ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ระบอบประชาธิปไตยที่หยุดชะงัก”: การสถาปนาอำนาจเผด็จการหลังรัฐประหาร 2490

19
กันยายน
2567

Focus

        
  • นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2523 เรื่องความคิดต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการอภิวัฒน์ 2475 รัฐธรรมนูญ และการรัฐประหารหลัง 2490

 

 

 

“ระบอบประชาธิปไตยได้หยุดชะงักลงตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยมีระบอบปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตย ซึ่งบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบปกครองชนิดดังกล่าวนั้น รวมทั้งผู้นิยมชมชอบด้วยต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

ปรีดี พนมยงค์

 

ผู้แทนสหภาพฯ :

ขอเรียนถามว่าภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 แล้วระบอบประชาธิปไตยได้ดำเนินไปอย่างใดบ้าง

ป.พ. :

(1) ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับนั้นแล้วคณะราษฎรก็พ้นจากหน้าที่บริหารและหมดหน้าที่ในการมีส่วนควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ : ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำเสนอของรัฐบาล

ฉะนั้นผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกประเภทที่ 2 ในสภาฯ นั้นจึงหมดหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นประกอบด้วยสภาผู้แทนและพฤฒสภา ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร

ผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎร จึงแยกย้ายกันไปประกอบธุรกิจของตนคือ ส่วนหนึ่งไปประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อีกส่วนหนึ่งสมัครใจรับใช้ชาติทางการเมือง โดยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ตามทรรศนคติของแต่ละคน อาทิ ‘นายควง อภัยวงศ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งประชาธิปัตย์, ‘พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคแนวรัฐธรรมนูญ, ‘นายสงวน ตุลารักษ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคสหชีพ ฯลฯ

ส่วนผมมิได้สังกัดพรรคใด ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง 9 พ.ค. 2489 จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร ฉะนั้นบุคคลใดในสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคใดแต่ถ้าเป็นรัฐบาลภายหลังวันดังกล่าวนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นต่อการบริหารของตน อาทิ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2489 ผมก็รับผิดชอบในนามของผมเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 29 ส.ค. 2489 ถึง 8 พ.ย. 2490 ก็รับผิดชอบในนามของตนเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคณะราษฎรที่สลายไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่เป็นธรรมที่จะให้นายควงฯ หรือผู้ก่อการฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดังกล่าวรับผิดชอบด้วย

(2) ระบอบประชาธิปไตยได้หยุดชะงักลงตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยมีระบอบปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตย ซึ่งบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบปกครองชนิดดังกล่าวนั้น รวมทั้งผู้นิยมชมชอบด้วยต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

 

ผู้แทนสหภาพฯ :

โปรดกรุณาชี้แจงว่าระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักลงตั้งแต่ 8 พ.ย. 2490 จนถึงปัจจุบันนี้อย่างใดบ้าง

ป.พ. :

เอกสารหลักฐานทางราชการและทางรัฐสภาปรากฏชัดแจ้งแล้ว ซึ่งผมขอสรุปดังต่อไปนี้

(1) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศไทยโดยล้มระบอบประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 ที่ได้บัญญัติไว้โดยถูกต้องตามวิธีการของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทาน

ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนาระบอบการปกครองใหม่โดยพลการ คือ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พ.ย. 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งได้บัญญัติให้มีวุฒิสภาที่สมาชิกได้รับการแต่งตั้ง มิใช่ด้วยการเลือกตั้งจากราษฎร ฉะนั้นจึงเป็นการดึงให้ประเทศไทยเดินถอยหลังเข้าคลองไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ระบอบของคณะรัฐประหารนั้นเป็นแม่บทให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492  และเป็นแม่บทให้แก่ระบอบปกครองต่อๆ มาอีกหลายระบอบ ซึ่งบางครั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง และบางครั้งไม่มีวุฒิสภาแต่ได้ฟื้นเอาวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่เลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 นั้นกลับมาใช้อีก

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(2) แม้ว่าระบอบปกครองประเทศไทย ได้ดำเนินตามแม่บทของคณะรัฐประหารเป็นเวลารวมได้ 12 ปีเศษ แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คณะบุคคลอีกคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” โดยจอมพลสฤษดิ์ฯ เป็นหัวหน้าได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และใช้อำนาจเด็ดขาดโดยสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิวัติมีอำนาจเด็ดขาดสั่งจำคุกและสั่งประหารชีวิตบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำผิดนั้นได้โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น ให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2502 ได้ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตามมาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (จอมพลสฤษดิ์ฯ) โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งหรือกระทำการใดๆ ได้ซึ่งหมายถึงอำนาจเด็ดขาดสั่งจำคุกและสั่งประหารชีวิตตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรในการปราบปรามการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือราชบัลลังก์หรือการบ่อนทำลายความสงบที่เกิดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น และผู้นิยมส่งเสริมระบอบนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(3) ในคำปรารภแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย ฉบับดังกล่าวใน (2) นั้นกล่าวไว้ใจความว่า ธรรมนูญฉบับนั้นใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ฉะนั้นในวันที่ 3 ก.พ. 2502 นั้นจึงได้มีประกาศแต่งตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 240 คน

สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลา 9 (เก้า) ปี จึงร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมตามความประสงค์นั้นสำเร็จ ผมขอให้สหภาพฯ กับนิสิตนักศึกษาและประชาชนบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ในโลกนี้ที่ไม่เคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใดเลย ที่ใช้เวลานาน ถึง 9 ปีในการร่างรัฐธรรมนูญ และผมขอให้สหภาพฯ โปรดสำรวจด้วยว่าในระหว่างเวลา 9 ปีนั้น ชาติไทยต้องเสียเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนเท่าใด

คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น รวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบอบเผด็จการนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

(4) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20  มิถุนายน 2511 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการร่างนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ใช้ต่อมาได้เพียง 3 ปี 5 เดือนเท่านั้น

ครั้นถึงวันที่ 17 พ.ย. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 นั้นก็ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศโดยล้มระบอบรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้น แล้วปกครองประเทศโดย “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ได้เหมือนดังที่กล่าวใน (2) และต่อมาได้มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515” ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเหมือนดังที่กล่าวใน (2) นั้น

คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้อีกว่า บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้นรวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบอบเผด็จการนั้น ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(5) ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งรัฐบาลจอมพลถนอมฯ พ้นจากตำแหน่งแล้ว รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อมานั้นได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง แล้วได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สภาฯ นั้นพิจารณาเห็นชอบให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งจากราษฎรและวุฒิสภาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

เมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้น แต่ได้พระราชทานพระราชดำริกับข้อสังเกตบางประการที่ทรงค้านว่า ขัดต่อหลักปกครองประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยเปลี่ยนจากประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ เช่นเดียวกับวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของคณะรัฐประหารและของฉบับ พ.ศ. 2492

ซึ่งมีผู้โฆษณาให้คนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น แทนที่จะให้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งวุฒิสมาชิกสภานิติบัญญัติเห็นชอบด้วยตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้วรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ลงนามพระปรมาภิไธยให้ใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเดิม พ.ศ. 2518” เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2518

ระบอบปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ดังกล่าวนั้น ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎรที่ต้องรับผิดชอบ

(6) เมื่อได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 2518 ดังกล่าวใน (5) ข้างบนนั้นได้ประมาณ 1 ปีเศษก็มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” โดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินล้มระบอบปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวใน (5) นั้นเมื่อพ.ศ. 2519 และได้ปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิรูป” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปมีอำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2501 และจอมพลถนอมฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 17 พ.ย. 2514 ที่ได้มีอำนาจดังกล่าวนั้นมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2519 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 29 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเด็ดขาดดังกล่าวนั้นด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำนองเดียวกับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2512 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ฯและฉบับ พ.ศ. 2514 ให้อำนาจเด็ดขาดแก่จอมพลถนอมฯ ดังที่ได้กล่าวแล้วใน (2) และ (4) นั้น

อนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตและจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา

ระบอบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

(7) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 ก็ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” ภายใต้การนำของ ‘พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่’ ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศ และได้ใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่าคำสั่งคณะปฏิวัติ ทำนองเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ฯ และจอมพลถนอมฯ และพล.ร.อ.สงัดฯ นั่นเองได้เคยใช้อำนาจเด็ดขาดมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2520 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 27 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเด็ดขาดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ ทำนองเดียวกันที่ได้กล่าวใน (2), (4), (6),นั้น

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งลงโทษผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา

ระบอบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

(8) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2521 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติหลายประการที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2492 ซึ่งสาระสำคัญสืบจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของรัฐประหาร พ.ศ. 2490 อาทิ กำหนดให้มีรัฐสภา คือ สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ระบอบปกครองดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

 

 

หมายเหตุ :

  • เนื้อหาบางส่วนจากการที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2523

 

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย), น. 67-71.