัยคือพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” แต่โดยความรู้สึกทั่วไปเพลง “มอญดูดาว” หรือชื่อทางการว่า “เพลงประจํามหาวิทยาลัย” จะเป็นเพลงที่สําคัญและมีพลังที่สุด 

จุดหนึ่งที่คิดว่า สําคัญมากในการสร้างความมีชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์ คือการตั้ง “มหาวิทยาลัยนิคม” พูดง่าย ๆ ก็คือ หอพักนั่นเอง ตอนแรกที่ตั้งขึ้นมามีนักศึกษาจํานวนน้อย ปีแรก 2478/1935 มีคนเข้ามาพักอยู่เป็นประจําประมาณ 30 คน ตอนหลังอาจมีถึงร้อยคน มหาวิทยาลัยนิคมที่เป็นหอพักนี้อยู่ในธรรมศาสตร์ (ตรงตึกคณะรัฐศาสตร์) และจะมีอยู่ในช่วงประมาณ 2478-2481 /1935-1938 คือเพียง 3 ปีเท่านั้นก็ยกเลิกไป แต่ว่ามีส่วนสร้างชีวิตของนักศึกษาขึ้นมาเป็นชีวิตนักศึกษาที่อยู่กับมหาวิทยาลัย อยู่กับอาจารย์ผู้ดูแล 

 

เพลงประจํามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
เพลงประจํามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

อีกจุดหนึ่งที่ทําให้มหาวิทยาลัยมีชีวิตชีวาคึกคักมากขึ้น ก็คือการเปิด ต.ม.ธ.ก. อันนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการศึกษาระดับชาตินั้นได้ยกเลิกการจัดการเรียนการสอนมัธยม 7 และ 8 ไปจากโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น ชั้นเตรียมก็กลายมาเป็นเตรียมจุฬา และเตรียมธรรมศาสตร์ เตรียมธรรมศาสตร์นั้นมีอยู่ 9 รุ่น 2481-2490/1938-1947 (แล้วก็เลิกไปในขณะที่จุฬาฯ ยังมีอยู่ถึงปัจจุบัน) รับนักเรียนเข้าเรียน เริ่มคึกคักมีผู้คนมากมาย มีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่น ลองสังเกตดูในบรรดาชมรมศิษย์เก่าทั้งหลาย จะเห็นได้ว่าพวก ต.ม.ธก. ยังเกาะกลุ่มกัน พวกนี้เป็นผู้ช่วยสร้างชีวิตให้กับธรรมศาสตร์ ปัจจุบันยังมีรุ่นนั้นรุ่นนี้ แม้จะแก่ชรา ก็ยังพบปะกันอยู่เรื่อย ๆ ดังที่เราเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ 

ลองดูหลักสูตรที่เขาเรียนกันในสมัย ต.ม.ธ.ก. จะเห็นว่า น่าอัศจรรย์ใจ เขาเรียนภาษาไทย ภาษาบาลี ศีลธรรม โบราณคดี ดุริยางค์ศาสตร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ชวเลข พิมพ์ดีด นี่เป็นการยกตัวอย่างบางวิชาเท่านั้น ยังมีรายการวิชาอื่น ๆ อีกยืดยาว น่าสนใจที่ว่า หลักสูตรนี้สร้างขึ้นมากว้างมาก และก็น่าจะใช้การได้ในสังคมสมัยใหม่ มีการให้เรียนชวเลข และพิมพ์ดีด (คล้าย ๆ กับที่จําเป็นจะต้องเรียนคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน) การที่มีนักเรียน ต.ม.ธ.ก. เข้ามาเพิ่มรวมกับนักศึกษา ทําให้ธรรมศาสตร์มีชีวิตและวิญญาณมากขึ้นกว่าเดิม 

