ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้น หากปราศจากประชาธิปไตยสมบูรณ์

20
พฤษภาคม
2565

 

SDGs (Sustainable Development Goals) เป็นเรื่องที่เราต้องหยิบยกขึ้นมาถก มาพูดคุยกันเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการขับเคลื่อนและในแง่ของการติดตามความคืบหน้าต่างๆ ของทางรัฐบาลด้วยว่าทำถึงไหนแล้ว 

 

 

แต่พอได้รับโจทย์ว่าต้องเป็น “มุมมองของ SDGs เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยสมบูรณ์” ทำให้พิจารณาอยู่หลายวันว่าจะสื่อสารไปในแนวทางไหน จริงๆ แล้วเหมือนเป็นในด้านกลับกันมากกว่าว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต่างหากที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สู่ความสำเร็จได้”

ภาษาเศรษฐศาสตร์ Necessary Condition แต่แน่นอนว่าไม่จำกัดแค่เรื่องนี้ เราจำเป็นที่จะต้องทำเรื่องอื่นควบคู่กันไปด้วยเพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้ 

 

ทำไมประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องของ ประชาธิปไตยทางการเมือง เป็นเรื่องที่หลายๆ ท่านคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องอธิบายกันในเรื่องของทัศนสังคมที่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ แต่เรื่อง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สองคำนี้มีบริบทความหมายที่ค่อนข้างสวนทางกัน ในประชาธิปไตยทางการเมืองอำนาจที่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อำนาจเงินเป็นใหญ่

หากประชาธิปไตยทางการเมืองบอกว่า หนึ่งคนมีหนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียงเท่าๆ กัน แต่ว่าในทางเศรษฐกิจ หนึ่งบาทมีหนึ่งเสียงเท่ากับว่าคนที่ยิ่งมีเงินเยอะจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งมันเลยเป็นเรื่องที่ต้องตีความว่าประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คืออะไรกันแน่

จากการที่ไปค้นคว้าที่อาจารย์ปรีดี พูดถึงหลักการประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ในหลายวาระ หลายโอกาส เรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นมา คือ เรื่องของการต่อต้านการผูกขาดโดยกลุ่มทุนต่างชาติ ในเรื่องของการลงแรงทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การรวมตัวเพื่อที่จะทำการผลิต ทางสหกรณ์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตต่างๆ ซึ่งตอนนี้เป็นเหมือนเรื่องของเป้าหมาย หากอาจารย์ปรีดียังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็อาจจะไม่กลัวทุนต่างชาติเท่ากับกลัวทุนไทยในเรื่องของการผูกขาดเช่นเดียวกัน

หากย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้นถูกครอบงำด้วยทุนต่างชาติเป็นหลัก มีอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก พอบริบทเปลี่ยนไป การตีความต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

ดังนั้น ในเรื่องของเป้าหมายเราเห็นตรงกัน เราต้องการต่อต้านการผูกขาด เราต้องการเสรีในการทำมาหากิน เราต้องการค่าจ้างที่เป็นธรรม เราต้องการรวมกลุ่มกันในการผลิต เราต้องการเพิ่มคุณภาพในการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยี ในทางเป้าหมายสอดคล้องในหลายๆ เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals อย่างแน่นอน

หากจะกล่าวถึงแนวคิดอื่นๆ ของอาจารย์ปรีดี ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่พูดถึงเรื่องประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร มีพูดถึง เรื่องประกันการว่างงาน ใน เรื่องของเงินเดือนขั้นพื้นฐาน เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงปัจจัยสี่ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มุนษย์คนหนึ่งพึงจะต้องได้รับ

แนวคิดเหล่านี้ของอาจารย์ปรีดีเป็นแนวคิดที่เป็นสากลและยังคงร่วมสมัยอยู่เสมอ แม้ว่าเวลาจะผ่านเวียนไปมากแค่ไหนแล้วก็ตาม แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อยากที่จะเน้นย้ำเป็นเรื่องของกระบวนการที่จะไปถึงเป้าหมายทั้งสองฝั่งที่เราควรจะต้องมาตีความว่า กระบวนการการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่อำนาจในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเป็นของคนส่วนใหญ่จริงๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

หากจะพิจารณากันอย่างละเอียด ในแผนของ SDGs นั้น มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่ากระบวนการแบบไหนที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้ทั้ง 17 เป้าหมาย จึงกลับมาที่ว่า การที่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง คือ การที่ประชาชนส่วนใหญ่ มีอำนาจในการตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจ ในเรื่องของนโยบายในทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมีประชาธิปไตยในด้านอื่นๆ ทั้งทางการเมืองและในเรื่องของวิธีคิด ทัศนคติต่างๆ ของสังคมด้วยที่ต้องไปด้วยกัน 

 

ยุทธศาสตร์ชาติที่แน่นิ่งกับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ในเรื่องของการกำหนดนโยบายเป็นเรื่องที่รัฐไทยล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะว่าเราก็เห็นวิถีทางของการพัฒนาที่ผ่านมาที่จะไม่ได้เอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ GDP นี้เป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจนมากว่า หนึ่งบาทของทุกคนนี่เท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือว่าคนจน 

 

 

ในขณะที่การเจริญเติบโตของเค้กของคนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศน้อย แต่ว่าในขณะที่กลุ่มทุนกำไรต่างๆ ของทุนต่างๆ กลับเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และพยายามจะไม่ Technical มากยิ่งเทคนิคไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วปี 2564 เศรษฐกิจหดตัวประมาณ 6% ก็คือก้อนเค้กมันเล็กลง GDP ก็คือรายได้ของคนทั้งประเทศมารวมกัน มันก็คือกำไร ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร

ถ้าเราไปดูกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราจะเจอว่ากำไรปี 64 ของในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้าโควิดถึง 12 % แต่ในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ปี รวมกัน ประมาณ -5% แสดงว่าต้องมีใครสักคนหนึ่งที่รายได้เขาลดลง ถ้ากำไรเป็นบวกแสดงว่าค่าจ้างติดลบรายได้อย่างอื่น ค่าเช่าอย่างอื่น ติดลบถูกไหม ดอกเบี้ยติดลบถูกไหม ก็คือแสดงว่าการที่เราดูแค่ตัว GDP ว่ามันโตหรือว่ามันลดอย่างเดียว มันก็จะสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก หลายๆ คนพยายามที่จะมีดัชนีตัวอื่นๆ ขึ้นมา หรือว่า SDGs เองก็มีสารพัดเป้าหมายต่างๆ เพื่อที่จะพยายาม Tackle หรือว่าพูดถึงการแก้ปัญหาตรงนี้อยู่ แต่ว่าก็ต้องยอมรับว่าการที่มีเป้าหมายเยอะเกินไป บางทีก็ทำให้เราไม่รู้ว่าเราจะต้องโฟกัส หรือว่าเราต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างไร เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดิฉันพยายามที่จะพูดถึง หรือว่าผลักดันมาโดยตลอดว่า การจะดูว่าเศรษฐกิจมันโตดีหรือโตไม่ดี ต้องดูที่กระเป๋าเงินส่วนใหญ่ของคนประเทศนี้ ไม่ใช่ว่ากระเป๋าเงินของทุกๆ คนแล้วเอามารวมกัน แล้วบอกว่ามีการเติบโตขึ้นอันนั้นคือดี

นอกจากนั้น ยังสะท้อนในเรื่องของการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมด้วยว่าที่ผ่านมาเราก็จะขอเรียกร้องความเสียสละจากประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ คนที่ต้องยอมเสียสละบางอย่างเพื่อทำให้เศรษฐกิจบางอย่างของประเทศมันโตได้ ต้องยินยอมสูญเสียที่ดินของตัวเองให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม ต้องยอมรับเอาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งมลพิษ ฝุ่นควัน มลภาวะให้ไปอยู่ในใกล้ๆ บ้านของตัวเอง ต้องยอมเสียสละในเรื่องพวกนี้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจโต แต่ไม่รู้ว่าทำให้เศรษฐกิจของใครโต ก็เลยทำให้เป็นเรื่องที่ที่สำคัญว่า “ทำไมถึงต้องมีประชาธิปไตย” ด้วยทั้งในเชิงกระบวนด้วย กำหนดทางนโยบายของการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วก็เรื่องที่สำคัญๆ ของ SGDs

เมื่อสักครู่ที่นักศึกษารางวัลทุนปาล พนมยงค์ ได้กล่าวถึงในเชิงเศรษฐกิจว่ามีหลายเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายที่หนึ่งในเรื่องการขจัดความยากจน เรื่องของการยุติความหิวโหย จริงๆ ก็ยังมีเรื่องของค่าจ้างที่มี งานที่มีคุณค่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานหรือว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมแล้วก็ยั่งยืน มีหลายตัวด้วยกันที่บอกชัดเจนเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

แต่ยังมีอีกหลายตัวที่เกี่ยวเนื่องกับคนส่วนใหญ่ เศรษฐกิจปากท้องของคนส่วนใหญ่ในประเทศเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของ Climate Change เรื่องของภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจปากท้องของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยที่เกิดจาก Climate Change มันกระทบกับคนที่มีรายได้น้อยและคนที่เป็นกลุ่มบอบบางมากที่สุด Sector ที่จะต้องได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องของภาคเกษตรเพราะสภาพการแปรปรวนของภูมิอากาศทำให้เกิดแล้งนานขึ้น หรือว่าน้ำท่วมถี่ขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบกับภาคเกษตรซึ่งเป็นคนของประเทศนี้แน่นอนอยู่แล้ว เรื่องท่องเที่ยวการกัดเซาะชายฝั่งทะเลต่างๆ ก็เป็นกลุ่มการจ้างงานหลักของประเทศนี้เช่นเดียวกัน

การกัดเซาะชายฝั่งเป็นกลุ่มการจ้างงานหลักของประเทศนี้ที่จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว และเรื่องของประมงชายฝั่งที่จะได้รับผลกระทบ ก็ต้องบอกว่าทั้ง 17 เป้าหมายนี้ เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกันไปหมด เพียงแต่ว่าเราจะมองสะท้อนเรื่องนี้จากมุมไหน

สุดท้ายอยากที่จะทบทวนว่า รัฐบาลที่ผ่านมามีความมุ่งมั่นหรือว่ามีเจตจำนงทางการเมืองแน่วแน่แค่ไหนที่จะพาเราไปให้บรรลุเป้าหมายของ SDGs คงต้องบอกว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ถึงแม้อันดับของเราจะดูดีที่อันดับ 43 ของโลก ดีกว่าสิงคโปร์

ในส่วนนี้ อยากเรียนถามอาจารย์ชลเช่นกันว่า “เป็นไปได้อย่างไร” นอกจาก 17 เป้าหมายนี้ ยังมีเป็นเป้าหมายย่อยอีกเป็นร้อย เราเข้าไปดูได้เลยว่า รัฐบาลไทยไป commit ไปสัญญาอะไรกับเขาไว้ในแต่ละเป้าหมาย มีความคืบหน้าอะไรบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเป้าหมายมีความท้าทายมากพอหรือเปล่าด้วย

บางเป้าหมายเอาที่ตัวเองน่าจะบรรลุง่ายๆ ด้วยซ้ำไป ก็เลยทำให้รู้สึกว่า จริงๆ แล้วรัฐไทยไม่ได้มีความมุ่งมั่น หรือว่าไม่ได้มีเจตจำนงทางการเมืองใดๆ ที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเพื่อให้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือเปล่า ซึ่งก็เป็นความน่าเสียดาย

ยกตัวอย่างในเรื่องของข้อมูล การที่เรามีเป้าหมายพวกนี้ได้ แสดงว่าเราต้องมีการเก็บฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยที่มีความถี่ที่เหมาะสม แต่ว่าดิฉันเข้าไปดูรายงานสภาพัฒน์ฯ ที่ดูเรื่องของความคืบหน้าของ SDGs เราก็จะเจอว่าโอ้โห้นี่ปี 2565 แต่ว่าตัวเลขที่เอามาใช้ในเป้าหมาย SDGs ยังเป็นของปี 2560 บ้าง ของปี 2561 บ้าง ทั้งๆ ที่ก็ไปสัญญาไปรับปากกับทาง UN ไว้แล้วว่าเราเข้าร่วม SDGs Goals ก็มีเซ็ตของข้อมูลที่จำเป็นจะต้องมีการเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่ได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลให้มันมีความอัปเดตหรือว่าทันสมัย

สุดท้ายแล้ว เราก็คงจะหวังอะไรมากไม่ได้กับรัฐบาล ถึงได้กลับมาว่าทำไมถึงต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก่อน แล้วถึงจะสามารถที่จะบรรลุถึงเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

เรื่องสุดท้ายก็คือ ดิฉันก็แอบสงสารทางฝั่งข้าราชการเหมือนกัน เพราะว่าเมื่อสักครู่มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเราวัดความมุ่งมั่นได้จากตรงนี้ ว่าถ้าจะมีอะไรที่ข้าราชการหรือว่ารัฐบาลจะทำ เขาจะทำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก่อน หรือแม้จะมีคนบอกว่ามันก็ใกล้เคียงกัน มีความสอดคล้องกันอะไรก็ตาม เพราะว่าในรัฐธรรมนูญมีระบุคาดโทษของคนที่ไม่ยอมทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในขณะที่เรื่องของ SDGs ยังไม่มีหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพชัดเจน มีคณะกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมประมาณปีละครั้ง แล้วก็สภาพัฒน์ฯ เหมือนเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ว่าเราก็ทราบกันดีว่าสภาพัฒน์ฯ ก็รับผิดชอบอยู่อีกประมาณ 100 เรื่องในประเทศนี้ ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลยที่สภาพัฒน์ฯ จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง

นอกจากยุทธศาสตร์ชาติ เราก็ทราบกันดีว่าข้าราชการหน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องทำตามแผนแม่บทต่างๆ มีแผนนโยบาย 5 ปี 20 ปีต่างๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถยัดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs Goals เข้าไปอีกในแผนการพัฒนาของรัฐบาลก็เป็นความน่าเสียดาย

 

 

ที่มา : งานเสวนา PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวาระ 122 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์, พุธที่ 11 พฤษภาคม 2565, ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ :