ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

จากปารีสถึงกรุงเทพฯ ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2510

25
ตุลาคม
2566

Focus

  • ระหว่างพ.ศ. 2516-2519 ขบวนการนิสิตนักศึกษาได้ตีพิมพ์ผลงานสำคัญของปรีดี พนมยงค์ หลายเล่ม และหนึ่งในนั้น คือ “ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่” (2518)
  • นายปรีดี พนมยงค์ ได้แยกแยะว่าสังคมนิยม” และ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” มีหลายชนิดและมีหลายนิกายปลีกย่อยที่มีทรรศนะและวิธีปฏิบัติต่างๆ กัน แต่ชนิดและนิกายใดๆ จะเหมาะสมแก่สยามหรือไม่ จะต้องพิจารณาก่อนว่าประเทศไทยหรือสังคมสยามมีสภาพในปัจจุบันอย่างไร ในอดีตอย่างไร และจะวิวรรตต่อไปในอนาคตอย่างไร
  • การที่สังคมไทยรับรู้ทั้งสองเรื่องนี้อย่างไม่แจ่มชัดมาก่อน ทั้งที่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์นั้นต่างกัน มีความเป็นมาต่างกัน และถูกมองในแง่ร้ายเพราะโต้ตอบกับระบบทุนสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของคอมมิวนิสต์ที่ถูกมองอย่างเป็นปีศาจนั้น ได้นำไปสู่การออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แบบกว้างขวางเพื่อให้ประชาชนหวาดกลัว โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง (เพื่อขจัดคู่แข่ง) ดังที่เคยเกิดกับการเนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ออกจากประเทศไทย

 

ลัทธิเศรษฐกิจเบื้องต้นที่แทบทุกตําราสอนไว้ว่า ลัทธิสังคมนิยมนั้นถือหลักให้บุคคลได้รับปันผลตามความสามารถที่ตนทํางานให้กับสังคม มิใช่เป็นการแบ่งปันผลให้ทุกคนได้เท่ากัน แต่ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็บิดเบือนว่า “คอมมิวนิสต์พูดว่าไม่มีชนชั้น”

ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอาศัยสภาพทางจิต ก็ค้นพบสิ่งที่ทําเป็นป้ายโฆษณาแสดงภาพคอมมิวนิสต์เป็นรูปผีปีศาจกํายําที่จะคร่ามนุษย์เอาไปเป็นมังสาหาร และทําเป็นคําขวัญว่า “คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด” นอกจากนั้นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยยังได้ค้นพบอีกว่า สีแดงเป็นสีของคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะจึงเปลี่ยนตราครุฑสีแดงของหนังสือทางราชการที่ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ นั้นให้เป็นตราครุฑสีดํา แสดงว่า “สภาพทางจิต” ของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยวิปริตยิ่งกว่าฝรั่ง

การอธิบายเรื่องปีศาจคอมมิวนิสต์ในไทยของนายปรีดี พนมยงค์
ในบริบทการเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2518

 


โปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เผยแพร่ในไทยระหว่าง พ.ศ. 2508-2519
ที่มาของภาพ: เพจ 50+

 

การรำลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2519 ของทุกปีมักจะเน้นในเรื่องบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ลำดับเหตุการณ์ และความทรงจำของบุคคลที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ณ ห้วงเวลานั้น หากในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันมากนักคือ ความคิดทางการเมืองโดยมีการนำงานเขียนของปัญญาชนไทยคนสำคัญในยุค 2470-2490 กลับมาตีพิมพ์และเผยแพร่อีกครั้ง อาทิ งานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุภา ศิริมานนท์ และจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ผลงานที่มีการนำกลับมาตีพิมพ์ซ้ำหลายเล่มมากที่สุดคืองานของนายปรีดี พนมยงค์ โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาและกลุ่มบุคคลที่สนใจความคิดและปรัชญาการเมืองของปัญญาชนไทยในอดีตเพื่อเป็นรากฐานทางความคิดให้ขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นตามทรรศนะของขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น บทความนี้จึงขอนำเสนอความคิดทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ จากผลงานเรื่อง ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่ ที่จัดพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก ผลงานชิ้นนี้นายปรีดี เสนอในข้อสำคัญว่า แนวทางคอมมิวนิสต์แตกต่างจากความคิดสังคมนิยมอย่างคมชัด 

 


วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
ที่มาของภาพ: หนังสือส่วนบุคคลของรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผลงานสำคัญชิ้นที่มีอิทธิพลและเผยแพร่ในวงกว้างของนายปรีดี คือวารสารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516 ซึ่งประกอบด้วยปาฐกถาสำคัญ จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่

  1. จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ในงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ประจำ พ.ศ. 2516
  2. จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่ ในงานประชุมประจำปีของนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2516
  3. ข้อสังเกตของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ในงานชุมนุมของชาวธรรมศาสตร์ ประจำ พ.ศ. 2515
  4. อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516

 


นายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับนักศึกษาปัญญาชนไทย
ที่บ้านอองโตนี ปารีส ยุค 2510
ที่มาของภาพ: สถาบันปรีดี พนมยงค์

 


เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร
จัดพิมพ์โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2517
ที่มาของภาพ: หนังสือส่วนบุคคลของรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

นอกจากวารสารขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ข้างต้นแล้ว ขบวนการนิสิตนักศึกษายังได้ตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญและเน้นที่ความคิดทางการเมืองของนายปรีดี ดังตารางต่อไปนี้

 

ผลงานสำคัญของปรีดี พนมยงค์ที่นำมาตีพิมพ์ซ้ำ พ.ศ. 2516-2519[1]

ลำดับ ชื่อเรื่อง (ปีพิมพ์ครั้งแรก/ ไม่ทราบปีที่ตีพิมพ์) ชื่อผู้แต่ง สำนักพิมพ์ที่นำมาตีพิมพ์ซ้ำ
1. เค้าโครงการเศรษฐกิจ (2475) ปรีดี พนมยงค์ เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ประจักษ์การพิมพ์, 2517)
2. ความเป็นอนิจจังของสังคม (2489) ปรีดี พนมยงค์ ความเป็นอนิจจังของสังคม (เจริญวิทย์การพิมพ์, 2518)
3. ปรัชญาคืออะไร (2513) ปรีดี พนมยงค์ ข้อเขียนทางปรัชญา (สถาบันสยามเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม, 2518)
4. ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่ ปรีดี พนมยงค์ ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่ (พิฆเณศ, 2518)
5. ที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้น หมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” ปรีดี พนมยงค์ ที่เขาเรียกกันว่า “ลัทธิแก้” นั้น หมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิ “รีวิสชันนิสม์” (สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 2519)
6. หลักเบื้องต้นแห่งการถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม (2510) ปรีดี พนมยงค์ ความเป็นมาของศัพท์ไทย ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์ (สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519)
7. เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร ปรีดี พนมยงค์ เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2517)

