ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

บันทึกถึงชีวิตในจีนของ ‘อาจารย์ปรีดี พนมยงค์’

14
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเรื่องราวชีวิตครอบครัวของนายปรีดี พนมยงค์ตั้งแต่ยุคต้นที่ลี้ภัยไปยังจีนผ่านบันทึกความทรงของสุวัฒน์ วรดิลก นักศึกษา ต.ม.ธ.ก. รุ่นที่ 3 และเป็นนักประพันธ์คนสำคัญของสังคมที่มีทั้งงานเขียนแนวนวนิยายประโลมโลกและงานเขียนสะท้อนสังคมและการเมืองไทยในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่พลิกผันในช่วงทศวรรษ 2500-2520 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สุวัฒน์สนใจการเขียนงานสะท้อนปัญหา​สังคมการเมือง อาทิ เรื่อง “พิราบแดง” ที่เขียนค้างไว้ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร​ปี 2501 มาเขียนจนจบ และเขียนเรื่องใหม่ในชุดแผ่นดิน ได้แก่ แผ่นดินเดียวกัน แผ่นดินของเขา ฝากไว้ในแผ่นดิน และเขียนนวนิยายเพื่อสังคมเช่น นกขมิ้นบินถึงหิมาลัย คามาล พิราบเมิน รวมถึงมีงานนิยายสั้นเรื่องพ่อข้าเพิ่งจะยิ้มจนกลายเป็นผลงานสำคัญอีกด้วย
  • สุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย นักหนังสือพิมพ์เพื่อสังคม และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ มีนามปากกาหลากหลายชื่อแต่นามที่รู้จักกันดีคือ "รพีพร" สุวัฒน์ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) ประจำปี 2534 เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งชมรมนักเขียน 5 พฤษภาคม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในด้านชีวิตและ​ครอบครัว สุวัฒน์​เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2466 เป็นบุตรคนที่ 2 ของอำมาตย์โทพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) กับนางจำรัส (ชีวกานนท์) วรดิลก​ โดยสมรสกับเพ็ญศรี พุ่มชูศรี นักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี 2534 แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน สุวัฒน์เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 ด้วยวัย 84 ปี ณ บ้านพักใน อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี
  • ช่วงเวลาสำคัญที่สุวัฒน์ได้พบกับ 'อาจารย์ปรีดี พนมยงค์' คือในปี 2501 สุวัฒน์นำคณะศิลปินไทย เดินทางไปแสดงที่ประเทศจีน ในห้วงยามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารและรัฐบาลไทยขณะนั้นมีนโยบายต่อต้านการปกครองของจีน และยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน​พบปะกับนายปรีดี พนมยงค์​ รัฐบุรุษ​อาวุโสที่จีน เมื่อเดินทางกลับมายังไทยทางจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กวาดล้างจับกุมนักคิดนักเขียนครั้งใหญ่ ส่งผลให้สุวัฒน์ และเพ็ญศรี ภรรยาถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาหนักโดยเพ็ญศรีได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อน ส่วนสุวัฒน์ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2505 คือถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 4 ปี หากระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้น สุวัฒน์​ได้เขียนนิยาย บทละครโทรทัศน์ และบทละครวิทยุอย่างต่อเนื่อง

นายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัว ระหว่างที่อยู่ในจีน

 

อาจารย์ปรีดีฯ เป็นขุนนางในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สําเร็จเนติบัณฑิตไทยและ “ด็อกเตอร์ อังครัวร์” จากฝรั่งเศส และออกจากบรรดาศักดิ์เป็นนายปรีดี พนมยงค์ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นครองอํานาจสืบต่อมาจาก พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาแล้วต่อมาให้เลิกบรรดาศักดิ์ทั้งหมด แต่ในภายหลังอนุญาตให้ใช้บรรดาศักดิ์ เป็นนามสกุลได้ อาจารย์ปรีดีเป็นคนหนึ่งที่ไม่ขอใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล คงใช้นามสกุลเดิมตลอดมา

แต่ผู้สันทัดกรณีบางท่านบอกว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นัยว่าท้าพนันกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นว่าใครจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน ปรากฏว่าพระยามโนฯ ไม่ยอมถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ ผมรู้จักอาจารย์ปรีดีฯ ใน ๒ สถาน ๆ หนึ่งท่านเคยรู้จักชอบพอกับพ่อ ซึ่งเป็น “เนติบัณฑิต” ก่อนอาจารย์ ปรีดีฯ ๒ รุ่น อีกสถานหนึ่งท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ ที่ผมเข้าไปศึกษา แต่ไม่เคยสอนผม หรือพูดอีกที ผมเข้าเรียนไม่ทันยุคที่ท่านสอน แต่ก็ทันฟังโอวาทจากท่านบ่อยๆ ตั้งแต่เปิดภาคเรียนภาคแรกของ “ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๓” เป็นต้นมา

พ่อยกย่องเสมอว่าอาจารย์ปรีดีฯ เป็นคนเดียวใน “คณะราษฎร” ที่กระทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้อาศัยสาเหตุอื่นมาเป็นพลังผลักดันเหมือนคนอื่น ๆ ซึ่งบางคนน้อยอกน้อยใจที่พลาดตําแหน่งสําคัญของราชการ เพราะตกไปเป็นของพวกเจ้าเสียหมด บางคนก็เห่อเหิมทะเยอทะยานอยากได้ลาภได้ยศ บางคนก็เจ็บแค้นใจที่ได้รับการกดขี่หรือความเหลื่อมล้ำต่ําสูง แต่อาจารย์ปรีดีฯ คิดและกระทําด้วยอุดมคติเพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้รับระบบปกครองที่ได้รับความเป็นธรรมแก่สังคมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

อาจารย์ปรีดีฯ อยู่ในตําแหน่ง “มันสมอง” ของ “คณะราษฎร” หรือนัยหนึ่ง “มันสมอง” ของชาติในยุคนั้น เพราะท่านมีสมองปราดเปรื่อง มีความคิดริเริ่มและมีความรู้รอบด้านวิชากฎหมาย และด้านการปกครอง ผลงานของท่านที่ปรากฏออกมาเป็นไปในลักษณะ “สร้างสรรค์” โดยตลอดเมื่อรับตําแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง มหาดไทย ท่านได้สร้างระบบการปกครองท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “เทศบาล” ขึ้นมาใช้กันกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อรับตําแหน่งกระทรวงการต่างประเทศ ก็แก้ไขสัญญาที่ประเทศไทยทําไว้กับนานาประเทศ ในลักษณะ “เสียเปรียบ” ให้เท่าเทียมกันในสิทธิ เมื่อเข้ารับตําแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้มีการเลิกภาษีรัชชูประการ ซึ่งเรียก เก็บจากชายฉกรรจ์ทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ปีละ ๖ บาท มาใช้ประมวลรัษฎากรฯเรียกเก็บภาษีจากสิ่งอื่นแทน อาทิ อากรมหรสพ, อากรบุหรี่, ไม้ขีดไฟ ฯลฯ ซึ่งใครใช้มากก็เสียมาก และเสียโดยทั่วหน้ากัน ไม่เลือกเพศหรือวัย รายได้ของรัฐจึงถีบตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้ จากภาษีรัชชูประการหลายเท่า

