“ข้าพเจ้าถือว่าขบวนการเสรีไทยเป็นแต่เพียงกองหน้า (Vanguard) ของปวงชนชาวไทยผู้รักชาติเท่านั้น…ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง
ซึ่งแม้ผู้ที่จะไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิธีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี…”
ปรีดี พนมยงค์
ใน สุนทรพจน์ของรู้ธ หรือคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์
ต่อผู้แทนพลพรรค, 25 กันยายน 2488

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ รับความเคารพจากขบวนสวนสนามเสรีไทย วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 เบื้องหลังมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ และ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.
ภายหลังการประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในบริบทการเมืองโดยนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัฐบาลพลเรือนโดยในช่วงแรกมีนายทวี บุณยเกตุ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 17 วัน และต่อมาทาง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 โดยภารกิจสำคัญหลังสงครามของนายปรีดี หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ และพลพรรคเสรีไทยคือ การสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยราว 8,000 คน บนถนนราชดำเนินกลาง ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งการสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินนั้นมีนายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ เป็นประธานฯ พิธีการสวนสนามมีพลพรรคเสรีไทยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง เพื่อให้สหประชาชาติรับทราบว่า อาวุธที่ส่งมอบให้แก่เสรีไทยในช่วงปฏิบัติการยังมีอยู่ครบถ้วน
ประการที่สอง เพื่อให้เห็นว่าพลพรรคเสรีไทยพร้อมที่จะต่อสู้กับข้าศึกถ้าจำเป็นทั้งเป็นการประกาศต่อสากลว่าประเทศไทยยังสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชสมบูรณ์มิได้ถูกยึดครองและถูกปลดอาวุธอย่างผู้แพ้สงคราม ภายหลังการสวนสนามอาวุธยุทธภัณฑ์ของเสรีไทยได้นำมาเก็บไว้ในกรมสรรพาวุธทหารบกให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
ดังนั้น พิธีสวนสนามที่มาพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรครั้งนี้จึงเป็นการแสดงออกให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศและจากการประกาศว่าสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่นั้นเป็นโมฆะ

วันสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย 25 กันยายน 2488

ภาพสตรีสมาชิกเสรีไทยเข้าร่วมการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
บรรยากาศในวันสวนสนามฯ ได้ถูกบันทึกไว้โดยช่างถ่ายภาพยนตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนอกจากภาพพิธีทางการของสมาชิกเสรีไทยซึ่งปรากฏภาพผู้เข้าร่วมเป็นประชาชนทั้งชาย-หญิง นักเรียน นิสิตนักศึกษา กรรมกร และพ่อค้าหลายวัย หลากอาชีพอยู่นั่งอยู่รอบถนนราชดำเนินกลางที่ให้ความสนใจและยินดีกับพลพรรคเสรีไทยเป็นจำนวนมาก





ภาพการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
ความหลากหลายของขบวนการเสรีไทยทั้งประชาชน เพศ และอาชีพแล้วในส่วนของฝ่ายนักศึกษานอกจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่เสรีไทยใช้พื้นที่บางส่วนในการปฏิบัติการเสรีไทยแล้วในปี 2488 ยังมีการจัดตั้งสมาชิกเสรีไทยที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ขึ้นโดยนิสิตกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมการสวนสนามฯ ด้วยในฐานะนักเรียนนายทหารสารวัตรหรือเตรียมพลนิสิตจุฬาฯ ภายใต้โรงเรียนนายทหารสารวัตรที่ริเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 โดยพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ สมาชิกเสรีไทย ได้เข้าปรึกษาหารือกับนายปรีดี พนมยงค์ ว่าขบวนการเสรีไทยต้องมีหน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร (Gurrilla War-fare) ที่มีการรบทั้งในป่าและในเมืองรวมถึงใช้อาวุธทันสมัยเพื่อใช้ดำเนินงานผลักดันกองทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทย ประกอบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้นยุติการเรียนการสอนชั่วคราวเพราะภัยสงคราม พลเรือตรี สังวรจึงเสนอว่านิสิตชายจุฬาฯ พร้อมและเหมาะสมเข้ารับการฝึกเนื่องจากเป็นยุวชนทหารมาแล้ว
เมื่อปรีดีเห็นด้วยกับข้อเสนอทางพลเรือตรี สังวรจึงขอเข้าพบหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ได้อนุญาตให้นิสิตไปช่วยราชการในยามสงครามได้หากให้เป็นไปด้วยความสมัครใจและมีการเรียกนิสิตชายราว 400 คน เข้าประชุมด่วนและปิดลับในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 298 คน แบ่งออกเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยรบ 273 คน และหน่วยสื่อสาร 25 คน และหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศกยังได้อนุมัติเงินรายได้ของจุฬาฯ สมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตในระหว่างปฏิบัติราชการลับครั้งนี้ด้วย

สงวน ตุลารักษ์
นายสงวน ตุลารักษ์ หนึ่งในสมาชิกเสรีไทยคนสำคัญเล่าว่า เมื่อการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยจบลงแล้วในช่วงเย็นของวันนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ที่มีนามแฝงในขบวนการเสรีไทยว่า “รู้ธ” ได้เชิญผู้แทนพลพรรคเสรีไทยทุกหน่วยไปร่วมสโมสร ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และนายปรีดีได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้แทนพลพรรคเสรีไทยฯ ซึ่งได้มีการกล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกและเป็นสุนทรพจน์ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยไว้ดังต่อไปนี้
สุนทรพจน์ของ “รู้ธ” ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488



ภาพของปรีดี พนมยงค์ ในการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย
สรุปสุนทรพจน์ของรู้ธ หรือ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ในงานสโมสรภายหลังการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 แสดงให้เห็นทัศนะเรื่องขบวนการเสรีไทยของนายปรีดี 3 ประการสำคัญได้แก่
ประการที่หนึ่ง จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของขบวนการเสรีไทยนั้นมีเจตนาอันบริสุทธิ์ และปรีดีถือหลักเป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน ทั้งได้กล่าวย้ำถึง การกระทำคราวนี้มิได้ก่อตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจ เพื่อให้ประเทศชาติได้กลับสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
นายปรีดียังระบุชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้วและมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิกและสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา
ประการที่สอง สถานะของสมาชิกเสรีไทยคือผู้รับใช้ชาติ นายปรีดีกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างแยบคายเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนและสมาชิกเสรีไทยมีความสำคัญเท่าเทียมกันในการช่วยต่อต้านฝ่ายอักษะจนนำมาสู่การประกาศสันติภาพได้
“ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้น สามารถจะทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น”
ประการที่สาม นายปรีดีขอบคุณบุคคลผู้ที่มีความสำคัญและแสดงความเสียใจต่อผู้ที่จากไปจากการปฏิบัติภารกิจในขบวนการเสรีไทย สุนทรพจน์ช่วงท้ายนี้สะท้อนทัศนะของนายปรีดีที่ให้เกียรติบุคคลที่ร่วมงานและเคารพต่อผู้ที่เสียชีวิตโดยระบุชื่อบุคคลสำคัญไว้อย่างละเอียด
“ในส่วนผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษ และคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ
ส่วนภายในประเทศข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกตุ นายพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ นายดิเรก ชัยนาม พลโท สินาด สินาดโยธารักษ์ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้ารองและผู้ที่ประจำในกองบัญชาการ ขอบใจหัวหน้าพลพรรคและพลพรรคอื่นทั้งหลาย ซึ่งถ้าจะระบุนามในที่นี้ก็จะเป็นการยืดยาว การกระทำของท่านเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในสมุดที่ระลึกซึ่งข้าพเจ้าจะสั่งให้รวบรวมขึ้น…
ในงานปฏิบัติหน้าที่คราวนี้ ได้มีสหายของเราเสียชีวิตไปหลายคน อาทิ พระองค์เจ้าจีระศักดิ์ฯ นายจำกัด พลางกูร นายสมพงศ์ ศัลยพงศ์ นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และพลพรรคอื่นอีกหลายคนซึ่งหัวหน้าพลพรรคกำลังสำรวจรายนามขอให้สหายทุกคน ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ตั้งจิตอธิษฐานให้วิญญาณของผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วในงานนี้จงอยู่ โดยผาสุกในสัมปรายภพ…”
สุนทรพจน์ของรู้ธสะท้อนให้เห็นแนวคิดเสรีภาพของนายปรีดีเกิดมาจากความร่วมมือของรัฐบาลใหม่ และสมาชิกขบวนการเสรีไทยเดิมผลักดัน ช่วยเหลือ เจรจาต่อรองด้วยความอดทนและเท่าทันเกมการเมืองระหว่างประเทศ โดยในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2488 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเรื่องข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อใหนาย้เสริม วินิจฉัยกุล หนึ่งในคณะเจรจาฯ เดินทางไปเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ ณ ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489
ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489 ได้มีการประกาศการยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย และในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 กองทหารของอังกฤษได้จัดพิธีสวนสนามฯ ขึ้นและกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีฯ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์เดินทางมาร่วมในพิธีสวนสนามฯ ด้วยจะเห็นได้ว่าสันติภาพของประชาชนไทยนอกจากจะได้มาด้วยการต่อสู้แล้วยังมาจากความร่วมมือสมานฉันท์ และสามัคคีของทั้งผู้ปกครองและประชาชนโดยหัวใจของความสำเร็จนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล ดังในสุนทรพจน์ของ ‘รู้ธ’ ซึ่งกล่าวไว้เมื่อ 79 ปีที่ผ่านมา
ภาคผนวก

สุนทรพจน์ของรู้ธ
สหายทั้งหลาย
ข้าพเจ้าเชิญท่านมาร่วมสโมสรในวันนี้ ไม่ใช่ในฐานะตำแหน่งราชการของข้าพเจ้าหรือของท่าน ข้าพเจ้าเชิญท่านมาในฐานะสหายที่ได้ร่วมกันรับใช้ประเทศ ข้าพเจ้าจักต้องขออภัยสหายอื่นอีกมากมายที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเชิญท่านมาในคราวเดียวกันพร้อมกันได้หมดเนื่องด้วยสถานที่คับแคบเกินกว่าจำนวน ฉะนั้น จึงขอร้องท่านทั้งหลายช่วยติดต่อไปยังสหายตามหมวดหมู่ต่างๆ ให้ทราบถึงปรารภของข้าพเจ้าในวันนี้โดยทั่วกันด้วย
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือหลักเป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล
การกระทำคราวนี้มิได้ก่อตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจ เพื่อให้ประเทศชาติได้กลับสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แม้ว่าการดำเนินงานจะได้จัดให้มีองค์การบริหารคือ กองบัญชาการสำนักงานหรือสาขาใด ๆ ขึ้น ก็เพื่อความจำเป็นที่จะให้งานนี้ได้มีระเบียบอันนำมาซึ่งวินัยและสมรรถภาพ สมาคมซึ่งมีสมาชิกน้อยกว่าผู้ร่วมงานคราวนี้ต้องมีกรรมการฉันใดผู้ร่วมงาน คราวนี้ซึ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งจำต้องมีองค์การบัญชาการฉันนั้น เมื่อองค์การในการรับใช้ชาติจำเป็นต้องมีขึ้นดังกล่าวแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีนามสำหรับในการนี้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนชาวไทยอยู่ในต่างประเทศได้รับความรับรอง ตลอดมา ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกองค์การและผู้ร่วมงานในต่างประเทศว่า “เสรีไทย” เพราะเวลานั้นต่างประเทศเข้าใจว่า ประเทศไทยอยู่ภายใต้ครอบครองของญี่ปุ่น เสรีไทยไม่ใช่ผู้ที่อยู่ใต้ครอบครอบของญี่ปุ่น ความหมาย ก็คือ ไทยที่เป็นเสรี ไทยทั้งหลายที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นอิสระ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต่างประเทศรับรองการกระทำของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ หาใช่เป็นคณะหรือพรรคการเมืองไม่
ส่วนองค์การต่อต้านภายในประเทศนั้น ในชั้นเดิมไม่มีชื่อเรียกองค์การว่าอย่างไร การชักชวนให้ร่วมงานตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นต้นมา ก็ชักชวนเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นให้พ้นประเทศ และเมื่อองค์การภายในและภายนอกนี้มีชื่อว่า Free Siamese Movement หรือขบวนการเสรีไทยเป็นนามสมญาที่ควรยอมรับ ข้าพเจ้าก็ได้ถือเอานามนี้โต้ตอบกับต่างประเทศโดยใช้นามองค์การว่า องค์การขบวนเสรีไทย ซึ่งเราทั้งหลายก็จะเห็นได้ชัดอีกว่าไม่ใช่เรื่องคณะพรรคการเมือง
วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้วและมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือ เมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง และเพราะเหตุที่การกระทำคราวนี้เป็นการสนองคุณชาติ ผู้ใดจะรับราชการในตำแหน่งใดหรือไม่นั้นจึงต้องเป็นไปตามความสามารถตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนเหมือนดังคนไทยอื่นทั้งหลาย เราพึงพอใจด้วยความระลึกและด้วยความภาคภูมิใจว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดมาเป็นคนไทย จริงอยู่ ในระหว่างที่สะสางให้สภาพของประเทศกลับเข้าสู่ฐานะเดิม ได้มีผู้ร่วมงานคราวนี้บางคนรับตำแหน่งในราชการ แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า บุคคลเหล่านั้นเข้ารับหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายโดยพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติ หรือนัยหนึ่งเป็นการปฎิบัติตามคำสั่ง เพื่อจัดการเรื่องที่เกี่ยวพันอยู่กับนานาประเทศให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น หาใช่เป็นการเอาตำแหน่งราชการมาเป็นรางวัลไม่
ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้น สามารถจะทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ชาติจะเป็นโดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจนั้นก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นในทางพฤตินัย ไม่ใช่คนไทย เพราะการกระทำของเขาเหล่านั้น ไม่ใช่การกระทำของคนที่เป็นไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงโดยนิตินัย คือ เป็นคนไทยเพราะกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
ข้าพเจ้าจึงกล่าวได้ในนามของสหายทั้งหลายว่า ราษฎรทั้งปวงประมาณ 17 ล้านคน ที่เป็นคนไทยทั้งโดยทางนิตินัยและพฤตินัยนั้นเอง เป็นผู้กู้ชาติไทย ฉะนั้น ผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องขอขอบคุณอย่างสูงยิ่งก่อนอื่น ก็คือ คนไทยทั้งปวงนี้
ในส่วนผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษ และคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ
ส่วนภายในประเทศข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกตุ นายพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ นายดิเรก ชัยนาม พลโท สินาด สินาดโยธารักษ์ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้ารองและผู้ที่ประจำในกองบัญชาการ ขอบใจหัวหน้าพลพรรคและพลพรรคอื่นทั้งหลาย ซึ่งถ้าจะระบุนามในที่นี้ก็จะเป็นการยืดยาว การกระทำของท่านเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในสมุดที่ระลึกซึ่งข้าพเจ้าจะสั่งให้รวบรวมขึ้น ข้าพเจ้าขอขอบใจทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกับข้าพเจ้าในงานรับใช้ชาติคราวนี้โดยทั่วกัน
ในงานปฏิบัติหน้าที่คราวนี้ ได้มีสหายของเราเสียชีวิตไปหลายคน อาทิ พระองค์เจ้าจีระศักดิ์ฯ นายจำกัด พลางกูร นายสมพงศ์ ศัลยพงศ์ นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และพลพรรคอื่นอีกหลายคนซึ่งหัวหน้าพลพรรคกำลังสำรวจรายนามขอให้สหายทุกคน ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ตั้งจิตอธิษฐานให้วิญญาณของผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วในงานนี้จงอยู่ โดยผาสุกในสัมปรายภพ
ในที่สุดนี้ ขอให้สหายทั้งหลายจงพร้อมใจกันเปล่งเสียงไชโย เพื่อสดุดีคนไทยทั้งปวง โดยขอให้คนไทยทั้งปวงเสวยความสุขเกษมสำราญในสันติภาพอันถาวรและอวยพรให้ชาติไทยตั้งมั่นเป็นเอกราชอยู่ชั่วกัลปวสาน
หมายเหตุ :
- ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสถาบันปรีดี พนมยงค์
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, เล่มที่ 58, หน้า 1821-1823.
- ราชกิจจานุเบกษา, แถลงการณ์ เรื่อง การยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย และแถลงการณ์. ประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489. เล่มที่ 63 ตอนที่ 4 ก., หน้า 15-46.
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- ปรีดี พนมยงค์. คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517. ม.ป.ท.: สหประชาพาณิชย์ (แผนกการพิมพ์), 2517.
- ปรีดี พนมยงค์. สุนทรพจน์ของ “รู้ธ” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน ตุลารักษ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2538. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2538.
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516.
หนังสือภาษาไทย :
- กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527)
- นายฉันทนา, X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522)
- ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516)
- ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, เสรีไทย : อุดมการณ์ที่ไม่ตาย, (คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546)
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (25 มีนาคม 2565). กำเนิด “เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ” หน่วยอาสากว่า 300 คน ทำเพื่อเอกราช-อธิปไตยไทย. https://www.silpa-mag.com/history/article_54144, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
- นรนิติ เศรษฐบุตร. 25 กันยายน พ.ศ. 2488. http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=25_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2488, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
- ปรีดี พนมยงค์. (25 กันยายน 2563). สุนทรพจน์ของรู้ธ. https://pridi.or.th/th/content/2020/09/431, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (5 สิงหาคม 2563). สงวน ตุลารักษ์ : ผู้ประสานงานรอบทิศของขบวนการเสรีไทย. https://pridi.or.th/th/content/2020/08/368, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (2563). การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย. https://www.youtube.com/watch?v=qLiOfUqBaN0 , เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
- อนุสรณ์ ธรรมใจ. (7 พฤษภาคม 2563). ภารกิจเพื่อสันติภาพและเอกราชของขบวนการเสรีไทย. https://pridi.or.th/th/content/2020/05/243, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567