ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สงวน ตุลารักษ์ : ผู้ประสานงานรอบทิศของขบวนการเสรีไทย

5
สิงหาคม
2563

บทบาทของนายสงวน ตุลารักษ์ ในหน้าประวัติศาสตร์เสรีไทย มีความชัดเจนและโดดเด่น ซึ่งหากจะพิจารณาอย่างเป็นธรรมและถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นรองกว่าบุคคลอื่น ๆ ในขบวนการเสรีไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

 

สงวน ตุลารักษ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
สงวน ตุลารักษ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)

 

นายสงวน ตุลารักษ์ คือ “ทูต” ขององค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศที่ออกไปประกาศให้โลกภายนอกได้ทราบว่า แม้ว่าหลังจากวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นจะได้ครอบงำประเทศไทย แต่คนไทยผู้รักชาติก็มิได้ยอมสยบต่อผู้รุกราน และได้ก่อตั้งองค์การใต้ดินขึ้นภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายสงวน ตุลารักษ์ทำให้ทางจุงกิงเชื่อถือและวอชิงตันยอมรับความจริงแห่งสถานภาพของประเทศไทย ทั้งประสบความสำเร็จในการ “ประสาน” ให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยในสหรัฐอเมริกายินยอมให้สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ตลอดจนองค์การเสรีไทยในอเมริกาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ส่งผลให้ทางอังกฤษคล้อยตามไปในทางเดียวกัน

และที่สำคัญก็คือนายสงวนได้โน้มน้าวให้บรรดานายทหารเสรีไทยนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายอเมริกา ยอมรับในความเป็นประมุขขบวนการเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ ภารกิจของนายสงวนทั้งหมดนี้คือกุญแจที่ไขไปสู่ความเป็นเอกภาพของขบวนการเสรีไทย และการรับรองฐานะของขบวนการจากประเทศสัมพันธมิตร ทำให้ไทยสามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้ได้ในที่สุด ซึ่งนายสงวน ตุลารักษ์ได้รับใช้และสนองคุณชาติบ้านเมืองอย่างสมบูรณ์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย

นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นบุตรของนายณัฐกับนางฟัก ตุลารักษ์ ถือกำเนิดที่ปลายคลองบ้านหมู่ ตำบลเสม็ดเหนือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 ได้รับการศึกษาในหลายโรงเรียนและในหลายจังหวัด จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2464 อีก 4 ปีต่อมา นายสงวน ตุลารักษ์สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

 

สงวน ตุลารักษ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
สงวน ตุลารักษ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)

 

นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เข้าทำงานครั้งแรกที่กรมราชทัณฑ์ในปี พ.ศ. 2477 และในช่วง พ.ศ. 2478 - 2480 นายสงวนได้ไปเป็นผู้บัญชาการเรือนจำภาคยะลา จากนั้นก็ได้ย้ายกลับมาเป็นหัวหน้ากองผลประโยชน์กรมราชทัณฑ์ในปี พ.ศ. 2481 และในปี พ.ศ. 2483 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมขอโอนตัวนายสงวนมาดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโรงงานยาสูบ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังในเวลาต่อไป

ตอนเย็นวันเดียวกับที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ดินแดนของไทยเป็นเส้นทางเดินทัพไปโจมตีอังกฤษในมลายูและพม่า นายสงวนและมิตรสหายของนายปรีดี พนมยงค์จำนวนหนึ่งไปรอพบนายปรีดีอยู่ที่บ้านถนนสีลมของนายปรีดี คนกลุ่มนี้ได้ปรึกษาหารือกันถึงสถานการณ์อันตึงเครียดและคับขันของประเทศ และได้มีการจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ขึ้นอย่างลับ ๆ เพื่อต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานด้วยพลังของคนไทยทั้งชาติโดยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีความเข้าใจในเจตนารมณ์อันแท้จริงของราษฎรไทย โดยมอบให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้าองค์การซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “ขบวนการเสรีไทย” และกำหนดแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ต่อไป

ออกตามหานายจำกัด พลางกูร

จนกระทั่งถึงเมื่อต้นเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2486 นายจำกัด พลางกูรได้รับมอบหมายให้ลักลอบออกไปประเทศจีนเพื่อปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทย แต่ทางจีนได้ส่งนายจำกัดมาที่จุงกิงและต้องอยู่ที่นั่นเป็นเวลากว่าครึ่งปี นายปรีดี พนมยงค์จึงได้มอบหมายให้นายสงวน ตุลารักษ์ ออกเดินทางไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรและติดตามข่าวจากนายจำกัดด้วย

นายสงวน ตุลารักษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบได้แถลงว่าจะเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อหาซื้อใบยาสูบ และได้เดินทางออกจากกรุงเทพมหานครในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 โดยขึ้นรถไฟไปพระตะบอง เพื่อเดินทางต่อไปไซง่อน และถึงฮานอยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 แต่แทนที่จะลงเรือไปญี่ปุ่น นายสงวนกลับแอบขึ้นรถยนต์รางไปไฮฟอง แล้วลงเรือที่นั่นในอีกสองวันต่อมา ถึงเมืองมองกายชายแดนจีนในวันรุ่งขึ้น

นายสงวน ตุลารักษ์รีบติดต่อกับทางการจีนที่จุงกิงทางโทรเลข และสำเร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจึงได้ออกเดินทางไปจุงกิงในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2486 โดยทางการจีนจัดคนนำทางและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลคอยต้อนรับในบางพื้นที่

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2486 นายสงวน ตุลารักษ์ได้เข้าไปเยี่ยมนายจำกัด พลางกูรที่โรงแรมวิคตอเรียเฮาส์ จึงทราบว่านายจำกัดกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อนายจำกัดเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล นายสงวนก็ได้เข้าไปเยี่ยมนายจำกัดเกือบทุกวัน จนกระทั่งนายจำกัดได้เสียชีวิตลงในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486 นายสงวนก็ได้เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับทางการจีนเรื่องการจัดงานศพให้นายจำกัดด้วย

ผู้ประสานงานรอบทิศ

หลังจากที่นายจำกัด พลางกูรเสียชีวิต นายสงวน ตุลารักษ์ก็ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทยต่อ โดยประสานงานและร่วมมือกับเสรีไทยสายอเมริกา นายสงวนได้เดินทางไปกรุงวอชิงตันในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 เสร็จสิ้นภารกิจที่จุงกิงอันรวมเวลาประมาณสองเดือนครึ่ง

ที่กรุงวอชิงตัน นายสงวน ตุลารักษ์ได้รับการต้อนรับจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และสถานทูตไทยเป็นอย่างดี ในตอนนี้เองที่นายสงวนได้เป็นสื่อสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างเสรีไทยในสหรัฐอเมริกากับเสรีไทยภายในประเทศ หรืออีกนัยหนึ่ง นายสงวนเป็นผู้เชื่อมโยงองค์การใต้ดินในประเทศไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์เข้ากับเสรีไทยในอเมริกาที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชเป็นหัวหน้า ระหว่างที่พำนักอยู่ในกรุงวอชิงตันประมาณ 3 เดือน นายสงวนได้พบกับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และผู้แทนของประเทศสัมพันธมิตร ทำให้โลกภายนอกและฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่ามีขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยมีความประสงค์ที่จะร่วมงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อทำสงครามกับญี่ปุ่น

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2487 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชให้นายมณี สาณะเสนพานายสงวน ตุลารักษ์เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อให้ข้อมูลและยืนยันสถานภาพของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศที่ประสงค์จะร่วมกับมือฝ่ายสัมพันธมิตรกับทางอังกฤษ หลังจากนั้น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2487 นายสงวนจึงได้เดินทางไปปฏิบัติงานอยู่กับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของหน่วยโอ.เอส.เอส. ที่ลังกา โดยภารกิจที่นายสงวนได้รับมอบหมายนั้นคือการวิเคราะห์สถานการณ์ภายในประเทศไทยจากข่าวกรองที่ทางฐานทัพสัมพันธมิตรได้รับมา และได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่เมืองแคนดีในเวลาต่อมา

นายสงวน ตุลารักษ์ได้ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่แคนดีจนกระทั่งในช่วงปลายสงครามจึงได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับประเทศไทย โดยเดินทางจากกัลกัตตาไปย่างกุ้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 แล้วโดยสารเครื่องบินซี 47 ออกจากย่างกุ้ง มุ่งหน้าไปลงที่สนามบินลับภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488

จากนั้น นายสงวน ตุลารักษ์ได้เข้ามารายงานตัวต่อหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในกรุงเทพฯ ได้เพียง 10 วันเท่านั้น สงครามก็ยุติลง รวมเวลาที่นายสงวน ตุลารักษ์ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป ยาวนานถึง 2 ปีเต็ม

เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐบาลชุดใหม่ได้เรียกตัวนายสงวนซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนให้เดินทางกลับมายังประเทศไทย แต่นายสงวนได้ขัดขืนและยื่นขอลี้ภัยในประเทศจีน จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 จึงได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และตกเป็นจำเลยในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี

ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นายสงวน ตุลารักษ์ได้ถูกถอนประกันและส่งคดีไปขึ้นศาลทหาร ทำให้ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำหลายปี จนกระทั่งสุขภาพเสื่อมโทรม จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม อัยการพระธรรมนูญจึงออกคำสั่งให้ถอนฟ้อง ส่งผลให้นายสงวน ตุลารักษ์และผู้ต้องหาคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จำนวนมากได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2508

นายสงวน ตุลารักษ์ ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างเรียบง่ายต่อมาอีก 30 ปีเต็ม จึงจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 รวมอายุได้ 93 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 กันยายนปีเดียวกัน


 

อ้างอิง

  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว. หน้า 666-680.