ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประชาธิปไตย: ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ (ตอนจบ)

3
ตุลาคม
2566

Focus

  • ประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายเป็น “ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์” เช่น ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประชาธิปไตยแบบตัวแทน รวมถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์
  • “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เป็นแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ ที่ให้ความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นการบูรณาการแบบองค์รวม ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันสืบเนื่องมาจากหลักการ ‘ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย’ ในเรื่องโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่าง รวมไปถึงจิตใจหรือจิตวิญาณของสังคม
  • ประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น “ประชาธิปไตยแบบไทย” “ประชาธิปไตยสุจริต” “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (หรือชื่ออื่นที่ใกล้เคียงกัน) สำหรับประการหลังนั้น อาจพิจารณาได้ว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เป็นระบอบการปกครอที่หลอมรวมกันของสองระบอบการปกครองที่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบกษัตริย์เดิม

 

ในบทความตอนแรก ประชาธิปไตย : ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ (ตอนที่ 1) ผู้เขียนได้เล่าถึงที่มาของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทยว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร โดยบทความเริ่มต้นจากการฉายภาพให้เห็นว่าในยุคก่อนที่จะมีการนำคำว่า “ประชาธิปไตย” มาใช้อย่างที่เข้าใจในความหมายปัจจุบัน ได้มีความพยายามอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในหลายลักษณะทั้งผ่านถ้อยคำที่อธิบายระบบการปกครอง หรือองค์ประกอบของสิ่งที่เราจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย อาทิ การปกครองโดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัด การมีรัฐสภา และการมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากลงไปในรายละเอียดทางวิชาการประเด็นเหล่านี้ก็ถกเถียงได้เช่นกันว่า ในรัฐหนึ่งหรือประเทศหนึ่งที่มีองค์ประกอบเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของบทความ ก่อนผู้เขียนได้จบด้วยการเล่า คำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ใช้อธิบายเข้าใจในปัจจุบันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่คำนิยามของประชาธิปไตยไม่เคยมีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีเป็นร้อยเป็นพันความหมายขึ้นอยู่กับเป้าหมายและอุดมการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหนีไม่พ้น เพราะในชีวิตประจำวันแล้วมนุษย์ทุกคนติดอยู่ในโลกของการนิยามความหมาย และให้ความหมายสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้แต่ละคนรักหรือชอบพอในประชาธิปไตยแตกต่างกัน เพราะมีความหมายของประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน[1]

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้จุดหมายสำคัญของผู้เขียนนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะเล่าเรื่องการนิยามโดยตรง แต่ต้องการจะเล่าถึงประชาธิปไตยแบบมีคุณศัพท์หรือก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีการใส่ส่วนขยายต่างๆ เข้าไป โดยผู้เขียนจะขอเล่าถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นรูปแบบประชาธิปไตยในอุดมคติของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายอื่นๆ ในไทยซึ่งผู้เขียนจะชวนมาวิเคราะห์ให้เห็นนัยทางการเมืองบางอย่างของประชาธิปไตยเหล่านี้

 

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยาย การขยายความเพื่ออธิบายเป้าหมายทางการเมือง

คำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นก็เหมือนกับคำนามอื่นๆ ทั่วไป กล่าวคือ คำนามเหล่านี้สามารถใส่คำคุณศัพท์เข้าไปเพื่อเป็นส่วนขยายเพื่อให้ทราบรายละเอียดหรือเน้นย้ำนัยบางอย่างของคำนามเหล่านั้น ซึ่งหนึ่งในประเด็นเกี่ยวกับการนิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการที่สนใจประเด็นเรื่องประชาธิปไตยสังเกตเห็นก็คือ ความพยายามทางการเมืองที่จะใส่คุณศัพท์มาต่อท้ายคำว่า “ประชาธิปไตย” ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งลักษณะของการกระทำแบบนี้จะถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์” (Democracy with Adjectives)[2] ซึ่งคำคุณศัพท์ที่ถูกใส่เข้าไปมีส่วนที่ทำให้ความหมายของประชาธิปไตยแตกต่างและผันแปร ทำให้เกิดถามว่าสิ่งนี้คือ ประชาธิปไตยจริงๆ ใช่หรือไม่

 


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

การใส่คำคุณศัพท์เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนขยายของประชาธิปไตยนั้นมีหลายลักษณะ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคำแบบดั้งเดิมเพื่ออธิบายถึงระบอบการปกครองของประชาธิปไตย เช่น ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) ซึ่งหมายถึงระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีองค์กรสำคัญแบบรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการปกครอง ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งหมายถึงระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองโดยตรงในการตัดสินใจหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเข้าไปตัดสินใจด้วยตัวประชาชนเอง

ในอดีตประชาธิปไตยทางตรงถูกใช้ในกรีก และยังคงใช้ในบางประเทศที่มีประชากรไม่มากในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กันกับประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ซึ่งนัยหนึ่งหมายถึงประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีการมอบอำนาจอธิปไตยกับผู้แทนของประชาชนในสภาไปใช้อำนาจอธิปไตยแทน

 

  บริบทดั้งเดิม บริบทสมัยใหม่
ประชาธิปไตยทางตรง การให้ประชาชนออกไปลงคะแนนเสียงตัดสินใจเรื่องใดๆ ด้วยตนเอง ใช้ในสังคมที่มีพลเมืองน้อย การให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองโดยการลงมติมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญๆ ผ่านการทำประชามติหรือการรับฟังความเห็นจากประชาชน
ประชาธิปไตยแบบตัวแทน การดำเนินการทางประชาธิปไตยผ่านผู้แทนในรัฐสภา โดยประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยเลือกตั้งผู้แทนเพื่อเข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชน

 

ในบางครั้งคำคุณศัพท์ของประชาธิปไตยอาจจะถูกใช้เพื่อนำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยเพื่อตอบสนองต่อระบอบการปกครองอื่นๆ ที่เมื่อพิจารณาแล้วจริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งเราจะได้ยกตัวอย่างต่อไปในประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายอื่นๆ ในประเทศไทย

 

 

ประชาธิปไตยสมบูรณ์

เราอาจจะพิจารณาได้ว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการใส่คำคุณศัพท์ให้กับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ เป็นการให้ความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นแบบบูรณาการแบบองค์รวม[3] โดยเป็นการพิจารณาประชาธิปไตยทั้งในทางการเมือง แต่ประชาธิปไตยควรจะต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และสังคมจะต้องมีทรรศนะหรือความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

 


นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489

 

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดของประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีแล้ว ความสมบูรณ์ในทรรศนะของปรีดีเป็นผลสืบเนื่องมาจากการวิเคราะห์ภายใต้หลักการของ ‘ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย’ (Democratic Scientific Socialism) ซึ่งเป็นหลักคิดเฉพาะตัวของปรีดี[4]

แนวทางการวิเคราะห์นี้ ปรีดีสังเคราะห์ขึ้นจากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ตนได้เผชิญมาและได้ใช้ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มาโดยตลอด ทั้งนี้ปรีดีได้แบ่งโครงสร้างทางสังคมออกเป็น 3 ส่วนที่ประกอบกัน คือ ส่วนที่หนึ่งที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างซึ่งเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และส่วนที่สองคือโครงสร้างส่วนบนซึ่งเป็นโครงสร้างทางการเมือง โดยทั้งสององค์ประกอบนี้สามารถสะท้อนและมีผลกระทบต่อกัน และองค์ประกอบส่วนที่สามเป็นองค์ประกอบทางจิตใจที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของสังคม คือ ทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย[5]

การจะทำให้สังคมใดสังคมหนึ่งที่จะเป็นประชาธิปไตยได้จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสามประการจึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยปรีดีได้ตระหนักว่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้[6]

ดังนี้ ทรรศนะของปรีดีต่อการอภิวัฒน์การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามจึงเป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน การวางแผนเพื่อประกาศใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจจึงเป็นความพยายามที่จะให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อเกิดองค์ประกอบทั้งสองอย่างจะทำให้ประชาชนค่อยๆ พัฒนาทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น และสร้างองค์ประกอบทางจิตใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกๆ คน ซึ่งองค์ประกอบนี้จะทำนุบำรุงประชาธิปไตยให้มั่นคง[7]

