ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อปรีดีพบโฮจิมินห์: สายสัมพันธ์และมิตรภาพไทย–เวียดนาม

19
พฤษภาคม
2568

 

วันที่ 19 พฤษภาคม 2433 คือวันเกิดของ โฮจิมินห์ ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชแห่งเวียดนาม ผู้ได้รับการขนานนามจากประชาชนว่า  “บิดาแห่งชาติ” ด้วยความรักและเคารพ ในวาระครบ 135 ปี แห่งชาตกาลของท่าน ในปี 2568 นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างโฮจิมินห์กับ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทย ก็สมควรได้รับการรำลึกในฐานะบทตอนสำคัญที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์แห่งอุษาคเนย์

โฮจิมินห์ เดิมชื่อ เหงวียน อ๋าย ก๊วก (Nguyễn Ái Quốc ) แปลว่า “คนแซ่เหงวียนผู้รักชาติ” ท่านสามารถพูดภาษากวางตุ้งและเขียนอ่านภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว เคยใช้นามแฝงว่า ซ่ง เหวินชู (宋文初 / Tống Văn Sơ) ในช่วงที่เคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ฮ่องกง และถูกจับกุมในปี พ.ศ. 2474 โดยทางการอังกฤษส่งตัวให้รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสดำเนินคดี

ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม โฮจิมินห์เคยพำนักอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะในหมู่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ระหว่างปี พ.ศ. 2466–2474 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวลับเพื่อรวบรวมกำลังต่อต้านฝรั่งเศส โฮจิมินห์ได้ใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน มีบ้านพักและของใช้ส่วนตัวที่ยังหลงเหลือให้เห็นเป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์

 

สงคราม และการฟื้นเอกราชในภูมิภาค

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการเวียตมินห์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ได้ลุกขึ้นประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488 ณ จัตุรัสบาดิ่น กรุงฮานอย ขบวนการกู้ชาติของเวียดนามในขณะนั้นแม้มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นพื้นฐาน แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากมิตรหลากฝ่ายรวมถึงประเทศไทย

หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนสำคัญคือ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสงคราม นายปรีดีไม่เพียงเข้าใจสถานการณ์ของเวียดนาม แต่ยังมีหัวใจแห่งความเป็นธรรม เห็นชอบกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การกดขี่ของเจ้าอาณานิคม

ด้วยจิตมิตรภาพและอุดมการณ์ร่วม โฮจิมินห์จึงส่งตัวแทนเข้าพบปรีดีเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งได้รับการตอบรับทันที ปรีดีสั่งการให้ส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ของเสรีไทยจำนวนมากจากคลังที่ชลบุรี โดยใช้เส้นทางรถไฟส่งต่อไปยังพระตะบอง ก่อนจะตกทอดถึงมือเวียตมินห์ ก่อกำลังขึ้นเป็น “กองพันแห่งสยาม” จำนวนสองกองพัน ซึ่งต่อมาร่วมรบในยุทธการ “เดียนเบียนฟู” จนได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในปี 2497

ชัยชนะที่เดียนเบียนฟูไม่เพียงเปลี่ยนชะตาของเวียดนาม หากยังสะท้อนมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างผู้นำสองชาติผู้มุ่งมั่นในอิสรภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์

 

มิตรภาพที่ดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

 


ปรีดี พนมยงค์ และครอบครัว เยือนประธานโฮจิมินห์ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงฮานอย
จากซ้าย สุดา วาณี และดุษฎี กำลังคารวะ “ลุงโฮ”

 

แม้สถานการณ์การเมืองในไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ปรีดีต้องลี้ภัยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่มิตรภาพกับโฮจิมินห์ไม่เคยจางหาย ในปี พ.ศ. 2509 โฮจิมินห์เชิญปรีดีและครอบครัวเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

ภาพการต้อนรับของโฮจิมินห์ที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความอบอุ่น การโอบกอด การปักดอกกุหลาบบนเสื้อท่านผู้หญิงพูนศุข ล้วนแสดงถึงสายสัมพันธ์ที่ไม่จำกัดด้วยอำนาจทางการเมือง แต่ยืนอยู่บนหลักการแห่งมิตรภาพ ความกตัญญู และคุณธรรมร่วมกันของผู้นำสองประเทศ

ในวาระนั้น โฮจิมินห์กล่าวว่า “ประชาชนเวียดนามชั่วลูกชั่วหลานจะไม่ลืมการสนับสนุนจากประชาชนไทย โดยเฉพาะท่านปรีดี พนมยงค์” และเมื่อโฮจิมินห์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2512 ปรีดีก็เดินทางไปฮานอยเพื่อร่วมพิธีไว้อาลัยในฐานะมิตรผู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันในห้วงยามวิกฤตของประวัติศาสตร์

หลังจากนั้น มิตรภาพระหว่างเวียดนามกับครอบครัวของนายปรีดี พนมยงค์ ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ด้วยความกตัญญูของเวียดนามต่อบุคคลผู้เคยให้การสนับสนุนอย่างจริงใจในยามที่การต่อสู้ยังอยู่ในห้วงแห่งความลำบาก หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนความผูกพันนี้ คือ การเยี่ยมเยือนของ นาย Xuan Thuy (ซวน ถวี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และหัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของเวียดนามเหนือในการประชุมปารีส ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้น 1970

นาย Xuan Thuy ได้เดินทางไปเยี่ยมนายปรีดี ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ราวปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) พร้อมคณะผู้แทนจากเวียดนาม เพื่อแสดงมุทิตาจิตและเจริญสายสัมพันธ์กับอดีตผู้นำเสรีไทยผู้ยืนหยัดในหลักการอธิปไตยและการต่อต้านจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกัน

 


นาย Xuan Thuy พร้อมคณะ เยือนนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ราวปี 2513

 

ภาพถ่ายที่บันทึกไว้ในโอกาสนั้น ปรากฏนาย Xuan Thuy ยืนเคียงข้างปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในสวนฤดูใบไม้ผลิของบ้านอองโตนี ภาพนั้นไม่เพียงสะท้อนการเยือนในทางการทูต แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของมิตรภาพระหว่างสองผู้นำแห่งอุดมการณ์ที่ผูกพันกันผ่านบทบาททางประวัติศาสตร์ที่ยืนหยัดเพื่อเอกราช สันติภาพ และความเป็นธรรมของชาติและประชาชนตน

ในวาระที่ประธานโฮจิมินห์ได้วายชนม์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางไปกรุงฮานอยเพื่อร่วมในพิธีไว้อาลัยท่ามกลางการแสดงความเคารพจากผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มิตรภาพที่ทั้งสองวางรากฐานไว้จึงยังคงสานต่อ แม้ภายหลังจากนั้น ปรีดีจะใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส

กระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 เมื่อทางการเวียดนามได้ทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทย รัฐบาลเวียดนามภายใต้การนำของ ฟาม วัน ด่ง (Phạm Văn Đồng) ประธานคณะรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ส่งหนังสือแสดงความเสียใจถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อย่างเป็นทางการ ใจความตอนหนึ่งกล่าวว่า:

“ด้วยความรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง เราได้รับข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ ฯพณฯ นายปรีดี พนมยงค์ นักต่อสู้ผู้ทรงเกียรติของขบวนการประชาธิปไตยไทย ผู้ซึ่งได้อุทิศตนต่อสู้มากว่าห้าสิบปี และเป็นมิตรที่ใกล้ชิดยิ่งของประชาชนเวียดนาม… ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและจริงใจต่อท่านและครอบครัวของท่าน ในนามของประชาชนและรัฐบาลเวียดนาม”

 

 

เอกสารทางการทูตฉบับนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ความผูกพันระหว่างโฮจิมินห์–ปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่เพียงมิตรภาพของบุคคล หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ร่วมต่อสู้เพื่อเอกราช ความยุติธรรม และสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โฮจิมินห์และปรีดีไม่ใช่เพียงผู้นำในทางการเมือง แต่คือผู้จารึกแนวคิดอันยิ่งใหญ่ไว้ให้ชนรุ่นหลัง ทั้งสองมีภูมิหลังต่างกันในบางแง่มุม โฮจิมินห์เดินบนเส้นทางปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ปรีดีเชื่อมั่นในประชาธิปไตยตามแนวทางสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งคู่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ ศรัทธาในเอกราชของชาติ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของมนุษย์

ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้โฮจิมินห์และปรีดีเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของทั้งสอง โดยห่างกันเพียงสิบปี (โฮจิมินห์ในปี 2533 และปรีดีในปี 2543) ถือเป็นการประกาศเกียรติคุณอันสมควรอย่างยิ่ง

ในโลกที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจ บทเรียนจากมิตรภาพระหว่างโฮจิมินห์กับปรีดี พนมยงค์ เป็นสิ่งเตือนใจว่าการเมืองแห่งคุณธรรมยังมีที่ยืน มิตรภาพของผู้นำที่ถือหลักการ ย่อมมีพลังยิ่งกว่าพันธะใด ๆ ที่เกิดจากผลประโยชน์

ในวาระครบรอบ 135 ปี ชาตกาลของโฮจิมินห์ และ 125 ปีชาตกาลของปรีดี พนมยงค์ ในเดือนพฤษภาคม 2568  จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะรำลึกถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไทย–เวียดนาม ผ่านสายใยของสองบุคคลที่แม้จากโลกไปแล้ว แต่จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสันติภาพยังคงส่องแสงอยู่จนทุกวันนี้

 


พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ อดีตนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียตนาม และท่านTa Quang Ngoc อดีตประธานสมาคมมิตรภาพเวียตนาม-ไทย เข้าเยี่ยมคารวะท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  ณ บ้านซอยสวนพลู ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยครั้งแรก

 

อ่านบทความ: เมื่อปรีดีพบโฮจิมินห์: ความหลังเรื่องความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม โดย ศุขปรีดา พนมยงค์

บทความที่เกี่ยวข้อง: