ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รักเราไม่เท่ากัน : พิจารณามุมมองของ “สมรสเท่าเทียม” และ “จดทะเบียนคู่ชีวิต”

15
มิถุนายน
2565
งานบางกอกนฤมิตรไพร์ด ที่มา : พรรคก้าวไกล - Move Forward Partyงานบางกอกนฤมิตรไพร์ด
ที่มา : พรรคก้าวไกล - Move Forward Party

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 มิถุนายน 2565) ได้มีการจัดงานบางกอก “นฤมิตไพรด์” ซึ่งเป็นการจัดงานไพรด์พาเหรดอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการร่วมฉลองเทศกาลไพรด์พร้อมๆ กับทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในงานพาเหรดดังกล่าวคือ การแสดงจุดยืนที่เรียกร้องกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียม (เดิมมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา แต่ถูกเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 แทน)

การขับเคลื่อนเพื่อรับรองการ “สมรสเท่าเทียม” ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณเกือบ 10 ปี ผ่านการขับเคลื่อนและการเรียกร้องของนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศและสังคม  ทว่า อุปสรรคสำคัญของเรื่องนี้คือ ทัศนคติของรัฐที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับรองจากกฎหมายในการจัดตั้งครอบครัว

เมื่อรัฐบงการ รักเราจึงไม่เท่ากัน

แม้ความรักอาจจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องความสัมพันธ์ดังกล่าวจะพ้นไปจากเรื่องการเมือง (เช่นเดียวกันกับเพศที่ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะเพศ ชาย-หญิง เท่านั้น) เหตุที่ความสัมพันธ์ของคนสองคนกลายมาเรื่องการเมืองก็เพราะว่า การรับรองสิทธิในความสัมพันธ์ถูกบงการด้วยอำนาจรัฐผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งครอบครัว

ความพยายามบงการเรื่องความสัมพันธ์นั้น ไม่ได้ถูกบงการเฉพาะในกฎหมายปัจจุบัน แต่ความพยายามบงการในความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นจากมุมมองของรัฐในการตรากฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่รักเพศหลากหลาย ดังจะเห็นได้จากท่าทีของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... หรือร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม[1] และพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งรัฐบาลได้ทำการศึกษาและจัดทำร่างดังกล่าวขึ้นมา[2]

สภาพดังกล่าวสะท้อนปัญหาการรับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกสังคมเลือกประติบัติ[3] อย่างเพียงพอ ผ่านการไม่ได้รับรองความหลากหลายทางเพศ และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในการกำหนดเจตนารมณ์ของชีวิตครอบครัว การไม่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะสนับสนุนกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตแทนการจะผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม (พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม)

ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การที่รัฐเข้ามาบงการเหนือเนื้อตัวร่างกายและกำหนดความสัมพันธ์ในชีวิตครอบครัวของปัจเจกบุคคลอาจจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกันระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จดทะเบียนคู่ชีวิตกับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส

ความแตกต่างระหว่าง “กฎหมายคู่ชีวิต” กับ “กฎหมายการสมรสเท่าเทียม”

ความแตกต่างระหว่างกฎหมายการสมรสเท่าเทียมกับกฎหมายคู่ชีวิตนั้น ตั้งอยู่บนวิธีคิดที่แตกต่างกัน การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นการสร้างระดับของความสัมพันธ์ที่แยกออกจากระบบการจดทะเบียนสมรส โดยผู้จดทะเบียนจะมีสถานะเป็นคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน[4] ในขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมุ่งที่จะแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จากการกำหนดให้ใช้เฉพาะชายและหญิงเพื่อให้รองรับการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ[5]

จุดเริ่มต้นของการเกิดกฎหมายคู่ชีวิตนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 เมื่อมีคู่รักเพศเดียวกันไปแสดงความประสงค์จดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธโดยนายทะเบียนครอบครัว เพราะไม่ใช่คู่รักชายหญิง[6] ที่กฎหมายรับรองให้จดทะเบียนสมรสได้[7] ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ความพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม[8] ร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับแรกเกิดขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2556 แต่ในท้ายที่สุดร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ตกไปโดยไม่ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

จนในเวลาต่อมาได้มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายคู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชน[9] ภายใต้การขับเคลื่อนของนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภาคประชาสังคม และวิชาการ โดยการดูแลของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)[10] 

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดร่างกฎหมายคู่ชีวิต ภาคประชาชน ก็ไม่มีความคืบหน้าและหยุดการเคลื่อนไหวไป เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร จนในปัจจุบันหน้าที่ในการขับเคลื่อนกฎหมายคู่ชีวิตกลับไปอยู่ในการดูแลของกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง

ในขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง โดยประมาณปี พ.ศ. 2562 ประชาชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และพรรคการเมืองได้มีความพยายามในการนำเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบรรพ 5 ครอบครัว เพื่อรองรับการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในเวลาต่อมาคณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคล 80 รายชื่อ เพื่อแสดงจุดยืนและขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยกเลิกร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แทน ทว่า ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานภาครัฐ[11]

 

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่มา : ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ - Tunyawaj
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล
ที่มา : ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ - Tunyawaj

 

จนกระทั่งในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีเนื้อความแก้ไขอีกหลายมาตราที่เกี่ยวพันกับการสมรสและสิทธิการตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ[12] โดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อธิบายเหตุผลในการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน การออกแบบกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วย การแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองเฉพาะคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อรองรับสิทธิของทุกคน ให้สอดคล้องต่อความลื่นไหลทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของสังคม[13]

ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่า กฎหมายทั้งสองฉบับตั้งอยู่บนวิธีคิดที่แตกต่างกัน โดยกฎหมายคู่ชีวิตนั้นมุ่งที่จะรับรองสิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน แต่ในขณะที่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการรับรองสิทธิในการสมรสของคนทุกเพศ

 

 

นอกเหนือจากความแตกต่างของในเชิงวิธีคิดแล้ว ในเชิงเนื้อหาเมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

บุคคลที่ได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มุ่งหมายจะให้ความสำคัญกับการรับรองสิทธิของคนเพศเดียวกันโดยกำเนิดเท่านั้น ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มุ่งจะรับรองสิทธิของคนทุกๆ เพศ[14] ซึ่งในปัจจุบันความหลากหลายทางเพศมีมากกว่าการเป็นเพียงคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น  ทว่า เพศนั้นมีความหลากหลายมากไปกว่านั้น เช่น คู่รักเพศหลากหลายอาจจะเป็นชายที่เคยผ่านกระบวนการแปลงเพศและตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่กับผู้หญิงในฐานะคู่รักที่เป็นเลสเบี้ยน บทนิยามของกฎหมายที่ให้พื้นที่เฉพาะกับคนรักเพศเดียวกันโดยกำเนิดอาจจะไม่สอดคล้องกับเพศที่เป็นอยู่จริง เป็นต้น

สถานะของบุคคลตามกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ได้กำหนดสถานะใหม่ในความสัมพันธ์ขึ้นมาเรียกว่า “คู่ชีวิต” ซึ่งหมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิต[15] ซึ่งสถานะของคู่ชีวิตก็จะแตกต่างจากคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม) เป็นความพยายามแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสเพื่อรองรับการสมรสของคนเพศหลากหลาย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในการสมรสของคนทุกเพศ โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการสมรสของคนทุกเพศ[16]

การหมั้น ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ได้กำหนดเรื่องการหมั้นเอาไว้ในกฎหมาย  ฉะนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การหมั้นและสถานะของการเป็นคู่หมั้นนั้นไม่ได้รับการรับรองในกรณีของการเป็นคู่ชีวิต  ฉะนั้น เมื่อมีการหมั้นเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นคู่ชีวิตในอนาคต และมีเหตุให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตต่อไปได้ การใช้สิทธิใดๆ ระหว่างบุคคลสองคนนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องการหมั้นได้ ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นอกเหนือจากจะมีการแก้ไขเพื่อรับรองสิทธิในการหมั้นของผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว กฎหมายยังได้แก้ไขในเรื่องการหมั้นที่เดิมจะมีเฉพาะฝ่ายชายที่มอบของหมั้นให้กับฝ่ายหญิง แต่กลายเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความสามารถเป็นผู้ให้ของหมั้นได้[17]

อายุขั้นต่ำของผู้จดทะเบียน ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต กำหนดไว้ว่า บุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้นั้นจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องสมรสในปัจจุบัน[18] (ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เดิมเคยกำหนดไว้ที่อายุ 20 ปีบริบูรณ์)[19]

สิทธิต่างๆ ในทางกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต กำหนดสิทธิต่างๆ ของคู่ชีวิตไว้[20] เช่น การให้ความยินยอมรักษาพยาบาล การเข้ามาจัดการสิทธิในกรณีเป็นผู้ไร้ความสามารถ การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิตของตน การจัดการศพ และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น บรรดาสิทธิเหล่านี้ได้นำความสัมพันธ์ของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเป็นต้นแบบ ซึ่งหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับสิทธิดังกล่าวก็จะทำให้คู่สมรสที่เป็นคนเพศหลากหลายสามารถที่จะจัดการสิทธิของคู่สมรสได้ตามปกติ

การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต กำหนดเรื่องทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตไว้ในลักษณะคล้ายคลึงกันกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส โดยกำหนดรับรองทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต หากไม่ได้มีการแยกไว้เป็นสินส่วนตัวโดยการทำสัญญาไว้ก็จะต้องบังคับตามกฎหมายคู่ชีวิต โดยกำหนดหน้าที่จัดการทรัพย์สินร่วมกันไว้ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนั้น กฎหมายแก้ไขเรื่องคู่สมรสทำให้เรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกันเป็นเช่นเดียวกันกับหลักการเรื่องคู่สมรส

การสิ้นสุดความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ในเรื่องการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิตนั้น มีเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ลอกเลียนแบบมาจากคู่สมรส

การรับมรดก ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ให้เอาเรื่องการรับมรดกของคู่สมรสมาใช้

การรับบุตรบุญธรรมและการมีบุตร กฎหมายบัญญัติเรื่องการรับบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตเอาไว้จากเดิมกำหนดให้บุตรบุญธรรมเป็นบุตรบุญธรรมเฉพาะของคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นได้มีการปรับปรุงร่างให้มีการยอมรับให้บุตรบุญธรรมสามารถเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตทั้งสองฝ่ายได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เนื้อหามีความสอดรับกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มากขึ้น

การเข้าถึงสวัสดิการ การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐตามสิทธิต่างๆ ยังคงมีปัญหาอยู่ เนื่องจาก พ.ร.บ. คู่ชีวิต ยังไม่ชัดเจนว่า รับรองสิทธิของคู่ชีวิตไว้ในฐานะที่เท่าเทียมกับคู่สมรส  ฉะนั้น ในกรณีที่กฎหมายใดๆ ให้สิทธิแก่คู่สมรสในเรื่องการเบิกสิทธิสวัสดิการของข้าราชการ หรือการลดหย่อนภาษีตามประมวลรัษฎากร ในกรณีที่บุคคลเป็นคู่สมรส และอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำงานสามารถลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น แต่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ โดยการรับรองสิทธิบางประการที่ให้กับคู่สมรสเดิม และเปิดไปสู่การแก้ไขกฎหมายอื่นๆ เพื่อรับรองสิทธิ

การเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิต การจดทะเบียนคู่ชีวิตตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิต 500 บาท แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม แม้อัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตดังกล่าวจะเป็นเพดานขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายควรจะต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้บนหลักการที่เท่าเทียมกันหรือไม่ หากต้องการสนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง

 

  ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนคู่ชีวิต[21] ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสมรส[22]
การจดทะเบียน ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่เสียค่าธรรมเนียม
การจดทะเบียนนอก
สำนักทะเบียน
1,000 บาท 200 บาท
การจดทะเบียนนอก
สำนักทะเบียนในพื้นที่ห่างไกล
1,000 บาท 1 บาท
ค่าใช้จ่ายสำหรับพาหนะให้แก่นายทะเบียน 1,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคู่สมรสในการจัดพาหนะหรือใช้ค่าใช้จ่ายตามสมควร

 

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของการเป็นคู่ชีวิต ตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต รับรองไว้จะมีสาระสำคัญใกล้เคียงกับการเป็นคู่สมรสมากขึ้น แต่ยังคงมีรายละเอียดบางประเด็นที่ทำให้เกิดความแตกต่าง เช่น สถานะของบุคคลตามกฎหมาย การหมั้น และการรับสิทธิสวัสดิการ เป็นต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดสถานะของคู่ชีวิตที่ยังไม่เท่ากันกับคู่สมรส ซึ่งกลายเป็นการจำกัดพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้แตกต่างจากเพศชายและหญิงในการดำรงบทบาทการเป็นครอบครัว การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต จึงอาจกลายเป็นการละเลยต่อสิ่งสำคัญที่สุดที่สังคมควรให้ความสำคัญ คือ ความเสมอภาคบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

สิ่งนี้อาจจะกลับมาสู่ประเด็นว่า แท้จริงแล้วภายใต้การบงการของรัฐสถานะของความสัมพันธ์บนพื้นฐานความรักของคนสองคนอาจจะไม่เท่ากับคนอื่น และสังคมเช่นนี้จะเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงหรือไม่ อาจจะถึงเวลาที่รัฐจำเป็นต้องตั้งใจฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนให้มากขึ้นเสียที

 

ที่มา : ธงไพร์ด
ที่มา : ธงไพร์ด
 

[1] ประชาไท, ‘ครม.มีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่สภาเสนอ ชี้ เนื้อหาคล้าย พ.ร.บ.คู่ชีวิตของ รบ.’ (ประชาไทย, 29 มีนาคม 2565) https://prachatai.com/journal/2022/03/97915 สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[2] กรุงเทพธุรกิจ, ‘ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ส่งต่อที่ประชุม ส.ส. พิจารณา’ (กรุงเทพธุรกิจ, 7 มิถุนายน 2565) https://www.bangkokbiznews.com/politics/1008641 สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[3] ประติบัติ คำนี้มิได้สะกดผิด การเลือกใช้คำว่า “ประติบัติ” หมายถึง การปฏิติบัติต่อเขาในเชิงร้าย

[4] ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... มาตรา 3 (ฉบับที่คณะรัฐมนตรีใช้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร).

[5] ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา 15 (ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร).

[6] วจนา วรรลยางกูร ‘ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ. คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม’ (The 101.World, 8 เมษายน 2562) https://www.the101.world/partnership-law/ สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[7] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448.

[8] อ้างแล้ว (เชิงอรรถ 6).

[9] ร่างกฎหมายคู่ชีวิต ภาคประชาชน มีความแตกต่างจากร่างกฎหมายคู่ชีวิตของกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม โดยมีสาระสำคัญ 8 ประการ ได้แก่ (1) ร่างกฎหมายนี้จะรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลสองคน (ไม่มีการระบุเพศแต่อย่างใด) บุคคลที่จะจดทะเบียนภายใต้กฎหมายนี้จะสามารถกระทำได้ระหว่างบุคคลสองคนไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดเช่นใด (2) บุคคลที่มีสัญชาติไทยสามารถทำการจดทะเบียนกับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยฝ่ายหลังได้รับสิทธิพำนักอาศัยและสามารถขอสัญชาติไทยได้ (3) ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการหมั้นตามกฎหมายครอบครัว (4) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต ต้องดำเนินชีวิตร่วมกันด้วยความเคารพและปฏิบัติต่อกันบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กินในครัวเรือนเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กันก็ได้ (5) การจัดการทรัพย์สินเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายครอบครัว โดยยอมรับหลักการจัดการทรัพย์สินซึ่งจำแนกเป็นสินส่วนตัวซึ่งแต่ละคนได้มาก่อนการจดทะเบียนคู่ชีวิต และทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังการจดทะเบียนคู่ชีวิตถือว่าเป็นการทำมาหาได้ร่วมกัน และยอมรับการทำสัญญาระหว่างบุคคลทั้งสองในเรื่องที่ว่าด้วยทรัพย์สินก่อนจดทะเบียนคู่ชีวิต (6) การยุติสถานะคู่ชีวิตสามารถเป็นไปได้ตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการยุติสถานะคู่ชีวิตโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม ก็สามารถดำเนินการร้องขอ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวหาความผิดของอีกฝ่าย (No Fault Base) ก็ได้ (7) บุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้สามารถรับบุตรบุญธรรมได้โดยเป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ (8) คู่ชีวิตที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายนี้มีสถานะเช่นเดียวกับคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว และสามารถได้รับสิทธิตามที่กฎหมายอื่นได้บัญญัติรับรองสิทธิของคู่สมรสต่างเพศเอาไว้ เช่น สิทธิในฐานะเป็นทายาทตามประมวลกฎหมายและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องมรดก สิทธิสวัสดิการในฐานะเป็นคู่สมรสของข้าราชการ  ดังจะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ 4 ประการนั้นต้องการเสริมสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เท่าเทียมกับชายและหญิง ซึ่งกฎหมายไม่ได้ประสงค์จะให้เกิดการแบ่งแยกโดยเหตุของเพศ ดู มนธ.เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi), ‘ขออัปเดตเรื่องร่างพรบ.คู่ชีวิตฉบับภาคประชาชน’ (Facebook, 10 กุมภาพันธ์ 2561) https://www.facebook.com/thaisogi/photos/ขออัปเดตเรื่องร่างพรบคู่ชีวิตฉบับภาคประชาชนนะคะ-หลังจากรปห-ก็ยังไม่ได้มีการจัดกิ/2128950877131617/ สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[10] สิริโฉม พรหมโฉม, ‘การจดทะเบียนสมรสของคนรักเพศเดียวกัน’ (2560) 1 จุลนิติ 159, 165 https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/12know/k132.pdf สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2565.

[11] ประชาไท, ‘ร่อน จม. เปิดผนึก ถึง รมว. ยุติธรรม ขอยกเลิก ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เหตุยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่’ (ประชาไท, 22 สิงหาคม 2562) https://prachatai.com/journal/2019/08/83980 สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[12] BBC News ไทย, ‘LGBTQ: ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เลื่อนเข้าสภา 15 มิ.ย. อาจได้พิจารณาประกบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ (BBC, 7 มิถุนายน 2565) https://www.bbc.com/thai/thailand-61716154 สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[13] iLaw, ‘Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส’ (iLaw, 18 มิถุนายน 2563) https://ilaw.or.th/node/5695 สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565.

[14] ดู ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... มาตรา 3 (ฉบับที่คณะรัฐมนตรีใช้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร) เปรียบเทียบกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา 15 (ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร).

[15] ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... มาตรา 3 (ฉบับที่คณะรัฐมนตรีใช้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร).

[16] ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา 15 (ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร).

[17] ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา 5 และมาตรา 6 (ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร).

[18] ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... มาตรา 7 (ฉบับที่คณะรัฐมนตรีใช้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร).

[19] อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องอายุของคู่สมรสนั้น ตามร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา 15 (ฉบับที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ได้มีการเสนอปรับอายุของคู่สมรสไปเป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอคดล้องกับอนุสัญญาเด็ก ซึ่งกำหนดอายุขั้นต่ำของบุคคลที่เหมาะสมจะสมรสได้จะต้องอายุ 18 บริบูรณ์  ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามเหตุเฉพาะที่จำเป็นต้องให้มีการสมรส.

[20] ดู ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... มาตรา 18 ถึงมาตรา 23 (ฉบับที่คณะรัฐมนตรีใช้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร).

[21] ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายท้ายพระราชบัญญัติ (ฉบับที่คณะรัฐมนตรีใช้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร).

[22] กฎกระทรวงฉบับที่ 6 ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478.