เกริ่นนํา
ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ชาตะเมื่อ 11 พฤษภาคม 2443/1900 และอสัญกรรมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2526/1983 ศึกษาจบมัธยม 6 จากโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า แล้วเข้าศึกษาโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมในปี 2460/1917 สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้เมื่อปี 2462/1919 ขณะอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ระหว่างปี 2463-2469/ 1920-1926 ได้รับทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juriciques) และได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาขั้นสูงทางเศรษฐกิจ (Diplome d Etudes Superieures d' Economie Politique)
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475/1932 ฯพณฯ ปรีดีได้ร่วมกับข้าราชการ ทหาร และพลเรือนจํานวน 100 กว่านายในนามของ “คณะราษฎร” ทําการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบกษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นได้ดํารงตําแหน่งสําคัญ ๆ เช่น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (คนแรก) เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, เป็นผู้เสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย การต่างประเทศ การคลัง และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ฯ, เป็นหัวหน้าขบวนการใต้ดิน “เสรีไทย” เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศ ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” และเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังวิกฤตการเมือง 2490-2492/1947-1949 ฯพณฯ ปรีดี ได้ลี้ภัยการเมืองไปพํานักอยู่ประเทศจีน และในปี 2513/1970 ได้ย้ายไปพํานักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2526/1983
ในสมัยที่ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยเมื่อปี 2476-2477/1933-1934 นั้น ท่านได้ดําเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัย “ตลาดวิชา” แห่งแรกของสยาม คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก. ซึ่งมีลักษณะ “พิเศษ” เกี่ยวพัน กับการเมืองและความเป็นไปของชาติตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ดังนั้นในบทความนี้ประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นจุดกําเนิดและวิวัฒนาการเริ่มแรกของ ม.ธ.ก. อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สําคัญที่จะวางแนวทางของมหาวิทยาลัยสืบต่อมา
เมื่อต้นปี 2526/1983 อาจารย์และนักวิจัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ดําริที่จะทํางานวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” ผมซึ่งสมัยนั้นดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสถาบันไทยคดีศึกษา (ซึ่งมี ศ.เสน่ห์ จามริก เป็นผู้อํานวยการ) และดํารงตําแหน่งรองอธิการบดี (ฝ่ายวัฒนธรรม เฉลิมฉลอง ธรรมศาสตร์ 50 ปี ซึ่งมี ศ.นงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยได้ติดต่อกับท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ณ กรุงปารีส เพื่อขอเข้าสัมภาษณ์จากท่านโดยตรง ท่านได้มีจดหมายนัดแนะอย่างเป็นทางการว่าให้ ไปพบได้ในวันที่ 7 และ 9 พฤษภาคม พร้อมทั้งให้การบ้านให้เตรียมตัวศึกษาไว้ก่อนล่วงหน้า คือ ท่านบอกว่าควรดู
- สุนทรพจน์ของท่านเกี่ยวกับเรื่องของธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเคยให้ ไว้ในสมัย ดร ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นอธิการบดี (30 มกราคม 2518/1975-6 ตุลาคม 2519/1976)
- นอกจากนั้นก็ให้หาประวัติเกี่ยวกับการซื้อโอนที่ดินที่ท่าพระจันทร์
- ให้ดูหลักสูตรของ ม.ธ.ก. หลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก และ
- ให้ดูหลักสูตร ต.ม.ธ.ก.
แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526/1983 นั้น ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ก็ถึงแก่อสัญกรรม ก่อนหน้าวันนัดหมายที่ได้ไว้จากท่าน เพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ แทนที่จะได้ไปสัมภาษณ์เพื่อเขียนงานประวัติศาสตร์ ผมก็กลับกลายเป็นไปงานฌาปนกิจศพของท่าน ที่ทํากันอย่างเรียบง่ายและสมเกียรติ ที่กรุงปารีส ท่านกลายเป็นหนึ่งใน “แต่คนดี เมืองไทยไม่ต้องการ" ที่ต้องลี้ภัยการเมืองและอํานาจมืดของรัฐและจบชีวิตในต่างแดน เหมือน ๆ อย่างที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ต้องประสบในอีก 16 ปีต่อมา[1]
จากการบ้านข้างต้นที่ท่านผู้ประศาสน์การปรีดีได้ให้ไว้ ก็อาจถือเป็นแนวทางในการสืบเสาะประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยของสามัญชนที่ไม่สามัญ” ในที่นี้ผมจะขอจํากัดเรื่องราวเพียงช่วงระยะจากปี 2477/1934 ซึ่งเป็นปีของการสถาปนา ม.ธ.ก. ไปจนกระทั่งถึงช่วงประมาณปี 2490-2492/1947-1949 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐประหาร 2490/1947 และสิ่งที่เรียกกันว่า “กบฏวังหลวง 2492/1949" หรือที่ ฯพณฯ ปรีดีเองเรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492/1949” ซึ่งเป็นความพยายามจะยึดอํานาจคืนจากคณะรัฐประหาร 2490/1947 นําประเทศกลับไปสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ประมาณระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่ ฯพณฯ ปรีดี เกี่ยวข้องและผูกพันกับมหาวิทยาลัยโดยตรง
หลังจากนั้นแล้วเมื่อบ้านเมืองขาดประชาธิปไตย ระบอบอํานาจนิยมเข้าครองมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ชื่อเดิมก็ถูกตัด คําว่า “วิชา” และ “การเมือง" ออก ฝ่ายอํานาจนิยมผลัดเวียนกันเข้ามา “รักษาการ” อย่างเช่น หลวงวิจิตรวาทการ (2493-2494/1950-1951) พลโท สวัสดิ์ ส. สวัสดิเกียรติ (2494 2495/1951-1952) ในฐานะตัวแทนคณะรัฐประหาร และท้ายที่สุดตําแหน่ง “ผู้ประศาสน์การ” ก็ถูกยุบ กลายเป็นตําแหน่งอธิการบดี ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาดํารงอยู่เมื่อ 2495-2500/1952-1957 หรือแม้แต่จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ยังเข้ามาดํารงตําแหน่งนี้ระหว่าง 2503-2506/1960-1963 ดังนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแต่เพียงผู้เดียว และไม่เคยดํารงตําแหน่งอธิการบดีเหมือนอย่างบุคคลอื่น ๆ
ในช่วงระยะเวลา 15 ปีแรกของ ม.ธ.ก. นั้น ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับ ฯพณฯ ปรีดี อาจแบ่งได้เป็น 3 หัวข้อ ซึ่งจะขอบรรยายตามลําดับ ดังนี้
(1) ปรัชญาในการสถาปนามหาวิทยาลัย
(2) การบริหาร การเรียน และการสอน (ธ.บ. และ ต.ม.ธ.ก.)
(3) ชีวิตและวิญญาณของธรรมศาสตร์
ปรัชญาของการสถาปนามหาวิทยาลัย
วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
หากจะเท้าความย้อนกลับไปในอดีตให้ไกลหรือพยายามหาความต่อเนื่องตามประเพณีของศาสตร์ว่าด้วยประวัติ และสิ่งที่นักประวัติศาสตร์มักจะชอบทํากัน (ประเภทจากภูเขาอัลไตถึงอาณาจักรน่านเจ้า เรื่อยมาถึงสุโขทัย อยุธยาแล้วก็รัตนโกสินทร์) เรามักจะได้ยินกันว่าธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่สืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายมีกําเนิดควบคู่กับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งเกิดในยุคสมัยเดียวกันกับโรงเรียนนายร้อยทหารบก (จปร.) และโรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมายนั้นตั้งในปี 2440/ 1897 ส่วนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตั้งในปี 2442/1899 ทั้งสองสถาบันเป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษา “ด้านพลเรือน” โรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2459/ 1916 ส่วนโรงเรียนกฎหมายก็ยังดํารงสถานะเดิมอยู่เรื่อยมา กว่าจะได้รับการยกฐานะก็อีกเกือบ 2 ทศวรรษให้หลัง (แต่ก็ต้องถูกยุบไปรวมกับจุฬาฯ อยู่ใน ระยะเวลาสั้น ๆ อยู่ 1 ปี เมื่อ 2476/1933)