ในระยะที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงครามไทยเข้าร่วมรบรุกกับฝ่ายอักษะประเทศซึ่งมีเยอรมันกับญี่ปุ่น เป็นผู้นําประเทศไทย ถูกยึดครองโดยทหารญี่ปุ่น อาจารย์ปรีดีฯซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สําเร็จราชการแผ่นดินได้ก่อตั้งขบวนการกู้ชาติขึ้น ในชื่อ “ขบวนการเสรีไทย” ดําเนินการต่อต้านญี่ปุ่น และประกาศตัวเป็นฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยพ้นจากฐานะประเทศแพ้สงครามเมื่อเยอรมันกับญี่ปุ่นพ่ายแพ้ไป และมีผลทําให้เพื่อนร่วมคณะก่อการ ๗๕ ของท่านหลายครอดพ้นจากการถูกนําตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงโตเกียว ในฐานะอาชญากรสงคราม แต่ต่อมาเพื่อนของท่านเหล่านั้นก็ร่วมมือกัน “สนองน้ําใจ” ท่านด้วยการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และนําเอาคดีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ ออกมาเป็นเครื่องมือน้ำนั่นทําลายอาจารย์ปรีดีฯ จนย่อยยับ และกลายเป็น “รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน” ไปในที่สุด

ครั้งมีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดน (อินโดจีน) คืนมาจาก ฝรั่งเศสนั้น ผมยังเป็นนักศึกษาโรงเรียนเตรียมปริญญาฯ ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๓) จําได้ว่านักศึกษาธรรมศาสตร์กําลังเดินขบวน อาจารย์ปรีดีฯ ทราบเข้า ท่านรีบรุดมาพบพวกเราเรียกนักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย และ “เตรียมปริญญาฯ” ขึ้นไปพบในห้องประชุม (เล็ก) ของมหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสเข้าไปนั่งฟังแถวหน้าใกล้อาจารย์ปรีดีฯ มากที่สุด

ท่านชี้แจงเหตุผลว่ายังไม่ควรเดินขบวน การเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสควรกระทําการทางศาลโลกและด้วยสันติวิธี ไม่ใช่การข่มขู่ด้วยการเดินขบวน ท่านบอกว่า

เหตุการณ์ที่ปรากฏก็เหมือนหนึ่งเพื่อนท่านชิงเอาปากกา ของท่านไปเขียน ท่านอยากได้คืน แต่เพื่อนท่านใหญ่โตมีกําลังกว่าท่าน ท่านก็ไม่กล้า ต่อมาเพื่อนท่านเจ็บไข้ได้ป่วยร่างกายทรุดโทรมลง ท่านเจรจากับเขาดี ๆ เพื่อนของท่านก็อาจคืนปากกาให้ท่าน แต่ถ้าท่านข่มขู่เขาอย่างได้ที่เขาอาจคืนปากกาให้ท่านอย่างจําใจ แต่เขาก็มีใจอาฆาตว่า สักวันหนึ่งเขากลับแข็งแรงกว่าเก่า เขาจะต้องเอาปากกาด้ามนั้นคืนไปจากท่านเป็นแน่ การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนก็เหมือนกัน เป็นการข่มขู่ฝรั่งเศสในยามที่ฝรั่งเศสแพ้สงครามในยุโรป ฝรั่งเศสอาจยินยอมยกดินแดนคืนให้เราด้วยความจําเป็น เพราะเขาหมดกําลังแล้ว แต่วันหน้าฝรั่งเศสกลับมีกําลังขึ้นมา เขาจะต้องเอาดินแดนที่ให้เรามาคืนกลับไปอีกแน่นอน

สรุปแล้วอาจารย์ปรีดีฯ ไม่ต้องการให้เดินขบวน ต้องการให้ไทยดําเนินการตามศาลโลก ซึ่งเมื่อศาลโลกตัดสินเด็ดขาดไปแล้วแม้ฝรั่งเศสจะชนะสงครามภายหลังก็ไม่มีผลอะไร ไทยเรายังมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเหล่านั้น

แต่ความคิดของอาจารย์ปรีดีฯ ไม่ตรงกับความคิดของพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความใฝ่ฝันที่จะเป็น “ผู้นํา” อย่าง “ฮิตเลอร์” หรือ “มุสโสลินี” ดังนั้นการเดินขบวนจึงเกิดขึ้น โดยนิสิตและนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ของจุฬาก่อนจนได้ธรรมศาสตร์กลัวน้อยหน้าจึงเดินบ้าง แต่นักศึกษาที่เชื่ออาจารย์ปรีดีฯกลับบ้านไม่ยอมเดินหลายคน (รวมทั้งผมด้วย)

สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจึงอุบัติขึ้น ฝรั่งเศสเปลี้ยจากสงครามยุโรปเต็มที่แล้ว ไทยเราจึงได้ดินแดนคืนมาบ้างภายใต้การไกล่เกลี่ยชี้ขาดของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงคราม ได้ความชอบด้วยตําแหน่ง “จอมพล” คนแรกในยุคประชาธิปไตย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตร ได้กลายเป็น “ผู้ชนะสงคราม” เป็น ๑ ใน ๕ ประเทศที่ควบคุมโลก ในขณะนั้น (อเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน) ไทยเราก็จําต้องมอบดินแดนที่รบพุ่งชิงเอามาคืนกลับไปให้ฝรั่งเศสอีกครั้งตรงตามคําของอาจารย์ปรีดีฯ ทุกประการ

ดินแดนได้มาต้องคืนเขาไป สิ่งที่ไม่อาจคืนได้ก็คือชีวิตทหารไทยที่ล้มตายในสมรภูมิอินโดจีน และยศ “จอมพล”๓ กองทัพของ “ป. พิบูลสงคราม” เพราะท่านครอบครองเอาไว้กระทั่งไปนอนตาย ในห้องน้ําเมืองโตเกียว เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วมานี้เอง

ผมไม่มีโอกาสพบอาจารย์ปรีดีฯ อีกเลย จากการพบในเมืองไทยครั้งหลังสุด เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นผู้สําเร็จราชการ พ่อฝากผลไม้จากหลังสวนมา ๒ ชะลอมใหญ่ ผมนําไปให้ท่าน และสนทนากับท่านและ “ท่านผู้หญิง” ที่ศาลาริมน้ําในทําเนียบท่าช้างได้ราวๆครึ่งชั่วโมง ผมได้พบท่านอีกเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๐ ที่หอวัฒนธรรมนครกวางตุ้ง (จีนแดง) ตอนนั้นผมได้รับเชิญให้พาศิลปินกลุ่มหนึ่ง เดินทางไปเปิดการแสดงในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นการเดินทางที่ “ไม่อาจเปิดเผย” ได้ ศิลปินนักแสดงทุกคนไม่มีโอกาสรู้ว่าจะต้องเข้าไปแสดงใน “จีนแดง” แม้แต่คนเดียวเพราะผมลงทุน “หลอก” ว่า จะไปแสดงที่ฮ่องกงแล้วถ่ายทําหนังไทยติดมือกลับมาเมืองไทยด้วย ทั้งนี้เพราะเกรงข่าวจะแพร่สะพัดไปก่อน ซึ่งจะมีผลร้ายแรง นอกจากไม่ได้ไปกันแล้ว ผมซึ่งเป็นตัวการจะพลอยถูกจับเข้าคุก

การเชิญครั้งนั้นหนังสือเชิญมาจาก “กรมวิเทศสัมพันธ์” ของจีน หลังจากมีคนมาติดต่อทาบทามผมก่อนแล้ว และผมเดินทางไปพบปะเจรจากับผู้แทนฝ่ายจีน (แดง) ที่ฮ่องกงเมื่อปลายเดือนมีนาคม ศกเดียวกันนั้น

ผมนําศิลปินไปคราวนั้น ๔๒ คน มีพ่อค้าสมทบไปด้วย เพราะเป็นผู้สนับสนุนการเงิน ทั้งค่าฝึกซ้อมและค่าเดินทาง (สายการบินแอร์ อินเดีย) ออกเดินทางในยามวิกาล เวลา 09.00 น. ของวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๐