ที่สําคัญอีกจุดหนึ่งคือการจบเป็นบัณฑิตสมัยนั้น ม.ธ.ก. มีการอบรมบัณฑิตที่เรียกว่า “การอบรมนักศึกษาก่อนรับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต” มีมาตั้งแต่ประมาณ 2481/1938 จนกระทั่งถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันนี้พอเรียนจบ ก็ไปถ่ายรูป เตรียมรับปริญญา วันรับปริญญาก็มาที่นี่ ได้รับพระราชทานโอวาท แล้วก็เป็นอันจบพิธี แต่ในสมัยนั้นคิดว่าได้สร้างชีวิตและวิญญาณของคนจบธรรมศาสตร์ขึ้นมาอย่างมาก คือ มีการอบรม 15 วัน เข้ามากินมานอนอยู่ในนี้ ในระหว่างกินนอนอยู่ 15 วันนั้น ก็ต้องฝึกเกี่ยวกับมารยาท ศีลธรรม วินัย การสมาคม มีการพาไปดูสถานที่ต่าง ๆ ลองดูตัวอย่างจากหนังสือที่ใช้อบรมนักศึกษาก่อนรับปริญญา ปี 2484/1941 ว่าแต่ละวันทําอะไรบ้าง ซึ่งท่านปรีดีเองก็ได้ไปร่วมค้างคืนด้วยเป็นครั้งคราว 

  • 5.30 น. ตื่นนอน,
  • 6.00 น. พละศึกษา,
  • 8.00 น. อาหารเช้า,
  • 9.00 น. เข้าห้องอบรมหรือไปชมสถานที่,
  • 12.00 น. อาหารเที่ยง,
  • 14.00 น. เข้าห้องอบรมหรือไปชมสถานที่,
  • 16.30 น. พลศึกษา,
  • 19.00 น. อาหารค่ํา,
  • 22.00 น. เข้านอน 

ดังนั้น ก็หมายความว่า ตื่นตีห้าครึ่ง นอนสี่ทุ่ม เป็นเวลา 15 วัน อบรม ศีลธรรม มารยาท วินัย และการเข้าสมาคม การอบรมนี้นับว่า น่าสนใจมาก ตัวอย่างเช่น การอบรมของปี 2484/1947 วันที่ 9 มีนาคม ผู้ประศาสน์การเปิดการอบรม นายกกิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยให้โอวาท (ตําแหน่งนายกฯ นี้ เหมือนกันกับนายกสภามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพียงแต่เป็นตําแหน่งเกียรติยศเสียมากกว่า ไม่เข้ามาทํางานประจําทางบริหารวันต่อวัน) แต่ก่อนเรียกว่า “นายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัย” และน่าสนใจมากคือ นายกคณะกรรมการฯ นี้ที่ธรรมศาสตร์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นนายกฯ ทางจุฬาฯ มีรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการเป็นนายกฯ 

 

นักศึกษา ม.ธ.ก. เข้ารับการศึกษาอบรมก่อนรับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต
นักศึกษา ม.ธ.ก. เข้ารับการศึกษาอบรมก่อนรับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต

 

โปรดดูต่อไป คือวันที่ 10 ไปชมสภาผู้แทนราษฎร ในตอนบ่ายวันนั้น หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ (1 ในคณะราษฎร ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) กล่าวอบรม  วันที่ 11 ไปชมโรงกลั่นสุรา แล้วพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ต่อมาคือกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์) กล่าวอบรมตอนบ่ายไปชมการประปากรุงเทพฯ แล้ว พระยามานวราชเสวีกล่าวอบรม วันต่อมาไปชมโรงงานกษาปณ์เสร็จแล้ว พระยานิติศาสตร์ไพศาลกล่าวอบรม วันต่อมาไปชมโรงฝิ่นรัฐบาลแล้ว ม.จ. สกลวรรณกร กล่าวอบรม  วันต่อไป ไปชมเรือนจํามหันตโทษ แล้วเจ้าพระยามหิธรกล่าวอบรม  วันต่อมา ไปนิคมสร้างตนเอง จังหวัดสระบุรี ชมโรงงานกระดาษ โรงไฟฟ้าสามเสน เสร็จแล้วเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศกล่าวอบรม  วันต่อไปอีก ไปชมโรงพยาบาลโรคจิต แล้วพระสารสาส์นประพันธ์กล่าวอบรม  วันต่อมา ไปชมโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์กล่าวอบรม ฯลฯ คือ รวมแล้วเป็นการดูงานชนิดหนึ่ง แล้วถูกอบรมแต่เช้าจนเย็น อันนี้เป็นสิ่งที่ทําให้เกิดชีวิตของคนที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต 

ในแง่ของท่านผู้ประศาสน์การกับนักศึกษาธรรมศาสตร์เล่าเป็นอย่างไร ในด้านหนึ่ง ท่านปรีดีกับธรรมศาสตร์มีความสัมพันธ์ในฐานะที่ว่า ท่านเป็นผู้ประศาสน์การ คําว่า “ประศาสน์” แปลว่า “ให้” ก็หมายความว่า ท่านเป็นผู้ให้การสถาปนา ม.ธ.ก. นี่เป็นความสัมพันธ์ในแง่ของการเป็นผู้ก่อตั้ง ความสัมพันธ์ของท่านกับธรรมศาสตร์เป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ อย่าลืมว่า เมื่อ 24771934 ที่ ตั้งธรรมศาสตร์ขึ้นมานั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ท่านเป็นมาตั้งแต่ปี 2476/1933 ตลอดระยะเวลาที่เราพูดนั้น ท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่เกือบตลอด จากมหาดไทยไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสร็จแล้วเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรี บทบาทของท่านเกี่ยวข้องกับการเมืองการบริหารระดับสูงมาก ดังนั้น ท่านผู้ประศาสน์การก็มิได้สอนหนังสือประจําอย่างที่ท่านเคยสอนที่โรงเรียนกฎหมายมาก่อน

 

นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

 

ดังนั้น ความสัมพันธ์ของท่านกับนักศึกษานั้นเป็นความรู้สึกเชื่อและนับถือในแง่ที่ว่า ท่านเป็นผู้ให้ ท่านไม่ได้มาสอน ไม่ได้มาพบนักศึกษาเป็นประจําอย่างอธิการบดี รองอธิการบดี หรือคณบดีในปัจจุบัน แต่ว่าท่านมีความสัมพันธ์กับธรรมศาสตร์และกับนักศึกษาไม่น้อย ท่านรู้จักกับนักศึกษา แม้ว่าจะไม่ได้สอน ถ้าเราอ่านจากบันทึกและการสัมภาษณ์ จะเห็นได้ว่า มีนักศึกษากลุ่มหนึ่ง อาจเป็นพวกหัวกะทิที่น่าสนใจมาก ๆ จะเข้าไปพบท่าน พูดคุย หรือปรึกษาหารือ  นี่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับท่าน ดังนั้น ว่าไปแล้วท่านก็ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงอย่างที่เราเห็นจากคนที่มีเวลาเต็มในการทํางาน  ตําแหน่งผู้ประศาสน์การ ดูจะไม่ใช่ตําแหน่งบริหารแบบประจําทุกวัน  ในสมัยนั้นการบริหารโดยตรงจะอยู่กับเลขาธิการคือ ดร.เดือน บุนนาค และต่อมาจะเป็นศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ตําแหน่งนี้ไม่มีในปัจจุบัน กลายเป็นตําแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ ไป 