นั่นเป็นสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่า เป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ จากโรงเรียนกฎหมาย กลายเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว ม.ธ.ก. ก็ถือได้ว่า เป็นทั้ง “ความแปลก” และ “ความใหม่” ของการศึกษาสยาม/ไทย ทั้งนี้ หากจะพูดให้ตรงแล้ว ม.ธ.ก. ถือได้ว่าเป็นผลพวงหรือ “คู่แฝด” ของการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475/ 1932 อย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่มี 24 มิถุนายน 2475/1932 ก็อาจจะไม่มี 27 มิถุนายน 2477/1934 (วันสถาปนา ม.ธ.ก.) ถ้าหากเราจะดูจาก “คําประกาศของคณะราษฎร” ในวันยึดอํานาจได้กล่าวว่า การที่ “ราษฎร” ยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ (ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย) นั้น “เป็นเพราะขาดการศึกษาที่เจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่” ดังนั้น ในนโยบายหรือสิ่งที่เรียกว่า “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร ก็มีข้อหนึ่งที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ซึ่งมีผลทําให้ต้องตั้ง ม.ธ.ก. ขึ้นมานั่นเอง
เมื่อมองในแง่นี้ การสถาปนา ม.ธ.ก. ในปี 2477/1934 ก็มาจากหลักประการที่ 6 ของคณะราษฎรกําเนิดมาควบคู่กับการปกครองในลักษณะใหม่ เมื่อประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีประชาธิปไตย ก็ต้องมีสถาบันการศึกษาแบบใหม่ อันนี้จึงเป็นหลักปรัชญาพื้นฐานในการก่อตั้งเป็นหลักการของการ “เปิด” คือ เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทําให้เกิดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน การเปิดและกฎเกณฑ์ที่แน่นอนนี้เป็นลักษณะที่สําคัญที่สุดลักษณะหนึ่งของสังคม ประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม “ปิด” เป็นความเลวร้ายของอํานาจนิยมและเผด็จการ
ในแง่ของการเปิดและการมีเสรีภาพนั้น อยากนําความรู้สึกของ “ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรก” ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ คือ คุณหญิงบรรเลง (กันตะบุตร) ชัยนาม เมื่อถามท่านว่า ประทับใจอย่างไรบ้างเมื่อเข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ในตอนนั้น และจบเป็น ธ.บ. หญิงคนแรก เมื่อ 2478/1935 ท่านตอบว่า
“เอ ตอบยาก อาจจะประทับใจความมีเสรีภาพในการเล่าเรียน เป็นตลาดวิชา แล้วก็ให้เสรีภาพเสมอภาคกัน ให้เรียนวิชาต่างๆ ที่อยากรู้ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะอะไรอย่างนี้ เข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจ อย่างบางโรงเรียนก็อาจมีเข้าไปแล้วแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่ธรรมศาสตร์ให้ความเสมอภาคกันหมด สบายใจ วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่รักและสนใจ”
ถ้าเราจะดูจากคํากล่าวของท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวในวันที่ 27 มิถุนายน 2477/1934 อันเป็นวันสถาปนา ม.ธ.ก. ณ ที่ตั้งเก่าของโรงเรียนกฎหมาย (ถนนราชดําเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ซึ่ง ม.ธ.ก. ตั้งอยู่ ณ ที่นั่น 2 ปี 2477-2479/1934-1936 ก่อนจะย้ายมาซื้อที่ดินได้ที่วังหน้า ท่าพระจันทร์ ตึกเก่าจึงกลายเป็นกรมโฆษณาการและกรมประชาสัมพันธ์ไปในที่สุด และถูกประชาชนเผาเสียราบเมื่อเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535/1992) นั้น ท่านได้กล่าวไว้ว่า
“การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ําตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอํานวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจําต้องมีสถานศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกขั้น”
ท่านพูดต่อไปอีกว่า
“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ํา บําบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจําเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”
นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่ากําเนิดของ ม.ธ.ก. มีผลมาจากแรงผลักดันของอดีตนักเรียนโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กล่าวคือ ในปี 2476/1933 สมัยรัฐบาลอนุรักษ์นิยมช่วงเปลี่ยนผ่านของนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้ถูกโอนไปขึ้นกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ 1 ปี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่โรงเรียนอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงของตนเสมือนถูกยุบให้ละลายหายไปแทนที่จะได้เลื่อนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยจึงมีผลผลักดันให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวให้มีการก่อตั้ง ม.ธ.ก. ขึ้น
ในเรื่องนี้มีบันทึกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนกระแสและพลังของนักเรียนกฎหมาย ในตอนนั้นเป็นอย่างดี คือ การบันทึกของคุณสงัด ศรีวณิก (ธรรมศาสตร์บัณฑิตปี 2481) คุณสงัด ศรีวณิก บันทึกไว้ในหัวข้อ “โดมรําลึก” ว่า
“ครั้นภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อมิถุนายน 2475/1932 แล้วพวกเราประมาณ 4-5 คน ซึ่งเป็นนักเรียนกฎหมายอยู่ในเวลานั้นได้ไปเยี่ยมท่านอาจารย์ หลวงประดิษฐ์ฯ เพิ่งหายจากการป่วยไข้หวัด เราได้สนทนาและปรารภกันถึงฐานะของโรงเรียนกฎหมายซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาชั้นสูง ควรจะได้รับการสถาปนาให้เป็นมหาวิทยาลัยบ้างหรือไม่ เพราะในขณะนั้น สถาบันชั้นอุดมศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยก็มีเพียงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เพียงแห่งเดียว ท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ เห็นพ้องด้วยและรับว่าจะดําเนินการหาทางปรับปรุงโรงเรียนกฎหมายต่อไป”
กล่าวโดยย่อ ม.ธ.ก. ก็เป็นผลพวงของการปฏิวัติ 2475/1932 ที่บรรจบพอดีกับกระแสของนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการผลักดันยกฐานะของโรงเรียนของตนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเปิดกว้างเป็น “ตลาดวิชา” ที่น่าสนใจ ก็คือ ทันทีที่เปิดมหาวิทยาลัยในปี 2477/1934 นั้น มีคนสมัครเข้าเรียนเป็นจํานวนมากมายมหาศาลและล้นหลามถึง 7,094 คน (แน่นอนส่วนหนึ่งคือผู้ที่โอนมาจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาฯ หรือนักเรียนโรงเรียนกฎหมายเก่านั่นเอง) แต่ส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่จบมัธยมบริบูรณ์ (มัธยม 8 ในสมัยนั้น) ซึ่งสามารถเข้าได้ทันที ข้อนี้ไม่ประหลาดอะไรเพราะ ม.ธ.ก. เป็นตลาดวิชา แต่ถ้าเราดูไปถึงคนที่สามารถสมัครเข้าได้นั้นจะรวมถึงข้าราชการตั้งแต่เสมียนขึ้นไป (ถ้าผู้บังคับบัญชารับรอง) อันนี้ทําให้เกิดการกระจายและเปิดกว้างของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ผู้ที่สมัครเข้าได้ทันที อีกพวกหนึ่ง ก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (รุ่นแรกจากการเลือกตั้ง 2476/1933) ผู้แทนตําบล เป็นต้น
จํานวนผู้สมัคร 7,094 คนนั้น ชี้ให้เราเห็นถึงความต้องการการศึกษาในระดับสูงมาก กล่าวได้ว่า ในทศวรรษ 2470/1927 นั้นมีคนจํานวนหนึ่งรอจะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาค่อนข้างหนาแน่น แต่หลังจากนั้นจนถึงประมาณปี 2490/1947 นักศึกษาที่สมัครเข้า ม.ธ.ก. จะมีจํานวนคงที่และปานกลาง คือ เพียงประมาณ 500 คนต่อปี อนึ่ง ถ้าเราดูจากคนที่สมัครเข้ามาใน ม.ธ.ก. เราอาจพูดได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง หรือกระฎุมพีในเมือง หรือหากใช้ศัพท์ของท่านปรีดี พนมยงค์ ก็บอกได้ว่า เป็น “ชาวบุรี” สะท้อนให้เห็นคลื่นหรือแรงผลักดันในการที่มีความต้องการการศึกษาของคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ชะงักงันหรือรอมาเป็นเวลานาน แล้วก็สบโอกาสในการเลื่อนสถานภาพของตนที่มาพร้อมกับหลักประการที่ 6 ของคณะราษฎร
ขอแทรกข้อมูลบางประการไว้ตรงนี้ว่า ช่วงปี 2475-2477/1932-1934 นั้น ประเทศสยาม (ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อทางการเป็นประเทศไทยจนกระทั่ง 2482/1939) มีประชากร 12 ล้านคน มีนักเรียนระดับประถมและมัธยม 794,602 คน (ต่ำกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด ในจํานวนนี้มีทั้งนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมปลาย ม.7-8 เดิม) เพียง 2,206 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมากสมัยนั้น กรุงเทพมหานครมีประชากรเพียง 5 แสนคน ในปี 2475/1932 จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวมีผู้จบการศึกษาเพียง 68 คน ฉะนั้น การที่ทันทีที่เปิด ม.ธ.ก. มีนักศึกษาถึง 7,094 จึงนับเป็นปรากฏการณ์ที่สําคัญมากของการศึกษาไทย
นอกเหนือจากปรัชญาในการก่อตั้งในแง่ของประชาธิปไตยแล้ว ยังเห็นว่ามีปรัชญาที่เน้นในเรื่องของกฎหมายหรือ “หลักนิติธรรม" (RULE OF LAW) อีกด้วย ทั้งนี้เพราะการปฏิวัติ 2475/1932 ต้องการสถาปนากฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเป็นหลักอยู่เหนือบุคคล แน่นอน ม.ธ.ก. มาจากโรงเรียนกฎหมาย การศึกษาเน้นหนักด้านกฎหมายจึงไม่ประหลาดอะไรนัก แต่เดิมมีหลักสูตร 2 ปีระดับประกาศนียบัตร เมื่อเกิด ม.ธ.ก. เปลี่ยนเป็นระดับปริญญาหลักสูตร 3 ปี มี 6 ภาคการศึกษา ลักษณะของธรรมศาสตร์ในตอนนี้ยังเน้นด้านกฎหมายอย่างมากเป็นมรดกตกทอดมาจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม
การตั้งสถาบันการศึกษาของไทยในระยะเริ่มแรกนั้นเป็นเรื่องของหน่วยราชการที่จะสร้างคนขึ้นมาใหม่เพื่อป้อนหน่วยงานของตนเอง สถาบันการศึกษาในระยะเริ่มแรกจึงมีลักษณะเป็นสายวิชาชีพนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างด้านการปกครองก็เป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้านการเกษตรก็เป็นโรงเรียนด้านการเกษตร (ที่จะกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ด้านศิลปะก็เป็นโรงเรียนประเภทช่างศิลป์ (ที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) ด้านแพทย์ก็เป็นโรงเรียนแพทย์ (ที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) ฯลฯ รวมไปถึงบรรดาโรงเรียน ทหารบก-เรือ-อากาศ- ตํารวจทั้งหลาย ม.ธ.ก. ก็มีลักษณะกลายพันธุ์มาดังนี้ แต่ก็มีลักษณะกลายพันธุ์ที่ แปลกและใหม่เช่นกัน
เมื่อดูจากวิชาที่เรียนกันใน ม.ธ.ก. มีการเรียนวิชาธรรมศาสตร์ ในความหมายของกฎหมายทั่วไป เน้นในการเรียนกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่และสําคัญในเมืองไทยยุคของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าก่อนสมัยใหม่ (PRE-MODERN) สู่สมัยใหม่ เข้าใจว่า ท่านที่ศึกษาและคุ้นเคยกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4, 5, 6 คงจะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากของสังคมไทยในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความยังเป็นแบบสังคมศักดินาอยู่ คือ พิสูจน์ด้วยการดําน้ำ ลุยไฟ ตลอดจนวิธีการจองจําหรือการไต่สวนอย่างทรมานทรกรรม ดังนั้น หากจะได้รับการยอมรับว่า เป็น “อารยะ” เท่าเทียมกับนานาประเทศจะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติหรือกฎหมายต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ใช้แทนกฎหมายเก่าที่เรามีอยู่ทั้งหมด
ดังนั้น ลักษณะของการเรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เน้นเรื่องกฎหมายอย่างที่กล่าวมาแล้ว มีการเรียนกฎหมายทั่วไป กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา แต่ที่ใหม่เข้ามาตอนนั้น ก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ แน่นอนเมื่อธรรมศาสตร์เกิดมาหลัง 2475/1932 กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่เดิมต้องแอบแฝงอยู่ในกฎหมายปกครองในสมัยราชาธิปไตยก็สามารถปรากฏตัวออกเป็นวิชาอิสระของตัวเองได้ ไม่ต้องแอบอิงอยู่กับกฎหมายปกครองอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิชาต่าง ๆ นอกเหนือจากกฎหมายอีก วิชาเหล่านี้เป็นวิชาต้องห้ามไม่มีการสอนในสมัยราชาธิปไตย เช่น วิชาลัทธิเศรษฐกิจ วิชาเศรษฐศาสตร์ สรุปแล้วการศึกษาเน้นที่กฎหมายก็จริง แต่ก็ขยายกว้างกว่าเดิมมีวิชาอื่น ๆ ที่ต้องห้ามประกอบด้วย
หลักสูตรปริญญาตรีของธรรมศาสตร์นั้นมีปริญญาเดียว คือ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อวันเปิดมหาวิทยาลัย คือ วันที่ 27 มิถุนายน 2477/1934 นั้นมีสูจิบัตรแจก เป็นสูจิบัตรพิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีกรุงชื่อว่า “แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (ดูเอกสาร ดังกล่าวที่ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุงและนํามาพิมพ์ใน ธรรมศาสตร์ 50 ปี)
หมายความว่าเมื่อเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นมีโครงการถึงปริญญาเอก แล้วก็ดําเนินการไปเลย ในปริญญาตรีอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า มีปริญญาเดียว คือ ธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) ปริญญาโทแตกออกไปเป็นนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ (ส่วนทางด้านการบัญชีนั้นต่อมาจะมีประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี เทียบเท่าปริญญาโท) ในระดับปริญญาเอกก็มี 4 แขนงเช่น เดียวกัน คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต ในระดับปริญญาตรีและโทนั้นมีการเรียนการสอน ส่วนในระดับปริญญาเอกไม่มีการเรียนการสอน (แบบยุโรป) หลักสูตรปริญญาเอกในช่วงเวลานั้นมีดังนี้
- ให้ทําการค้นคว้าจากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ค้นคว้าจนเป็นที่น่าพอใจ
- ให้แต่งตําราเป็นภาษาไทย ถ้าจะแปลความในสมัยปัจจุบัน ก็คือ เขียนวิทยานิพนธ์ แล้วก็สอบปากเปล่า เมื่อกรรมการพอใจก็ได้รับปริญญาเอกไป
อันนี้เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์มาก ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมา พ.ศ. 2477/1934 มีถึงปริญญาเอกทันที น่าเสียดายที่ต่อมาปริญญาเอกหายไป ได้สัมภาษณ์บุคคลบางคนที่ได้ปริญญาเอก เช่น ดร.บรรจบ อิศดุล ซึ่งเคยสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ ถามท่านว่ามันหายไปไหน ท่านก็บอกไม่ทราบเหมือนกันอยู่ดี ๆ มันก็หายไปดื้อ ๆ เหลือแต่ปริญญาโท ถ้าจะมีปริญญาเอกก็คงต้องมาตั้งต้นกันใหม่ (ดังที่กําลังดําเนินการกันอยู่ในขณะนี้)
กลับไปในเรื่องเกี่ยวกับการที่ธรรมศาสตร์เน้นเรื่องกฎหมาย ทําไมธรรมศาสตร์เน้นกฎหมาย เข้าใจว่า ท่านผู้ประศาสน์การคงมีปรัชญาในการก่อตั้งเพื่อจะวางรากฐานลัทธิรัฐธรรมนูญ แปลความว่า เพื่อขจัดสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น อัตตาธิปไตยหรือคณาธิปไตย โดยให้มี “กฎเกณฑ์” เป็นหลัก หากจะใช้คําเก่าคงบอกว่าให้มี “ธรรมะ” ที่เป็นกฎเกณฑ์ในการปกครองสังคม ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลหรือคณะ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของธรรมศาสตร์จึงมาจากเรื่องกฎหมาย ลองสังเกตดูจะเห็นคําว่า “ธรรมะ” นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของชื่อมหาวิทยาลัยแล้ว ยังจะมีควบคู่ไปกับธรรมศาสตร์อยู่ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องปรัชญาพื้นฐานและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในเรื่องของเพลงมหาวิทยาลัย และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับธรรมศาสตร์ ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ค่อนข้างเป็นนามธรรมที่จะสร้างกฎเกณฑ์ให้กับสังคมไทยสมัยใหม่
ในหัวข้อของปรัชญานี้ เมื่อดูจากการเลือกใช้ชื่อ ธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นชื่อมหาวิทยาลัย เข้าใจว่า นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะบอกถึงปรัชญาของการก่อตั้งได้ ดังที่กล่าวแล้วแต่ตอนต้น ผมในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย “ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” เวลานั้นพยายามที่จะไปสัมภาษณ์ท่านผู้ประศาสน์การว่า ทําไมท่านให้ชื่อมหาวิทยาลัยอย่างนี้ ทําไมเลือกสีเหลืองและแดง ฯลฯ แต่ผมก็มิได้สัมภาษณ์อย่างที่กล่าวแล้ว ดังนั้น จึงต้องอาศัยดูจากเอกสารรอบตัว
ในแง่นี้ ความคิดเรื่องการก่อตั้ง การใช้ชื่อ “ธรรมศาสตร์และการเมือง” นี้มีภูมิหลังอย่างไร คําว่า ธรรมศาสตร์ หมายถึง กฎหมายที่เป็นแม่บทวางระเบียบสังคมสมัยเก่า ท่านปรีดีคงดึงเอามาใช้ในสมัยใหม่ เราเห็นได้ชัดเลยว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นสถาบันแรกที่รวบรวมกฎหมายตราสามดวงที่รวบรวมขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 นํามารวมพิมพ์เป็นเล่มอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก พร้อมทั้งมีคํานําในการจัดพิมพ์ครั้งนั้นโดยท่านผู้ประศาสน์การ กฎหมายตราสามดวงนี้เราก็ทราบดีว่ามี “พระธรรมศาสตร์” เป็นหัวใจของกระบวนกฎหมายทั้งหมด นี่เป็นการดึงเอาสัญลักษณ์ของกฎเกณฑ์ของสังคมเก่ามาใช้ (คําว่า ธรรมศาสตร์ นี้ ในสมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนความหมายไปบ้าง กลายเป็นแปลว่ากฎหมายทั่ว ๆ ไปก็ได้)
ทีนี้เราลองดูอีก ใน “พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2476/1933 มีการแบ่งงานของราชบัณฑิตยสถานเอาไว้เป็น 3 สํานัก
สำนักที่ 1 ธรรมศาสตร์และการเมือง
สํานักที่ 2 วิทยาศาสตร์
สํานักที่ 3 ศิลปกรรม
เห็นได้ชัดว่า คําว่า “ธรรมศาสตร์และการเมือง” นี้ได้ใช้มาก่อนหน้าการตั้งมหาวิทยาลัยแล้ว อยากจะโยงกลับไปว่า วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในความหมายของโลกสมัยใหม่ อาจจะมีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นอิทธิพลของฝรั่งเศส เข้าใจว่า ท่านปรีดีอาจจะใช้ความคิดเดิมเรื่องพระธรรมศาสตร์กับความคิดใหม่ ทั้งนี้เพราะมีสถาบันหนึ่งในฝรั่งเศส ที่เรียกว่า INSTITUT DE FRANCE ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “สถาบันฝรั่งเศส” สถาบันนี้คงจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเพิ่งตั้งขึ้นมา คือ ราชบัณฑิตยสถาน สถาบันฝรั่งเศสแบ่งสํานักของเขาออกเป็น académie มีทั้งหมด 5 (ของเราแบ่งเป็น 3) ดังนี้
- Académie Française
- Académie des Sciences หรือ สถาบันวิทยาศาสตร์
- Académie des Sciences Morales et Politiques ถ้าจะแปลก็คือ สถาบันวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- Académie des Beaux-Arts หรือสถาบันวิจิตรศิลป์
- Académie des Inscriptions et Belles-Lettres หรือสถาบันจารึกและอักษรศาสตร์
สําหรับสถาบันที่ 3 นั้นน่าสนใจ สามารถโยงมาเรื่องธรรมศาสตร์ของเราได้ เพราะชื่อภาษาอังกฤษของธรรมศาสตร์ในตอนแรกมิใช่ Thammasat University แต่เป็น University of Moral and Political Sciences (UMPS) ซึ่งก็คือ Sciences Morales et Politiques นั่นเอง สะท้อนให้ถึงอิทธิพลทางความคิดสมัยใหม่ทางด้านวิชาการจากฝรั่งเศสใน ม.ธ.ก. และในราชบัณฑิตสถานไม่น้อย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์และการเมือง (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2549), น. 10-30.
[1] ผมต้องขอขอบคุณสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่ให้กู้เงินเป็นค่าเครื่องบินเดินทางและค่าใช้จ่ายในการไปร่วมงานศพครั้งนี้ ผมได้กลายเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปโดยมิได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแต่ประการใด
- ปรีดี พนมยงค์
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- ต.ม.ธ.ก.
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- คณะราษฎร
- หลัก 6 ประการ
- ประชาธิปไตย
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- ตลาดวิชา
- มหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม
- ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์
- ธรรมศาสตร์ 50 ปี
- คุณหญิงบรรเลง [กันตะบุตร] ชัยนาม
- สงัด ศรีวณิก
- โดมรำลึก
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- วิชากฎหมาย
- กฎหมายทั่วไป
- กฎหมายแพ่ง
- กฎหมายอาญา
- กฎหมายรัฐธรรมนูญ