 

ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่

 


ความเป็นอนิจจังของสังคม ฉบับจัดพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. 2518
ที่มาของภาพ: หนังสือส่วนบุคคลของรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

การศึกษาความคิดทางการเมืองของนายปรีดีในด้านปรัชญา การบัญญัติศัพท์การเมือง และความคิดมาร์กซิสต์ สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมามักจะกล่าวถึงข้อเขียนในหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 2480 แต่ในยุคตกผลึกการอธิบายความคิดทางการเมืองของนายปรีดี กลับปรากฏให้เห็นในงานเขียน ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่ หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์มาจากหนึ่งในคําตอบของนายปรีดี พนมยงค์ต่อนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 โดยมีเนื้อหาและใจความสำคัญดังนี้

ระบบสังคมนิยม และระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะสมแก่เมืองไทยหรือไม่

 


หนังสือระบบสังคมนิยม และระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะสมแก่เมืองไทยหรือไม่
ฉบับตีพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. 2518
ที่มาของภาพ: หนังสือส่วนบุคคลของรวินทร์ คำโพธิ์ทอง

 

นายปรีดีตอบคำถามเรื่องระบบคอมมิวนิสต์และระบบสังคมนิยมในบริบทของประวัติศาสตร์ตะวันตกและไทย โดยอธิบายในกรอบของการบัญญัติศัพท์ทางการเมืองไว้ว่า

 

ลัทธิโซเชียลิสม์ซึ่งมีการแปลชื่อลัทธิเป็นภาษาไทย ว่า “สังคมนิยม” ก็ดี และลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่มีการแปลชื่อ ลัทธิเป็นภาษาไทยก็ดีนั้น มีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มี หลายนิกายปลีกย่อย ซึ่งมีทรรศนะและวิธีปฏิบัติต่างๆ กัน ฉะนั้นจึงควรพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าลัทธิและนิกายใดมีทรรศนะและวิธีปฏิบัติอย่างไร และพิจารณาว่าประเทศไทยหรือ สังคมสยามมีสภาพในปัจจุบันนี้อย่างไร ในอดีตอย่างไร และจะวิวรรตต่อไปในอนาคตอย่างไร ครั้นแล้วจึงพิจารณาว่าลัทธิชนิดนั้นๆ นิกายนั้นๆ จะเหมาะสมแก่สยามหรือไม่

 


กฎหมายตราสามดวง ฉบับสมุดไทย
ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

และในงานประชุมของสมาคมนี้ ที่ดอนแคสเทอร์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 นายปรีดีได้กล่าวปาฐกถาระบุว่า สังคมนิยมมีประมาณกว่า 40 ชนิด แล้วเชื่อมต่อระหว่างคำว่าสังคมนิยมกับศักดินาด้วยว่า

 

ผมได้กล่าวถึงพระองค์เจ้าองค์หนึ่งที่เสด็จมาเยี่ยมผมที่ชานเมืองปารีสนั้น ทรงมีความเห็นว่าสังคมนิยมเคยทําได้ในเมืองไทย เช่น พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาได้จัดสําเภาไปค้าขายในต่างประเทศ

ผมขอให้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์แห่งระบบสังคมนิยม ชนิดศักดินาไทยดูกฎหมายตราสามดวงก็จะทราบว่า พระบรมไตรโลกนารถได้ทรงบัญญัติศักดินาของพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ อาทิ พนักงานประจําเรือสําเภาหลวงที่เป็นพาหนะ ในการบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศนั้น พระองค์บัญญัติให้มี ศักดินาลดหลั่นกันตามลําดับ เช่น ผู้บังคับการเรือ (กัปตัน) ทรงเรียกว่า “หุ้นจีนนายสําเภา” ถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ คนครัว ทรงเรียกว่า “ชมพู่” เพี้ยนมาจากภาษาฮกเกี้ยน “จงโต้ว” ถือศักดินา ๓๐ ไร่ คนรับใช้ทรงเรียกว่า “ซินเตง ถือศักดินา ๒๕ ไร่

 

และนายปรีดี ได้นำเสนอให้เห็นประวัติศาสตร์สังคมนิยมและรูปแบบที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษไว้ดังนี้

 

ท่านที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษขณะนี้ หรือเคย อาศัยอยู่ในอังกฤษสมัยที่พรรคแรงงานได้อํานาจเป็นรัฐบาลนั้น ก็ย่อมระลึกว่าท่านอาศัยหรือเคยอาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยระบบสังคมนิยมชนิดหนึ่งคือ

ลัทธิสังคมนิยมชนิดที่คณะผู้นําพรรคแรงงานได้ประกอบขึ้น ลัทธิสังคมนิยมชนิดนี้ได้รับอิทธิพลมากบ้างน้อยบ้างจากลัทธิ “เฟเบียนโซเชียลิสม์” (Fabian Socialism) ซึ่งนักสังคมนิยมอังกฤษหลายท่านได้ช่วยกันประกอบและพัฒนาต่อมา อาทิ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักประพันธ์ เรื่องนาม, ซิดนี เวบบ์, เอช.เจ. ลาสกี อดีตศาสตราจารย์ สํานักเศรษฐศาสตร์ลอนดอน (London School of Economics) และจากลัทธิ “กีลด์ โซเชียลิสม์” (Guild Socialism) ซึ่งนักสังคมนิยมอังกฤษจํานวนหนึ่งได้ประกอบขึ้น เช่น เอส.จี. ฮอบสัน, และ ดี.เอช.โคล อดีตศาสตราจารย์แห่งสํานักที่กล่าวนั้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ประกอบลัทธิที่ว่านี้

 

และเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมในไทยยุค 2510 ไว้ว่า

 

ในเมืองไทยสมัยนี้ก็ปรากฏว่ามี ๒ พรรคการเมือง ที่ใช้ชื่อว่าสังคมนิยม แต่จะเป็นสังคมนิยมนิกายใดนั้นยังไม่แจ้งชัด ส่วนพรรคจารีตนิยมและทุนนิยมหลายพรรค ก็แถลงว่า ดําเนินนโยบายสังคมนิยมด้วย แต่กล่าวว่าเป็นสังคมนิยมอ่อนๆ บ้าง เป็นสังคมนิยมสุดแท้แต่จะนึกเอาเองบ้าง

