Focus
- นโยบายของพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพรรคที่จะเป็นรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นจริงได้อย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากมีปัญหาว่าปฏิบัติได้หรือไม่ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็จำเป็นต้องอาศัยกลไกที่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้ตีความซึ่งกลไกดังกล่าวก็คือศาลรัฐธรรมนูญ
- นโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะใช้ในนามรัฐบาล (หากสามารถเป็นผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ได้) หรือในนามพรรค ในเรื่องต่อไปนี้อาจขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่จำเป็นต้องตราหรือแก้ไขกฎหมายอื่นๆประกอบด้วย ยกตัวอย่างเช่น (1) การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ (2) นโยบาย “สมรสเท่าเทียม” ที่เป็นการสถาปนาสิทธิในการตั้งครอบครัวในรูปแบบใหม่ (3) ส่วนนโยบาย “สุราก้าวหน้า” ที่จะแก้ไขอุปสรรคของกฎหมายที่จำกัดการผลิตจำหน่ายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิตรายย่อยและอาจรวมถึงประชาชนทั่วไป และ (4) นโยบายเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกำลังพลซึ่งเป็นการจัดรูปแบบและองค์ประกอบของหน่วยงานของรัฐอย่างหนึ่ง
- คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในบางคดีและบางประเด็นในอดีตอาจยินยอมหรือจำกัดโอกาสการปฏิบัติตามนโยบายใหม่ๆ ที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีช่องว่างหรือโอกาสของคำวินิจฉัยแบบอย่างในอดีตเหล่านั้นที่จะสามารถดำเนินการในอนาคตได้ การศึกษาคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เห็นโอกาสของความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามนโยบายใหม่ๆ ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังต้องพิจารณากฎหมายระดับต่ำกว่าที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วย
“...การที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี นิติประเพณีซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ และรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้
โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำอันเป็นความผิดและกำหนดอัตราโทษแก่ผู้ที่กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวก็จะต้องได้รับโทษทางอาญาเพราะเหตุแห่งการกระทำนั้น หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 8 ที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม...”
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 – 29/2555
สมมติว่าเรามองข้ามขั้นตอนการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องอาศัยเสียงที่ประชุมร่วมของรัฐสภาคือ ส.ส. และ สว. ไปแล้ว ทั้งลองคิดข้ามไปอีกด่านว่าประเด็นการถือหุ้นไอทีวีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถืออยู่ในฐานะของผู้จัดการมรดกนั้นไม่มีปัญหาใดๆ ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จะกระทบกระเทือนต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ในที่สุด ไม่ว่าโดยวิธีการหรือเหตุผลใด พรรคก้าวไกลก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพันธมิตรที่จับมือกันทำ MOU ได้สำเร็จ และนายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี และจะต้องเข้ามาบริหารประเทศและขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงต่อประชาชนได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลานั้นมาถึง การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญหลายอย่างของพรรคก้าวไกลก็อาจจะต้องพบกับ “อุปสรรคทางรัฐธรรมนูญ” แบบเล็งเห็นได้ โดยเฉพาะนโยบายหลายเรื่องที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบ กลไกกติกา หรือแม้อาจจะรวมไปถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่จะเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารจากระบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ การผลักดันกฎหมายสุราก้าวหน้า เพื่อให้โอกาสผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายเล็กและสุราพื้นบ้านสามารถผลิตได้โดยไม่มีอุปสรรคทางกฎหมาย การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อให้คนไม่ว่าจะมีเพศสภาพอย่างไรก็สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกับคู่สมรสชายหญิง รวมถึงกรณีที่อาจจะเป็นวาระหรือนโยบายเฉพาะของพรรคก้าวไกล คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็จะเข้ามามีบทบาทเป็น “ผู้เล่น” ฝ่ายสำคัญ หรือ “ตัวละครลับ” ที่อาจจะเป็นผู้ชี้ชะตาการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านั้นอีกครั้ง และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดปัญหาข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญขึ้นกับการดำเนินนโยบายแต่ละเรื่องที่ได้หาเสียงไว้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
“รัฐธรรมนูญ” เกี่ยวอะไรกับ “นโยบายรัฐบาล”
อาจกล่าวได้ว่า “กฎหมาย” นั้นมีหน้าที่หรือการทำงานด้วยกันอย่างน้อยสามลักษณะหรือสามรูปแบบ คือ หนึ่ง เป็นเครื่องกำหนดหลักเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของสังคม กำหนดว่าสิ่งใดที่ห้ามไม่ให้บุคคลกระทำการเนื่องจากจะเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น รบกวนการอยู่ร่วมกันโดยสงบสุขของสังคม หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ โดยสิ่งที่กฎหมายระบุห้ามไว้มิให้กระทำนั้น หากใครฝ่าฝืนก็จะต้องได้รับโทษ หน้าที่หรือมิติของกฎหมายในแง่มุมนี้ คือ “กฎหมายอาญา”
สอง กฎหมายยังมีหน้าที่ในการเป็นเครื่องมือในการวางระเบียบหรือกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างกันของบุคคลแต่ละคน ทั้งในการทำนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินและมรดก รวมถึงสถานะของความสัมพันธ์เป็นครอบครัวของบุคคล หน้าที่ของกฎหมายในมิติหรือแง่มุมนี้ คือ “กฎหมายแพ่ง”
และ สาม นอกจากแง่มุมต่อบุคคลในเชิงเอกชนแล้ว สำหรับการบริหารบ้านเมืองโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ตามหลักนิติรัฐแล้ว การใช้อำนาจใดๆ ก็ตามของรัฐ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ว่า “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ย่อมทำไม่ได้” ซึ่งหน้าที่หรือมิติของกฎหมายในแง่มุมนี้คือ “กฎหมายมหาชน” โดยถ้าเป็นระดับที่จัดสรรการใช้อำนาจรัฐขององค์กร สถาบัน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ของรัฐ ก็จะเป็น “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” และสำหรับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับรองลงมาจากองค์กรหรือสถาบันทางรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็น “กฎหมายปกครอง”
ถ้าเรานำนโยบายของพรรคก้าวไกลแต่ละนโยบายมาจับกับหน้าที่หรือการทำงานของกฎหมายที่ได้กล่าวไป จะเห็นว่ามีครบทุกมิติแห่งกฎหมาย
นโยบายที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือการกำหนดทบทวนหลักการที่เคยถือว่าเป็นข้อห้ามในทางอาญาที่กำหนดไว้ว่ามีความผิดและโทษ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดและระวางโทษ รวมถึงกระบวนยุติธรรมที่เกี่ยวข้องอย่างไร เป็นมิติของ “กฎหมายอาญา” ตรงตัว
นโยบาย “สมรสเท่าเทียม” คือการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการสมรสที่เป็นการสถาปนาสิทธิในการตั้งครอบครัวในรูปแบบใหม่ ที่เดิมจากที่คู่รักชายหญิงเท่านั้นที่จะสมรสกันได้และมีสถานะเป็นครอบครัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะเปลี่ยนให้เป็นไม่ว่าคู่รักนั้นจะมีเพศสภาพอย่างไร ก็ชอบที่จะสมรสได้และได้รับการรับรองโดยกฎหมายได้โดยเท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็น “กฎหมายแพ่ง” ที่ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล คือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพห้า ว่าด้วยการสมรสโดยตรง มิใช่การออกกฎหมายพิเศษเฉพาะใดๆ ขึ้นมาเพิ่มเติม
ส่วนนโยบาย “สุราก้าวหน้า” ที่จะแก้ไขอุปสรรคของกฎหมายที่จำกัดการผลิต จำหน่าย และโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิตรายย่อยและอาจรวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์การที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอนุญาตอนุมัติให้ประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ก็ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “คำสั่งทางปกครอง” และอยู่ในขอบเขตของกฎหมายปกครอง
เช่นเดียวกับนโยบายเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ ก็เป็นกรณีที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกำลังพลซึ่งเป็นการจัดรูปแบบและองค์ประกอบของหน่วยงานของรัฐอย่างหนึ่ง ซึ่งตามทฤษฎีถือเป็นกฎหมายปกครองเช่นกัน
เมื่อการดำเนินการทั้งหลายที่กล่าวไปนั้น ล้วนแต่ต้องเกี่ยวข้องกับ “กฎหมาย” ไม่ว่าจะแก้ไขหรือตราขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นกฎหมายสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราคงคุ้นเคยกันดีกับประโยคที่ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” ดังนั้น บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ หลักการนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ซึ่งองค์กรผู้มีหน้าที่และอำนาจในการชี้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งหมายถึงกฎหมายระดับพระราชบัญญัติใด รวมถึงร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านสภาแล้วด้วยนั้น จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลก้าวไกลได้อีกในแทบทุกนโยบาย
เรื่องจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
“ศาลรัฐธรรมนูญ” มีสถานะเป็นองค์กรตุลาการ ถือเป็นศาลในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการมีบทบาทในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการใช้อำนาจเชิงรับ นั่นคือการที่จะเข้าไปใช้อำนาจชี้ขาดปัญหาในเรื่องใดได้ จะต้องเป็นกรณีที่มีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบ หรือถ้าเป็นภาษาแบบคดีแพ่งคดีอาญาหรือคดีปกครอง คือต้องมี “โจทก์” หรือ “ผู้ฟ้องคดี” มาฟ้องคดีก่อน ซึ่งกรณีของศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกว่า “ผู้ร้อง”
ในทางทฤษฎี อำนาจในการตรวจสอบว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ของประเทศไทย จะใช้ระบบการควบคุมสองรูปแบบและสองระยะ คือการควบคุมแบบนามธรรม (Abstract control) ก่อนกฎหมายนั้นจะผ่านกระบวนการตราขึ้นมาใช้บังคับ และการควบคุมแบบรูปธรรม (Concrete control) เมื่อกฎหมายนั้นได้ใช้บังคับแล้วและมีกรณีที่บุคคลกำลังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญนั้นในศาลแล้ว
ซึ่งโอกาสที่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลก้าวไกล อาจถูกตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ก็จะเกิดขึ้นโดยกระบวนการตรวจสอบหรือควบคุมแบบนามธรรม ผ่านกระบวนการตรากฎหมาย
โดยรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบร่างกฎหมายไว้ เป็นตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 145 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติใดผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้หากมีกรณีที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อให้ประธานสภาตามแต่กรณีส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองหากเห็นว่ากฎหมายนั้นอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันก็อาจใช้ช่องทางเดียวกันนี้เสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เช่นกัน และหากมีกรณีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 148 แล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นรอไว้ ไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
โดยผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจออกได้ 3 ทางคือ หนึ่ง กรณีที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นตราขึ้นโดยถูกต้องกระบวนการตราที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และไม่มีเนื้อหาข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ นายกฯ ก็จะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไปตามกระบวนการ
สอง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นไม่เป็นสาระสำคัญของกฎหมาย ก็จะถือว่าข้อความที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปเฉพาะมาตราหรือเฉพาะข้อความ แต่นายกฯ ก็จะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไปตามกระบวนการได้
และ สาม ในกรณีที่แย่ที่สุด คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย หรือกระบวนการตราพระราชบัญญัตินั้นไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งสองกรณีนี้จะถือว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องตกไปทั้งฉบับ
ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 148 สรุปได้ว่า หากมี ส.ส. หรือ สว. หรือ ส.ส. และ สว. ร่วมเข้าชื่อกันได้ 75 คน หรือ 70 คน (แล้วแต่ช่วงเวลาการใช้บังคับของบทเฉพาะกาล) ก็อาจจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้แล้วว่า “กฎหมาย” ที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
อันที่จริงแล้ว การที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกันนี้เข้ามาตรวจสอบ “ร่างกฎหมาย” ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ถือเป็นกลไกการป้องกันสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นกลไกนิรภัยซึ่งพบได้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศในโลก เช่นกรณีของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 61 ที่กำหนดว่า ให้นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ขึ้นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนการดำเนินการเพื่อให้มีผลใช้บังคับ ส่วนกรณีของร่างกฎหมายอื่นๆ ก็ให้อำนาจประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานสภาแต่ละสภา และสมาชิก ส.ส. หรือ สว. ไม่น้อยกว่า 60 คน สามารถเสนอคำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติก็ได้ ซึ่งกลไกนี้เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลหรือรัฐสภาเสียงข้างมากตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้และอาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน
หากสำหรับประเทศไทยนั้น ปรากฏว่าหลายครั้งมีการใช้ช่องทางการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากในสภาจนเกินสมควร เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2556 ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ใช้ช่องทางการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบกฎหมายสำคัญๆ ที่ทางรัฐบาลเสนอหลายฉบับ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบุคคลผู้ใช้สิทธิ หรือริเริ่มใช้สิทธิเสนอชื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะสังเกตพบว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดิมๆ ที่ยังมีบทบาทอยู่ในแวดวงทางการเมืองทุกวันนี้ด้วย
บทเรียนของนโยบายสำคัญของรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกคว่ำโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังจดจำกันได้จนทุกวันนี้ คือ กรณีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือที่รู้จักกันในชื่อของกฎหมายเงินกู้สองล้านล้าน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นการอนุญาตให้จ่ายเงินแผ่นดินโดยไม่ได้กระทำตามที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557) ซึ่งแม้คำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมิได้พิจารณาในประเด็นความเหมาะสมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งแต่ประการใด แต่สาธารณชนก็เข้าใจไปแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุมัติให้รัฐบาลดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง
ในปัจจุบันนี้ น่าเสียดายที่บรรดา “นักร้อง” ในสภาในคดีดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ และมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่เขาจะใช้วิธีการแบบเดิมๆ กับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลก้าวไกลนี้เช่นกัน
“สุราก้าวหน้า” และ “สมรสเท่าเทียม” (น่าจะ) “ไฟเขียว”
กรณีของนโยบาย “สุราก้าวหน้า” นั้น อาจจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต เกี่ยวกับเงื่อนไขในการขออนุญาตผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่เป็นกฎหมายควบคุมการขายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับ “เสรีภาพในการประกอบอาชีพ” ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 40 เป็นหลักการว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ส่วนข้อจำกัดนั้น จะต้องเป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ซึ่งจะเห็นว่าไม่น่าจะมีกรณีที่เป็นปัญหานัก นอกจากประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถ้ากฎหมายสามารถวางหลักเกณฑ์การผลิตสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีหลักประกันเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร
ส่วนกรณีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผู้ร้องไปว่า การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ปัจจุบันนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 2-4/2555 วินิจฉัยไว้ว่า การห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แม้จะมีผลกระทบต่อการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยกำหนดให้มีความผิดและมีโทษทางอาญาที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพอยู่บางส่วนก็ตาม แต่ก็เป็นการจำกัดเสรีภาพภายในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญ (ปี 2550) มาตรา 43 วรรคสอง และเป็นการจำกัดเสรีภาพเพียงเท่าที่จำเป็น เนื่องจากมิได้ห้ามการโฆษณาโดยเด็ดขาด
รวมถึงให้เหตุผลไว้ในลักษณะเดียวกันในกรณีที่มีผู้ร้องว่า การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายและที่กำหนดให้รัฐมนตรีสามารถกำหนดห้ามวิธีหรือวันเวลาขายได้ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาตินั้น ก็ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกัน ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2565 ดังนั้นหากมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการในลักษณะที่เข้มงวดน้อยลง ก็ไม่ควรมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และก็นึกไม่ออกเช่นกันว่าจะมีข้ออ้างอะไรในการโต้แย้งว่ากฎหมายสุราก้าวหน้าอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับกรณีของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่หมายถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 เงื่อนไขการสมรส ตั้งแต่มาตรา 1448 – 1460 ที่ใช้คำว่า “ชายและหญิง” และ “ชายหญิง” ในทุกมาตรา ให้เปลี่ยนเป็น “ผู้ใด” หรือ “บุคคลใด” เพื่อมิให้เป็นการระบุเพศ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ที่อาจจะเหมือนจะมีทัศนคติที่ไม่สอดคล้องหรือเป็นคุณกับการสมรสเท่าเทียมสักเท่าไหร่ โดยอาจมีเหตุผลตอนหนึ่งว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัติขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ สืบสานการดำรงอยู่ของสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมยึดถือ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพชายหญิงเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างเรื่องเพศ ไม่ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงของรัฐ และเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27
แต่กระนั้น ในตอนท้ายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุไว้เป็นข้อแนะนำว่า “...รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรพิจารณาดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสมต่อไป” ซึ่งการตรากฎหมายนี้ก็อาจจะหมายถึงการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกันก็ได้
ดังนั้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจจะหมายถึงว่า กฎหมายปัจจุบันไม่ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องนี้ก็ไปตราหรือแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาก็ได้ จึงเป็นไปได้ว่ากฎหมายที่จะมีการตราขึ้นมาเพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียมระหว่างบุคคลทุกเพศสภาพ ก็น่าจะไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอะไร และก็นึกไม่ออกเช่นกันว่าถ้ามีคนจะอุตริร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเงื่อนไขการสมรสนี้ จะไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตราใดได้
จึงเรียกว่า สองนโยบายนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะได้ “ไฟเขียว” หากเมื่อตอนที่ผ่านกระบวนการแก้ไขกฎหมายแล้ว จะมีใครเสนอเรื่องโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ
“ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” อาจมี “ไฟเหลือง”
นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกลนั้น จะเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยอาจจะแก้ไขกฎหมายนี้หรือตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเลยก็ได้ แต่สาระสำคัญ คือการเปลี่ยนจากที่กำหนดให้ชายไทยทุกคนมี “หน้าที่” ต้องรับราชการทหาร โดยต้องลงบัญชีเป็น “ทหารกองเกิน” เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี และรับหมายเรียกตรวจเลือกเป็น “ทหารกองประจำการ” หรือ “ทหารเกณฑ์” เมื่ออายุย่าง 21 ปี ตามเงื่อนไขของมาตรา 8 ของกฎหมายดังกล่าว
พรรคก้าวไกลจะแก้ไขโดยกำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีถึงไม่เกิน 40 ปีที่สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย โดยไม่จำกัดเพศมีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการได้ โดยเพิ่มระยะเวลาช่วงที่จะต้องรับราชการทหาร จากเดิม 2 ปี ในกรณีปกติให้เป็น 5 ปี กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนระบบการบังคับเกณฑ์ชายไทยมาเป็นทหารกองประจำการ ให้เป็นการเข้ารับราชการโดยสมัครใจแทน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาจจะมีข้อติดขัดทางรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (5) ที่ว่าด้วยหน้าที่ของปวงชนชาวไทยนั้น กำหนดให้คนไทยมีหน้าที่ “รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งเป็นที่มาและความชอบธรรมของมาตรา 8 ดังกล่าวนั่นเอง
การแก้ไขกฎหมายที่เปลี่ยน “หน้าที่” ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กลายเป็น “สิทธิ” นั้น ไม่มีแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มาก่อน และก็มีข้อพิจารณาได้ทั้งสองทาง คือถ้าจะมองให้ “เป็นไปไม่ได้” ก็อาจจะให้เหตุผลแบบกำปั้นทุบดินตามลายลักษณ์อักษรไปเลยก็ได้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้การรับราชการทหารเป็น “หน้าที่” แต่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำหนดให้เป็น “สิทธิ” ซึ่งเป็นคนละถ้อยคำ คนละหลักการกับที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและตรากฎหมายเช่นนั้นขึ้นใช้บังคับไม่ได้
แต่ถ้าจะพิจารณาให้มัน “เป็นไปได้” มันก็อาจจะแปลความได้ว่า การรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารนั้น จะมีหน้าที่หรือไม่เพียงใดก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่อีกแล้ว บุคคลหรือจริงๆ คือชายไทยก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับราชการทหาร
นอกจากมาตรา 50 (5) แล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 52 ยังกำหนดให้รัฐต้องมี “หน้าที่” ต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อ “พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน...” รวมถึงกองกำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่อาจจะมีผู้โต้แย้งว่า การที่กำหนดให้ระบบทหารกองประจำการนั้นเป็นทหารโดยสมัครใจ ก็อาจจะขัดต่อหน้าที่ของรัฐในส่วนนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ในร่างกฎหมายรับราชการทหารฉบับของพรรคก้าวไกล ก็ยังมีช่องทางที่เป็นข้อยกเว้นในสภาวะที่ประเทศมีศึกสงคราม ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถตรา “พระราชกฤษฎีกา” เรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการได้อยู่ ซึ่งในที่สุดแล้ว จึงเท่ากับว่า ระบบเกณฑ์ทหารก็ยังไม่เชิงว่าจะยกเลิกไปโดยเด็ดขาด แต่เปลี่ยนเป็นข้อยกเว้นที่จะเกณฑ์ทหารได้ในยามที่ประเทศมีศึกสงครามเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ด้วยข้อติดขัดทางรัฐธรรมนูญที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงอาจจะจัดว่า นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกลนี้ อาจจะเป็นกรณีที่มีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นประเด็นพิจารณาอันมีน้ำหนักพอสมควร จึงอาจจะเรียกได้ว่า เป็นนโยบายที่อาจ “ติดไฟเหลือง” ทางรัฐธรรมนูญก็ได้
ส่วนเรื่อง มาตรา 112 นั้น ...
ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่วางหลักเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 – 29/2555 ดังต่อไปนี้
คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สองคน คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายเอกชัย หงส์กังวาน ได้ยื่นโต้แย้งต่อศาลอาญา ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากบทกฎหมายดังกล่าวกำหนดบทลงโทษสูงเกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนจนกระทบต่อสิทธิของประชาชน และเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีบทบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเห็นไว้ในคำวินิจฉัยดังกล่าวบางส่วนที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายความมุ่งหมายของ “กฎหมายอาญา” ซึ่งในที่นี้คือประมวลกฎหมายอาญาไว้ก่อนว่า กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์มุ่งที่จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสังคม คุ้มครองความปลอดภัย รักษาความสงบสุขให้แก่สมาชิกของสังคม รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม โดยกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ให้เป็นความผิดและกำหนดโทษทางอาญาไว้ เพื่อให้รัฐได้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ปกป้องคุ้มครองสังคมและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดอาญา
ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่คำนึงถึงสถานะของบุคคลที่ถูกกระทำไว้โดยเฉพาะคือ พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ การหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย “ย่อมเป็นการกระทำที่ทำร้ายจิตใจของชนชาวไทยที่มีความเคารพรักและเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งจะ “ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นในหมู่ประชาชน” ประกอบกับพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ รัฐจึงมีความจำเป็นต้องให้การคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา จึงถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ว่า การที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี นิติประเพณีซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ และรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 8 ที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม
ส่วนกรณีที่ผู้ส่งความเห็นคือจำเลย โต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะรับรองว่าบุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่รัฐธรรมนูญก็บัญญัติด้วยว่าเสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ ซึ่งหมายความว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย
ดังนั้นเมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้การกำหนดอัตราโทษของกฎหมายนี้ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้ในทำนองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามที่จำเลยโต้แย้ง
อนึ่ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นคำวินิจฉัยที่วินิจฉัยในสมัยที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้บังคับ แต่ถ้าพิจารณาจากการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในเชิงหลักการซึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลักการทั้งหลายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างใช้ในคำวินิจฉัยนั้นก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นสัญญาที่พรรคก้าวไกลให้ไว้แก่ประชาชน และก็เกลื่อนกลืนรวมกันเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งเป็นวาระเฉพาะตัวของพรรคก้าวไกลเอง หลักการเท่าที่ทราบคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของพรรคก้าวไกลนั้นมี 3 หลักการสำคัญ คือ (1) การลดอัตราโทษลงโดยไม่มีโทษขั้นต่ำ เพื่อให้ศาลอาจพิจารณากำหนดโทษได้ตามความหนักเบาของการกระทำความผิด (2) การป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต โดยจากที่เดิมประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีนี้ได้ เป็นการแก้ไข้ให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์ รวมถึงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ และ (3) การให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ หากเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ และบทยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
เจตนารมณ์ที่ทางพรรคก้าวไกล รวมถึงตัวคุณพิธาเอง ได้ประกาศให้สัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนหลายครั้งว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นไปเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยในปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปในอนาคต จึงควรป้องกันมิให้มีการนำกฎหมายนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อให้ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นดำรงคงอยู่โดยการรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยั่งยืนสืบไป
แต่กระนั้น เมื่อลองอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ยกมาข้างต้นแล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การขับเคลื่อนนโยบายหรือประเด็นนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก แม้ในกรณีที่กฎหมายผ่านความเห็นชอบของสภาได้แล้ว แต่ก็ยังอาจจะต้องมาต่อสู้กันอีกในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจจะเหมือนเป็นการมองโลกในแง่ร้าย ตีตนไปก่อนไข้ หรือแม้แต่อาจจะถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจว่า นี่จะเป็นการชี้ช่องให้กับบรรดา “นักร้อง” ในสภาหรือไม่ แต่ถ้าใครติดตามการเมืองไทยมาตลอดคงทราบดีว่าพวกนักร้องมืออาชีพเหล่านี้ ไม่ต้องมีใครชี้เขาก็หาช่องได้ และการใช้กระบวนการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นวิธีทางอันถนัดของพวกเขาอยู่แล้วด้วย
การเดินทางไกลของพรรคก้าวไกลเพื่อที่จะไปให้ถึง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เพื่อให้ชาวไทยได้มี “สิทธิเสรีภาพ” นั้น จำเป็นต้องผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ที่รถติดจนกลับไม่ได้ไปไม่ถึงอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง และเป็นปัญหาเดียวกันกับที่พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยที่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน ดังเช่นพรรคเพื่อไทยนั้นได้เคยเผชิญ
ทั้งนี้ ถ้าเรื่องที่กริ่งเกรงไว้นี้ไม่เกิดขึ้นเลยก็จะดี แต่ถ้าเกิดขึ้น อย่างน้อยก็หวังว่าข้อสังเกตทั้งหลายนี้ จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในการยกร่างกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ สามารถรับมือหรือป้องกันช่องว่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้.
บรรณานุกรม :
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2-4/2555
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 – 29/2555
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2565
หนังสือ
- กล้า สมุทวณิช. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผลงานวิจัยตามโครงการ สู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2557).
เว็บไซต์