ย้อนเข้าสู่ปัญหาที่ว่า ผมมีเหตุผลอะไรจึงยอมรับคําเชิญของ “จีนแดง” นํานักแสดงไทยจํานวนไม่น้อยไปเปิดการแสดงที่นั่น ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นคําว่า “จีนแดง” มีความหมายเสมือนเป็น “ผีห่าซาตาน” ของรัฐบาลไทย (ซึ่งทําตัวเป็นสมุนสหรัฐฯ อย่างไม่ลืมหูลืมตา)

ผมเป็นคนจีนหรือมีเชื้อจีนอย่างนั้นหรือ จึงเกิดความนิยมชมชื่นจีน ขอตอบว่าผมเป็นคนไทย ถ้าจะมีเลือดผสมก็ไม่ใช่เลือดจีน แต่เป็นเลือดแขก ปู่ทวดของผมมาจากแม่น้ําพรหมบุตร นามสกุลแรกที่ปู่ทวดได้รับพระราชทานก็คือ “พรหมบุตร” มีความจําเป็น ต้องเปลี่ยนมาเป็น “วรดิลก” ก็เนื่องด้วยความจําเป็นทางการเมืองแท้ ๆ

เลือดแขกแม่น้ําพรหมบุตรจากอินเดียผสมกับลูกไทยพื้นเมืองปักษ์ใต้เกิดมาเป็นทวด ต่อมาเป็นปู่ กระทั่งถึงพ่อผม ดังนั้นการตัดสินใจพาศิลปินไป “จีนแดง” จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์

ถ้าเช่นนั้นผมมีความโน้มเอียงไปทางลัทธิ “มาร์กซ์-เลนิน” อย่างนั้นหรือ ขอปฏิเสธว่า “หามิได้” ความคิดของผม “เผยอระดับ” ขึ้นมาได้เพียง “สังคมนิยม” อย่างอ่อน ๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่ผลักดันจิตใจของผมอย่างแรง น่าจะได้แก่ความสงสัยใคร่รู้และความรักในความเป็นธรรม

ความสนใจของผมต่อจีนเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ สิ่งที่ดลความสนใจให้เกิดส่วนใหญ่ ได้แก่ หนังสือพงศาวดารจีน ซึ่งผมแสวงมาอ่านเองบ้าง รับจ้างคนแก่คนเฒ่าที่อ่านหนังสือไม่ออกอ่านให้ฟังหลายสิบเรื่อง บางเรื่องผมจําขึ้นใจเพราะอ่านซ้ำอ่านซาก อาทิเรื่อง “สามก๊ก” “ไซ่ฮั่น” “หลีบิ่น” “ซิยิ่นกุ้ย” และ “อันปัง ก๊กจี่” ฯลฯ

วิชาภูมิศาสตร์ที่ร่ําเรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ สอนให้จดจําว่าประเทศ จีนแผ่นดินกว้างใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในโลก เฉลี่ยประชากร ทุกๆ ๕ คนในโลก จะมีคนจีนแทรกอยู่ด้วย ๑ คน จากเด็กมาจนถึงเป็นหนุ่มใหญ่สู่วัยกลางคน จนย่างปัจฉิมวัยอยู่ในขณะนี้ จํานวนประชากรของประเทศจีนก็ยังคง “มากที่สุด” ในโลกเหมือนเดิม ปัจจุบันประเทศจีนมีพลเมืองถึงประมาณ ๘๐๐ ล้านคน ปกครองโดยระบบสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีสมาชิกพรรคเป็นจํานวนประมาณ ๒๘ ล้านคน (รายงานการเมืองในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ทั่วประเทศครั้งที่ ๑๐ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๖)

ผมรู้จักชื่อเสียงของจอมพล เจียงไคเชค ตั้งแต่อายุ ๑๓-๑๔ จากหนังสือเรื่อง “กบฏเมืองซีอัน” ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทย ยกย่องเกียรติคุณของเจียงไคเชคกับมาดามซุงเมหลิง ผู้เป็นศรีภรรยา หนังสือเล่มนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เจียงไคเชค ถูกจางซูเหลียง นายทหารใต้บังคับบัญชาออกอุบายจับเอาตัวไปขังไว้ที่เมืองซีอัน และมาตามซุงเมหลิง ไปเจรจาจนฝ่ายจับกุมปล่อยตัวเจียงไคเชคออกมา ผมอ่านแล้วพลอยเลื่อมใสเจียงไคเชค กับภรรยาไปกับผู้อ่านคนไทยอื่น ๆ จํานวนมาก (ราว ๆ พ.ศ. ๒๔๗๔-๘๐)

แต่แล้วมาทราบความจริงภายหลังว่า การจับกุมเจียงไคเชค ครั้งนั้นเป็นการกระทําของนายทหารจีนผู้รักชาติ ต้องการบังคับให้เจียงไคเชค สู้กับญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามายึดครองแมนจูเรียเอาไว้ทั้งหมด การปล่อยตัวเจียงไคเชคครั้งนั้นก็หาได้เกิดจาก “ลิ้นสาลิกา” ของมาดามซุงเมหลังไม่ หากเกิดจากฝ่ายจับกุมซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ร่วมงานอยู่ด้วย เล็งเห็นว่า เจียงไคเชค ยังเป็นที่เชื่อถือยกย่องของชาวจีนทั่วประเทศ ขอเพียงให้เจียงไคเชค ให้สัญญาจะร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น

ซึ่งอาจเป็นผลสําเร็จเพราะเกียรติคุณชื่อเสียงของเจียงไคเชคยังดีอยู่ ผลต่อมากลับปรากฏว่า เจียงไคเชค ตอบแทนพวกนายทหารและประชาชนผู้รักชาติเหล่านั้นด้วยการทรยศจับกุมเอาจาง ซูเหลียงไปขังไว้จนตาย และสังหารนายทหารใหญ่ๆเสียหลายคนพร้อมกับระดมปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แทนการปราบญี่ปุ่น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น ญี่ปุ่นร่วมกับฝ่ายเยอรมันสู้กับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีอเมริกา, รัสเซีย, อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นผู้นํา เมื่อสงครามสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของเยอรมันและญี่ปุ่น (พ.ศ. ๒๔๘๘) ประวัติศาสตร์ของจีนก็เปลี่ยนไป พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะในการปราบปรามพวกปฏิกิริยาก๊กมินตั๋ง ซึ่งนําโดยเจียงไคเชคอย่างเด็ดขาด เจียงไคเชค ซึ่งมีแต่ถอยร่นจากเหนือลงใต้ เอาแต่โฆษณาชวนเชื่อแก่ชาวโลกอยู่เรื่อย ๆ ก็บินหนีเอาชีวิตรอดไปอยู่เกาะไต้หวัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาในประเทศ และตั้งรัฐบาลขึ้นเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ (ค.ศ. ๑๙๔๙ เรียกระบอบ “สาธารณรัฐประชาชนจีนในการนําของเหมา เจ๋อ ตุง”

จีนกับไทยมีสัมพันธภาพต่อกันมาด้วยดีตั้งแต่ครั้งโบราณกาล คนจีนอพยพหนีความอดอยากยากแค้นมาอยู่เมืองไทยมากกว่าที่อื่น ส่วนใหญ่ในลักษณะ “เสื่อผืนหมอนใบ” แล้วมากลายเป็นเจ้าสัวทีหลังมากมายนับจํานวนไม่หวาดไหว กระทั่งระยะหลัง ๆ (โดยเฉพาะหลังสงคราม ๒๔๘๘) โอกาสที่จะได้เป็นเจ้าสัวน้อยลง “เสื่อผืน หมอนใบ” ที่อุตส่าห์หอบมาจากเมืองจีนกลับต้องใช้ห่อศพคนจีน หลายคนลอยแม่น้ําไปตามยถากรรม เพราะระบบเศรษฐกิจแบบ เสรีนิยม ยิ่งนานไปคน “มือยาว” ยิ่งสบาย คน “มือสั้น” ยิ่งลําบาก

