Focus
- บรรยากาศของงาน Bangkok Pride 2023 ในปีนี้ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลไพรด์ (ความหลากหลายทางเพศ) ประจำปี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ยืนยันนโยบายการแก้กฎหมายให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่แค่ Pride Parade (การเดินขบวนพาเหรดของความหลากหลายทางเพศ) เท่านั้น แต่มีการรณรงค์ด้วยธงหลากสี และเนื้อหาของการปราศรัยคือ สัญลักษณ์และการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในเรื่องการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนของคนทุกเพศสภาพได้เป็นอย่างดี
- กิจกรรมภายในวันเดียวของ Pride Day ได้ผลักดันและรวมการแสดงออกในงานสร้างสรรค์จรรโลงใจโดยเพศทางเลือก LGBTQIAN+ ผ่านการนำเสนอผลงานศิลปะหลายแขนง เพื่อร่วมประกาศความสามารถอย่างเต็มศักยภาพทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ละครเวที จิตรกรรม ฯลฯ นิทรรศการจากผลงานวิทยานิพนธ์หัวข้อ “สุขนาฏกรรมบนผืนผ้ากับสังคมเพศสภาพ” การแสดงและเสวนาเบื้องหลังละครเวที “อนธการ”
- กิจกรรมในวันงานบอกเล่าถึงเบื้องหลังการสร้างงานจากจิตวิญญาณที่ยืนยันความต้องการสูงสุดของมนุษย์ที่ทุกคนมีไม่ต่างกัน ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องสิทธิ แต่เป็นกระบอกเสียงในนามความดี ความงาม และความรัก เพื่อส่งสารถึงเพื่อนมนุษย์ทุกเพศสภาพและทุกสถานะ เพราะศิลปะจะเยียวยาทั้งชีวิต-จิตใจ มอบความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อทุกชีวิตได้ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี แม้มีความต่าง แต่ก็สร้างสันติสุขอย่างแท้จริง
“ว่าอย่างไรครับกรุงเทพมหานคร พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การที่เรามารวมตัวกันอยู่ที่นี่ คือการส่งสัญญาณไปทั่วโลก ว่าประเทศของเราขับเคลื่อนด้วยความรัก ไม่ใช่ความลวง และเรากำลังส่งสัญญาณไปทั่วโลกว่า ความหลากหลายคือจุดแข็งของประเทศนี้ ไม่ใช่จุดอ่อน และเรากำลังส่งสัญญาณไปว่า ความรักก็คือความรัก และความรักต้องชนะ และเมื่อผมและคุณอุ๊งอิ๊งพรรคเพื่อไทย กับอีก 6 พรรคที่เหลือ เราจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ สมรสเท่าเทียมผ่านแน่นอน รวมถึงการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร เชื้อชาติอะไร หรือศาสนาอะไร ประเทศของเรายินดีต้อนรับทุกคนอย่างปลอดภัย อย่างมีอิสระ และพวกคุณทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้แน่นอน
และเมื่อวันนั้นที่ผมกับคุณอุ๊งอิ๊งร่วมมือกันเมื่อไหร่ พอกันทีกับคนที่รักอาชีพของตัวเอง แต่ไม่สามารถทำงานได้ คนที่รักความเป็นครูแต่ไม่สามารถเป็นครูได้ เพียงเพราะเพศสภาพของเขากับเพศกำเนิดไม่ตรงกัน พอกันทีกับสังคมที่คนต้องการจะสร้างบ้านร่วมกัน สร้างชีวิตร่วมกัน แต่พวกเขาทำไม่ได้ เพียงแค่ความรักของเขาโดนบอกว่าไม่เหมือนกับคนทั่วไป พอกันทีกับบทสนทนาอันน่ากระอักกระอ่วนใจ กับผู้ปกครอง กับพ่อแม่ของตัวเองบนโต๊ะอาหาร เพียงเพราะว่าเสียงข้างในของเขาไม่ตรงกับเสียงที่พูดออกมาจากปากของเขา
และแล้ววันนั้น คือวันที่เราจะส่งสัญญาณไปทั่วโลกว่า Pride Month ไม่ใช่เป็นแค่เดือน ไม่ใช่เป็นแค่การเดินพาเหรด แต่เป็นคุณค่าที่พวกเราเชื่อร่วมกันทั้งสังคม เหลืออีกนิดเดียวเท่านั้น ตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ เอาขึ้นวาระประชุม ครม. เอาเข้าประชุมสภาฯ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะราบรื่นแค่ไหน แต่ผมขอสัญญากับทุกคนในที่นี้ ว่าจะคุ้มค่าแน่นอน แล้วเมื่อถึงเวลานั้น เรามาเปลี่ยนประเทศไทยไปด้วยกัน เปลี่ยนเอเชียไปด้วยกัน แล้วเรามาเปลี่ยนโลกนี้ไปด้วยกัน ขอบคุณมากครับ”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
หัวหน้าพรรคก้าวไกล
Road To Bangkok World Pride 2028
เสียงปราศรัยที่ประชาชนหลายหมื่นคนรอคอย ทั้งจากจุดตั้งต้นหัวขบวนที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่เขตปทุมวัน แน่นขนัดไปถึงสยามสแควร์ ทะลุถึงราชประสงค์จุดสุดท้ายของการเคลื่อน Pride Parade ณ เวทีใหญ่ที่ศูนย์การค้า Central World กรุงเทพฯ และอีกหลายล้านคนทั่วประเทศที่รอรับชมรายงานข่าวจากทุกสื่อ ในทุกภูมิภาคของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 บรรยากาศการประกาศนโยบายของกรุงเทพมหานคร กับเครือข่ายในนาม Bangkok Pride นำขบวนโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เจ้าของคำปราศรัย ในนามพรรคก้าวไกล และ แพทองธาร ชิณวัตร ในนามพรรคเพื่อไทย ทั้งสองเป็นเสมือนแกนนำภาคประชาชนที่เข้าร่วมสนับสนุนการรณรงค์ขับเคลื่อน เพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม และรัฐสวัสดิการของผู้มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+)[1] ให้ผ่านสภาฯ ภายใน 100 วัน หลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นับเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มีแนวร่วมส่งพลังสู้สู่จุดประสงค์หลักมากมายเกินคาดหมาย
เป้าหมายหลักของการรณรงค์ (campaign) Road To Bangkok World Pride 2028 เพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของประเทศไทย คณะผู้จัดงาน Bangkok Pride 2023 ในปีนี้ เป็นกลุ่มเดียวกันกับปี 2565 ที่เริ่มงานอย่างเป็นทางการในนาม Bangkok Naruemit Pride 2022 ครั้งนี้มีมิติทางการเมืองเพิ่มเข้าไปใน Pride Parade ทั้งการรวมตัวของผู้นำพรรคการเมือง รายละเอียดในขบวน ที่นอกจากสีสันคัลเลอร์ฟูลของเหล่าผีเสื้อเสรีแล้วยังมีหนูน้อย พิพิม ลิ้มเจริญรัตน์ ร่วมนำขบวน ท่ามกลางรูปผู้ถูกบังคับสูญหาย และป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมเรียงรายท้ายขบวน โดยสมาชิกพรรคก้าวไกล และเมื่อเดินถึง วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร มีพิธีรำลึก 13 ปี คารวะดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต 94 คน จากเหตุสลายการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลต้องลงนาม ICC[2] กรณีที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
บรรยากาศการปราศรัยและกิจกรรมจากหลากกลุ่มบนเวที ให้ความรู้สึกเหมือนทุกคนกำลังร่วมเฉลิมฉลองให้กับก้าวแรกแห่งชัยชนะ ที่ประชาชนได้รับจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งต่างก็รู้สึกมีความหวังกับก้าวใหม่ จากเวลาเกือบสิบปีที่เสียไปให้กับรัฐเผด็จการ ที่นำมาซึ่งความพิกลพิการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แม้วันนี้จะยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ทุกคนรอคอย แต่ความหวังใหม่ที่จะได้ประเทศไทยและประชาธิปไตยกลับคืนมา ประกาศกล้าชัดเจนอยู่ในทุกกิจกรรมการแสดงออก ที่เป็นมากกว่าคำพูดของทุกคนบนเวที มีเสียงตอบรับอย่างอึงอลจากมวลชนทั่วบริเวณงาน คำปราศรัยของผู้เป็นหัวใจแห่งการขับเคลื่อนเสมือนสายฝนที่โปรยปรายให้ทะเลทรายได้คลายร้อน ก่อนความฝันจะถูกบันดาลผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือเสียงของความหวัง จากพลังยิ่งใหญ่ในใจชน ที่ทุกคนต่างมีจุดหมายเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยเสรี
แคมเปญของ Bangkok Pride 2023 ไม่ได้มีแค่ความบันเทิง 6 เวทีดนตรีหลากแนวบนถนนเท่านั้น ที่สรรมาปักธงความฝันร่วมกัน แต่ยังมีอีกหลายภาคส่วนสำคัญที่เข้าร่วมจัดกิจกรรมอย่างเป็นทางการในงานรณรงค์ครั้งนี้ด้วย อาทิ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมสนับสนุนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมด้วยโปรแกรมพิเศษ “Thai Queer Cinema Odyssey”[3] การเดินทางของหนังเควียร์ ว่าด้วยความแตกต่างหลากหลายทางเพศในหนังไทย 40 เรื่อง ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2566 โดยจัดแบ่งภาพยนตร์ออกเป็น 3 ชุด ระหว่างก่อนและหลังคริสต์ทศวรรษ 2000 (หรือ พ.ศ. 2543 เป็นชุดหนังเควียร์คลาสสิก) และหลังยุค 2000 แบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ หนังเควียร์กระแสหลัก และหนังเควียร์กระแสทางเลือก นอกจากภาพยนตร์ไทยแล้วยังมีภาพยนตร์เยอรมัน Neubau (2563) และ ฝรั่งเศส The Wound (2560) จัดมาร่วมขบวนฉายให้เลือกชมกันได้อย่างหลากหลาย ล้วนน่าสนใจมาก นอกจากการฉายภาพยนตร์แล้วยังมีการเสวนา เพื่อพาผู้ที่สนใจไปสำรวจความหลากหลายทางเพศของภาพยนตร์ไทย ในวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566 อีกด้วย[4]
นอกจากภาพยนตร์ ดนตรี แล้ว ยังมีนิทรรศการงามวิจิตรจาก ศิลปะประดิษฐ์โดย ศิลปินรุ่นใหม่มากฝีมือ นำเสนอผลงานผ่านวิถี LGBTQ ในประเด็นละเอียดอ่อน ซ่อนอยู่ในกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่เป็นกลไกกำหนดบทบาทของเพศสภาพ มีทั้งแบบเทคนิคสื่อผสมและจิตรกรรม ณ People Gallery ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
นิทรรศการบอกเล่าสังคมเพศที่สามในสังคมไทย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงมุมมองเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเพศที่สาม เชื่อมโยงไปถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ที่มุ่งหวังให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความหลากหลายของเพศ การมองเห็นคุณค่าของตัวเอง นำไปสู่การใช้ชีวิตที่มีความสุขในสังคม โดยศิลปินถ่ายทอดผ่านเทคนิคเฉพาะตน ด้วยวิธีเย็บปักเส้นด้าย ผ้า และวัสดุผสม
แรงบันดาลใจ แนวคิดในการสร้างงานของ ธนพล ดาทุมมา
จากเอกสารการทำวิทยานิพนธ์ของ ธนพล ดาทุมมา ระบุว่า ศิลปินต้นแบบที่นำมาศึกษาในด้านเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ คือ บิซา บัตเลอร์ (Bisa Butler) ชาวแอฟริกัน จากผลงานที่นำเสนอภาพผู้คนเชื้อสายแอฟริกันซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเธอ ผ่านรูปแบบงานศิลปะแบบคอลลาจ ผลงานสร้างสรรค์จากผืนผ้า เป็นงานศิลปะที่ใช้อุปกรณ์เพียงเข็มและด้าย ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างจากฝีแปรง ปักเย็บเป็นลวดลายบนผืนผ้าโดยเลือกเอาวัสดุ ตั้งแต่ผ้าลูกไม้สไตล์วินเทจ ผ้าซาติน ไปจนถึงผ้าหมักโคลนพื้นเมือง มาเย็บประกอบกันด้วยเทคนิคการควิลท์ (Quilts) จนได้ออกมาเป็นภาพบุคคลทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีต้นแบบมาจากบุคคลทั่วไปในชีวิตประจำวัน
เป้าหมายของ บิซา บัตเลอร์ คือการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คน ที่อาจถูกหลงลืมไปเมื่อเวลาผันผ่าน เรื่องราวเหล่านั้นถูกร้อยเรียงผ่านเนื้อผ้า ลวดลาย และสีสัน ที่บอกเล่าในสิ่งที่เกี่ยวโยงกับศิลปิน ทั้งในแง่ของตัวบุคคล และในแง่ของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เลือกมาใช้ บางชิ้นมาจากเสื้อผ้าธรรมดา บางชิ้นก็เก่าแก่กว่านั้น เป็นเสื้อผ้าของแม่และยายของ บิซา บัตเลอร์ อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่เป็นวัสดุที่ไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ การเลือกใช้เทคนิคควิลท์หรือการด้นมือให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า ยังเป็นเหมือนการนำเสนอภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวแอฟริกันเพราะในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ทาสผิวสีของอเมริกา เป็นผ้าที่ถูกทออย่างงดงามสลับซับซ้อน แต่สิ่งที่เหลือกลับมาก็ยังเป็นแค่เศษผ้าที่เล็กเกินกว่าจะพอห่ม นี่คือที่มาของเทคนิคพวกนี้ มันเกี่ยวโยงโดยตรงกับสังคมการเป็นอยู่ของศิลปิน
ฉากหน้าของงานศิลปะสีสันสดใส ผลงานได้ซุกซ่อนเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษชาวแอฟริกันไว้ภายใต้เศษผ้าพื้นเมืองสีแสบสด บ่งบอกถึงชาวแอฟริกันภูมิใจในรากเหง้า มรดกของบรรพบุรุษที่หลงเหลือไว้ ข้าพเจ้า (ธนพล ดาทุมมา) ศึกษาในด้านเทคนิควิธีการเย็บปักใบหน้าคนในสีสันต่างๆ ด้วยผ้าที่มีสีสันสดใส จัดจ้าน นำผ้าชนิดต่างๆ มาตัดประทับซ้อนเป็นใบหน้าคนโดยมีการกำหนดเฉดสีของผ้า กำหนดน้ำหนักผ้า จากน้ำหนักเข้มไปน้ำหนักอ่อนในการเย็บปัก เพื่อให้ใบหน้ามีมิติดูมีชีวิตสมจริง ศึกษาในเรื่องวิธีการเย็บจักรอุตสาหกรรมที่ให้เส้นเล็กคม มีความละเอียด ให้อารมณ์ต่างไปจากการเย็บมือ รู้สึกว่าเส้นที่มาจากจักรอุตสาหกรรมมีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ต่างจากการเย็บด้วยมือเส้นจะใหญ่ หนา ไม่มีความละเอียด แต่ให้สีของเส้นที่จัดจ้าน เด่นชัดกว่าการใช้จักรอุตสาหกรรม และศิลปินมีการใช้ผ้าพื้นเมืองของแอฟริกามาเย็บเพื่อเชื่อมระหว่างแนวความคิดและเทคนิค ซึ่งผู้สร้างสรรค์เองก็ได้มีการนำเอาชุดหรือวัสดุซึ่งเพศที่สามใช้จริงๆ นำมาใช้เย็บปักเพื่อเชื่อมโยงกับแนวความคิดและเทคนิคเช่นกัน ผู้สร้างสรรค์สนใจในเทคนิคของศิลปิน จึงศึกษาและทดลองสร้างสรรค์ในผลงานของตนเอง
“กุสลาธัมมา ขอเชิญเทพเทวดามาพาเพื่อนสาวไปสวรรค์”
จากเอกสารการสร้างสรรค์ผลงานช่วงก่อนวิทยานิพนธ์ระยะที่ 3 ของ ธนพล ดาทุมมา นำเสนอความประทับใจทางด้านอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์กลุ่มเพื่อนกะเทยที่มาแสดงความรักและล่ำลา ผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย โดยแสดงออกผ่านเทคนิควิธีการเย็บปัก พัฒนาความคิดและเทคนิค
ข้าพเจ้านำข้อผิดพลาดมาปรับใช้และพัฒนา จนเกิดเป็นผลงานในชุดนี้ เพื่อต้องการบอกเล่าถึงการสูญเสียเพื่อนอันเป็นที่รักของกะเทย โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการสูญเสียรุ่นพี่ในกลุ่มกะเทย ซึ่งได้ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำขณะที่กำลังจะไปแสดงเต้นโชว์ในวงหมอลำ ทำให้บรรดาญาติของผู้ตายและเพื่อนพี่น้องคนสนิทรู้สึกสะเทือนใจ เสียใจกับการสูญเสียคนที่รักเป็นอย่างมาก โดยบรรยากาศในพิธีฌาปนกิจนั้นเต็มไปด้วยญาติและกลุ่มเพื่อนกะเทยที่มาไว้อาลัยแสดงความเสียใจกับการจากไปของผู้ตาย โดยก่อนตายผู้ตายเคยกล่าวไว้ว่า ขอให้มีการแสดงโชว์ในงานศพตนเอง เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองรักมาตลอดชีวิตนั้นคือการแสดง การเต้น การรำ ไม่อยากให้บรรยากาศเศร้า
หลังจากการทำพิธีทางศาสนาเสร็จสิ้น ได้มีการแสดงโชว์การรำหน้าไฟ การรำส่งสการ การแสดงโชว์ต่างๆ จากกลุ่มเพื่อนกะเทยที่มาแสดงให้กับผู้ตายด้วยความรักความผูกพัน ที่มีความรักใคร่กันมานาน สร้างความครึกครื้นให้กับผู้ที่มาร่วมงานเป็นอย่างมากแม้ว่าพิธีกรรมนี้จะเป็นงานศพก็ตาม ข้าพเจ้าถ่ายทอดภาพบรรยากาศงานศพที่กะเทยได้ไปร่วมงาน เพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้สึกรัก ความผูกพันที่มีต่อผู้อยู่และผู้ตาย ถึงแม้ว่าในงานศพนั้นจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีชีวิตชีวาเหมือนแสดงโชว์ที่จัดขึ้นตามงานสังสรรค์ทั่วไป แต่ลึกๆ ในความรู้สึกของผู้ที่มาร่วมงานนั้นกลับเต็มไปด้วยความโศกเศร้า เสียใจจากการสูญเสียเพื่อนอันเป็นที่รัก การแสดงในงานศพจึงเป็นเหมือนการแสดงกลบกลืนความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจ ภาพในงานศพจึงมีความรู้สึกย้อนแย้งระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้มาร่วมงาน
แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ตายได้ขอไว้ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ตายรักและชื่นชอบมาตลอดชีวิตจึงอยากให้งานศพตนสนุกมีสีสัน จะได้จำภาพในความมีชีวิตชีวาเหมือนในครั้งที่ทำงานเป็นหางเครื่องหมอลำ ลักษณะผลงานเป็นรูปแบบจิตรกรรมผสมถ่ายทอดผ่านกระบวนการเทคนิคเย็บปักและวัสดุผสม เช่น เส้นด้าย ผ้า เพชร ลูกปัด ขนนก วิกผมปลอม ชุดที่ใช้แสดงโชว์จริงๆ หากมองภายนอกอาจจะรู้สึกว่าสถานการณ์ ณ ขณะนั้นเต็มไปด้วยความสนุกของสีสันลวดลายผ้า ความระยิบระยับของวัสดุและท่าทางอากัปกิริยาของผู้คนในภาพที่สื่อให้เห็นถึงบรรยากาศในงานศพ แต่ภายในความรู้สึกลึกๆ นั้นข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวดจากสภาวะของการสูญเสียเพื่อนอันเป็นที่รัก
“The Blue Hour” ห้วงหาวแห่งภาวะมืดมน … อนธการ
“อนธการ The Blue Hour” เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ โดย ปัณธร จันทร์นิ่ม เจ้าของวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาศิลปการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “การรับบทตัวละครวัยรุ่นเกย์ที่มีภาวะหลอกตัวเอง : กรณีศึกษาตัวละครตั้ม จากบทละครดัดแปลงเรื่อง อนธการ ของอภิรักษ์ ชัยปัญหา” จากบทภาพยนตร์ดั้งเดิมเรื่อง “อนธการ” (1 ใน 13 เรื่อง ของซีรีส์ชุด “เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน” โดย อนุชา บุญยวรรธนะ ร่วมกับ วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์)
กำกับการแสดงโดย นพพันธ์ บุญใหญ่
นำแสดงโดย
ปัณธร จันทร์นิ่ม เป็น ตั้ม
นวิน พรกุลวัฒน์ เป็น ภูมิ
ศิวฤทธิ์ มีบุญธรรม เป็น ต้น
ปิยะนุช ยอดชุม เป็นแม่
สิโรรส เอ็มอธิ สุรฐาชัยวัฒน์ เป็น พ่อ
นักดนตรี : บทละคร จันทร์เรือง
บรรเลงดนตรีสดแสดงเดี่ยวด้วยกีตาร์ไฟฟ้า คีย์บอร์ด ambient ดนตรีผสมทางคอร์ดเเบบเเจ๊ส เล่นเเบบร็อก เข้ากับองค์รวมของ production design ที่มีแนวคิดน้อยแต่มาก less is more (หรือ minimalism การใช้ส่วนประกอบน้อย แต่ให้ผลต่อความคิด และการใช้งานที่ได้ประโยชน์สูงสุด ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป)
“อนธการ” เล่าเรื่องภาวะหนักหน่วงที่อยู่ในห้วงอันตรายของวัยรุ่น วัยเปลี่ยนผ่าน ที่มาพร้อมกับปัญหาหลายด้านที่ไม่ธรรมดาของทุกคน ผู้เป็นตัวเอกในชีวิตของตัวเอง แม้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของ ปัณธร จันทร์นิ่ม แต่องค์ประกอบทุกด้านทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งมองชีวิตจริงของ เก้ ที่มาในนาม ‘ตั้ม’ ตัวละครเกย์วัยรุ่นมัธยม ที่เติบโตมาในครอบครัวหัวเก่า มีพ่อเป็นนายทหารที่จัดระเบียบครอบครัวอย่างเคร่งครัด ฝึกหัดทุกคนให้อยู่ใต้อำนาจ มีแม่เป็นแม่บ้านผู้ยอมทิ้งความฝันเพื่ออุทิศชีวิตให้กับครอบครัว หวาดกลัวกับเพศสภาพใหม่ในชีวิตของลูก ที่ถูกพ่อกับพี่ (ต้น — หนุ่มวิศวะ) ปฏิเสธ เป็นเหตุให้ห่างเหินกับตั้มโดยไม่รู้ตัว เมื่อทุกคนในบ้านรู้สึกว่าตั้มเกลือกกลั้วกับอาจม บ้านก็เหมือนถูกลงอาคมให้กลายเป็นคุก ตั้มถูกพ่อทรมานทั้งกายใจ มีพี่ต้นช่วยสร้างเรื่องให้ตั้มเป็นคนผิด ฐานแอบขโมยของในบ้านไปขาย เพียงเพราะเขากลายเป็นคนผิดเพศ จึงเหมาะสมกับการถูกลงโทษด้วยความผิดร้ายแรงและไม่มีสิทธิ์ร้องเรียน หรือเรียกร้องความเห็นใจจากใครทั้งสิ้น
ภาวะหลอกตัวเองของตั้มทั้งยามหลับและตื่น บอกปัญหาทางใจ ที่ไม่ใช่เพียงเพราะฮอร์โมนของวัย แต่คือนัยจากภาวะที่ถูกกดทับ ซับซ้อนทั้งอารมณ์ซึ่งทับถมอยู่ในจิตใจที่บอบบาง ละครจงใจนำเสนอความคลุมเครือที่เอื้อต่อการสร้างจินตนาการทั้งภาพและเหตุการณ์ ผ่านงานเล่าเรื่องด้วยทุกองค์ประกอบแบบเหนือจริง (surreal) โยนตั้มไปเดินเล่นที่กองขยะประหนึ่งเนินเขา ทั้งที่เราแทบจะได้กลิ่นเน่าเหม็นจากการบรรยายภาพของตั้ม กำหนดให้พื้นที่ของผู้ชมเป็นกองทับถมของภูเขาขยะ ก่อนที่เขาจะพบกับ ‘ภูมิ’ หนุ่มรูปงามที่มากับสื่อออนไลน์ จุดนัดหมายของสองคนอยู่ที่กองขยะ เหมือนจะย้ำความสัมพันธ์ที่ผู้คนทั่วไปมองเกย์ ไม่ต่างจากสิ่งปฏิกูลที่พูนพอก จนเขาสูญความมั่นใจ ต้องหลอกใจตัวเองเพื่อหนีทุกข์ หนีคุกที่ถูกขังให้ตายทั้งเป็น ในทุกเช้าเย็นที่ต้องเผชิญหน้ากับพ่อ
บทกำหนดให้สระน้ำร้างเป็นหนทางที่รื่นรมย์ เมื่อต้องหนีทุกข์ตรมมาชื่นชมกับทางออกนอกรีต น้ำ กับความฉ่ำเย็นที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการปลอบประโลม ถูกถาโถมด้วยกรอบของสระในบริเวณที่รกร้าง แต่ราวกับเป็นเกราะโอบกอดปกป้องสองคน ให้พ้นจากสายตาและการโจมตี เพราะโลกีย์ที่ผิดประเพณีเหมือนไม่เคยมีปรากฏบนโลก ทั้งที่มีมาแต่โบราณพร้อมกับการกำเนิดมนุษย์ สระคือความสุขของตั้ม เมื่อเขารู้สึกว่า “ทั้งที่กลั้นหายใจอยู่ใต้น้ำ แต่กลับรู้สึกปลอดโปร่งมากกว่าตอนอยู่บนบก” … ทั้งเรื่องให้ความสำคัญกับจินตนาการเหนือจริง เป็นสิ่งที่คนดูรับรู้ได้จากการกำหนดฉากและพื้นที่ ผ่านการแสดงของตัวละคร โดยเฉพาะ ตั้มกับภูมิ สองคนเป็นเหมือนผู้กำกับที่คอยขยับคนดูให้ไปสู่จินตภาพที่ต้องการ แม้กระทั่งฉากมีเซ็กซ์ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมได้แอบดูคู่รักร่วมรื่นรมย์
เมื่อตั้มถูกกดดันอย่างถึงที่สุด เขาพาตัวเองหลุดออกจากโลกของความจริงยิ่งกว่าเคย จากกองขยะ สระน้ำรกร้าง สู่ทุ่งลาเวนเดอร์ละเมอตามหาความรัก เหมือนภาพในความฝันที่พันผูกลูกแม่ เป็นฉากเดียวของทั้งเรื่องที่สวยเซอร์โดดออกมาจากความจริงที่เผชิญ ก่อนเดินลงนรกด้วยฟางเส้นสุดท้าย ความตายคือทางที่เลือกแล้ว ความคลุมเครือเพื่อสร้างภาพหลอนร่วมไปกับ ตั้ม จนท้ายที่สุดผู้ชมต้องหยุดพิจารณาว่าการฆ่ายกครัวเป็น ความจริงในความลวง หรือ ความลวงในความจริง… แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะมันเป็นเพียงปริศนาที่จะพาผู้ชมไปให้ถึงซึ่งความจริงที่ว่า เราควรเปิดใจให้เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ คือที่สุดของความเข้าใจในระดับลึก เพื่อไม่ต้องเปิดศึกกับศัตรูที่มองไม่เห็น ให้ทุกคนได้เป็น ได้สิทธิ์ ตามจิตปรารถนา เป็นการปิดทางทุกปัญหาที่จะตามมาเพียงเพราะแตกต่าง ในแนวทางที่เขาเป็น…
Post-Show Discussion: “ อนธการ The Blue Hour ”
เสวนาหลังการแสดง ไม่ต่างจากงานบรรยายทางวิชาการ ที่ผู้ชมมีส่วนร่วมรับความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นที่เป็นมากกว่า หนัง-ละคร
วิทยากร และผู้ร่วมเสวนา 30 เมษายน 2566 ประกอบด้วย ปัณธร จันทร์นิ่ม (เก้) แสดงนำรับบท ตั้ม, อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับ “อนธการ” และบทภาพยนตร์ดั้งเดิม (ร่วมกับ วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์), กำกับภาพยนตร์ “อนธการ” โดย อนุชา บุญยวรรธนะ (นุชชี่), อภิรักษ์ ชัยปัญหา (โย — เขียนบทละครเวที), นพพันธ์ บุญใหญ่ (อ้น) ผู้กำกับการแสดง, พิธีกร ภานุวัฒน์ อินทวัฒน์ (เด่น)
เด่น - อยากให้เก้เล่าที่มากับความสำคัญของละครเวที อนธการ ให้ฟังครับ
เก้ - เจ้าของงานละคร หัวข้อ Thesis “การรับบทวัยรุ่นตัวละครเกย์ที่มีภาวะหลอกตัวเอง” บทละครของ อภิรักษ์ ชัยปัญหา เมื่อปี 57-58 ช่วงปี 3-4 ได้ดูซีรีส์เรื่อง เพื่อนเฮี้ยน ตอน ศึกสีน้ำเงิน มีผี มีกองขยะ มีสระว่ายน้ำ มันพูดถึงจุดยืนของเพศสภาพเรา ได้ไปดูอนธการครั้งแรกที่ MF ประเด็นมันชัดเจนว่า การที่ตัวละครสองตัวต้องปีนป่าย กับการที่ไม่มีจุดยืนในสังคมนี่มันปวดร้าวแค่ไหน เลยคิดว่าต้องสอบหัวข้อนี้ให้ผ่านให้ได้ พอผ่านแล้วถึงหาคนเขียนบทได้มาเป็นพี่โย ให้โจทย์ทิ้งไว้ว่าอยากจะเล่าในสิ่งที่หนังเล่าแล้วคลุมเครือ ขยี้ประเด็นครอบครัว แกนหลักยังคงเล่าตามหนัง แต่ตรงไหนคลุมเครือก็เล่าให้ชัดเจน (ประเด็นที่หนังเปิดให้คนดูจินตนาการต่อยอด)
เด่น - ในฐานะเป็นงานวิจัยคาดหวังว่าจะได้ฝึกอะไรจากงานนี้ เพราะพื้นฐานเป็นนักแสดงโขนและชอบมิวสิคัล
เก้ - แรกเลือกอองซอมเบอร์มาหลายเรื่องแต่ด้วยลิขสิทธิ์ที่แพงมาก ก็เลยไม่ทำ ทำเรื่องอื่นก็ได้ จะทำน้ำพุก็ถูกค้านว่า แกไม่ใช่คนติดยาเก้ แกสะอาดเกินไป ไม่ใช่มึง จนมาถึงอนธการ สิ่งที่ท้าทายคือภาวะจิตของตั้มสามารถเป็นอะไรก็ได้ ก็เลยเป็นคำว่าภาวะหลอกตัวเอง โกหกคนอื่นไม่พอยังโกหกตัวเองด้วยอยากเล่นกับความรู้สึกนึกคิดตัวละครว่า ความลุ่มลึกที่ทำให้คิดหรือกลไกที่ทำให้ตัดสินใจทำแบบนี้ ตั้ม เล่นกับความรู้สึก ความลึก ก้นบึ้งของความเป็นคน เป็นสิ่งท้าทายมากๆ ทำอย่างไรที่จะให้ตัวละครมีมิติ มีความคลุมเครือได้มากที่สุด
เด่น - ภาค original ของภาพยนตร์เรื่อง “อนธการ” มาจากข้อมูลข่าวเรื่องคนในครอบครัวจ้างวานฆ่าสมาชิกในครอบครัวตัวเอง อะไร touched ใจนุชชี่ในประเด็นนี้ ถึงได้นำมาสร้าง
นุชชี่ ผู้กำกับ - อนธการเกิดจากซีรีส์เรื่อง “เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน” ช่วงนั้นยังไม่เคยทำหนังยาวมาก่อน GTH ติดต่อมาเป็น 1 ใน 13 เรื่อง อยากทำให้เป็นแนวสยองขวัญ เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นข่าวมีหลายเคสที่ตัดสินสังหารครอบครัวตัวเองเพื่ออะไรบางอย่างก็เลยจับเอามาเป็นบรรยากาศของเรื่อง
เด่น - เก้ติดต่อขอเอาไปทำละครเวทีหลังสอบหัวข้อได้แล้วคาดหวังจะเห็นอย่างไร
นุชชี่ - ก็คิดว่าเก๋จัง หนังจะได้เป็นละครแต่ มีความเซอร์เรียลเป็นศิลปะที่มีแลนด์สเคปเยอะมาก ถ้าทำเป็นละครจะออกมาอย่างไร น่าจะเติมในส่วนที่ละครทำได้ดีคือดรามาต่างๆ ศึกษาตัวละคร ขยายปมตัวละครที่ในหนังเราตัดสินใจ… แต่ในละครเราเห็นการต่อยอดออกมาจากคนเขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดงด้วย ได้เห็นองค์ประกอบเชิง commercial เยอะเหมือนกัน ให้ภาพดู strong แค่ตั้มใส่ชุดนักเรียน แม่ชุดดำ พ่อชุดทหาร ก็มี visual ที่เราเป็นคนทำหนังไม่ได้เห็นมันชัดขนาดนี้ ผ่านการตีความอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจหนังตัวเองมากขึ้น
เด่น - เอาหนังที่โลเคชันหลากหลายถ่ายอย่างไรก็ได้ เอามารวมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดของละครเวที นอกจากความท้าทายเรื่องสถานที่แล้ว น่าจะอยู่ที่ประเด็นด้วย แนวคิดตั้งต้นก่อนแปลงบทมาเป็นละคร
พี่โย - เก้ติดต่อมาคำถามแรกคือ นิชชี่อนุญาตเหรอ มีองค์ประกอบท้าทายน่าลอง เคยมีประสบการณ์ดัดแแปลงบทของ ปราบต์ นักเขียนรุ่นใหม่ มาเป็นเรื่อง “คาธ” ในซีรีส์ เลยรู้สึกว่าเริ่มสนุกกับการดัดแปลงบท เราเป็นคนละครเวทีเชื่อว่าละครเล่าอะไรก็ได้อยู่แล้ว ดูจาก compose แล้ว visual ของเขามันพาเรา beyond ไปสู่อะไรก็ได้ เราอยู่สถานที่แห่งนี้ แต่สามารถคืนจินตนาการให้ผู้ชมร่วมสร้างของตัวเองขึ้นมาได้ เลยรู้สึกว่าอยากสร้างบทที่ไม่ใช่สำหรับดู แต่เป็นบทสำหรับเขียน ก็เลยนึกถึงงานวรรณกรรมประเภทการเข้าไปในกระแสจิตสำนึกของตัวเอง พอเป็นสื่อภาพยนตร์มันใช้ภาษาภาพเพื่อเข้าไปดำดิ่งกับโลกของตั้ม เราอาจใช้ภาษาภาพที่เป็นพิมพ์มืด (dark print) แทบมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเราอ่านวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย แนวกระแสสำนึก ตัวละครจะพูดๆ ในภาพยนตร์จะพูดน้อย พอมาเป็นละครกลายเป็นว่าจากตัวละครพูดน้อยจะกลายเป็นตัวละครพูดเยอะที่สุด แต่เวอร์ชันแรกที่เขียนพูดน้อยเพราะเกรงใจต้นฉบับมาก เก้ขอว่าพี่โยเติมอีกหน่อยได้ไหมมันสั้นเกินไป ในหนัง 90 นาที แต่ของเรา 40 นาทีเอง พี่ก็เติมให้ใน concept นี้
เพราะน้องให้โจทย์อยากเน้นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เรื่องเล่าแบบเด็กที่ถูกกระทำแล้ว turning point คือ dark side แล้วทำอะไรบางอย่าง เราเห็นตัวอย่างเรื่องทำนองนี้เยอะมากที่ตัวละครเข้าสู่ dark side ของมัน
เรื่องนี้เล่าสู่ช่วงเวลาที่มันกำลังจะเดินเข้าไป แล้วถึงตัดสินใจ เหมือนเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เล่าช่วงที่มันใกล้จะไคล์แม็กซ์แล้ว มีเวลาปูน้อยมากท้าทายมาก ก็ปูๆ ไป โยนให้ผู้กำกับท้าทายอ้นมาก คือตอนเขียนบทละครเวทีเราจะเผื่อให้เขาว่าเดี๋ยวจบซีนนี้อาจต้องมีอะไรมาคั่นออก ดีไซน์ไว้เพื่อให้มันเกิดซีนนี้ขึ้นมาแต่ละวรรค ตั้งใจเล่าไปเลยแล้วเริ่มอยากรู้ว่าเขาจะเล่าอย่างไร เพราะช่วงหลังเคยเห็นบทละครหลายๆ เรื่องยุคใหม่ที่เป็น text base เหมือนกัน มันสามารถทะลุทะลวงแล้วกลายเป็น print art ไปด้วยในการสร้างซีน ไม่ต้องไวยากรณ์เดิมแล้ว เชื่อว่าอ้นจะรับได้
เด่น - พี่อ้น เจอบทปุ๊บกำกับได้เลยไหม บทช่วงไหนโดนใจพี่ ฉากเซ็กซ์เป็นอย่างไรบ้าง
อ้น - มันมี subject ที่พูดถึงอิสรภาพทางกาย ทางเพศ ทางสิทธิที่มันอาจจะสอดคล้องเชื่อมโยงได้กับคนทั่วไป โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่มันอาจจะเป็น voiceให้กับคนรุ่นใหม่ มันก็สื่อสารกับคนทำงาน เช่น นักแสดง กับเราที่เป็นผู้กำกับเอาไปทำงานได้ เข้าใจว่ามันเป็นกระบวนการที่ไปต่อเรื่อยๆ เช่น บทยังไม่จบร้อยเปอร์เซ็นต์แต่รอได้แล้วก็ทำงานปรับไปเรื่อยๆ มันสะดวกที่เรารู้ว่าเราจะเล่นที่นี่ วางแผนได้ว่าเราจะใช้สเปซอย่างไรบ้าง จะสร้างแรงผลิตอะไรบ้างให้เกิดประสบการณ์กับคนดู ผมชอบซีนรุนแรงซีนเซ็กซ์ประทับใจมาก มันทำงานได้ง่ายมาก
เซ็กซ์ซีนนี่อยากเห็นมันจริงๆ ว่าที่เราคิดไว้อาจไม่เวิร์ก เหมือนเล่นเกมอะไรสักอย่าง ตอนที่เราซ้อมกันก็แค่ซ้อมไม่รู้ภาพจริงจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ประทับใจมากกว่าที่คิดออกมาสวยมาก ตอนที่มีสัมพันธ์กันในผ้าห่มก็บอกให้สเตจตีตุ้งๆ เหมือนฉลอง ไม่ตั้งใจจะแปรโค้ช ทุกอย่างมาด้วยกันแล้วเราก็ใช้ประโยชน์จากมัน ให้เข้ากับสเปซ ฉากที่พ่อตีลูกบนโต๊ะก็ไม่ได้คิดไว้ ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนเห็นใครลงแสงสีแดง ถ้ามันแดงทั้งหมดจะเป็นอย่างไร สีแดงมันสื่อสารอะไรเยอะมาก
เด่น - องค์ประกอบของความเป็น Y ที่พี่โยรวมเข้าไปตั้งใจที่จะสื่อสารอะไรบ้าง
พี่โย - พออยู่ในวงการ Y ก็จะตั้งคำถามในคอมมิวนิตีว่าความเป็นวายมันสามารถที่จะเล่าเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องของ LGBTQ ได้หรือยัง ส่วนตัวได้รับแรงบันดาลใจจากหนังของนุชชี่ ‘Not Me เขา...ไม่ใช่ผม’[5] พอเริ่มมั่นใจ ค่อยๆ ลองทำไปเรื่อยๆ บทจะมีความเป็นดรามาหนักๆ ต้องเบรกด้วยอะไรบางอย่าง ความเป็นวายมันอาจจะช่วยทำให้ผู้ชมได้พักเรื่องที่มันหนักหน่วง แล้วค่อยๆ ผ่อนคลาย เพื่อที่ว่าจะรับเรื่องหนักต่อไปได้อีกนิดนึงประมาณนี้ ความเป็น sex scene เราจะเขียนให้มีพัฒนาการของตัวละคร ตอน ‘อาบยาพิษจูบ’ มาจากต้นฉบับชอบมาก มันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเปิดรับใครบางคน เพราะตั้มปิดตัวเองมาตลอด การจูบและการมีเซ็กซ์มันมากกว่านั้น
เด่น - เรื่องประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เป็นจุดตั้งต้นของคนอ่านด้วย ความเป็น LGBTQ ความเป็น Y ท้ายที่สุดแล้วมันเล่าอะไรได้บ้าง มีคำที่พูดกันว่า ประเด็น come out ไม่ควรมาเล่าแล้วใน Y เรื่องพ่อแม่รับไม่ได้เรายังต้องพูดเรื่องนี้กันอยู่อีกเหรอ ถามนุชชี่ถึงจุดตั้งต้นที่มันเป็นความรุนแรงในครอบครัว
นุชชี่ - ไม่ได้คิดขนาดเอาเกย์มาเป็นความรุนแรงในครอบครัว ตอนเป็นหนังเราเข้าใจตัวละครเพราะมีเพศสภาพเป็นเกย์ มีเรื่องวายเป็นกระแสด้วย ตัวละครเป็น LGBT เท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าสังคมไทยในยุคนั้นก็ยังมีแบบนี้อยู่ เราพัฒนามาจากโปรดิวเซอร์ต่างประเทศ ถามถ้าเราเล่าเรื่อง come out จะเหมาะกับไทยหรือเปล่า เขาบอกว่าอยากให้เล่าเพราะมันมีแบบนี้ ทั่วโลกก็เจอปัญหานี้ที่ยังไม่ได้พัฒนาแก้ไข มันเล่าได้เพราะมีความเป็นจริง พอเปลี่ยนยุคสมัยไปมันมีอย่างอื่น หรือมีวิธีนำเสนออย่างไร สมมติวรรณกรรมในต้นฉบับก็ไม่ได้ come out มากมาย ตัวละครมีวิสัยบางอย่างที่…ถูกกระทืบเพราะอะไร เป็นเกย์เหรอ มันมีความคลุมเครือตรงนี้อยู่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง
เด่น - ความลุ่มลึกของตัวละคร ลึกอย่างไร ต่างจากตัวละครอื่น ในเรื่องอื่นแบบไหน ประเด็นไหนที่อยากจะเรียนรู้กับมัน เวิร์กจากมันผ่านงานวิทยานิพนธ์
เก้ - ในฐานะนักแสดง ครั้งแรกได้บทมาก็อ่านตีความในแบบของเราดูว่า objective ของตัวละครในแต่ละซีน แต่ละก้อนเขาต้องการอะไร ลองเชื่อมโยงกับตัวเองดู เป็นเกย์เคยถูกไม่ยอมรับจากในครอบครัวเหมือนกันใกล้เคียงกับตัวละครตั้ม แรกติดกับภาพในหนังแต่พอได้บทมาปุ๊บก็ไม่ดูหนังเลย กลัวจะไปก๊อป ต้องตีความในแบบเรา เขียนขึ้นมาใหม่ เรียบเรียงแพลตฟอร์มใหม่ เก้อยู่กับบทมาตั้งแต่ต้นปี 2566 ซ้อมมาเรื่อยๆ ความยากน่าจะเป็นการเล่นกับความลุ่มลึกของตั้มมากกว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำออกไปแบบนี้ มี effect อะไรทำให้คิดแล้วเลือกที่จะทำแบบนี้ เพราะการฆ่าล้างครอบครัวมันคือเรื่องใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงไม่รู้ หรือเป็นสิ่งที่ตั้มคิดหรือเกิดขึ้นจริงไม่รู้ เป็นพื้นที่ให้คนดูได้คิดต่อว่าความจริงแล้วคืออะไร การทำงานจะ workshop ค่อนข้างมาก ซ้อมมาเรื่อยๆ เจอจุดอะไร ตัวเลือกแบบไหน ก็พัฒนาตรงนั้นครับ ด้วยวิธีการข้างในสู่ข้างนอก (การแสดงแบบ Inside out: เป็นการแสดงที่เริ่มจากความรู้สึกและลักษณะภายใน ไปสู้กริยาท่าทาง และลักษณะภายนอก) รู้สึกได้แต่ว่า real ออกให้น้อยซึ่งจะยากมาก เพราะว่านักแสดงจะติดเล่น real กัน (Realistic - แนวเหมือนจริง)
อ้น - เล่น real ก็ไม่ผิดอะไรแต่มันไม่ค่อยทำงาน เพราะเวลาเราคิดว่าเล่น Realistic เหมือนนักแสดงจะจริงจังซื่อสัตย์กับตัวเอง ว่าฉันจริงจังกับสิ่งนี้นะ แต่มันไม่ค่อยทำงานบนพื้นที่ละครเวที เพราะการเล่นจริงมันคือการจำนนไปกับอารมณ์ของเรา บางทีเราอินมากเสียงพูดไม่รู้เรื่อง ร้องไห้ฟูมฟายเหมือนจริงแต่มันไม่ทำงาน เพราะเรามาดูละครเวทีทำไม มารับสาร เรามาดูเรื่องๆ หนึ่ง คนที่ส่งสารเป็นนักแสดง ที่ส่งเรื่องนี้ให้กับเรา ร้องไห้ฟูมฟายเป็นอารมณ์ส่วนตัว มันไม่ใช่สำหรับนักแสดง มันสำหรับคนดูที่ต้องได้สารนั้นไป มีศาสตร์มีเทคนิคเพื่อส่งสารเป็นก้อนๆ พอเล่น realistic มันจะทำลายศัพท์ที่ไปไม่ถึงคนดู เพราะอุปสรรคที่เรียกว่าการแสดง เราไม่สนใจการแสดง ไม่เอาการแสดงออกมาเป็นตัวตั้ง เราพูดว่าเราจะศึกษาข้อมูลทั้งก้อนในการเรียกการมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างไรได้บ้าง มันก็จะเกิด blocking ต่างๆ ไม่รู้คนดูสังเกตหรือเปล่าที่เพื่อส่งเสริมให้ศัพท์มันออกมาถึงคนดู ซึ่งแน่นอนสเต็ปแรกพูดบทให้ดังพูดบทให้ชัด
แล้วบางทีการแสดง realistic มันทำให้ฟังไม่ชัดทุกคำ ก็เลย remind นักแสดงตลอดว่าอย่าเล่น realistic ทุกอย่างอาศัยระเบียบวินัยในการแสดง เช่น อยู่ห่างกัน โกรธกันมากอย่าเข้าไปใกล้ เสียงจะฟังไม่ได้ศัพท์ คนดูจะไม่ได้อะไรเลย มันก็เป็นเรื่องของ blocking ให้คนดูมองตามที่เราต้องการส่งสาร แต่แน่นอนว่าเราจริงใจกับสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว นักแสดงสตาร์ตต้นทุนคือ realistic จากข้างในออกมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใช้สิทธิ์นั้น แต่ในเทคนิคการแสดงมาหากันว่าศัพท์ไปถึงคนดูได้ดีที่สุดอย่างไร ต้องซ้อมทำความคุ้นชินกับอุปกรณ์ ปรับจูนกับพื้นที่ว่าเราจะทำงานอย่างไร ไม่ทำอะไรที่เป็น comfort zone ของเรา เพราะการแสดงส่วนใหญ่ มนุษย์จะทำสิ่งนี้เป็น comfort zone ของเราเช่น movement ในการเดิน, การนั่ง, การพูด, การ deal กับอารมณ์บางอย่าง เราจะ deal กับมันด้วย comfort zone ซึ่งมันไม่ช่วยในการแสดงหรือบทนั้นๆ เช่น เราต้องโกรธมากๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเอง ‘เพราะฉันไม่ได้เป็นคนแบบนั้น แต่ฉันเป็นคนแบบนี้’ ไม่ใช่นะ ตัวละครต้องโกรธแบบนั้นอย่าไปตัดสินเขาสิ ก็ต้องโกรธแบบนั้นให้ได้ เราต้องซ้อมเพื่อพาตัวเองให้เป็นคนนั้นอย่างไรได้บ้าง เก้ก็ใช้เวลาที่จะจูน ซ้อม ฉากต่อฉาก ดีที่เก้เป็น dancer ใช้ร่างกายได้สะดวก ใช้ร่างกายสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ sex screne มี empathy อะไรบางอย่างสั่งให้เขาทำ ไม่เหนื่อยเลย
เด่น - ท้ายที่สุดแล้วเครื่องมือทางการแสดงที่เราใช้ เราทำเพื่อให้มันเสริมกับบท บทต้องการให้เป็นแบบนี้หาทางไปสู่จุดที่ผู้กำกับควบคุม direction มาแล้วว่ามันจะเล่าสารไปกับผู้ชมอย่างไร อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เก้ถนัด แต่พอเป็นงานวิจัย เก้น่าจะมีสมมติฐานว่าเก้ทำเรื่องนี้ไปทำไม คิดว่าจะเอาเครื่องมืออะไรมาช่วยเพื่อที่จะไปสู่จุดที่เก้ต้องการได้ สมมติฐานของเก้คืออะไร แล้วเก้ใช้เครื่องมืออะไร เก้อยากทดลองอะไร พิสูจน์อะไร ด้วยวิธีที่เลือกมาใช้แล้วคิดว่ามันเวิร์ก
เก้ - เครื่องมือ ที่เก้ใช้คือ เจอร์ซี่ โกรโทสกี้ กับ ไมเคิล เชคอฟ เพราะด้วยตัวเรื่องกับตัวละครต้องเป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมา ต้องใช้จินตนาการค่อนข้างสูงในการเห็นภาพและความรู้สึกนั้นต้องชัดในการเรียกร้องตรงนี้ออกมา สมาธิ เสียง ร่างกาย คิดว่าเวิร์กในระดับหนึ่งสามารถพัฒนาไปต่อได้ อีกขั้นก็คือเราสามารถปลดล็อกการแสดงไปได้บางอย่าง เก้เพิ่งมาเรียนละครเอาตอนโต เพราะเรียนรำ โขน มาทั้งชีวิต พอตั้งใจที่จะเรียนละครแบบลงลึกแล้ว ในระยะเวลาสองปีกว่าๆ คิดว่า สิ่งเหล่านี้ที่เราเลือกเราเวิร์กมันจะส่งผลให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในสายละครได้ครับ
เก้ - ผู้วิจัยและนักแสดง ขยายความเพิ่มเติมถึงบุคคลที่เป็นมากกว่า ‘เครื่องมือ’ ในการทำละครครั้งนี้ว่า
เครื่องมือที่นำมาใช้ในการทำละครเวที “อนธการ” ของ เจอร์ซี่ โกรโทสกี้ เทคนิคนี้จะเน้นความเรียบง่ายโดยพิจารณาแก่นแท้ของการแสดง นักแสดงจะมีการซ้อมที่ค่อนข้างหนักแต่เป็น acting ที่เป็นการปอกเปลือกตัวเองโดยการโอบรับตัวละคร เข้ามาในฐานะมนุษย์ นักแสดงจะมีความกล้าเติบโตไปพร้อมกับตัวละคร โดยใช้ร่างกายของตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อการ express พร้อมที่จะเปิดรับทุกความรู้สึก จะมีการฝึกร่างกายให้มากเพียงพอ โดยเฉพาะตัวละคร 'ตั้ม' ที่มีอารมณ์ซับซ้อน ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับความจริงอย่างสูงสุด อะไรที่ต้องเล่นก็จะให้นักแสดงอยู่กับความจริง นักแสดงต้องก้าวข้ามความกลัว ต้องแสดงอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา โดยเชื่อว่า physical ต้อง fit จึงจะทำให้ moment of truth ออกมา และเรื่องของเสียง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของนักแสดง และตัวละคร ‘ตั้ม’ ที่จะสื่อสารออกไปให้ดังให้ชัดเจน โดยใช้การหายใจทั้งหมด เพื่อช่วยในการเปล่งเสียง ด้วยการฝึกหายใจโดยใช้กะบังลม เพื่อดูว่าหายใจได้ถูกต้องหรือไม่
ของ ไมเคิล เชคอฟ (Michael Chekhov)[6] จะใช้จินตนาการสร้างสรรค์ หรือ creative imagination ในการเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงผลักดัน ให้นักแสดงสามารถสร้างภาพตัวละคร ‘ตั้ม’ ในสมอง หรือในความคิดแล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจนสามารถสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลง และคอยควบคุมภาพที่เกิดขึ้นในใจ จนกระทั่งภาพของตั้มในแต่ละสถานการณ์ ให้ความรู้สึกเสมือนว่า เกิดขึ้นจริง และเทคนิคการใช้สมาธิ สำหรับการเป็นตัวละคร ตั้ม ในเรื่อง “อนธการ” เป็นกุญแจสำคัญมาก การมีสมาธิ ไม่ใช่การตั้งใจทำอะไรสักอย่างแบบสุดกำลัง แต่เวลาที่เราเพ่งสมาธิ เราจะส่งตัวของเราไปยัง image บางอย่าง เหมือนกับว่าตัวเราเดินเข้าไปหามัน โดยการรับบทเป็นตั้มนั้น ผู้วิจัยได้กำหนดความแน่วแน่จดจ่อให้อยู่กับรายละเอียด และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตั้ม ในจินตนาการของนักแสดงอยู่บนเวที ยิ่งนักแสดงมีความมั่นคงทางจิตใจจนสามารถจดจ่อหรือเพ่งสมาธิเป็นอย่างดีกับการรับผิดชอบการแสดงของตนเอง ก็จะยิ่งทำให้ผู้ชมมีความประทับใจกับการแสดงที่ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน
พี่โย - รำ โขน จริงๆ ก็คือการตีความด้วย body และการเล่าด้วย form อยู่แล้ว ซึ่งมันสอดคล้องว่าเรื่องนี้ตั้งใจใช้เครื่องมือของนักแสดง ที่ต้องการจะใช้ ‘ข้างนอก’ (outside in - การแสดงที่เริ่มจากลักษณะภายนอก กริยา ท่าทาง การแสดงออกที่มองเห็น และได้ยินแล้ว จึงเข้าไปกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกภายใน) ด้วยความที่เรื่องตั้งต้นเป็น surreal อยู่แล้ว ฟอร์มบทก็เป็น surreal ด้วย ที่ไม่ได้ต้องการจะ realistic แล้วพี่อ้นเองก็ต้องการที่จะไม่เล่าให้มันจริง เพื่อให้เกิดความจริงส่งไปที่ผู้ชม สิ่งที่เขามีอยู่ในตัว กับฟอร์มเรื่องนี้ กับโจทย์มันน่าสนใจเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าอาจจะต้องไปขมวดดูอีกทีพี่ว่ามันมา …
เด่น - เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ ท้ายที่สุดแล้ววันนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง จบแล้วเราเจออะไร ค้นพบอะไร มันตอบสิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่ไหม … กลับไปที่ประเด็นของเรื่อง บทของพ่อกับพี่ชายเหมือนมีรายละเอียดเพิ่ม มี background มี situation พี่โยตั้งใจอย่างไร
พี่โย - ด้วยความที่เราเชื่อว่าไม่มีใครตั้งใจเลว เรื่องนี้จากความเป็นหนังจากความเป็นบ้าน ความเป็น lens ความเป็นรั้ว ความเป็นกรอบ ภาพที่นุชชี่เลือกมา การเป็นเส้นต่างกันไม่มีทางเดินของมัน ไม่มีที่จะเดินของตัวละครตั้ม มันไม่ใช่แค่ของตัวละครตั้ม แต่เราเห็นว่าทั้งครอบครัวนี้ แล้วครอบครัวนี้ก็เป็นอุปมาอุปไมยที่นำไปสู่โครงสร้างใหญ่ ที่มีอะไรกดทับทำให้เราต้องกดทับกันไปเรื่อยๆ คนที่มีทางเลือกน้อย ต้องตัดสินใจแบบไหน เรื่องนี้มีความเป็นครอบครัว มีเรื่องของ generation อย่างน้อยก็ 2-3 generation มี baby boomer อย่างพ่อแม่ และลูก generation Y ที่โตมาอีกแบบหนึ่ง เรียนรู้โลกและชีวิตอีกแบบหนึ่ง เชื่อเรื่อง ความจริง ความดี ความงามอีกแบบหนึ่ง ตัวละคร ‘ตั้ม’ เป็นอีกรุ่นนึง ตัวละคร ‘พี่’ ก็เป็นอีกรุ่นหนึ่ง ที่มันต้องเรียนรู้ที่จะ survive กับครอบครัวนี้ไปให้ได้ในแต่ละวัน เหมือนกับ พ่อ แม่ ก็ต้อง survive ในอาชีพการงาน แล้วก็ keep up จากภาพ แล้วก็สภาพบ้านด้วย
เด่น - จากการเพิ่ม background เพิ่ม generation ทำให้เราเห็น พ่อ กับ พี่ มากขึ้น คิดว่ามันต่างไปจากต้นฉบับเราไหม แล้วอยากจะฝากให้พูดถึงแม่นิดนึง เก้ตั้งคำถามเป็นประเด็นมาว่า แม่เขารักลูกจริงไหม
นุชชี่ - ในต้นฉบับตัวพ่อนี่เราแทบไม่เห็นเขาเลย เป็น visual ในฝั่งร้ายของตั้มอยู่ แต่มาในตอนจบเท่านั้น เป็นตัวตนที่อยู่ในบ้านแต่เหมือนมองไม่เห็น เหมือนมีอำนาจมืดบางอย่าง ในหนังเราเปิดเป็นคลุมเครือไว้ อาจมีการเข้าใจไปในประเด็นชายเป็นใหญ่ มีอำนาจกดทับ ความสำคัญจากการเป็นทหารที่พอเจ้านายโทรเรียกก็ต้องไปได้ทันทีเลย ก็ตีความออกมาได้ตามที่ควรจะเป็นแบบนั้น ส่วนแม่เป็นคนไร้อำนาจ อยู่ในสภาพของคนที่ทำอะไรไม่ถูก ถามว่ารักไหมก็คงรักแหละ แต่มีซีนที่ sentimental อยู่นะ มีซีนในทุ่งดอกไม้ ซึ่งในภาพยนตร์ฉากนี้ก็ไม่ได้เป็นเหตุการณ์จริงหรอก แต่เป็นภาวะของลูกที่เป็น homosexual เขาอยากให้แม่มีบทบาท แต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริง จริงๆ แม่ก็อาจอยากทำแบบนั้น แต่ก็เกิดขึ้นจริงไม่ได้ด้วยอะไรสักอย่าง มันก็เป็นสิทธิสตรีทั้งนั้น
เด่น - เราได้เห็นมิติของตัวละครพ่อ แม่เองก็ถูกกดทับอยู่ในบ้านนี้เช่นเดียวกัน มันนำมาสู่ visual ของพี่อ้น มะเดี่ยวสังเกตว่า มีการเล่นกับแสงเงาเยอะ การออกแบบ choreograph ให้ใหญ่ขึ้นใช้ space กินพื้นที่ไปถึงคนดูด้วย เป็นความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ออกมาจากการกำกับหรืออย่างไร
อ้น - ขอเสริมตรงทุ่งลาเวนเดอร์ ในบทเขียนว่าตั้มฝัน แต่พออ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นแม่ฝันซะมากกว่า มีความคลุมเครือแยกไม่ออกว่าใครฝันกันแน่ มีความเป็นแฟนตาซี ให้ได้ชีวิตที่ดีทั้งคู่ ความรุนแรงของพ่อมันตีจริงไม่ได้ ตีโต๊ะจริงได้แต่ฟาดคนจริงไม่ได้ เล่นให้ตายก็ไม่เหมือนจริง ภาพของความรุนแรงไม่ใช่ความรุนแรงจริง เซ็กซ์จริงทำไม่ได้ต้องใช้ movement ถอดภาพความรู้สึกออกมาสื่อแทนเพราะว่า space เป็นเวที อย่างเล่นพื้นที่ในสัดส่วนประสานคนดู เช่น คุณเห็นอะไรบางอย่างแต่คุณได้ยินอะไรบางอย่าง เช่นตอนเปิดตัวภูมิ เราได้ยินแต่เสียงเขา เราเห็นเงา เห็นแต่หลัง เสียงเท่ๆ แต่ไม่เห็นหน้าตาเป็นอย่างไร จนกว่าจะเข้ามาในแสง
เราอยากสร้างประสบการณ์ให้คนดูได้อะไร เป็นช็อตๆ ก็เลยต้องอาศัยการใช้สเปซ การใช้เสียง ตั้มกำลังมีความสุข แม่ยืนร้องเพลงอยู่ที่บ้าน ให้เห็นการเกิดขึ้นคนละที่พร้อมกัน ให้ภาพชัดขึ้น เกิดความเทียบเหมือนเปรียบต่างกันไป
เด่น - ประเด็นการหลอกตัวเองที่อยู่ในชื่อวิทยานิพนธ์ของเก้ ที่เก้อยากจะเจอว่า มนุษย์คนหนึ่งมันต้องทำอย่างไร ถึงจะเป็น biological life ได้อย่างนี้ ตอนสุดท้ายถึงได้ตัดสินใจแบบนี้ การได้ร่วมงานกับพี่ๆ ผ่านงานนี้ได้เจออะไร ประเด็นไหนบ้าง
เก้ - สิ่งแรกที่เจอคือความยากที่เราจะทำอย่างไรให้แต่ละอย่างที่เราเจอสัมฤทธิ์ผลไปได้ แล้วก็ตอบโจทย์หัวข้อของเรา เราจะมีภาพอย่างไรให้คนดูได้เห็นภาพนั้น ตามที่เราตั้งใจไว้ เป็นสิ่งที่ยากนะ ท้าทายมากๆ ต้องคงไว้ซึ่งต้นฉบับด้วย
เด่น - เก้เรียนรู้อะไรผ่านตัวละครตั้มหลังจากที่ได้เป็นเขามาสามเดือน
เก้ - เรียนรู้ถึงความลุ่มลึกในจิตใจคน เราก็อยากมีตัวตนในสังคม รู้สึกเข้าใจโลกใบนี้ เข้าใจสังคมมากขึ้น เข้าใจความเป็นคนมากขึ้น ตัวละคร ‘ตั้ม’ ให้อะไรกับเก้เยอะมากตั้งแต่ซ้อมกันมา
เด่น - จากต้นทางของเรามาถึงละครเวที เล่นมาจนจบแล้ว รู้สึกอย่างไรกับการแสดง ประเด็นที่เราหยอดเอาไว้ตั้งใจให้สื่อสารผ่านน้องได้หรือเปล่า เพื่อเป็น reflex ให้น้องๆ ได้ไปศึกษา
โย - ปกติตัวเองทำกำกับด้วย นั่งดูอยู่ก็เผลอ recheck งาน director, acting - acter ด้วย ก็ปล่อยใจไปกับสไตล์การเล่าเรื่อง ช่วงต้นๆ จะจูนนิดหนึ่ง หลังจากนั้นเราเข้าใจไวยากรณ์ choice ในการเลือกการแสดง การเล่าเรื่อง นักแสดงอย่างน้องเก้ไปกับ direction นี้ได้ไหม มันทำให้เรารู้สึกไหม ปรากฏว่าช่วงต้นๆ เรา off บ้าง ตอนหลังๆ ช่วงท้ายที่มันไม่ต้องการให้เราเข้าไปอินกับ emotional มากๆ ของนักแสดง มันกลับทำงานกับเรามากเหมือนกัน
ตอนช่วงท้ายตั้งแต่ช่วงที่เขาเริ่มมากองขยะ เริ่มไม่รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ อะไรจริงไม่จริง ความนิ่งของตัวเก้ที่เลือก choice ตรงนั้น กับการพูดไปเรื่อยๆ ของเขา เหมือนที่พี่อ้นว่า ให้เสียงมันดังให้ทุกคนได้ยิน แต่เรากลับรู้สึกว่าข้างในของเขาพังทลายลงไปเรื่อยๆ เลยรู้สึกว่ามันเวิร์กสำหรับเรานะ ช่วงท้ายมันทำงานกับเรามากๆ ในขณะที่ช่วงต้นกำลังเล่นกับกติกากันอยู่ว่า คุณจะมาเจอกับอะไรแล้วต้องการจะให้คนดูได้รับ here and now ตรงนี้ กับสิ่งนี้ ด้วยประสบการณ์อะไร เขาเล่นกับภาษาหนัง แต่ย้ายภาษาหนังไปอยู่ในภาษาเวที เขาบังคับให้คนดูเห็น มอง แล้วสุดท้ายแม้เลือกไม่ได้แต่คุณก็ต้องเลือก เหมือนภาวะตัวละครที่ต้องเลือก ต้องเลือกสักอย่างจะเห็นอะไรดูอะไร สำหรับเก้ ในฐานะนักแสดงคนหนึ่งที่ต้องทำงานกับผู้กำกับคนนี้ กับบทนี้ เรารู้สึกมันพา ‘สาร’ ไปได้ แต่เรื่องรายละเอียดต้องให้ผู้กำกับว่า
อ้น - เรื่องนี้มันเป็น drama มันหนัก มีความ horror มีคำถามที่สงสัยว่าทำไมเก้เลือกเรื่องนี้ น้องเก้ถนัดเรื่องแบบนี้หรือเปล่า อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรา มันน่าจะเป็นใครที่พอเราพูดถึงเกย์ก็จะเลือกเขา ซึ่งผมก็สงสัยว่าแล้วเขาเป็นใคร ที่มันจะสะท้อนศักยภาพเขาได้ดีที่สุดในการทำงานกับ format นี้ คือคำถามของผม เพราะคิดว่ามันน่าจะใช่ ถ้าเขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบทำถนัดที่จะทำ แปลว่าอันนี้มันค่อนข้างท้าทายเก้มาก เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราไป พี่ต้องทำให้เขาตอบโจทย์อันนี้ให้ได้ การแสดงเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก ตัวละครหลอกตัวเองใช่ไหม แต่นักแสดงหลอกตัวเองไม่ได้ต้องรู้สึกจริงๆ มันคือการสมมติ สมมติในสถานการณ์นี้จริงๆ พอหลอกตัวเองด้วยการแสดง ก็ดูออกว่าไม่จริง
ซีนเจอศพในกองขยะมันไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่เขากำลังบอกตัวเองอยู่ว่า ผมกำลังเจอสิ่งนี้แล้วมันน่ากลัวมาก ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าเรา มันเป็นการเล่าเรื่องผีให้คนฟัง มันไม่ใช่เรื่องง่ายมันเล่ายาก แล้ว switch ให้ภูมิเข้ามาเล่นเหมือนเดิม อันนี้มันอินตลอดเวลาไม่ได้ มันต้อง switch track เล่นจริงกับ musical ไปเรื่อยๆ หลายสิ่งมากไปด้วยกัน กลับถึงบ้านไปเขาคงคุยกันว่าไม่เข้าใจ มันต้องมีบ้างแหละ ก็เรียนรู้กันไป การที่เราต้องสวมบทบาทมันเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลา แล้วก็ท้าทายทุกคนมากน้อยแล้วแต่บุคคล
ตัวพี่ ‘ต้น’ ตั้งแต่เจอ มอส มา มั่นใจว่าเสียงไม่เคยเกิน 5 เดซิเบล แต่วันนี้เขาได้สกิลใหม่ไป ตรงข้ามกับมอสคนเดิมหมดเลย เป็นคนๆ นั้น ซึ่งน่าสนใจ คล้ายจะหลอกตัวเองแต่ว่าต้องอยู่ในบุคลิกนั้นหนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีนี่ ดูแล้วแอบขำน่ารักๆ ว่า เก่งมาก เขาไม่ใช่เลยแต่ต้องมาเล่นเป็นคนแบบนี้ บทพ่อนี่กว่าจะทำเนียนได้ เขาไม่กล้าที่จะเหี้ยม เขาทำไม่ลง เพราะจริงๆ แล้วเป็นคนที่น่ารักมาก แต่ต้องแสดงโหดร้าย เศร้า นักเลง นั่นแหละล้วนต้องใช้เวลา
นุชชี่ - ทุกครั้งที่ดูในแต่ละซีนเราก็จะ remind ถึงงานเวอร์ชันหนัง ทำไมซีนนั้นเป็นแบบนี้ ซีนนี้มันเก๋แบบนั้นแบบนี้ quality อย่างหนึ่งที่มีในภาพยนตร์ ตั้ม จะมีความ nerve มีความ feminine มีความอ่อนหวาน แต่ในละครนี้เป็นตั้มที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า ให้รสชาติที่แตกต่างกัน ยิ่งเดินเข้ามาในบ้านเข้าคู่กับพี่ชาย หรือยิ่งตอนกับพ่อด้วย ภาพที่เราเห็นเขาเป็นแค่เด็กผู้ชายที่รู้สึกสัมผัสได้ สะเทือนใจ ดูรอบแรกได้ remind ในเชิง technical ไม่ได้โฟกัสมากว่านักแสดงต้องอยู่ใน moment ที่ได้-ไม่ได้อย่างไร แต่เราก็รู้สึกว่ามันไหลลื่นไม่มีส่วนที่มันน่าเบื่อมาก บางซีนเก๋สนุกดูได้เหมือนกันนะ เป็นงั้นไป
ถาม - ตอบ ระหว่างผู้ชมกับวิทยากร ผู้ร่วมเสวนา
เฟริส์ต นักศึกษา ม.รังสิต - ปัญหาการทำละครคือ หากต้องสมจริง ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงในการทำงาน แต่ว่าพอเราได้มาดูการแสดงเรื่องนี้ทุกอย่างเป็น Imagination พอเราจะทำเองกลับกังวลว่าจะทำให้คนดูไม่เชื่อไปตามเรา มีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เราเองหรือคนดูเชื่อมั่นแล้ว imagine ไปกับเราด้วย? (ในเรื่อง อนธการ มีฉากทุ่งลาเวนเดอร์ กองขยะ สระว่ายน้ำ ฯลฯ)
อ้น - ขึ้นอยู่กับบท บทเล่าอย่างไร แล้วพาไปอย่างไร ฉากช่วยไหม ถ้าไม่ช่วยก็ไม่จำเป็น แสงกับองค์ประกอบรอบๆ ช่วยมากกว่า เช่น โปรเจคเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นที่ต้องทดลองดู แต่ที่สำคัญที่สุดคือการแสดงของนักแสดง เพราะว่าเวลาเราคุยกับคนโดยเผชิญหน้าแบบนี้ มันเวิร์กเพราะเราคุยกับคนดู ถ้าไม่คุยกับคนดูก็ประหลาด เพราะพอคุยกับคนดูโฟกัสจะอยู่ที่การแสดง เราสามารถสร้างภาพอะไรก็ได้ พาเขาไปไหนก็ได้ไม่สำคัญ อยู่ที่นักแสดงจะพาไปได้หรือไม่
พิง ผู้ชม - พี่เก้ครับ การที่พี่สื่อสารเรื่องจินตนาการ ตัวละครตั้มเองมีคำตอบในต้นฉบับอยู่แล้ว พี่สามารถศึกษาการจินตนาการของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ในการทำงานการแสดงครั้งนี้?
เก้ - เลือกที่จะใช้เครื่องมือในการแสดงเอามาช่วย support คือภาพที่เราเห็นในหัวเรา เราจะเอามันออกมาอย่างไร ให้เราเองทำงานได้แล้วคนดูรับรู้ร่วมไปด้วย
เด่น - ขอขยายคำถาม หมายถึงว่า นักแสดงจะใช้จินตนาการแต่บทมันมีอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แล้วใช้จินตนาการตรงไหน แบบนี้ใช่ไหม? / พิง ผู้ชม - ใช่ครับ
เก้ - ต้องกลับไปดูที่บทว่าบทมีอะไร เพราะบทจะตายตัวว่าสถานที่คืออะไรที่ไหนแล้วตัวละครไปทำอะไร หนีมาทำไมแล้วเจออะไร ประสบกับอะไร แล้วเขาต้องการอะไรในขณะนั้น (ซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมกันในที่ตรงนี้) เราเองก็ไม่เคยไปเดินเล่นในกองขยะ ริมสระว่ายน้ำร้าง หรือไม่เคยเจอผู้ชายแบบนี้ ต้องจินตนาการว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงกับเราตรงข้างหน้า แล้วเราสามารถที่จะเชื่อมโยงกับมันได้อย่างไร ใช้ magic if[7] ด้วยส่วนหนึ่ง
โย - แต่ถึงแม้ไม่ได้บท นักแสดงก็ต้องทำงานแบบนี้อยู่แล้ว เพราะ line ในบทก็เป็นแค่ตัวหนังสือ แต่ว่าการจะทำให้เข้ามา เพื่อที่จะสร้างความเป็นตัวละคร ทำให้ moment นั้นๆ มันเกิดไปเรื่อยๆ อย่างที่ผู้กำกับอยากได้ แล้วก็ทำให้รู้สึกว่ามันเชื่อมโยงได้เข้ากับตัวละครนั้นๆ นักแสดงต้องทำงานเยอะเหมือนกัน แม้ว่าเราจะอ่านบทมาแล้ว ไม่งั้นเราคงเล่นได้เลยไม่ต้องซ้อม เพราะเรารู้ว่ายิ่งซ้อมยิ่งเจอแต่ละ moment มากขึ้นๆ ตัวบทแม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นพิมพ์เขียว เป็นแผนที่เห็นตั้งแต่ต้นจนจบอยู่แล้ว แต่ว่าเวลาที่เราจะเล่าแต่ละครั้ง มันอาศัยเครื่องมือแสดงถึงกัน จินตนาการเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักแสดงต้องทำ
วา ผู้ชม - คุณเก้มี magic moment อะไรที่ประทับใจในตัวละครบ้าง?
เก้ - ตัวละครก็น่าจะเป็นกับ ‘ภูมิ’ เพราะว่านี่ก็คือผู้ชายในฝัน ตอนที่เจอภูมิครั้งแรก รู้สึกเขิน ไปไม่เป็น แล้วไม่กล้าที่จะจับต้องกอดกัน กว่าจะมาได้ขนาดนี้ เพราะตอนแรกก็คิดว่าน้องจะกล้าจูบจริงไหม เจอ moment กับครอบครัว เพราะที่บ้านไม่เคยรุนแรงขนาดนี้ พอได้ไปสัมผัสจริงรู้สึกมันเกินไปหน่อยแล้วน่ะ บายไม่อยู่แล้ว การที่เราอยู่กับ moment มากๆ ก็จะเจอเส้นทางเยอะมากเพราะว่า รอบนี้เจออะไร ได้รับอะไรเอาไปใช้งานต่อ
วา ผู้ชม - อยากรู้ว่าตั้มรักแม่หรือเปล่า? เพราะตอนจบรู้สึกว่าเขาอยากให้ทุกคนหายไป
เก้ - รักนะ เขายังต้องการความรักจากแม่ ต้องการทวงถามสิทธิของลูกจากแม่อยู่ แต่แม่ก็จะให้เปลี่ยน เปลี่ยนได้ไหมลูก (จะให้เปลี่ยนเป็นผู้ชายที่รักผู้หญิง) ตั้มไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแต่เขารักแม่ เป็นการกล่อม แต่แม่ไม่เคยกอดตั้มเลย แม้กระทั่งจับมือแม่ก็ไม่เคยจับมือตั้ม เคย แต่อาจน้อย จะเกิดขึ้นกับภูมิมากกว่า
ละครเลือกจบลงด้วยความจริงที่เป็นโศกนาฏกรรมจากข่าวสะเทือนขวัญสั่นประสาท มีฆาตกรเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่ฆ่าคนทั้งบ้าน แม้เราเคยได้รับรู้เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้มาแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องไกลตัวในต่างประเทศ เมื่อเหตุการณ์ประชิดรั้วบ้านขนาดนี้จึงเกิดมีคำถามตามกระแสว่าสาเหตุมาจากอะไร … คำตอบมีหลายปัจจัยเกินกว่าจะฟันธงลงไปได้เพียงประเด็นเดียว ล้วนเกี่ยวกับบาดแผลเรื้อรังฝังลึก จากจิตสำนึกที่แหลกสลาย ความตายคือทางออกเดียวที่เหลือให้เลือก หรือนี่ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือแรงกดดันจากความรักที่ผลักให้เป็นไป จะด้วยหัวใจที่ขาดรักมาตลอดชีวิต หรือเพราะฤทธิ์ของความทุกข์ทรมานจากความรักผลักให้ตัดสินใจ … ไม่มีใครถูก-ผิด ในตรรกะของแต่ละคน ล้วนมีเหตุผลซับซ้อนที่หลอนให้เห็นผิดเป็นถูก ความเป็นลูกแท้จริงแล้วไม่ใช่ผู้รักษากฎแห่งความผูกพันหรือกตัญญู ตามการรับรู้ของสังคมที่สั่งสมกฎเกณฑ์ เวรหรือกรรมตามพุทธธรรมคำสอนก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ควรจะนำมาตัดสินในสิ่งซึ่งเราไม่ได้ประสบด้วยตัวเอง… จุดจบจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เรียกร้องทุกคนควรหันมาใส่ใจในความต่าง ที่เคยถูกขวางด้วยธรรมเนียม ประเพณี (ซึ่งมักตามมาด้วยคำว่า) ‘ที่ดีงาม’ ตามพิพากษาของสังคมเก่าที่เฝ้าตัดสินทุกสิ่ง โดยไม่สนใจความจริงที่ต้องประจักษ์ ว่าความรักคืออิสรภาพ เสรีภาพ และสิทธิสภาพ ที่มีอยู่ในทุกเพศสภาพเสมือนเป็นอวัยวะสำคัญในชีวิตของมนุษย์ทุกคน
พุทธศักราช 2571 คือปีที่รัฐไทยตั้งธงไว้ หมายใจจะได้ลิขสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028 โดยมีเจ้าภาพคือ กรุงเทพมหานครและเครือข่ายในนาม Bangkok Pride 2028 ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ความร่วมมือของชุมชน สังคม ภาคธุรกิจ ความพร้อมของเมือง และนโยบายสำคัญคือการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ รับรองอัตลักษณ์ ที่ไม่ใช่เพียงสมรสเท่าเทียม แต่รวมถึงความเท่าทันในสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เป็นเป้าหมายสำคัญ ความฝันสามารถเนรมิตได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่สะดุดอุปสรรคทางการเมือง ที่พยายามขวางความรุ่งเรืองของประเทศ และขอบเขตของอำนาจอธิปไตย ที่จะไม่ให้ประชาชนมี Pride Always ในทุกๆ วันของชีวิต.
หมายเหตุ :
- ขอขอบคุณเอกสาร วิทยานิพนธ์หัวข้อ “สุขนาฏกรรมบนผืนผ้ากับสังคมเพศสภาพ” สาขาวิชาทัศนศิลป์ แผนก ก แบบ ก2 ระดับปริญญามหาบัณฑิต โดย ธนพล ดาทุมมา
- ภาพถ่ายละคร “อนธการ” โดย จิร อังศุธรรมทัต และ facebook page: DramaArtsChula #JiraJokeTheatrePhotographer
- ภาพถ่าย Pride Parade: facebook page: พรรคก้าวไกล
รายการอ้างอิง :
- hmong. Michael Chekhov
- pptvhd36. ทำความรู้จักความหมาย "LGBTQIAN+" ต้อนรับ Pride Month
- กองบรรณาธิการไทยรัฐพลัส. ย้อนดูผู้กำกับสายดาร์ก อนุชา บุญยวรรธนะ กับ Not Me ก้าวใหม่ของซีรีส์วาย GMMTV
- คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ. ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร? เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL)
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). THAI QUEER CINEMA ODYSSEY การเดินทางของหนังเควียร์ไทย
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร. นิทรรศการ “สุขนาฏกรรมบนผืนผ้ากับสังคมเพศสภาพ
[2] คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ, ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร? เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL)
[3] หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), THAI QUEER CINEMA ODYSSEY การเดินทางของหนังเควียร์ไทย
[4] รายละเอียดการจัดฉาย ณ โรงหนังช้างแดง หอภาพยนตร์ไทย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เปิดทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 9.30 - 17.30 น. สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/program/100
[5] กองบรรณาธิการไทยรัฐพลัส, ย้อนดูผู้กำกับสายดาร์ก อนุชา บุญยวรรธนะ กับ Not Me ก้าวใหม่ของซีรีส์วาย GMMTV
[7] magic if คือ มนต์สมมติ เกิดขึ้นเมื่อนักแสดงเชื่อว่าตนเป็นตัวละครตัวนั้นๆ
- สิทธิและเสรีภาพ
- เพศ
- Pride Month
- Bangkok Pride 2023
- กวินพร เจริญศรี
- พรรคก้าวไกล
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
- แพทองธาร ชิณวัตร
- พรรคเพื่อไทย
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- สมรสเท่าเทียม
- Road To Bangkok World Pride 2028
- พิพิม ลิ้มเจริญรัตน์
- หอภาพยนตร์
- สุขนาฏกรรมบนผืนผ้ากับสังคมเพศสภาพ
- ธนพล ดาทุมมา
- บิซา บัตเลอร์
- Bisa Butler
- The Blue Hour
- อนธการ
- ปัณธร จันทร์นิ่ม
- อนุชา บุญยวรรธนะ
- อภิรักษ์ ชัยปัญหา
- นพพันธ์ บุญใหญ่
- นวิน พรกุลวัฒน์
- ศิวฤทธิ์ มีบุญธรรม
- ปิยะนุช ยอดชุม
- สิโรรส เอ็มอธิ สุรฐาชัยวัฒน์
- จันทร์เรือง
- วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์
- ภานุวัฒน์ อินทวัฒน์