ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ผมอยากจะชวนทุกท่านช่วยกันยืนอยู่บนสถานการณ์ปัจจุบัน 10 ธันวาคม 2567 กลไกรัฐธรรมนูญหลาย ๆ อย่าง มันเปลี่ยนไปตามอายุของมันแล้วยังเหลืออะไรที่น่ากลัวบ้าง ทางข้างหน้าถ้าไม่ได้แก้ ไม่ได้เขียนใหม่ อะไรมันจะทำร้ายประชาธิปไตยและประชาชนอีก และมันมีทางเลือกอะไรบ้างที่เราจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งธงชัยอันยังไม่เกิดขึ้นและเฉพาะหน้านาทีนี้ 2-5 เดือนข้างหน้านี้ อยากขอเรียนเชิญคุณจีรนุช เปรมชัยพร คนแรกครับผม
จีรนุช เปรมชัยพร :
ก่อนอื่นขอสวัสดีพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุก ๆ ท่าน คาดว่าทุกท่านที่อยู่ในที่นี้น่าจะเป็นผู้รักประชาธิปไตยถ้าไม่รักประชาธิปไตยไม่มาอยู่ด้วยกันตรงนี้แน่ ๆ แล้วก็ขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ที่ให้โอกาสได้มาพูดถึงความสำคัญหรือเราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ได้อย่างไรในวันนี้ ยิ่งชีพบอกไม่ให้ย้อนอดีต
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
นิดนึงก็ได้ครับ
จีรนุช เปรมชัยพร:
เห็นไหมนี่มันเป็นเรื่องการต่อรอง มันไม่มีอะไร Absolute อยู่แล้ว เมื่อสักครู่ อาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจพูดถึงเกาหลีใต้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราคงได้ Inspiration ได้แรงบันดาลใจ ได้ความรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญหยุดรัฐประหารได้ ออกแบบดี ๆ เขียนดี ๆ มันก็สะกัดกั้นการรัฐประหารได้ คือมันทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่ารัฐธรรมนูญมันสามารถเป็น instrument ในเรื่องการออกแบบการปกครองที่มีความหมายแบบนั้นได้ คำถามถัดมาคือว่าประเทศไทยต่างอะไรกับเกาหลีใต้ ทำไมเราถึงยังทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ทำไมเราถึงยังมีรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า คือดิฉันไม่บอกนะคะว่าประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้ต่างกันตรงไหนให้แต่ละท่านลองเปรียบเทียบกันเองว่าข้อแตกต่าง แต่ข้อหนึ่งดิฉันเชื่อว่าเราไม่ต่างกันก็คือการมีจิตใจนักสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน คือประชาชนไทยหรือพลเมืองไทย อดทนและก็อึดทนอย่างมากกับการพยายามจะอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สู้กับประชาธิปไตยครึ่งใบ ตอนนี้เหลือเสี้ยวใบแล้วหรือป่าวก็ไม่ทราบ คือเราอยู่กับการต่อสู้แบบนี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นองค์ประกอบอื่นระหว่างเกาหลีใต้กับไทยอะไรแตกต่างบ้าง แต่ละท่านลองไปคำนวณเอาเองนะคะ ส่วนเรื่องของประชาชน ประชาชนไทยไม่น้อยหน้าประชาชนเกาหลีใต้แน่ ๆ
ที่บอกยิ่งชีพว่าขอย้อนอดีตนิดนึง คือเวลาเราพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ เรามักจะพูดถึงคนที่เป็นนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ทางด้านกฎหมายที่จะทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น แต่ว่า จริง ๆ แล้วถ้าเรามองย้อนนะคะ บทเรียนการต่อสู้เรียกร้องจนได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 ฉบับ มาจากการเรียกร้องและการต่อสู้ของประชาชนก็คือ 2540 นี้เราพูดกันบ่อย ๆ อยู่แล้วว่า 2540 รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประชาชนมีส่วนในการเรียกร้องอย่างไร ประชาชนมีส่วนในการผลักดันให้รัฐธรรมนูญผ่านได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้คุณนิกรคงเล่าได้ดีว่าช่วงเวลาแบบนั้นถ้าไม่มีเสียงของประชาชนลุกขึ้นมายืนยันว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริง ๆ สภาก็อาจจะทำแท้งไปแล้วก็ได้ อาจจะไม่ได้ผ่านออกมา
แต่อันนึงที่เรามักจะไม่ได้พูดถึงกันก็คือ รัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ต้องบอกว่า เป็นการออกแบบที่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยความเห็นส่วนตัวและนักวิชาการหลายท่านก็บอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับนึงของประเทศไทย คำถามคือรัฐธรรมนูญ 2517 เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าทุกคนดูบริบทในทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ 2517 ไม่ได้ลอยมาจากอากาศ ไม่ได้มีนักวิชาการ ไม่ได้มีนักนิติศาสตร์หรือนักปกครองใด ๆ ที่รู้สึกว่าประเทศนี้ควรจะศิวิไลซ์ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่มันเริ่ดและเป็นประชาธิปไตยสูงสุด จริง ๆ แล้วรัฐธรรมนูญ 17 มันก็มาจากการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในปี 2516 การต่อสู้ที่นำไปสู่การล้มเผด็จการถนอม กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร แต่จริง ๆ มันมาจากการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ
การต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นเหล่านั้นจนในที่สุด เมื่อเผด็จการทหารออกไปแล้ว ก็เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและเราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่น่าเสียดายว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมักจะอยู่กับสังคมไทยได้ไม่นาน มันก็ถูกรัฐประหารไป คิดว่าเป็นเรื่องของ 2517 ส่วนปี 2540 ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ 2538-2539 แล้วเราจะได้มา มันก็มีที่มาที่ไป ก็คือ รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นผลสืบเนื่องมาจาก พฤษภาเลือด หรือพฤษภาโหด ของปี 2535 ที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการมีนายกรัฐมนตรีคนนอก แล้วก็ไม่อนุญาตให้ สุจินดา คราประยูร ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีและหลังจากนั้นก็ทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นกลางในประเทศไทย แล้วมันก็นำมาสู่การค่อย ๆ มันไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ปี 2535 แล้วเราได้รัฐธรรมนูญจริง ๆ มันมีพัฒนาการแต่ว่าสังคมไทยมีโอกาสที่จะได้มีพัฒนาการของประชาธิปไตยจนก่อรูปก่อร่างเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เราภาคภูมิใจได้ ฉบับที่เราบอกได้ว่า เป็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเสี้ยวใบไม่ใช่ Hybrid ใด ๆ ทั้งสิ้น เราคิดว่านี้เป็นคุณูปการของการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญโดยประชาชนมีส่วนร่วมแล้วเราคิดว่านี้เป็นหัวใจสำคัญ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแต่มันมีบริบททางสังคม การเมือง ที่มาประกอบกันจนทำให้เราสามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้มากน้อยแค่ไหน
อันนี้เราพูดถึง 2 ฉบับที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับตัวเองยังยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทั้ง 2 ฉบับเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ฉบับที่มี สิ่งที่น่าสนใจเมื่อเราลองไปรีวิวดูรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับที่มีจริง ๆ