ในเรื่องความสัมพันธ์ที่ว่ามีความนับถือกันนั้น ความนับถือคงมาจากความชื่นชมในตัวท่าน ท่านเป็นนักเรียนนอก จบปริญญาเอกหนุ่ม เป็นรัฐมนตรีเมื่ออายุเพียง 32 ปี ในปี 2476/1933 เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยอายุ 33 ปี เพราะฉะนั้นก็เป็นความชื่นชมที่ได้พบเห็น แต่อีกด้านหนึ่งลึกลงไปกว่านั้น คือ ความนิยมนับถือในวิชาความรู้ คือไม่ได้ดูเฉพาะว่า ท่านมีตําแหน่ง หรือดูจากสิ่งภายนอก แต่นับถือวิชาความรู้ของท่าน ความสัมพันธ์นี้จึงมิใช่ความสัมพันธ์ส่วนตัว เอาเข้าจริงแล้วท่านจะพบนักศึกษา ก็คือ วันที่มาอบรมบัณฑิต ท่านมากล่าวเปิดและปิดการอบรมดังที่กล่าวมาแล้ว ความนิยมชมชื่นนี้จะเห็นได้จากรูปภาพและคำบอกเล่า เช่นว่า เมื่อท่านปรีดีเข้าประตูธรรมศาสตร์มา นักศึกษาจะเฮเข้าไปแล้วแบกท่านขึ้นบ่ามาที่ตึกโดม ที่ทํางานของท่านก็คือที่ใต้ตึกโดม ปัจจุบันเป็นห้องรับรองของมหาวิทยาลัย ที่ข้างหน้ามีพระรูปรัชกาลที่ 5 ตรงนั้นคือห้องทํางานของท่าน ซึ่งปกติท่านไม่ได้มาประจํา

 

นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ รับฟังรายงานจากนักศึกษา
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ รับฟังรายงานจากนักศึกษา

 

อีกด้านหนึ่งความสัมพันธ์กับนักศึกษาของท่านปรีดีนั้น อาจจะมาจากบทบาทที่ว่าเป็นรัฐมนตรีจนกระทั่งมีตําแหน่งสูงมาก เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และท่านก็มีตําแหน่งผู้ประศาสน์การมาตลอดด้วย บทบาทที่ผมคิดว่าคงทําให้นักศึกษามีความรู้สึกผูกพันอย่างมากมาย คือ บทบาทของผู้รักสันติภาพในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนี้เป็นจุดสุดยอดอีกอันหนึ่งของชีวิตการทํางานของท่านที่กลายเป็นผู้นําขบวนการใต้ดินเสรีไทย ซึ่งไม่ได้มีความสําคัญและคุณูปการแต่เฉพาะต่อสังคมไทย แต่สําหรับธรรมศาสตร์ด้วย 

เรื่องมีอยู่ว่า ในการปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทยนั้น สถานที่ที่สําคัญของการดําเนินงานมีอยู่ 3 แห่ง คือ 1.ทําเนียบท่าช้าง (เป็นตึกเก่าใกล้สะพานพระปิ่นเกล้า และเป็นที่พํานักของท่านปรีดีในสมัยนั้น) 2. ตึกโดม 3. ตึกที่พักของท่านที่พระราชวังบางปะอิน (เมื่อท่านไปถวายการดูแลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ดังนั้น ธรรมศาสตร์ที่มีบทบาทสําคัญมากในช่วงของเสรีไทย ตึกโดม คือ สถานที่สําคัญของขบวนการสันติภาพอันนั้น มีนักศึกษาจํานวนหนึ่ง (ร่วมกับจุฬาฯ ด้วย) ได้รับการคัดเลือกจากท่านปรีดี และอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เพื่อส่งไปฝึกช่วยงานของเสรีไทย 

ดังนั้น ในตอนนี้ความสัมพันธ์สุดยอดที่ท่านปรีดีจะมีกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้ความสามารถส่วนตัวในทางการงานสติปัญญา และความใกล้ชิดนักศึกษาในระดับหนึ่งแล้ว บทบาทหลัง ก็คือ บทบาทนักสันติภาพของท่าน  เราจะได้เห็นตั้งแต่แรก เมื่อมีการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีกระแสของลัทธิชาตินิยมขวาจัด ท่านปรีดีเตือนอยู่เสมอว่า การเรียกร้องดินแดนนั้นต้องใช้สันติวิธีไม่ใช่กําลังอาวุธ ถ้าเราเข้าไปในอินโดจีนเมื่อไรญี่ปุ่นก็จะเข้ามาในประเทศไทย ทําให้ไทยไม่สามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้ 

 

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกเสรีไทย
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกเสรีไทย

 

จุดที่เราจะเห็นได้ชัดอีก ก็คือ พระเจ้าช้างเผือก อันเป็นภาพยนตร์ที่ท่านสร้างขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ ช่วงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา สะท้อนความคิดของท่านในเรื่องของสงครามและสันติภาพ นางเอกพระเจ้าช้างเผือกนั้นก็เป็นดาวธรรมศาสตร์ (ไพลิน นิลรังสี) หลายท่านคงได้ดูหนังเรื่องนี้ได้เคยอ่านเรื่องราวมาแล้ว การสร้างหนังพระเจ้าช้างเผือกมีส่วนให้นักศึกษากับท่านใกล้ชิดกันมาก การเลือกพระเอกนางเอกก็ดูตัวที่ตึกโดมนี้เอง แล้วหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกก็มีบทบาทในการกอบกู้ประเทศไทยภายหลังสงครามโลกอีกด้วย นี่เป็นสารแสดงความคิดของท่านเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ท่านยืนอยู่กับสันติภาพ กับทางฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าฝ่ายอักษะ ทําให้สัมพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาเห็นเจตจํานงของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งเป็นอย่างดี 

บทบาทและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของท่านปรีดีที่หลากหลายดําเนินมาจนถึงจุดสุดท้ายเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490/1947 (ด้วยข้ออ้างและการใส่ร้ายป้ายสีท่านจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8) ดังที่ทราบกันว่าท่านปรีดีต้องจากประเทศไทยและจากธรรมศาสตร์ไป แต่ว่าท่านปรีดียังอยู่ในความรู้สึก ในฐานะผู้ให้และผู้สร้างชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์ ยังผูกพันอยู่กับคนธรรมศาสตร์จํานวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นในยุคสมัยที่สัจจะเริ่มปรากฏเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516/1973 ท่านปรีดีก็กลับมาเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ในฐานะของมหาบุรุษแห่งสามัญชน แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าเกือบครึ่งศตวรรษ (ที่ท่านและครอบครัวต้องตกระกําลําบาก แสนสาหัส) ที่จะทําให้สัจจะประจักษ์ขึ้นมาได้ 

ขอจบลงด้วยการนําหนังสือ ธรรมจักร พิมพ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2493/1950 (11 พฤษภาคม คือวันเกิดของท่านปรีดี) มีผู้เขียนท่านหนึ่งที่ใช้ นามปากกาว่า “14559” กล่าวปิดยุคสมัยนั้นว่า 

“ครั้นเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ประมุขของมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ อาจารย์ถูกจับกุมคุมขัง การสอบไล่ของนักศึกษาในบางลักษณะวิชาต้องทําการสอบกันใหม่ เนื่องจากกระดาษคําตอบของนักศึกษาถูกใช้เป็นเป้าสําหรับประลองความคมของดาบปลายปืน ขณะนั้นเป็นเวลาปิดสมัยการศึกษาประจําปี ซึ่งโดยปกติมหาวิทยาลัย ก็เงียบเหงาอยู่แล้ว แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าและทุบทะมึน แม้ดวงอาทิตย์จะแจ่มกระจ่างปานใดก็ตาม แต่นักศึกษาที่ย่างเท้าเข้าไปในมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ก็รู้สึกประหนึ่งว่า ดวงอาทิตย์นั้นไร้แสง เพราะยอดโดมที่เคยตระหง่านท้าทายเมฆ ดูคล้ายประหนึ่งว่า จะ พลอยเศร้าไปกับนักศึกษาด้วย เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกโดยสัญชาตญาณว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปวาระที่เขาจะต้องกัดฟันเผชิญกับมรสุมและพายุร้ายได้มาถึงแล้ว” 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ที่มา: ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์และการเมือง (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2549), น. 31-55.

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: