Focus
- บทความชิ้นนี้เสนอพัฒนาการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2566 ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า อบจ. เริ่มจากกำเนิดที่เกิดมาพร้อมกับประชาธิปไตยไทย เป็นผลผลิตของคณะราษฎรในปี 2476 ก่อนที่จะถูกระบอบอำนาจนิยมดัดแปลงเปลี่ยนรูปลดคุณค่าให้เหลือเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยมไทยด้วยกระบวนการปิดล้อม อบจ. ด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Democratic enclaves in authoritarian regime)
- กระบวนการปิดล้อม อบจ. ได้แด่ กระบวนการ “หนึ่งนคราสองระบอบ” (Regime Juxtaposition) คือการทำให้อำนาจเหนือเขตพื้นที่ปกครองเดียวกันมีหลายระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ที่มีทั้งประชาธิปไตยและอำนาจนิยมจากนั้นก็ทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นอ่อนกำลังโดยการทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี ความต่อเนื่อง แล้วตามด้วยยุทธวิธีแสร้งทำให้ อบจ. ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย (Seemingly democratic institutions) แล้วค่อย ๆ สถาปนาระบอบภูมิภาคนิยม (Subnational Authoritarian) เพื่อกลืนให้ อบจ. กลายเป็นแขนขามือไม้ของระบอบอำนาจนิยมภายใต้มายาภาพว่าเป็นประชาธิปไตย
- ขณะฝ่ายอำนาจนิยมใช้ยุทธวิธีแสร้งทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย (Seemingly democratic institutions) แล้วค่อย ๆ สถาปนาระบอบภูมิภาคนิยม (Subnational Authoritarian) เพื่อกลืนให้ อบจ. กลายเป็นแขนขามือไม้ของระบอบอำนาจนิยมภายใต้มายาภาพว่าเป็นประชาธิปไตย
บทความนี้พยายามที่จะเข้าใจพัฒนาการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากกำเนิดที่เกิดมาพร้อมกับประชาธิปไตยไทย เป็นผลผลิตของคณะราษฎรในปี 2476 ก่อนที่จะถูกระบอบอำนาจนิยมดัดแปลงเปลี่ยนรูปลดคุณค่าให้เหลือเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยมไทยด้วยกระบวนการปิดล้อม อบจ. ด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Democratic enclaves in authoritarian regime) ซึ่งเริ่มต้นด้วยกระบวนการ “หนึ่งนคราสองระบอบ” (Regime Juxtaposition) คือการทำให้อำนาจเหนือเขตพื้นที่ปกครองเดียวกันมีหลายระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน (มีทั้งประชาธิปไตยและอำนาจนิยม) จากนั้นก็ทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นอ่อนกำลังโดยการทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี ความต่อเนื่อง แล้วตามด้วยยุทธวิธีแสร้งทำให้ อบจ. ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย (Seemingly democratic institutions) แล้วค่อย ๆ สถาปนาระบอบภูมิภาคนิยม (Subnational Authoritarian) เพื่อกลืนให้ อบจ. กลายเป็นแขนขามือไม้ของระบอบอำนาจนิยมภายใต้มายาภาพว่าเป็นประชาธิปไตย
1. อบจ. : การให้กำเนิดที่ตั้งใจให้เป็นองค์กรตรวจสอบหน่วยงานรัฐในจังหวัด
เมื่อกล่าวถึงกำเนิดการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทยผู้เขียนขอแบ่งรูปแบบการปกครองท้องถิ่นออกเป็นการปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ (local state government) และ
การปกครองตนเอง (local self-government)[2] และหากเราเริ่มหมุดหมายที่ปี 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยได้ก่อกำเนิดรูปแบบการปกครองท้องถิ่น 2 รูปแบบขึ้นพร้อมกันหนึ่ง การปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ (local State government) ในรูปของราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดและอำเภอพร้อมกันนั้นได้ให้กำเนิดการปกครองตนเอง (local self-government) ในรูปของราชการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยทั้ง 2 รูปแบบนี้ถือกำเนิดขึ้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476[3]
เมื่อกล่าวถึงการปกครองตนเอง นอกจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 แล้ว กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เราต้องพิจารณาคือ พ.ร.บ. จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476[4] กฎหมายฉบับนี้ได้ให้กำเนิดองค์กรปกครองตนเอง 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1) เทศบาล 2) สหเทศบาล[5] และ 3) สภาจังหวัด หากพิจารณากำเนิดตามกฎหมายนั้นทั้ง 3 รูปแบบมีกำเนิดพร้อมกัน แต่หากพิจารณาจากการประกาศจัดตั้งแล้ว กล่าวได้ว่าสภาจังหวัดถือกำเนิดเป็นการปกครองตนเองรูปแบบแรกของไทย โดยการแต่งตั้งสมาชิกสภาจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นผู้เริ่มการมีวาระ 1 ปีตามกฎหมายนั้น ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2477 แต่งตั้งสมาชิกสภาจังหวัดจำนวน 61 จังหวัด และมีประกาศอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2477 แต่งตั้งเพิ่มอีก 9 จังหวัด และสภาจังหวัดต่าง ๆ ได้เปิดประชุมเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478 เว้นแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งเปิดประชุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 จะเห็นว่าการแต่งตั้งสมาชิกสภาจังหวัดเกิดขึ้นก่อนมีการประกาศจัดตั้งเทศบาลแห่งแรกของประเทศไทยคือเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมี พ.ร.บ. จัดตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2478 หลังจากมีการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาจังหวัดไปแล้วจากลำดับเวลาดังกล่าวถึงกล่าวได้ว่าสภาจังหวัดมีกำเนิดก่อนเทศบาล
การจัดตั้งสภาจังหวัดสมัยที่ 1 ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งประเภทเดียว โดยกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเลือกสรรผู้ที่สมควรจะเป็น สจ. โดยมีหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 13/1764 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 โดยให้จังหวัดพิจารณาจากบุคคลดังต่อไปนี้ คือ กรรมการสุขาภิบาล กรมการพิเศษ และผู้ช่วยเหลือในการปราบกบฏ เมื่อเห็นสมควรจะให้ผู้ใดเป็นสมาชิกสภาจังหวัดก็ให้เสนอนามไปยังกระทรวงมหาดไทยภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2477 แต่มีหลายจังหวัดรายงานว่าไม่มีบุคคลทั้ง 3 ประเภทเพียงพอที่จะตั้งเป็น สจ. กระทรวงมหาดไทยจึงสั่งการให้ทุกจังหวัดในหนังสือที่ 81/6108 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 ให้เลือกบุคคลอื่นที่เห็นควรและให้เป็นประโยชน์แก่การเทศบาลแล้วเสนอนามไปยังกระทรวงมหาดไทยโดยด่วน
แต่แม้กระทรวงมหาดไทยจะได้ผ่อนผันแล้ว ทางจังหวัดก็ยังไม่สามารถส่งรายชื่อผู้สมควรเป็นสมาชิกสภาจังหวัดให้รัฐบาลแต่งตั้งได้จึงมีหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 183/13658 ลงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2477 สั่งให้ทุกจังหวัดตั้งกรรมการและกำหนดวิธีการคัดเลือก สจ. โดยกรรมการคัดเลือก (นอกจากจังหวัดพระนครและธนบุรี) ประกอบด้วยผู้ว่าฯ เป็นประธาน ผู้แทนราษฎร กรรมการจังหวัดที่อยู่จังหวัดนั้นนานที่สุดจำนวนเท่าผู้แทนราษฎร ข้าหลวงยุติธรรมหรือหัวหน้าศาลจังหวัด 1 นาย และผู้บังคับการทหารในจังหวัดที่มีกองทหาร 1 นาย
วิธีการคัดเลือกให้กรมการจังหวัดเชิญกรรมการดังกล่าวมาประชุมคัดเลือก เพื่อส่งรายนามผู้สมควรเป็นสมาชิกสภาจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 โดยให้กรรมการคัดเลือกสมาชิกจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและวิทยฐานะคือมีความรู้ทางหนังสือไทยอ่านออกเขียนได้ เข้าใจการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญมีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ไม่ใช่อันธพาล หรือหัวหน้าโจรหัวหน้าช่องผิดกฎหมาย เลื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ให้พิจารณาเลือกผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ กันและให้พยายามเลือกจากผู้ที่อยู่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอย่างน้อยอําเภอละ 1 นาย
หลังจากจังหวัดต่าง ๆ ส่งรายนามผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งจำนวน 9 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลจากรายชื่อที่แต่ละจังหวัดส่งมา
แล้วแต่งตั้งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสมาชิกสภาของสมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 1 สิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2479 (1 ปี ตามกฎหมาย) จึงได้มีการจัดตั้งสภาจังหวัดสมัยที่ 2 โดยกฎหมายกําหนดให้มีสภาจังหวัดมีสมาชิก 2 ประเภท ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง โดยวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2479 มีหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 61/2479 สั่งการไปยังทุกจังหวัดให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดประเภทที่ 1 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2479 และในวันเดียวกันกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศให้เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดประเภทที่ 1 ทุกจังหวัด รวม 70 สภา ซึ่งมีสมาชิกสภารวม 1,315 คน และรัฐบาลได้ให้แต่ละจังหวัดคัดเลือกสมาชิกสภาจังหวัดประเภทที่ 2 แล้วเสนอรายชื่อไปยังรัฐบาลและได้ทำการคัดเลือกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2479 จำนวน 671 คน รวมจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2 ทั้ง 2 ประเภท 1,986 คน[6]
สภาจังหวัด หากพิจารณาอย่างเคร่งครัดด้วยนิยามกรอบแนวคิดขององค์ประกอบหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ต้องประกอบด้วยการมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจที่ชัดเจน มีที่มารายได้เป็นของตนเอง มีบุคลากรเป็นของตนเอง มีความเป็นอิสระ อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบกำกับดูแล และมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว[7] สภาจังหวัดตามกฎหมายเทศบาล พ.ศ. 2476 อาจยังไม่มีสถานะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นตามนิยามดังกล่าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาจังหวัดเป็นจุดกำเนิดของ อบจ. ในระยะต่อมาที่มีองค์ประกอบครบตามนิยามของการปกครองท้องถิ่น
ตามกฎหมายเทศบาล พ.ศ. 2476 ออกแบบให้สภาจังหวัดมีลักษณะหน่วยการปกครองที่ไม่ได้จัดทำบริการสาธารณะ แต่ทำหน้าที่เป็นหน่วยการตรวจสอบและที่ปรึกษา ในมาตรา 55 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือในกิจการต่อไปนี้ 1) ตรวจและรายงานเรื่องงบประมาณซึ่งตั้งทางจังหวัดและสอบสวนการคลังทางจังหวัดตามระเบียบซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ 2) แบ่งสรรเงินอุดหนุนของรัฐบาลระหว่างบรรดาเทศบาลในจังหวัด 3) เสนอข้อแนะนำรัฐบาลในการจังกอบ การเงินและการอื่น ๆ ของเทศบาลและกิจการในจังหวัดอาทิ การเกษตร การหัตถกรรม การขนส่ง การค้าขาย ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี และกิจการอื่นใด อันจะส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรในจังหวัดนั้น 4) ตั้งกระทู้ถามกรมการจังหวัด ในการประชุมสภาในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่กรมการจังหวัดทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของจังหวัด 5) ให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ เมื่อรัฐบาลร้องขอ[8]
ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. สภาจังหวัด พ.ศ. 2481[9] เป็นกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสภาจังหวัดโดยตรงเป็นฉบับแรก กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่สภาจังหวัดให้เน้นเรื่องการตรวจสอบราชการส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับกฎหมายเทศบาล พ.ศ. 2476 ดังระบุไว้ในมาตรา 23 และ 25 ดังนี้ “มาตรา 23 ในการประชุมสภาจังหวัดสมาชิกสภาย่อมมีสิทธิตั้งกระทู้ถามกรมการจังหวัดในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้” “มาตรา 25 ให้สภาจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. ตรวจและรายงานเรื่องงบประมาณซึ่งตั้งทางจังหวัดและสอบสวนการคลังทางจังหวัด ตามระเบียบซึ่งได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้
2. แบ่งสรรเงินอุดหนุนของรัฐบาลระหว่างบรรดาเทศบาลในจังหวัด
3. เสนอแนะนำและให้คำปรึกษาต่อคณะกรมการจังหวัดในกิจการของจังหวัดดังต่อไปนี้ (ก) การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน (ข) การประถมศึกษาและอาชีวะศึกษา (ค) การป้องกันโรคการบำบัดโรค การจัดตั้งและบำรุงสถานการณ์พยาบาล (ง) การจัดให้มี และบำรุงทางบกทางน้ำ (จ) การกสิกรรมและขนส่ง (ฉ) การเก็บภาษีอากรโดยตรงซึ่งจะเป็นรายได้ส่วนจังหวัด (ช) การเปลี่ยนแปลงเขต หมู่บ้าน ตําบล อําเภอและเขตเทศบาล”[10]
ต่อมาในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2498 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด[11] กฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้สภาจังหวัดเปลี่ยนสภาพเป็น อบจ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล โครงสร้างภายในแบ่งเป็นสององค์กรคือฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภาหรือสภาจังหวัดมีที่มาของสมาชิก 2 ประเภท โดยครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย รมว. กระทรวงมหาดไทยโดยเลือกจากนายกเทศมนตรีหรือประธานกรรมการสุขาภิบาล ส่วนฝ่ายบริหารมีผู้ว่าฯ เป็นโดยตำแหน่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติของสภาจังหวัด[12]
แม้ในกฎหมาย พ.ศ. 2498 อำนาจหน้าที่ของ อบจ. จะเพิ่มมากขึ้น มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะด้วย อาทิ การรักษาความสงบเรียบร้อย การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การป้องกันโรค การจัดให้มีและบำรุงทางน้ำ ทางบก การรักษาความสะอาดของถนน การจัดให้มีน้ำสะอาด การจัดให้มีตลาด แสงสว่าง โดยเป็นการจัดทำบริการสาธารณะนอกเขตพื้นที่เทศบาลและสุขาภิบาล แต่ทว่าอำนาจหน้าที่ของสภาจังหวัดในการตรวจสอบหน่วยงานราชการในจังหวัดยังคงอยู่เช่นเดิม แต่ศักยภาพในการตรวจสอบหน่วยงานราชการในจังหวัดดังกล่าวไม่เหมือนเดิม ดังจะได้กล่าวในลำดับต่อไป ข้อสังเกตจากกฎหมาย อบจ. ฉบับ 2498 นี้คือมีสภาท้องถิ่นที่เป็นประชาธิปไตย แต่มีหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
โครงสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบใน อบจ. ดังกล่าวดำเนินมากว่า 42 ปี จนมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อบจ. พ.ศ. 2540[13] ซึ่งเป็นผลของการเกิดขึ้นของ อบต. ใน พ.ศ. 2537 ทำให้พื้นที่ในการจัดบริการสาธารณะนอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาลซึ่งก็คือพื้นที่ อบต. ที่ทยอยเกิดขึ้นจนเต็มพื้นที่ นำมาซึ่งความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย อบจ. โดยในกฎหมาย พ.ศ. 2540 พื้นที่ อบจ. ขยับขึ้นไปเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นชั้นบนครอบคลุมพื้นที่เทศบาลและ อบต. ทั้งจังหวัด (Upper tier) และเป็นพื้นที่เดียวกันกับจังหวัดที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคด้วย นอกจากพื้นที่ (Territorial) แล้วที่เปลี่ยน โครงสร้างภายในก็เปลี่ยนด้วย สืบเนื่องจากกระแสปฏิรูปการเมืองจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่มาของฝ่ายบริหารใน อบจ. จากเดิมที่ผู้ว่าราชการนั่งโดยตำแหน่ง กฎหมายเปลี่ยนแปลงให้ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยช่วงแรกนายก อบจ. มาจากมติของสภา ต่อมาเกิดกระแสเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง จึงมีการแก้ไขกฎหมายให้นายก อบจ. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ใน พ.ศ. 2546[14] และเป็นโครงสร้างภายในที่ใช้จนถึงปัจจุบัน
2. อบจ. ในวงล้อมระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
กระบวนการปิดล้อม อบจ. ด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เริ่มต้นด้วยกระบวนการ “หนึ่งนคราสองระบอบ” คือการทําให้อํานาจ เหนือเขตพื้นที่ปกครองเดียวกันมีหลายระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน (มีทั้งประชาธิปไตยและอำนาจนิยม) จากนั้นก็ทำให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นอ่อนกำลังโดยการทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีความต่อเนื่อง แล้วตามด้วยยุทธวิธีแสร้งทำให้ อบจ. ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย แล้วค่อย ๆ สถาปนาระบอบภูมิภาคนิยม และตามด้วยการค่อย ๆ กลืน ให้ อบจ. กลายเป็นแขนขามือไม้ของระบอบอํานาจนิยมภายใต้มายาภาพดังกล่าว
2.1 เริ่มปิดล้อมด้วย “หนึ่งนคราสองระบอบ” (Regime Juxtaposition): จังหวัด และ อบจ. เป็นคู่ขนานที่ไม่สมมาตร
Edward L. Gibson (2010)[15] ได้อธิบายว่า หนึ่งนคราสองระบอบ คือสถานการณ์ที่รัฐบาลสองระดับที่มีเขตอำนาจเหนือดินแดนเดียวกัน แต่ทว่าดำเนินการภายใต้ระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน แนวคิดนี้มาวิเคราะห์การปกครองที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคของไทย พบว่า ในแต่ละจังหวัดจะมี 2 ระบอบการปกครองตั้งอยู่พร้อมกัน หนึ่งคือการปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ คือหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่รัฐบาลกลางแต่งตั้งคนของตนเองลงไป ขณะเดียวกันก็มีการปกครองตนเองอีกระบอบคือราชการส่วนท้องถิ่นได้แก่ อบจ. เทศบาล และ อบต. ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน แต่ที่แตกต่างกันคือสองระบอบนี้สถานะไม่เท่าเทียมกัน ระบอบหนึ่งเหนือกว่าหรือขี่อีกระบอบหนึ่งอยู่ ที่ผ่านมาเรามักจะประเมินหรือพิจารณาประชาธิปไตยที่เน้นศึกษา เปรียบเทียบระดับชาติหรือไม่ก็ศึกษาไประดับท้องถิ่นเลย ไม่ค่อยมีการวิเคราะห์ประชาธิปไตยของหน่วยชั้นกลางระหว่างระดับชาติกับท้องถิ่น (subnational political systems) โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาหลายประเทศได้เปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การกระจายประชาธิปไตยภายในประเทศยังไม่มีความไม่เท่าเทียมกัน (The Struggle for Subnational Democracy)[16]
และเมื่อเรามองย้อนไปที่พัฒนาการของหน่วยขึ้นกลางระหว่างระดับชาติกับท้องถิ่นของไทยโดยเฉพาะราชการส่วนภูมิภาคคือจังหวัด (ผู้ว่าเป็นประธาน) และหน่วยงานราชการระดับจังหวัด (แขนขาของกรมที่ส่งลงมาปกครองในแต่ละจังหวัด) เราจะพบว่ามีพลวัต มีการขยายตัวอำนาจหน้าที่และจำนวนของหน่วยงานราชการเหล่านี้อยู่ ตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ถึงปัจจุบัน วิธีการหนึ่งนคราสองระบอบนี้เป็นพื้นฐานสําคัญในการสร้างระบอบภูมิภาคนิยม เพื่อควบคุม อบจ. ในขั้นตอนถัดไป
2.2 ตามติดการปิดล้อมโดยการทําให้เลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต่อเนื่องเพื่อทอนกําลังประชาธิปไตย
กระบวนการปิดล้อมประชาธิปไตยโดยระบอบอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นกับ อบจ. และ อปท. ทุกรูปแบบเริ่มต้นด้วยการทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต่อเนื่อง เท่าที่สืบค้นได้พบว่าก่อนปี พ.ศ. 2500 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เพียง 3 ครั้งเท่านั้น โดย สจ. ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งให้เป็นผู้เริ่มการมีวาระ 1 ปี โดยได้เริ่มทยอยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยลงนามโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รมว. กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งสมาชิกสภาในแต่ละจังหวัดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 และมีการตั้งซ่อมบ้างใน พ.ศ. 2478[17] การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดครั้งแรกของประเทศไทย (สมาชิกสภาจังหวัดสมัยที่ 2) เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2479[18] ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดครั้งที่สองน่าจะเกิดขึ้นระหว่างปลาย พ.ศ. 2482 ถึงต้น พ.ศ. 2483 หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การเลือกตั้ง สจ. พ.ศ. 2482[19]
หลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดหยุดชะงักลง โดยรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาขยายกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาจังหวัดหลายครั้งใน พ.ศ. 2487, พ.ศ. 2489, พ.ศ. 2490, พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2497 การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดครั้งที่สาม เกิดขึ้นอีกครั้งเข้าใจว่าเป็น พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498
หลัง พ.ศ. 2500 เข้าสู่ระบอบเผด็จการทหาร นอกจากการแช่แข็งประชาธิปไตยระดับชาติแล้ว ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นก็ไม่ต่างกัน กระบวนการแช่แข็งประชาธิปไตยท้องถิ่นอันยาวนานเริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีประกาศปฏิวัติที่ 34 และ 40 ห้ามการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้งสภาจังหวัดและเทศบาล โดยให้อำนาจผู้ว่าฯ เป็นผู้แต่งตั้งหรือให้ออกจากตำแหน่ง[20] การแช่แข็งนี้ยาวนานต่อเนื่องจนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร หลังยึดอำนาจตัวเองใน พ.ศ. 2514 ก็ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้ง ต่างกันตรงที่ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง สจ. คือ รมว. กระทรวงมหาดไทย[21]
การสร้างความไม่ต่อเนื่องของประชาธิปไตยท้องถิ่นทำให้ท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตลอดระยะประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นไทย ซึ่งมาพร้อมกับรัฐประหารเสมอ หลังรัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็มีประกาศฉบับที่ 19 บอกให้เลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปไม่มีกำหนด[22] ในรัฐประหาร พ.ศ. 2549 แม้ไม่ได้ตรงกับช่วงที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหมดวาระ แต่ทว่าก็มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองขอให้ยุติความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น[23] และล่าสุดเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2557 ในช่วงแรกของรัฐประหารกลาง พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามที่จะแต่งตั้งข้าราชการระดับซี 8 ขึ้นไปเข้าไปในนั่ง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาแต่ละแห่ง แต่ทว่าคงไม่สามารถหาข้าราชการซี 8 ไปนั่งในทุกองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายพันแห่งได้[24]
ดังนั้นต้น พ.ศ. 2558 จึงได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้แต่งตั้ง[25] การสร้างความไม่ต่อเนื่องของประชาธิปไตยไม่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2557 นี้ กินระยะเวลายาวนานกว่า 8 ปี เป็นรองเพียงช่วงยุคระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบในช่วง พ.ศ. 2501-2516
ข้อสังเกตอีกประการในมิติด้านการเลือกตั้ง คือหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 โครงสร้าง อบจ. ได้เปลี่ยนไป โดยมีโครงสร้างภายในแบบสภากับผู้บริหารท้องถิ่นที่มีผู้ว่าฯ เป็นโดยตำแหน่ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดไม่มีต่อเนื่องทั้งก่อน พ.ศ. 2500 และหลัง พ.ศ. 2500 ดังกล่าวมาแล้ว อีกข้อสังเกตคือประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้บริหาร อบจ. เลย ผู้ว่าฯ นั่งโดยตําแหน่งอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 42 ปี กระทั่งปี 2540 สภาพการณ์นี้คือหนึ่งในขั้นตอนของการทำให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตยและสร้างระบอบอำนาจนิยมภูมิภาค (Subnational authoritarian) ซึ่งจะกล่าวในลำดับถัดไป
2.3 สร้างภาพการปิดล้อมด้วยการแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย
หลังจากทำให้แต่ละจังหวัดมีสภาพหนึ่งนคราสองระบอบและทอนกำลังประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นโดยการทำให้การเลือกตั้งไม่ต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่
ระบอบอำนาจนิยมไทยกระทำในลำดับต่อมากับ อบจ. คือการแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยนั้นเป็นประชาธิปไตย J. Tyler Dickovick (2003)[26] อธิบายว่าตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ประเทศกําลังพัฒนาทั่วโลกถูกแรงกดดันจากทั้งนานาชาติและในประเทศให้ต้องกระจายอำนาจ แต่ทว่ารัฐบาลกลางของประเทศเหล่านั้นก็พยายามต่อต้านการกระจายอำนาจ โดยได้สร้างสถาบันที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตย (Seemingly democratic institutions) มาใช้กับการกระจายอำนาจ[27] เพื่อตบตาหรือหลอกตานานาชาติและประชาชนในประเทศ
Ghazia Aslam (2019) ชี้ให้เห็นว่าการแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตยคือการที่ระบอบอำนาจนิยมใช้เพื่อเพิ่มการสนับสนุนทางการเมือง ลดการใช้วิธีปราบปราม ลดความเสี่ยงต่อการสมรู้ร่วมคิด ลดความพยายามรัฐประหารซ้อนและการก่อกบฏที่รุนแรงต่อระบอบอำนาจนิยม รวมถึงเป็นช่องทางในการประสานความร่วมมือ เป็นช่องทางในการต่อรองเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมรวมถึงฝ่ายค้านให้เปลี่ยนมาเป็นแนวร่วม บทบาทของระบอบที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตยคือการอนุญาตให้ระบอบอำนาจนิยมร่วมมือกับชนชั้นนำท้องถิ่นและสร้างกลไกเพื่อสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย นักการเมืองท้องถิ่นได้ผลประโยชน์ ขณะเดียวกันเผด็จการอำนาจนิยมก็ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่น จึงทำให้ระบอบอำนาจนิยมเดินต่อไปได้เพราะมีช่องทางในการแบ่งปันผลประโยชน์และสร้างความชอบธรรมในการกระจายผลตอบแทนส่วนเกิน (Rent)[28] /เก๋าเจี๊ยะ[29] กับชนชั้นนำท้องถิ่น
แนวคิดของ Ghazia Aslam (2019) สอดคล้องกับ Erik Vollmann,
Miriam Bohn, Roland Sturm and Thomas Dermelhuber (2020) ที่อธิบายว่า ระบอบอํานาจนิยมพยายามใช้การเปิดเสรีแบบผิวเผิน (shallow liberalization) ในการสร้างความพึงพอใจและควบคุมภาคประชาสังคม จัดการฝ่ายตรงข้ามและชนชั้นนำต่าง ๆ และแสวงหากำไรจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วิธีการคือกระจายอำนาจได้เท่าที่ไม่กระทบสาระสำคัญของอำนาจศูนย์กลาง ชนชั้นปกครองในระบอบอำนาจนิยมจัดการการกระจายอํานาจ (manipulated decentralisation) โดยการออกแบบสถาบันผ่านกฎหมายและการคลัง (set of legal and financial provisions) พร้อมกันกับการจัดการฝ่ายตรงข้ามแบบทางอ้อม ยิ่งไปกว่านั้นหากสถานะขององค์กรปกครองท้องถิ่นเล็กมาก ๆ แล้ว ความซ้ำซ้อนของการให้บริการในพื้นที่อาจนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับแนวทางแบบรวมศูนย์มากขึ้น[30] เป็นการสร้าง ความชอบธรรมให้มากขึ้นในการที่จะไม่กระจายอำนาจ
การแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตยสอดคล้องกับแนวคิดของ Zubair K. Bhatti and Lachlan McDonald (2020) ที่ได้ กล่าวถึง กลไกการปกครองกึ่งเผด็จการ (Semi-authoritarian governance apparatus)[31] ที่แสร้งให้ความสำคัญกับหลากหลายหรือพหุนิยม แต่ทว่าลดความท้าทายและภัยคุกคามต่อรัฐบาลกลาง เช่นในกรณีของไทย ดังที่ Dufhues, T., I. Theesfeld, and G. Buchenrieder (2015)[32] ได้อธิบายว่าไทยเริ่มมีการประท้วงอย่างกว้างขวางตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) ชนชั้นปกครองในกองทัพตระหนักว่าความหลากหลายมีระดับมากขึ้นและต้องการที่จะรักษาบทบาททางการเมืองของตนเอาไว้ และ Haque, M.S. (2010)[33] อธิบายสอดคล้องกันว่า กรอบแนวคิดเรื่องการกระจายอํานาจได้ถูกหยิบยกขึ้นมาส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ต่อมาภายหลังการทำรัฐประหาร (2549) และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ข้าราชการส่วนกลางและผู้มีอำนาจทางการเมืองสามารถกลับมาปกป้องผลประโยชน์ของตนได้อีกครั้งโดยการกำหนดรูปแบบการกระทำและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ และในรัฐประหารล่าสุด โดย คสช. ที่มีอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ได้แสดงให้เห็นสัญญาณเพียงเล็กน้อยว่าสนใจการปกครองท้องถิ่น รัฐธรรมนูญที่ คสช. จัดทำใน พ.ศ. 2560 ไม่ได้ทำให้การกระจายอำนาจสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นฐานสำคัญของระบบการเมืองแบบเดิมได้เลย (Unger and Mahakanjana 2016)[34]
การแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตยโดยระบอบอำนาจนิยมไทยนับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม การลดแรงกดดันโดยสร้างช่องทางต่อรองและมีกลไกเพื่อสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายกับนักการเมืองท้องถิ่นดำเนินไปอย่างราบรื่น นักการเมืองท้องถิ่นยอมอยู่ใต้และอยู่ได้กับระบอบที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตยนี้ แม้จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่ทว่าตัวเองได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปพึงพอใจกับการกระจายผลตอบแทนส่วนเกิน/เก๋าเจี๊ยะ (Rent) ในที่นี้แสดงออกผ่านตัวอย่างที่เรียกว่า “สภาผู้รับเหมา” แม้ระบอบการเมืองจะเป็นเผด็จการ
แม้ระบอบราชการจะรวมศูนย์เพียงใด ตราบใดที่ผลตอบแทนส่วนเกินที่มอบให้นั่นเป็นที่น่าพอใจ ตราบใดที่บริษัทของภรรยาหรือญาติตนเองยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ทำสัญญารับเหมาขุดลอกลำห้วยคูคลองได้ขายที่ดินของตัวเองเพื่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย สร้างบ่อกำจัดขยะ สร้างสถานีน้ำประปา องค์กรปกครองท้องถิ่นยังเช่ารถบริษัทตนเองเติมน้ำมันจากปั๊มตัวเอง เช่าที่ดินตัวเองเพื่อเก็บพัสดุและที่พักคนงานยังซื้อวัสดุอุปกรณ์ สนง. บริษัทตัวเอง ฯลฯ[35] นักการเมืองท้องถิ่นก็พร้อมและยอมที่จะอยู่ใต้โครงสร้างสถาบันที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมต่อไป
ลักษณะโครงสร้างสถาบันดังกล่าวนี้ระบอบอำนาจนิยมไทยได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ได้ภาพว่าเป็นประชาธิปไตย กระจายอำนาจเท่าที่ไม่กระทบอำนาจศูนย์กลาง กระจายอำนาจแบบควบคุมได้หมด (ดูเพิ่มในหัวข้อระบอบภูมิภาคอำนาจนิยมในลำดับถัดไป) กระจายอำนาจแบบให้ทำงานซ้ำซ้อนกับส่วนกลางโดยวิธีหนึ่งนคราสองระบอบ พอองค์กรปกครองท้องถิ่นทำไม่ดีประชาชนก็ต่อว่าท้องถิ่น ไม่พอใจท้องถิ่น เช่น กรณีตัวอย่างโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกระเบิดที่กิ่งแก้ว ประชาชนจํานวนมากเรียกหาและก่นด่านายก อบจ. สมุทรปราการ[36] ทั้งที่อำนาจในการจัดการดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ สนง. อุตสาหกรรมจังหวัด สนง. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สนง. สาธารณสุขจังหวัด และ สนง. แรงงานจังหวัด ความไม่เข้าใจและไม่พอใจท้องถิ่นของประชาชนเช่นนี้นำเกิดความไม่เชื่อมั่นท้องถิ่น ลามไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในการกระจายอำนาจ
อบจ. (หลังทศวรรษ 2500) เป็นต้นมา ตกเป็นเครื่องมือของกลวิธีนี้ เป็นเพียงความพยายามของระบอบอำนาจนิยมไทยที่จะลดแรงกดดันทางการเมือง อบจ. ถูกทำให้เป็นเหมือนฉนวนกั้นเพื่อลดการจับจ้องจับผิดของประชาชนที่จะพุ่งเป้าไประบอบอํานาจนิยม (รัฐราชการ/รัฐรวมศูนย์)[37] เป็นเสมือนกับดักหรือหลุมพรางที่ขุดเพื่อดักจับความตื่นตัวทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการตรวจสอบทาง การเมืองของประชาชนให้หยุดไว้ที่ อบจ. เพื่อให้ไปไม่ถึงราชการส่วนกลางภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกสายของระบอบอำนาจนิยมที่ตั้งอยู่ในจังหวัด จากแต่เดิมที่ อบจ. ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบส่วนราชการในจังหวัด ระบอบอำนาจนิยมไทยจัดตั้ง อบจ. และองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อต่ออายุและความมั่นคงแก่ระบอบตนเอง แม้ อบจ. จะมีหน้าตาเหมือนประชาธิปไตย แต่หน้าที่ที่ระบอบอำนาจนิยมคาดหวังกับ อบจ. และองค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ แตกต่างจาก หน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย
2.4 การปิดล้อมให้แน่นหนาด้วยการสถาปนาระบอบภูมิภาคนิยม
ขั้นตอนสำคัญลำดับถัดมาของกระบวนการปิดล้อมประชาธิปไตยใน อบจ. ของระบอบอำนาจนิยม คือการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมภูมิภาค (Subnational Authoritarian) ขึ้นใน “หนึ่งนคราสองระบอบ” ที่อยู่ภายใต้มายาภาพที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตย ขั้นตอนนี้พบว่ามีด้วยกัน 3 วิธีคือ การขยายตัวของราชการส่วนกลางและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง การทำให้ อบจ. เป็นแขนขาของระบบราชการรวมศูนย์และการทำให้ อบจ. อยู่ภายใต้กรอบที่ขีดเดินและลู่ที่กำหนดให้วิ่ง
2.4.1 การขยายตัวของราชการส่วนกลางและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
การสถาปนาระบอบอำนาจนิยมภูมิภาคด้วยการขยายตัวของราชการส่วนกลางและภูมิภาคเกิดขึ้นตลอดเวลาเกือบ 90 ปี นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นพัฒนาการประชาธิปไตยที่คู่ขนานไปกับการพัฒนาไปเป็นอัตตาธิปไตย (Paths to Autocratization) โดยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่างก็เดินหน้าขยายอำนาจให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาค มีตรากฎหมายเพิ่มอำนาจและตั้งกระทรวง กรมใหม่อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราสามารถพิจารณาการขยายตัวดังกล่าวนี้ได้จากพัฒนาการของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินประกอบกับ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ควบคู่ไปด้วย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖[38] แบ่งโครงสร้างการบริหารราชการไทยออกเป็น 3 ส่วนคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมีการปรับปรุงแก้ไขตลอดเวลา หลัง พ.ศ. 2476 ก็มีการแก้ไขใน พ.ศ. 2495[39] พ.ศ. 2515[40] และ พ.ศ. 2534[41]
หลังจากปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเสร็จแต่ละครั้งก็จะมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ตามมา การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอย่างหลังนี้ นำไปสู่การตั้งหน่วยงานใหม่ระดับกระทรวงและกรมขึ้นทุกครั้ง เริ่มจาก พ.ศ. 2476 มี 7 กระทรวง เพิ่มขึ้นเป็น 10 กระทรวงใน พ.ศ. 2494[42] เป็น 13 กระทรวง ใน พ.ศ. 2505[43] เป็น 20 กระทรวง ใน พ.ศ. 2545[44] ไม่ต้องกล่าวถึงหน่วยงานระดับกรมที่เพิ่มมากขึ้นเป็นหลายร้อยกรม รวมแล้วมีการตรากฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยงานหรือกระชับหน่วยงานเพื่อรองรับอำนาจใหม่ ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2564 กว่า 86 ครั้ง กล่าวได้ว่าเฉลี่ยเกือบปีละครั้ง ที่กล่าวมานี้คือกฎหมายตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงและกรม ยังไม่ได้กล่าวถึงการตรากฎหมายอีกจำนวนหลายพันฉบับที่สถาปนาอำนาจให้กับหน่วยงานเหล่านี้[45]
2.4.2 การทําให้ อบจ. เป็นแขนขาของระบบราชการรวมศูนย์
หลังจากการสถาปนาระบอบภูมิภาคนิยมผ่านการตรากฎหมาย เพิ่มหน่วยงานระดับกระทรวงและกรมเพื่อเป็นจุดตั้งต้นอำนาจจากศูนย์กลางก่อนส่งต่อลงมายังหน่วยงานสาขาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแล้วลำดับถัดมากคือ การดัดแปลงให้ อบจ. จากองค์กรตรวจราชการส่วนภูมิภาคให้กลายเป็นแขนขามือไม้ของส่วนกลางแลภูมิภาค
กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.บ. อบจ. พ.ศ. 2498 เป็นจุดเริ่มของการผนวกท้องถิ่นเข้าไปเป็นแขนขาของส่วนกลางและภูมิภาค (ความจริงแล้ววิธีการดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ในการตั้ง สุขาภิบาลที่มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าสุขาภิบาล) กฎหมายฉบับนี้ได้ส่งผู้ว่าฯ มาทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร อบจ. ภายใต้กฎหมาย พ.ศ. 2498 นี้ มีลักษณะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นกึ่งภูมิภาค การกลายสภาพเป็นแขนขาของระบบราชการรวมศูนย์ถูกกระตุ้นให้เร็วมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุค
เผด็จการทหารเต็มรูปแบบหลังทศวรรษ 2500 การเมืองทุกระดับถูกแช่แข็ง ไม่มีการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นยาวนาน กฎหมาย พ.ศ. 2498 ก่อให้เกิดการลดรูปสภาจังหวัดจากผู้ตรวจสอบการบริหารราชการทุกหน่วยในจังหวัดเหลือเพียงตรวจสอบงานภายใน อบจ. พร้อมกันกับการทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อที่ให้สภาจังหวัดมีหน้าที่ ตรวจสอบผู้ว่าฯ ในฐานะนายก อบจ. แต่กลับให้อำนาจผู้ว่าราชจังหวัด มากมายในการเรียกประชุม สั่งสอบ เสนอข้อบัญญัติงบประมาณจังหวัด
ขณะเดียวกันก็เป็นผู้อนุมัติข้อบัญญัติจังหวัดด้วย ไม่ต้องพูดถึงช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งที่ให้อํานาจผู้ว่าฯ เป็นผู้มีอํานาจในการแต่งตั้ง สจ. จึงเป็น การยากที่สภาจังหวัดจะคัดง้างหรือตรวจสอบผู้มีพระคุณที่แต่งตั้งตนเอง นักการเมืองท้องถิ่นถูกกลืนหรือถูกปิดผิดปากไม่กล้าต่อรองกระทั่งชื่นชอบ การได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนาน เพราะไม่ต้องเหนื่อยในการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง แต่ได้เกาะเกี่ยวแบ่งปันผลประโยชน์จากเก๋าเจี๊ยะดังที่กล่าวไปแล้ว แม้จะมีการแก้กฎหมาย อบจ. ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2540 แต่ทว่าอำนาจหน้าที่และโครงสร้างราชการและโครงสร้างงบประมาณของราชการส่วนกลางและภูมิภาคก็เติบโตทิ้งห่างราชการส่วนท้องถิ่นไปไกลมากแล้ว
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าระบอบอำนาจนิยมสร้างกลไกควบคุมท้องถิ่นได้อย่างหนาแน่นและดัดแปลงให้ อบจ. กลายเป็นแขนขาของราชการส่วนกลางและภูมิภาคได้แล้วนั้น สามารถดูได้จากข้อสั่งการในหนังสือที่ลงนามโดยผู้ว่าฯ โดยอ้างถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมี พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เป็นหนังสือราชการถึงนายก อบจ. ให้ดำเนินการตามข้อสั่งการดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินการตามแบบรายงานแผนและผลการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเพื่อเตรียมรับน้ำหลากในฤดูฝน พ.ศ. 2564 ให้จังหวัดทราบ[46]
การทำให้ อบจ. เป็นแขนขาของระบบราชการรวมศูนย์ยังพบเห็นได้เรื่องงบประมาณ โดยการทำให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองไม่ได้ ภาษีที่ทำรายได้ส่วนใหญ่เป็นภาษีของส่วนกลาง แต่มอบที่มารายได้ให้แก่ท้องถิ่นเฉพาะภาษีเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต้องพูดถึงทิศทางการพัฒนาภาพรวมที่สร้างเมืองแบบโตเดี่ยว ทำให้กรุงเทพฯ เติบโตทิ้งห่างเมืองอื่น ๆ การพัฒนากระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและบางเมือง เช่น ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ การทำให้ท้องถิ่นพึ่งลำแข้งตนเองด้านงบประมาณไม่ได้นั้น ทำให้เกิดช่องทางในการเข้าควบคุมท้องถิ่นและเป็นช่องทางดัดแปลงให้ท้องถิ่นกลายเป็นแขนขาของส่วนกลางและภูมิภาคผ่านเงิน[47] อุดหนุนเฉพาะกิจ โดยตัวเลขสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรัฐบาลกลางที่ “ทำทีว่าได้กระจายอำนาจ” ให้ท้องถิ่นไปแล้ว 29-30 % นั้น
เมื่อพิจารณารายละเอียดให้ส่วนของเงินอุดหนุน จะพบว่าเป็นการให้เงินที่มาพร้อม เงื่อนไขว่าให้ท้องถิ่นนําไปใช้ทําอะไรได้บ้าง ขนาดเงินอุดหนุนทั่วไปยังกำหนดว่าต้องจ่ายในเรื่อง นมโรงเรียน อาหารกลางวันนักเรียน ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการท้องถิ่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์[48] ค่าครองชีพครู ผู้ดูแลเด็ก เงินบำเหน็จบำนาญ เงินประกันสังคม[49] เป็นต้น เป็นเงินอุดหนุน ทั่วไปแบบ “กำหนดวัตถุประสงค์” สภาพจึงไม่ต่างจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจแบบหนึ่ง ดังนั้นท้องถิ่นจึงกลายเป็นเพียงทางผ่านของเม็ดเงินจากรัฐบาลไปสู่ประชาชนเท่านั้น ขณะเดียวกันส่วนกลางและภูมิภาคก็สบายตัวลดภาระส่วนนี้ของตนเองไปและระบอบอำนาจนิยมได้ภาพว่าได้ทำการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว
2.4.3 การทําให้ อบจ. อยู่ภายใต้กรอบที่ขีดเดินและลู่ที่ กําหนดให้วิ่ง
เพื่อให้ อบจ. อยู่ภายใต้บงการไม่ออกนอกลู่นอกทางโดยการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมภูมิภาค กล่าวคือให้อำนาจตัวเองในการควบคุมท้องถิ่น พบเห็นได้จากการที่รัฐได้ใส่อำนาจในการจัดท้องตามที่ตนเองต้องการไว้ในกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่น อาทิ มาตรา 6 และ มาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ. อบจ. พ.ศ. 2540 มาตรา 69 และ มาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 32 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 5 และมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ. สภาตําบล และ อบต. พ.ศ. 2537[50] นอกจากให้อำนาจตนเองในการตีกรอบท้องถิ่นในกฎหมายจัดตั้งแล้ว ยังมีการไปกำหนดเอาไว้ในมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กระทั่งให้อำนาจตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 283 ฉบับ พ.ศ. 2540)[51] อีกด้วย
กําหนดแม้กระทั่งวิธีการการวางแผนพัฒนาของ อปท.[52] กำหนดวิธีการลาของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น กำหนดวิธีการงบประมาณของ อปท.[53] กําหนดวิธีการจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินของ อปท.[54] กำหนดวิธีการประชุมสภาท้องถิ่น กำหนดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[55] กำหนดการใช้และรักษารถยนต์ของ อปท.[56] ว่าข้างตัวรถทั้ง 2 ข้างต้องมีตรา อปท. ขนาดกว้างหรือยาวไม่น้อยกว่า 18 เซนติเมตร และต้องมีอักษรชื่อเต็มของ อปท. ขนาดสูงไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตรข้างนอกรถยนต์ส่วนกลางทั้งสองข้างทุกคัน โดยตราและอักษรชื่อของ อปท. ต้องพ่นด้วยสีขาวกำหนดกันถึงขนาดนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเหล่านี้มีมากกว่า 220 ฉบับ โดยเป็นระเบียบที่บังคับใช้กับ อปท. ทุกรูปแบบ จำนวน 162 ฉบับ เป็นระเบียบเฉพาะเทศบาลของ อบจ. 19 ฉบับ ระเบียบเฉพาะเทศบาล 15 ฉบับ ระเบียบเฉพาะ อบต. 24 ฉบับ ระเบียบเฉพาะเมืองพัทยา 4 ฉบับ และระเบียบเฉพาะกรุงเทพฯ 5 ฉบับ[57]
ไม่ต้องกล่าวถึงหนังสือราชการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
(สถ.) เมื่อเราเข้าเว็บไซต์ของกรม http://www.dla.go.th/servlet DocumentServlet และค้นหนังสือราชการที่ทาง สถ. ทําถึงองค์กร ปกครองท้องถิ่น ณ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2564 พบว่ามีกว่า 23,394 ฉบับ[58]
หมายเหตุ :
- บทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้นำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นที่เรียบร้อย
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “องค์การบริหารส่วนจังหวัด: 88 ปี ของพัฒนาการที่ถูกปิดล้อมด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” เป็น “องค์การบริหารส่วนจังหวัด: พัฒนาการที่ถูกปิดล้อมด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2566
[1] เกี่ยวกับผู้เขียน "รศ.ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง" อาจารย์ประจําวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
[2] Samuel Humes. (1959). The Structure of Local Governments Throughout the World - A Comparative Introduction. The Hogue, Netherlands: Springer Science+Business Media DOTdrecht. P.3, Samuel Humes ได้หยิบยืมคำเหล่านี้มาจาก G. Montagu Harris และขยายความว่า การปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ (local State government) คือหน่วยการปกครองของรัฐบาลทุกส่วนของประเทศที่มีตัวแทนในท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้ง (appointed) และรับผิดชอบเฉพาะต่อรัฐบาลกลาง เป็นการปกครองท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็นตัวแทน (local non-representative government)เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นชนิดหนึ่งแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบรวมศูนย์ในส่วนการปกครองตนเอง (Local self-government) เป็นหน่วยการปกครองของรัฐบาลในท้องถิ่นซึ่งได้รับการเลือกตั้งอย่างเสรี อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลแห่งชาติ จะได้รับอำนาจ ดุลยพินิจ และความรับผิดชอบบางประการ ซึ่งพวกเขาสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องถูกควบคุมการตัดสินใจของตนโดยผู้มีอำนาจที่สูงกว่า เป็นการปกครองท้องถิ่นที่มีตัวแทน (Representativelocal governments)
[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476, 9 ธันวาคม 2476, เล่ม 50, หน้า 751-762.
[4] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, 24 เมษายน 2477 , เล่ม 51, หน้า 82-107.
[5] หากพิจารณาด้วยกรอบของ Samuel Humes แล้วสหเทศบาลมีลักษณะเป็นหน่วยการปกครองตนเองที่ที่ดำเนินกิจกรรมและรับผิดชอบบริการสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่กี่อย่างภายในพื้นที่เฉพาะ (special-purpose or limited-purpose local units)
[6] ดําเกิง สุรการ, สภาจังหวัด, (วิทยานิพนธ์ปริญญาโททางรัฐศาสตร์), (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2495).
[7] ธเนศวร์ เจริญเมือง, การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น: อีกมิติหนึ่งของอารยธรรมโลก, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2551), 66-68.
[8] ราชกิจจานุเษกษา, พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, มาตรา 55, 24 เมษายน 2477, เล่ม 51, หน้า 82-107.
[9] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481, 1 เมษายน 2482, เล่ม 56, หน้า 187-197.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องสมาชิกสภาจังหวัด (เพิ่มเติม) (2477, 30 มีนาคม)” ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 51, หน้า 4668-4682)
[10] ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พุทธศักราช 2481”, 1 เมษายน 2482, เล่ม 56. หน้า 187.
[11] ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498”, 8 กุมภาพันธ์ 2498, เล่ม 72.หน้า 176-199.
[12] ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498”, 8 กุมภาพันธ์ 2498, เล่ม 72, หน้า 176-199.
[13] ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540”, 31 ตุลาคม 2540, เล่ม 114, หน้า 1-23.
[14] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546, 4 พฤศจิกายน 2546, เล่ม 120, ตอนที่ 109 ก., หน้า 5-20.
[15] Politics of the Periphery - An Introduction to Subnational Authoritarianism and Democratization in Latin America (Gibson, Edward L.) (2010) <https:// doi.org/10.1177/1866802X1000200201 >
[16] https://www.journalofdemocracy.org/articles/the-struggle-for-subna-tional-democracy/
[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง สมาชิกสภาจังหวัด, 22 มีนาคม 2477, เล่ม 51, หน้า 4534-4597.
[18] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด สมัยที่ 2 พุทธศักราช 2479, 14 มิถุนายน 2479, เล่ม 55, หน้า 546-547.
[19] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, 10 พฤศจิกายน 2482, เล่ม 56, หน้า 1604-1636.
[20] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34, 8 ธันวาคม 2501, ฉบับ พิเศษ เล่ม 75, ตอนที่ 104, หน้า 1-2); ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34, 6 มกราคม 2502, ฉบับพิเศษ เล่ม 76, ตอนที่ 3, หน้า 1-2.
[21] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19, 15 ธันวาคม 2514, ฉบับพิเศษ เล่ม 88, ตอนที่ 140, หน้า 1-2.
[22] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 19 เรื่อง ให้เลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล และกรรมการสุขาภิบาล ออกไป โดยไม่มีกําหนด, 23 กุมภาพันธ์ 2534, ฉบับพิเศษ เล่ม 108, ตอนที่ 32, หน้า 38.
[23] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 22 เรื่อง ขอให้ยุติความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น, 24 กันยายน 2549, เล่ม 123 ตอนที่ 98 ก, หน้า 13.
[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว, 21 กรกฎาคม 2557, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง, หน้า 12.
[25] ราชกิจจานุเบกษา, คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว, 5 มกราคม 2557, เล่ม 132 ตอนพิเศษ 1 ง, หน้า 48., ราชกิจจานุเบกษา, คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น, 4 พฤษภาคม 2559, เล่ม 133 ตอนพิเศษ 102 ง, หน้า 13., ราชกิจจานุเบกษา, คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลเป็นเทศบาล การยกฐานะเป็นเทศบาลหรือการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล, 21 มิถุนายน 2559, เล่ม 133 ตอนพิเศษ 139 ง, หน้า 9.
[26] J. Tyler Dickovick, ‘Centralism and Decentralization in Unitary States: A Comparative Analysis of Peru And Senegal. (2003)’ https://jpia. princeton.edu/sites/jpia/files/2003-3.pdf accessed 1 October 2021.
[27] Ghazia Aslam. ‘Decentralization reforms in dictatorial regimes as a survival strategy: Evidence from Pakistan’. (2019) https://doi. org/10.1177/0192512117712177 accessed 1 October 2021.
[28] นิพนธ์ พัวพงศกร, อัมมาร สยามวาลา และ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ได้ให้นิยามของค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) หรือ ผลตอบแทนส่วนเกิน คือ ผลตอบแทนที่ตกแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีจํานวนจํากัด หรือประโยชน์จากนโยบายของรัฐที่ตกแก่คนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ประโยชน์จากการได้รับสัมปทานผูกขาด ประโยชน์จากการได้รับจัดสรรโควตา คําว่า “ส่วนเกิน” หมายถึง อัตราผลตอบแทน ที่สูงกว่าผลตอบแทนตามปรกติ (หรือต้นทุนเสียโอกาส) ที่เจ้าของปัจจัยการผลิตหรือเจ้าของธุรกิจจะได้รับในกรณีที่การประกอบธุรกิจมีการแข่งขันกันเต็ม อย่างไรก็ตาม คําว่า economic rent ไม่สามารถสื่อความให้บุคคลทั่วไป หรือนักวิชาการนอกสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ คําแปล พอใช้ได้ เช่น กําไรส่วนเกิน ผลตอบแทนส่วนเกิน ทางเศรษฐกิจ หรือเก๊าเจี๊ย ดูเพิ่มเติมใน นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, ‘การปฏิรูป เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม’ (2557) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), <https://tdri.or.th/2014/05/at51/> accessed 9 October 2021.
[29] เก่าเจี๊ยะ เป็นคําแต้จิ๋วแปลตรงตัวว่า “หมากิน” หมายความว่าเงินสินบนที่จ่าย ให้เจ้าหน้าที่ <https://today.line.me/th/v2/article/m61gVz> accessed 9 October 2021.
[30] Decentralisation as Authoritarian Upgrading - Evidence from Jordan and Morocco (Erik Vollmann) (2020)
[31] Zubair K. Bhatti and Lachlan McDonald. (2020). Deepening Decen- tralization within Centrally Led States: The Direction of Local Govern- ance Reforms in Southeast Asia, <https://elibrary.worldbank.org/doi/ abs/10.1596/35005 >
[32] Dufhues, T., I. Theesfeld, and G. Buchenrieder. 2015. "The Political Economy of Decentralization in Thailand: How Past and Present Decentralization Affects Rural Actors' Participation." European Journal of Development Research 27 (5): 793–810. In Zubair K., Bhatti and Lachlan McDonald. (2020). Deepening Decentralization within Centrally Led States: The Direction of Local Governance Reforms in Southeast Asia. <https://elibrary.worldbank.org/doi/abs/10.1596/35005 >
[33] Haque, M.S. 2010. "Decentralizing Local Governance in Thailand: Contemporary Trends and Challenges. International Journal of Public Administration 33 (12-13): 673-688 in Zubair K. Bhatti and Lachlan McDonald. (2020), Deepening Decentralization within Centrally Led States: The Direction of Local Goverance Reforms in Southeast Asia. <https://elibrary.worldbank.org/doi/abs/10.1596/35005 >
[34] Unger, D., and C. Mahakanjana, 2016. "Decentralization in Thailand.
Journal of Southeast Asian Economies 33 (2): 172-187. in Zubair K. Bhatti and Lachlan McDonald. (2020). Deepening Decentralization within Centrally Led States: The Direction of Local Governance Reforms in Southeast Asia. <https://elibrary.worldbank.org/doi/ abs/10.1596/35005 >
[35] ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงมหาดไทย, (2561), คู่มือการป้องกัน ผลประโยชน์ทับซ้อน” <http://www.anticor.moi.go.th/data/COM/ผลประโยชน์ทับซ้อน.pdf> accessed 9 October 2021
[36] “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว: ตู่ นันทิดา นายก อบจ. หายไปไหน ? ชาวเน็ตรู้แล้ว <"https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-706576>
[37] Decentralization Reforms in Dictatorial Regimes as A Survival Strategy - Evidence from Pakistan (Ghazia Aslam) (2019) https://doi. org/10.1177/0192512117712177
[38] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476, 9 ธันวาคา 2476, เล่ม 50, หน้า 751- 762.
[39] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495, 11 มีนาคม 2495, เล่ม 69, ตอน 16, หน้า 286-312.
[40] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218, 29 กันยายน 2515, เล่ม 89, ตอน 145, ฉบับพิเศษ หน้า 53-95.
[41] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534, 4 กันยายน 2534, เล่ม 108, ตอน 156, ฉบับพิเศษ หน้า 1-41.
[42] พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484, 19 สิงหาคม 2484, เล่ม 58, หน้า 1038-1048.
[43] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2506, 22 พฤษภาคม 2506, เล่ม 80 , ตอน 50, ฉบับพิเศษ หน้า 1-15.
[44] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๕๕, 2 ตุลาคม 2545, เล่ม 119, ตอน 99 ก, หน้า 14-34.
[45] ดูเพิ่มเติมใน อลงกรณ์ อรรคแสง. (2561), ทศวรรษแห่งการกระจายอํานาจที่ เต็มไปด้วยการไม่กระจายอํานาจ” ใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (บรรณาธิการ) คือฟ้ากว้าง 60 ปี นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ปทุมธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[46] ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ชย 0023.3/6564 เรื่อง ข้อสั่งการในการประชุม คณะกรรมการอ้านวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบขวา ครั้งที่ 1/2564
[47] (12 พฤษภาคม 2564); ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ชม 0023.3/ว 12400 ข้อสั่ง การในการประชุมคณะกรรมการอํานวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 (23 เมษายน 2564); ศาลากลางจังหวัดนครพนม เพ 0023.3/ว 1965 ข้อสั่งการในการประชุมคณะกรรมการอํานวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา ผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 (27 เมษายน 2564); ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี บท 0023.3/ว 7051 ข้อสั่งการในการประชุมคณะกรรมการอํานวยการบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 (27 เมษายน 2564); ศาลากลางจังหวัด สกลนคร สพ 0023.3/ว 7912 ข้อสั่งการในการประชุมคณะกรรมการอ้านวยการ บูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 (26 เมษายน 2564); ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นศ 0023.3/ว 2211 ข้อสั่งการในการประชุม คณะกรรมการอํานวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 (22 เมษายน 2564) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท 0820.3/ว 2215 เรื่อง ขอเชิญชวนจัดกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจําปีของชาติ พ.ศ.2564 (30 กันยายน 2564)
[48] เปิด “เงินอุดหนุนปี 65” ลงท้องถิ่นทั่วประเทศ 2.9 แสนล้าน เฉพาะ “งบก่อสร้าง” อุดหนุนเฉพาะกิจ กว่า 3.9 หมื่นล้าน, MGR ONLINE, https://mgronline.com/politics/detail/9640000088718.
[49] สํานักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดอุทัยธานี ตผ 0061.4/163 เรื่อง การจ่ายเงิน อุดหนุนทั่วไปกําหนดวัตถุประสงค์/เฉพาะกิจ ที่เหลือจ่ายขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี, 8 พฤษภาคม 2562.
[50] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับเบี้ยกันดารของ ข้าราชการท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541, 23 มกราคม 2541, เล่ม 115, ตอนพิเศษ 8 ง หน้า 20. ; ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541, 14 กรกฎาคม 2541, เล่ม 115 ตอนพิเศษ 61 ง หน้า 4-16
[51] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541, 14 กรกฎาคม 2541, เล่ม 115 ตอนพิเศษ 61 ง หน้า 2-23.
[52] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการวางแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น พ.ศ.2542, 21 พฤษภาคม 2542, เล่ม 116 ตอนพิเศษ 33 ง, หน้า 7-13.
[53] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการลาของคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานสภา รองประธานสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2541, 21 พฤษภาคม 2541, เล่ม 115 ตอนพิเศษ 61 ง, หน้า 4-16.
[54] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น พ.ศ.2541, 14 กรกฎาคม 2541, เล่ม 117 ตอนพิเศษ 120 ง, หน้า 1-12.
[55] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543, 27 พฤศจิกายน 2543, เล่ม 121 ตอนพิเศษ 123 ง, หน้า 16-65.
[56] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548, 25 มกราคม 2548, เล่ม 124 ตอน พิเศษ 119 ง, หน้า 14-30.
[57] สามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://wwwww.mratchakitcha.
soc.go.th/index.php
[58] กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/servlet/DocumentServlet.