สำหรับเราหลาย ๆ คนถามว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญคืออะไร รัฐธรรมนูญคือระเบียบการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญคืออะไร รัฐธรรมนูญคือเครื่องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดิฉันคิดว่าอีกอันนึงที่สำคัญที่รัฐธรรมนูญทำหน้าที่ก็คือ รัฐธรรมนูญคือพื้นที่ของการต่อรองประนีประนอมอำนาจให้อยู่กันในกติกาที่เป็นประชาธิปไตยพอจะรับกันได้ในสังคมนั้น ๆ และถ้าลองย้อนดู ดิฉันดูแค่มาตราเดียวที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย คำนี้นี่อ่านทีไรก็ขนลุก แบบเห้ยอำนาจมันของเรามันเป็นของเรา เขาให้อำนาจเราในการปกครอง เพราะประชาธิปไตยมันคือการปกครองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ
แต่ถ้าเราลองไล่ดูรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ แบบเร็ว ๆ สิ่งที่น่าสนใจคือว่าเราเห็นการต่อรองดึงกันไปดึงกันมา ระหว่างประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการพยายามกินรวบอำนาจดูคำดูถ้อยคำของปี รัฐธรรมนูญของปีหลังคณะราษฎรเลย สิ่งที่คณะราษฎรเขียนถึงก็คือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย อันนี้คือเมื่อมิถุนายน 2475 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย เป็นครั้งแรกครั้งเดียวและฉบับเดียวที่มีการใช้คำแบบนี้ คือการยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร หลังจากนั้นเราจึงถูกใช้คำทางเทคนิคว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยมาจากปวงชนชาวสยามอะไรแบบนี้เพิ่มขึ้นมา ดิฉันก็สงสัยว่าคำว่า อำนาจสูงสุด มันไม่ดีอย่างไรหรอ นักกฎหมายเลยต้องไปเปลี่ยนเป็นอำนาจอธิปไตยหรือว่าในทางการอธิบายมันจะอธิบายความได้มากกว่าแต่ถ้าตีความง่าย ๆ อย่างนักสื่อสาร คืออำนาจสูงสุดมันเข้าใจง่ายเกินไปแล้วประชาชนจะเหลิงคิดว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดมากเกินไป
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ตีความเอาเองว่าประชาชนจะเหลิง ซึ่งจริง ๆ อาจจะไม่เหลิงก็ได้
จีรนุช เปรมชัยพร :
มันหมายถึงการบัญญัติศัพท์ที่ประชาชนเข้าใจได้ ถามว่าถ้าประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่ในระบอบการปกครองไม่ได้เรียนเรื่องอะไรทั้งหลาย พูดคำว่า อำนาจอธิปไตย อธิปไตยอะไรมันแปลว่าอะไรแต่แค่พูดว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรมันรู้เลยมันเข้าใจง่ายและมันปักธงไปเลยว่าอำนาจเป็นของฉัน แล้วที่เหนือไปกว่านั้นคือ หลังจาก ฉบับมิถุนายน 2475 หลังจากนั้นมันยังมีการเขียนสิ่งต่าง ๆ มันไม่ใช่มาตรา 1 อีกต่อไป มิถุนายน 2745 อันนี้เป็นมาตรา 1 หลังจากนั้นมันถูกร่นไปเป็นมาตรา 2 โดยมีมาตรา 1 คือ เป็นรัฐ 1 เดียวจะแบ่งแยกมิได้แล้วก็ตามมาด้วยมาตรา 3 เรื่องของปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้อยคำมันก็จะประมาณนี้ เริ่มมาองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มาเบียดขับอำนาจประชาชน คือ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างจำลองให้เห็น แต่ถ้าเราลองไล่ดูพัฒนาการของรัฐธรรมนูญของแต่ละฉบับ ฉบับที่มาจากคณะรัฐประหารเราก็จะพบว่า เมื่อประชาชนได้อำนาจบางอย่างคืนมาไม่ว่าจะสภาเดียวสภาคู่ เสร็จแล้วก็จะเกิดการยึดอำนาจกลับไปผ่านการทำรัฐประหารเป็นแบบนี้โดยต่อเนื่องนับจาก 2475 มาจนถึง 2489 แต่ว่าประมาณ 80 ปี ที่เราถูกอยู่ภายในวังวนของการถูกยื้อดึงอำนาจของประชาชนออกไปจากกติกาการปกครองเป็นแบบนี้เสมอมา
ถ้าไล่มาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อำนาจแบบนี้มันถูกเกิดขึ้นมาโดยตลอด และฉบับปัจจุบันก็ต้องบอกว่า มันเป็นการเบียดขับประชาชนไปเป็นนิ้วก้อยของรัฐธรรมนูญคือแทบจะไม่มีอำนาจ นิ้วก้อยนี้คือมีแรงน้อยที่สุด เป็นนิ้วก้อยของรัฐธรรมนูญแทบจะไม่มีอำนาจอะไรเหลือในรัฐธรรมนูญนั้นที่กำหนดให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตนเองตราบเท่าที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย ทีนี้ถ้าเรามาลองดูผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญกับสถานการณ์ประชาธิปไตยถ้าเราลองดูสังคมไทยลองดูกันใน 4 ประเด็นแล้วลองดูว่ามันมีฝั่งซ้าย ที่เป็น Spectrum ของฝั่งประชาชน ฝั่งขวาเป็นฝั่งของขุนศึกศักดินา มี 4 ประเด็นนี้
ประเด็นแรก คืออำนาจอธิปไตยเป็นของใคร โดยหลักประชาธิปไตยเป็นของประชาชนใช่ไหม แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ขุนศึก ศักดินาดูมีอำนาจมากกว่าโดยเฉพาะผ่านกลไกที่เรียกว่าสิ่งประกอบสร้าง ดิฉันเรียกว่าสิ่งประกอบสร้าง เพราะมันสามารถหายไปได้ ก็คือองค์กรอิสระทั้งหลาย เป็นสิ่งประกอบสร้างที่มาทำหน้าที่เป็นขุนศึกศักดินาในการถ่วงดุลอำนาจประชาชน ดึงอำนาจประชาชน ไป
ประเด็นที่สอง คือประเด็นเรื่องสถานะของพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร อันนึงคือเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ปรากฎตาม 2560 อย่างที่หลายคนเคยได้ตามเรื่องรายละเอียดอยู่แล้ว สถานะของพระมหากษัตริย์รัฐธรรมนูญ 2560 อาจกล่าวได้ว่ามีสถานะที่เป็นอิสระจากรัฐธรรมนูญ ก็คือไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 3 คือเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยหลักประชาธิปไตยก็คือ Rule of Law หรือนิติรัฐ ก็คือว่าบุคคลเสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายแต่อีกด้านนึงก็คือจะเป็นนิติรัฐอภิสิทธิ์ ก็คือมีอภิสิทธิ์ชน
ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องของระบบเศรษฐกิจ เป็นตลาดเสรีทั่วไปหรือเป็นสังคมนิยมก็แล้วแต่ หรืออีกอันนึงคือทุนนิยมที่เป็นช่วงชั้นหรือเป็นทุนนิยมที่มีการผูกขาดมีอำนาจชนชั้นนำมาเกี่ยวข้องคือสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามองดูเร็ว ๆ ดิฉันคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 พาเราไปอยู่ฝั่งขวาฝั่งที่อำนาจของประชาชนถูกทำให้น้อยลงมาก
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราจำเป็นที่จะต้องเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ใหม่ ต้องรื้อทิ้ง เราพยายามรื้อกันมา ขอพูดประเด็นสุดท้ายเรื่องบทบาทของภาคประชาชน เราพยายามรื้อกันมา ไม่พูดถึงตอนประชามติว่าเราพยายามจะไม่รับ แต่พอเรารับมาแล้ว เรามีโอกาสผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2563 แม้ว่าคนเลือกตั้งมา จะเป็นอำนาจที่สืบเนื่องมาจาก คสช. ก็ตาม โอเคเราก็เป็นประชาชนผู้ คือเราเคารพกติกามาก ในประสบการณ์ของเรา ประชาชนไทยเป็นผู้เคารพกติกาอย่างยิ่ง เรามีกติกาในกฎหมายอะไรที่เราใช้ได้เราก็ใช้สิทธิตามกฎหมายนั้น เพราะฉะนั้นเราก็เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่ปี 2563 และก็เป็นประวัติกาลครั้งแรกที่การเข้าชื่อได้รายชื่อมากกว่า 1 แสนรายชื่อ แล้วเราก็ถูกปัดตก ดิฉันกับคุณยิ่งชีพก็ไปนำเสนอในสภาแล้วก็ถูกปัดตกอย่างไม่ใยดี อันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของรอบใหม่ของการต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ อย่างที่คุณยิ่งชีพได้เกริ่นไว้ในวิดีโอว่า มันมีอีกหลายฉบับที่เสนอไป ไม่ว่าจะเป็นฉบับ Resolution ฉบับเรื่องของปลดอำนาจท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญก็ไม่ผ่านเลย ซึ่งเราแก้รัฐธรรมนูญได้แค่มาตราเดียวซึ่งเป็นมาตราเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และอันนั้นเป็นมาตราที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม หลังจากนั้นในนามเครือข่ายภาคประชาชนตอนนี้ก็ถือว่าแข่งขันกันมาก ก็พยายามจะสู้หลายแบบก็คือสู้เรื่องของการที่เราจะเอารัฐธรรมนูญ แล้วรัฐบาลบอกเราแบบไหนว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญ เราก็ทำตามเกมนั้นมาตลอด เช่นเขาบอกว่าเขาจะทำประชามติ 3 ครั้ง เราก็เสนอคำถามประชามติที่เราคิดว่ามันเข้าท่ากว่าและไม่สร้างปมขัดแย้ง ซึ่งก็ได้รายชื่ออีก 2 แสนกว่ารายชื่อของคนเสนอชื่อประชามติ จนตอนนี้ผ่านไปปีกว่าแล้วประชามติที่ 1 ยังไม่เกิดขึ้น
ตอนนี้มาถึงคำถามว่า รัฐธรรมนูญเราจะได้ก่อนปี 2570 ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ไหม คุณนิกร จำนง ส่ายหัวไม่ได้แน่ ๆ ดิฉันมาด้วยความหวัง และดิฉันเชื่อว่าประชาชนมีความหวัง และเรายังหวังว่า ถ้าเรายังเดินทางด้วยของการไปประชามติ 2 ครั้ง ดิฉันเชื่อว่าเรายังไปได้แล้วก็ยังสามารถที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทัน ในรอบที่ประชาชนจะตัดสินอนาคตในคูหาเลือกตั้งในปี 2570 ครั้งต่อไป ยืนยันว่า ไม่ใช่ด้วยความเชื่อแต่ด้วยการศึกษาข้อมูลมาแล้ว ดูตัวกฎหมาย ดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วดูคำวินิจส่วนตนของผู้พิพากษาแล้ว เราก็พบว่าไม่มีข้อห้ามใด ๆ เลยไม่มีการเขียนไว้ใด ๆ ว่าคำว่า “เสียก่อน” การทำประชามติเสียก่อนมันหมายถึงเสียก่อนที่จะมีการผ่านการแก้ 256 เพราะฉะนั้นจึงหมายถึง 2 ครั้งก็เพียงพอ เรามี Political view ในการแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจริง ๆ นะคะ ทำประชามติ 2 ครั้งค่ะ แล้วเราจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ทันใช้ก่อนการเลือกตั้ง ขอบคุณค่ะ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ขอบคุณครับขอคุณจีรนุช ขยายนิดนึง เราทำงานด้วยกันผมเข้าใจอยู่แล้วพอสมควรแต่ว่าเผื่อหลายท่านตามไม่ทัน แปลว่าวันนี้ต้องทำอะไรครับ
จีรนุช เปรมชัยพร :
วันนี้ทางรัฐสภาต้องเสนอแก้ไขมาตรา 256 15 (1) ซึ่งจริง ๆ มันมีการเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลตอนนั้น ทางชาติไทยพัฒนาก็เสนอของ ครม. ซึ่งตอนนี้จริง ๆ มีร่างที่รออยู่ซึ่งประธานรัฐสภาก็กังวลว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมองว่าผิดไหม ซึ่งทางคุณพริษฐ์จะได้ขยายความเนื่องจากไปคุยกับประธานศาลรัฐธรรมนูญมา ผิดไม่ผิดอย่างไร โดยการศึกษาข้อกฎหมายที่ทางภาคประชาชนศึกษากันเราก็เห็นว่า 2 ครั้งเพียงพอไม่จำเป็นที่จะต้องมีประชามติครั้งที่ 0
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ครับ ขอบคุณครับ ก็คือว่าการทำประชามติ 2 ครั้งนั้นแปลว่าวันนี้เราควรเริ่มจากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมและจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเลย
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM
ที่มา : PRIDI Talks #28 x PBIC ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอังคาร 10 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์