
บทความชิ้นนี้ดิฉันตั้งใจเขียนถึง “โฮจิมินห์” รัฐบุรุษของชาวเวียดนามในวาระครบครอบ 135 ปีชาตกาลของเขา (เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433) ด้วยอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งอาจแตกต่างไปจากมุมมองของนักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักวิเคราะห์ข่าวสารระหว่างประเทศ หรือนักการทหาร ดังปรากฏในสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย
หากเป็นมุมมองของนักวิชาการด้านโบราณคดี ที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน ทำวิจัย เก็บข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์ และชีวิตผู้คน ในประเทศเวียดนาม 3 ครั้ง (ปี 2551, 2557 และ 2562) ทุกครั้งที่ได้ไปเหยียบแผ่นดินเวียดนาม ดิฉันสัมผัสถึง “จิตวิญญาณของคนเวียดนาม” ที่ยังรัก เคารพ เทิดทูน ผูกพันในตัว “โฮจิมินห์” อย่างฝังรากลึกและไม่มีวันเสื่อมคลาย
ดิฉันเกิดแรงปรารถนาใคร่รู้ใคร่ทราบ ถึงปูมหลังของมหาบุรุษผู้นี้จากปากของชาวเวียดนามด้วยบทเสวนาหรือคำถามของตัวเอง ดิฉันชอบชวนคนเวียดนามคุยเรื่องโฮจิมินห์ ขอสัมภาษณ์ทุกคนที่ดิฉันสัมพันธ์ด้วย ให้ช่วยเล่าความทรงจำที่แต่ละคนมีต่อมหาบุรุษผู้นี้ในแง่มุมต่าง ๆ บางท่านเป็นทหาร อาจารย์ แพทย์ ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ พนักงานขับรถ พ่อค้าแม่ขาย ช่างทำผม ฯลฯ
สิ่งที่ดิฉันนำเสนอในบทความชิ้นนี้ จึงไม่ใช่การแปลข้อมูลจากหนังสือหรือสารานุกรมภาษาฝรั่งเศสเล่มหนึ่งเล่มใด รวมทั้งมิใช่งานค้นคว้าที่ดึงมาจากบทความเชื่อถือได้ตามเว็บออนไลน์ใด ๆ ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการฟังคนเวียดนามที่รักและศรัทธาต่อโฮจิมินห์อย่างแรงกล้า โดยดิฉันนำเรื่องเล่าเหล่านั้น มาเรียงร้อยเข้าด้วยกันให้เป็นเนื้อเดียว มิได้เขียนแบบแยกส่วนบทสัมภาษณ์ทีละคนแบบงานเขียนเชิงสารคดี
ทำไมโฮจิมินห์ต้องไปฝรั่งเศส รวมถึงการสานสัมพันธ์กับคนทั่วโลก ?
จะว่าไปแล้วระดับการศึกษาของโฮจิมินห์ มิได้มีดีกรีสูง ช่วงที่เขาตัดสินใจไปเรียนรู้ชีวิตที่ฝรั่งเศส อย่าว่าแต่จะต้องมาถามว่า เขามีแผนเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเช่นไรเลย ช่วงนั้นเขายังไม่จบชั้นมัธยมปลายด้วยซ้ำ ทว่าด้วยความตระหนักเรื่องชาติบ้านเมืองที่ตกอยู่ใต้อุ้งเท้าฝรั่งเศสอย่างไร้ทางออก คำถามหนึ่งที่เวียนวนอยู่ในจิตใจเขาตลอดเวลาก็คือ
“เพราะความโง่เขลาใช่ไหม ที่ทำให้คนชาติหนึ่งต้องกลายเป็นทาสของคนอีกชาติหนึ่ง?”
เขาหมกมุ่นอยู่กับการตีโจทย์ ถาม-ตอบตัวเองนับพันนับหมื่นครั้งถึงเรื่อง “ความโง่ - ความฉลาด” ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาว-คนผิวเหลือง พวกเราโง่จริงหรือ? หรือเราไม่โง่ แค่เราซื่อและไม่โกง?
ในที่สุดเขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน อุทิศเวลาทั้งหมดไปสอนหนังสือให้คนยากไร้ในชนบท ทั้งที่ตัวเขาเองก็แค่เด็กมัธยมปลาย นั่นคืออุดมการณ์อันสูงส่งของเขา ว่าแม้เป็นเพียงเด็กหนุ่มที่มีความรู้ไม่มากนัก แต่ก็ยังมีจิตกุศลที่อยากแผ่เผื่อเจือจานสอนหนังให้ชาวบ้านอ่านออกเขียนได้บ้าง
การตระเวนสอนหนังสือของเด็กหนุ่มในวัยยี่สิบต้นช่วงนั้น สะท้อนว่าโฮจิมินห์มีจิตวิญญาณของความเป็น “ครู” หรือ “ครุเทพ” อยู่ในสายเลือด อยู่ใน DNA การที่เขาได้สัมผัสกับความทุกข์ยากของผู้คนตั้งแต่วัยเยาว์ ยิ่งเร่งเชื้อโหมกระพือ ผลักดันให้เขายิ่งอยาก “ปลดแอกอานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ทนอย่างถ้วนหน้า”
การเดินทางไปปารีสของโฮจิมินห์ในวัยหนุ่มนั้น เขามิได้มีความทะเยอทะยานอยากได้ดีกรีสูง ๆ มาประดับเกียรติประวัติของตน ทั้งที่เขาเป็นคนสมองดีระดับอัจฉริยะผู้หนึ่ง ไม่ยากเลยที่หากเขาจะขอทุนการศึกษาจากบาทหลวงคาทอลิกจากโบสถ์ใดโบสถ์หนึ่ง เพื่อเรียนต่อให้สำเร็จปริญญาโทปริญญาเอก แต่เขากลับปฏิเสธสถาบันการศึกษา
เขาประสงค์ที่จะเสาะหา “ความรู้” ด้วยตัวเองแบบคนนอกระบบ เพราะเขาต้องการ “ปัญญา” ไม่ใช่ “ใบปริญญา”
และวัตถุประสงค์อีกข้อของการไปฝรั่งเศสคือ เขาอยากไปเรียนรู้วิสัยทัศน์ของ “คนฉลาด แต่ขี้โกง”
โฮจิมินห์บันทึกไว้ว่า ประสบการณ์อันใหญ่หลวงของเขาก็คือช่วงระหว่างการเดินทางในเรือเดินสมุทรจากเวียดนามไปฝรั่งเศส เรือต้องแวะรับผู้โดยสารจากเมืองท่าสำคัญหลายเมือง อาทิ สิงคโปร์ ปีนัง อินเดีย มาดากัสการ์ กว่าจะถึงฝรั่งเศส ใช้เวลานานหลายเดือน
ช่วงนั้นโฮจิมินห์ได้พบปะคนต่างชาติมากหน้าหลายตา เขาแอบสังเกตว่าใครอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง บางคนหยิบเอาหนังสือพิมพ์ของประเทศตนติดตัวมาด้วย เมื่ออ่านเสร็จก็วางหนังสือพิมพ์ลง โฮจิมินห์มักจะไปขออนุญาตหยิบมาอ่านต่อเสมอ แล้วขอคุยกับคน ๆ นั้น ว่าทำไมจึงสนใจคอลัมน์นี้ ประเด็นนั้น ขอให้แต่ละคนช่วยเล่าถึงความฝันความหวัง หรือปัญหาของแต่ละประเทศว่ามีอะไรบ้าง
เห็นได้ว่าโฮจิมินห์เป็นคนที่ใช้ชีวิตในทุก ๆ วินาทีอย่างมีคุณค่าสูงสุด เขาต้องการประมวลปัญหาของสังคมโลกโดยรวมของมนุษยชาติ เพื่อหาทางแก้ไข โดยมิได้คำนึงถึงแต่ความสุขความสำเร็จของตนแต่เพียงผู้เดียว
บุคคลสำคัญที่โฮจิมินห์ได้พบได้รู้จักเสวนาปสาทะในช่วงที่เขาเดินทางถึงปารีส มีทั้ง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไปเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ นอกจากนี้เขาได้พบกับหลานชายของคาร์ล มาร์กซ์ ชาวรัสเซียน ผู้ถ่ายทอดอุดมการณ์ของมาร์กซ์และเลนินให้แก่เขาอย่างเข้มข้น
ในช่วงที่โฮจิมินห์อยู่ในฝรั่งเศส เป็นห้วงเวลาที่มีคนต่างด้าวจากประเทศเมืองขึ้นฝรั่งเศส-อังกฤษ ไปออกันเป็นพลเมืองชั้นสามจำนวนมาก คนผิวขาวยังมองไม่เห็นว่าคนเหล่านี้มีพิษสง คงไม่มีปัญญาปลดแอกอะไรได้ จึงอ้าแขนรับ “เรฟูจีหัวดำ” เข้ามา ให้ที่ซุกหัวนอนตามอัตภาพ คิดเสียว่าแค่โยนเศษเนื้อแลกกับแรงงานในฐานะกุลี
ทว่าแท้จริงแล้วคนจากประเทศกลุ่มอินโดจีนที่หลั่งไหลไปรวมตัวกันอยู่ในฝรั่งเศสล้วนเป็นอีลีท (Elite) กลุ่มหนึ่งเป็นคนมีฐานะ เชื้อเจ้า ขุนนาง มีชาติวุฒิสูง เช่นเจ้าสุภาณุวงศ์ของลาวก็ไปเรียนที่นั่น
กับอีกกลุ่มคือ คนมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบโฮจิมินห์ที่ดูภายนอกยากจน ไม่ได้ไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ลงเรือเร่ร่อนมาของานทำที่ร้านอาหารในฐานะผู้ช่วยกุ๊ก เด็กเสิร์ฟ ยิ่งไม่ได้ถูกใครจับจ้อง เขาจึงเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
เสียงจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ถึงจักรพรรดิเวียดนาม “ต้นไผ่ต้องยอมหัก แต่อย่ายอมงอ”
เมื่อโฮจิมินห์ทำงานได้สักระยะหนึ่งแล้ว เงินทุกฟรังค์ทุกซองตีมที่เขาหามาได้ เขาไม่เคยเอาไปปรนเปรอแลกความสุขเพื่อยกระดับฐานะของตนให้กินดีอยู่ดีขึ้นเลย หากเอาเงินทั้งหมดนั้นไปลงทุนทำหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อ “La Pauvre” (ลาโป๊ฟเวรอะ) แปลว่า “คนยากไร้” เขาเป็นนักเขียนเองแทบทุกคอลัมน์ เป็นบรรณาธิการเอง ทำอาร์ตเวิร์ตเองทั้งเล่ม บทความส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่การกล่าวโทษต่อ “ระบอบอาณานิคม”
หนังสือพิมพ์เมื่อทำเสร็จ เขาก็ไม่ได้คิดจะขาย แต่ตั้งใจเอาไปแจกให้เพื่อนต่างด้าวผู้มีความเจ็บช้ำน้ำใจเหมือน ๆ กันได้อ่าน เป็นการตอกย้ำและผลึกกำลังกัน ร่วมวิเคราะห์ปัญหาที่ประเทศภายใต้อาณานิคมถูกกดขี่ ทั้งผู้มาจากทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ เราจักช่วยกันปลดโซ่ตรวนนี้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
บทความชิ้นสำคัญที่โฮจิมินห์เขียนในหนังสือพิมพ์ “คนยากไร้” จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวคือ เขาได้พาดพิงถึงจักรพรรดิไคดิ่น เชื้อพระวงศ์ผู้ได้รับการยกย่องในเวียดนามแถบตอนใต้ ช่วงนั้นท่านเสด็จไปฝรั่งเศส โฮจิมินห์เขียนบทความเชิงสัญลักษณ์ถึงพระองค์ โดยเปรียบเทียบกับต้นไผ่ในทำนองว่า
“ต้นไผ่มีคุณลักษณะพิเศษ ลำต้นของมันตรง ทื่อและซื่อ ต่อให้เอาไปเผา อย่างมากก็แค่เปลี่ยนเป็นเถ้าสีดำ ลำต้นมันยังคงตรงทื่อ ใครต้องการเอามันไปดัดอย่างไรก็ไม่เป็นรูปทรงตามนั้น มีแต่จะทำให้มันหักและแตกสลายเท่านั้นเอง”
เป็นการประกาศกร้าวถึงความทระนงคงมั่น ราวกับจะส่งสัญญาณไปเตือนจักรพรรดิไคดิ่นว่า ขออย่าให้ประมุขสูงสุดของเวียดนามโอนอ่อนคล้อยตามฝรั่งเศสอีกเลย โปรดยอมหักแต่อย่ายอมงอโดยเด็ดขาด เพราะศักดิ์ศรีของชาวเวียดนามนั้น คือความซื่อตรงแบบต้นไผ่
ถือเป็นบทความชิ้นฮือฮามากที่สุดชิ้นหนึ่ง เอกสารชิ้นนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงฮานอย
เมื่อเขาออกหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เริ่มมีแฟนคลับที่สนับสนุนให้เขาก่อตั้งชมรมคนพลัดถิ่น โดยรวบรวมคนทุกผิวสีที่มาจากประเทศเมืองขึ้นทั้งของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ โดยโฮจิมินห์เป็นประธานชมรม จากชมรมยกระดับขึ้นเป็นสมาคม
นั่นคือช่วงเวลาที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่เพียงแต่ท่ามกลางกลุ่มคนเอเชีย แอฟริกัน อเมริกาใต้เท่านั้น หากยังรวมไปถึงบรรดากลุ่มอีลีท พวกหัวกะทิชาวผิวขาวเองที่มีแนวความคิด anti-colonized ไม่ว่าชาวฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย โปแลนด์ ฯลฯ ก็มักจะมารวมตัวกันล้อมวงฟังสิ่งที่เขาพูด
ไม่เพียงแต่เท่านั้น เขายังเคลื่อนไหวในด้านการเข้าร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งก่อหวอดในฝรั่งเศส และต่อมาเขาแยกคนกลุ่มหนึ่งออกมาก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ โดยตัวเขาเป็นหัวหน้าพรรคเอง ทำให้เขาไม่สามารถอยู่ในฝรั่งเศสต่อไปได้ เริ่มโดนไล่ล่า เขาต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปหลายประเทศ ประเทศหลัก ๆ คือจีน รวมทั้งไทยด้วย
ขบวนการรวมพลของโฮจิมินห์
เมื่อโฮจิมินห์กลับมาเวียดนาม เขาไม่จำเป็นต้องปลุกระดมมวลชนในรูปแบบไฮปาร์คกลางสวนสาธารณะ ท่ามกลางคนฟังนับหมื่นนับแสน แค่เขาสื่อสารถึงกลุ่มหัวกะทิที่ล่วงรู้อุดมการณ์ของเขาสมัยอยู่กรุงปารีสด้วยกัน อีลีทเพื่อนฝูงเหล่าปัญญาชนคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้นี่เอง ที่คอยทำหน้าที่เป็นมือเป็นเท้าช่วยเหลือเขาในการรวมพล
ครั้งหนึ่งชาวฝรั่งเศสมองผู้อพยพเหล่านี้ว่าเป็น “คนชั้นล่างสุดของสังคม” เป็นแค่ “ขยะผิวเหลืองเคลื่อนที่ได้” หารู้ไม่ว่าคนกลุ่มนี้ได้แอบก่อหวอด กลายเป็น “ฐานกำลังอันแข็งแกร่ง” ของโฮจิมินห์ ยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือในทุกคาบสมุทร ทั้งการทะลวงเปิดแนวรบวงกว้าง และแม้ในยามคับขันเข้าตาจน
ขณะที่โฮจิมินห์กลับมาเวียดนามใหม่ ๆ เวียดนามยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นเหนือ กลาง ใต้ แต่ละฝ่ายมีทั้งหัวก้าวหน้า คละเคล้ากลุ่มยอมก้มหน้าต่อทุกระบอบ ยังมีคนเวียดนามผู้ได้รับผลประโยชน์จากฝรั่งเศสจับตามอง คอยสอดแนมคาบข่าวไปฟ้องเจ้าอาณานิคม โฮจิมินห์ตระหนักดีว่า เขาไม่สามารถจัดประชุมแกนนำเสนอแนวคิดต่อต้านฝรั่งเศสในประเทศเวียดนามได้ เขาจึงเลือกที่จะไปเคลื่อนไหวแผนโค้นล้มฝรั่งเศสในประเทศจีน โดยคัดเลือกเฉพาะคนที่มีอุดมการณ์เข้มข้นระนาบเดียวกันเดินทางไป
ในห้วงเวลานั้น ไม่เพียงแต่เวียดนามประเทศเดียว กระแสต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมกำลังแบ่งบานกระจายทั่วอินโดจีน ทั้งในลาวและกัมพูชา ต่างก็ไม่สามารถประกาศตัวเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าอาณานิคมอย่างเปิดเผยได้ จำเป็นต้องผนึกกำลังกันไปเคลื่อนไหวในจีน ช่วงนั้น ลาวมีตัวแทนภาคกลางจากสุวัณณเขตคือนายไกรสอน พรมวิหาร ส่วนตัวแทนลาวทางภาคเหนือคือ เจ้าสุภาณุวงศ์ เพื่อนพลัดถิ่นที่รู้จักกับโฮจิมินห์แล้วตั้งแต่อยู่ฝรั่งเศส
เมื่อประชุมเสร็จ โฮจิมินห์ดำเนินการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน มีวัตถุประสงค์หลักเฉพาะหน้าคือเพื่อปลดแอกเจ้าอาณานิคม ลัทธิมาร์กซิสต์นี้ โฮจิมินห์ได้บันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของเขาหลายตอนว่า เขามิได้คลั่งไคล้มันแบบสุดโต่ง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ขณะนั้น ทางออกเดียวที่เขาจะเอามาใช้เป็นคัมภีร์ต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมได้ ไม่มีระบอบใดเหมาะสมเท่ากับลัทธิคอมมิวนิสต์อีกแล้ว
โฮจิมินห์เป็นหัวขบวนกลุ่มอินโดจีนในการต่อสู้กับฝรั่งเศส เขายังคงทำหนังสือพิมพ์เผยแพร่ถึงความเลวร้ายของลัทธิล่าอาณานิคมอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามดึงกลุ่มอาณานิคมอังกฤษบางประเทศมาร่วมหารือด้วย หนังสือพิมพ์ของเขาทำให้พบว่า โฮจิมินห์มีความสามารถในการเขียนหนังสือได้มากถึง 5 ภาษาเป็นอย่างต่ำ ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษารัสเซีย และภาษาเยอรมัน
ความปราดเปรื่องด้านภาษาของเขา สามารถการันตีว่าเป็นเรื่องจริงได้อย่างน้อยสองภาษา นั่นคือฝรั่งเศสและจีน ด้วยยุคที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม ได้บังคับให้พลเมืองเรียนภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ชั้น ป. 1 คนรุ่นโฮจิมินห์ จึงมีความสามารถอ่านภาษาฝรั่งเศสออกและเขียนได้คล่องแคล่ว ส่วนภาษาจีนนั้น จากประวัติของเขาระบุไว้ชัดว่าในโรงเรียนที่บิดาส่งเขาไปร่ำเรียนตั้งแต่ชั้นประถมนั้น ก็มีการใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลักควบคู่กับภาษาฝรั่งเศสด้วย
ส่วนอีกสามภาษาคืออังกฤษ รัสเซีย และเยอรมันนั้น นายทหารคนใกล้ชิดโฮจิมินห์อธิบายไว้ว่า โฮจิมินห์ไปประเทศไหนก็ตาม เขามักเตรียมพร้อม พกพจนานุกรม กระโจนเข้าหาคนที่เป็นปราชญ์ของภาษานั้น ๆ เป็นคนมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ทุกภาษาอย่างใจจดใจจ่อ เช่นเดียวกับภาษาไทย ในช่วงที่เขาเคยหนีมากบดานหลบซ่อนตัวที่พิจิตรและนครพนมในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็สันนิษฐานว่าเขาสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดียวกัน
โฮจิมินห์ถูกจับที่จีนถึงสองครั้ง
การที่โฮจิมินห์ออกมาเคลื่อนไหวนอกฝรั่งเศส ก็เพราะเขาอยู่ในฝรั่งเศสต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ประกอบกับน่าจะได้เวลาที่เขาต้องกลับมากอบกู้เอกราชปลดปล่อยสามประเทศอินโดจีนจากฝรั่งเศส
ส่วนการเข้ามาประเทศไทยหลายครั้งของเขา ไม่พบคำอธิบายที่แน่ชัดนักว่าเขาต้องการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยด้วยหรือไม่ เนื่องจากไทยไม่ได้รับผลกระทบด้านการถูกกระทำในฐานะประเทศอาณานิคม เขาน่าจะใช้ไทยเป็นแค่แหล่งกบดาน พรางตัว เป็นหลุมหลบภัย เป็นทางผ่านมากกว่า เพราะเป้าหมายของเขาคือ ปลดปล่อยสามประเทศอินโดจีนจากฝรั่งเศสคือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา
โดยใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีพี่ใหญ่รัสเซียที่เขียนไว้เป็นคัมภีร์หรือธงนำ แล้วใช้จีนแดงเป็นพื้นที่ในการรวมพล รวมสรรพกำลัง สำหรับเคลื่อนไหว
การเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตลอดเวลาของเขา ทั้งทางลับ ใต้ดิน และในที่แจ้ง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือจากมิตรสหายชาติต่าง ๆ ทำให้เขาตกเป็นเป้าสายตา
วันหนึ่งเขาพลาดท่าเสียที ถูกจับได้ที่ฮ่องกง ขณะนั้นเกาะฮ่องกงอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ อังกฤษสั่งให้รัฐบาลฮ่องกงจับตัวโฮจิมินห์ตามคำขอร้องของฝรั่งเศสผู้เป็นพันธมิตรกัน
โชคชะตา! ในระหว่างถูกจับที่ฮองกงนั้น เขารอดมาได้ราวปาฏิหาริย์
ในความจริงนั้น ไม่เคยมีปาฏิหาริย์สำหรับชายผู้นี้ การรอดของเขา มาจาก “อุดมการณ์อันดีงาม” ของเขาเองมากกว่า ฟ้าดินย่อมรู้เห็น
คนเวียดนามกล่าวสืบต่อ ๆ กันมาว่า ทุกครั้งที่โฮจิมินห์ตกอยู่ในภยันตราย ระหว่างความเป็นความตายเท่ากัน ทุกครั้งนั้น “มักมีสตรียื่นมือมาช่วยเสมอ” หากพูดเป็นภาษาไทยอาจประมาณว่า “นารีอุปถัมภ์”?
สตรีท่านนี้เป็นภริยาของทนายความประจำราชสำนักอังกฤษผู้มีนามว่า ลูสบีย์ เธอรู้จักกับโฮจิมินห์ตั้งแต่เขาเดินทางมาเคลื่อนไหวเรื่องการปลดแอกอินโดจีนในสหราชอาณาจักร ในฐานะที่เธอเป็นหนึ่งใน Elite เธอแอบติดตามอ่านบทความของเขาอยู่ แม้เธอจะเป็นคนในสังกัดประเทศเจ้าอาณานิคม แต่เธอกลับชื่นชมในน้ำใจอันอาจหาญของเขา
สำหรับคดีอุกฉกรรจ์ครั้งนั้นไม่ง่ายเลย โฮจิมินห์อยู่ในสถานะ “ผู้ร้ายข้ามแดน” ที่อังกฤษต้องส่งต่อให้ฝรั่งเศส ไม่ว่าเธอจะโอ้โลมปฏิโลมสามีเพียงใด เขาก็ยืนยันว่า ไม่มีวันช่วยว่าความให้ชายเวียดนามผู้หัวรุนแรงฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ผู้นี้อย่างเด็ดขาด
เธอวิงวอนสามีผู้เป็นทนายความว่า ขอร้องได้โปรดไปพบโฮจิมินห์สักครั้งเถิด ลองไปพูดคุยกับเขาสักนิดที่เรือนจำ แล้วหลังจากนั้นจะไม่ช่วยเหลือเขาก็ไม่เป็นไร ครั้นเมื่อสามีของเธอตัดสินใจไปพบโฮจิมินห์ตัวเป็น ๆ ลูสบีย์ได้สัมผัสถึงพลังคมกล้าผ่านแววตา รับรู้ถึงจิตใจอันเด็ดเดี่ยวว่าการเสี่ยงตายของโฮจิมินห์ครั้งนี้ กระทำไปเพื่อมนุษยชาติที่ถูกยีย่ำอย่างแท้จริง โฮจิมินห์มิใช่อาชญากร ฆาตกร หากเขาคือวีรบุรุษผู้แบกแอกอานไว้บนสองบ่า นั่นคือการเดิมพันชีวิตแลกกับอิสรภาพของอินโดจีน
หากทนายไม่ช่วยเขา ชาตินี้ทั้งชาติทนายก็คงตายตาไม่หลับ
ความช่วยเหลือของทนายความประจำราชสำนักอังกฤษต่อโฮจิมินห์ มิใช่เรื่องง่ายเลย เพราะโจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรอังกฤษจึงจะไม่เสียมิตรสัมพันธ์ต่อฝรั่งเศสด้วย
ถึงแม้โฮจิมินห์จะชนะคดี แต่ฝรั่งเศสก็ยังโกรธ ทนายเห็นว่าหากปล่อยให้โฮจิมินห์อยู่ในสภาพคนสิ้นไร้ไม้ตรอกแบบนี้ต่อไปที่ฮ่องกง ฝรั่งเศสก็จะมาบุกจับตัวไปได้โดยง่าย เขาจึงแอบช่วยโฮจิมินห์แบบปิดลับ วางแผนให้โฮจิมินห์หนีกลับไปกบดานที่เมืองไทยอีกครั้งสักระยะ
ทว่าการทำงานของโฮจิมินห์ยังไม่สำเร็จ เขาแอบกลับมาจีนอีกครั้ง ทำให้เขาถูกจับเข้าคุกอีกจนได้ ซ้ำครั้งหลังนี้ถูกจองจำนานถึง 1 ปี กล่าวกันว่าคราวนี้โฮจิมินห์ถูกทารุณปางตาย สภาพคุกก็คล้ายคุกขี้ไก่ และยังถูกโยกย้ายไปอยู่ในคุกตามชนบทต่าง ๆ อีกด้วยทุก ๆ 1 เดือน รวมจำนวนมากถึง 12 คุก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เขาคุ้นเคยกับพัสดีผู้คุมขัง มิให้เกิดความเห็นใจแล้วช่วยเหลือให้เขาออกจากคุก
คนที่จับโฮจิมินห์ขังคุกหาใข่ใครที่ไหน เขาคือ “เจียงไคเช็ก”

ที่คุมขังโฮจิมินห์ในฮ่องกง ค.ศ. 1931 - ค.ศ. 1933
ก่อนหน้านั้น ในยุคที่ ดร.ซุนยัดเซ็น บุรุษผู้ได้รับฉายาว่า นักวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในจีนคนแรก เรืองอำนาจ ซุนยัดเซ็นมีมิตรภาพอันดีกับโฮจิมินห์ เขาเปิดประเทศจีนให้กลุ่มอินโดจีนที่ต้องการต่อต้านลัทธิอาณานิคมเข้ามาเคลื่อนไหวอย่างเสรี
ระหว่างนั้นโฮจิมินห์ได้ส่งนักเรียนเวียดนามไปเรียนการทหารในจีนด้วยจำนวนหลายรุ่น
อีกมุมหนึ่ง ซุนยัดเซ็นเองก็มีสัมพันธ์อันดีกับ เหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนอีกคนที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์เหมือนโฮจิมินห์ เนื่องจากเหมาเจ๋อตงเป็นกำลังสำคัญในการช่วยซุนยัดเซ็นขับไล่ชาวต่างชาติ ทั้งคนผิวขาวและญี่ปุ่นให้ออกไปจากจีน แม้อุดมการณ์การเมืองจะต่างกัน แต่ทั้งสองก็ไม่เป็นปรปักษ์ต่อกัน
การเข้าออกประเทศจีนของโฮจิมินห์ในยุคสมัยที่ซุนยัดเซ็นยังมีอำนาจ ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่แล้วหลังจากที่ซุนยัดเซ็นเสียชีวิต เจียงไคเช็คผู้เป็นมือขวาของซุนยัดเซ็น ในซีกปีกที่สืบทอดเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตย กลับหันไปจับมือสนิทสนมกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่น กระทั่งต่อมาได้แยกจีนออกเป็นสองเสี่ยง ทำให้เกิดประเทศไต้หวัน เมื่อเจียงไคเช็คมีอำนาจคับฟ้า เขาสั่งให้จับโฮจิมินห์ไปขังคุกอย่างทรมาน
และอีกครั้งที่โฮจิมินห์ได้รับการช่วยเหลือจากนารี สตรีผู้นี้คือ “ซ่งซิงหลิง” ภรรยาของซุนยัดเซ็น (นิยมเรียกกันว่ามาดามซุน) นางมีศักดิ์เป็นพี่สาวแท้ ๆ ของภริยาเจียงไคเช็ค เธอผู้นี้ต่อมามีบทบาทเป็นถึงรองประธานประเทศจีนอีกด้วย
การพ้นโทษของโฮจิมินห์มาจากข้อแนะนำของมาดามซุนคือ ขอร้องให้โฮจิมินห์ช่วยคายความลับทุกอย่างที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นเท่าที่เขารู้มาให้แก่รัฐบาลจีน มิฉะนั้นแล้ว โฮจิมินห์จะต้องถูกขังคุกอีกยาวนานหรือดีไม่ดีอาจตายคาคุกด้วยซ้ำ เพราะสถานะเขาคือนักโทษการเมืองเดนตาย
นานตราบนานชั่วฟ้าดินดับ เขาคือศาสนา คือคุณธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ประธานาธิบดีผู้ไร้ยูนิฟอร์ม จอมพลผู้ไร้เหรียญตรา
ดิฉันชอบถามชาวเวียดนามที่รู้จักกันว่าคุณนับถือศาสนาอะไร ส่วนมากไม่ตอบว่าพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม แต่มักตอบเหมือน ๆ กันเกือบ 90 % ว่า
พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีศาสนาก็ได้ แค่นับถือคำสอนของ “โฮจิมินห์” ก็เพียงพอแล้ว เพราะเป็นส่วนผสมระหว่าง “ขงจื๊อ กับอุดมการณ์ของอับราฮัม ลินคอห์น”
ขงจื๊อคือความมีระเบียบวินัย เคารพคุณงามความดีของบรรพบุรุษ ความเป็นเหตุเป็นผล และรักในธรรมชาติ ส่วนแนวคิดของอับราฮัม ลินคอห์นคือ เมตตาธรรม มองเห็นคนเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้แล้ว บางคนยังวิเคราะห์ว่า โฮจิมินห์มีคติธรรมหลายอย่างใกล้เคียงกับแนวคำสอนของศาสนาพุทธด้วยเช่นเดียวกัน คือรักสงบ สันติ สันโดษ
แต่หากจะให้โฮจิมินห์ยึดตามคำสอนของศาสนาพุทธแบบเคร่งครัด คือรู้จักการบำเพ็ญตบะ ไม่ตอบโต้ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ยอมรับว่าการถูกกดขี่คือกรรมเก่าที่ชาตินี้ต้องชดใช้ แล้วไซร้ คนเวียดนามก็จะไม่มีวันลุกขึ้นสู้ ก็จะอยู่ในสภาพของสังคมก้มหน้า ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ใช้อาวุธประหัตประหารกัน หากโฮจิมินห์ยึดตามคำสอนนี้ก็มีแต่จะนำพาประเทศให้พ่ายแพ้ ไม่สามารถกอบกู้เอกราชคืนมาได้
ชาวเวียดนามเชื่อว่าคงอีกนานตราบนานทีเดียว มิรู้ว่าจะอีกกี่ร้อยกี่พันปี อาจจะยาวนานกว่า “ชั่วฟ้าดินดับ” จึงจักมีมหาบุรุษผู้เปี่ยมท้นคุณธรรมอันสูงส่งเทียบเท่าเขามาอุบัติในโลก
...ประธานาธิบดีที่ไม่ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข (โลกธรรมสี่) ใด ๆ ทั้งสิ้น ....ประธานาธิบดีผู้ไร้ยูนิฟอร์ม จอมพลผู้ไร้เหรียญตรา
ชาวเวียดนามกล่าวว่า สิ่งที่โฮจิมินห์ปฏิบัติให้พวกเราดูนั้น เป็นยิ่งกว่าคัมภีร์ คำสอน หรือศาสนาเสียอีก เพราะเขาคือแบบอย่างของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ งดงาม นั่นคือคำตอบที่ว่า ทำไมเวียดนามจึงมีแรงกายแรงใจสามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้รุดหน้ามาได้จวบจนทุกวันนี้
คนเวียดนามชื่นชมโฮจิมินห์ ไม่ใช่แค่ความสามารถในการเป็นผู้นำปลดแอกชาวต่างชาติเท่านั้น ทว่า โฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางศูนย์รวมแห่งคุณธรรมทุกด้านที่ทำให้คนเวียดนามนำมาเป็นหลักยึดจนสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ที่ผ่านสงครามอันเลวร้ายที่สุด จนสร้างชาติได้ ทะยานขึ้นสู่ความเป็นเลิศของกลชุ่มอาเซียน
บทความนี้ขอนำเสนอวัตรปฏิบัติของโฮจิมินห์ 4-5 ข้อ อันเป็นคุณธรรมที่ตรงกับใจชาวโลก ที่เรียกร้องให้ “ผู้นำ” ทุกประเทศพึงมี
คุณธรรมประการแรก ไม่ยกตนข่มท่าน ใจเขาใจเรา เท่าเทียมกัน
โฮจิมินห์เป็นคนติดดิน เดินทางไปเยือนหมู่บ้านดินแดนแคว้นใด ไม่เคยต้องมีรถหวอนำขบวนประกบหน้าประกบท้าย เขาไม่เคยสวมเสื้อเกราะ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะลอบยิง เป็นที่พบเห็นกันทั่วไปว่าโฮจิมินห์เดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถจี๊ปทหารเก่า ๆ ที่รัสเซียให้มา สวมรองเท้าแตะ เสื้อผ้าเก่าราคาถูก
อีกตัวอย่างหนี่งสำหรับคุณธรรมของโฮจิมินห์ในข้อที่ว่า มีความเข้าใจหัวอกเพื่อนมนุษย์แบบเท่าเทียมกัน
กล่าวคือ เวลาไปตรวจราชการที่ไหนก็ตาม โฮจิมินห์มักแอบจอดรถในที่ที่ไม่มีลิ่วล้อมายืนต้อนรับ เขาต้องการเห็นภาพชีวิตจริงของประชาชน เช่น ให้จอดรถริมท้องนา เห็นชาวนากำลังวิดน้ำ ดำนา หรือหว่านข้าว เขาจะเดินลงไปช่วยทำนาด้วย เพื่อลิ้มรสความยากลำบากที่แท้จริง ชาวนาหลายคนไม่ทราบว่าเขาคือโฮจิมินห์ เมื่อชายแปลกหน้าถามสารทุกข์สุกดิบ พวกชาวนาก็จะเล่าถึงปัญหานาแล้ง นาล่ม ปีหนึ่งขายข้าวได้กี่กระสอบ ดังนั้น รัฐมนตรีไม่สามารถโกหกโฮจิมินห์ได้เลยว่าประชาชนลืมตาอ้าปากอยู่ดีมีสุขหรือแร้นแค้น
คุณธรรมประการที่สอง อย่าปรนเปรอคนสูงศักดิ์ด้วยสิ่งเลอเลิศเกินเหตุ ให้คำนึงถึงคนอื่นที่ทุกข์ยากยิ่งกว่าเราด้วย
หลักคุณธรรมข้อนี้มีกรณีศึกษาหลายตัวอย่าง
ตัวอย่างแรก ครั้งหนึ่งโฮจิมินห์มีกำหนดการไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท พวกผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมตัวต้อนรับประธานาธิบดีอย่างสมเกียรติ กุลีกุจอให้คนครัวเตรียมสำรับกับข้าว ครั้นถึงเวลานัดหมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนรู้สึกแปลกใจว่าทำไมป่านนี้ประธานาธิบดียังไม่มาถึงเสียที ทั้งที่โฮจิมินห์เป็นคนตรงต่อเวลาไม่เคยผิดนัดใคร
มาทราบอีกทีว่า โฮจิมินห์ให้คนขับรถอ้อมไปจอดอีกด้าน โดยแอบเข้าไปในครัว ไปช่วยพ่อครัวทำกับข้าวด้วยตัวเอง พลางถามว่า ยามปกติพวกท่านทานอาหารอะไรกัน
พ่อครัวตอบว่า “ทุกวันพวกเรากินแต่ผักและปลาเค็มซีกเล็ก ๆ พอดีวันนี้เจ้านายสั่งให้ไปหาปลาตัวโต ๆ ไปหาหมูเห็ดเป็ดไก่มาทำกับข้าว เพราะประธานาธิบดีโฮจิมินห์จะมาเยี่ยม ต้องเตรียมอาหารให้หรู ๆ หน่อย”
คนที่เป็นพ่อครัวคุยกับโฮจิมินห์อยู่ตั้งนาน ตอนแรกนึกว่าเป็นตาลุง ญาติของคนในหมู่บ้านที่มาช่วยทำกับข้าว กว่าจะรู้ว่าเขากำลังคุยกับคนที่เอ่ยปากถึง คนที่เขาตั้งใจจะทำกับข้าวให้ทาน เมื่อรู้ว่านี่คือโฮจิมินห์ก็ตกใจ วิ่งออกไปเรียกผู้อำนวยการให้เข้ามาในครัว
โฮจิมินห์ถามผู้บริหารโรงเรียนว่า
“โอ้โฮ! ทำไมสั่งให้คนครัวทำอาหารอะไรต่อมิอะไรหลายเมนูให้เราทานมากมายจัง มีแต่ของดี ๆ ทั้งนั้น เราทานไม่หมดหรอก ในความเป็นจริง พวกท่านไม่ควรสิ้นเปลืองเลย ทุกวันท่านทานอะไรเราก็ทานแบบพวกท่านได้ อาหารมากมายขนาดนี้ หากเหลือแล้วอย่าทิ้งนะ น่าเสียดาย เอาเก็บไว้กินวันพรุ่งนี้ต่อ”
ในที่สุด สถานที่ต้อนรับประธานาธิบดี ห้อง Meeting Room พูดคุยปัญหาด้านการเรียนการสอนกันวันนั้นก็คือในห้องครัวเรานี่เอง
ตัวอย่างที่สอง ของการที่โฮจิมินห์คิดถึงหัวอกคนอื่นอยู่เนือง ๆ มีเรื่องเล่าขานสู่กันฟังแบบมิรู้จบ อีกเรื่องคือ แม้จะมีการสร้างบ้านพักประธานาธิบดีให้ท่านหลังใหญ่ที่กรุงฮานอย ในทำนอง White House และพยายามหาเครื่องปรับอากาศอย่างดีมาติดตั้ง แต่ท่านกลับเมินเฉย
นอกจากจะไม่ยอมขึ้นไปอยู่บนบ้านหลังใหญ่แล้ว ท่านยังขออยู่ในเรือนหลังเล็ก ของนักการภารโรงและช่างซ่อมไฟแทนอีกด้วย โดยหากวันไหนอากาศร้อน ท่านใช้วิธีถอดเสื้อแล้วนอนบนเปลญวนที่ใต้ถุนบ้าน เอาพัดใบตาลหรือพัดใบหมากมาโบก ช่วงแรก ๆ ภาพดังกล่าวได้สร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ผ่านไปมาซุบซิบนินทากัน ว่าทำไมช่างไฟฟ้าบ้านนี้ชอบมานอนถอดเสื้อบนเปลญวน?
จนกระทั่ง โฮจิมินห์ได้เปิดเผยว่า ชายร่างผอมเห็นซี่โครงที่ถอดเสื้อนอนบนเปลญวนนั้น แท้คือตัวท่านนั่นเอง
ไม่น่าเชื่อเลย ว่าบุรุษที่เดินทางไปรอบโลกมาแล้ว ได้อยู่ในประเทศเมืองหนาวเช่นโฮจิมินห์ กลับไม่ต้องการพัดลม เขาบอกกับผู้หวังดีว่า
“เพียงเท่านี้เราก็เย็นฉ่ำมากพอแล้ว ไม่ต้องเอาใจเราด้วยพัดลมหรอก เราเกิดมาในเมืองร้อน แล้วเราก็ทนความร้อนในคุกโลกันตร์ที่จีนมานานจนชาชิน คงไม่มีความร้อนใดที่จะสุมรุมเร้าให้เรารู้สึกรุ่มร้อนมากไปกว่านั้นได้อีกแล้ว”
ส่วนพัดลมเครื่องแรกในประเทศเวียดนาม ที่ลูกน้องอุตส่าห์ประกอบให้ ด้วยการใช้ใบพัดทำจากวัสดุยาง โฮจิมินห์กล่าวว่า
“จงเอาพัดลมเครื่องนี้ไปติดตั้งในห้องพักคนป่วยที่เป็นทหารบาดเจ็บ นอนแออัดยัดเยียดในโรงพยาบาลห้องละเป็น 10 นายนั้นแทนเถิด พวกเขาต้องการพัดลมเพื่อต่อลมหายใจให้พวกเขามากกว่าเรา”
ตัวอย่างที่สาม ของการที่โฮจิมินห์ไม่ประสงค์จะได้รับอภิสิทธิ์ชนเหนือคนอื่น
เหตุการณ์หนึ่ง โฮจิมินห์ได้แจ้งว่าจะเดินทางกลับไปเยือนหมู่บ้านเกิดของเขา เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอรับทราบ ก็กุลีกุจอเขียนแผนพัฒนาความเจริญของหมู่บ้าน ว่าต้องการตัดถนนหนทาง อยากได้สิ่งปลูกสร้างอันสวยหรู มาตุคามของผู้นำประเทศจะได้มีหน้ามีตา
ครั้นโฮจิมินห์รับแผนโครงการมาอ่าน ท่านรำพึงถึงประชาชนเมืองอื่น ๆ ที่ยังยากไร้ แต่ท่านก็มิได้ต่อว่าต่อขานนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ประการใด ท่านเอาปากกามาเขียนตอบกลับบนกระดาษแผนโครงการนั้น ด้วยถ้อยคำสะเทือนใจคนทั้งโลกว่า
“บ้านเกิดของผมจะเป็นแหล่งสุดท้ายที่จะได้รับงบมาพัฒนาให้เจริญและสวยงาม” พร้อมกับตวัดลายเซ็น เอกสารฉบับนี้ยังใส่กรอบจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านโฮจิมินห์ที่กรุงฮานอย ซึ่งเชื่อว่าคนไทยที่นิยมไปเที่ยวเวียดนามเกือบทุกคนต้องแวะชมสถานที่ดังกล่าวนี้มาแล้ว
ข้อความที่โฮจิมินห์เขียนนี้ ชาวเวียดนามถือเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งและสูงส่งยิ่ง สะท้อนว่าคนที่เป็นใหญ่เป็นโตนั้น จะมัวมาคิดถึงแต่บ้านช่องห้องหอ ญาติ ครอบครัว เพื่อนพ้องของตัวเองในลักษณะเอาเปรียบคนอื่นเช่นนั้นไม่ได้ นักปกครองที่ยิ่งใหญ่ย่อมคิดถึงประชาชนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดก่อนเป็นกลุ่มแรก
คุณธรรมประการที่สาม ปฏิเสธ “ลัทธิการบูชาตัวตน ตัวบุคคล”
นอกจากนี้แล้ว โฮจิมินห์ไม่สนับสนุนให้คนเวียดนามเอาตัวเขาไปกราบไหว้เสมือนเทพเจ้า ในยุคที่เขามีชีวิตอยู่ เขาจะไม่ยอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้โดยเด็ดขาด ยกตัวอย่างคำบอกเล่าของพนักงานรถไฟ ที่ได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ปัจจุบันเคำบันทึกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงฮานอย
“ครั้งหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ต้อนรับท่านประธานาธิบดีโฮจิมินห์บนรถไฟ เมื่อรถไฟจอดเทียบชานชาลาสถานีกรุงฮานอย ท่านโฮจิมินห์เหลือบสายตาไปเห็น รูปวาดสีน้ำมันขนาดมหึมาใหญ่เป็นสองเท่าของตัวจริง ติดหราอยู่เหนือหลังคาห้องโถงขายตั๋ว ท่านประธานาธิบดีถามผมว่า ตาแก่คนนั้นคือใครกัน น่าสงสารจริง ๆ ลูกหลานไม่ดูแล เอาใจใส่หรืออย่างไร จึงถูกทิ้งให้มายืนตากแดดตากฝนทรมาน ขอให้พนักงานรถไฟไปเอารูปของตาแก่นี้ลงจากหลังคาเสีย”
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าโฮจิมินห์ไม่ต้องการให้เกิดลัทธิเชิดชูบูชาตัวบุคคลแบบโอเวอร์เกินเหตุ แม้กระนั้น ความดีงามของท่านนั่นเอง ทำให้หลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว ปรากฏการณ์ “รูปที่มีทุกบ้าน” หรือ รูปปั้นขนาดใหญ่ที่มีทั่วทุกแห่ง สวนสาธารณะ ตลาด วงเวียน ห้องประชุม โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า กลับผุดพรายขึ้นเองแบบน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย
คุณธรรมประการที่สี่ เสียสละโดยไม่หวังผล อย่าหลงติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เรื่องการติดเหรียญอวยยศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของคนเวียดนามที่ประทับใจไม่รู้คลาย ในตัวท่านประธานาธิบดีตลอดกาลของพวกเขา กล่าวคือ
นายทหารทุกคนที่ร่วมสมรภูมิรบกับโฮจิมินห์อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ยากแค้นแสนเข็ญ อันที่จริงควรได้รับยศในตำแหน่งลดหลั่นกันไป ทั้งนายพล นายพัน นายร้อย นายสิบ แต่ภาพที่เราเห็นกันชนชินตาตามหนังสือ ภาพยนตร์ สารคดีต่าง ๆ กลับไม่เคยพบว่าโฮจิมินห์มีเหรียญตราประดับอกเลยแม้แต่ภาพเดียว
ส่งผลไปยังคนรอบข้างของเขาที่ร่วมออกรบเพื่อบ้านเมือง ก็มิได้อินังขังขอบใด ๆ ต่อด่าวบนสองบ่าเช่นเดียวกัน ด้วยเห็นว่า คนอย่างโฮจิมินห์ผู้ที่ทำความดีล้นฟ้าระดับนั้น ยังไม่ยอมติดเหรียญ แล้วพวกเขาเป็นเพียงมือเท้าร่วมกงล้อปฏิวัติ ก็ไม่สมควรเอาเหรียญใด ๆ มาประดับเฉกเดียวกัน
จนกระทั่งประชาชนชาวเวียดนามอดรนทนไม่ไหว พวกเขาต้องการให้ “ของขวัญ” แก่ประธานาธิบดีที่พวกเขารัก กล่าวคือในวันเกิดของโฮจิมินห์ ในปีที่อายุครบรอบ 70 ประชาชนชาวเวียดนามได้ร่วมกันบริจาคเงินทอง จัดทำเหรียญพิเศษ ถือเป็นเหรียญเกียรติยศที่ประกาศความยิ่งใหญ่เท่าที่โลกพึงมีมหาบุรุษ เป็นเหรียญที่ประชาชนชาวเวียดนามต้องการมอบให้ประธานาธิบดีในดวงใจพวกเขา ทว่า โฮจิมินห์กลับกล่าววลีอมตะอีกครั้งว่า
“ชั่วชีวิตของผมมีภารกิจเดียวที่ต้องกระทำ นั่นคือการต่อสู้เพื่อเอกราช นำเอกภาพคืนสู่ประเทศชาติ และทำนุบำรุงให้ประชาชนทุกคนได้กินอิ่มนอนอุ่น ได้รับการศึกษา แต่บัดนี้งานของผมยังทำไม่เสร็จดีนัก ฉะนั้นผมขอฝากเหรียญนี้ไว้กับพี้น้องประชาชนช่วยรักษาไว้ก่อน ผมยังไม่มีสิทธิ์ได้รับการติดเหรียญรางวัลอันนี้ วันข้างหน้าเมื่อผมทำภารกิจนั้นเสร็จ ผมจะกลับมาขอรับเหรียญนี้ไปประดับอกอย่างแน่นอน”
สิ้นคำกล่าว ประชาชนเวียดนามเกือบทุกคนยกมือขึ้นปาดน้ำตา ทุกถ้อยวาทะของโฮจิมินห์บ่งบอกถึงความรับผิดชอบอย่างสูงสุดของคนที่เป็นผู้นำประเทศพึงกระทำ เขาต่อสู้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อเวียดนามมากถึงขนาดนี้ ยังกล้าที่จะประกาศอีกว่า เขายังปฏิบัติภารกิจได้ไม่เสร็จสมบูรณ์อีกล่ะหรือ?
คุณธรรมประการที่ห้า สูงสุดสู่สามัญ คนรากหญ้าคือหัวใจของแผ่นดิน
คำกล่าว คำประกาศ สุนทรพจน์ หนังสือคำสั่งการ รวมไปถึงงานเขียนบทความทุกชิ้นของโฮจิมินห์ในหนังสือพิมพ์ ณ ช่วงที่เขาพำนักอยู่ในบ้านของนักการภารโรง ที่ White House กรุงฮานอยนั้น ทันทีที่โฮจิมินห์ร่างดราฟต์แรกเสร็จ คนแรกที่เขาขอให้ช่วยขัดเกลาภาษา ด้วยการนั่งฟังเขาอ่านก็คือ คนที่ด้อยโอกาสด้านการศึกษามากที่สุดของสังคม
นั่นคือกลุ่มของนักการภารโรง ช่างไฟ คนสวนคนตัดหญ้า โฮจิมินห์จะจับคนเหล่านี้มานั่งฟังสิ่งที่เขาเขียนแบบสด ๆ พลางถามว่า ฟังแล้วเข้าใจไหม หากไม่เข้าใจ ด้วยเหตุผลใด จุดไหนขาดตกบกพร่องอะไร ขอให้ชี้แนะด้วย โฮจิมินห์ได้เรียนรู้ว่า การจะขยายความรู้ความเข้าใจให้ทั่วถึงสู่ประชาชนรากหญ้าที่แท้จริงนั้น คนที่เป็นปัญญาชนไม่จำเป็นต้องพูด-เขียนด้วยการอวดศัพท์แสงภาษาชั้นสูงวิลิศมาหราที่ร่ำเรียนมาจากหอคอยงาช้างแต่อย่างใดเลย
เมื่อนักการภารโรง คนสวนส่ายหน้าว่าไม่เข้าใจประโยคนั้น วลีนี้ โฮจิมินห์จักทำการแก้ไขแล้วแก้ไขอีก ดราฟต์สอง ดราฟต์สาม ดราฟต์สี่ อ่านใหม่ อ่านซ้ำด้วยสำนวนที่ง่ายขึ้นคลี่คลายขึ้น จนกว่าผู้ฟังกลุ่มล่างสุดจะเข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ทุกประโยคทุกวลี ตราบนั้นแหละโฮจิมินห์จะเอาดราฟต์ชุดสุดท้ายไปตีพิมพ์เป็นบทความในหนังสือพิมพ์ หรือแถลงการณ์ คำประกาศทั่วอาณาจักรต่อไป
จากประสบการณ์ตรงเช่นนี้ โฮจิมินห์ได้นำไปสอนให้กับผู้บริหารประเทศคนอื่น ๆ นับแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ รวมไปถึงครูบาอาจารย์ชนชั้นนำในสังคม ว่าจงอย่ามองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ศัพท์สูง ศัพท์ยาก ศัพท์โบราณ หรือคำทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสมากเกินไป ตราบใดที่งานชิ้นนั้นมิใช่กวีนิพนธ์ ที่ผู้รจนาหวังผลจะให้คนอ่านเคลิบเคลิ้มกับอักษรายาก ๆ ไปนั่งถอดรหัสตีความสัญลักษณ์กันเอง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับการเขียนหนังสือให้ประชาชนทั่วไปอ่านเข้าใจและรับสารได้ทันทีนั้น ต้องใช้ภาษาที่เรียบง่ายที่สุด ไม่สลับซับซ้อน โดยไม่ต้องกังวลว่าพวกตนอุตส่าห์ร่ำเรียนมาสูง แทนที่จะได้อวดภูมิรู้ของตน กลับต้องสูญเสียความสง่างามและความสละสลวยของภาษา ขอให้ผู้บริหารบ้านเมืองวางทิฐิมานะ แล้วยึดเอาศักยภาพของคนรากหญ้าเป็นหลักก่อน
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โฮจิมินห์ต้องการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นผู้ปกครองกับประชาชนชาวบ้าน ด้วยการปรับจูนกันด้านภาษาที่ใช้สื่อสารก่อนเป็นปราการด่านสำคัญ
กองทัพทหารเวียดนาม รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
การรวมกำลังลุกขึ้นสู้ของโฮจิมินห์นั้น เขาโชคดีที่ได้มือขวาคือ นายพล หงอเหงียนย้าบ (คนไทยสมัยก่อนเรียก วอเดียนเกี๊ยบ) บุรุษผู้นี้พื้นฐานเดิมเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ มิใช่นักเรียนนายร้อย เป็นคนหนุ่มที่มีศรัทธาต่อโฮจิมินห์ เมื่อมาร่วมขบวนรบ เขาใช้แนวคิดด้านประวัติศาสตร์มาส่งเสริมการทหาร โดยเขาหมกมุ่นทุ่มเทค้นคว้าแต่เรื่องประวัติศาสตร์การรบของชาติมหาอำนาจในอดีต ว่ากองทัพของชาติไหนบ้างที่ประสบความสำเร็จ อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้อีกฝ่ายต้องพ่ายแพ้
หงอเหงียนย้าบ เจาะลึกถึงชัยชนะของมองโกเลียที่มีต่อจักรวรรดิจีนอันยิ่งใหญ่ ว่าเหตุไรประเทศที่ถูกมองว่าป่าเถื่อน บาบาเรียน (ดังที่แบบเรียนไทยใช้คำว่า พวกตาร์ด ตาร์ตาร์) จึงพิชิตมหาอำนาจจีนได้ หงอเหงียนย้าบได้คำตอบว่า เพราะมองโกเลียเก่งการรบบนหลังม้า แต่ไม่เก่งทางเรือ ชาวมองโกลว่ายน้ำไม่เป็น หากเราอยากชนะพวกมองโกลต้องหลอกล่อให้เขามาสู้รบในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเล
ชนชาติมองโลกผู้ถูกเรียกว่าอนารยะนี้ ความเป็นจริงแล้วไม่ได้ต้องการอะไรมาก เมื่อพิชิตชาติไหนได้ ก็ต้องการแค่ปล้นเอาทรัพย์สินมีค่าไป แล้วเดินหน้าไปล่าสมบัติแว่นแคว้นแดนอื่นต่อ มิได้มีแนวคิดจะขยายจักรวรรดิของตัวด้วยการไปปกครองเมืองไหนให้รุ่งเรือง การที่จับพลัดจับผลูไปนั่งบัลลังก์จีนได้นั้น ก็เพราะขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ และก็เป็นไปตามคาด ในที่สุดชาวฮั่น (จีนแท้) ก็มาแย่งชิงอำนาจกลับคืนจากมองโกลหลังจากที่พ่ายแพ้ไปแค่ศตวรรษเดียว
เมื่อนายพล หงอเหงียนย้าบ ศึกษาปูมหลังด้านการรบของสงครามทุกซีกโลกตั้งแต่เจงกีสข่านไปถึงนโปเลียนจนทะลุปรุโปร่งแล้ว จากอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่กรุงฮานอย เขาค่อย ๆ รวบรวมกองกำลังทหารหนุ่มกลุ่มยังเติร์กที่ไว้ใจได้ ชุดแรกมีเพียง 34 นาย จากนั้นจึงแตกขยายกิ่งก้านสาขาเป็นหลายเหล่าทัพ
ดิฉันเดินทางไปทัศนศึกษาเรียนรู้เรื่องอาณาจักร “จามปาปุระ” เมื่อปี พ.ศ. 2557 วันที่ 22 ธันวาคมได้ลงเครื่องบินที่สนามบินไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี้) พอดี รู้สึกประหลาดใจมาก ที่ได้พบการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามทั่วประเทศ ยิ่งปีนั้นตรงกับวันครบรอบ 70 ปีของ “กองทัพทหารเวียดนาม” กองทัพผู้เป็นที่รักของประชาชน จนตั้งฉายาให้ว่า “กองทัพหารเวียดนาม รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” สะท้อนว่าคนเวียดนามมีความภาคภูมิใจในกองทัพของประเทศตนมาก เพราะเป็นกองทัพที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยประเทศเวียดนามให้มีเอกราชอย่างแท้จริง
หนึ่งในทหารหนุ่มอีกคนที่มาร่วมขบวนรบกับนายพล หงอเหงียนย้าบ ก็คือ “ฟามวันดง” นักเรียนนอกฝรั่งเศส ผู้มักถูกล้อโดยชาวฝรั่งเศสว่า “พูดสำเนียงฝรั่งเศสจ๋า เสมือนว่าเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดี” ดังนั้น เวลาชาวฝรั่งเศสเอ่ยถึงฟามวันดงทีไร มักเรียกเขาแบบค่อนขอดว่า “ท่านด็อกเตอร์วรรณกรรมฝรั่งเศส”
ถือเป็นคนหนุ่มที่เก่งฉกาจชนิดหาตัวจับได้ยากอีกคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริมทีมกลุ่ม Think Tank ให้แก่โฮจิมินห์
ในเมื่อหงอเหงียนย้าบ เรียนรู้แล้วว่า มองโกลรบชนะจีนได้อย่างไร จุดแข็งของมองโกลคือรบบนหลังม้า แต่จุดอ่อนคือกลัวทะเล หากจะเอาชนะมองโกลต้องหลอกล่อเขาสู่จุดที่เขาอ่อนด้อยที่สุด
แล้วสงครามเดียนเบียนฟูเล่า ฝรั่งเศสใช้จุดแข็งอะไร เวียดนามต้องตีจุดอ่อนของฝรั่งเศสตรงไหน?
