ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2

7
ธันวาคม
2564

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นวันที่ไทยประกาศยุติการเข้าร่วม สงครามโลกครั้งที่ 2 ประกาศว่า การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา และการกระทำซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย ฝ่าฝืนขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ

คำประกาศนี้ได้รับการตอบสนองทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยสหรัฐอเมริกาแถลงในวันที่ 19 สิงหาคมว่า ไม่ถือไทยเป็นศัตรู ไทยจะกลับสู่สถานะเดิมมีอธิปไตยและเอกราช ส่วนอังกฤษประกาศในวันที่ 20 สิงหาคมว่าให้มีการเลิกสถานะสงครามระหว่างกันก่อน ยินดีจะกลับมีความสัมพันธ์ตามเดิม เรียกได้ว่าทั้งสองมหาอำนาจตอบสนองในทางบวก และผลต่อมาก็เป็นในลักษณะนั้น คือ ไทยไม่ถึงกับถูกปฏิบัติอย่างประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องประกาศและทำสนธิสัญญายอมจำนน กองทัพไทยไม่ถูกปลดอาวุธ และประเทศไทยไม่ถูกยึดครอง ประเทศไทยไม่ถูกแบ่งประเทศตามเขตพื้นที่ที่ต่างชาติเข้ามาปลดอาวุธและยึดครอง ไม่เหมือนกับกรณีของเยอรมนี เกาหลี เวียดนามประเทศไทยเรา ไม่ต้องประสบช่วงเวลาที่ยุ่งยากยาวนานอย่างนั้น และเราสามารถดำรงอำนาจอธิปไตย เป็นเอกราชต่อเนื่องตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

ที่เราผ่านพ้นช่วงวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น และดำรงเอกราชมาได้ ส่วนสำคัญที่สุดเพราะเรามีขบวนการเสรีไทย

เรื่องประวัติและความสำคัญของขบวนการเสรีไทยนี้ ได้มีการศึกษา อธิบาย และการเผยแพร่มากขึ้นเป็นลำดับในระยะ 20 ปีมานี้ ใน พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมเป็นวันสันติภาพไทย และได้ให้ความเห็นชอบกับการระลึกคุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ผมจึงจะขอเลือกที่จะบรรยายครั้งนี้แบบสรุปสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นคำอธิบาย โดยคำนึงถึงงานที่ปรากฏในระยะหลัง ซึ่งใช้เอกสารจดหมายเหตุของทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย อย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าจะเน้นให้ความสำคัญให้มากขึ้น มากกว่าจะเล่ารายละเอียดเหตุการณ์ และ แนะนำงานศึกษาสำคัญที่ท่านผู้ฟังอาจค้นคว้าพิจารณาเพิ่มเติม ผมขอแบ่งหัวข้อการบรรยายเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้ :

(1) แนะนำงานศึกษาสำคัญว่าด้วยเสรีไทยโดยเฉพาะงานในระยะหลัง

(2) ความสำคัญของขบวนการเสรีไทยต่อเอกราชของประเทศ และ

(3) พลพรรคชาวบ้านในขบวนการเสรีไทย

-1-

แนะนำงานศึกษาสำคัญว่าด้วยเสรีไทย

 

 

ผมขอแนะนำงานสำคัญว่าด้วยเสรีไทยตามการรับรู้ของผมครั้งแรก คือ หนังสือ 2 เล่มชุดศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 (2509) ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2520 หลังการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม บทความของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ “การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และเสรีไทย” (2524) หนังสือ การวิเทโศบายของไทย (2527) ของศาสตราจารย์ กนต์ธีร์ ศุภมงคล ซึ่งงานทั้ง 3 ชิ้นนี้เขียนโดยหัวหน้าหรือผู้ใกล้ชิด มากกับขบวนการ และมีเอกสารสนับสนุน ในช่วงทศวรรษ 2520 นั้น ผมได้ อ่านงานของคุณมาลัย ชูพินิจ ในนามปากกา “นายฉันทนา” X.O. Group เรื่องราวภายในขบวนเสรีไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2489 แต่ไม่เป็นที่กล่าวถึงระยะหนึ่ง กลับมาพิมพ์ใหม่ โดยเฉพาะครั้งที่ 3 พ.ศ. 2522 “นายฉันทนา” มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้นำเสรีไทยหลายท่าน รวมทั้งท่านอาจารย์ปรีดี งานในลักษณะบันทึกผู้ร่วมเหตุการณ์ สนับสนุนด้วยเอกสารเช่นงาน 4 ชิ้นนี้ ต่อมา ในทศวรรษ 2540 มีอีก 2 ชิ้นที่สำคัญมาก คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ผู้นำเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา ชีวลิขิต (2541) และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ 23 สิงหาคม 2543 (2543) ในช่วงเดียวกันนี้ มีงานประวัติและวีรกรรมของเสรีไทยสายต่างประเทศและข้าราชการฝ่ายเสรีไทยระดับผู้นำในลักษณะบันทึกทยอยพิมพ์ออกมาด้วย

ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ได้มีงานวิชาการว่าด้วยขบวนการเสรีไทย ต่างกับงานยุคก่อนหน้าซึ่งเป็นงานในลักษณะบันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์ งานวิชาการสำคัญมากมี 3 ชิ้น คือ (1) วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ตำนานเสรีไทย (2546) เป็นงานวิชาการที่ใช้เอกสารและบันทึกภาษาไทยที่ครบถ้วนมากที่สุด (2) John B. Haseman The Thai Resistance Movement (2545) ใช้ เอกสารหอจดหมายเหตุสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเอกสารของ O.S.S. หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา (3) Bruce E. Reynolds Thailand’s Secret War OSS, SOE, and the Free Thai Underground During World War II (2548) อาจารย์ Reynolds เป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ที่ San Jose State University ศึกษาด้วยใจเป็นกลางอย่างมาก ก่อนหน้านั้นในช่วงทศวรรษ 2530 มีงานวิชาการสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาจากเอกสารภาษาไทยเป็นหลัก คือบันทึกต่างๆ ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย และสัมภาษณ์เสรีไทยและผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 40 คน คือ พ.อ.ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ พ.ศ. 2481-2492 (2532)

 

 

นักวิชาการคนสำคัญที่สุดอีกท่านหนึ่ง ศึกษาประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยอย่างละเอียดมาก โดยเฉพาะความเกี่ยวพันของขบวนฯ กับการยุติสงคราม ทั้งด้านไทยกับอังกฤษ และไทยกับสหรัฐอเมริกา คือ พ.อ.พิเศษ รองศาสตราจารย์ ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ท่านค้นคว้าวิจัยเป็นงาน 2 ชิ้น ใช้เอกสารจดหมายทั้งที่หอจดหมายเหตุอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษ คือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่านที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน “Ending the State of War between Thailand and the United Kingdom: International Negotiations and Thai Domestic Politics, 1945-47” (2542) ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาคืองานวิจัย “นโยบาย ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย (ธันวาคม พ.ศ. 2484 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485)” (2557) ท่านอาจารย์ ดร. ศรศักร ได้ให้สัมภาษณ์ทีวี Thai PBS เรื่องการประกาศสันติภาพซึ่งจะออกอากาศคืนวันนี้ด้วย

ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ผมเองก็ได้ศึกษาผลงานของคุณจำกัด พลางกูร (2457-2486) เลขาธิการของคณะเสรีไทยภายในประเทศได้เขียน หนังสือ เพื่อชาติ เพื่อ humanity (2549) ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแสดงละครเวทีเรื่องภารกิจของคุณจำกัดในการเดินทางไปประเทศจีนใน พ.ศ. 2486 เพื่อแจ้งข่าวให้สัมพันธมิตรทราบว่ามีขบวนการและพลพรรคเสรีไทยภายในประเทศ ซึ่งคุณจำกัดทำได้ผลสำเร็จ

ในช่วงหลังสุดทศวรรษ 2550 เริ่มมีการศึกษาและเผยแพร่ถึงงานของพลพรรคเสรีไทยภายในประเทศ คือ ชาวบ้านทั้งหลายที่เป็นกำลังติดอาวุธประมาณ 8,000 คน เป็นงานวิจัยจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเป็นพลพรรคเสรีไทย คือหนังสือของ ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร (2553) และมีการนำเอาหนังสือของคุณสวัสดิ์ ตราชู ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทยกับ ขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2527 มาพิมพ์ใหม่ พ.ศ. 2553 รวมทั้งได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์เสรีไทย อยู่ที่ถนนยันตรกิจโกศล ในเมืองแพร่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ฝ่ายประชาชนทำขึ้นเอง โดย คุณภุชงค์ กันทาธรรม บุตรของ คุณทอง กันทาธรรม อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายแพร่ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีมาก

 

 

ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในบันทึก “โมฆสงคราม” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ ครั้งแรกในปีนี้ พ.ศ. 2558[1] ระบุว่าขบวนการเสรีไทยมีสมาชิกรวมทั้งสิ้นประมาณ 80,000 คน คือนอกจากกำลังพลพรรค ท่านได้รวมหน่วยทางราชการที่ชัดเจนว่าเป็นเสรีไทย คือหน่วยศุลกากร หน่วยมหาดไทย หน่วยตำรวจ หน่วยทหาร และท่านถือว่าหน่วยต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งด้วย

ผมขอสรุปว่าเรื่องการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่เรื่องเสรีไทย ในช่วงแรกหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ไม่ปรากฏ เพราะความขัดข้องทางการเมือง มีความระแวงว่าเสรีไทยเป็นฝ่ายท่านอาจารย์ปรีดีมีงานสำคัญชิ้นเดียว คือ หนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม หลังการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม ในทศวรรษ 2520 มีงานเป็นบันทึกของระดับผู้นำในขบวนการเป็นนักศึกษาในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษที่อาสาสมัครเป็นเสรีไทย รวมทั้งหนังสืออนุสรณ์งานศพของอดีตเสรีไทยที่เป็นข้าราชการหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ จนในทศวรรษ 2540 จึงมีการศึกษาขบวนการเสรีไทยเป็นหัวข้อการศึกษาทางวิชาการ ซึ่งสามารถทำได้ส่วนสำคัญหนึ่งเนื่องจากมีการเปิดเอกสารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหอจดหมายเหตุอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย

อย่างไรก็ตาม มาถึงเวลาปัจจุบันก็ยังคงขาดการศึกษาขบวนการเสรีไทย ณ ระดับท้องถิ่น พลพรรคกองกำลังซึ่งเป็นชาวบ้านในต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่พวกเขาคือสมาชิกจำนวนมากที่สุดและเป็นกำลังหลักของขบวนการ อีกส่วนหนึ่งของเรื่องเสรีไทยที่ยังมีการศึกษาน้อย คือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเสรีไทย ทั้งจีนในแง่รัฐบาลเจียงไคเชกและ จีนในแง่พรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

2

ความสำคัญของขบวนการเสรีไทยต่อเอกราชของประเทศ

ความสำคัญของขบวนการเสรีไทยต่อเอกราชของประเทศอยู่ที่การที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษยอมรับการมีอยู่ของขบวน ยอมรับว่าขบวนเป็นตัวแทนของประชาชนไทย มีเจตจำนงต่อสู้กับญี่ปุ่น เป็นกองหน้าของประชาชนไทยที่มีเอกภาพ ภายใต้หัวหน้า คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ขบวนมีความพร้อมได้เสนอที่จะลุกขึ้นสู้กับญี่ปุ่นด้วยอาวุธ ขบวนได้ช่วยเหลือสัมพันธมิตรในการวางแผนยุทธศาสตร์ต่อต้านกับญี่ปุ่น ช่วยงานการข่าวซึ่งสำคัญมาก ชี้จุดโจมตีทางอากาศต่อเส้นทางลำเลียงและที่ตั้งกองทัพญี่ปุ่น ยอมรับทั้งหมดนี้โดยพฤตินัยระหว่างสงคราม และยอมรับทางการเมืองโดยเปิดเผย คือ คำประกาศตอบสนองแทบจะทันทีโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษหลังจากที่ไทยประกาศสันติภาพ

การยอมรับทั้งหมดต่อขบวนการเสรีไทยนี้ทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่อาจปฏิบัติต่อไทยอย่างประเทศผู้แพ้สงครามทำให้เราผ่านพ้นช่วงหลังสงคราม ไม่เสียเอกราช ไม่ต้องทำสัญญายอมจำนน ทหารไทยไม่ถูกปลดอาวุธ ประเทศไม่ถูกยึดครอง

ผมขอขยายความการยอมรับขบวนการเสรีไทยของสัมพันธมิตร โดยขอแยกอธิบายเป็น 3 ประเด็น คือ

(1) การมีอยู่ของขบวนและข้อเสนอที่จะลุกขึ้นสู้ญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นสงคราม และโดยเฉพาะในช่วง 1 ปีหลังของสงครามไทยเหมือนอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่แล้ว

(2) เอกภาพของขบวนมีผลทำให้ไม่มีการแบ่งแยกประเทศไทยหลังสงคราม

(3) มีการร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างไทยกับสัมพันธมิตรทางการทหาร คือ มีการวางแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน สัมพันธมิตรช่วยฝึกพลพรรค ช่วยเหลือให้อาวุธ และมีการแลกเปลี่ยนด้านการข่าวอย่างกว้างขวาง นี้คือการที่สัมพันธมิตรรับรองขบวนการเสรีไทยชัดเจนมากทางด้านการทหารระหว่างสงคราม

 

2.1

การมีอยู่ของขบวนและข้อเสนอที่จะลุกขึ้นสู้

"ขบวนการเสรีไทย" เกิดขึ้นทันทีหลังจากญี่ปุ่นบุก เป็นคณะที่ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทย ไม่ใช่จะมาต่อต้านเมื่อญี่ปุ่นเริ่มปราชัยในสงคราม อีกทั้งได้พยายามหาทางจะติดต่อและประกาศให้โลกรู้จุดยืนต่อต้านนี้ตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกัน

 

นายจำกัด พลางกูร
นายจำกัด พลางกูร

 

นายเตียง ศิริขันธ์
นายเตียง ศิริขันธ์

 

ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 1941 คืนแรกของวันที่ญี่ปุ่นบุก ท่านอาจารย์ปรีดีและเพื่อนอีกหลายคน เช่น นายจำกัด พลางกูร นายเตียง ศิริขันธ์* ได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นที่บ้านป้อมเพชรนิคม ถนนสีลม ในหนังสือ โมฆสงคราม ซึ่งเป็นบันทึกที่เพิ่งจะพิมพ์เปิดเผยในปีนี้ ท่านอาจารย์ปรีดีเขียนว่า ท่านได้ปรารภกับท่านผู้หญิงพูนศุขทันทีที่ท่านกลับถึงบ้านคืนวันนั้น ว่า “ข้าพเจ้าจะเจริญรอยตามพระยาตากสิน ... ออกไปจัดตั้งราษฎรไทยใน หัวเมืองเป็นกองกำลังเพื่อกู้อิสรภาพของชาติไทย”

ในวันที่ 11 ธันวาคม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ สหรัฐอเมริกา ได้แจ้งแก่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า ท่านต้องการแยกจากรัฐบาลจอมพล ป. และได้ประกาศต่อหนังสือพิมพ์บ่ายวันเดียวกัน เป็นการเริ่มต้นขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา

วันที่ 30 มกราคม 1942 คณะนักเรียนไทยในอังกฤษทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ว่าคนไทยในอังกฤษปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1943 นายปรีดีส่ง นายจำกัด พลางกูร เลขาธิการขบวนการเสรีไทยในประเทศไปพบกับ จอมพลเจียงไคเชก ที่จุงกิง แจ้งให้สัมพันธมิตรรู้เป็นครั้งแรกว่ามีคณะเสรีไทยภายในประเทศมีกำลังประกอบด้วยพลพรรค 20 กองทั่วประเทศและทหารเรือ นายปรีดีซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรารถนาจะหนีออกจากประเทศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น มีกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมจะลุกขึ้นต่อสู้ญี่ปุ่น นี้คือเพียงปีเศษหลังจากที่ญี่ปุ่นบุกไทย

เจียงไคเชกได้สัญญากับจำกัดผู้แทนคณะเสรีไทยว่าจะช่วยให้ไทยได้เอกราชคืนมาหลังสงคราม แต่ที่นายปรีดีไม่ได้ออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และกองกำลังเสรีไทยไม่ได้ลุกขึ้นก่อการ ก็เพราะความไม่สะดวกการนัดรับนายปรีดีและคณะออกนอกประเทศ และการไม่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างอังกฤษกับนายปรีดีในระยะต้น และเพราะการลังเลใจของอังกฤษเองในการสนับสนุนคณะเสรีไทยในระยะต้นนั้น

สำคัญที่สุดคือ วันที่ 1 สิงหาคม 1944 หรือ พ.ศ. 2487 นายปรีดี และคณะผู้สนับสนุนท่านสามารถล้มรัฐบาลจอมพล ป. รัฐบาลไทยในช่วงหนึ่งหลังสงคราม รวมทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร โน้มเอียงสนับสนุนเป็นฝ่ายขบวนการเสรีไทยโดยพฤตินัย ประเทศไทย “ร่วมรบ” กับญี่ปุ่นแต่ในนาม ไม่ได้ช่วยอะไรญี่ปุ่น ไทยกับญี่ปุ่นต่างคุมเชิงกัน การต่อต้านมีขบวนการเสรีไทยเป็นกองหน้า แต่หากมีการปะทะกันรุนแรง กองทัพปรกติของไทยก็จะเข้ามาช่วยเสรีไทย การเผชิญหน้ากันนั้นได้รับการบอกเล่าจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่า ถึงขั้นตั้งรังปืนกลคุมพื้นที่ในเขตทหารของแต่ละฝ่ายทีเดียว ผมมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยหลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 1944 โดย พฤตินัยเป็นรัฐบาลของ "ขบวนการเสรีไทย"

เมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี หัวหน้าขบวนได้ เสนอสัมพันธมิตรว่า ไทยจะลุกขึ้นสู้อังกฤษได้ตอบมาขอให้รอจนถึงปลาย ปี พ.ศ. 2488 รอประสานกับการรุกของสัมพันธมิตร เข้าใจว่าจากพม่าไทยไม่ได้หวังว่าจะชนะญี่ปุ่น คิดจะสู้ในเมืองกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งแล้วถอยไปต่อสู้ในชนบท ขณะที่รอกองทหารสัมพันธมิตรเข้ามาช่วย

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อังกฤษ โดย ลอร์ด เม้านท์แบทแตน ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ ซึ่งก็ติดต่อกับนายปรีดีอยู่แล้ว ได้ส่งโทรเลขมาถึงนายปรีดีแนะนำให้ไทยประกาศสันติภาพ ในบันทึก “โมฆสงคราม” ท่านอาจารย์ปรีดีระบุว่า ขณะเดียวกันนั้น ท่านเองกำลังแจ้งกับสัมพันธมิตรว่าจะประกาศว่าการประกาศสงครามเป็นโมฆะ ท่านและขบวนการเสรีไทยตั้งใจเช่นนั้นมานานแล้ว และได้บอกกับสัมพันธมิตรเป็นระยะๆ ว่าปรารถนาจะประกาศโดยเปิดเผยในบันทึก “โมฆสงคราม” ท่านอาจารย์ปรีดีระบุว่า โทรเลขสวนทางกัน ลอร์ดเม้านท์ แบทแตน ได้ระบุในโทรเลขด้วยว่า ที่อังกฤษจะอะลุ่มอล่วยระดับหนึ่งกับไทยนั้น เพราะการมีอยู่และบทบาทของขบวนการเสรีไทย การประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อ 70 ปีที่แล้ว จึงไม่ใช่ว่านึกอยากประกาศก็ประกาศ ที่ไทยสามารถประกาศได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมหาอำนาจสัมพันธมิตรรับรอง การที่ประเทศเราจะกลับสู่สภาพก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นประเทศเอกราช มีสัมพันธไมตรีกับประเทศสัมพันธมิตรสหประชาชาติก็เพราะเราได้มีขบวนการต่อสู้กับญี่ปุ่นที่เป็นจริง เรามีคณะเสรีไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนไทย เราต้องการประกาศมานานแล้ว เป็นความปรารถนาของเรา และเราได้มีการปฏิบัติการที่สืบเนื่องตลอดมาเป็นเวลานาน

การมีอยู่ตั้งแต่ต้นและมีบทบาทต่อเนื่อง มีกำลังที่เป็นจริงจำนวนมาก มีเอกภาพและมีบทบาทสำคัญหนุนช่วยอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาทางทหาร มีเจตนารมณ์ต่อต้านญี่ปุ่นชัดเจน ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนไทย เป็นสาเหตุสำคัญมากที่ทำให้ประเทศเรารักษาเอกราชไว้ได้หลังสงคราม เพราะแม้ว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะประกาศกฎบัตรแอตแลนติก 14 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ระบุว่ายอมรับสิทธิกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (self-determination) แต่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ตีความกฎบัตรแอตแลนติกต่างกัน

ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ท่านอาจารย์ ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ท่านระบุว่าอังกฤษดูจะหมายความถึงประเทศในยุโรปที่ถูกเยอรมนีรุกรานและยึดครอง ไม่ได้ต้องการจะให้ครอบคลุมถึงประเทศอาณานิคมและประเทศในเอเชีย เซอร์ โจซาย ครอสบี้ (Sir Josiah Crosby) อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้แสดงปาฐกถาสาธารณะในอังกฤษเมื่อกลางปี พ.ศ. 2486 เสนอให้สัมพันธมิตรเอาไทยเป็นรัฐในอารักขาหลังสงคราม แม้แต่สหรัฐอเมริกาในระยะต้นก็ยังไม่ชัดเจนเต็มที่ว่าจะปฏิบัติต่อไทยอย่างไรหลังสงคราม งานวิจัยของท่านรองศาสตราจารย์ พ.อ.พิเศษ ดร.ศรศักร ชูสวัสดิ์ “นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทย (ธันวาคม พ.ศ.2484 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485)” (2557) ได้ชี้ประเด็นนี้ ท่านอาจารย์ ดร. ศรศักร เห็นว่าการมีขบวนการเสรีไทยและบทบาทของเสรีไทยสำคัญมากที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ที่จะให้ไทยกลับคืนเป็นประเทศเอกราชหลังสงคราม

ประเทศสำคัญประเทศหนึ่งที่มีส่วนเห็นชอบที่จะให้ไทยคืนเป็นประเทศเอกราชหลังสงคราม คือ ประเทศจีน แต่ที่ผ่านมามีการกล่าวถึงและศึกษาน้อยถึงบทบาทของประเทศนี้ที่เกี่ยวพันกับไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับขบวนการเสรีไทย ผมได้มีโอกาสทราบถึงบทบาทของจีนเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย จากการศึกษาภารกิจของ คุณจำกัด พลางกูร เลขาธิการของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ

ท่านอาจารย์ปรีดีได้ส่งคุณจำกัดไปแจ้งข่าวการมีอยู่ของคณะเสรีไทยและกำลังพลพรรค เมื่อต้น พ.ศ. 2486 โดยให้เดินทางไปเมืองจุงกิง เมืองหลวงของรัฐบาลจีนยามสงคราม สัมพันธมิตรได้ทราบข่าวการเกิดขบวนการเสรีไทยภายในประเทศไทยพร้อมทั้งการมีกองกำลังที่เป็นจริง หัวหน้า คือ ผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ ได้ทราบข่าวสำคัญยิ่งนี้ครั้งแรกผ่านทางคุณจำกัดและประเทศจีน ซึ่งมีผลมากต่อมาถึงการติดต่อการข่าวและการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทหารและการเมือง และการรับรองคณะเสรีไทยทางทหาร

คุณจำกัดได้เข้าพบเจียงไคเชกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2486 เจียงไคเชกได้รับรองคณะเสรีไทยภายใต้การนำของนายปรีดี และรับกับจำกัดว่าจะช่วยให้ไทยกลับคืนเป็นเอกราชหลังสงคราม ในการประชุมที่นครไคโร ต่อมาวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 รูสเวลท์ได้ถามเจียงไคเชกถึงสถานะของประเทศไทย เจียงได้เสนอว่าให้คืนฐานะเอกราชกลับให้ไทย รูสเวลท์แสดงความเห็นชอบด้วยกับความเห็นนี้ของเจียง

ในวันปีใหม่ พ.ศ. 2487 เจียงไคเชกได้ประกาศจุดยืนนี้อย่างชัดเจนว่าจีนและสหรัฐอเมริกาจะให้ไทยเป็นประเทศเอกราชหลังสงคราม ผมเห็นว่าจีนเป็นประเทศแรกที่ประกาศเช่นนี้ชัดเจน ศาสตราจารย์ ยรรยง จิระนคร แห่งสภาสังคมศาสตร์ มณฑลยูนนาน ได้ให้ข้อมูลผมว่า จีนคิดว่าตนมีส่วนในการรักษาเอกราชของไทย และเมื่อท่านอาจารย์ปรีดีไปพบท่านจอมพลเจียงที่นานกิง พ.ศ. 2489 ท่านจอมพลเจียงได้แจ้งท่านอาจารย์ปรีดีว่า จีนได้บอกแก่สัมพันธมิตรตั้งแต่ต้นสงครามว่า รัฐบาลจีนรับรองขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ผมเห็นว่าที่จอมพลเจียงรับรองคณะเสรีไทย และให้คำมั่นที่จะช่วยให้ไทยกลับคืนสถานะเอกราช ส่วนสำคัญหนึ่งเป็นเพราะจอมพลเจียงได้ทราบถึงการมีอยู่และกำลังที่เป็นจริงของคณะเสรีไทย ความพร้อมที่คณะจะต่อต้านญี่ปุ่นจากการไปติดต่อกับจีนของคุณจำกัด อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะจีนต้องการกีดกันอิทธิพลของอังกฤษในไทยและในเอเชียอาคเนย์ด้วย

 

2.2

เอกภาพของขบวน

เมื่อเปรียบเทียบกับขบวนการต่อต้านประเทศกลุ่มอักษะในบรรดาประเทศต่างๆ ที่ถูกยึดครอง นับว่าขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนที่มีเอกภาพ ความมีเอกภาพนี้มีผลสำคัญต่อการกลับคืนเป็นเอกราชหลังสงคราม

ความเป็นเอกภาพส่วนสำคัญหนึ่งเป็นผลจากการพบปะและตกลงกันได้ระหว่าง นายจำกัด พลางกูร และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (พ.ศ.2443-2510) ที่นครจุงกิง วันที่ 5-11 สิงหาคม พ.ศ. 2486 นายจำกัดเป็นเลขาธิการคณะเสรีไทยภายในประเทศ และเป็นผู้ที่สนิทกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทเป็นผู้นำคณะเสรีไทยในอังกฤษ และเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ผู้นำทั้งสองท่านเห็นพ้องกันว่า พลังการเมืองทุกฝ่ายต้องสามัคคีกัน โดยเฉพาะในยามสงครามเพื่อเอกราชของประเทศ และหลังสงครามประเทศจะต้องเป็นประชาธิปไตย และมุ่งสู่ความเจริญ ต่างเห็นด้วยกันที่จะให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นผลให้ ม.ร.ว.เสนีย์ เห็นด้วยตามมา

 

ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

ความมีเอกภาพของขบวนทำให้ทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาสามารถสนับสนุนทุ่มเทกับขบวนกับนายปรีดีและคณะได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการข่าวและการช่วยเหลืออาวุธ และการฝึกพลพรรค ทั้งไม่เปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรแต่ละประเทศถือหางขบวนการต่อต้านต่างขบวน ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศหลังสงครามได้ เช่น เกาหลีและเวียดนาม ผมเองคิดว่าหากฝ่ายนายปรีดีกับฝ่ายเจ้านายตกลงกันไม่ได้ จำกัดกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ไม่ปรองดองเห็นด้วยกัน อาจเกิดแบ่งประเทศไทยออกเป็น 2 ประเทศ ฝ่ายนายปรีดีด้วยความช่วยเหลือของจีนปกครองประเทศไทยเหนือ ฝ่าย ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษปกครองประเทศไทยใต้

ความมีเอกภาพของขบวนการเสรีไทยปรากฏเป็นรูปธรรม มีผลสำคัญมากในอีกอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้เดินทางโดยเครื่องบินทะเลมาลงที่หน้าพระราชวังมฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2488 มากับนายทหารเสนาธิการระดับสูงของอังกฤษ พลจัตวา Victor M. Jacques ลอบเข้ามาพบนายปรีดีและวางแผนการต่อสู้กับญี่ปุ่นร่วมกันระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรและพลพรรคเสรีไทยอย่างละเอียด อำนวยการฝึกพลพรรคและสะสมอาวุธในนามของสัมพันธมิตรและคณะเสรีไทย เรื่องที่สอง คือ เมื่อสงครามสงบนายปรีดีได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ยินดีสนองตอบ และได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ถึงสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2489

ความมีเอกภาพของขบวนการเสรีไทยมีผลสำคัญต่อการเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และอาจกระทบกับอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยได้ อังกฤษได้นำทหารอินเดีย 17,000 คน เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น กองทหารอินเดียของอังกฤษอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 และกลับหมดสิ้นทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489

อย่างไรก็ตาม ทหารต่างชาติที่เข้ามานี้ไม่ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารไทย และไม่ได้ทำหน้าที่ยึดครองหรือรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศไทย เพราะเรามีกองทหารของเรา ฝ่ายปกครองของเรา และพลพรรคเสรีไทยทำหน้าที่นั้นอย่างมีเอกภาพ กองทหารอินเดียของอังกฤษ แสดงด้วยสัญลักษณ์พิธีกรรมว่าเคารพอำนาจอธิปไตยของไทย คือ กองทหารของอังกฤษนี้ได้จัดพิธีสวนสนาม และได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานพิธีสวนสนาม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลอร์ดหลุยส์ เม้านท์แบทแตน ได้เดินทางมาร่วมในพิธีด้วย วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489

กรณีกองทหารต่างชาติเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นนี้ ไทยต้องเผชิญกรณีที่ล่อแหลมมาก ซึ่งเราผ่านพ้นมาได้เพราะมีขบวนการเสรีไทยที่มีเอกภาพ กล่าวคือเมื่อสงครามยุติ จีนมีท่าทีที่จะเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเหนือเส้นขนานที่ 16 คือประมาณตั้งแต่จังหวัดพิจิตรขึ้นไป เพราะสัมพันธมิตรเคยตกลงกันเรื่องเขตยุทธภูมิว่าให้ดินแดนไทยและอินโดจีนเหนือเส้นขนานที่ 16 เป็นเขตยุทธภูมิหรือเขตปฏิบัติการทางทหารของจีน แม้ว่าในการประชุมที่พอทสดัม เดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาจะมอบให้อังกฤษเป็นผู้ปลดอาวุธญี่ปุ่นในไทยทั้งหมด เมื่อสงครามยุติลงกะทันหัน จีนได้มีท่าทีจะเคลื่อนพลลงมาในภาคเหนือของไทยและได้เข้าไปปลดอาวุธญี่ปุ่นในอินโดจีนเหนือเส้นขนานที่ 16 แล้ว นายปรีดีได้แจ้งไปยังสหรัฐอเมริกาว่า ถ้าจีนเข้ามาในไทย “ความไม่สงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้น” สหรัฐอเมริกาจึงระบุยืนยันให้กำลังญี่ปุ่นทั้งหมดในไทยยอมจำนนกับอังกฤษ จีนระงับความคิดที่จะส่งทหารเข้ามาในไทยเพราะการขัดขวางของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่ได้มีความแตกแยกสำคัญของฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศเราที่มหาอำนาจสัมพันธมิตรจะเข้าแทรกแซง ถือหางต่างกลุ่มภายในประเทศ เราจึงสามารถรักษาบูรณภาพเหนือดินแดนไว้ได้

 

2.3

มีการร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างไทยกับสัมพันธมิตรทางการทหาร

เรื่องนี้ได้กล่าวถึงแล้ว คือ การลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของ พันโท ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน กับ พลจัตวา Victor M. Jacques เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2488 พบกับนายปรีดี เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน ทั้ง SOE กรมสืบราชการลับของอังกฤษ (Special Operations Executive) และ OSS กรมสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา (Office of Strategic Services) ต่างสามารถส่งเจ้าหน้าที่สื่อสารและครูฝึกพลพรรคมาประจำเป็นการลับในประเทศไทย ประกอบด้วยทหารชนชาติตน และ นักเรียนนอกไทยที่เป็นเสรีไทย ณ สถานีติดต่อสื่อสารและค่ายฝึกพลพรรคในกรุงเทพและต่างจังหวัด ตั้งแต่ช่วงหลังของ พ.ศ. 2487 สถานีสื่อสารและค่ายเหล่านี้ติดต่อทางวิทยุกับศูนย์กลางหน่วยในจีนและในศรีลังกาได้ตลอดเวลา มีการทิ้งร่มอาวุธสัมภาระ และบุคคล ณ ค่ายเหล่านี้ รวมทั้ง ณ จังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์มีสนามบินลับของขบวนการเสรีไทยด้วย คือ มีการร่วมมือทางการทหารใกล้ชิดระหว่างสัมพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทย เรื่องนี้ได้มีงานเขียนเผยแพร่แล้วพอสมควร โดยเฉพาะจากเสรีไทย จากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย และในระยะหลังมีงานศึกษาทางวิชาการ เช่น งานของศาสตราจารย์ Bruce E. Reynolds และ งานของท่านอาจารย์ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

ขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ขบวนการเสรีไทยกับสัมพันธมิตรร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิดทางการทหารในช่วงหลังของสงคราม สัมพันธมิตรโดยพฤตินัยรับรองขบวนการเสรีไทยทางการทหารนี้เป็นเหตุสำคัญหนึ่งที่สัมพันธมิตรไม่อาจปฏิบัติต่อไทยอย่างประเทศผู้แพ้สงคราม

 

3

 พลพรรคชาวบ้านในขบวนการเสรีไทย

ผมอยากขอกล่าวถึงส่วนนี้ในขบวนการเสรีไทยที่ผ่านมายังมีการกล่าวถึงและการศึกษาส่วนนี้น้อย ทั้งๆ ที่พลพรรคเป็นกำลังหลักและเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในขบวนการเสรีไทย

 

ในหนังสือ X.O. Group เรื่องราวภายในขบวนเสรีไทย (2489) “นายฉันทนา” หรือ มาลัย ชูพินิจ ได้ระบุว่า นายปรีดีกล่าวกับท่านว่า “อย่าดูแต่งานของผม ดูงานของพวกที่เขาได้เข้ามารับใช้ชาติบ้านเมืองอย่างที่คุณรู้จัก เหมือนพวกนั้น” นายฉันทนาอธิบายว่านายปรีดี “หมายถึงพวกหลังเขาด่างที่หัวหิน ซึ่งเคยเป็นเพื่อนและเป็นคนงานของข้าพเจ้า คราวลงไปทำไร่อยู่หลายปีมาแล้ว บุคคลเหล่านี้แต่ละคนยากจน เสื้อผ้าเกือบไม่มีสวม อาหารเกือบไม่มีติดก้นหม้อ แต่ทุกคนก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการรับของ รับคน และเข้ารับฝึกหัดอาวุธ โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยหรือสินจ้าง รางวัลอันใด นอกจากความภาคภูมิใจที่จะได้รับใช้ประเทศชาติของตน

บุคคลเช่นนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไป ตามค่ายพลพรรคจากทิศเหนือจดทิศใต้ จากตะวันออกจดตะวันตก ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเมือง ในหมู่บ้าน ตำบล หรือ หุบเขาห่างไกลออกไปในดงดิบดงดำ ซึ่งภราดรภาพและวัฒนธรรมดั้งเดิมมีความหมายอันลึกซึ้งตรึงใจยิ่งกว่าวัฒนธรรมแผนใหม่ หรือขนบประเพณีของสังคมในเมืองหลวง”

 

 

 

 

"พลพรรคเสรีไทย" อันประกอบด้วยชาวบ้านธรรมดาและปัญญาชนของประชาชนมีอาวุธครบมือ มีประมาณ 8,000 คน พวกเขาเป็นกำลังพื้นฐานของขบวนการ ท่านอาจารย์ปรีดีได้เชิญพวกเขามาสวนสนามที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 พลพรรคทั้งหลายนี้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคอีสาน หน่วยพลพรรคที่มาจากประชาชนที่ใหญ่และเข้มแข็งในภาคกลางคือที่ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้การนำของนายชาญ บุนนาค ในภาคอีสานคือที่สกลนครภายใต้การนำของ นายเตียง ศิริขันธ์ และเนื่องจากขบวนการและการต่อต้านญี่ปุ่นของพลพรรคในคำของท่านเสรีไทย พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา “เป็นสงครามลับที่ทหารเสรีไทยและพลพรรคต้องแอบแฝงภายใต้กำลัง (cover) ของป่าทึบหรือของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อลอบตัดเสบียงอาหาร ก่อวินาศกรรมเพื่อขัดขวางการเดินทัพหรือการลำเลียงยุทโธปกรณ์ของ ฝ่ายศัตรู...ถ้าเสรีไทยและพลพรรค มิได้มีป่าหรือประชาชนในป่าและในชนบท ช่วยคุ้มครอง ย่อมถูกกวาดล้างได้ง่ายจากกองทัพญี่ปุ่น งานสงครามลับย่อมต้องล้มเหลว ฉะนั้นประชาชนจึงเกิดความสำนึกว่าตนเองได้มีส่วน ช่วยเหลือบ้านเมืองในยามคับขันได้มากและอย่างดียิ่ง” (จดหมายของคุณพิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา [พ.ศ. 2465-2548] ถึงผู้เขียน วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2548) คือ ขบวนในลักษณะนี้ต้องพึ่งประชาชน

ขณะเดียวกันการเข้าขบวนก็ปลุกจิตสำนึกของประชาชนพร้อมกันไปด้วย ตัวอย่างที่ดีก็อย่างเช่น การที่นายเตียงสามารถสร้างกองทัพพลพรรคขึ้นได้ก็เพราะเขาได้รับความเคารพรักอย่างสูงจากชาวบ้านอีสานนั่นเอง ขณะเดียวกันเขาและคณะก็ได้ช่วยทำให้ชาวบ้านอีสานโดยเฉพาะที่แอ่งสกลนคร-นครพนมมีความตื่นตัว ทางการเมืองตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้

ผมคิดว่า ในกระบวนการรวมตัวของชาวบ้านเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเสรีไทย การปลุกจิตสำนึกว่าด้วยฐานะและบทบาทของประชาชนในตัวชาวบ้านจนชัดเจนสำคัญมาก ผู้ทำหน้าที่สำคัญยิ่งนี้คือปัญญาชนของชาวบ้าน (organic intellectual) ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทยที่เป็นครูในชนบท บุคคลเหล่านี้บางคนก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรมาก่อนการตั้งขบวนการเสรีไทยแล้ว คือ กลุ่มที่นายจำกัดนำมารวมกับกลุ่มของนายปรีดีนั่นเอง ประกอบด้วยบุคคล เช่น นายเตียง นายทองอินทร์ นายถวิล และนายจำลอง เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกแจ่มชัด อบรมพลพรรคในทางการเมือง และยังช่วยในการจัดตั้งองค์การในท้องถิ่นด้วย พวกเขานำประชาชนเข้ามาร่วมต่อสู้ในอุดมการณ์ขบวนการระดับชาติภายใต้นายปรีดีและคณะของนายปรีดี

ขณะเดียวกันพวกเขาก็มาช่วยทำให้นายปรีดีและคณะซึมซับความรู้สึกประสบการณ์ความทุกข์ยากความเอื้ออาทรต่อกันและกัน และความใฝ่ฝันของราษฎรธรรมดาพร้อมกันไป เห็นความสำคัญของประชาชนคนสามัญในชนบทมากขึ้น พวกเขากลุ่มนี้ก่อตั้งพรรคสหชีพขึ้นภายหลังสงคราม มีอุดมการณ์แบบชาวนา คือสหกรณ์ของผู้ผลิตเล็กอิสระ

เมื่อผมได้ออกสัมภาษณ์ในงานวิจัย “เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต” ในช่วงทศวรรษ 2520 ผมได้พบอดีตเสรีไทยหลายคน เช่นที่กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ คณะอดีตเสรีไทยแห่งกิ่งอำเภอนาคูได้พาผมไปที่ซึ่งเคยเป็นสนามบินลับของเสรีไทย และเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ผมได้พบและสัมภาษณ์ชาวบ้านผู้เป็นอดีตเสรีไทย นายคาน พิลารักษ์ ขณะนั้น พ.ศ. 2548 อายุประมาณ 80 ปี ที่บ้านง่อน ตำบลสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ชาวนาอดีตเสรีไทยทุกคนที่ผมได้พบ มีความตื่นตัวทางการเมือง มีอุดมการณ์ฝังลึก มั่นคงในจิตวิญญาณประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน พวกเขามีความสำคัญมาก เป็นกำลังพื้นฐานของขบวนการกู้เอกราชของชาติในครั้งนั้น และต่อมาทุกคนก็เป็นผู้นำคนสำคัญของชุมชนในท้องถิ่นชนบทมาจนถึงทุกวันนี้

ใน พ.ศ. 2547 ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ศึกษาเรื่องขบวนการเสรีไทยสกลนคร โดยเฉพาะได้สัมภาษณ์อดีตเสรีไทยสกลนครจำนวนกว่า 20 คน พิมพ์เป็นเอกสาร “ขบวนการเสรีไทย สกลนคร” (2547) ซึ่งต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร (2553) ท่านอาจารย์ปรีชาได้ระบุว่า เฉพาะในจังหวัดสกลนครมีค่ายเสรีไทยอยู่ที่บ้านโนนหอม อำเภอเมือง ค่ายบ้านโพนก้างปลา อำเภอเมือง ค่ายดงพระเจ้า บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน ค่ายบ้านตาดภูวง อำเภอวาริชภูมิ ศูนย์บัญชาการอยู่ที่ค่ายด่านนกยูง บ้านเต่างอย อำเภอเต่างอย พลพรรคติดอาวุธนี้ประกอบด้วยทั้งหญิงและชาย ครูฝึกและแกนนำมักจะเป็นครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และลูกศิษย์ครูเตียง ศิริขันธ์ ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากสัมพันธมิตร อาวุธเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกนำไปเก็บไว้ที่ถ้ำบนเทือกเขาภูพานระยะหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า “ถ้ำเสรีไทย” อยู่ที่ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ยังมีค่ายพลพรรคเสรีไทยในลักษณะเดียวกันนี้ที่จังหวัดอื่นๆ อีกในประเทศไทยควรที่จะมีการศึกษาและบันทึกวีรกรรมของพลพรรคชาวบ้านทั้งหลายไว้ และความคิดสร้างอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์เสรีไทยที่เมืองแพร่

 

พิพิธภัณฑ์เสรีไทยที่เมืองแพร่
พิพิธภัณฑ์เสรีไทยที่เมืองแพร่

 

ผมขอจบคำบรรยายนี้ โดยขอยกคำกล่าวของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คือสุนทรพจน์ของรูธ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยต่อสมาชิกและพลพรรคเสรีไทย ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแห่งนี้ เมื่อ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ตอนคำหลังการสวนสนามของขบวนการเสรีไทย ความตอนหนึ่งว่า :

“เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ ... การกระทำทั้งหลาย ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล”

 

ที่มา : ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2, ใน, 71 ปี วันสันติภาพไทย : สันติ-ประชา-ทำ. (หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559 : กรุงเทพฯ) หน้า 79-102

หมายเหตุ:

  • บทความ "ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2" นี้ เป็น บทบรรยายเนื่องในโอกาสวันสันติภาพไทย วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ครบรอบ 70 ปี วันประกาศสันติภาพ ของประเทศไทย ยุติการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 (วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488) บรรยาย ณ หอประชุม ศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 14.00-15.00 น
  • ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียนแล้ว
  • *หมายเหตุเพิ่มเติมจากผู้เขียน [2 ธันวาคม 2564] เนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นบันทึกของนายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่ง พันเอกดร.สรจักร งามขจรกุลกิจ ได้นำมาเผยแพร่เป็นหนังสือชื่อว่า จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด : เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA) โดยเอกสารนั้นได้ระบุว่านายเตียง มิได้อยู่ที่บ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2488 
 

[1] ณ การบรรยายในวันที่ 16 สิงหาคม ผู้เขียนได้รับหนังสือสำคัญล่าสุดว่าด้วยขบวนการเสรีไทย 2 เล่ม คือ (1) ปรีดี พนมยงค์ โมฆสงคราม (2558) และ (2) ภูริ ฟูวงศ์เจริญ บรรณาธิการ 70 ปี วันสันติภาพไทย (2558) ในการเตรียมบทบรรยาย ผู้เขียนได้อ่านบางส่วนของต้นฉบับ โมฆสงคราม