ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ กับเชโกสโลวาเกีย

2
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเนื่องในวาระปี 2567 หรือ ค.ศ. 2024 ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเช็ก เนื่องจากทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ในการนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยจัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง อาทิ การประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและบทกวีเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เช็ก ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกันจัดขึ้น
  • บทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเชโกสโลวาเกียนั้น ปรากฏขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ขณะที่ช่วงนั้นทางเชโกสโลวาเกียก็เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลโตมาซ มาซาริกมาเป็นรัฐบาลเอ็ดวาร์ด เบเนชเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1935 โดยบทความนี้นำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญของนายปรีดี 2 ชิ้นหลักได้แก่ อักษรสาส์นแจ้งข่าวการรับเลือกตั้งของประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย และรัฐบาลเชโกสโลวักจะฝากให้สถานทูตฝรั่งเศสคุ้มครองผลประโยชน์ชนชาวเชโกสโลวักในสยาม

 


ภาพนายปรีดี พนมยงค์ ช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ที่มา : หนังสือคือจิตวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์

 

ปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ. 2024 ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเช็ก เนื่องจากทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2517

ในการนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยจัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง

กิจกรรมหนึ่งที่ผมเองมีโอกาสเข้าร่วมด้วย นั่นคือ การประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและบทกวีเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เช็ก ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกันจัดขึ้น

ดังเมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ทางสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กนำโดย ฯพณฯ ปาเวล ปีเตล ( H.E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูต ได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดวรรณกรรม อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก มารินี สุวรรณโมลี รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ, เบญจวรรณ ฟุ้งลัดดา ตัวแทนจากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ ประธานกรรมการตัดสิน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติและคณะกรรมการมาร่วมในงานพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง

 


การประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและบทกวีเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี
ความสัมพันธ์ไทย-เช็ก จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทย
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

 

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบทกวีคือ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากผลงาน “ฟรานซ์ คาฟคา ไม่ได้ดูลิงลพบุรี”

ขณะที่ สิริวตี อันเป็นนามปากกาของ ณัฐฤทัย พลอยหิรัญ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจากผลงาน “ความทรงจำอันไร้เล่ห์เหลี่ยมในดินแดนแห่งเรื่องราว”

และ แวววรรณ พุทธรักษา คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองจากผลงาน “สัจจะมีชัย (Pravda vítězí)”

ส่วนประเภทเรื่องสั้น ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ รมณ กมลนาวิน จากผลงาน “ฝันถึงคาฟกา”

ขณะที่ ยัคฆ์ เหยียบเมือง คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจากผลงาน “ไฮโซโบฮีเมียน”

และ ทวิวัฒน์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองจากผลงาน “ยักษ์ตาฟ้า”

ในการนี้ ฯพณฯ ปาเวล ปีเตล ยังกล่าวเชิญชวนให้ชาวไทยไปสัมผัสและดื่มด่ำความงดงามของสาธารณรัฐเช็กด้วย

แท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็กใช่ว่าจะดำเนินมาเพียงแค่ 50 ปีเท่านั้น หากทั้งสองประเทศได้มีการติดต่อกันมาอย่างน้อยก็เกินกว่า 100 ปี นับตั้งแต่เช็กเพิ่งได้รับเอกราชด้วยการประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) ซึ่งปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) และเริ่มก่อตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 (ตรงกับ พ.ศ. 2461) เรียกขานกันในนาม “เชโกสโลวาเกีย”

 


Tomáš Garrigue Masaryk, 1919
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น นักชาตินิยมชาวเช็กอย่าง โตมาซ มาซาริก (Tomáš Masaryk)  ซึ่งเคยทำงานด้านหนังสือพิมพ์และเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาได้ร่วมกับ เอ็ดวาร์ด เบเนช (Edvard Beneš) ก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชขึ้นในกรุงลอนดอน โดยได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ของรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 มาซาริก ยังเดินทางไปรัสเซียเพื่อรวบรวมนักโทษเชลยสงครามชาวเช็กและชาวสโลวักซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากรัสเซียแล้วจัดตั้งกองทัพเชโกสโลวาเกีย พร้อมเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อสู้กับฝ่ายของออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนี

ต่อจากนั้น มาซาริก เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเจรจาให้ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) และ โรเบิร์ต แลนซิง (Robert Lansing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศช่วยสนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของเชโกสโลวาเกียจนนำไปสู่คำประกาศแลนซิง (The Lansing Declaration) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918 กระทั่งเดือนตุลาคมปีเดียวกัน มาซาริก และ เบเนช ก็ประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีซึ่งกำลังล่มสลายลง ก่อนจะเดินทางหวนคืนกรุงปรากแล้วก่อตั้งประเทศเชโกสโลวาเกียขึ้นตามสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of St. Germain)

มาซาริก ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกสุด เขายังได้รับเลือกตั้งให้สวมบทบาทนี้อีกยาวนานถึง 17 ปี ก่อนจะลาออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1935 (ตรงกับ พ.ศ. 2478) เพื่อไปใช้ชีวิตวัยชราที่ชนบท และเปิดโอกาสให้ เบเนช รับช่วงต่อในตำแหน่งประธานาธิบดี

มาซาริก ถือกำเนิดในแคว้นโมราเวีย (Moravia) บิดาเป็นคนขับรถม้าชาวสโลวักและมารดามีเชื้อสายเยอรมัน เขาเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวียนนาจนได้รับปริญญาเอก และเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ก่อนที่จะยึดอาชีพเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยเวียนนา แล้วย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยเช็กในกรุงปรากจนได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์

มาซาริก ชื่นชอบการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเป็นสมาชิกของพรรคเช็กหนุ่ม (Young Czech Party) และยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรีย ขณะเดียวกันเขาก็หลงใหลวรรณกรรมและมุ่งมั่นต่อการจัดทำหนังสือพิมพ์ออกเผยแพร่

ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมา ย่อมทำให้ มาซาริก เป็นผู้มีความรู้และความสามารถ เขาจึงครองตำแหน่งผู้นำของเชโกสโลวาเกียที่บริหารประเทศได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

แม้จะปรากฏข้อมูลในเอกสารทางการทูตของประเทศเช็กว่า เคยมีชาวเช็กเดินทางมาถึงประเทศสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และในปี ค.ศ. 1897 (ตรงกับ พ.ศ. 2440) นายเอ็นริเก้ สตังโก้ วราซ (Enrique Stanko Vráz) นักท่องเที่ยวและช่างภาพชาวเช็กเดินทางมาเยือนกรุงเทพมหานคร รวมถึงมีโอกาสเข้าเฝ้าฯและฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นายวราซยังได้รับมอบหมายภารกิจให้ตรวจตราเรือพระที่นั่ง ซึ่งเขาเขียนบันทึกความรู้สึกของตนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าได้เดินเข้าออกห้องที่ประทับต่าง ๆ ประหนึ่งสุนัขที่มีวาสนาได้รับการปลดปล่อยออกมาชมสถานที่สวยงาม และได้เห็นวัตถุงดงามมากมายซึ่งเหมาะกับการประดับในพิพิธภัณฑ์”

แต่ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เช็กน่าจะเริ่มก่อตัวชัดในช่วงปี ค.ศ. 1920 (ตรงกับ พ.ศ. 2463) กล่าวคือทางรัฐบาลเชโกสโลวาเกียได้ติดต่อมายังรัฐบาลสยามเพื่อขอให้สถานทูตฝรั่งเศสช่วยดูแลผลประโยชน์ของชาวเชโกสโลวาเกียที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย 

 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสมาพำนักที่สาธารณรัฐเชโกสโลวาเกีย
ที่มา : เว็บไซต์สถานทูตเช็กโกสโลวาเกีย

 

ครั้นต่อมาปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934 (ตรงกับ พ.ศ. 2477) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จประพาสมาพำนักที่สาธารณรัฐเชโกสโลวาเกียอยู่นานถึงสองสัปดาห์ ซึ่งทางรัฐบาลมาซาริกก็ให้การต้อนรับอย่างดียิ่งโดยดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

เริ่มด้วย โบฮูมิล บราดัค (Bohumil Bradáč) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ คาเรล บักซา (Karel Baxa) นายกเทศมนตรี ได้มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ศาลาว่าการกรุงปราก และอัญเชิญพระองค์ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ T.G.M. ที่ 5 ณ ลานจัตุรัสโบราณ

ที่กรุงปราก ทรงประทับ ณ โรงแรมอัลครอน (Hotel Alcron) และมีคณะบุคคลมาเฝ้ารอรับเสด็จ

รัชกาลที่ 7 ยังทรงได้พบปะกับ เอ็ดวาร์ด เบเนช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ยาน ซิโรวี (Jan Syrový) ผู้บัญชาการกองทัพ

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆอันมีชื่อเสียง ทั้งการเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องแก้วคริสตัลของลุดวิค โมแซร์ (Ludwig Moser) ในเมือง Dvory แคว้นโบฮีเมียน และการเยี่ยมชมโรงงานริงโฮเฟร์ (Ringhoffer) ซึ่งการประกอบรถยนต์ยี่ห้อตาตรา เป็นต้น

นับแต่นั้น ทางสยามก็เริ่มส่งออกสินค้าทางด้านการกสิกรรมมายังเชโกสโลวาเกีย ส่วนทางเชโกสวาเกียก็ส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักรกล เครื่องแก้ว และเครื่องนุ่งห่มมายังสยาม รวมถึงยังมีบริษัทของประเทศนี้เข้ามาสร้างโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดลำปางด้วย

ทว่าเมื่อกองทัพนาซีเยอรมันเข้ายึดครองเชโกสโลวาเกียช่วงปี ค.ศ. 1938 และ ค.ศ. 1939 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศนี้ก็มีอันต้องชะงักงัน

อีกหนึ่งชาวไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับเชโกสโลวาเกียคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ “เจ้าชายนักแข่งรถ” โดยได้เข้าร่วมการแข่งขันรถนานาชาติที่ประเทศแห่งนี้ในช่วงทศวรรษ 1930 และเขียนจดหมายไปบอกหญิงคนรักว่า

“คุณต้องมาเยือนกรุงปรากบ้างแล้ว ไม่ว่าเป็นโอกาสใดก็ตาม เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าที่นี่เป็นนครที่เต็มไปด้วยความงดงามน่าพิศวง สวยงามมากจริง ๆ”

 


นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในช่วงทศวรรษ 2470

 

สำหรับบทบาทของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเชโกสโลวาเกียนั้น ปรากฏขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับแต่งตั้งให้สวมบทบาทรัฐมนตรีประจำกระทรวงนี้ในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 และตรงกับ ค.ศ. 1936)  ขณะที่ช่วงนั้นทางเชโกสโลวาเกียก็เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลโตมาซ มาซาริกมาเป็นรัฐบาลเอ็ดวาร์ด เบเนชเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1935

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าว นายปรีดี ย่อมได้รับทราบข่าวความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของเชโกสโลวาเกีย โดยผ่านการที่ พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนมีหนังสือรายงานมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2479 จากนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงมีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายนรายงานไปให้ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีรับทราบ ดังความว่า

 

เรื่อง อักษรสาส์นแจ้งข่าวการรับเลือกตั้งของประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย.

จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ถึง นายกรัฐมนตรี

ด้วยอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนได้มีหนังสือนำส่งอักษรสาส์นของท่าน เอ็ดวารฺด เบเนส (Edvard Beneš) ประธานธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย ซึ่งได้รับจากสถานทูตเช็กโกสโลวาเกียประจำกรุงลอนดอน แจ้งข่าวการที่ได้รับเลือกขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อขอให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ดังมีความแจ้งอยู่ในสำเนาหนังสืออัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน อักษรสาส์นผนึกซอง และสำเนาอักษรสาส์นดังกล่าว ซึ่งได้เสนอไปพร้อมกับหนังสือนี้

กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า แม้ประเทศเช็กโกสโลวาเกียจะมิได้เคยมีความสัมพันธ์กันมากับประเทศสยามก็ดี แต่เมื่อประมุขของประเทศได้มีอักษรสาส์นแจ้งข่าวการได้รับเลือกตั้งมาทูลเกล้าฯ ถวายเช่นนี้ ก็เป็นการสมควรที่จะทรงมีพระราชสาส์นตอบ เพื่อเป็นการแสดงพระราชอัธยาศัยไมตรีต่อประมุขของประเทศดังกล่าวแล้ว ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดทำร่างพระราชสาส์นตอบ พร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาอังกฤษเสนอไป ณ ที่นี้ เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา แม้เห็นชอบด้วยแล้ว ขอได้โปรดให้เจ้าหน้าที่จัดทำเป็นพระราชสาส์น นำเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามและนาม เสร็จแล้วขอได้โปรดให้จัดส่งพระราชสาส์นนั้นมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
ประดิษฐ์มนูธรรม

 

ร่างพระราชสาส์นตอบประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย มีเนื้อความว่า

 

เจริญทางพระราชไมตรีมายัง มองสิเออรฺ เอ็ดวารฺด เบเนส ประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย

ในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอตอบอักษรสาส์นของท่านลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม คฤศตศักราช ๑๙๓๕ ซึ่งท่านแจ้งไปว่า สภาแห่งชาติได้เลือกตั้งท่านเป็นประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนเดียวกัน และท่านจึงได้เข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันนั้นแล้ว

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอถือโอกาสนี้แสดงความชื่นชมยินดี ในการที่ท่านได้รับตำแหน่งสูงสุดในประเทศของท่าน และขอให้ท่านเชื่อมั่นในความพากเพียรเป็นอย่างยิ่งของรัชชกาลนี้ ในอันที่จะบำรุงทางพระราชไมตรีอันมีอยู่ระหว่างสยามกับมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกียนั้นเสมอไป

ในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้ท่านสำเร็จความปรารถนาและให้ประเทศของท่านมีความรุ่งเรืองทุกประการ และขอแสดงความนับถือและมิตรภาพอันจะเปลี่ยนแปลงมิได้มาด้วย

 

ร่างพระราชสาส์นนี้ยังได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย จากนั้นได้ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบและ นายดิเรก ชัยนาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2479 ส่งต่อไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อจะได้นำขึ้นเสนอต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น อันได้แก่

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
(ปั้น สุขุม)
และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)

ทางราชเลขานุการในพระองค์ได้มีหนังสือลงนามโดย ขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร) ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ส่งมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน แจ้งว่าความทราบถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และได้ลงนามในพระราชสาส์นเมื่อวันที่ 23 กันยายนแล้ว  นายดิเรก จึงดำเนินการส่งหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน พร้อมด้วยร่างพระราชสาส์นมายัง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการต่อไป

กระทั่งในวันที่ 2 ตุลาคมปีเดียวกัน หลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีหนังสืออีกฉบับถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานว่าได้จัดการส่งพระราชสาส์นไปให้อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแล้ว

 


ท่านเอ็ดวารฺด เบเนส (Edvard Beneš) ประธานธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย

 

เอ็ดวาร์ด เบเนช เป็นผู้ที่มีชีวิตทางการเมืองค่อนข้างคล้ายคลึงกับ นายปรีดี อย่างน่าสนใจ ก่อนหน้าที่เขาจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของเชโกสโลวาเกียช่วงปี ค.ศ. 1918-1935 (ตรงกับ พ.ศ. 2461-2478) และยังเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี ค.ศ. 1921-1922 (ตรงกับ พ.ศ. 2464-2465) รวมถึงเป็นหัวหน้าพรรคสังคมแห่งชาติเชโกสโลวาเกียหรือ Czechoslovak Social Party

เบเนช เป็นลูกหลานชาวนาแห่งเมืองคอซลานี (Kozlany) ในแคว้นโบฮีเมีย แต่เขาก็ได้รับการศึกษาอย่างดี โดยเคยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในกรุงปราก และยังสำเร็จปริญญาเอกทางด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยปารีส

เบเนช ร่วมกับ โตมาซ มาซาริก ก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้ของเชโกสโลวาเกีย ขณะหลบหนีจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีไปพำนักอยู่ในฝรั่งเศส โดยเขามีบทบาทในการประสานไมตรีและโน้มน้าวให้นักการเมืองของฝรั่งเศสสนับสนุนขบวนการกู้ชาติดังกล่าว

ในช่วงที่ เบเนช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาถือเป็นนักการทูตที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลในการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญของโลก โดยเฉพาะบทบาทในการก่อตั้งกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente) เพื่อต่อต้านและป้องกันความพยายามที่จะฟื้นฟูจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีขึ้นมาอีกครั้ง ภาคีสมาชิกประกอบด้วยเชโกสโลวาเกีย ยูโกสลาเวีย และโรมาเนีย ขณะเดียวกันเขาก็ส่งเสริมความสัมพันธ์ขององค์การสันนิบาตชาติ

แต่ต่อมาช่วงปลายทศวรรษ 1930 เบเนช กลับเผชิญปัญหาจากการที่มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนียึดครองดินแดนบางส่วนของเชโกสโลวาเกีย จนเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วเนรเทศตนเองออกจากประเทศ ก่อนจะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกรุงลอนดอนในช่วงทศวรรษ 1940  เรื่องราวเหล่านี้ยังเป็นที่รับรู้มาถึงเมืองไทยด้วย โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเชโกสโลวาเกีย ซึ่ง นายปรีดี เป็นผู้หนึ่งที่ต้องดูแลเรื่องนี้

ดังคราวหนึ่งที่ นายดี.เค. ครอฟตา (D.K.Krofta) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเชโกสโลวาเกีย ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1938 และ นายปอล เลปิสสิเอร์ (Paul Lepissier) อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1938 ส่งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยขณะนั้นคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อแจ้งว่าทางรัฐบาลเชโกสโลวาเกียจะขอฝากให้สถานทูตฝรั่งเศสเป็นผู้คุ้มครองผลประโยชน์ของชาวเชโกสโลวักในประเทศสยาม

ถัดต่อมา นายปรีดี ก็มีหนังสือลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2481 (ตรงกับ ค.ศ. 1938) รายงานเรื่องนี้ต่อ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ความว่า

 

เรื่อง รัฐบาลเชโกสโลวักจะฝากให้สถานทูตฝรั่งเศสคุ้มครองผลประโยชน์ชนชาวเชโกสโลวักในสยาม

จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ถึง นายกรัฐมนตรี

ด้วยอัครราชทูตฝรั่งเศสมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ศกนี้ น่าส่งหนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชโกสโลวัก ซึ่งแสดงเจตนาของรัฐบาลของเขาต่อรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะฝากให้สถานทูตฝรั่งเศสคุ้มครองผลประโยชน์แก่ชนชาวเชโกสโลวักที่อยู่ในประเทศสยาม มาขอทราบว่า ฝ่ายเราจะยินยอมหรือไม่ ดังสำเนาที่ได้ส่งมา ณ ที่นี้

เรื่องรัฐบาลเชโกสโลวักขอมอบให้สถานทูตฝรั่งเศสดูแลผลประโยชน์ของชนชาวเชโกสโลวักนี้ ปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ทางสถานทูตฝรั่งเศสที่นี่ก็ได้รับมอบเป็นผู้ดูแลครั้งหนึ่งแล้ว และในครั้งนั้น รัฐบาลสยามก็มิได้ขัดข้อง หากได้วางข้อไขมิให้เรียกร้องเอาสิทธินอกอาณาเขตต์ได้ มาครั้งนี้ ก็ไม่น่าจะมีข้อขัดข้องเช่นเดียวกัน จึงได้ร่างหนังสือตอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชโกสโลวัก โดยใช้ถ้อยคำว่ารัฐบาลสยามไม่ขัดข้องในการที่พนักงานทูตของฝรั่งเศสจะดูแลรักษาผลประโยชน์ของของชนชาวเชโกสโลวักในประเทศสยามตามหลักการทั่วไปแห่งกฎหมายและทางปฏิบัติระวางประเทศ พร้อมทั้งร่างหนังสือตอบทูตฝรั่งเศสนำส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชโกสโลวักไป ดังร่างที่ส่งมาเพื่อขอรับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ณ ที่นี้.

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง.
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2481 พอในวันถัดมาคือ 20 สิงหาคม นายดิเรก ชัยนาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงมีหนังสือยืนยันมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ต่อมาในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 (ตรงกับ พ.ศ. 2484) นายโรเจอร์ การ์โร (Roger Garreau) อุปทูตฝรั่งเศสได้มีหนังสือแจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า ด้วยเหตุผลแห่งพฤติการณ์ต่างๆ ประเทศฝรั่งเศสได้ตกลงใจที่จะไม่ให้ความคุ้มครองแก่ผลประโยชน์ของประเทศเชโกสโลวาเกียในประเทศไทยอีกต่อไป

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เชโกสโลวาเกียถูกปกครองโดยรัฐบาลผสม ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์และเงื้อมเงาของสหภาพโซเวียต จากเดิมทีที่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยก็กลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยม

ความที่เชโกสโลวาเกียเปลี่ยนแปลงไปเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับไทยค่อยๆห่างเหินกัน แม้ในรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์จะมีความพยายามเจรจาเปิดความสัมพันธ์กันอีก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลถวัลย์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยในช่วงเวลานั้นดำเนินนโยบายตามสหรัฐอเมริกา และไม่ยอมประสานสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่ทางฝ่ายเชโกสโลวาเกียเองสนใจที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับไทย เพราะเล็งเห็นว่าไทยมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ

ในที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับของเชโกสโลวาเกียก็มีอันยุติไปอีกนาน ก่อนจะมีการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการอีกหนเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517

การที่ นายปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับความเป็นไปของเชโกสโลวาเกียในช่วงปลายทศวรรษ 1930 ย่อมสะท้อนถึงบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตัวแทนรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งต้องทำความเข้าใจปัญหาและพยายามประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐของตนกับรัฐอื่น ๆ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเช็กมีแนวทางที่มุ่งเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก รวมถึงการแลกเปลี่ยนกันในด้านวัฒนธรรม แต่ก็น้อยคนนักที่จะทราบว่า นายปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นบุคคลหนึ่งผู้เคยมีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศแห่งนี้นับตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น “เชโกสโลวาเกีย” ด้วย

 

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขร วิธีการสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช.สร.0201.37/33 เรื่องประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐเช็กโกสโลวาเกีย (พ.ศ. 2479)
  • หจช.สร.0201.37/45 รัฐบาลเชโกสโลวักฝากให้สถานทูตฝรั่งเศสคุ้มครองผลประโยชน์ชนชาวสโลวักในสยาม (พ.ศ. 2481-2484)
  • ปิแอร์ เอ.บูซาร์ด และคณะ. King Rama of Siam's official visit to Czechoslovakia in 1934 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประเทศเชคโกสโลวาเกีย (พ.ศ. ๒๔๗๗). นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2547
  • Nož M, Šitler. J, Todorovová. J, Kučera. K, Pierre. A, Chitrabongs. C, Kroupa. K. J, and Fajfrová. J. Siam Undiscovered, Czech-Thai encounters between the 16th and 21th centuries : rare documents, old photographs, royal visits เรื่องราวที่ยังไม่มีใครค้นพบในสยาม สัมพันธไมตรีระหว่าง ประเทศเชก-ประเทศไทย ช่วงศตวรรษที่ 16-21 เอกสารหายาก ภาพถ่ายอันล้ำค่า และการเสด็จฯเยือนของพระมหากษัตริย์. Bangkok: Amarin Printing and Publishing Public Company Limited, 2004.