และเมื่อจีนเปลี่ยนระบบปกครอง รวมทั้งบุคคลชั้นนําในการปกครองเสียใหม่ คนจีนที่อพยพมาเมืองไทย แทนที่จะเป็นคนยากจนหนีความอดอยากมาสร้างเนื้อสร้างตัว กลับกลายเป็นคนมั่งมีหอบทรัพย์สินเงินทองเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย โดยข้ออ้าง “เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์” ส่วนคนจีนที่ยากจนกลับรักบ้านเมืองของเขาพวกเขาพอใจกับระบบปกครองของคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งช่วยให้พวกเขาพ้นความอดอยากยากแค้นไปได้อย่างสิ้นเชิง ยิ่งนานวันคนจีนยากจนก็ไม่ยอมอพยพจากแผ่นดินที่รักของเขาเสียอีกเลย

ในด้านนโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับ “จีนใหม่” ไม่ต้องพูดถึง เพราะนโยบายต่างประเทศของไทยเรา “เกาะขา” และ “ตามก้น” “อเมริกา” อย่างจริงจังตลอดเวลา เมื่ออเมริกายังสนับสนุนรัฐบาลจีนไต้หวันของ เจียงไคเชค ไทยเราก็สนับสนุนด้วย และด้วยอิทธิพลของอเมริกา รัฐบาลจีนไต้หวัน ซึ่งมีประชากรไม่ถึง ๑๐ ล้านคน (ระยะนั้น) เนื้อที่กระจ้อยร่อย กลับเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎบัตรสหประชาชาติสามารถมีที่นั่งอยู่ต่อไปในสหประชาชาติแทนประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่ (ทางภูมิศาสตร์) ไพศาลและประชากรถึง ๖๐๐ ล้านคน (ขณะนั้น) การชี้ “นก” แล้วบอกว่า “ไม้” ให้ประเทศบริวารสนับสนุนเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม้” นับเป็นความสามารถของอเมริกาอย่างหนึ่ง

ไทยเราเคยมีสัมพันธภาพทางการทูตกับประเทศจีนมา เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่แล้วในระดับเอกอัครราชทูต (นายสงวน ตุลารักษ์) เมื่อเจียงไคเชค พ่ายแพ้เหมาเจ๋อตง จีนเปลี่ยนระบบไปสู่การ ปกครองสังคมนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ไทยจึงตัดสัมพันธไมตรีกับจีนแผ่นดินใหญ่ทันที ตัวเอกอัครราชทูตจึงไม่กล้ากลับเมืองไทย ทนอยู่ในเมืองจีนหลายปี โดยมีแต่ข้อหาไม่มีการฟ้องร้องพอกลับมาก็ถูกส่งตัวเข้าคุกลาดยาวไป

การปลุก “ผีคอมมิวนิสต์” ซึ่งรัฐบาลอเมริกาเริ่มก่อน รัฐบาล ไทย “ปลุก” ตามการต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” โดยเฉพาะ “จีนแดง” จึงเป็นไปอย่างเข้มงวดจริงจัง “คอมมิวนิสต์” จึงกลายเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นผู้ทําลายศาสนา พระมหากษัตริย์ (โปสเตอร์โฆษณาและ ยี่เกต่อต้านของกรมประชาชาสัมพันธ์) เพื่อต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” รัฐบาลจัดส่งทหารไทย ไปรบเกาหลี, เวียดนาม, ลาว และเขมร ทหารที่เสียชีวิตไม่ใช่เพื่อปกป้องประเทศชาติหรือแผ่นดินปิตุภูมิ กลับเสียชีวิตเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามนโยบายของอเมริกาไปเป็นจํานวนหมื่น แม้กระนั้นก็ไม่อาจเอาชนะโดยปราบปราม “คอมมิวนิสต์” ให้สงบราบคาบได้ อย่าว่าแต่ไทยเราเลย แม้อเมริกาผู้ เป็นหัวโจกในการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ก็ยังพ่ายแพ้พินาศ ทั้งเงินทองและเกียรติภูมิเหลือคณานับ กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีนิกสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ถึงกับยอมบินไปคํานับเหมาเจ๋อตงที่ปักกิ่ง และสหประชาชาติจําต้องอ้าแขนรับ “จีนคอมมิวนิสต์” เข้าไปนั่งในสหประชาชาติ ในฐานะผู้แทนประเทศจีนที่แท้จริง

 

 


คณะศิลปินไทยนำโดยสุวัฒน์ วรดิลกเข้าพบปรีดี พนมยงค์ ในจีน

 

คณะศิลปินไทยถึงนครกวางตุ้ง ๒ โมงเศษ หลังพิธีต้อนรับ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ซึ่งมี “ปู่จ่าง” (เทศาภิบาล) ประจํามณฑล เป็นประธานแล้ว “สนาน” ล่ามประจําตัวผมซึ่งเป็นคนไทย (ผสมจีน) รู้จักชอบพอกับผมมาก่อนตั้งแต่เขายังอยู่ในเมืองไทย บอกผมว่า คนไทยลี้ภัยการเมืองคนหนึ่งอยากพบปะผมและคณะฯ เพื่อเลี้ยงน้ําชาต้อนรับ เมื่อถามว่าเป็นใคร “สนาน” ตอบว่า “ท่านปรีดี พนมยงค์” เขาแนะนําต่อไปว่าเป็นสิทธิของคณะศิลปินไทยที่จะตัดสินใจเอาเองว่าควรไปพบหรือไม่ หากคิดว่าการมาเมืองจีนเพื่อเปิดการ แสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมเพียงด้านเดียว ไม่ต้องการข้องเกี่ยว กับการเมืองหรือนักการเมือง ก็ไม่ควรไปพบ ผมตอบเขาไปในทันทีนั้นว่า “เราจะไปพบท่าน” ขณะนั่งรถมุ่งไปพบอาจารย์ปรีดีฯที่หอวัฒนธรรมประจํามณฑล ซึ่งท่านรออยู่ที่นั่น (ฝ่ายจีนจัดให้) ผมบอก สนานว่าผมต้องการพบ อาจารย์ ปรีดีฯด้วยเหตุผล ๒ ประการแรก ท่านเป็นอาจารย์ผม และศิลปินบางคนในคณะ (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์) อีกประการ ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยมีบุญคุณใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนไทย คณะศิลปินไทยควรมีมารยาทพอที่จะไปเยี่ยมคํานับท่านเป็นการส่วนตัว “ไม่เกี่ยวกับการเมือง”

ศิลปินบางคนพอรู้ว่าจะไปพบอาจารย์ปรีดีฯ เขารู้สึกเหมือนกําลังไปพบเสือหรือมหาโจรตัวฉกาจ แสดงความหวาดหวั่นพรั่นพรึง แอบกระซิบกล่าวหาว่าผมหลอกลวงเขาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะศิลปินผู้นั้นเป็นชายฝ่ายหญิงทุกคนกลับไม่มีใครปริปาก

แต่เมื่อเผชิญหน้ากับอาจารย์ ปรีดีฯ ซึ่งผมขาวโพลนทั้งศีรษะ และฟังคําปราศัยของท่านแล้ว พวกเราทุกคนตื้นตันใจจนพูดไม่ออก ศิลปินที่วุ่นวายใจเมื่อครู่พลอยออกปากสงสารท่านไปด้วย คํากล่าวตอนหนึ่ง ผมจําได้ว่าเสียงท่านเปลี่ยนไปเหมือนมีก้อน อะไรขวางอยู่ในลําคอ และมีผลทําให้ศิลปินบางคนใจอ่อนถึงกับแอบ ซับน้ําตา

ท่านกล่าวว่า “แม้ผมจะมีอันต้องพลัดพรากจากประเทศอันเป็นที่รักมาเป็นเวลาช้านาน ผมยังมั่นใจว่าผมเป็นคนไทย เมื่อได้ทราบ ว่าคนไทยกลุ่มหนึ่งกล้าเสี่ยงภัยดั้นด้นมาจนถึงแผ่นดิน “ต้องห้าม” แห่งนี้ ผมก็เต็มไปด้วยความรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่งและการกระทําของพวกท่านในวันนี้ แม้จะไม่เป็นที่ชอบใจของรัฐบาล แต่ท่านจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ผลของการกระทําแม้ไม่ปรากฏในขณะนี้ แต่ในวันหน้างานของท่าน วันนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยและคนจีนไม่อาจลืมได้ สําหรับผมท่านยื่นมือให้จับ ไต่ถามทุกข์สุขของพ่อก่อน แต่ไม่ปริปากถามถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือรัฐบาลไทย

อาจารย์ปรีดีฯ อพยพครอบครัวมาอยู่กวางตุ้งนานแล้ว เพราะท่านทนอากาศปักกิ่งไม่ไหวทางการจีนก็ตามใจให้ท่านเลือกมาอยู่ที่เมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง เพราะอากาศคล้ายคลึงกับเมืองไทย ท่านบอกผมให้ทราบว่า คณะศิลปินไทยจะต้องไปเปิดการแสดงที่นครปักกิ่งก่อน พอดีกับวาระวันเมย์เดย์ จะมีโอกาสเที่ยวงานวัน กรรมกรของโลกปักกิ่งด้วย จากนั้นก็ตระเวนไปแสดงเมืองต่าง ๆ ทางภาคอีสาน แล้วจึงล่องมาทางใต้ถึงกวางตุ้งอีกครั้ง

“กลับมากวางเจาเราจะได้คุยกันอีกนะ สุวัฒน์” ท่านบอกผม ขณะที่ผมพาคณะฯ เข้าอําลาท่านกลับ

ผมกับคณะศิลปินฯออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งขึ้นนครปักกิ่ง รถไฟขบวนนี้แล่นตะลุยทั้งวันและคืน ประมาณ ๒ คืน ๒ วัน เราใช้เวลาว่างในรถนําเอาโน้ตเพลงที่อยู่ในความนิยมมาแบ่งให้นักร้องเตรียมร้องโชว์ที่ปักกิ่ง

เราเปิดการแสดงที่ปักกิ่งหลังวันเมย์เดย์ (๑ พฤษภาคม) แสดง ที่โรงละคร ๒ โรงๆ แรก ๑ คืน โรงหลัง ๒ คืน และพักเที่ยวในปักกิ่ง ๗ วันเต็ม จึงเดินทางต่อไปทางภาคอีสาน ซึ่งรายละเอียดการเดินทาง ตระเวนแสดงศิลปินไทย ผมจะกล่าวไว้อีกบทต่างหาก

เราใช้เวลาเกือบ ๒ เดือนตระเวนแสดงนาฏศิลป์และเพลงไทยถึง ๙ เมือง ก็กลับคืนมานครกวางเจาอีกครั้ง

เราเปิดการแสดงที่ละครที่หอประชุม “จงซาน” ซึ่งเป็นโรงใหญ่ บรรจุคนได้ถึง 5,000 คน แสดง ๒ คืน คืนสุดท้ายเป็นการปิดการแสดง มีพิธีเหมือนวันเปิดที่ปักกิ่ง (กล่าวไว้ในอีกบทต่างหาก) อาจารย์ปรีดีฯ กับครอบครัวไปชมการแสดงในคืนสุดท้าย เมื่อเพลงชาติไทยบรรเลงตามพิธีปิดการแสดงอาจารย์ปรีดีฯ ยกผ้าเช็ดหน้าซับน้ําตา

วันรุ่งขึ้นอาจารย์ปรีดีฯ แกงไก่หม้อใหญ่ส่งมาให้คณะศิลปินฯ เป็นการตอบแทนที่พวกเราให้ความสุขใจประทับใจแก่ท่านในการแสดงคืนที่แล้ว

ทางการจีนให้อาจารย์ปรีดีฯ กับครอบครัวพักในตึกหลังน้อย มีรถยนต์ใช้ส่วนตัว ๑ คัน คนขับ (จีน) พร้อมคนครัว คนซักรีดทําเป็นคนที่ทางการจีนจัดให้ ท่านมีรายได้ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญของจีนแดง เดือนละประมาณ ๒,๕๐๐ บาท การเจ็บไข้ได้ป่วยได้รับการรักษาฟรี แต่การเข้าไปพบท่านต้องได้รับการเห็นชอบจากอาจารย์ปรีดีฯ เอง หาไม่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าอนุญาตให้ใครเข้าพบหรือไม่ยอมให้เข้าพบ

ระยะนั้นเรากําลังวุ่นวายกับปัญหาการกลับเมืองไทย เพราะไม่อาจกลับทางฮ่องกงได้ กงสุลอังกฤษประจํากวางตุ้งตอบมาว่า ได้ติดต่อรัฐบาลไทยแล้ว รมต.กระทรวงการต่างประเทศ (กรมนราธิปฯ) ตอบมาว่า “ศิลปินไทยมาอย่างผิดกฎหมาย ฉะนั้นรัฐบาลไทยไม่อาจรับรู้ได้” ซึ่งเท่ากับ “มาเองได้ก็หาทางกลับเอง”

ผมจึงย่องไปเยี่ยมอาจารย์ฯบ่อย ๆ เพื่อปรึกษาหารือ ถือโอกาสกินข้าวกลางวันกับท่านด้วย (อาจารย์ปรีดีฯ ตําน้ำพริกแอปเปิ้ลอร่อยมาก)

“เสด็จในกรมฯ ตอบตามที่ตาแปลก” ท่านได้ให้ความเห็นสําหรับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจารย์ปรีดีฯเรียก ๒ อย่าง “ตาแปลก” อีกอย่างหนึ่ง “กัปตัน” ซึ่งคงหมายถึงจอมพล ป. อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

“ตาแปลก คงถูกอเมริกาเล่นงานที่ปล่อยให้ศิลปินหนีมาแสดงที่เมืองจีน ตอนพวกคุณมากัน ตาแปลก รู้หรือเปล่า...”

ผมตอบว่าไม่ทราบ แต่คิดว่า “คนสนิท” คงรายงานเมื่อเราออกเดินทางมาแล้ว “งั้นก็ต้องรอสักระยะ” ท่านว่า ชี้แจงเพิ่มเติมว่ ระยะนี้ปัญหาการเมืองระหว่าง ๒ ค่ายเริ่มจะคลี่คลายตัวลงมา เมื่ออเมริกา “ผ่อนคลาย” ฝ่ายไทยก็คง “ผ่อนคลาย” ตามระยะนั้น พวกเราคงมีโอกาสกลับบ้านเมืองเสียที

ผมพยายามซักถามท่านถึงนักการเมืองเก่า ๆ ที่เคยร่วมคณะรัฐมนตรีมากับท่าน อาจารย์ปรีดีฯตอบอย่างระมัดระวังเสมอ แต่ถึงกระนั้นก็ทําให้รู้เช่นเห็นชาติ “พณหัวเจ้าท่าน” บางคนมีแต่วาสนา ไม่มีวุฒิปัญญาหรือสมรรถภาพเลย จึงทําให้จอมพล ป. สามารถรวบอํานาจไว้แต่ผู้เดียว ผมตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลทุกชุด (สมัยนั้น) ต้องอาศัยกรมนราธิปฯ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่เรื่อย อาจารย์ปรีดีฯ ตอบว่า

“พระองค์วรรณฯ เป็นคนรอบรู้และเป็นคนที่ผู้มีอํานาจพอใจ เพราะท่านไม่มีคําว่า “โน” มีแต่ “เยส” ตลอด ไม่มีอะไรที่ท่านจะ ทําไม่ได้ กัปตันเขาถามอะไร ท่านบอก “ได้” เสมอ และก็ “ได้” จริง ๆ เสียด้วย”

ท่านเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่า การกระทรวงต่างประเทศ พระองค์วรรณฯ เป็นที่ปรึกษา ตอนนั้น ทูตอเมริกันกับอุปทูตไม่ค่อย “กินเส้น” กัน ทํางานขัดแย้งกันบ่อย ๆ จนฝ่ายไทยรําคาญ ท่านจึงปรารภกับพระองค์วรรณฯ อยากได้อุปทูตไว้ ตัวเอกอัครราชทูตไม่อยากได้ เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องและเข้มงวดเกินไป พระองค์วรรณฯ รับปากทันทีว่าทําได้ “อีกไม่กี่เดือนทางวอชิงตันเรียกเอกอัครราชทูตกลับ ให้อุปทูตเป็นแทน จริง ๆ ไม่รู้ว่าท่านทําอย่างไร” อาจารย์ฯ เล่าพลางหัวเราะหึ ๆ

สักครู่ก็บอกว่า “พอเจ้าอุปทูตขึ้นเป็นใหญ่แทนคนเก่า มันก็เข้าสําเภาเดียวกันอีกที่เคยพูดกันรู้เรื่อง เขาเริ่มจะไม่ยอมพูดรู้เรื่องกับเรา มุ่งเอาประโยชน์ให้ประเทศชาติของเขาเหมือนเจ้าคนเก่าไม่มีผิดความขัดแย้งของพวกเขา เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวเท่านั้นเอง” อาจารย์ปรีดีฯเป็นโรคประจําตัวอยู่อย่าง คือ เส้นเลือดในหัวใจ ตีบ ทางจีนรักษาไม่หาย ท่านไปรักษาที่รัสเซียพักหนึ่งก็ไม่หาย เมื่อกลับมาอยู่เมืองจีน นายกฯ โจวเอินไหล แนะนําให้ลองรักษาด้วยสมุนไพรตามตํารับยาแผนโบราณดู ปรากฏว่าได้ผล ท่านหายเป็นปกติในเวลาเพียง ๒ ปี “โสมต้มน้ําตาลทรายแดง ดื่มแทนน้ําวันละชั่งเท่านั้นเอง หาย ได้” ท่านบอก โสมที่ใช้ ๆ วันละชั่ง ราคาโสมคิดเป็นเงินไทยราคาประมาณชั่งละ ๒๕๐ บาท ท่านบอกว่าถ้ารัฐบาลจีนไม่ออกเงินให้ ท่านคงล้มละลายแน่ เพราะต้องใช้โสมวันละชั่งติดต่อกันถึง ๒ ปี

ปรีดีฯ ฟังวิทยุต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นประจําวิทยุประเทศไทยรับได้บางสถานี ท่านไม่ยอมปล่อยให้โลกหลุดไปจากมือของท่าน ท่าน “วิ่งทัน” เหตุการณ์ของโลกเสมอคืนหนึ่ง ท่านโทรศัพท์เรียกผมไปพบด่วนที่บ้านพักของท่าน พอเห็นหน้าผม ท่านก็ยิ้ม บอกว่า “เมื่อกี้วิทยุอเมริกาประกาศว่า รัฐบาลอนุญาตให้นักหนังสือพิมพ์สหรัฐฯ ๑๕ คนเดินทางมาจีนได้แล้ว คุณมีหวังกลับเมืองไทย...เพราะเมื่ออเมริกา “หย่อน” ท่าทีลงอย่างนี้ ตาแปลกคงรีบฉวยโอกาสช่วยศิลปินไทย เพราะหมอนี่ดีอยู่หน่อยเป็นคนรักชาติรักพวกพ้อง

ผมฟังแล้วไม่สู้จะเห็นด้วยกับท่านนัก รักชาติ ไม่แน่ แต่รักพวกพ้อง จอมพล ป. มีแน่ ยกเว้นพวกพ้องจะทําอะไรให้เกิด “ขัดประโยชน์” ของท่านเท่านั้น พวกพ้องอย่างอาจารย์ปรีดีฯ ซึ่งกอดคอเสี่ยงตะแลงแกงเปลี่ยนการปกครองมาด้วยกัน จอมพล ป. ยังทําลายได้ลงคอ

คําพูดของอาจารย์ปรีดีฯน่าจะเป็นจริงเฉพาะข้อที่ “อเมริกาหย่อนท่าที” จอมพล ป. ต้องฉวยโอกาสเท่านั้นเอง สามวันต่อมา ผมได้รับแจ้งจากฝ่ายต้อนรับ (จีน) ว่า “คนสนิท” ของจอมพล ป. โทรเลขมาว่า “อนุญาตให้ศิลปินไทยกลับเมืองไทยได้ ให้มาเรือบริษัทโหวงฮก” (นายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธานบริษัทโดยตําแหน่ง ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังถือธรรมเนียมนี้อยู่หรือเปล่า)

ผมรีบแจ้งให้อาจารย์ปรีดีฯทราบ แทนที่ท่านจะพลอยยินดีด้วย ท่านกลับสั่นหน้าตอบว่า

“อย่าเพิ่งรีบกลับ ตอบไปทางโน้นก่อนว่าถ้าจะให้กลับ ต้องไม่มีการจับกุม ถ้าจับก็จะไม่กลับ ขออยู่เมืองจีนทั้งหมด”

เป็นการต่อรองที่น่าปรบมือให้จริง ๆ ผมรีบแจ้งให้ฝ่ายต้อนรับ(จีน) ทราบ เขารับติดต่อมาทางกรุงเทพฯ ทันที เรารออยู่เกือบ ๒ สัปดาห์เต็ม จึงได้รับคําตอบจากกรุงเทพฯ ว่า

“จะไม่มีการจับกุม ท่านนายกฯ บอกว่าคนไทยมีหน้าที่กลับประเทศ”

ผมนําข้อความนี้ไปเรียนให้อาจารย์ปรีดีฯ ทราบ ท่านไม่ยักชมว่าจอมพล ป. รักชาติ ห่วงคนไทยร่วมชาติด้วยกัน ท่านกลับบอกว่า “ถ้าพวกคุณไม่กลับ กัปตันจะเสียหน้ากับ “ไอ้กัน” คนเดียวจะถูกมันระแวงว่าสนับสนุนศิลปินไทยคณะนี้ให้มาแสดงที่จีนแดง ถ้าไม่สนับสนุนจะหลบมากันได้อย่างไรตั้งสี่สิบห้าสิบคน ฉะนั้นการ ที่พวกคุณกลับไปแล้วถูกจับ ทางจีนเขาก็ไม่อาจไว้วางใจตาแปลก อีกก็ได้ ผมคิดดูแล้ว จึงให้คุณต่อรองไป คุณกลับไปเถอะ คงไม่ถูก จับหรอก” ท่านมองการณ์ไกลสมกับเป็นอาจารย์ผมจริงๆ ผมเรียนท่านว่าฝ่ายจีนยินดีออกค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างเรือ “โหงวฮก” ในการรับคณะศิลปินกลับทั้งหมดให้อาจารย์ปรีดีฯ ตอบยิ้ม ๆ

“จีนคงไม่ได้เสนออย่างนั้นหรอก คงเป็นเงื่อนไขของตา แปลกบอกมา เมื่อเชิญพวกคุณมาแสดง ฝ่ายเชิญก็ต้องรับภาระในเรื่อง ค่าเดินทางทั้งไปและกลับ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทุกชาติอยู่แล้ว แต่ถึงตาแปลกไม่บอกมาทางจีน เขาก็พร้อมที่จะ “ควักกระเป๋า” อยู่ตลอดเวลา เพราะฐานะของเขาเวลานี้เหมือนลูกเมียน้อย ทําดีก็เสมอตัว ถ้าพลาดพลั้งเป็นถูกโจมตีแหลกราญ นี่ลองพวกคุณกลับไม่ได้จริง ๆ ฝ่ายโลกเสรีโจมตีจีนเขายับเยินแน่ หาว่ากักตัวบ้างละ จับตัวไว้ล้างสมองบ้างละ จีนเขาจึงจําเป็นให้คุณกลับเมืองไทยครบ ถ้วนตามจํานวนที่มาและเร็วที่สุด”

