ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

วันขึ้นปีใหม่ : วันเริ่มต้นปีงบประมาณในอดีต

13
เมษายน
2565

นัยสำคัญของการเปลี่ยนวันและเวลา

ในอดีตที่ผ่านมา “วันที่ 13 เมษายน” นั้น มีสถานะเป็น “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งเป็น “วันปีใหม่ไทย” และประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งในอุษาคเนย์ ศรีลังกา และอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยถือเอาวันพระอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช และเริ่มต้นใช้กาลโยคประจำปีใหม่ ซึ่งมีนัยสำคัญเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรของปีใหม่ในทางโหราศาสตร์ ซึ่งโหรจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณให้แน่ชัด[1] 

อย่างไรก็ดี นัยของวันปีใหม่ในลักษณะดังกล่าว ยังไม่ค่อยมีบทบาทหรือความสำคัญกับประชาชนมากทั่วไปเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้ามเมื่อประชาชนอยากจะรู้ว่า ขึ้นต้นปีใหม่แล้วหรือไม่ ก็จำเป็นที่จะต้องติดตามประกาศของทางราชการ

นัยสำคัญของวันปีใหม่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูประบบราชการและได้มีการนำระบบปฏิทินเข้ามาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีนัยสำคัญและส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในราชอาณาจักรสยามเป็นอย่างมาก

“ระบบปฏิทินใหม่” ที่นำเข้ามาใช้อาศัยวิธีการคำนวณแบบสุริยคติแทนการคำนวณวันแบบจันทรคติ พร้อมๆ กับทรงยกเลิกการใช้จุลศักราชและเปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทร์ศกแทน[2] โดยทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่แทนโดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันเริ่มต้นปีของราชการ และวันเริ่มต้นปีทางบัญชีของราชการ แต่การนับวันตามพระราชพิธียังคงใช้วิธีการคำนวณวันตามปฏิทินจันทรคติ[3]

ความสำคัญของการเปลี่ยนให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันเริ่มต้นปีของราชการนั้น มีความสำคัญในเชิงงบประมาณ เพราะเป็นการกำหนดให้ราชการตลอดทั้งราชอาณาจักรเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องจัดทำงบประมาณเสนอต่อเสนาบดีเพื่อขอพระบรมราชานุญาต โดยงบประมาณรายจ่ายนั้นจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม และเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน[4]

วันที่ 1 เมษายนถูกใช้เป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณต่อไปเรื่อยๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และแม้ในเวลาต่อมาประเทศมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลคณะราษฎรที่เข้ามา บริหารประเทศในเวลานั้นก็ยังคงยึดการใช้ วันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ[5]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับการเปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณ

ความสำคัญของวันที่ 1 เมษายนในฐานะของวันเริ่มต้นปีงบประมาณได้มาสิ้นสุดลง ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2481 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2481 โดยพระราชบัญญัตินี้ได้มีการเสนอให้ ปรับเปลี่ยนปีงบประมาณ ซึ่งเดิมเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เมษายนและสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมของอีกปีหนึ่ง มาเป็นเริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายนของอีกปีหนึ่ง

เหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนปีงบประมาณนี้มีเหตุผลเนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า จะกําหนดปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล

‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น ได้มีการชี้แจงเหตุผลต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “ในการที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พิจารณาโดยด่วนนั้น ข้าพเจ้าต้องขออภัยเสียก่อนว่า ในการที่ให้ท่านสมาชิกทั้งหลายได้พิจารณาโดยด่วน ก็เพราะเหตุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ดำเนินตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ กล่าวคือว่า รัฐบาลได้แถลงไว้ว่า รัฐบาลจะได้เปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ให้ถูกต้องตามฤดูกาล และจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะขอให้สภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยแต่เพียงในวาระที่ 1 คือว่า จะควรรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น ส่วนรายการละเอียดนั้น ถ้าหากว่าสภาฯ ได้รับหลักการแล้ว ก็จะได้ขอให้ตั้งกรรมาธิการไปพิจารณา...

…หลักการแห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณนั้น ก็มีอยู่ว่าเพื่อเปลี่ยนปีงบประมาณ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร และการที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ โดยจะได้เริ่มตั้งแต่ในเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง และไปหมดในวันที่ 30 กันยายนของอีกปีหนึ่งนั้น ทั้งนี้ ก็โดยคำนึงถึงดินฟ้าอากาศของประเทศสยาม”[6]

ในส่วนของเหตุผลในการเปลี่ยนปีงบประมาณนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงวันเริ่มต้นปีงบประมาณเป็นไปด้วยเหตุผลเรื่องดินฟ้าอากาศเป็นหลัก โดยยกเหตุผลสนับสนุนดังนี้

(1) งานก่อสร้างต่างๆ จะทำได้ในฤดูแล้ง คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนมิถุนายน ถ้าปีงบประมาณเริ่มในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ก็จะต้องคอยห่วงเรื่องงบประมาณตลอดช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม

(2) เดือนเมษายนเป็นเดือนที่หยุดราชการ ดังนั้น กว่าที่จังหวัดต่าง ๆ จะได้รับงบประมาณก็เลยไปถึงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนที่เริ่มฤดูฝนแล้ว ทำให้ทำงานต่าง ๆ ได้ลำบาก และ

(3) เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก ดังนั้น จึงควรรอให้เสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวก่อน เพื่อให้รัฐบาลสามารถคำนวณรายได้จากการเก็บภาษีได้ดีขึ้น[7]

ดังจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนปีงบประมาณดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ปีงบประมาณของประเทศสอดคล้องกับการใช้จ่ายและแนวทางในการพัฒนาประเทศที่มีลักษณะเป็นประเทศเกษตรกรรมและงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่หากไปทำในช่วงหลังเมษายนและเข้าหน้าฝน การก่อสร้างอาจจะติดขัด โดยการเริ่มต้นใช้ระยะเวลาปีงบประมาณใหม่นี้ได้เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482

การประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่ และการปรับปีงบประมาณอีกครั้ง

การปรับมาใช้วันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณเป็นการปรับเปลี่ยนระยะเวลาปีงบประมาณที่มีเหตุมีผลและพิจารณาถึงความเหมาะสมของประเทศ  ทว่า การใช้ระยะเวลาปีงบประมาณตามแบบใหม่นี้ก็อยู่ได้ไม่นานราวๆ เพียงแค่ปีเศษ ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาปีงบประมาณใหม่อีกครั้งหนึ่ง สาเหตุก็มาจากการปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทย

รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีดำริที่จะเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในช่วงปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความสอดคล้องเป็นสากลมากขึ้น โดยพยายามเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ให้สอดคล้องกันกับประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรป และประเทศตะวันตกอื่นๆ ซึ่งนิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

รัฐบาลได้ให้เหตุผลว่าการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น ไม่ยึดโยงกับความเชื่อหรือแนวคิดทางศาสนาใด แตกต่างจากวันขึ้นปีใหม่ตามขนบไทยเดิมที่ยึดโยงอยู่กับความเชื่อของศาสนาพุทธและพราหมณ์ เพื่อให้ประเทศมีวันขึ้นปีใหม่ที่สอดคล้องกันกับสากล รัฐบาลจึงได้มีการประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่[8]

ผลของการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ของไทย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาปีงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับปีปฏิทิน โดยการตราพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2483 โดยกำหนดให้ปีงบประมาณเริ่มต้นที่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมของปีถัดไป  อย่างไรก็ดี ในรายงานการประชุมไม่ได้ระบุเหตุผลได้ว่าทำไมถึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับปีปฏิทิน[9]

การปรับปีงบประมาณกลับมาที่ 1 ตุลาคมอีกครั้งหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณที่เริ่มต้น ในเดือนมกราคมนี้ถูกใช้อยู่กว่า 20 ปี จนมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2502 โดยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้กำหนดให้ปีงบประมาณเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไปทั้งนี้ ปีงบประมาณที่เริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ เริ่มใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2505 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2504 เป็นต้นมา[10] จนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฉบับปี พ.ศ. 2502 ได้ถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ก็ตาม

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการกลับมาใช้ปีงบประมาณตามเริ่มต้นที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุด 30 กันยายนของปีถัดไปก็เนื่องมาจากเหตุผลในลักษณะเดียวกันกับที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเคยให้เอาไว้ในการประชุมยกร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งอดีต การเปลี่ยนปีงบประมาณในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันเนื่องจากระยะเวลาในการจัดทำงบประมาณที่อาจจะเกิดความล่าช้าซึ่งทำให้งบประมาณนั้นไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีประกอบกับช่วงระยะเวลาที่งบประมาณนั้นอาจจะถูกใช้ก็อาจจะเข้าสู่ช่วงหน้าฝนซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการก่อสร้าง แม้ปีงบประมาณตามกฎหมายเดิม จะสอดคล้องกับสากล แต่ก็อาจจะไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยซึ่งฤดูกาลมีส่วนสำคัญ จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง[11]

กล่าวโดยสรุป การเริ่มต้นปีงบประมาณนั้นแต่เดิมพยายามให้มีความสอดคล้องกับการเริ่มต้นปีปฏิทิน โดยส่วนมากจะใช้วันที่ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นวันปีใหม่ไทยแต่เดิม ในเวลาต่อมาก็ได้มีความพยายามปรับเปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณให้มีความเหมาะสมกับประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของฤดูกาลซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ระยะเวลาในลักษณะดังกล่าวเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกันในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยเจตนารมณ์ก็อาจจะเป็นไปเพื่อให้มีความสอดคล้องกับความเป็นสากล แต่ในที่สุดแล้วสภาพดังกล่าวก็อาจจะไม่เหมาะสมกับประเทศไทยซึ่งมีเงื่อนไขด้านภูมิศาสตร์ฤดูกาลที่แตกต่าง ดังนั้น วันเริ่มต้นปีงบประมาณจึงกลับมาอยู่ที่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งยึดถือเช่นนั้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 จนถึงปัจจุบัน

 


[1] สมบัติ พลายน้อย, ‘สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย.เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง’ (ศิลปวัฒนธรรม, 13 เมษายน 2564) https://www.silpa-mag.com/history/article_31026 สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.

[2] ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนจากการใช้รัตนโกสินทร์ศกมาเป็นพุทธศักราชแทน.

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘การจัดทำงบประมาณครั้งแรก ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 28 มีนาคม 2564) https://pridi.or.th/th/content/2021/03/651 สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.

[5] พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พุทธศักราช 2476 มาตรา 9.

[6] วรพงษ์ แพรม่วง, ‘ปีงบประมาณของไทย’ (หอสมุดรัฐสภา, ตุลาคม 2563) https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2563-oct1 สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2565.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ประกาศมา ณ วันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2483).

[9] สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พุทธศักราช 2483, 32-33.

[10] วรพงษ์ แพรม่วง (เชิงอรรถ 6).

[11] สภานิติบัญญัติ, รายงานประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ครั้งที่ 38/วันที่ 15 ตุลาคม 2502, 1491 – 1493.