ฉะนั้นที่ผมกล่าวไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ว่าลัทธิสังคมนิยม มีประมาณ ๘๐ ชนิดนั้น บัดนี้เท่าที่สังเกต ดูเหมือนจะเกือบๆ ๑๐๐ ชนิดแล้ว

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 นายปรีดีได้กล่าวถึงรูปแบบใหญ่ๆ ของสังคมนิยมไว้อย่างเป็นระบบในปาฐกถา ณ ที่ประชุมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่เมืองตูร์ว่าในจํานวนสังคมนิยมประมาณกว่า 40 ชนิดนั้น อาจจัดเป็นประเภท (Genus) ใหญ่ได้ดังต่อไปนี้

(๑) ประเภทสังคมนิยมศักดินา (Feudal Socialism)
(๒) ประเภทสังคมนิยมผู้มีทุนน้อย (Petit-Bourgeois Socialism)
(๓) ประเภทสังคมนิยมจารีตนิยม (Conservative Socialism)
(๔) ประเภทสังคมนิยมเจ้าสมบัติ (Bourgeois Socialism)
(๕) ประเภทสังคมนิยมเพียงแต่อุดมคติหรือเพียงจินตนาการ (Utopian Socialism)
(๖) ประเภทสังคมนิยมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (Proletarian Socialism)
(๗) ประเภทสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (Scientific Socialism)
(๘) ประเภทสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (Communist Socialism)

นายปรีดีชี้ให้เห็นว่า สังคมนิยมประเภท (Genus) หนึ่งๆ นั้นก็จําแนกออกได้เป็นหลายชนิด (Species) และหลายนิกายชนิดปลีกย่อย (Sub-Species) และสังคมนิยมประเภทคอมมิวนิสต์นั้นมีหลายชนิดและหลายนิกายซึ่งเป็นชนิดปลีกย่อย โดยในไทยยุคนี้ได้มีความขัดแย้งกันระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์หลายชนิดหลายนิกาย มีขัดแย้งระหว่างกัน อาทิ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ตามแนวทางของเหมาเจ๋อตง, ลัทธิแก้ หรือแบบอื่นๆ ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า สังคมจักรพรรดินิยม, ลัทธิสากลนิกของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นต้น

และนายปรีดียังอธิบายให้เห็นถึงประวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งแตกต่างจากการเกิดขึ้นของสังคมนิยมโดยระบุว่า

 

สมัยก่อนมาร์กซ์มีลัทธิหลายชนิดจัดเข้าในประเภทคอมมิวนิสต์ แม้สมัยที่มาร์กซ์มีชีวิตอยู่ก็มีลัทธิคอมมิวนิสต์ชนิดอื่น ๆ เช่นชนิดของบลองกี ซึ่งเรียกว่าลัทธิบลองกิสม์ (Blanquisme) ภายหลังที่มาร์กซ์และเองเกลส์วายชนม์แล้วก็มีลัทธิแก้ทางขวาลัทธิแก้ทางซ้าย, ชนิดต่างๆ

 

นายปรีดีสรุปในเบื้องต้นถึงแนวคิดสังคมนิยมต่างๆ ว่ามีดังนี้

 

นอกจากลัทธิมาร์กซ์-เลนินตามแนวทางสตาลิน, ความคิดเหมาเจ๋อตง, แล้วก็ยังมีลัทธิตรอทสกีสต์, ลัทธิมาร์กซิสม์ นิกายที่เรียกตนเองว่า อิสลามิค (Marxisme Islamique), มาร์กซ์-เลนินแท้จริง โดยถือว่าชนิดอื่นไม่แท้จริง, นิกายตามแนวทางกิมอิลซุงแห่งเกาหลีเหนือ, นิกายตามแนวทางคาสโตรแห่งคิวบา, นิกายแห่งองค์การคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศครั้ง ที่ ๔ (Fourth International), นิกายคนงานระหว่างประเทศ (Internationale Ouvriere) ฯลฯ

 

ท้ายที่สุด นายปรีดี ได้เสนอให้เห็นการสร้างวาทกรรมปีศาจคอมมิวนิสต์ในการเมืองไทยและคอมมิวนิสต์ในบริบทประวัติศาสตร์ไทยไว้อย่างแยบคายว่า

 


พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495
ที่มาของภาพ: ราชกิจจานุเบกษา

 

“ผมขอแถมว่ายังมีคอมมิวนิสต์อีกบางชนิดซึ่งผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเป็นผู้ค้นพบคือ

(๑) ปีศาจคอมมิวนิสต์ที่สืบเนื่องมาจากการที่ฝรั่งทําการต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้โฆษณาไว้หลายปีก่อนมาแล้วว่า คอมมิวนิสต์ริบทรัพย์ไม่ว่าคนมีหรือคนจน แม้มีเสื้อผ้าเพียงแต่ปิดกายก็ถูกริบ และเอาหญิงเป็นกองกลาง, ทําลายศาสนา ฯลฯ จึงทําให้คนขวัญอ่อนที่ได้ยินเพียงชื่อก็เกิดความเกลียดความกลัว อันเป็นสภาพทางจิต (State of Mind) ชนิดหนึ่ง

ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอาศัยสภาพทางจิต ก็ค้นพบสิ่งที่ทําเป็นป้ายโฆษณาแสดงภาพคอมมิวนิสต์เป็นรูปผีปีศาจกํายําที่จะคร่ามนุษย์เอาไปเป็นมังสาหาร และทําเป็นคําขวัญว่า “คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด” นอกจากนั้นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยยังได้ค้นพบอีกว่า สีแดงเป็นสีของคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะจึงเปลี่ยนตราครุฑสีแดงของหนังสือทางราชการที่ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ นั้นให้เป็นตราครุฑสีดํา แสดงว่า “สภาพทางจิต” ของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยวิปริตยิ่งกว่าฝรั่ง

(๒) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลและรัฐสภาไทยพร้อมทั้งนักวิชาการบางท่านได้ค้นพบคอมมิวนิสต์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งท่านเหล่านั้นได้นํามาบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ว่า การกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์คือ

