ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

อ่านความคิดของปรีดี: นโยบายการต่างประเทศ และ ความเป็นกลาง

24
สิงหาคม
2565

คุยกับท่านปรีดี

 

คำขึ้นต้น

ท่านผู้รู้บางคนกล่าวว่าตลอดชีวิตทางการเมืองของท่านปรีดีฯ ที่ผ่านมานั้นคือ ‘การต่อสู้ทางชนชั้น’ เพราะฉะนั้นการที่ข้าพเจ้าเขียนว่า “ท่านปรีดีฯ ไม่เห็นด้วยกับการเผด็จอำนาจโดยชนชั้นหนึ่งชั้นใด” และเขียนว่า “ท่านปรีดีฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่จะผลักดันมวลราษฎรให้กระโจนเข้าสู่ทะเลเลือดแห่งสงครามชนชั้น” นั้นเป็นการเขียนที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง (ในทัศนะของท่านผู้รู้บางคน)

ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าที่ข้าพเจ้าเขียนไปนั้นเป็นความถูกต้องและตรงตามทัศนะของท่านปรีดีฯ ที่ข้าพเจ้ากล้ายืนยันว่าถูกต้องตรงตามทัศนะของท่านปรีดีฯ นั้น ไม่ใช่เป็นการคาดคิดเอาเองโดยอัตวิสัยอย่างพวกผู้สวมเสื้อคลุมมารกซิสม์บางคน ที่เอาความเห็นของตนเองเป็นความเห็นของมารกซ์ หรือแปลนัยยะความเห็นของมารกซ์ให้เข้ากับความต้องการ หรือความตื้นเขินแห่งปัญญาของตนเอง ทั้งๆ ที่มารกซ์ไม่ได้มีทัศนะเช่นนั้นเช่นนี้

ข้าพเจ้าบอกแล้วว่าทัศนะของท่านปรีดีฯ ต่อปัญหาดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้คาดคิดเอาเอง แต่เป็นทัศนะที่ท่านปรีดีฯ ได้แสดงออกในการพูด การเขียน การอภิปราย มาแล้วมากครั้งหลายหน ดังเช่นในการสอบสวนของคณะกรรมาธิการเรื่องที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านปรีดีฯ ได้ตอบคำถามของคณะกรรมาธิการในปัญหา “ลักษณะการชุมชน” เรื่องการใช้กำลังบังคับล้มระเบียบการชุมชนซึ่งมีตามประเพณีทั้งหมด เพื่อเป็นทางเดียวที่จะบรรลุวัตถุประสงค์คอมมิวนิสต์

ท่านปรีดี ได้ตอบคำถามนี้ มีความตอนหนึ่งว่า

“ความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ ก็เป็นไปในทางรักษาประเพณีของไทย ในทางอื่นๆ ก็เหมือนกัน หลักประเพณีอันใดที่เหมาะสมแก่สมัยก็ตั้งใจจะรักษาไว้ ส่วนข้อที่จะแก้ก็จะแก้ไขตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเป็นการนับ 1 ใหม่นั้น เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ในเรื่องสงครามระหว่างชนชั้นนั้นได้พยายามชี้แจงให้คนต่างๆ เข้าใจว่าไม่เป็นการบังควร เพราะจะเป็นการทำให้นองเลือดกันเปล่าๆ”

เกี่ยวกับคำถามของคณะกรรมาธิการที่ว่า “การกระทำสงครามเนืองนิจในความบงการของชนกรรมาชีพเพื่อทำลายกำลังและประเพณีต่างๆ ของชุมชนอย่างเก่า และทำลายพวกกระฎุมพีที่อาจโผล่ขึ้นมาใหม่”

ท่านปรีดีฯ ได้ชี้แจงทัศนะของท่านต่อปัญหานี้ให้คณะกรรมาธิการทราบว่า

“ดิกเตเตอร์ชิบ หรือลัทธิบงการแผ่นดินข้าพเจ้าไม่ชอบเลย ที่ไม่ชอบนั้นไม่ใช่เฉพาะแต่การที่จะให้คนจนเข้าถืออำนาจบงการเท่านั้น ถึงแม้ว่าคนชั้นอื่นจะเข้ายึดอำนาจบงการแผ่นดินก็ไม่เห็นชอบด้วยเหมือนกัน”

จากทัศนะของท่านปรีดีฯ ดังกล่าวนี้หมายความว่า ท่านปรีดีฯ สนับสนุนการยังอยู่ของชนชั้น หมายความว่า ท่านปรีดีฯ คัดค้านการต่อสู้เพื่อทำลายชนชั้นกระนั้นหรือ

เปล่าเลย, ท่านปรีดีฯ ไม่ได้มีทัศนะเช่นนั้น และจะไม่มีทัศนะเช่นนั้นเป็นอันขาด ท่านเพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันราษฎรให้เข้าไปสู่สงครามนองเลือดหรือสงครามชนชั้น และการผลักดันราษฎรให้เข้าสู่สงครามดังกล่าวนั้นก็มีมาจากทางเดียว คือ ความไม่ยุติธรรม ของสังคมอันเกิดจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ดังที่ท่านได้อภิปรายที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนหนึ่งดังนี้

“ตามที่ ท่านสกลฯ รับสั่งถูกต้องแล้ว มีผู้ทำนายว่าการต่อสู้ระหว่างคนต่างชั้นจะต้องเกิดมีขึ้น เมื่อมีความปั่นป่วนมากขึ้น คือ มีคนยากจนข้นแค้น เราจะป้องกันเสียในชั้นต่ำ…”

การป้องกันการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อในสงครามชนชั้นของท่านปรีดีฯ ก็คือการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจตามวิถีทางประชาธิปไตย

ถึงแม้ว่า ท่านปรีดีฯ จะไม่เห็นด้วยกับสงครามชนชั้น แต่ท่านปรีดีฯ ก็เคยเป็นผู้นำในสงครามกอบกู้เอกราชของชาติในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว และถึงแม้ว่าท่านปรีดีฯ จะไม่เห็นด้วยกับสงครามชนชั้น แต่ท่านปรีดีฯ ก็เป็นผู้นำคนหนึ่งในการอภิวัฒน์เมื่อ 24 มิถุนายน 2475

เราจำต้องทำความเข้าใจเสียให้แจ่มชัดระหว่าง สงครามชนชั้น กับ สงครามกู้ชาติ ถึงแม้ว่าจะเป็นสงครามและมีวิธีการแห่งสงครามเหมือนกัน แต่ทว่าวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย แตกต่างกัน

ในการเผด็จอำนาจของชนชั้น ท่านปรีดีฯ ได้บอกไว้อย่างแจ่มชัดแล้วว่า ท่านไม่ชอบดิกเตเตอร์ชิบ หรือลัทธิบงการ ไม่ว่าจะโดยชนชั้นไหน ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 7 พฤษภาคม 2489 มีความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการและปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม”

เราจะเข้าไปสู่อาณาจักรแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร ในเมื่อเรายังยึดถือชนชั้นกันอยู่ ไม่ว่าจะชนชั้นกรรมาชีพหรือนายทุน

เราจะเข้าสู่แดนพระนิพพานได้อย่างไรในเมื่อเรายังไม่ยอมวางอัตตา และแม้พระพุทธพระธรรม พระสงฆ์

มีแต่คนวิกลจริตเท่านั้น ที่เมื่อพายเรือข้ามฟากถึงที่หมายปลายทางแล้ว แทนที่จะผูกเรือหรือปล่อยเรือไว้ที่ฝั่ง แต่กลับแบกเรือเอาไว้บนบ่า

การยึดถือในชนชั้นยังมีอยู่ตราบใด ก็เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า เรายังไม่ได้ล่วงเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงเลยท่านปรีดีฯ

ท่านปรีดีฯ ท่านต้องการเห็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับการเผด็จอำนาจบงการประเทศของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือชนชั้นหนึ่งชั้นใด

อนึ่งในฉบับนี้ จากคำสัมภาษณ์ท่านปรีดีฯ โดยบุคคลต่างๆ จะเผยให้ท่านผู้อ่านได้เห็นทัศนะของท่านปรีดีฯ อย่างแจ่มชัดในปัญหาของประเทศไทยเราและของโลก อันทัศนะของท่านปรีดีฯ ที่แสดงออกนั้น จะเป็นทัศนะที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะเป็นทัศนะที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไร้คุณค่า ก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาเอาเองเถิด

นอกจากคำสัมภาษณ์และทัศนะของคนอื่นๆ ที่มีต่อท่านปรีดีฯ แล้ว เช่น ทัศนะของท่านเจ้าคุณพระอุดมสารโสภน ทัศนะของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทัศนะของคุณไพโรจน์ ชัยนาม และความเคลื่อนไหวของท่านปรีดีฯ ตามคำเปิดเผยของ นายสำเภา ศิริสัมพันธ์ เกี่ยวกับการเจรจาเรื่องญวนอพยพกับรัฐบาลฮานอย ซึ่งเป็นปัญหาที่ชะงักงันมานานปี

ก็ยังมีข้อเขียนของท่านปรีดีฯ อีกเรื่องหนึ่ง คือ ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ข้อเขียนของท่านเรื่องนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือของคณะชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร และต่อมาได้ตีพิมพ์ในหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ข้อเขียนของท่านปรีดีฯ เรื่องนี้เป็นการยืนยันถึงคุณค่าของประชาธิปไตยและเป็นการชี้ให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ ของสังคมนั้นต้องแก้ด้วยประชาธิปไตยจึงจะเป็นการแก้ที่ถูกต้องและสัมฤทธิผล

ขอขอบคุณ
สุพจน์ ด่านตระกูล

 

ผู้สื่อข่าวแห่งสำนักข่าว เอ.เอฟ.พี. ประจำกรุงปารีส ได้ไปสัมภาษณ์ท่านเกี่ยวกับที่ประธานาธิบดีนิกสัน จะไปเยือนปักกิ่ง ดังข้อความในโทรเลขของ เอ.เอฟ.พี. ที่กระจายข่าวไปทั่วโลกดังนี้

ปารีส, 28 กรกฎาคม (เอ.เอฟ.พี.) อดีตผู้สำเร็จราชการและอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงต่อผู้แทนแห่ง เอ.เอฟ.พี. วันนี้ที่ถูกถามระหว่างสัมภาษณ์โดยเฉพาะถึงการเยือนปักกิ่งของประธานาธิบดีนิกสันที่จะมีขึ้น

“ข้าพเจ้าเชื่อความจริงใจของผู้นำจีนในการคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติระหว่างประเทศที่มีระบบการเมืองต่างกัน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าประธานาธิบดีนิกสัน มีความจริงใจเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะเขาตกเป็นเชลยแห่งความคิดรุกรานมาช้านาน แน่นอน, การเยือนนี้ก่อให้เกิดก้าวหนึ่งไปข้างหน้าและเป็นสิ่งที่ดี ถ้าประธานาธิบดีนิกสัน เป็นผู้เห็นแก่สภาพแท้จริงก็เป็นวิธีเดียวที่จะลุล่วงทางตันในปัญหาเอเชียอาคเนย์ คือ การไปพบผู้นำจีน แต่จะต้องรอคอยระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบางทีอาจนานหน่อยที่จะได้ผลในการพบปะกันนั้น”

นายปรีดี พนมยงค์ ถูกโค่นล้มเมื่อ ค.ศ. 1947 โดยรัฐประหารนำโดย จอมพล พิบูลสงคราม ซึ่งถือเอาอำนาจตั้งแต่ครั้งกระนั้น ครั้นแล้ว นายปรีดีได้ไปลี้ภัยการเมืองในขณะแรกที่สิงคโปร์ ต่อมาก็ไปอยู่ปักกิ่งเป็น เวลา 22 ปี เขาได้มาถึงปารีสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970 เขาได้อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง ณ บ้านพักชานกรุงปารีสด้านใต้ คือ อองโตนี ซึ่งเขาได้อยู่กับภรรยาและบุตร

เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์หรือการติดต่อซึ่งเขาสามารถมีได้ที่ปารีส นายปรีดี พนมยงค์ เน้นถึงการที่เขามิได้ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้าพเจ้ารักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรอยู่เสมอมากับสถานเอกอัครรัฐทูตแห่งสาธารณรัฐของราษฎรจีน และสถานผู้แทนทางการทูตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียตนาม ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปในงานรับรองของเอกอัครราชทูตไทย และได้รับเชิญให้ไปอังกฤษ ข้าพเจ้าก็ได้ไปตามคำเชิญนั้น”

เมื่อถูกร้องขอให้ชี้แจงถึงการดำเนินชีวิตปัจจุบัน นายปรีดี พนมยงค์ ตอบว่า

“ข้าพเจ้าได้รับบำนาญเล็กน้อยจากรัฐบาลไทย ข้าพเจ้าขายบ้านที่กรุงเทพฯ และด้วยการอนุญาตของธนาคารชาติแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าได้นำเงินที่ขายได้นั้นมาซื้อบ้านนี้ในนามของภรรยาข้าพเจ้า”

“ขณะนี้ข้าพเจ้าเตรียมเขียนบันทึกความทรงจำเพื่อการดำรงชีพ จะมีการพิมพ์ 6 ชุด ชุดหนึ่งเป็นภาษาไทย อีกชุดหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องว่า ‘รู้ธ ผู้สำเร็จราชการและนายกรัฐมนตรีแห่งสยาม’ ข้าพเจ้าติดต่อกับสำนักพิมพ์อังกฤษและอเมริกัน”

เมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบันในแหลมอินโดจีนและในประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังที่ประธานาธิบดีนิกสันประกาศเยือนปักกิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยตอบว่า

“ในประเทศเรามีการคาดคะเนเปะปะกันมาก ที่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีเหตุผลน้อยในส่วนที่เกี่ยวกับเวียตนาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าชาวเวียตนามมีความจริงใจเหมือนกัน สิ่งที่พวกเขาปรารถนา คือ สันติภาพและการฟื้นสถาปนาประเทศ ในการเจรจานั้น เบื้องต้นเราจะต้องค้นหาว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้ตกลงกันไม่ได้ ขอให้ดูตัวอย่างการริเริ่มของนายปิแอร์ มองเดสฟร้องส์ (ในการประชุมเยเนวาว่าด้วยอินโดจีน แห่ง ค.ศ. 1945) นั่น เป็นการกระทำที่กล้าหาญ เพราะการยอมรับความผิดพลาดที่แล้วมาของรัฐบาล มิใช่เป็นการเสียเกียรติ และประเทศฝรั่งเศสก็ถอนตัวออกได้ด้วยเกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ ถ้าชาวอเมริกันดำเนินตามวิธีเจรจาที่ฝรั่งเศสดำเนินกับชาวเวียตนาม สันติภาพก็จะพึงบังเกิดขึ้น”

สำหรับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จากประเทศไทยก็ได้ดั้นด้นไปพบท่านปรีดีฯ ที่ชานกรุงปารีสมาแล้วหลายคน ในจำนวนนี้มี สัมฤทธิ์ อินทปันดี ผู้สื่อข่าวพิเศษของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และ น.อ. ศิริ พงศทัติ รน. อดีตทูตทหารเรือประจำกรุงปารีส บรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศของหนังสือพิมพ์สยามไทม์

สัมฤทธิ์ อินทปันดี ได้รายงานข่าวของเขาเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ท่านปรีดีฯ ในหน้าหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2514 โดยพาดหัวข่าวว่า “ปรีดีว่า—ประเทศจีนพร้อมที่จะผูกมิตรกับไทย” แล้วดำเนินเนื้อข่าวต่อไปว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนี้พำนักลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส เชื่อว่าประเทศจีนคอมมิวนิสต์พร้อมที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศไทย

อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 71 ปี ได้บอกแก่ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่นในระหว่างการสัมภาษณ์เป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อต้นเดือนนี้ ณ ที่พักของท่านเอง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองปารีสออกไปประมาณ 4 ไมล์ ท่านบอกว่า ถ้าหากประเทศไทย ‘ยุตินโยบายแข็งกร้าว’ ต่อประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลยเกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศทั้งสอง

ท่านกล่าวว่า 

“ผมอยู่ในกรุงปักกิ่งมานานพอควร และมีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของจีนคอมมิวนิสต์เป็นอย่างดี” — ผมอาจกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาไม่ว่าจะเป็นเจตนาดีหรือเจตนาร้าย

“ถ้าหากประเทศไทยมีเจตนาดีกับเขาแน่นอน เขาก็ย่อมสนองตอบด้วยดี อ้ายเรื่องที่แล้วก็ขอให้แล้วกันไป ผมไม่เชื่อว่าจะมีปัญหาอะไรกับประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ผมคิดว่ามันเป็นของประเสริฐที่บุคคลสองคน ซึ่งเคยทะเลาะกันนั้น สามารถหันมาประสานรอยร้าวกันได้”

ท่านปรีดี ผู้ได้จากประเทศไทยไปกว่า 20 ปี ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ไปขอลี้ภัยอยู่ในกรุงปักกิ่งและได้ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อประมาณ 2 ปี มานี้ มาพำนักในกรุงปารีส นักการเมืองผู้มีชื่อเสียงท่านนี้ได้ให้คำแนะนำว่า ประเทศไทยควรรู้จักดำเนินนโยบาย ‘ยืดหยุ่น’ เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ

เมื่อถามถึงการสู้รบในอินโดจีน ท่านปรีดีกล่าวว่า มันเป็นปัญหาภายในของแต่ละประเทศ ในแหลมอินโดจีน

“เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ควรปล่อยให้เขาแก้ปัญหาของเขาเอง เพราะถ้าเราเข้าสอดแทรกด้วย เขาก็ย่อมจะสอดแทรกเรา เข้าให้มั่ง”

“เราควรดูจากตัวอย่างในอดีตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงกระทำไว้ในสมัยนั้น ไทยเราดำเนินนโยบายเป็นกลาง แล้วก็นำประเทศชาติรอดมาได้ เพราะมีการถ่วงดุลแห่งอำนาจกันอยู่”

“เราต้องยอมรับว่าในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายตกอยู่ใต้อำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างชาตินั้น พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 สามารถช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากอำนาจของระบบจักรวรรดินิยมได้ ก็เพราะพระองค์ทรงดำเนินนโยบายยืดหยุ่นนี่เอง”

“และเมื่อใดเราดำเนินนโยบายนอกแนวทางที่พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ทรงวางไว้ เมื่อนั้นเราก็จะประสบกับความยุ่งยากทุกคราวไป ดังกรณีที่เราเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น”

ท่านปรีดีฯ คัดค้านอย่างแข็งขันต่อทฤษฎีที่ว่าประเทศหนึ่งควรจะไปทำสงครามสู้รบนอกดินแดนประเทศตนดีกว่าทำในประเทศตน โดยจัดส่งกองทัพออกไปทำการสู้รบกับผู้ที่เชื่อได้ว่าเป็นศัตรูของตนในดินแดนของประเทศนั้น ท่านว่า 

“ข้าพเจ้ามิได้ศึกษาวิชายุทธการทางทหารมาก่อน แต่ข้าพเจ้าได้เคยอ่านตำรับทางทหารมาหลายเล่ม แต่ก็ไม่เคยพบว่ามีที่ใดรับรองความถูกต้องของทฤษฎีที่ว่านั้น”

“หากเราจะย้อนหลังไปดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า ผู้ที่ส่งกองทัพออกไปทำการรุกราน และสู้รบนอกดินแดนประเทศของตนนั้น ในที่สุดมีแต่จะประสบกับความปราชัยย่อยยับทุกคราวไป ไม่ว่าจะเป็นกองทัพของฮิตเล่อร์ หรือของนโปเลียน”

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่า เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิงแล้ว จีนคอมมิวนิสต์ก็จะเข้ามาแทนที่ ถือประโยชน์เหนือคนไทย ท่านปรีดีกล่าวว่า 

“เราต้องรู้จักแยกแยะปัญหาให้ดี เรากำลังพูดกันถึงจีนประเภทไหน? จงดูคนจีนพ่อค้าในประเทศไทยเรา ทำไมเขาจึงร่ำรวยกันนัก ถ้าเราจะค้ากับประเทศจีน การค้าก็จะอยู่บนพื้นฐานของรัฐบาลต่อรัฐบาล ประเทศจีนมีงานแสดงสินค้าปีละ 2 ครั้งทุกปี พ่อค้าต่างประเทศที่ไปชมงานแสดงสินค้า เมื่อเซ็นสัญญาการค้าก็เซ็นในนามของรัฐบาล รัฐบาลไทยอาจมอบหมายให้องค์การหนึ่งองค์การใดโดยเฉพาะก็ได้ ทำการค้ากับจีนคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ให้พ่อค้าเอกชนทำการค้า”

ท่านปรีดี แนะนำว่า ประเทศไทยควรจะทำการค้ากับทุกประเทศ โดยไม่ต้องไปมัวพะวงอยู่กับเรื่องการเมืองของประเทศนั้นๆ

เมื่อถามถึงเรื่องที่ประธานาธิบดีนิกสันมีโครงการจะไปเยี่ยมเยียนกรุงปักกิ่ง ท่านปรีดีกล่าวว่า : เพราะสหรัฐอเมริกาไม่สามารถเพิกเฉยต่อประเทศที่มีพลเมือง 800 ล้านคนได้เพราะนั่นหมายถึง ตลาดขนาดมหึมาทีเดียว

เกี่ยวกับปัญหาการกลับประเทศไทยของท่าน และเมื่อกลับไปแล้วท่านตั้งใจว่าจะทำอะไร ท่านปรีดีบอกว่า

“การกลับประเทศไทยเป็นความปรารถนาของผม แต่เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมแล้วยังเป็นปัญหาอยู่ว่า ผมจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศได้มากเพียงใด หากผมกลับไปแล้ว มีบุคคลเป็นอันมากที่ปรารถนาดีต่อผม แต่ก็ยังมีบุคคลอีกหลายคนเหมือนกันทั้งที่เป็นชาวต่างประเทศและข้าราชการของรัฐบาลไทยปัจจุบันแนะนำว่า ผมยังไม่สมควรกลับบ้านเกิดเมืองนอนในระยะนี้ แต่สำหรับผมเองนั้น ผมเห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ผมย่อมรับใช้ประเทศชาติได้เสมอ”

เมื่อถูกถามถึงสุขภาพ ความเป็นอยู่และชีวิตประจำวันของท่าน ท่านปรีดีฯ ชี้แจงว่า

“ผมได้ขายบ้านของผมในกรุงเทพฯ ไปแล้วก็ได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งในกรุงปารีสนี้ ปัจจุบันนี้ผมมีรายได้อยู่ 2 ทาง คือ เงินบำนาญของผมที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เดือนละ 3,653 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้นับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในกรุงปารีส ด้วยเหตุนี้ผมจึงจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพอีกทางหนึ่งด้วยการเขียนหนังสือขายแก่ชาวฝรั่งเศส ที่นี่และชาวอเมริกันที่เขาสนใจ ผมได้เขียนหนังสือเสร็จไปแล้ว 2-3 เล่ม ซึ่งสำนักพิมพ์เขากำลังจัดพิมพ์อยู่ในจำนวนนี้มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งผมเขียนขึ้นเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า ‘ความเป็นอนิจจังของสังคม’ และทางมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (สหรัฐอเมริกา) ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และกำลังจัดพิมพ์อยู่ นอกจากนั้น ขณะนี้ผมกำลังเขียนบันทึกความทรงจำของผมอยู่ เพื่อนชาวอังกฤษของผมบางคนได้ แนะนำผมว่าควรจะเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพื่อจะได้สำนวนภาษาอังกฤษของผมเอง ทั้งๆ ที่ภาษาอังกฤษของผมก็ไม่ใคร่ดีนัก เขาบอกว่า ถ้าผมเขียนเป็นภาษาไทย แล้วให้คนอื่นแปล มันก็จะกลายเป็นว่า คนอื่นเขาเขียนขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเขียนบันทึกความทรงจำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ แล้วจะได้แปลเป็นภาษาไทยสำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นคนไทยต่อไปขณะนี้ ผมกำลังเร่งการเขียนอยู่ทุกวัน ผมจะลงมือเขียนต่อไปจนถึงตอนเย็น”

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของท่านกับรัฐบาลฝรั่งเศส ท่านปรีดีตอบว่า

“รัฐบาลฝรั่งเศสเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผม ทั้งผมก็ไม่เคยคิดและมิได้แสวงหาความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลฝรั่งเศส รวมทั้งไม่เคยคิดจะทำอะไรให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วย

อย่างไรก็ดี ผมต้องขอบคุณ รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นอย่างมากที่ได้แสดงน้ำใจกว้างขวางด้วยการออกวีซ่าให้ผมอยู่ที่นี่ได้ แต่ผมก็ขอเอาเกียรติเป็นประกันได้ว่า ผมไม่เคยและจะไม่แสวงหาความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน นี่คือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ และยึดถือปฏิบัติตลอดมา”

(หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : ถึงแม้ว่าท่านปรีดีจะมิได้รับความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษจากรัฐบาลฝรั่งเศสก็ตาม แต่ท่านก็ได้รับการปฏิบัติอย่างบุคคลสำคัญจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในกรุงปารีส ในระยะ 2 ปีที่ล่วงมานี้ ท่านได้รับการเชื้อเชิญจากแหล่งต่างๆ ตลอดมาที่ท่านอยู่ในกรุงปารีส)

เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับนักเรียนไทยและคนไทยอื่นๆ อย่างไรบ้าง ท่านชี้แจงว่า

“จริงทีเดียว มีคนไทยหลายคนได้มาเยี่ยมเยียนผม รวมทั้งบุคคลที่กำลังอยู่ในคณะรัฐบาลปัจจุบันนี้ด้วย เช่น คุณถนัด คอมันต์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคุณสง่า กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เคยมาเยี่ยมเยียนผมในระหว่างแวะกรุงปารีส บรรดานักเรียนไทยในปารีสและยุโรป ก็พากันมาเยี่ยมเยียนผมเป็นประจำ เรารับประทานอาหารกลางวันร่วมกันทุกสัปดาห์”

(หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : ในระหว่างที่สัมภาษณ์อยู่นี้ มีคณะนักเรียนไทยจากสหรัฐอเมริกาขอเข้าพบ ท่านปรีดีเพื่อเชื้อเชิญท่านไปพบปะ และกล่าวคำปราศรัยแก่นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกานักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาเหล่านี้ถึงกับลงทุนบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางและระหว่างพำนักอยู่ในอเมริกาให้แก่ท่านด้วย รวมทั้งรับปากจะติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เพื่อให้ความอารักขาแก่ท่าน)

สำหรับคำเชื้อเชิญดังกล่าวนั้น ท่านปรีดีกล่าวว่า

“ผมขอขอบคุณนักเรียนไทยเหล่านั้นเป็นอย่างมากที่ได้กรุณาเชื้อเชิญผมมา ผมขอน้อมรับเจตนาดีของพวกเขาและจะพิจารณาการเดินทางเมื่อถึงโอกาสอันเหมาะอันควร”

ท่านปรีดี กล่าวต่อไปว่า

“มร.เคนเนธ ที. ยัง อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ซึ่งเคยผ่านการศึกษาในประเทศจีนได้เคยมาติดต่อกับผมและเคยเชิญผมไปสหรัฐอเมริกาท่านบอกกับผมว่า ถ้าผมรับคำเชิญไปสหรัฐอเมริกาแล้ว ผมจะได้รับอนุญาตให้พูดทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามต้องการ แต่ผมก็ยังไม่พร้อมที่จะไปในขณะนี้”

น.อ.ศิริ พงศทัต ร.น. ได้รายงานข่าวสัมภาษณ์ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ไว้ในหนังสือพิมพ์สยามไทม์ ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2514 มีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีคุณค่าต่อการดำเนินวิเทโศบายของประเทศไทยอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองของเราจะให้ความสนใจต่อทัศนะของท่านตั้งแต่บัดนั้น

น.อ.ศิริ พงศทัต อดีตผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำกรุงปารีส ได้เรียนถามถึงปัญหาการรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเด็นแรก ถึงท่านปรีดีได้ให้ทัศนะว่า

“จีนผืนแผ่นดินใหญ่มีประชากรถึง 800 ล้านคน เราไทยเป็นชาติเอกราชมาตั้งหลายร้อยปี ควรจะใช้ดุลยพินิจของตนเองบ้าง ไม่ควรจะตามก้นใคร ดูชาติเล็กๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ซิ ทำไมเขาจึงตัดสินใจโดยไม่ต้องรับบัญชาจากใคร ทั้งนี้ เพราะเขาคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองและการเศรษฐกิจแห่งชาติของเขาเป็นเรื่องสำคัญ”

ต่อปัญหาเรื่องการรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเกิดผลสะท้อนสู่ชาวจีนในประเทศไทยเพียงใดหรือไม่ ท่านปรีดีฯ ชี้แจงว่า

“พวกชาวจีนในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพวกทำมาหากิน และมีความผูกพันทางด้านจิตใจอยู่กับผืนแผ่นดินใหญ่ เพราะญาติพี่น้องของเขาส่วนใหญ่ก็อยู่ที่นั้น และอย่าลืมว่าทัศนะของจีนใหม่กับจีนเก่านั้นย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น การที่เราจะกลัวว่า คนจีนในเมืองไทยจะกำเริบนั้นย่อมฟังไม่ขึ้น เป็นการกลัวเกินเหตุ”

 

ท่านปรีตี พนมยงค์ เข้าเยี่ยมคำนับ ประธานเหมา เจ๋อตง ที่กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2508
ท่านปรีตี พนมยงค์ เข้าเยี่ยมคำนับ ประธานเหมา เจ๋อตง ที่กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2508

 

เกี่ยวกับการติดต่อทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ จะเป็นผลดีแก่ไทยเราแค่ไหน เพียงใดต่อปัญหานี้ ท่านปรีดีฯ ให้ทัศนะว่า

“ถ้าเราค้าขายกับเขาเป็นทางการ โดยอาศัยบริษัทมหาชนซึ่งมีรัฐบาลเป็นประกันในด้านความซื่อสัตย์และคุณภาพสินค้า ก็ย่อมจะดีกว่าปล่อยให้มีการลักลอบสินค้าเถื่อนจากจีนใหม่เข้าเมือง โดยที่รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทต่อปี เพราะถ้าเปิดการค้ากันโดยตรงแล้ว รัฐก็มีโอกาสเก็บภาษีศุลกากรได้เต็มที่”

น.อ.ศิริฯ ได้เรียนถามถึงเหตุผลที่ท่านปรีดีฯ เดินทางออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งท่านปรีดีฯ ได้ให้ความกระจ่างในประเด็นนี้ว่า

“มีคนอยากทราบว่า ทำไมผมจึงเดินทางออกจากประเทศจีน บางทีก็สงสัยว่าผมขัดใจกับคณะผู้นำจีนใหม่ แต่ความจริงเป็นเพราะเขาเห็นใจผมที่จากบ้านเมืองมา 20 ปีเศษ แม้แต่ท่านประธานเหมาเองเคยถามผมว่า ไม่คิดถึงบ้านบ้างเลยหรือ เห็นจากบ้านเมืองมานาน ตัวท่านเองได้รับเชิญไปเยือนโซเวียตเพียงเดือน คิดถึงบ้านใจแทบขาด ผมตอบว่าคิดถึง ครั้นเมื่องานวันชาติจีนใหม่ ผมได้รับเชิญไปร่วมในงานด้วย พบนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ท่านถามว่า ผมอยากจะไปเที่ยวไหนบ้าง ผมตอบว่า ผมท่องเที่ยวไปทั่วประเทศจีน รวมทั้งเขตที่คนเผ่าไทยอยู่ด้วย ผมจึงอยากจะไปสแกนดิเนเวีย เพราะไม่เคยไป หากจะไปอยู่ปารีสได้ก็จะเป็นการดี จะได้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์และมิตรสหายที่ร่วมสำนักเดียวกันมา เพราะเหตุนี้แหละครับที่ผมออกเดินทางมาพำนักในประเทศฝรั่งเศส”

“อันที่จริงผมคิดว่า อาจารย์คิดถูกแล้วที่มาอยู่ฝรั่งเศส เพราะนอกจากจะเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเมืองของโลกในปัจจุบัน”

 น.อ.ศิริฯ ให้ความเห็น และเรียนสัมภาษณ์ท่านถึงผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ท่านปรีดีฯ ชี้แจงว่า

“มีกลุ่มฝ่ายซ้ายใหม่ของสหรัฐที่ต้องการให้ผมมีส่วนในการเจรจาสันติภาพเวียดนามและ นายเคนเนธ ที. ยัง อดีตเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ท่านผู้นี้สำเร็จจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น ซึ่งชำนาญในกิจการประเทศจีนมาก ก็ได้มาคุย และเชิญผมให้ไปเล็กเชอร์ทัวร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วสหรัฐ แต่ผมได้ตอบปฏิเสธไป เพราะกำลังเขียนบันทึกความจำอยู่ และความปลอดภัยในสหรัฐก็ยังมีไม่มากพอ ผมทราบว่าทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของสหรัฐพอใจในการที่ผมมาอยู่ในปารีสเพราะสถานที่ประชุมสันติภาพเวียตนามตั้งอยู่ปารีส และผมคุ้นเคยกับฝ่ายเวียตนามเหนือและรู้จักท่านฟามวันดงนายกรัฐมนตรีเวียตนามเหนือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผมยังได้รับเชิญไปในงานวันชาติของจีนใหม่และของเวียตนามเหนือบางโอกาส”

“ท่านอาจารย์ คงจะคุ้นเคยกับอดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เป็นอย่างดี”

น.อ.ศิริฯ เรียนถาม

“ท่านโฮจิมินห์เคยบวชเป็นพระญวนและเคยมาพำนักในประเทศไทย”