หลังจากท่านแนะนําผมว่า เพื่อป้องกันมิให้ศิลปินร่วมคณะกลับไปถึงเมืองไทย และอาจถูกตํารวจข่มขู่จนมีความจําเป็นต้องให้การเท็จใส่ร้ายผมผู้เป็นหัวหน้าคณะ ควรร่างคําให้การ “ร่วมกัน” ขึ้นสักฉบับหนึ่ง ให้ศิลปินทั้งคณะที่มาด้วยลงชื่อกันทุกคน “อย่าลืมเขียนไว้ในคําให้การตอนท้ายด้วยว่า ข้อความทั้งหมด เป็นความจริง และคุณไม่ได้บังคับขู่เข็ญให้เขาลงชื่อ ทุกคนลงชื่อ ด้วยความสมัครใจ”

ท่านบอกผมอีกว่า คณะศิลปินที่มาคราวนี้ ทางจีนเขาก็รู้ว่ามีตํารวจสันติบาลมาด้วย ยิ่งเป็นการดีสําหรับผม หากว่า พวกตํารวจสันติบาลที่มาด้วย ยอมลงชื่อในคําให้การ “ร่วมกัน” ด้วย ตํารวจสันติบาลที่มาด้วยเป็นพวกกระบี่กระบอง นําคณะของเขาโดย ส.อ.จํานงค์ บําเพ็ญทรัพย์ แต่ก็อยู่ในความควบคุมรับผิด ชอบของ “ครูดาบ” (มงคล จันทบุปผา) ซึ่งเป็นผู้กํากับด้านการต่อสู้ บนเวทีละคร เคยร่วมงานกับผมมาช้านาน

ผมร่างคําให้การ “ร่วมกัน” ขึ้น แล้วนําไปให้อาจารย์ตรวจใน วันต่อมา ปรากฏว่าท่านให้แก้ไขเฉพาะข้อ ๑ ในจํานวน ๔ ข้อที่ ผมอ้างเหตุผลในการมาแสดงในจีนแดง คือ (เท่าที่จําได้คร่าว ๆ)

๑. ศิลปินที่นํามาแสดงเป็นศิลปินอาชีพ มาเพื่อรับสินจ้าง ซึ่ง จีนตกลงจะจ่ายให้ในราคาสูงกว่าธรรมดาด้วย

๒. เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เท่ากับเป็นการรับใช้ชาติอีก

๓. เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างจีนกับไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน เสมือนพี่น้อง ความแตกต่างทางลัทธิการ เมืองไม่น่าจะเป็นอุปสรรคจนชนในชาติทั้งสองจะคบหาพึ่งพาอาศัยกันไม่ได้

๔. เพื่อแผ่เมตตาจิตในฐานะพุทธศาสนิกชน เพราะตลอดเวลา ฝ่ายประเทศคอมมิวนิสต์ ถูกโจมตีว่าโหดร้ายทารุณ เป็นยักษ์เป็น มารบ้าง และคอยแต่รุกรานประเทศอื่นบ้าง บางทีวัฒนธรรมไทย ที่นํามาแสดงให้ดูอาจทําให้จิตใจพวก “คอมมิวนิสต์” อ่อนโยนลงได้บ้าง

อาจารย์ปรีดีฯ ให้เหตุผลในการตัดข้อ ๑ ว่า “งานของคณะศิลปินไทยครั้งนี้จะปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติ อย่าอ้างถึงสินจ้างรางวัลใด ๆ มักจะทําให้ฝ่ายไทย เราต้องเสื่อมศักดิ์ศรี ขอให้เรามาด้วยเหตุผลประการอื่นจะเหมาะกว่า มาแสดงโดยรับจ้างเขา”

ข้อความอื่น ๆ ผมเขียนขึ้นตามคําแนะนําของอาจารย์ปรีดีฯ ทั้งหมด ซึ่งมีลักษณะบันทึกเหมือนชีวิตประจําวันที่อยู่ในเมืองจีน ทั้งนี้เพื่อยืนยันแก่เจ้าหน้าที่สันติบาลไทยว่า ผมไม่ได้นําคณะฯไป ร่วมเข้าประชุมพรรคคอมมิวนิสต์หรือไปรับการอบรม “ล้างสมอง” รวมทั้งตัวผมซึ่งเป็นหัวหน้าคณะก็ไม่ได้ “แอบ” เล็ดลอดสายตา เพื่อศิลปินไปกระทําสิ่งเหล่านั้น นอกจากมาแสดงละครอย่างเดียว ผมนําคําให้การ “ร่วม” ไปให้ศิลปินในคณะลงชื่อ ทุกคนเต็มใจลงชื่อ แม้แต่กลุ่มกระบี่กระบองที่เป็นตํารวจสันติบาล มีอยู่คนเดียวไม่ยอมลงชื่อ เป็นศิลปินฝ่ายดนตรี แต่เป็นผู้ใกล้ชิดชอบพอกับ พ.ต.อ.พุฒ บูรณะสมภพ รองผู้การสันติบาลขณะนั้น

เมื่อผมไปเรียนให้อาจารย์ทราบ ท่านบอกว่าไม่เป็นไร “สี่สิบเอ็ดต่อหนึ่ง คุณเป็นต่อ” (คณะศิลปินมี ๔๒ คน) อาจารย์ปรีดีฯกําลังศึกษาวิธีทํานาของชาวจีนในมณฑลกวางตุ้ง ท่านออกไปในทุ่งนาเมืองกวางเจาบ่อย ๆ ท่านปรารภกับผมว่าอยากให้เกษตรกรเมืองไทยได้มาศึกษาดู เพราะลักษณะดินฟ้าอากาศและสภาพพื้นดินที่เมืองกวางเจาเหมือนเมืองไทยมาก แต่ฝ่ายจีนเขาสามารถทํานาได้ปีละ ๓ ครั้ง ในขณะที่ไทยเรา (สมัยนั้น) ทํานาได้ปีละครั้งเดียว รู้สึกว่าท่านห่วงใยคนไทยและประเทศไทยมากกว่าคนไทยที่อยู่เมืองไทยเสียอีก โดยเฉพาะพวกคนไทยกลุ่มน้อยที่เสพสุขอยู่บนหยาดเหงื่อแรงงานของคนส่วนใหญ่ ผมนําศิลปินสําหรับหัวหน้าทุกฝ่ายเข้าไปอําลาอาจารย์ปรีดีฯ เมื่อเรารู้กําหนดวันลงเรือกลับเมืองไทยแน่นอนแล้ว ท่านอวยพร และให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม

“เมื่อไรอาจารย์จะกลับเมืองไทยคะ”

ศิลปินหญิงคนหนึ่งถามขึ้น อาจารย์ ปรีดีฯไม่ตอบ ได้แต่ยิ้มด้วยใบหน้าแดงเข้ม

ผมมาทราบภายหลังเมื่อกลับถึงเมืองไทยแล้ว การที่รัฐบาลจีน ติดต่อเชิญผมให้นําคณะศิลปินไทยไปเปิดการแสดงบนผืนแผ่นดินใหญ่นั้น เป็นความคิดของอาจารย์ ปรีดีฯทั้งหมด ท่านวานพ่อค้าคนหนึ่งซึ่งสนิทคุ้นเคยเป็นที่ไว้วางใจกับท่านมาติดต่อผมโดยตรง

เมื่อฝ่ายเราพร้อมที่จะไปท่านก็ติดต่อให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลซึ่งชอบพอกับท่านเป็นผู้เชิญในนามกรมวิเทศสัมพันธ์จีน พวกเราจึงได้รับความสะดวกสบายโดยตลอด เพราะเป็นแขกของ “นายกฯ โจวเอินไหล”

การเดินทางไปเมืองจีนของคณะศิลปินไทย จอมพล ป. พิบูลสงครามไม่มีโอกาสทราบ เมื่อมาทราบภายหลังท่านก็พอใจ ระยะนั้นจอมพล ป. เริ่มสํานึกในพิษสงของอเมริกา ซึ่งตั้งหน้าเอา เปรียบไทยทุกวิถีทาง วิธี “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ของอเมริกา ที่ บังคับให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมมีบทบาทด้วยนั้น มีแต่สร้างความเสีย หายให้แก่ไทยฝ่ายเดียว ไทยเสียทั้งเงินและชีวิตคนชาติเดียวกัน ที่ส่งไป “ปราบผีคอมมิวนิสต์” กับอเมริกาที่เกาหลีเหนือ ต่อมาอเมริกาก็เริ่มชักชวน “บังคับ” ให้ส่งทหารไป “ตายแทน” คนอเมริกาที่เวียดนามอีก ภาระหนี้สินที่อเมริกามีต่อไทยในฐานะเจ้าหนี้ นับ วันแต่จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ การให้ความช่วยเหลือของอเมริกาแท้จริงคือ การรีดนาทาเร้น เค้นเอาผลประโยชน์ไปจากไทย ทั้งด้าน นโยบายต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจไปจนถึงวัฒนธรรม ฐานะของประเทศไทยในสายตาของโลกก็คือ ประเทศกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา

เมื่อบังเกิดความสํานึก จอมพล ป. ก็เริ่มคํานึงถึงนโยบายของ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถือหลักที่ว่า ประเทศเล็กจําต้องเป็นมิตรกับ ทุกประเทศเพื่อช่วยตัวเอง จะเป็นมิตรกับอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นศัตรูกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ไม่ช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นจากความหายนะไป ได้ ในด้านการเมืองภายใน ฐานะของรัฐบาลจอมพล ป. ไม่ค่อยดี นัก ศัตรูการเมืองดั้งเดิมของคณะ “ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๗๕” ยังดํารงอํานาจอยู่ บรรดา “ขุนศึก” เกิดขัดแย้งกันในด้านผลประโยชน์และอํานาจ เกิดการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย โดยเฉพาะทหารกับตํารวจ ในด้านประชาชนเมื่อจอมพล ป. พยายาม ผลักดันระบอบประชาธิปไตยให้แพร่หลายขึ้น (หลังจากที่กลับมาขอให้รัฐบาลลาออกจากเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ) อนุญาตให้มี “ไฮด์ปาร์ค” ขึ้นได้อย่างเสรีที่ท้องสนามหลวง

ความรู้สึกของประชาชนที่ถูกกดดันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงระเบิดขึ้น เป้าหมายของการโจมตีอยู่ที่การบริหาร ประเทศของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่เลยเถิดมาจนถึงการโจมตีทางส่วน ตัวระหว่าง “ขุนศึก” ฝ่ายทหาร กับ “อัศวิน” ฝ่ายตํารวจ ทั้งสอง ฝ่ายต่างว่าจ้าง “ดาวไฮด์ปาร์ค” ที่นิยม “ขายตัว” ขึ้นพูดโจมตีซึ่ง กันและกัน กลุ่ม “ศักดินา” ร่วมกับกลุ่ม “นายทุนขุนนาง” ฉวยโอกาสนั้นสนับสนุน “ขุนศึก” ฝ่ายทหารอยู่ตลอดเวลา ฐานะจอมพล ป. นับวันยิ่งเลื่อนลอยและปราศจากความหมาย ฝ่ายอเมริกาก็เข้า มามีบทบาทสนับสนุนฝ่าย “ขุนศึก” อีกด้วย เพราะรัฐบาลคณะของ จอมพล ป. ล้มเหลวในการบริหาร ซ้ํายังก่อให้เกิดระบบฉ้อราษฎร์บังหลวงระบาดหนักขึ้น ยิ่งเมื่อจอมพล ป. มีท่าทีจะเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ ศัตรูทางการเมืองของท่านก็มากขึ้น

การส่งกรรมกรไปร่วมงานวัน “เมย์เดย์” ในประเทศจีนก็ดี ส่งคณะบาสเกตบอลไปแข่งขัน ตลอดจนคณะศิลปินไทยที่เล็ดลอดไปเองก็ดี ล้วนสร้างความไม่พอใจให้อเมริกาและกลุ่ม “ศักดินา” กับพวก “นาย ทุนขุนนาง” ยิ่งขึ้น เมื่อคณะศิลปินไทยกลับมา มีการจับกุมจริง แต่เป็นเพียง “พิธีการ” ตรงตามที่อาจารย์ปรีดีฯ คาดการณ์ไว้ทุกประการ โดยการจับกุมคณะศิลปินตอนเช้า ตอนค่ําให้ประกันตัว ไป ไม่มีใครถูกคุมขังไว้แม้แต่คนเดียว ยิ่งทําให้ศัตรูการเมืองของ นายพล ป. เพิ่มความไม่พอใจยิ่งขึ้น

ครั้นการเลือกตั้งใหญ่ผ่านไป รัฐบาลได้รับเสียงข้างมากโดยพรรคเสรีมนังคศิลาก็จริง แต่ได้รับการโจมตีว่าเป็นการเลือกตั้ง “สกปรก” ที่สุดในประวัติการณ์ ประชาชนจึงพร้อมใจกันเดินขบวน โอกาสนี้เอง “ขุนศึก” ตัวเก็งคือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงก้าวเข้ามามีบทบาทระงับการเดินขบวนไว้ได้ รับจะให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ท่านจึงกลายเป็น “ขวัญใจประชาชน” ไปทันที แต่รัฐบาลจอมพล ป. ไม่ยอมลาออกง่ายๆ จึงมีการรัฐประหาร โดยกองทัพบกขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๐ จอมพล ป. ต้อง ลี้ภัยการเมืองไปนอกประเทศ พร้อมกับอัศวินคู่ใจคือ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ กับพวกก็ถูกขับออกไปจากประเทศ โอกาสที่ประเทศไทยจะมีการติดต่อสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ และโอกาสที่อาจารย์ ปรีดีฯ จะได้ “ชําระล้าง” มลทินก็อวสานลง เพียงนั้น

ก่อนหน้าที่จอมพล ป. หมดอํานาจไม่กี่วัน ท่านอยากพบผม “คนสนิท” มาเล่าให้ฟังตอนหลังว่า ท่านให้มานัดหมายผมไปนอนคุยเรื่องเมืองจีนกันสักหนึ่งคืนที่บางแสน ยังไม่ทันที่ผมจะได้รับทราบการนัดหมาย ท่านก็หมดอํานาจไปก่อน ผมเลยมิได้ทราบว่า โชคดีหรือโชคร้ายที่มิได้พบท่าน

 

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขร วิธีการสะกด เลขไทย และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากหนังสือชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน ปรีดี พนมยงค์ แปลโดยจำนงค์ ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่, , กองทุนศรีบูรพา, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สถาบันปรีดี พนมยงค์, และขอขอบคุณภาพครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ในจีนจากคุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยบรรณาธิการ

 

ภาคผนวก:

ภาพและผลงานของสุวัฒน์ วรดิลก

 

 

ภาพของนายปรีดี พนมยงค์กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ณ ประตูเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2492

 

 

ภาพของนายปรีดี พนมยงค์กับนายโจเอินไหล 

 

 

บรรณานุกรม

  • สุวัฒน์ วรดิลก, ชีวิตในความทรงจำ (กรุงเทพฯ: กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต, 2517)