(ก) เลิกล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ

(ข) การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศอันทําให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือปัจจัยในการผลิตของเอกชนตกเป็นของรัฐโดยการริบ หรือโดยวิธีการอื่นอันมิได้มีการชดใช้ค่าทดแทนอันเป็นธรรม หรือ

(ค) การบังคับด้วยการขู่เข็ญทําให้เกิดความหวาดกลัวก็ดี การก่อวินาศกรรมก็ดี หรือการใช้อุบายด้วยประการใดๆ เช่น ยุยงให้มีความเกลียดชังระหว่างประชาชน ทั้งนี้กระทํา ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้มีการยอมรับเอา ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ใน (ก) หรือ (ข) คํานิยามนั้นรัฐบาลและรัฐสภาสมัยต่อมาจนถึงขณะนี้ได้รับช่วงมรดกต่อมา อย่างไรก็ตาม ผมขอให้ท่านทั้งหลาย สังเกตบางประการดังต่อไปนี้

ประการที่ ๑ เมื่อถึงคราวเขียนเป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลและรัฐสภาไม่ระบุไว้ว่า การเอาหญิงและเด็กเป็นกองกลางก็ดี การยกเลิกศาสนาก็ดีนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่างกับที่ค้นพบไว้ในการโฆษณา

ประการที่ ๒ ผู้ร่วมในการบัญญัติกฎหมายนั้น หลายคนมิได้ใช้กฎหมายนั้นแก่ตนเอง คือการที่ตนล้มเลิกการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยสถาปนาระบบเผด็จการขึ้น แม้จะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่บุคคลที่เป็นตัวการและผู้สมรู้ในการนั้นก็เข้าลักษณะเป็นผู้กระทําการอันเป็นคอมมิวนิสต์

ประการที่ ๓ ผมเคยให้สัมภาษณ์คลอเดีย รอสส์ แห่งบางกอกโพสท์เมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่า ถ้าถือตามคํานิยาม ของ พ.ร.บ. ป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ (ก) แล้ว นายพล ยอร์ช วอชิงตันกับผู้ร่วมมือในการเลิกล้มระบบปกครองของอังกฤษซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่ง ๑๓ อาณานิคมอเมริกานั้น ก็เป็นคอมมิวนิสต์ คนฝรั่งอีกหลายคนที่ล้มระบบพระมหากษัตริย์ก็เป็นคอมมิวนิสต์

จอมพล ลอนนอลกับพวกที่เลิกล้มระบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วตั้งสาธารณรัฐกัมพูชาขึ้นนั้นก็เป็นคอมมิวนิสต์ และบุคคลที่มีอํานาจทางการทหารและทางการเมืองในสยามที่สนับสนุนระบบของจอมพล ลอนนอล ก็ เข้าลักษณะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้กับคอมมิวนิสต์

ประการที่ ๔ คอมมิวนิสต์ตามคํานิยามของ พ.ร.บ. นั้นยังเพ่นพ่านอยู่ในวงราชการ หรือบางคนออกจากราชการประจําแล้วโดยเสวยสุขสําราญจากเงินราชการลับคนละหลายแสนหลายล้านบาท โดยทางราชการไม่ตรวจบัญชีว่าจ่ายเพื่อราชการลับจริงหรือไม่ และผลที่ได้จากการสืบสวนนั้นเป็นข่าวโคมลอยหรือเป็นข่าวที่จ้างให้ลูกสมุนเขียนยกเมฆขึ้น

(๓) เมื่อได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ควรที่จะเคารพ พ.ร.บ. ซึ่งพวกตนเขียนขึ้นเองว่า คอมมิวนิสต์มีเพียง ๓ ประการ

แต่ทว่าผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์กลับไปเอาควันหลงของฝรั่งที่เคยโฆษณาไว้ว่าคอมมิวนิสต์มีลักษณะที่ริบทรัพย์สินของบุคคล แล้วเอามาแบ่งให้พลเมืองได้ไปเท่า ๆ กัน ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ บางคนก็เอากระเส็นกระสายที่ได้ยินเรื่อง “การต่อสู้ระหว่างชนชั้น” นั้นมาสรุปว่า คอมมิวนิสต์ทุกชนิดที่ได้อํานาจรัฐแล้วก็เลิกชนชั้นให้หมดไปทันทีทันใด ผู้ต่อต้านบางคนที่ได้ศึกษาวิชาการเมืองซึ่งอย่างน้อยก็ต้องรู้ลัทธิเศรษฐกิจเบื้องต้นๆ ที่แทบทุกตําราสอนไว้ว่า ลัทธิสังคมนิยมนั้นถือหลักให้บุคคลได้รับปันผลตามความสามารถที่ตนทํางานให้กับสังคม มิใช่เป็นการแบ่งปันผลให้ทุกคนได้เท่ากัน แต่ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็บิดเบือนว่า “คอมมิวนิสต์พูดว่าไม่มีชนชั้น” แต่เหตุใดคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก และในประเทศจีนจึงยังมีชนชั้นอยู่อีก เพราะผู้ต่อต้านเห็นคนงานและพนักงานของรัฐยังมีฐานะดํารงชีพต่าง ๆ กัน ผู้ต่อต้านจึงโฆษณาว่าคอมมิวนิสต์ในประเทศๆ พูดหลอกลวงคนจนว่าไม่มีชนชั้น

ทั้งนี้ผู้ต่อต้านที่รู้ความจริงอยู่แล้วนั้นต้องการหลอกลวงคนที่มีซากทาส, ซากข้าไพร่ศักดินา, ให้คงนิยมฐานะเช่นนั้นของตนต่อไปถ้าหากมีคอมมิวนิสต์บางนิกายพูดว่า ถ้าตนได้อํานาจรัฐแล้วก็จะเลิกชนชั้นทันทีทันใดนั้นก็เป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์นิกายปลีกย่อยนั้นๆ ซึ่งมิใช่คอมมิวนิสต์มาร์กซิสต์โดยทั่วไปส่วนคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ในค่ายสังคมนิยมนั้นจะไม่กล้าพูดเช่นนี้ เพราะขัดต่อคําสอนของมาร์กซ์ที่กล่าวไว้ชัดแจ้ง…โดยมิได้หลอกลวงผู้ใดให้หลงเชื่อว่ามีอํานาจแล้วก็จะเลิกชนชั้นในทันทีทันใดยังไม่ได้ คือต้องดําเนินเป็นขั้นๆ ไปตามสภาพ, ท้องที่, และกาละของแต่ละสังคม คือ