เป้าหมายของประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่มีองค์ประกอบทั้งสามประการทำให้สังคมมนุษย์กลายเป็นสังคมที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์และมีความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม และมีสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย และมนุษย์ในสังคมนั้นจะต้องร่วมมือกันฉันพี่น้องโดยปราศจากการกดขี่และเบียดเบียนกัน

 


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489

 

ดังจะเห็นได้ว่าเป้าหมายของประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีนั้นเป็นไปเพื่อสร้างหลักการแห่งคำอธิบายที่สะท้อนภาพของสังคมอุดมคติในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นควรจะประกอบไปด้วยหลักการในลักษณะใดบ้าง โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญคือ ความต้องการให้ระบบเศรษฐกิจช่วยค้ำจุนการใช้ชีวิตของมนุษย์ให้สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเต็มที่

ตามนัยนี้เราอาจจะยังกล่าวได้ว่า แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีเป็นลักษณะส่วนหนึ่งของวิธีคิดที่พูดถึงระบอบประชาธิปไตย

 

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายอื่นๆ ในประเทศไทย

ลักษณะของประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายนั้น บ่อยครั้งถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมืองหรือเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง รวมถึงกีดกันการดำเนินการใดๆ ที่แตกต่างจากแนวคิดของประชาธิปไตยที่ถูกสื่อสารออกไป มิเพียงเท่านั้นประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายยังถูกนำไปใช้เพื่อเป็นกลไกในการทำลายผู้เห็นต่างทางการเมืองได้เช่นกัน

 ในบรรดาแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มีการเพิ่มเติมคำคุณศัพท์ทั้งหลายนั้น มีอยู่จำนวนหนึ่งที่น่าสนใจและควรถูกหยิบนำมาพูดถึงในบริบทของประเทศไทย

 คำแรกที่ควรถูกหยิบยกมาพูดถึงก็คือ ประชาธิปไตยแบบไทย (Thai-style Democracy) คือ แนวคิดที่ถูกนำเสนอโดยชนชั้นนำและนักคิดสายอนุรักษนิยมในประเทศไทย เพื่อสร้างบริบทเฉพาะของประชาธิปไตยแบบไทยให้แตกต่างไปจากประชาธิปไตยที่ปรากฏในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไม่เหมือนกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก[8]

ชนชั้นนำและนักคิดสายอนุรักษนิยมไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่าเป็นของไม่ดี ในทางตรงกันข้ามประชาธิปไตยที่เหมาะสมควรจะต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทยที่มีแกนกลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีความชอบธรรมมาตั้งแต่ดั้งเดิมและอยู่เหนือราษฎร ในขณะที่ราษฎรทุกคนนั้นมีฐานะที่เท่าเทียมกัน และหากแบ่งแยกราษฎรออกแล้วจึงเหลือเพียงแต่ราษฎรที่ภักดีและไม่ภักดีเท่านั้น ในขณะเดียวกันชนชั้นนำและนักคิดสายอนุรักษนิยมยังพยายามอธิบายว่าประชาธิปไตยแบบไทยมีมาก่อนการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม โดยเกิดขึ้นนับตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ศิลาจารึกขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันทางสังคม ซึ่งเน้นย้ำบทบาทของประชาธิปไตยแบบไทยที่มีความผูกพันกับสถาบันกษัตริย์[9]

มิเพียงเท่านั้นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ยังคาดหวังให้บทบาทผู้นำมีความเด็ดขาดและในขณะเดียวกันก็ต้องมีเมตตาธรรมปกครองประเทศแบบบิดาปกครองบุตร ซึ่งการประกอบสร้างตัวตนในลักษณะนี้ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่อำนาจเพื่อปกครองประเทศไทยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หน้าที่ของประชาชนจึงเป็นเพียงการทำตามคำสั่งของรัฐและสังคมกำหนดไว้เท่านั้น[10]

ประชาธิปไตยแบบมีคำคุณศัพท์อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “ประชาธิปไตยสุจริต” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พรรคประชาธิปัตย์มักจะนำเสนอในแคมเปญการหาเสียง แต่เมื่อพิจารณาหรือพยายามศึกษาความหมายของประชาธิปไตยสุจริตแล้ว เราจะไม่พบว่า ประชาธิปไตยสุจริตคืออะไร แต่หลายครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งจะพบว่าผู้ปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์มักจะกล่าวถึงว่าจุดยืนของพรรคการเมืองนี้คือมี ประชาธิปไตยสุจริต

ตัวอย่างของการปราศรัยในลักษณะนี้คือ เมื่อครั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวปราศรัยเมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) เครือมติชนจัดแคมเปญ “มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” เปิด 5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์ ซึ่งเป็นเวทีแรก ประชันนโยบาย “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย

นายจุรินทร์ได้เน้นย้ำว่า หนึ่งในจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์คือ “ประชาธิปไตยสุจริต ซึ่งประชาธิปไตยสุจริตเท่านั้นที่จะรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ เพราะไม่ว่าจะมีการทำรัฐประหารกี่ครั้ง เกือบจะทุกครั้งที่อ้างเงื่อนไขการทุจริต แล้วยึดอำนาจ” แต่เมื่อเราพยายามทำความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตยสุจริต” แล้วก็ไม่อาจจะเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยสุจริตได้อยู่ดี แต่หากให้คาดเดาความหมายของคำประชาธิปไตยสุจริตแล้ว น่าจะเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เป็นนัยทางการเมืองเพื่อโจมตีการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม

อีกคำหนึ่งของ “ประชาธิปไตย” แบบมีคำคุณศัพท์ที่น่าสนใจและนำมาสู่ข้อถกเถียงในสังคมไทยก็คือ คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดูเผินๆ คำนี้น่าจะหมายถึงระบอบการปกครองแบบระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แต่ในความเป็นจริงคำๆ นี้มีนัยที่พิเศษไปกว่านั้น

หากพิจารณาคำในภาษาอังกฤษที่ถูกนำมาใช้แปลระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ Democratic form of Government with the King as Head of State ซึ่งเป็นคำแปลอย่างเป็นทางการที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษของประเทศไทยมาโดยตลอดคำนี้สะท้อนนัยพิเศษ

 

 

คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นคำที่มาจากข้อความว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งมักจะปรากฏในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญไทยหลายๆ ฉบับ

หากพิจารณาผิวเผินคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ควรจะเป็นคำคุณศัพท์ที่เข้ามาขยายคำว่า “ประชาธิปไตย” แต่หากพิจารณาลงไปในบริบททางประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นได้ว่า คำคำนี้แต่เดิมไม่ได้มีสถานะเป็นคำเดียวกัน โดยหากพิจารณาใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พยายามใส่ระบอบการปกครองเข้ามาในรัฐธรรมนูญ และพูดถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐแล้วจะเห็นได้ว่าข้อความที่รัฐธรรมนูญใช้จะระบุว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”[11] และใช้มาในลักษณะนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งบัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”[12] โดย ไม่มีการเว้นวรรคระหว่างคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ และกลายมาเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งบัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข”[13]

 


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492

 


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521

 


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

 

การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยดังกล่าวนั้นมีนัยสำคัญ เพราะการเติมส่วนขยายเข้าไปจากในครั้งแรกที่ข้อความทั้งสองแยกออกจากกันเป็นการเน้นย้ำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่ใช่ประชาธิปไตยเฉยๆ ที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เป็นระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่ง รวมถึงเป็นคำสะท้อนให้การหลอมรวมกันของระบอบการปกครอง 2 ระบอบที่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบกษัตริย์เดิม[14]

มิเพียงเท่านั้นหากพิจารณาในแง่บริบทของการเกิดขึ้นของคำนี้ในรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่า คำคำนี้เป็นคำพิเศษที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารและแย่งชิงความหมาย แย่งชิงอำนาจนำ ระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ และเป็นภาพสะท้อนของประชาธิปไตยแบบไทยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พยายามสนับสนุน[15]

“ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หลายครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นัยหนึ่งเพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตอกย้ำประชาธิปไตยแบบไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของแนวคิด ระบอบการปกครองที่แตกต่างนี้จึงไม่ยอมรับต่อความแตกต่าง ความหลากหลาย และการแสดงความคิดเห็นที่ต่อต้านต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบดังกล่าว

ดังเช่นในกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่ คมจ. 5/2566 ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของ นางสาวพรรณิการ์ วานิช เนื่องจากขัดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงโดยไม่ธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมา ซึ่งหากเป็นสังคมประชาธิปไตยทั่วไป การแสดงออกใดๆ ย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่การที่ศาลฎีกาเลือกจะตัดสินติดในลักษณะดังกล่าวย่อมสะท้อนว่าศาลฎีกาเข้าใจนัยของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองนี้ที่แตกต่างจากประชาธิปไตยทั่วไป

จากข้างต้นทั้งหมดจะเห็นได้ว่า “ประชาธิปไตย” นั้นมีนัยทางการเมืองบางประการที่น่าสนใจ และเป็นพื้นที่ยื้อแย่งทางอำนาจการเมืองในการนิยามประชาธิปไตยลักษณะต่างๆ รวมถึงหลายครั้งประชาธิปไตยแบบมีคำคุณศัพท์ไม่ได้มีแนวคิดหรือหลักการเบื้องหลัง (แตกต่างจากกรณีของประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่มีความพยายามอธิบายแนวคิดเบื้องหลังไว้)

ดังจะเห็นได้จาก ‘ประชาธิปไตยสุจริต’ แต่เป็นการหยิบยกคำเพื่อสร้างนัยทางการเมือง หรือประชาธิปไตยแบบไทยหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ดูเผินๆ คำนี้จะไม่ได้มีความหมายแฝง แต่หากตระหนักถึงอำนาจของถ้อยคำแล้วประชาธิปไตยดังกล่าวนั้นซ่อนนัยทางการเมืองของการช่วงชิงอำนาจ และท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่า “ประชาธิปไตยแบบมีคำคุณศัพท์” บ่อยครั้งมักจะถูกนำมาใช้บิดพลิ้ว เนื่องจากคำเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงหรือคำอธิบายประกอบ จึงมีแนวโน้มที่จะถูกหยิบใช้อย่างอิสระไปตามสถานการณ์[16]

 


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ
ที่มา : FB Ronnakorn Munggonwong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : ประชาธิปไตย : ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ (ตอนที่ 1)

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น

  • มาตรา 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492.
  • มาตรา 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521.
  • มาตรา 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534.

หนังสือ

  • เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. (2526). ความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. ใน. ปรีดีปริทัศน์ ปาฐกถาชุดปรีดีพนมยงค์ อนุสรณ์. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2558). ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2562. ประชาธิปไตย: หลากความหมาย หลายรูปแบบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2539). ความหมายและความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม.

สื่อออนไลน์


[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ, ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558), น.37-38.

[2] เรื่องเดียวกัน, น.42.

[3] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล “แนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์” จากงานเสวนาเรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อ้างใน วรรณภา ติระสังขะ, (17 กันยายน 2563), “ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ของปรีดี พนมยงค์,” [Online] สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566.

[4] เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, “ความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์,” ใน ปรีดีปริทัศน์ ปาฐกถาชุดปรีดี พนมยงค์ อนุสรณ์ (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2526), น.127.

[5] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (15 มิถุนายน 2563),“มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์,” [Online] สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566.

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] ประจักษ์ ก้องกีรติ, ประชาธิปไตย: หลากความหมาย หลายรูปแบบ, (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2562) น.185.

[9] เรื่องเดียวกัน, น.185-186.

[10] เรื่องเดียวกัน, น.186.

[11] มาตรา 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492.

[12] มาตรา 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521.

[13] มาตรา 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534.

[14] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ความหมายและความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”, (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม 2539).

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 8, น.185.