สงครามเดียนเบียนฟู ความพ่ายแพ้อันยับเยินของเจ้าอาณานิคม

คำประกาศเอกราชที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองนั้น หากจะกล่าวให้ง่ายก็คือ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ อำนาจเก่าคือกลุ่มประเทศล่าอาณานิคมพวกอังกฤษ ฝรั่งเศส ส่วนกลุ่มอำนาจใหม่คือ ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี
ดังนั้นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างอำนาจเก่าคือฝรั่งเศส กับอำนาจใหม่คือญี่ปุ่น จึงถือเป็นช่องทางหนึ่งที่โฮจิมินห์เล็งเห็นลิบ ๆ แล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ เวียดนามต้องได้รับการปลดปล่อยอย่างแน่นอน ทำให้ช่วงแรก ๆ โฮจิมินห์เคยคิดหวังพึ่งมือของญี่ปุ่นมาช่วยจัดการกับฝรั่งเศส
ครั้นสงครามผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง โฮจิมินห์มองเห็นการณ์ไกลแล้วว่าฝ่ายพันธมิตรฝรั่งเศสต้องชนะฝ่ายอักษะญี่ปุ่นอย่างไม่มีทางเป็นอื่น ดังนั้นหากเจ้าของประเทศคือเวียดนาม แม้จะชิงชังฝรั่งเศสเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ควรเข้าข้างญี่ปุ่นจนออกนอกหน้า และในท้ายที่สุดพันธมิตรก็เป็นฝ่ายชนะจริงตามคาด
ทันทีที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม โฮจิมินห์รีบดำเนินการยึดอาวุธหรือปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทันที ด้วยความรวดเร็ว กอปรกับช่วงนั้น ฝรั่งเศสพังพาบยับเยินกับการพ่ายแพ้ต่อเยอรมัน นายทหารจึงรีบเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสไปเคลียร์บ้านช่องของตัวเองก่อน
โฮจิมินห์จึงนึกว่าทุกอย่างคงจบลงแบบ Happy Ending แล้ว
เวรกรรมอะไรอีกเล่า! อยู่ ๆ ฝรั่งเศสดันโผล่กลับมาอีกครั้ง พร้อมประกาศว่า แม้ญี่ปุ่นจักแพ้สงครามไปแล้ว แต่เวียดนามก็ยังคงเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสดุจเดิม ฝรั่งเศสไม่มีวันเซ็นรับรองสถานะของเวียดนามให้เป็นเอกราช โดยอ้างว่า เวียดนามคือตัวอันตราย เพราะมีแนวโน้มว่าโฮจิมินห์กำลังผลักดันประเทศไปสู่ลัทธิคอมนิวนิสต์โดยมีรัสเซียและจีนหนุนหลัง ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงดึงอเมริกันเข้ามาร่วมเป็นคู่ขัดแย้งกับเวียดนาม เพราะนโยบายของอเมริกาคือทำหน้าที่คานน้ำหนักกับกลุ่มประเทศที่กำลังจะเป็นคอมมิวนิสต์

วันประกาศเอกราชที่จัตุรัสบาดิ่ง 2 กันยายน ค.ศ. 1945
แม้กระนั้น โฮจิมินห์ก็สู้ไม่ถอย เขาลุกขึ้นประกาศเอกราชของประเทศเวียดนามในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 (พ.ศ. 2488) ณ จัตุรัสกลางกรุง ด้วยถือว่าเวียดนามสามารถปลดอาวุธจากญี่ปุ่นได้เรียบร้อยแล้ว ด้วยถ้อยคำที่ยิ่งใหญ่ เป็นประโยคที่ย้อนรอยคำประกาศของผู้นำฝรั่งเศสและอเมริกาที่เคยกล่าวมาแล้ว นั่นคือ
“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์และเสรีภาพมาแต่กำเนิด อันไม่อาจแบ่งแยกและถูกช่วงชิงไปได้ เช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม เราคือประเทศที่เป็นเอกราช อันไม่อาจยอมให้ใครมาแบ่งแยกและช่วงชิงเอกราชของเราไปได้”
ในช่วงที่โฮจิมินห์ระหกระเหินไปเรียนรู้ระบอบการปกครองของประเทศต่าง ๆ นั้น เขาเคยยืนมองอนุสาวรีย์เทพีสันติภาพที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาชื่นชอบอับบราฮัม ลินคอห์น เป็นมหาบุรุษที่มองมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ยอมให้ใครเป็นทาสใคร เขาชื่นชมจอร์จ วอชิงตัน แต่ไฉนเลย สหรัฐอเมริกาในวันนี้ ประเทศที่โฮจิมินห์ศรัทธา กลับมองเวียดนามเป็นปฏิปักษ์
แม้เวียดนามจะประกาศเอกราชต่อชาวโลก แต่ฝรั่งเศสกลับไม่ยอมรับเอกราชของเวียดนาม ฝรั่งเศสกลับมาโดยอ้างว่า พวกเขาต้องการปลดอาวุธของญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามด้วยชาติฝรั่งเศสเอง เวียดนามไม่เกี่ยว เวียดนามไม่ได้ชนะญี่ปุ่น ชาติที่ชนะญี่ปุ่นคือฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสตรึงเรือรบไว้ที่ปากอ่าวไม่ยอมขึ้นมาเจรจากับเวียดนามบนบก โฮจิมินห์ต้องยอมลงทุนเดินไปในเรือรบฝรั่งเศสเพื่อขอเจรจาต่อรอง เขาพยายามหาทางออกทุกวิถีทาง เช่นยอมยกท่าเรือเมืองนั้นเมืองนี้แบ่งให้เป็นเขตปกครองพิเศษของฝรั่งเศสเช่า 99 ปีเหมือนกับกรณีฮ่องกงและมาเก๊า เพียงขอแลกอิสรภาพและเอกราชกลับคืนสู่เวียดนาม ฝรั่งเศสไม่รับคำเจรจา
ในที่สุดโฮจิมินห์ต้องบินไปที่กรุงปารีส เพื่อขอเข้าพบประธานาธิบดี นายพลชาร์ลส์ เดอโกล ผู้ซึ่งชาวฝรั่งเศสยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ในระนาบใกล้เคียงกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ของสยาม นายพลผู้นี้ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แบกรับภารกิจอันหนักหน่วงคล้ายกระบวนการเสรีไทย คือวิ่งวุ่นประสานเจรจาต่อรองขอความร่วมมือสิบทิศกับคนภายนอกทั่วโลก เพื่อระงับยับยั้งการลุกลามบานปลายของฝ่ายอักษะ ถือเป็นวีรบุรุษผู้เข้ามาปลดแอกให้ฝรั่งเศสไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของเยอรมัน
โฮจิมินห์มีความมุ่งมั่นที่จะได้เจรจากับรัฐบุรุษชาวฝรั่งเศสท่านนี้ ด้วยความหวังที่ว่า ในเมื่อฝรั่งเศสเองก็หวุดหวิดจะเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจใหม่เยอรมัน คงจะมีใจเมตตาที่อยากเห็นประเทศอื่นพ้นสภาพจากการเป็นเมืองขึ้นด้วยเช่นกัน แต่การณ์กลับตาลปัตร
ฉากประวัติศาสตร์ได้อุบัติขึ้น เมื่อโฮจิมินห์ค่อยๆ ยื่นมือไปขอเช็คแฮนด์กับชาร์ลส์ เดอโกล นายพลฝรั่งเศสผู้นี้รีบเบือนหน้าหนี ไม่ยื่นมือให้จับ ซ้ำเหลียวกลับมามองโฮจิมินห์ด้วยอาการหยามเหยียด สบถคำบริภาษว่า
“ในอดีตหลายปีก่อน นายเป็นแค่เด็กเสิร์ฟผิวเหลือง เป็นแค่กุ๊กพลัดถิ่นมิใช่หรือ คราวนี้มีสิทธิ์อะไรที่จะกลับมาอหังการ์ในกรุงปารีสเล่า?”
ในฐานะประธานาธิบดี เขารับไม่ได้ที่จะสัมผัสมือกับกุ๊ก เด็กเสิร์ฟต๊อกต๋อยในภัตตาคารชั่นต่ำ เขาแบกทิฐิมานะพกพาความรังเกียจเดียดฉันท์นั้นไว้นานถึง 9 ปี ทว่า หลังจากกาลเวลาผ่านไปนานถึง 9 ปี เขาจำยอมต้องออกมาสารภาพแบบลูกผู้ชายในลักษณะกลืนน้ำลายตัวเองว่า

โฮจิมินห์บัญชาการศึกปลดปล่อยชายแดน ค.ศ. 1950
“หาก 9 ปีที่แล้ว ผมยอมจับมือกับโฮจิมินห์ คงไม่ต้องมีสงครามเดียนเบียนฟูในวันนี้ ทหารฝรั่งเศสเรือนแสนคน ก็คงไม่ต้องมาเสียชีวิตในสนามรบ”
มันสายเกินแก้แล้ว สำหรับคำอุทาน “หาก 9 ปีก่อน ผมยอมจับมือกับคุณ!”
ชาวเวียดนามยังนึกน้อยใจจวบจนทุกวันนี้ว่า “ในเมื่อตัวเองเป็นประเทศต้นแบบของเอกราช อิสรภาพ แต่ไฉนกลับไม่ยอมให้ประเทศอื่นได้รับสองสิ่งนั้นบ้างเจียวหรือ คุ้มไหมกับการส่งทหารมาตายในเดียนเบียนฟู?”
ในเมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมปลดปล่อยเวียดนามให้เป็นเอกราช ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้วอย่างเจ็บปวด ญี่ปุ่นก็ยอมถอยออกไปแล้ว
ฝรั่งเศสกลับยังเดินหน้าส่งคนไปตายในสมรภูมิรบเดียนเบียนฟู เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีอันกลวงเปล่า
ทำไมฝรั่งเศไม่ตั้งฐานทัพในจุดที่ใกล้กับฮานอย แต่กลับเลือก “เดียนเบียนฟู” อยู่ตอนเหนือสุดของเวียดนาม ซ้ำเป็นเทือกเขาทุรกันดาร ด้วยฝรั่งเศสหวังผลสามทางในเชิงภูมิรัฐศาสตร์
ข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ข้อแรก ที่ตั้งของเดียนเบียนฟู เป็นเส้นทางที่ฝรั่งเศสสามารถใช้ติดต่อกับลาว ไทย พม่าได้ไม่ยาก ออกจากเดียนเบียนฟู ใช้เส้นอุดงมีชัยของลาวก็ตัดไปหลวงพระบาง เป็นจุดที่ฝรั่งเศสสามารถลำเลียงอาวุธจากพม่า ผ่านชายแดนไทยล่องตามน้ำโขง ผ่านลาวมาถึงเดียนเบียนฟู ในกรณีที่หากกองกำลังเวียดนามปิดล้อมชายฝั่งทะเลด้านทิศใต้และตะวันออกทั้งแถบ ฝรั่งเศสยังมีช่องทางขอความช่วยเหลือจากอังกฤษใช้เส้นทางภูเขานี้ได้
ข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ข้อที่สอง เดียนเบียนฟูเป็นเขตติดต่อกับจีนใต้ จุดนี้ฝรั่งเศสมองว่า เวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีกับสองประเทศคอมมิวนิสต์คือรัสเซียและจีน ซึ่งอาจส่งอาวุธมาร่วมรบโดยลำเลียงมาจากตอนเหนือ แน่นอนว่าต้องผ่านเดียนเบียนฟู ฝรั่งเศสจึงเข้าตรึงเดียนเบียนฟูเสียเลย ถือว่าปิดประตูที่เวียดนามจะติดต่อขอความช่วยเหลือจากจีนและรัสเซีย
ข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ข้อที่สาม เดียนเบียนฟูมีสภาพเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขาหลากหลายเผ่า เป็นชนกลุ่มน้อยที่ห่างไกลความเจริญ ฝรั่งเศสมองว่าคนพื้นถิ่นที่นี่ด้อยการศึกษา สามารถเกลี้ยกล่อมให้เข้ามาเป็นพรรคพวกได้ง่าย และอาจยุยงปลุกปั่นว่าพวกคนพื้นเมืองเหล่านี้ถูกรัฐบาลกลางของโฮจิมินห์ทอดทิ้ง ควรหันมาอยู่ข้างฝรั่งเศส ซึ่งจะดูแลเป็นอย่างดี ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค บ้านเรือนและการศึกษา
โดยฝรั่งเศสหารู้ไม่ว่า ชนเผ่าพื้นเมืองทุกชาติพันธุ์ในเวียดนาม ไม่เคยมีปัญหาด้านการน้อยเนื้อต่ำใจต่อรัฐบาลกลางของโฮจิมินห์จนถึงขั้นคิดจะแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใดเลย เพราะโฮจิมินห์ไม่ใช่คนชาตินิยมที่ยกย่องเพียงแค่ชาวเวียด แล้วรังเกียจชนเผ่าอื่น อาทิชาวจาม ชาวไทลื้อ ไทดำ ไทแดง ไทพวน ข่าจราย ขมุ ลัวะ เมี่ยน ม้ง ฯลฯ ดังนั้นแผนการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ของฝรั่งเศสที่คิดจะปลุกปั่นให้ชนเผ่ากลุ่มน้อยชายขอบ ซึ่งในเวียดนามมีมากกว่า 74 เผ่า รังเกียจโฮจิมินห์ คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
ภาพยนตร์เรื่อง “แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู” ที่คนไทยร่วมกับคนผิวขาวจับมือกันสร้างเมื่อเกือบ 5 ทศวรรษก่อนนั้น ในฉากสุดท้ายที่เราเห็นคือ กองทัพทหารเวียดนามจำนวนมหาศาลนับแสนนายจับตัวนายทหารฝรั่งเศสที่แพ้สงครามจำนวนไม่มากนัก เดินเรียงหน้ากันออกมาด้วยสภาพที่ถูกจองจำอย่างโหดร้ายทารุณ
ในเมื่อผู้สร้างหนังอยู่ฝ่ายโปรฝรั่งเศส จึงต้องเขียนบทแก้เก้อในทำนองว่า การที่ฝรั่งเศสแพ้เวียดนามนั้น ก็เพราะฝ่ายเขามีจำนวนทหารที่น้อยกว่าหลายเท่าตัว นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวเวียดนามได้กล่าวถึงฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ว่า
“เป็นความพยายามที่จะรักษาหน้าตาของคนฝรั่งเศสไว้ให้ดูดีเสียเหลือเกิน ทั้งที่ในความจริง มิได้เป็นเช่นนั้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจากการบันทึกของฝ่ายใด ระบุตรงกันว่า ทหารฝรั่งเศสที่โดนจับในสงครามเดียนเบียนฟูมีจำนวนเกือบแสนนาย ซ้ำความเป็นจริงนั้นทหารฝ่ายเวียดนามมีน้อยกว่าด้วยซ้ำ แม้กระทั่งนายพลผู้บัญชาการสูงสุดในกองทัพของฝรั่งเศสก็ถูกจับด้วย แต่หนังไม่ใส่ฉากอันทำให้เสื่อมเสียเกียรตินี้”
ปี พ.ศ. 2551 สมัยทำงานกรมศิลปากร ดิฉันได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่กรุงฮานอยอยู่นานถึง 2 เดือน มีโอกาสสัมภาษณ์อดีตนายทหารเวียดนามที่ผ่านสนามรบของสงครามเวียดนาม-อเมริกันสมัยที่เขาถูกเกณฑ์ไปรบมีอายุ 18 ปี และปี พ.ศ. 2551 เขาอายุ 70 เขาทำหน้าที่เป็นอาสามัครนักจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงฮานอย เขาพรรณนาฉากรบในสงครามเดียนเบียนฟู (ตัวเขาไม่ทันสงครามครั้งนั้น แต่เขาฟังจากคำบอกเล่าของนายทหารรุ่นพี่) จนดิฉันเห็นฉากที่แตกต่างจากภาพยนตร์ดังกล่าวไม่น้อย
“คุณลองคิดดูสิว่าฝ่ายเวียดนาม ไม่มีอาวุธทันสมัย ไม่มีปืนใหญ่ ไม่มีเครื่องบิน ไม่มีรถถัง ไม่มีเรดาห์ แล้วสภาพเมืองเดียนเบียนฟูนั้นเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน การที่ฝรั่งเศสเลือกชัยภูมิเช่นเดียนเบียนฟู ก็เพราะเขาฉลาดมาก ตั้งใจจะหลอกล่อทหารเวียดนามให้ปีนป่ายด้วยความยากลำบาก หลงกลไปอยู่ในวงล้อมที่เป็นภูเขาสูงชัน หาทางออกกลับไปที่ราบไม่ได้”
“แน่นอนว่าฝ่ายเวียดนามไม่มีอาวุธร้ายแรงชนิดใดเลย มีแต่อุปกรณ์บ้าน ๆ พวกมีด ดาบ ขวาน เรารู้แต่เพียงว่าสิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วยคือ การลอบถอดสลักปืนใหญ่ 5 มม. แล้วลากลงมาทีละชิ้นส่วน ไม่ให้ฝรั่งเศสทันรู้ตัว คุณคิดดูสิ ว่าพวกเราต้องใช้วิธีขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินเพื่อให้เราเข้าไปใกล้กับค่ายกองบัญชาการรบของฝรั่งเศสให้มากที่สุด เพราะเราไม่มีสิทธิ์ข้ามรั้วลวดหนามซึ่งมีถึง 10 ชั้น ตามด้วยการปล่อยให้สุนัขหลายร้อยตัวออกดมกลิ่น พวกเรามือหนึ่งถือพลั่วถือเสียมจอบสำหรับขุดอุโมงค์ อีกมือถืออาวุธที่เป็นระเบิด เมื่อเราขุดไปถึงจุดที่เชื่อว่าใกล้พิกัดที่เป็นบังเกอร์ของฝรั่งเศส เราจะเอาระเบิดอัดทะลวงพื้นดินขึ้นมา 2-3 ลูก เราเลือกวางระเบิดจุดสำคัญคือ 1. กองบัญชาการ 2. ศูนย์สื่อสาร”
“คุณอาจสงสัยว่า สุนัขไม่ได้กลิ่นกายของพวกเราหรือเช่นไร เรามีวิธีกลบกลิ่นตัวด้วยการเอาโคลนทาทั่วตัวทั้งหน้าตาใบหู สมัยนั้นเครื่องบินสอดแนมของฝรั่งเศสยังไม่มีความทันสมัยมากพอที่จะพบสัญญาณความเคลื่อนไหวของทหารเวียดนามที่เอาใบไม้พรางตัวแล้วเคลื่อนที่ไปมา”
“นายทหารที่ขุดอุโมงค์สู้กับฝรั่งเศสในสงครามเดียนเบียนฟูก็ดี เรื่อยมาจนถึงสงครามอเมริกันที่ผมร่วมรบก็ดี ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย คือเมื่อไปถึงจุดที่ตั้งปืนใหญ่แล้ว ทหารผู้นั้นต้องกระโดดขึ้นทะลุพื้นดิน รีบถอดสลักปืนใหญ่ออก แล้วเรียกสมัครพรรคพวกมะรุมมะตุ้มช่วยกันลากแต่ละชิ้นส่วนซึ่งหนักไม่รู้กี่ตันออกจากค่ายให้ได้ ต้องเอาปืนใหญ่ฝ่ารั้วลวดหนาม”
“มีวีรชนผู้กล้า ขณะที่ลากปืนใหญ่แล้วเกิดพลาด ตัวปืนใหญ่เลื่อนไถลออกไปก่อน ในขณะที่ส่วนฐานล้อรองรับปืนใหญ่ยังติดคาอยู่ที่รั้ว เขาได้พลีชีพด้วยการเอาตัวเองนอนรองรับปืนใหญ่ให้ไหลเลื่อนต่อ ไม่ให้ติดขัด ไม่งั้นปืนใหญ่ต้องล้มปักฝังที่หน้าค่าย แล้วยากเกินจะยกขึ้นอีกรอบ ส่วนอีกคนหนึ่งกระโดดไปผลักล้อปืนใหญ่ให้ไหลตามลงมารองรับตัวปืนได้ทัน ปรากฏว่าทหารทั้งสองนายเสียชีวิตคาที่ ชื่อของเขาทั้งสองถูกจารึกในฐานะวีรชนผู้กล้าของเวียดนาม ถูกบรรจุในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ด้วยจวบจนทุกวันนี้”
น่าเสียดายที่ในหนังแหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู ไม่มีฉากเผยแพร่แสดงการรบอันชาญฉลาดของฝ่ายเวียดนามว่าใช้ยุทธวิธีการต่อสู้อย่างไรจึงเอาชนะฝรั่งเศสได้
ในที่สุดฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นว่า นายพลใหญ่ของฝรั่งเศสจบชีวิตลงแล้ว กองทัพฝรั่งเศสที่ออกันหยั่งเชิงอยู่แถบฝั่งทะเลซึ่งมีอีก 2-3 กองพัน เห็นว่าขืนสู้ต่อไปก็เท่ากับต้องเอาชีวิตคนไปสังเวยเกียรติยศที่ไม่อาจเรียกกลับคืนโดยใช่เหตุ ทั้งสองฝ่ายจึงนัดกันเจรจาสงบศึก ที่เราเรียกว่า “สนธิสัญญากรุงเจนีวา” มีสามประเทศมหาอำนาจมาร่วมเป็นสักขีรับรองผลของการเจราครั้งนั้นด้วยได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียตรัสเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน หัวใจของสนธิสัญญาฉบับนั้นระบุว่า
- ให้นายทหารทั้งสองฝ่าย แยกออกจากกันโดยใช้เส้นขนานที่ 17 โดยให้นายทหารเวียดนามทั้งหมดไปรวมตัวกันที่ฝ่ายเหนือ และนายทหารฝรั่งเศสที่รอดชีวิตทั้งหมด มารวมตัวกันใต้เส้นขนานที่ 17
- ให้โอกาสฝรั่งเศสรื้อถอนบังเกอร์ อาวุธสงคราม ค่ายกลทั้งหมดออกจากเวียดนามภายใน 2 ปี
- หลังจากนั้น จัดให้เวียดนามมีการเลือกตั้ง
เส้นขนานที่ 17 กับการฉีกสนธิสัญญาเจนีวา อเมริกา ประชาธิปไตยที่ยัดเยียดปีศาจให้เพื่อนร่วมโลก

นาทีสุดท้ายของการอพยพผู้คนออกจากสถานทูตอเมริกันในเวียดนามใต้
นักประวัติศาสตร์เวียดนามกล่าวว่า สนธิสัญญาเจนีวา แท้จริงแล้วคือ สนธิสัญญา “แบ่งเขตทหาร” เท่านั้น หาใช่สนธิสัญญา “แบ่งเขตปกครองประเทศเวียดนามออกเป็นสองส่วน” แต่อย่างใด
สนธิสัญญานี้มิใช่การประกาศว่า เขตเหนือเส้นขนานที่ 17 ยกให้เวียดนามเหนือฝ่ายที่เป็นคอมมิวนิสต์ ให้ปกครองโดยโฮจิมินห์ ส่วนใต้เส้นขนานที่ 17 ยกให้เวียดนามใต้ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยคนผิวขาว
มิใช่เช่นนั้น เป็นการพักรบหลังเจรจา และอันที่จริงหากพิจารณาให้ดี สนธิสัญญานี้เป็นเสมือนสนธิสัญญาที่ช่วยรับรองเอกราชของเวียดนามอีกนัยหนึ่งด้วย เพราะเวียดนามเป็นฝ่ายชนะสงครามเดียนเบียนฟู เนื้อหาของสนธิสัญญาเจนีวา เป็นการประกาศห้ามฝรั่งเศสเข้ามายุ่งเกี่ยวในเวียดนามอีก
โฮจิมินห์เคยเข้าใจว่า หากเวียดนามชนะสงครามที่เดียนเบียนฟูแล้ว เขาจะสามารถรวบรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เข้าด้วยกันได้ แต่แล้วคำว่า “เส้นรุ้งหรือเส้นขนานที่ 17” กลับถูกบิดพลิ้วตีความใหม่ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ด้วยสโลแกนหรือถ้อยคำโปรปากันดาของฝ่ายคนผิวขาวที่ประกาศว่า
“ใครอยากตกนรกให้ขึ้นไปเมืองเหนือ ใครอยากขึ้นสวรรค์ให้ลงไปเมืองใต้”
“ใครอยากเป็นปีศาจให้ขึ้นมาทางเหนือ ใครอยากเป็นเทวดาให้ลงไปทิศใต้”
“ใครอยากเป็นคอมมิวนิสต์ให้ไสหัวไปเมืองเหนือ ใครรักเสรีประชาธิปไตยให้ไหลมาสร้างชีวิตใหม่กันทางใต้”
ในที่สุดเวียดนามถูกคนผิวขาวอีกชาติหนึ่งตีตลบหลัง โดยอาศัยช่วงจังหวะที่เวียดนามยังอ่อนล้าโรยแรงหลังสงครามเดียนเบียนฟู นั่นคือสหรัฐอเมริกา ถือโอกาสฉีกสนธิสัญญาเจนีวา นำมาอ้างใหม่แบบข้าง ๆ คู ๆ ไม่ยอมให้เวียดนามจัดการเลือกตั้ง แม้ฝรั่งเศสจะถอยออกไปหมดแล้ว
อเมริกาอ้างว่าเวียดนามคือปีศาจแห่งอินโดจีน เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ตัวร้าย ดังนั้นอเมริกาจึงบิดเบือนเอาคำว่า “การให้แต่ละฝ่ายถอยออกไปยังทิศเหนือและทิศใต้ นับจากเส้นขนานที่ 17” (ซึ่งจุดแรกเริ่มระบุไว้เพื่อแบ่งเขตทหารเวียดนามกับฝรั่งเศสสองฝ่ายไม่ให้ปะทะกัน เท่านั้นเอง) ฉวยเอาคำกล่าวนั้นมาเป็นเขตปักหมุดแบ่งแยกเวียดนามออกเป็น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยที่ประชาชนเวียดนามจำนวนไม่น้อยก็ตามเล่ห์กลนั้นไม่ทัน
เกิดกระบวนการปลุกปั่นให้ประชาชนชิงชังและเข้าใจผิด คิดว่าระบอบคอมมิวนิสต์นั้นคือมหันตภัย ทั้งที่โฮจิมินห์ได้ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่า
“เราจักปกครองเวียดนามด้วยคุณธรรมแบบปรัชญาขงจื๊อ กับแนวคิดของอับราฮัม ลินคอห์น คือปลดแอกทาส การที่ครั้งหนึ่งเราจำเป็นต้องอาศัยรัสเซียกับจีนตามทฤษฎีมาร์กซิสต์นั้น ก็เพราะว่ามีเพียงลัทธิคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จักสามารถคานอำนาจ ชนิดหักลำลำโค่นกับระบอบอาณานิคมได้ ครั้นเมื่อประเทศเวียดนามของเราไม่มีระบอบอาณานิคมแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับทฤษฎีมาร์กในทุกเรื่อง เวียดนามของเรามีความละเอียดอ่อน มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะเรียนรู้การปกครองในแต่ละด้านด้วยรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเอง”
ในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เวียดนามกับอเมริกายังไม่มีปัญหาขัดแย้งอะไรกัน ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เนือง ๆ ช่วงทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในเวียดนาม โฮจิมินห์ยังช่วยให้กำลังใจฝ่ายสหรัฐอเมริกาอยู่เลย เช่นรู้ว่าทหารสหรัฐทานอาหารกระป๋องแล้วหากทิ้งเรี่ยราดก็จักกลายเป็นวัตถุพยาน เป็นเบาะแสชิ้นดี ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นรู้ว่าพวกคุณอยู่ที่ไหน
โฮจิมินห์เดินไปสอนทหารอเมริกันด้วยตัวเองว่า เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว ต้องเอากระป๋องฝังไว้ในดินอย่างมิดชิด เช่นเดียวกับบุหรี่ เมื่อสูบเสร็จอย่าทิ้งเกลื่อนกลาด ต้องเอาก้นบุหรี่ฝังไว้ให้หมด เพราะทหารญี่ปุ่นฉลาดมาก เขารู้ว่าชาวเวียดนามไม่มีอาหารกระป๋อง และไม่สูบบุหรี่นอก ทหารญี่ปุ่นพร้อมจะถล่มระเบิด เฉพาะในจุดที่พบร่องรอยหลักฐานพวกอาหารกระป๋อง ก้นบุหรี่ อันเป็นวัฒนธรรมต่างถิ่น ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการแยกชาวอเมริกันออกจากชาวเวียดนาม หากทหารอเมริกันเชื่อก็จะไม่เป็นเป้าสายตาของทหารญี่ปุ่น
ภารกิจใหญ่ที่เวียดนามต้องสู้รบกับฝรั่งเศส และบางช่วงบางตอนมีญี่ปุ่นเข้ามาสอดแทรกได้สิ้นสุดลงแล้วในสงครามเดียนเบียนฟู หลังจากเหนื่อยล้าต่อสู้กับฝรั่งเศสมานานถึง 9 ปี แต่แล้วเวียดนามกลับต้องเผชิญหน้ากับสงครามครั้งที่รุนแรงและหนักหน่วงกว่านั่นคือ ต้องรบกับประเทศมหาอำนาจใหม่ ....สหรัฐอเมริกา เป็นเวลานานถึง 20 ปี ซ้ำถูกตราหน้าว่าการสู้รบครั้งนี้ เวียดนามคือปีศาจคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาคือพระเอกผู้มาตัดไฟเสียแต่ต้นลม มิให้ทฤษฎีโดมิโนล้มระเนนระนาดไปทั่วอินโดจีนรวมถึงไทย
โฮจิมินห์ต้องหันมาทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดทั้งมวลต่อสู้กับอเมริกาแทนที่ฝรั่งเศส กองทัพของเวียดนามต่อสู้แบบมีอิสระที่จะลุย ตัดสินใจเองได้ พกระเบิดพลีชีพได้ ปล้นได้ ฆ่าได้ แบบไม่จำกัดวิธี เมื่อเราได้คุยกับทหารผ่านศึกของเวียดนาม เขาบอกว่าคนไทยเรียกสงครามเวียดนาม-อเมริกันว่าเวียดนามต่อสู้แบบจรยุทธ์ แต่ชาวเวียดนามเรียกการรบของตัวเองว่า “หน่วยจู่โจมพิเศษ”
คำว่า “หน่วยจู่โจมพิเศษ” หมายความว่าอย่างไร ตามทฤษฎีของนายพล หงอเหงียนย้าบ อธิบายว่า โฮจิมินห์ได้ยื่นโจทย์กับประชาชนชาวเวียดนามทุกคนว่า เราจะหาทางออกอย่างไรกันดี ในเมื่อพวกเราไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ธรรมชาติให้เรามาแค่ “ป่าและธรรมชาติ” ทหารทุกคนต้องตีโจทย์ให้แตกเองว่า เราจะทำอย่างไรกับป่า เราจะใช้ป่าและธรรมชาตินี้แหละเป็นอาวุธสู้รบกับอเมริกัน
โฮจิมินห์สอนพวกเราว่า ขึ้นชื่อว่าป่า มิใช่เมือง ย่อมไม่มีใครอยากเข้า เพราะไม่ใช่สถานที่พักอาศัย ไม่มีความสะดวกสบาย แต่หากเรามีผู้กล้าคนแรกที่ยอมเดินเข้าป่า เขาย่อมต้องหาทางถากถางกรุยทางที่อับทึบ คนที่สองเดินตามเข้ามา คนที่สาม เรื่อยไปจนถึงคนที่ร้อย คนที่พัน คนที่หมื่น คนที่แสน จากป่าทึบรกชัฏ เมื่อมันถูกถากถางมากขึ้นเรื่อย ๆ มันจักกลายเป็นเส้นทางสู่ชัยชนะ
การต่อสู้ของเวียดนามที่ชาวตะวันตก ทั้งฝรั่งเศสและอเมริกัน สารภาพสอดคล้องกันว่า
“เป็นการยากเหลือเกินที่ต้องต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น พวกเขาแอบซ่อนตัว พรางตัวใต้ใบไม้ เอาป่ามาเป็นบังเกอร์ ใช้ชีวิตขุดรูอยู่ในหลุมอุโมงค์ นึกจะโผล่ที่ไหนก็ได้ เขาสามารถโผล่จู่โจมขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่รู้ว่าแอบไปซ่อนอยู่ใต้ดินตั้งแต่เมื่อไหร่ สู้กับคนกลุ่มนี้ ยากยิ่งกว่าทำสงครามกับข้าศึกที่มีรถถัง เครื่องบิน อาวุธครบมือ ที่ต่างฝ่ายต่างมองเห็นกันตัวเป็น ๆ เสียอีก เหมือนสู้กับผีกับปีศาจ ก็ไม่ปาน”
มิใช่หรอก! พวกเขามิใช่ปีศาจ เขาสู้ด้วยการใช้ “ป่ากับธรรมชาติ” ที่พวกเขามี นำมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่อสู่ผู้รุกรานเขาต่างหากเล่า
บั้นปลายชีวิตโฮจิมินห์วางแนวทางพุ่งเป้าไปที่การต่อสู้กับอเมริกาชาติเดียวเท่านั้น เขาประกาศว่า ประเทศอื่นไม่สำคัญอีกต่อไป ร้อยญี่ปุ่น แสนฝรั่งเศส ก็ไม่เทียบหนึ่งอเมริกาที่เขาต้องการขับไล่ น่าเสียดายที่โฮจิมินห์เสียชีวิตปี ค.ศ. 1969 อีก 6 ปีหลังจากนั้นคือราวปลายปี 1974 สหรัฐอเมริกาเริ่มถอนกองกำลังออกจากเวียดนาม และปี 1975 เวียดนามสามารถรวมประเทศเหนือใต้เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
“จะไม่มีประเทศมหาอำนาจใด ๆ ในโลก ที่จักเข้ามาทำลายเราชาวเวียดนามได้อีกแล้ว เพราะบิดาของเรา โฮจิมินห์ ได้สอนพวกเราไว้ว่า หากทุกคนยินดีที่จะสู้ แต่ละคนย่อมหาวิธีต่อสู้ได้เอง โดยที่พวกเราไม่มีปืนแม้เพียงกระบอกเดียว แต่เราก็พิสูจน์ให้โลกประจักษ์แล้วว่า การต่อสู้ของพวกเราชาวเวียดนาม คือการลุกขึ้นมาปกป้องเอกราชของตนเอง เรามิได้เป็นนักรบเพื่อรุกรานคนอื่น”
เชื่อเหลือเกินว่าดวงวิญญาณของโฮจิมินห์ย่อมรับรู้ถึงรสแห่งชัยชนะของกองทหารเวียดนามที่ “รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” อันเป็นชัยชนะครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่โลกต้องจารึกว่าคนเวียดนามช่วยกันต่อสู้ เพื่อเป็นของขวัญประดับไว้ในเหรียญเกียรติยศที่คนทั้งประเทศตั้งใจมอบให้แก่ประธานิบดีตลอดกาล โฮจิมินห์
