Focus
- อายุบ เจ๊ะนะ รองประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและกรรมาธิการฯ สันติภาพ เสนอให้ นิยามคำว่า “ไฟใต้” ในความหมายที่ตรงกันและเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาในภาคใต้
- อายุบ เจ๊ะนะ กล่าวทิ้งท้าย ประเด็นความจำเป็นในการสร้างพื้นที่การแสดงออกให้กับคนในพื้นที่ในรูปแบบประชาธิปไตย เพื่อให้สันติภาพสามารถดำเนินต่อไปได้
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :
คำว่าปาตานี ก็ไม่สามารถพูดได้ ดิฉันมีประสบการณ์โดยตรง คือดิฉันเป็นผู้สื่อข่าวที่อาจจะเป็นคนแรกที่รายงานข่าวคำว่าปาตานีออกโทรทัศน์เมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือหลายปีที่แล้วพยายามที่ใช้พูดคำพูดนี้ไม่ได้ คำว่าชุดมลายูดิฉันก็ใส่ชุดมลายูออกทีวีเมื่อหลายปีก่อนไม่ได้โดนคดีแต่โดน io ถล่ม ขายชาติบ้าง ไปยกดินแดนให้เขาเลยเหรอฐปณีย์ โดนสารพัดนั่นคือสิ่งที่สะท้อนว่าเสรีภาพในการที่จะพูดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่จะใส่เสื้อผ้าที่จะทำแสดงออกถึงความเป็นตัวตนอัตลักษณ์ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ความภูมิใจในภาษาการแต่งกายไม่สามารถที่จะทำได้แล้วทำไม 20 ปีที่ผ่านมารัฐพยายามแสดงออกว่าทำได้แต่ไปไล่ตามจับทีหลังนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแน่นอน
คุณอายุบ 20 ปีที่แล้วน่าจะยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่ปัจจุบันเป็นทั้งภาคประชาสังคมเป็นนักกิจกรรม และก็เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพซึ่งคุยกันมาปีนึงแล้ว เราคาดหวังว่าสภาฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะหาทางออกเรื่องนี้แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นแนวทางที่จะเป็นรูปธรรมว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้รัฐบาลพลเรือน รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีการคาดหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญต่อที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนมือจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจะเอื้อต่อการที่จะสร้างสันติภาพให้กับประชาชนภาคใต้ได้แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นและกำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกกำลังเปลี่ยนนายกฯ ใหม่อีก คุณอายุบปัจจุบันก็เป็นผู้ต้องหาด้วยอย่างที่ฉันแนะนำไปคงจะเหมาะที่สุดแล้วที่จะถ่ายทอดความรู้สึกในช่วง 2 ทศวรรษที่อยู่ในพื้นที่ แล้วก็คนที่เผชิญปัญหาทุกรูปแบบ เชิญเลยค่ะ
อายุบ เจ๊นะ :
ครับต้องเรียนว่าขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่เปิดโอกาสให้เรื่องราวหรือสถานการณ์ในพื้นที่มาอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของประเทศในการที่จะให้คนทั้งประเทศเป็นเจ้าของกับสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งผมหมายความว่าเพราะว่าสิ่งนี้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไปในพื้นที่มันเป็นของพวกเราการสูญเสียที่ผ่านมามันไม่ได้หมายความว่าอีกฝั่งนึงเสียไปเท่าไหร่แล้วก็อีกฝั่งนึงเสียไปเท่าไหร่บาดเจ็บไปเท่าไหร่ อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นการให้คำนิยามที่ผิดซึ่งต้องนิยามว่าทั้งหมดที่เสียชีวิตไปเป็นเจ้าของประเทศซึ่งเราก็ไม่ควรที่จะทำให้เกิดการสูญเสียลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปมันจำเป็นที่จะต้องมีทางออกในการแก้ปัญหาซึ่งผมมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำการเมืองนำการทหารให้ได้เพราะว่าความขัดแย้งในพื้นที่นั้นไม่ใช่ในมิติในเรื่องของความขัดแย้งทางอาวุธอย่างเดียวถ้าจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนได้ผมว่ามันจำเป็นที่จะต้องนำการเมือง ในการแก้ปัญหานะครับ
ที่ผ่านมาสิ่งที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่มันเป็นผี ก็ถูกสร้างสถานการณ์ว่ามันเป็นผีอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ผีแบบเล่น ๆ นะผีแบบน่ากลัวสุด ๆ เป็นผีที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าชอบใช้ความรุนแรงบ้างต้องการที่จะแบ่งแยกเอกราชบ้าง แล้วก็ถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าการปฏิบัติการบางอย่างการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดมีความชอบธรรมนะครับ การมีเหตุความรุนแรงทำให้ต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พรบ.ฉุกเฉินฯ พรบ.ความมั่นคงฯ ก็เหมือนกัน ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งแต่ 2019 ถึง 2024 ณ ปัจจุบันการถูกวิสามัญ 110 คนซึ่งหมายความว่าชอบทำในเรื่องของการวิสามัญใช่หรือไม่ ซึ่งแน่นอนการทำให้เกิดการสูญเสียลักษณะแบบนี้มันก็ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ใช่แค่ผลกระทบแค่พูดเสียชีวิตอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ส่งผลกระทบให้กับครอบครัวญาติ ๆ ต่อไปซึ่งการเยียวยามันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบมันจะต้องได้รับการรับรอง 3 ฝ่ายอีกถ้าจะให้ได้รับการเยียวยาอันนี้มันก็เป็นปัญหาต่อ อันที่สำคัญผมมองว่าในเรื่องของการแก้ปัญหา การนิยามในเรื่องของกระบวนการสันติภาพหรือการสร้างสันติภาพ มองคนละแว่นในมิติความมั่นคงก็มองว่ากระบวนการการสร้างสันติภาพ มันเป็นเพียงการสร้างสันติสุขยุติเหตุความรุนแรงได้เมื่อไหร่
นั่นก็คือสามารถที่จะสร้างสันติภาพได้แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มองลักษณะแบบนั้นประชาชนในพื้นที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ ณ ปัจจุบันสู่สังคมที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคตนั่นคือการนิยามของคนในพื้นที่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มันแก้ปัญหาไม่ถูกจุดตลอดก็ยังต้องใช้การกดการปราบอย่างต่อเนื่องเพราะมันไม่ให้เกิดการลุกขึ้นมาเพื่อที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันจะเห็นได้ว่าการต่อสู้หรือการเรียกร้อง มันไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแค่ 20 ปีที่ผ่านมามันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอีกเท่าที่ผมศึกษาไม่เกิน 24 ไม่เกิน 23 ไม่เกิน 24 ปีก็จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาตลอดหมายความว่าอย่างไร
คุณสามารถที่จะกด คุณสามารถที่จะปราบได้แต่ในขณะเดียวกันแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ในขณะเดียวกันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวได้แต่สิ่งที่เราหาคำตอบในวันนี้ต้องการที่จะหาคำตอบการแก้ปัญหาในระยะยาวนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนได้ก็แน่นอน มันจะต้องพึ่งพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การแสดงออกให้มากเพราะผมเชื่อว่าการที่จะลดความรุนแรงได้ มันจำเป็นที่จะต้องอาศัยพื้นที่ทางการเมืองให้มากขึ้น ให้คุณสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้นต่อความต้องการของเขาถ้าเรื่องนี้มันสูงเมื่อไหร่ปัญหาความรุนแรงมันก็จะลดด้วยตัวของมันเองมันไม่ใช่วิธีการโดยที่ไปบังคับใช้กฎหมายการให้อำนาจแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกิน 100 เปอร์เซ็นต์
ณ ปัจจุบันไม่ได้ดูผลกระทบในเรื่องของการละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหนแต่เวลาถูกนำเสนอก็จะถูกนำเสนอในรูปแบบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนเท่าไหร่สถิติลดเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ได้มองในเรื่องของการเลือกปฏิบัติในเรื่องของการเก็บ DNA ของคนในพื้นที่เนี่ยออกมาอย่างน้อยต้องมี 2 คนต้องไปเก็บเพราะแม้กระทั่งกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้มีการเก็บ DNA เองแต่คุณก็สามารถที่จะใช้กฎอัยการศึก กฎหมายพิเศษในการที่จะเข้าไปบังคับใช้ยิ่งสูงกว่านั้นอีกก็คือกฎหมายสั่งซึ่งผมเจอมาตลอดมันสูงกว่ารัฐธรรมนูญอีกนายสั่งให้ปฏิบัติซึ่งในพื้นที่จำลองเรื่องของการบังคับใช้ทุกอย่างก็เห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้มันจะถูกแก้ไขด้วยการเมืองให้ได้นะครับ
อันที่ 2 ก็คือในเรื่องของจำเป็นที่จะต้องลดเงื่อนไขต่าง ๆ ในพื้นที่ให้ได้อันนี้สำคัญเพราะยิ่งเพิ่มเงื่อนไขเมื่อไหร่ความรุนแรงเนี่ยมันก็พร้อมจะปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเงื่อนไขเหล่านี้อะไรบ้างแน่นอน 1 ก็คือในเรื่องของการเลือกปฏิบัติที่ผมพูดไปเมื่อกี้นะครับ อันนี้มันจะต้องลดให้ได้การละเมิดสิทธิในพื้นที่มันจำเป็นที่จะต้องลดแล้วก็ทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ อันนี้ผมคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องดึงการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่คนในพื้นที่แต่คนทุกภาคส่วนเนี่ยต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหา ซึ่งถ้าผมดูในเรื่องของงบประมาณที่ผ่านมา 37 เปอร์เซ็นต์ เทไปในเรื่องของความมั่นคง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ 32 กว่าเปอร์เซ็นต์นี่อยู่ที่มิติในเรื่องของการพัฒนาถ้าท่าน ๆ ลงไปในพื้นที่ท่านจะได้รู้เลยว่าถนนเนี่ยกี่เส้นที่ทำใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา 2 สิ่งนี้ที่มันอยู่ในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
ตลอดระยะเวลา 40 ปีอายุผม การศึกษาก็ยังต่ำที่สุดเศรษฐกิจก็ยังต่ำที่สุดแต่ในเรื่องของงบประมาณ 38,000 ล้านต่อปีมันไม่ได้บรรจุมันไม่ได้ใส่เข้าไปในนั้นให้มากแล้วก็เพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อที่จะยกระดับสถานะความเป็นอยู่ของคนมลายูในพื้นที่ให้มีการศึกษาที่ดีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้มีเศรษฐกิจที่ดีคือไม่ได้มองเรื่องนี้มองแต่ว่าต้องหาข่าวให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้ยุติในเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากย้ำต่อการส่งมรดกต่อลักษณะแบบนี้ ผมเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นใช่ไหมเพราะท่านหะหยีสุหลงก็ถูกอุ้มหายก็ส่งต่อในเรื่องของมรดกเหล่านั้นมาสู่รุ่นนี้จะต้องรับรู้ต่อไปก็เหมือนกันผมถูกดำเนินคดีแน่นอนมรดกเหล่านี้ก็ต้องส่งต่อให้กับรุ่นต่อไปสิ่งเหล่านี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้นมันสามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยทางการเมืองได้ สามารถที่จะแลกเปลี่ยนกันได้เพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน ดังนั้น ผมคิดว่าพวกเราทุกคนจำเป็นที่จะต้องออกแบบพื้นที่ทางการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้แล้วก็พยายามที่จะดึงเรื่องที่มันเป็นผี ๆ ให้เป็นเรื่องที่สะอาดหรือเรื่องที่อะไรนะสร้างสรรค์ได้
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :
ขอบคุณ คุณอายุบตบมือให้กำลังใจด้วยนะคะ ในวันที่ 28 สิงหาคม อัยการอาจจะพิจารณาที่จะสั่งฟ้องนะคะ และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรแต่ที่ผ่านมาเหมือนกับรัฐเองสร้างภาพหลอนไม่ให้ดำเนินนโยบายแบบย้อนแย้งนะแต่ว่าจริง ๆ การพูดคุยกับ BRN เองตั้งแต่ที่พี่แมว (พล.ท. ภราดร) ไปลงนาม MOU กับผู้นำ BRN เอง 10 ปีที่แล้วหรือแม้กระทั่งฮัสซัน ตอยิบ หรือคณะพูดคุยสันติสุขที่ทำอยู่ในปัจจุบันเขาก็คุยอยู่ภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญไทยนั่นคือ การที่ฝ่ายกองกำลังที่มีอาจจะมีอิทธิพลมากสุดเขาเข้ามายอมรับในกระบวนการว่าการพูดคุยก็อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
นั่นคือ การแบ่งแยกดินแดน การที่จะประกาศเอกราชเป็นสิ่งที่ย่อมที่จะทำไม่ได้แต่ขณะที่รัฐไปพูดคุยกันอยู่แต่ในพื้นที่มันก็ยังสร้างภาพหลอนสร้างผีมาโดยตลอดว่าพวกนี้ยังคงมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน เด็กที่ทำกิจกรรมขึ้นมาที่อยากจะมาพูดถึงเรื่องของสร้างความเข้าใจภาคภูมิใจในเอกลักษณ์อัตลักษณ์ก็ถูกหาว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มฯ และตอนนี้ก็เป็นทั้งผู้ต้องหาแล้วก็ถูกถูกพยายามผลัให้พวกเขาคือผู้เห็นต่างตีตราสร้างตราบาปให้ว่าพวกเขานี่แหละคือกลุ่มที่จะมาสืบทอดอุดมการณ์ มีความคิดแบ่งแยกดินแดนและทำแบบนี้เพื่อต้องการเอกราช
นั่นคือ ความเป็นจริงซึ่งเราพูดอยู่บนหลักฐานความจริงเพราะว่าเราเห็นอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อวันที่เราไปรายงานตัวกับอัยการเมื่อต้นเดือนใช่ไหมคะ มีภาพของน้อง ๆ นักกิจกรรมที่ชูกำปั้นอยู่หน้าสำนักอัยการปัตตานีนั้น พี่แยมก็ไปด้วยแล้วก็หลายคนแชร์ภาพนี้เขาบอกด้วยพวกคุณคือคณะราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของพวกเขามันสะท้อนถึงคล้าย ๆ การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาในกรุงเทพฯ ที่เขาต่อสู้เพื่ออะไรเพื่อสิทธิเสรีภาพหรือต่าง ๆ แต่ภาพเหล่านั้นพวกเขาทำขึ้นไหมเพราะเขาอยากให้เป็นปฏิบัติต่อรัฐไหม พวกเขาอยากให้เกิดขึ้นไหมไม่เลยคนที่ทำให้เกิดให้พวกเขากลายเป็นปฏิบัติต่อรัฐเป็นฝ่ายตรงข้ามคือ รัฐเองต่างหากที่ไปดำเนินคดีเขาที่ไปผลักเขานะไปป้ายสีขาวไปตีตราเขา
นี่คือปัญหาที่จริง เราก็เชื่อว่าหลายอย่างเริ่มมองเห็นชัดแต่ทำไมถึงยังเดินไปสู่จุดนั้นได้ ขอให้คุณอายุบทิ้งท้ายแล้วกันนะคะ ซึ่งครั้งหน้าไม่รู้ว่าคุณจะได้ไปเรียนกรรมาธิการในสภาฯ หรือเปล่า หรือถูกสั่งฟ้องแล้วกลายเป็นติดคุกติดคุกขึ้นมาจะทำอย่างไร จะมีใครไปประกันตัวก็ไม่ได้อีกเพราะว่า สส. ฝ่ายค้านเขาเป็นปฏิปักษ์เขาไม่กล้าไปเป็นนายประกันให้คุณแล้วก็ได้ เชิญเลยค่ะ
อายุบ เจ๊นะ :
อันนี้ก็เป็นเรื่องจริงที่ประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ต่างกับท่านหะหยีสุหลงก็โดนลักษณะแบบนี้ที่เสนอข้อเรียกร้อง ซึ่งก็เป็นข้อเรียกร้องแนวทางแบบสันติวิธีสุดท้ายก็ถูกมองเป็นต้องการที่จะแบ่งแยกซึ่งอันนี้ก็คิดเหมือนกันคิดว่า 209,210 ไม่พอ ยังพ่วงมาตรา 1 เข้าไปด้วยซึ่งที่แปลกก็คือการที่มีรัฐธรรมนูญของประเทศแล้วก็มาตรา1 ด้วยระบุชัดเจน ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอะไรอย่างนี้ก็แสดงว่ารัฐก็ต้องมั่นใจในตัวรัฐธรรมนูญ ดังนี้การเปิดพื้นที่ไม่ได้หมายความว่าสามารถที่จะนำไปสู่ในเรื่องของการยกระดับในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนเพราะสเปนก็ชัดเจนในเรื่องกฎหมายก็สามารถที่จะพูดได้แสดงความคิดเห็นได้อันนี้ผมคิดว่ามันสำคัญสิ่งที่อยากเสนอก็คือมีอยู่ 2-3 เรื่องนะครับ
อันที่ 1 ผมอยากให้พวกเรานิยามในเรื่องของไฟใต้เนี่ยให้เป็นไฟที่มันตรงกันอันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ทุกภาคประชาชนทุกคนต้องนิยามในเรื่องของปัญหาภาคใต้ให้ตรงกันว่าเป็นปัญหาภาคใต้เป็นลักษณะแบบไหนเพราะถ้านิยามผิดก็จะเข้าใจในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นผิดไปด้วยบางคนก็จะนิยามว่าเป็นไฟไหม้ ไฟไหม้ป่าบางคนก็จะนิยามว่าเป็นไฟไหม้บ้านมันมีอะไรหลายไฟมาก พอเป็นลักษณะแบบนี้การดับไฟมันจะเป็นคนละเรื่องใช่ไหมไฟไหม้ป่าเอาเครื่องดับเพลิงถังเล็ก ๆ ไปฉีดแน่นอนอยู่แล้วนี่มันไปไม่ถูกแก้ปัญหาไม่ถูกจุดถ้าลัดวงจรมันจะต้องแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่งคิดว่ามันจะต้องนิยามในเรื่องของไฟใต้ให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนอย่าให้ส่วนกลางเข้าใจแบบนึงภาคใต้ก็เข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง
อันที่ 2 ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้จะต้องเป็นรูปธรรมเพราะที่ผ่านมาเราก็พยายามจะพูดว่า ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ หนึ่งก็คือผู้นำต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดไปเลยว่าต้องการที่จะแก้ปัญหาในภาคใต้ให้เสร็จภายในช่วงเวลาที่บริหารประเทศหรือต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติต้องกำหนดในนโยบายที่มีการแถลงเนี่ยให้ชัดเจนไปเลยไม่ต้องแบบกว้าง ๆ อันนี้ต้องให้ชัดไปเลย สอง คือนโยบายต้องมีส่วนร่วมประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุดเพราะที่ผ่านมาเป็น Top Down ตลอดเวลาโครงการ Mega Project ในพื้นที่ท่านสามารถที่จะไปดูเลยมีเยอะแยะแต่วันนี้ไม่มีเวลา
อันที่ 3 ต้องได้รับความยุติธรรม ไม่ดับเบิ้ลสแตนดาร์ดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนี่คือ หัวใจสำคัญความสัมพันธ์คือถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วยนะครับไม่ใช่มีอำนาจกฎหมายพิเศษมาคุ้มครองแล้วก็สามารถที่จะหลุดพ้นได้นะครับ
อันที่ 4 ต้องจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้อย่างเหมาะสมระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ให้ได้ปัญหาไม่ใช่การยุติในเรื่องของความรุนแรงอย่างเดียวแต่มันเป็นปัญหาทางการเมืองดังนั้นสิ่งนี้มันจะต้องถูกจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้อย่างเหมาะสมให้ได้อันต่อไปสิ่งที่ต้องมีก็คือต้องมีคนรับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องการแก้ปัญหาไม่ใช่อย่างปัจจุบันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ค่อยทางนึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็อีกทางหนึ่ง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ไปอีกทางหนึ่ง อันนี้เป็นปัญหาลดความทับซ้อนของโครงสร้างอำนาจที่ยังอยู่ในพื้นที่ให้มีความกระชับเรียบง่ายให้มากที่สุดไม่ใช่อ้างว่ามีเหตุการณ์จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างเพิ่มอันนี้มันกลายเป็นความซับซ้อนและก็สิ้นงบประมาณอย่างมาก
สุดท้ายคือ สร้างเกราะความปลอดภัยให้ได้พื้นที่เสรีภาพทางการเมืองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการให้หลักประกันในเรื่องของความปลอดภัยให้เกิดเพื่อที่จะให้คนในพื้นที่แล้ว ในทุกพื้นที่สามารถจะแสดงออกในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุนี้เกิดขึ้นความเป็นประชาธิปไตยในพื้นที่ขึ้นมันก็จะขับเคลื่อนไปได้ สันติภาพจะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ครับ
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s
ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์