ท่านปรีดีฯ ชี้แจงและกล่าวต่อไปว่า

“ท่านได้แสดงความขอบใจรัฐบาลไทยหลังสงครามที่มีส่วนสนับสนุนการกู้เอกราชของเวียตนาม และยังรำลึกถึงบุญคุณของชาวไทยสมัยนั้นอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งผมเดินทางโดยเครื่องบินไปเยือนเวียตนามเหนือ พอเครื่องบินร่อนลงที่ฮานอย รู้สึกตกใจที่เขาจัดตั้งกองเกียรติยศรับคำนับผมอย่างไม่คาดคิดมาก่อน”

น.อ.ศิริฯ ได้เรียนถาม ท่านปรีดีฯ ต่อไปอีกว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อคำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดี นิกสัน เมื่อวันที่ 16 เดือนนี้ว่า สหรัฐจะลงมติให้จีนแผ่นดินใหญ่มีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ แต่จะลงมติคัดค้านไล่จีนไต้หวันออกจากสหประชาชาติ

ท่านปรีดีฯ ให้ทัศนะว่า

“คำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีนิกสันแสดงให้ผู้ที่อ่านคำสัมภาษณ์ของท่านผู้นี้ในครั้งก่อนไม่เข้าใจได้มีความเข้าใจดีขึ้นโดยเฉพาะคนไทยเราส่วนมากที่ใช้ความคิดอย่างสามัญสำนึกตามธรรมดาก็สามารถเข้าใจได้ คุณคงจำได้ว่า คุณเคยมาถามผมและเคยร่วมกับผู้แทนหนังสือพิมพ์บางฉบับ มาถามผมถึงคำสัมภาษณ์ของ ประธานาธิบดี นิกสันครั้งก่อน ว่าสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนให้สาธารณรัฐแห่งราษฎรจีนมีที่นั่งในสหประชาชาติ แต่ถ้าจะขับไต้หวันออกไปแล้ว จะยืนยันให้ได้เสียง 2 ใน 3

ผมก็ได้บอกกับคุณว่า วิธีการปฏิบัติเช่นนั้นจะทำได้อย่างไร และให้ข้อสังเกตแก่คุณว่าการอ่านคำสัมภาษณ์ทางการทูตนั้น ต้องมองถึงวิธีปฏิบัติที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งต้องอ่านใต้บรรทัดและให้ข้อสังเกตว่า สหรัฐสนับสนุนจีนไต้หวันมาช้านาน ดังนั้น พอขึ้นต้นเปลี่ยนท่าทีก็ยากที่นิกสันจะพูดอย่างขวานผ่าซากว่า ต่อไปฉันจะสนับสนุนสาธารณรัฐแห่งราษฎรจีน และจะปล่อยให้ไต้หวันดำเนินไปตามยถากรรมเถิดนิกสัน จึงพูดเป็นจังหวะๆ เมื่อคุณได้มาถามความเห็นเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์ นิกสัน จังหวะแรก ผมก็ตอบคุณว่าให้สังเกตต่อไปเถิด ไม่ช้าก็จะลงเอยที่สาธารณรัฐแห่งราษฎรจีน ได้ที่นั่งคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ มิใช่จะได้ที่นั่งอย่างสมาชิกสามัญทั่วไป ซึ่งเท่ากับเป็นการกำจัดไต้หวันไปในตัว ปัญหาขับไต้หวันด้วยคะแนน 2 ใน 3 ก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ ผมตอบเท่านี้ก็เห็นจะพอแล้ว ปล่อยเอาไว้ให้คุณคิดเอาเองบ้างว่า สภาพความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะต้องดำเนินวิเทโศบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง”

ต่อคำถามถึงว่า ไทยเราจะหวังพึ่งสหรัฐอเมริกาได้เพียงไหน แค่ใด ท่านปรีดีฯ ตอบว่า

“ผมเคยให้คติแก่เพื่อนไทยจำนวนไม่น้อยที่เคยมาพบผมว่าเราเป็นชาวพุทธจึงต้องปฏิบัติตามคติของพระพุทธองค์ให้มั่น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนของตน เป็นที่พึ่งแก่ตน ชาติไทยอยู่รอดจากการเป็นเมืองขึ้นมาได้ในอดีตก็ถือคตินี้เป็นหลัก คือ เราต้องพึ่งราษฎรไทยนี้เป็นหลัก ส่วนชาติอื่นก็เพียงอาศัยได้บ้างเป็นอุปกรณ์เท่านั้น ศาสนา คริสต์ ก็มีคติว่า ‘ช่วยตนเองก่อน พระเจ้าจึงช่วยท่าน’ ขอให้คุณตั้งสติศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดีว่าชาติอื่นๆ นั้น เขาถือประโยชน์แห่งชาติของเขาเหนือความช่วยเหลือชาติอื่น ดังเช่น สหรัฐต้องประสบความยุ่งยากทางการเงินและการภายในหลายอย่าง เขาก็ต้องช่วยตัวเขาเองก่อน จะหวังให้เขาทุ่มเท กำลังคน กำลังทรัพย์ มาช่วยไทยเราอย่างไม่อั้นประตูนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้

คุณระลึกให้ดีว่า สมัยก่อนนั้น เราพึ่งราษฎรไทยของเราเอง เรามีรายได้อย่างไร เราก็จ่ายตามควรแก่อัตภาพของเรา เราก็อยู่เป็นเอกราชมาได้ สมัยก่อนนั้นเราไม่เคยได้รับเงินช่วยเปล่าจากต่างประเทศแม้สตางค์แดงเดียวเรามีรายได้น้อยก็ใช้น้อยหน่อย ปีใดมีรายได้มากเราก็ใช้มากหน่อย จริงอยู่ในสมัยก่อนเราเคยกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน อาทิ กู้มาสร้างทางรถไฟบ้าง สร้างชลประทานบ้าง ก็เป็นการกู้เพื่อส่งเสริมการผลิตและความสะดวกในการขนส่ง แต่เราไม่เอาเงินของเขามาเปล่า คือ เราเสียดอกเบี้ยให้ บางครั้งเสียดอกเบี้ยแพงไปเราก็เจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่สมัยปัจจุบันต่างประเทศมีวิธีการช่วยให้เปล่า ทั้งนี้ ก็เป็นประโยชน์ ถ้าหากการช่วยนั้นไม่มีเงื่อนไข ทางตรงหรือทางอ้อมที่จะทำให้ชาติเรากลายเป็นลูกสมุนของเขาไป ฉะนั้นที่คุณถามว่าจะหวังพึ่งสหรัฐได้เพียงใด คือเพียงที่เราเป็นตัวของเราเองตามพุทธวัจนะดังกล่าวแล้ว และความช่วยเหลือนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้เราตกเป็นสมุนของเขาไป”

เกี่ยวกับปัญหาวิเทโศบายของประเทศไทย ท่านปรีดีฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า ทางที่ดีที่สุด คือเจริญรอยตามพระพุทธเจ้าหลวง นั่นคือเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ท่านปรีดีฯ กล่าวว่า

“นโยบายที่ดีที่สุด คือ ความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ถ้าเราหันไปดูพระพุทธเจ้า หลวง (ร.5) ก็จะเห็นว่าท่านได้ถือนโยบาย ทำนองนี้ซึ่งเวลานั้นเราเรียกว่า Balance of Powers การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน ส่วนนโยบายต่างประเทศเรามิได้เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเสริมกำลังภายในให้นโยบายต่างประเทศสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้นและสามารถทำให้เราเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ แต่คราวใดที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ เข้าข้างฝ่ายใด ก็นำความยุ่งยากมาสู่ประเทศชาติทันที เช่น เมื่อครั้งมหาสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น แต่ก็แก้ไขด้วยขบวนการเสรีไทย”

ท่านปรีดีฯ ย้ำต่อไปอีกว่า

“ความเป็นกลางนั้นประเสริฐแน่ ขอให้ดูตัวอย่างประเทศเนปาล ซึ่งมีระบอบกษัตริย์และอยู่ติดกับประเทศจีน และประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งอยู่ติดกับจีนและโซเวียตก็ดี ก็ยังรักษาความเป็นกลางไว้ได้”

ท่านปรีดีฯ ได้เคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าในประเทศไทยหรือนอกประเทศ แต่ท่านก็ยินดีและสามารถที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของประเทศชาติและมนุษยชาติได้เสมอ คำให้สัมภาษณ์ของท่านปรีดีฯ ดังกล่าวนี้ไม่เกินเลยจากความจริง ท่านปรีดีฯ ได้มีส่วนในการเสริมสร้างสันติภาพของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และของโลกมาแล้ว ทั้งอดีตและแม้ปัจจุบัน ทั้งที่ได้เป็นที่เปิดเผยมาแล้วและที่ยังไม่สามารถจะเปิดเผยได้ในขณะนี้แต่อย่างไรก็ดี จากการเปิดเผยของ นายสำเภา ศิริสัมพันธ์ ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2516 ก็เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งในการรับใช้ชาติของท่านที่สามารถจะเปิดเผยได้ในขณะนี้

มีบางคนกล่าวว่า ท่านปรีดีฯ ไม่ควรจะชี้ช่องทางให้ความแนะนำหรือช่วยเหลือประการใดต่อรัฐบาลไทย ควรจะปล่อยให้รัฐบาลไทยเข้ารกเข้าพงไปเลย เพื่อแก่การทำลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลอย่างที่ นายควง อภัยวงศ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยกระทำต่อทุกรัฐบาลในขณะที่พรรคของตนเป็นฝ่ายตรงข้าม

แต่ก็มีมากคนเห็นว่าการกระทำของท่านปรีดีฯ ในการชี้ช่องทางให้ความแนะนำหรือช่วยเหลือบางประการต่อรัฐบาลไทยนั้น เป็นการกระทำที่ถูกที่ชอบสมกับฐานะของรัฐบุรุษอาวุโสแล้ว เพราะผลของการกระทำของรัฐบาลนั้นราษฎรเป็นผู้เสวยผล ถ้ารัฐบาลทำดีทำถูกราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้ารัฐบาลทำชั่วทำผิดราษฎรก็อยู่ร้อนนอนทุกข์ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความรักและปรารถนาดีต่อราษฎรอย่าง ท่านปรีดีฯ ก็ย่อมเป็นการสมควรแล้วที่จะไม่เพิกเฉยต่อการที่จะรับใช้มวลราษฎร ถึงแม้ว่าจะเป็นการปิดทองหลังพระก็ตาม และยิ่งกว่านั้นในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องท่านปรีดีฯ ขึ้นอยู่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2488 นั้นก็ได้ บ่งชัดว่า “ให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป” และพระบรมราชโองการดังกล่าวก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกระทั่งบัดนี้

เดอะเนชั่น ได้พาดหัวข่าวคำเปิดเผยของนายสำเภา ศิริสัมพันธ์ ว่า

“การขนย้ายผู้ลี้ภัยได้วางแผนเรียบร้อยแล้ว จะมีการขนย้ายวันละ 3 เที่ยวจากอุดร” และแล้วเดอะเนชั่นก็ได้ดำเนินเนื้อข่าวต่อไปว่า

“กลุ่มธุรกิจเอกชนได้พยายามที่จะให้ได้รับอนุญาตในการขนยายผู้ลี้ภัยการเมืองชาวเวียตนาม (ญวนอพยพ) โดยใช้เครื่องบินโบอิง 707 ขนย้ายจากอุดรธานีไปยังฮานอย ได้ประมาณวันละ 400-500 คน”

นายสำเภา ศิริสัมพันธ์ กล่าวเมื่อวานนี้ว่าจะได้จัดซื้อเครื่องบินโบอิงจากบริษัทแพนแอมในราคาลำละ 30 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินงานในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นขนย้ายผู้ลี้ภัยชาวญวน 5 หมื่นคน

ทั้งๆ ที่รองนายกรัฐมนตรี ประภาส จารุเสถียร ได้กล่าวว่า การให้อนุญาตดังกล่าวนี้ยังไม่ได้กำหนดจะให้แก่กลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดก็ตาม แต่นายสำเภาฯ ก็ยังเชื่อมั่นว่าบริษัทการบินของเขาที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ คือบริษัทยูไนเต็ดแอร์ทรานสปอร์ตแอร์ไลน์ จะเป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ขนย้าย

กลุ่มธุรกิจของนายสำเภากำลังรอคอยบันทึกของคณะรัฐมนตรีไทยที่จะส่งไปให้ เจ้าหน้าที่เวียตนามเหนือที่กำหนดจะเปิดประชุมกันในกรุงปารีสในสัปดาห์หน้านี้

ถ้าหากว่ารัฐบาลตกลงให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไปได้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้เปลี่ยนท่าทีใหม่ในการยุติความร่วมมือระหว่างไทยกับอเมริกันในสงครามอินโดจีน และเป็นการยอมรับความตกลงของสภากาชาดของประเทศทั้งสอง

สาส์นติดต่อกับรัฐบาลฮานอย ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ผู้ทำหน้าที่คนกลางในการเจรจาเป็นการส่วนตัวที่ท่านได้แปลออกมานั้น ได้ตั้งข้อสังเกตไว้สองประการ คือ

1. เป็นการเคลื่อนไหว เพื่อยุติความร่วมมืออันไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยที่บำเพ็ญตนเป็นศัตรูกับราษฎรแห่งอินโดจีน

2. เท่ากับเป็นการปฏิบัติตามเนื้อหาในความตกลงแห่งสภากาชาดของประเทศทั้งสอง

นายสำเภาได้ปฏิเสธว่า ข้อสังเกตทั้งสองประการนี้ไม่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขที่จะบังคับรัฐบาลไทย

เชื่อว่าข้อสังเกตทั้งสองประการดังกล่าวนี้เป็นท่าทีของ นายกรัฐมนตรี ฟามวันดง แห่งเวียตนามเหนือ ที่ได้สั่งการต่อ นายโววันซุง เอกอัครรัฐทูตเวียตนามเหนือประจำกรุงปารีสซึ่งได้ทำการเจรจาทางการเมืองกับกลุ่มผู้ได้รับมอบอำนาจฝ่ายไทยคือ นายวิจิตร ลุลิตานนท์และนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้เปิดการเจรจากันเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ศกนี้

นายสำเภา กล่าวว่า รัฐบาลไทยคงไม่ลำบากใจที่จะให้คำตอบรับสนอง เพราะว่ารัฐบาลไทยก็ได้ปล่อยชาวญวนอพยพที่ถูกคุมขังอยู่ทั้งหมดแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้เปิดการเจรจาเพื่อถอนทหารอเมริกันออกจากประเทศไทยด้วย นายสำเภา กล่าวว่า กลุ่มของเขาได้รับอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และการดำเนินการทุกขั้นตอนก็ได้เรียนหารือกับคณะรัฐมนตรีแล้ว

นายสำเภา กล่าวต่อไปว่า ท่านปรีดีฯ ได้ก้าวเข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาครั้งนี้ ท่านได้กระทำไปในฐานะราษฎรไทยคนหนึ่ง ผู้ซึ่งต้องการจะรับใช้ประเทศชาติของตน สำหรับนายวิจิตร ลุลิตานนท์นั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นบุคคลผู้อยู่ใกล้ชิดของนายปรีดีฯ

เดอะเนชั่น ยังรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อีกคอลัมน์หนึ่ง ภายใต้หัวเรื่องว่า ‘ฮานอยกำลังรอคอยคำตอบ’ และดำเนิน เนื้อข่าวต่อไปว่า

เวียดนามเหนือได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อกลุ่มธุรกิจที่เสนอขอขนย้ายชาวญวนอพยพซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี นายสำเภาฯ ได้ยกย่องความสำเร็จครั้งนี้ว่า เป็นผลจากการเจรจาของอดีต นายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ และประกอบกับความเคลื่อนไหวแห่งสันติภาพในอินโดจีน

นายสำเภา กล่าวว่า นายปรีดีฯ ได้รับความเคารพอย่างสูงจากบรรดาเจ้าหน้าที่ของเวียตนามเหนือ เพราะว่าท่านเป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออย่างสำคัญต่อการต่อสู้เพื่อกู้เอกราชของเวียตนาม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

การประชุมครั้งแรกซึ่งเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2516 ท่านปรีดีฯ ผู้ลี้ภัยการเมืองได้เริ่มต้นด้วยการแนะนำกลุ่มผู้เจรจาอันประกอบด้วย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ต่อ นายโววันซุง เอกอัครรัฐทูตเวียตนามเหนือประจำกรุงปารีส โดยท่านกล่าวว่า “นี่คือคนสนิทของข้าพเจ้า ผู้ซึ่งได้ช่วยข้าพเจ้าในการอำนวยความช่วยเหลือต่องานอภิวัฒน์ของชาวเวียดนาม”

นายสำเภา กล่าวว่า กลุ่มของเขานี้ได้รับอนุมัติจาก จอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 16 ให้ทำการติดต่อกับเวียตนามเหนือได้โดยตรง โดยจอมพลประภาสบอกว่า ขอให้ถือว่าการเจรจานี้เป็นการ ‘ส่วนตัว’ และ ‘มิใช่ทางการ’

กลุ่มดังกล่าวได้กราบเรียนให้ ท่านปรีดีฯ ทราบ ท่านจึงได้บอกให้จัดคณะบุคคลขึ้นเพื่อเดินทางไปปารีสในทันที เพราะว่าเป็นระยะเวลาที่ทูตเวียตนามเหนือประจำกรุงปารีส กำลังจะเดินทางไปราชการที่ฮานอย

นายวิจิตรฯ และคณะได้ไปถึงกรุงปารีสเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน และในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง ท่านปรีดีฯ จึงได้โทรศัพท์นัดพบ นายโววันซุง ทูตเวียดนามเหนือที่สถานทูต แต่นายโววันซุง กลับตอบว่า ขอให้เขาไปพบ ท่านปรีดีฯ ที่บ้านพักของท่านดีกว่า ซึ่งนับว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูง

การเจรจาได้เริ่มต้นขึ้นในวันรุ่งขึ้น (10 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. โดยทั้งท่านปรีดีฯ และนายวิจิตร ได้อธิบายให้เอกอัครรัฐทูตเวียตนามเหนือทราบฐานะของท่านว่า ที่เจรจานี้ ก็ในฐานะ ‘เอกชนธรรมดา’

ในการตอบคำถามของท่านทูตเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามอินโดจีนนั้นนายวิจิตรกล่าวว่า ท่านเชื่อว่ารัฐบาลไทยคงจะมีความจริงใจในการผูกมิตรกับประเทศซึ่งมีท่าทีเป็นมิตร

ผลจากการเจรจาในกรุงปารีสทั้งหมดนี้ได้นำเสนอ จอมพลประภาส จารุเสถียร ใน 7 วันต่อมา ในวันที่ 21 มิถุนายน อุปทูตผู้รักษาการแทนเอกอัครรัฐทูตเวียตนามเหนือได้มาพบท่านปรีดีฯ และเรียนให้ทราบถึงผลของการเจรจาระหว่างนายโววันซุงกับ นายกรัฐมนตรีฟามวันดง ที่กรุงฮานอย (ขณะนั้น โววันซุงไปราชการที่ฮานอย)

การประชุมครั้งหลังสุดระหว่างท่านปรีดีฯ กับเอกอัครรัฐทูตโววันซุงได้จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ศกนี้ โดยท่านทูตได้แจ้งให้ท่านปรีดี ทราบว่า ท่านทูตได้ไปพบนายกรัฐมนตรีฟามวันดง ก่อนหน้าที่จะกลับกรุงปารีสและได้รับการยืนยันว่า ทางรัฐบาลฮานอยตกลงตามข้อเสนอที่ได้เจรจากัน ในวันรุ่งขึ้นท่านปรีดีฯ ก็ได้แจ้งให้ นายวิจิตร และคณะทราบว่าท่านเห็นว่า “เพื่อมรรยาททางการทูตขอให้รัฐบาลไทยตอบตกลงไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ทำนองเดียวกับที่เวียตนามเหนือได้ตอบสนองมา

ที่มา : สุพจน์ ด่านตระกูล. (2545). คุยกับท่านปรีดี. ปรีดีสาร, 2545(มกราคม), 77-99.

หมายเหตุ : 

  • คำสะกดดังที่ปรากฏในบทความให้คงตามเอกสารต้นฉบับ