ก. ขั้นที่ ๑ ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างทุนนิยมกับ สังคมนิยมในระหว่างเวลาหนึ่งก่อน คือ ชนชั้นในสังคมจึงยังมี อยู่เนื่องจากรากฐานทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน เมื่อพัฒนาพลังการผลิตและพัฒนาจิตสํานึกของสังคมนิยมของคนได้พอสมควรแล้วจึงนําสังคมเข้าสู่ระบบสังคมนิยม

ข. ขั้นที่ ๒ คือขั้นสังคมนิยมนั้น ในระยะแรกก็เป็นสังคมนิยมเบื้องต้นทางนิตินัยเท่านั้น คือ ปัจจัยการผลิตเป็นของสังคม แต่การทํางานเพื่อการผลิตนั้นก็ยังต้องอาศัยหลักที่ให้ปันผลแก่แต่ละคนตามความสามารถที่ตนทํางานให้แก่สังคมคือผู้ใดทํางานมากก็ได้มาก ผู้ใดทํางานน้อยก็ได้น้อย

(๔) เนื่องจากมีผู้เข้าใจผิดและสลับสับสนในความหมายของคําว่า “สังคมนิยม” และ “คอมมิวนิสต์” ผมจึงเห็นสมควร เสนอต่อท่านถึงความเป็นมาของคําทั้งสองนี้ในข้อต่อๆ ไป”

 

จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าก่อนหน้านี้มีงานค้นคว้าของนายปรีดีเรื่องการบัญญัติศัพท์เกี่ยวกับความคิดทางการเมืองและระบอบการเมืองไว้จำนวนหนึ่งแต่ไม่มีการอธิบายฉากหลังประวัติศาสตร์หรือที่มาของศัพท์บัญญัติทางการเมืองเหล่านั้นแต่ในทศวรรษ 2510 หรือช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 จะพบว่าข้อเขียนของนายปรีดีอธิบายทฤษฎีการเมืองและศัพท์บัญญัติภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ และได้ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของแนวทางคอมมิวนิสต์ แนวคิดสังคมนิยมหรือโซเชียลลิสม์ และกระแสความคิดทางการเมืองตะวันตกในบริบทสังคมไทยซึ่งในยุคนี้นายปรีดีได้สนใจปัญหาเรื่องชนชั้น การกดขี่ และศักดินาโดยอธิบายในเชิงลึกไว้ดังนี้

 

จากศรีอารยะไมตรีใหม่ถึงกำเนิดสังคมนิยมและโซเชียลลิสม์ในอังกฤษและฝรั่งเศส

 


ภาพของนายปรีดี พนมยงค์ ระหว่างการค้นคว้าและศึกษาหาความรู้ ณ บ้านอองโตนี ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ที่มาของภาพ: สถาบันปรีดี พนมยงค์

 

นายปรีดีอธิบายแนวคิดสังคมนิยมหรือโซเชียลลิสม์ในอังกฤษไว้ว่า

 

คําว่า “สังคมนิยม” ในภาษาไทยนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ มานี้เองก่อนนั้นขึ้นไปถ้าเรากล่าวถึงสิ่งที่เรียกเป็น ภาษาอังกฤษว่า “Socialism”, “Socialist”, เราก็ใช้วิธีเรียก ทับศัพท์คําอังกฤษนั้นว่า “โซเชียลิสม์, โซเชียลิสต์

ส่วนศัพท์อังกฤษ “Socialism” ซึ่งตรงกับภาษาฝรั่งเศส “Socialisme” นั้น ก็เป็นศัพท์ที่มีผู้ตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๑๙ อันเป็นสมัยที่มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตก เนื่องจากเศรษฐีเจ้าสมบัติซึ่งเป็นผู้ที่ครอบครองเครื่องมือ ในการผลิต (Instruments of Production) ที่พัฒนาโดยการอภิวัฒน์อุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นั้น มีความโลภที่จะหากําไรให้ได้มากขึ้นโดยเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบคนงานซึ่งเป็นการขูดรีดอย่างหนัก คนงานต้องทํางานวันละ ๑๒-๑๖ ชั่วโมง คนงานหญิงแม้จะมีครรภ์ก็ไม่ได้รับความปราณี ยิ่งกว่านั้นเจ้าสมบัติยังได้ใช้คนงานที่เป็นเด็กอายุระหว่าง ๑๐-๑๕ ปี จึงเป็นการทารุณเด็ก เมื่อเจ้าสมบัติได้กําไรมากขึ้นก็ได้ขยายวิสาหกิจของตน โดยอาศัยลัทธิตามระบบที่เรียกว่า “เสรีนิยม” ทําการแข่งขันกับวิสาหกิจหัตถกรรมตามระบบเศรษฐกิจศักดินา ทําให้โรงงานหัตถกรรมสมัยเก่า, ช่างฝีมือ, และผู้ประกอบการเศรษฐกิจตามวิธีเก่าต้องล้มเลิกหรือล้มละลาย คนส่วนมากต้องยากจนลงและผู้ที่ยากจนอยู่แล้วก็อัตคัดขัดสนยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงมีบุคคลคิดค้นวิธีการที่จะแก้ปัญหาที่ระบบทุนสมัยใหม่ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคมดังกล่าวนั้น

ในอังกฤษนั้น “โรเบอร์ท โอเวน” (Robert Owen) เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมแห่งโรงงานทอผ้าที่ “New Lanark” ในสกอทแลนด์นี้เองได้ริเริ่มปรับปรุงสภาพของคนงานให้ดีขึ้น โดยกําหนดชั่วโมงทํางานให้น้อยลง ให้ความปราณีแก่คนงาน หญิงที่มีครรภ์ ไม่ใช้คนงานเด็กที่เยาว์วัย ให้สวัสดิการแก่คนงาน และมีแผนการที่จะให้คนงานร่วมผลประโยชน์ของโรงงาน เขาเห็นว่าการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบเศรษฐกิจเป็นทางที่จะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมของสังคมได้ เขาจึงได้ทดลองจัดตั้งนิคมเรียกว่า “นิวฮาร์โมนี” (New Harmony) ซึ่งผมเห็นควรแปลเป็นภาษาไทยว่า “ศรีอารยะไมตรีใหม่” นั้นขึ้นในท้องที่แห่งหนึ่งในมลรัฐอินเดียนาแห่งสหรัฐอเมริกา แต่จิตสํานึกของสมาชิกนิคมนั้นยังไม่สูงพอที่จะเห็นแก่ส่วนรวมเป็นใหญ่ นิคมนั้นจึงต้องเลิก ขณะนั้นยังไม่มีคําว่า “Socialism เกิดขึ้น ทรรศนะของโอเวนจึงเรียกตามชื่อของท่านผู้นั้นว่า “ลัทธิโอเวนิสม์ (Owenism)”

 

ส่วนกำเนิดแนวคิดสังคมนิยมหรือโซเชียลลิสม์ในฝรั่งเศสจะไม่เน้นรากฐานจากความเสมอภาคทางเศรษฐกิจซึ่งแตกต่างจากในอังกฤษข้างต้นที่มีรากฐานความคิดมาจากการขูดรีดแรงงานและกรรมสิทธิ์ หากกำเนิดศัพท์บัญญัติโซเชียลลิสม์ในฝรั่งเศสมาจากหลักที่สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (Means of Production)

 

ในฝรั่งเศสตั้งแต่การอภิวัฒน์ใหญ่ ค.ศ. ๑๗๘๙ เป็นต้นมา ก็ได้มีนักอภิวัฒน์หลายคนที่ต้องการแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจของสังคม แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีคําว่า “Socia lism” เกิดขึ้น ลัทธิของท่านเหล่านี้จึงเรียกตามชื่อของแต่ละคน เช่น ลัทธิของ “บาเบิฟ” (Babeut) เรียกว่า “บาบูวิสม์” (Ba bouvisme), ลัทธิของฟูริเอร์ (Fourier) เรียกว่า “ฟูริเอริสม์” (Fourierisme) ต่อมานิตยสารอังกฤษชื่อ “Cooperative Magazine” ฉบับออกใน ค.ศ. ๑๘๒๖ และนิตยสารฝรั่งเศสชื่อ “Globe” ฉบับออกใน ค.ศ. ๑๘๓๒ ได้ใช้คําอังกฤษ “Socialism” (โซเชียลิสม์) และคําฝรั่งเศส “Socialisme” เพื่อเรียกลัทธิซึ่งสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (Means of Production) และอํานวยให้สมาชิกของสังคมร่วมมือกันในการผลิตโดยได้รับปันผลและสวัสดิการอย่างเป็นธรรมตั้งแต่นั้นมาลัทธิและทรรศนะใดที่มีลักษณะดังกล่าวนั้นทั้งที่มีอยู่แล้วก่อนมีศัพท์ใหม่นี้…”

 

ต่อมาภายหลังมีศัพท์ใหม่จึงรวมเรียกกันเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Socialism” โดยในฝรั่งเศส “Socialisme” และภาษายุโรปอื่นๆ ก็ตั้งเป็นศัพท์โดยแผลงจากคํานี้ เช่น ภาษาเยอรมันเรียกว่า “Sozialismus” เมื่อได้เกิดศัพท์อังกฤษ “Socialism” และฝรั่งเศส “Socialisme” ขึ้นแล้ว นายปรีดีชี้ให้เห็นว่ามีนักศึกษาหนุ่มๆ สมัยนั้นหลายคนที่ไม่พอใจระบบสังคมเก่าซึ่งต้องการแสดงตนว่าเป็นคนทันสมัยก็เรียกตนเองว่า “โซเชียลิสต์” ตามสมัยนิยม (Fashion) แต่ในสาระแท้จริงนั้นแตกต่างระหว่างกัน คือ บางคนต้องการเพียงปรับปรุงสังคมเก่าให้ก้าวหน้าขึ้นบ้างโดยไม่กระทบถึงระบบทุน แต่ต้องการให้คนยากจนมีฐานะดีขึ้นบ้าง, บางคนก็ต้อง การเปลี่ยนระบบสังคมเก่าขนาดน้อยบ้างมากบ้าง

ส่วนในบริบทสังคมไทยนายปรีดีกล่าวไว้ข้างต้นว่าได้มีผู้ถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “สังคมนิยม” ขึ้นใน พ.ศ. 2477 และได้รับความนิยมใช้มาจนถึงทุกวันนี้

 

กำเนิดศัพท์บัญญัติและลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย

นายปรีดีได้อธิบายที่มาของศัพท์คำว่า Communism หรือคอมมิวนิสต์ผ่านกรอบภาษาทางการเมืองและบริบททางประวัติศาสตร์ไว้ว่า

 

“...คําอังกฤษ “Communism”, “Communist” นั้น ฝ่ายต่อต้านลัทธินี้ก็ดีและฝ่ายนิยมลัทธินี้บางชนิดบางนิกายนั้นก็ดีมีความเห็นพ้องต้องกันอยู่อย่างหนึ่งในการเขียนอักษรไทยกับศัพท์อังกฤษและออกเสียงตามคําอังกฤษนั้นว่า “คอมมิวนิสต์, คอมมิวนิสต์” จึงต่างกับชาวคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนซึ่งถ่ายทอดคําอังกฤษนี้เป็นภาษาจีนว่า “กงฉาน” แปลเป็นไทยว่า “ลัทธิรวมสมบัติ” คนไทยที่มีเชื้อชาติจีนก็ย่อมรู้ว่า “กง” หมาย ถึง “รวม” ซึ่งจีนแต้จิ๋วก็ใช้ประกอบคําว่า “สี” เป็น “กงสี ราชบัณฑิตยสถานก็รับเอาเป็นคําไทยบรรจุไว้ในพจนานุกรมว่า

“กงสี” ๑ น. ของกลาง (จ)

“กงสี” ๒ น. กองกลางที่ใช้รวมกันสําหรับคนหมู่ หนึ่ง ๆ ที่ใช้ในความหมายว่าเป็นหุ้นส่วนบริษัทก็มี เช่น กงสี ทําการต้มกลั่นสุรา, (จ. ว่าบริษัททําการค้า, กิจการที่จัดเป็น สาธารณะ)

ความประสงค์ของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้นต่างกับความประสงค์ของฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์บางชนิดบางนิกายในการทับศัพท์อังกฤษนั้นเป็นภาษาไทยคือ ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์อาศัยการโฆษณาที่ฝรั่งทําติดต่อกันมากว่า ๑๐๐ ปี ดังกล่าวแล้วเป็นทุนในการทําให้คนเกลียด และกลัวคอมมิวนิสต์ก็มี ฉะนั้นถ้าฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเสริมการโฆษณาอีกบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็จะได้ผลในการต่อต้านทางสงครามจิตวิทยา ส่วนคอมมิวนิสต์บางชนิดบางนิกายก็มีทรรศนะโดยเฉพาะของเขาในการใช้ชื่อพรรคว่าคอมมิวนิสต์ แต่คอมมิวนิสต์ บางชนิดบางนิกายก็ไม่ใช้ชื่อพรรคว่าคอมมิวนิสต์...”

 

นายปรีดีได้กล่าวถึงที่มาของคําอังกฤษว่า “Communism” แผลงมาจากคําฝรั่งคือคำว่า “Communisme” ซึ่งมาจากมูลศัพท์ลาติน “Communis”และ “Communisme” ซึ่งมาจากมูลศัพท์ลาติน “Communis แปลว่า “การร่วมกัน” และคําว่า “Communia” ที่แปลว่า “องค์การร่วมกัน” และเล่าถึงกำเนิดคำว่า Bourgeois” (บูรจัวส์) หรือกระฎุมพีในภาษาทางวิชาการไทยและที่มาของ“Commune” ว่าเกิดขึ้นเมื่อยุคกลางของยุโรปคือในศตวรรษที่ 13 โดยพ่อค้า และนักหัตถกรรมที่อยู่ในย่านตลาดชนบทของฝรั่งเศสที่เรียกว่า “Bourg” (บูรณ์) ส่วนคนที่อยู่ในย่านตลาดนั้นก็เรียกว่า “Bourgeois” (บูรจัวส์) แปลเป็นไทยว่าชาวบุรีซึ่งเจ้าศักดินาท้องที่ถือว่าเป็นข้าไพร่ ต้องเสียส่งส่วยหรือบรรณาการให้เจ้าศักดินาท้องที่นั้น จนได้ต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากการกดขี่เบียดเบียนของเจ้าศักดินาท้องที่ ในการนั้นชาวบุรีได้ผนึกกําลังกันเป็นองค์การร่วม เรียกตามภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า “Comugne ซึ่งต่อ ๆ มาได้แผลงเป็น “Commune”

จากการต่อสู้ของข้าไพร่ในฝรั่งเศสที่ใช้วิธีดื้อแพ่งไม่ยอมส่งส่วยให้บ้าง ถวายฎีกาให้แก่พระราชาธิบดีบ้าง และวิธีไม่สันติอื่นๆ บ้าง การต่อสู้นั้นยืดเยื้อยาวนานกว่าจะได้ผล ในที่สุดพระราชาธิบดีซึ่งเป็นเจ้าสูงสุดเหนือเจ้าศักดินาทั้งหลายก็ได้พระราชทานสัมปทานให้ชาวบุรีแห่งย่านตลาดมีสิทธิปกครองตนเองได้ คําว่า “Commune” (กอมปืน) จึงเป็นศัพท์เรียกองค์การปกครองท้องถิ่นคือเทศบาลของฝรั่งเศสตั้งแต่นั้น ขณะนั้นหน่วยปกครองท้องที่ชั้นล่างสุดของฝรั่งเศสซึ่งเทียบได้กับตําบลของสยามนั้นเรียกว่า “กอมปืน” (Commune) คือ มีสภาพเป็นท้องถิ่นปกครองตนเองโดยใน ค.ศ. 1871 กรรมกรที่ยึดกรุงปารีสได้แล้วจัดตั้งรัฐของกรรมกรเรียกว่า “Commune de Paris” (สหการปารีส) แล้วเรียกตนเองว่า “Communard” (กอมมือนารย์)

ขณะที่การเกิดขึ้นของศัพท์และองค์กรคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีนั้น นายปรีดีเสนอว่า มาจากฝ่ายกรรมกรเยอรมันที่ทํางานในเบลเยี่ยม ในอังกฤษ ในฝรั่งเศส ซึ่งไม่พอใจระบบปกครองศักดินาเยอรมันก็ถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แต่เมื่อถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นกันแล้วจัดตั้งสมาคมกรรมกรขึ้นมีชื่อว่า “สันนิบาตคอมมิวนิสต์” (Communist League) โดยมีสมาชิกเป็นกรรมกรเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน เฟลมิช เดนิช พวกกรรมกรนั้นขอร้องให้มาร์กซ์กับเองเกลส์ช่วยค้นคว้าทฤษฎีสังคมที่เขาจะถือเป็นหลักนําการปฏิบัติ ท่านทั้งสองจึงได้เขียนแถลงการณ์ให้โดยเรียกว่า “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” เมื่อ ค.ศ. 1847 (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1848) แล้วกรรมกรต่างๆ ได้นําไปเผยแพร่ในประเทศของตน โดยเฉพาะกรรมกรเยอรมันได้นําไปแพร่หลายเข้ามาในดินแดนเยอรมัน

นายปรีดียังชี้ให้เห็นความหมายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ในทรรศนะของเองเกลส์ไว้ว่า

 

 “เองเกลส์กล่าวว่า ท่านกับมาร์กซ์มีทรรศนะตั้งแต่เริ่มแรกว่า “การปลดแอกชนชั้นคนงานต้องเป็นการกระทําโดย ชนชนคนงานเอง” ท่านจึงกล่าวว่าไม่เป็นที่สงสัยว่าในระหว่างชื่อสองชื่อนั้น (โซเชียลิสต์กับคอมมิวนิสต์) ท่านทั้งสองจะเลือกเอาชื่อใด

การใช้ชื่อพรรคและสมาชิกว่า “คอมมิวนิสต์” นั้น ได้เปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามสถานการณ์และตามสมัยนิยม (Fashion) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๔๗ เป็นต้นมา

 

ต่อมาแนวคิดคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และเองเกลส์ได้ส่งต่อไปยังเลนินในรัสเซียที่ประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวตาม “กฎธรรมชาติแห่งความขัดแย้งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง” (สสารธรรมประติการและวิวรรตการ) โดยนายปรีดีอธิบายไว้อย่างละเอียดว่า

 

มาร์กซ์และเองเกลส์มิใช่เป็นบุคคลดื้อรั้นที่ยืนยันว่าบทความที่ท่านเขียนไว้ถูกต้องทุกสภาพและทุกๆ กาละหรือ เป็น “สากลสัจจะ” ตามที่คอมมิวนิสต์บางนิกายต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น แต่ท่านทั้งสองได้สํารวจบทความของท่านบ่อยครั้ง ตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในภายหลังที่ท่านเขียนบทความนั้นๆ โดยเฉพาะแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งท่านทั้งสองเขียนขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๔๗ (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. ๑๘๔๘) ที่สานุศิษย์ถือกันว่าเป็นปฐมคัมภีร์ของปรมาจารย์นั้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๗๒ ท่านทั้งสองได้ลงนามร่วมกันเขียนคํานําแห่งคําแถลงการณ์ฯ นั้นฉบับภาษาเยอรมันซึ่งพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็นใจความว่า

ในระหว่างเวลา ๒๕ ปีต่อจาก ค.ศ. ๑๘๔๗ สภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงหลายประการ ท่านได้ยกอุทาหรณ์หลายเรื่องแล้วกล่าวว่า ถ้าท่านเขียนใน ค.ศ. ๑๘๗๒ แล้ว ท่านก็จะต้องเขียนเป็นอย่างอื่น ดังนั้นท่านจึงขอให้สานุศิษย์ถือเอาแต่เพียงหลักการใหญ่ของแถลงการณ์นั้นเท่านั้น แต่จะนําไปประยุกต์ที่ใดก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมแก่สภาพของแต่ละสังคมตามกาละต่างๆ หลักการใหญ่ที่สําคัญคือ “กฎธรรมชาติแห่งความขัดแย้งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง” (สสารธรรมประติการและวิวรรตการ)

เลนินเข้าใจความหมายของท่านทั้งสอง ดังนั้นจึงกล่าวว่าชาวมาร์กซิสต์รุสเซียถือเอาลัทธิมาร์กซ์เพียงเป็นหลักนําที่จะต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพของรุสเซีย

 

ส่วนแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้เดินทางมาถึงจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการค้นคว้าของนายปรีดีระบุว่า

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ลัทธิแก้ทางซ้ายได้ระบาดในหลายประเทศ เลนินจึงเขียนบทความเรื่อง “คอมมิวนิสต์ ปีกซ้าย, ความคิดระส่ําระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา” (Left-Wing Communism, an Infantile Disorder) หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีน ๓ คนก่อนเหมาเจ๋อตงนั้นได้ดําเนินตามลัทธิแก้ฝ่ายซ้ายทําให้เสียหายแก่พรรคฯ จีน มาก เมื่อเหมาเจ๋อตุงได้เป็นหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. ๑๙๓๕ แล้วก็ต้องต่อสู้ภายในพรรคกับพวกลัทธิแก้ทางขวา, และทางซ้ายสุดเหวี่ยง, และลัทธิอนาธิปัตย์ (อนาร์คิสม์) ตลอดมา ซึ่งปรากฏในบทความของเหมาเจ๋อตง และบทความของเลนิน เรื่อง “คอมมิวนิสต์ปีกซ้ายฯ” ฉบับภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส(และคําแปลภาษาจีน)

เหมาเจ๋อตงมิเพียงแต่ต่อสู้ทางทฤษฎีเท่านั้น หากต่อสู้ในทางปฏิบัติต่อพวกที่มีทรรศนะหรือซากทรรศนะทาส, ข้าไพร่, ทุนนิยม ซึ่งทําการตามรากฐานแห่งทรรศนะและซากทรรศนะเหล่านั้น ซึ่งแสดงถึงความเห็นแก่ตัวต่างๆ เช่น การแสดงในทางเป็นวีรบุรุษส่วนบุคคลในทางฉ้อโกงเงินขององค์การและของรัฐ เพราะถ้าบุคคลที่มีทรรศนะหรือซากทรรศนะเหล่านี้มีอยู่ในพรรคหรือองค์การสาธารณะแล้ว การดําเนินเพื่อสถาปนาสังคมนิยมก็ไม่อาจเป็นไปได้ ฉะนั้น เหมาเจ๋อตงจึงได้นําราษฎรจีนต่อสู้ปราบปรามพวกฉ้อโกงยักยอกเงินของสาธารณะ โดยท่านมิได้เห็นแก่หน้าบุคคลใดๆ แม้ผู้ที่เคยร่วมรบมามีชื่อเสียงในการต่อสู้ศัตรู และได้รับตําแหน่งสูง เช่น กรณีอดีตนายกเทศมนตรี นครเทียนสิน ที่เมื่อเรื่องมาถึงกรรมการกลางของพรรค ก็มีผู้ขอความกรุณาให้ลงโทษสถานเบา อ้างว่ามีความชอบในการรบ แต่เหมาเจ๋อตง ให้คติว่า “จริงอยู่เรารักเพื่อน แต่เรารักราษฎรยิ่งกว่า” กรรมการกลางจึงได้สติ แล้วลงมติขับไล่ผู้ฉ้อโกงนั้นออกจากพรรคฯ ส่งตัวให้ศาลของราษฎรชําระคดีศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต

 

ความคิดทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ของแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ไว้อย่างละเอียดด้วยการตอบคำถามปัญญาชนไทยในทศวรรษ 2510 เรื่อง ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่ ครั้งนี้แสดงให้เห็นข้อมูลใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองและความคิดทางการเมืองที่สำคัญคือ ความแตกต่างระหว่างหลักการ ความคิด การเคลื่อนไหว และจุดตั้งต้นของการเกิดขึ้นระหว่างแนวคิดคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยมในแต่ละบริบท สถานที่ และผู้นำ ซึ่งในสังคมไทยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าทั้งสองแนวคิดดังกล่าวนั้นเหมือนกัน ที่สำคัญคือ นายปรีดีได้ชี้ให้เห็นเรื่องการสร้างปีศาจคอมมิวนิสต์อย่างบิดเบือนจากหลักการในสังคมไทยโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2508-2519 เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองบางประการและยังสอดรับกับเหตุการณ์ต้องเนรเทศของนายปรีดีนับตั้งแต่ทศวรรษ 2470-2490 ที่ผ่านมา

 

หมายเหตุ : คงเลขไทย อักขร การเว้นวรรค และวิธีสะกดตามเอกสารของนายปรีดี พนมยงค์

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 เล่ม 69 ตอนที่ 69 ก, หน้า 1-6.

หนังสือภาษาไทย :

  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542).
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544).
  • ปรีดี พนมยงค์, ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์จะเหมาะแก่เมืองไทยหรือไม่. (กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, 2518).
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์.พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535).
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตย 2535).
  • ปรีดี พนมยงค์, เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร?. (กรุงเทพฯ: สยามการพิมพ์, 2517).
  • ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2553).
  • ไมตรี เด่นอุดม, โลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2553).
  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).

วิทยานิพนธ์ :

  • ตามไท ดิลกวิทยรัตน์, “คอมมิวนิสต์ในการเมืองไทย,” (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์, 2544).
  • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] รวบรวมข้อมูลจากสถาบันปรีดี พนมยงค์, หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข