เมื่อปี พ.ศ. 2522 อาจารย์ปรีดีฯ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอเชียวีคประจำกรุงปารีส ท่านได้กล่าวว่า
“ปรัชญาการเมืองของข้าพเจ้า คือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์”
ท่านยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า
“ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ภายใต้ปรัชญาและระบอบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ สันติสุข ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ และประชาธิปไตยของประชาชน”
แม้ว่าท่านไม่ได้ขยายความคำว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ไว้มากนัก แต่หากพิจารณาอุดมการณ์ ทัศนคติทางการเมือง เศรษฐศาสตร์และกฎหมายของท่านที่ได้แสดงออกมาทั้งการพูด งานเขียน และการกระทำของท่าน ตลอดช่วงที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย และช่วงที่ลี้ภัยไปต่างประเทศในช่วงหลัง ล้วนแล้วแต่บ่งชี้ว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” เป็น “ปรัชญา” ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของอาจารย์ปรีดีฯ เป็นอุดมการณ์ร่วมกันของคณะราษฎร ผู้ซึ่งก่อการอภิวัฒน์สยามเมื่อ ปี พ.ศ. 2475 และเป็นหลักค้ำจุนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่น่าเสียดายอุดมการณ์นี้ไม่ได้ถูกสมาทานและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้สังคมไทยและประชาธิปไตยของไทยล้มลุกคลุกคลานตลอด 90 ปีที่ผ่านมา
จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สังคมไทยน่าจะเริ่มตระหนักได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าระบบประชาธิปไตยของไทย ไม่มีสังคมนิยมและวิทยาศาสตร์เป็นรากฐาน ประชาชนในชาติ คงไม่มีทางเป็นเจ้าของอธิปไตย มีสันติสุข และความไพบูลย์อย่างแท้จริง
ผมอยากขยายความ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ที่เป็นอุดมการณ์รากฐานของการอภิวัฒน์ ตั้งแต่เมื่อ 90 ปีที่แล้วว่า ยังเป็นอุดมการณ์ที่ถูกต้อง สำหรับสังคมไทยได้อย่างไร
ประการแรก ผมอยากชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับวิทยาศาสตร์
คำว่า “วิทยาศาสตร์” ที่ อ.ปรีดีพูดถึง ไม่ได้มีความหมายแคบแค่ศาสตร์ที่ว่าด้วยการทดลองอย่างเป็นระบบเพื่อค้นหาความรู้และความจริงในจักรวาล แต่รวมถึงวิธีคิดที่มองสรรพสิ่งอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล และทัศนคติเชิงวิพากษ์และการโต้แย้งอย่างเป็นเหตุเป็นผล
ในทางปรัชญากฎหมายวิธีคิดและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับวิธีคิดและวิธีการของสำนักมานุษยนิยมทางกฎหมาย (Legal Humanism) และสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) สำนักมานุษยนิยมทางกฎหมาย มองเห็นคุณค่าของมนุษย์ สติปัญญา ความมีเหตุผลของมนุษย์ ว่าสามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติ ในขณะที่สำนักกฎหมายธรรมชาติ มองกฎเกณฑ์ทางกฎหมายว่าเป็นระบบเหตุผลที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ และมองว่าสิทธิเสรีภาพของมนุษย์เป็นเหตุผลสากล
เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์ในทางการเมืองและกฎหมาย คือ การที่ระบบการเมืองและกฎหมายให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมให้มนุษย์ใช้สิทธิเสรีภาพ ในทางความคิดและการแสดงออกเพื่อตั้งคำถามกับทุกสรรพสิ่งอย่างมีเหตุผล เปิดโอกาสให้คนในสังคมแสดงความเห็นที่แตกต่าง และโต้แย้งระหว่างกันเองและกับผู้มีอำนาจได้อย่างปลอดภัย ในระบบการเมืองและกฎหมายที่เป็นวิทยาศาสตร์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพจึงเป็นคุณค่าสูงสุดและเป็นคุณค่าที่สูงกว่าคุณค่าอื่นใดในสังคม
แน่นอนว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรและหุ่นยนต์ที่ดำรงอยู่ด้วยชุดคำสั่งที่เป็นระบบ แต่มีเลือดเนื้อ อารมณ์ ความรู้สึกที่ชอบและไม่ชอบ อารมณ์และความรู้สึกร่วมกันของมนุษย์ในสังคมก่อให้เกิดคุณค่าในทางจารีตประเพณี ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ความเชื่อทางศาสนา รูปแบบการปกครอง รูปแบบของประมุขของรัฐ ล้วนแล้วแต่เป็นคุณค่าในทางจารีตประเพณี เพราะฉะนั้นในสังคมมนุษย์และโดยเฉพาะสังคมการเมือง จึงมีคุณค่าสองคุณค่าที่ดำรงอยู่เคียงคู่กันเสมอ และอาจปะทะกันในบางวาระโอกาส คือ คุณค่าในทางวิทยาศาสตร์ และ คุณค่าในทางจารีตประเพณี
คุณค่าในทางวิทยาศาสตร์ เป็นระบบเหตุผลที่ถูกต้องและเป็นจริงชั่วนิจนิรันดร เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ในขณะที่ความเชื่อในทางศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นคุณค่าในทางจารีตประเพณี
อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์หลายท่าน เชื่อมั่นในการดำรงอยู่เคียงคู่กันระหว่างคุณค่าในทางวิทยาศาสตร์กับคุณค่าในทางจารีตประเพณี ถ้าใครศึกษาอุดมการณ์ทางการเมืองของ อ.ปรีดีอย่างลึกซึ้ง ก็จะทราบว่าท่านมีอุดมการณ์แบบ Conservative Liberalism คือ ท่านเป็นนักประชาธิปไตยที่พยายามรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณีไว้ ในหลายวาระโอกาส ท่านแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักธรรมในทางศาสนา และคุณค่าในทางจารีตประเพณีที่มีต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย
อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์หลายท่านอาจเป็นอนุรักษนิยมประชาธิปไตย แต่เป็นอนุรักษนิยมหัวก้าวหน้า คือ มองว่าการจะรักษาคุณค่าในทางจารีตประเพณีให้ดำรงต่อไปในสังคมไทยได้ จะต้องทำให้จารีตประเพณีเหล่านั้นดำรงอยู่อย่างมีเหตุมีผลในสังคมการเมืองประชาธิปไตย
การสร้างความชอบธรรมให้สิ่งนั้นดำรงอยู่อย่างมีเหตุผล ในภาษาอังกฤษ คือ การ Rationalize นั่นก็คือ ทำให้คุณค่าทางจารีตประเพณีดำรงอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นที่ยอมรับในสังคม คือ การทำให้คุณค่าเหล่านั้นมีความโปร่งใส ถูกตรวจสอบ ถูกตั้งคำถามจากประชาชนได้ วิธีการนี้เท่านั้นที่จะทำให้คนรู้สึกว่า คุณค่าจารีตประเพณีแปลกแยกหรือขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นคุณค่าทางวิทยาศาสตร์มากจนเกินไป
อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์นั้นตระหนักดีว่า คุณค่าทางจารีตประเพณีดำรงอยู่ได้ด้วยความรู้สึกของคนในสังคม ในขณะที่คุณค่าในทางวิทยาศาสตร์เป็นระบบเหตุผลที่ถูกต้องที่จะต้องดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ การจะรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณีให้อยู่ในสังคมไทยตราบนานเท่านาน คือ การทำให้คุณค่านั้นดำรงอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นผล และดำรงอยู่อย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับคุณค่าในทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นตัวอย่างแรกๆ ของความพยายาม Rationalize คุณค่าทางจารีตประเพณี อาจารย์ปรีดีและผู้อภิวัฒน์มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเห็นว่าเป็นหนึ่งในคุณค่าทางจารีตประเพณีที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย จึงพยายามที่จะ Rationalize สถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะเหนือการเมืองและเป็นที่เคารพสักการะ นี่คือความพยายามในการทำให้คุณค่าในทางจารีตประเพณีมีความเป็นเหตุเป็นผลให้มากที่สุด ลดความเสี่ยงที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน
การ Rationalize คุณค่าในทางจารีตประเพณีในทำนองนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐทั้งหลายในตะวันตกเช่นอังกฤษ หรือประเทศยุโรปในหลายประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นจากประเพณีนิยม สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและกลมกลืนกับคุณค่าวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และคนส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน แม้จะมีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่าการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย การที่รัฐและระบบกฎหมายอนุญาตให้ผู้คนแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกความเห็นได้อย่างเต็มที่ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะกระทำการอื่นใด มากไปกว่าการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วย
ความใฝ่ฝันของผู้อภิวัฒน์ที่อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย มีสันติสุข และความไพบูลย์อย่างแท้จริง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าคุณค่าในทางจารีตประเพณีนิยม สำคัญมากกว่าไปกว่าคุณค่าในทางวิทยาศาสตร์
หลังจากที่ อ.ปรีดีต้องลี้ภัยออกจากต่างประเทศ สังคมไทยและประชาธิปไตยของไทยก็ล้มลุกคลุกคลาน เมื่อ 90 ปีก่อน เราเริ่มต้นด้วยการเป็นสังคมประชาธิปไตยวิทยาศาสตร์ แต่พัฒนากลายเป็นสังคมจารีตนิยม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปฏิรูปหลายครั้งหลายหน คนไทยได้ยินคำว่า “ความสงบเรียบร้อย” “คุณธรรมจริยธรรม” “ความซื่อสัตย์สุจริต” จนชินหู คำเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกครั้ง คุณค่าทางจารีตประเพณีนิยมเหล่านี้ เป็นความชอบธรรมที่ทำให้ระบอบเผด็จการฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
การรัฐประหารครั้งหลังสุด ผู้รัฐประหารบอกกับประชาชนว่า จะนำความสงบสุขกลับมาสู่สังคมไทย ผ่านไป 8 ปี สังคมไทยไม่มีได้อะไร นอกจากรัฐธรรมนูญปี 2560 และยุทธศาสตร์ 20 ปี สองสิ่งนี้เป็นความพยายามในการปิดกั้นเจตจำนงของประชาชนในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ปิดกั้นการดำรงชีวิตอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พยายามกดทับประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจนิยม และประเพณีนิยม บนสมมติฐานที่ว่าคนไทยไม่มีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง และต้องมีผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจคุ้มครอง ในการตัดสินใจแทนเสมอ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจะเป็นเครื่องชี้ว่า สมมติฐานของพวกเผด็จการอำนาจนิยมและประเพณีไม่ถูกต้อง การเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เป็นพยานหลักฐานที่ทรงพลังที่สุดว่า คนไทยมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ โดยไม่ต้องการพวกอำนาจนิยมมาคอยบงการกำหนดชีวิตเรา ผมเชื่อว่าประสบการณ์ของคนไทยตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเริ่มหูตาสว่าง ว่าสังคมจารีตนิยมเป็นสังคมที่อำนาจอธิปไตยเป็นของคนบางกลุ่ม และความมั่งคั่งไพบูลย์ผูกขาดโดยคนบางพวกเท่านั้น
ตอนนี้คนไทยน่าจะเริ่มคิดได้ว่า เขาไม่ต้องการผู้นำจารีตประเพณีนิยมที่ใช้เหตุผลในเชิงจารีต ปล้นอำนาจทางการเมืองเพื่อให้ตนเองมีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตและกำหนดอนาคตของคนในสังคม เช่น ด้วยการสร้างแผนยุทธศาสตร์ชาติไปอีก 20 ปี ความเบื่อหน่ายระบอบการเมืองแบบจารีตนิยม ทำให้คนเริ่มเห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นความสำคัญของพลังอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ผ่านการเลือกตั้ง และมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านการเปลี่ยนแปลงผู้แทนในทุกช่วงการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากเริ่มคิดว่า การอยู่ภายใต้การปกครองของนักการเมืองที่ชั่วร้ายที่ประชาชนเลือกเข้ามา ยังดีกว่าถูกปกครองโดยผู้นำคุณธรรมที่พยายามจะปิดกั้นสิทธิในการกำหนดชีวิตของประชาชนไปตลอดกาล
ความพยายามของคนหลายกลุ่มในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามในการจะจัดระเบียบสังคมการเมืองให้เป็นสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นสังคมที่ช่วยให้คุณค่าในทางวิทยาศาสตร์และคุณค่าในทางจารีตประเพณีดำรงอยู่ได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน และจะช่วยรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณีให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยไปอีกนานแสนนาน เพราะฉะนั้นความพยายามของรัฐในการฟ้องร้องดำเนินคดี ใช้กระบวนการยุติธรรมปิดปากคนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดี มาตรา 112 มาตรา 116 หรือข้อหาทางการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ส่งผลดีต่อการรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณี ผมยังคิดว่าการรับฟัง พูดคุย และปรับตัว ของทุกๆ ฝ่ายจะช่วยให้สังคมไทยเป็นสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่สามารถรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณีไว้ได้อย่างกลมกลืนและเป็นเหตุเป็นผล
ประการที่สอง ที่ผมอยากกล่าวถึง คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาธิปไตยกับสังคมนิยม
อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์ตระหนักดีว่าสังคมประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากประชาชนคนส่วนใหญ่ของสังคมยังคงอดอยาก มนุษย์ยากที่จะเข้าถึงระบบเหตุผลหากท้องยังหิวโหย ประชาธิปไตยจะเจริญงอกงามในสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากสังคมใดที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง และไม่ใส่ใจประโยชน์ส่วนรวม สังคมนั้นจะถูกครอบงำด้วยอำนาจเผด็จการและจารีตประเพณีนิยมสุดโต่งได้โดยง่าย
ความตระหนักรู้ในข้อเท็จจริงนี้ ทำให้ อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์หลายท่านสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของ “รัฐสวัสดิการ” แม้ว่าชื่อ “สังคมนิยม” ดูจะสวนทางกันกับอุดมการณ์เสรีนิยม แต่เศรษฐกิจสังคมนิยมไปได้ดีและประสบความสำเร็จในสังคมการเมืองประชาธิปไตย และเป็นที่ตระหนักกันดีว่า ประเทศที่สามารถสร้างสันติสุขและความไพบูลย์ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน เป็นประเทศประชาธิปไตยที่เป็นรัฐสวัสดิการ อย่างเช่นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย
ผมเคยสงสัยว่าเหตุใด อ.ปรีดีและผู้อภิวัฒน์ถึงสนับสนุนลัทธิเศรษฐกิจเป็นสังคมนิยมตั้งแต่แรก ทั้งๆ ที่สามารถสมาทานระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเหมือนประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศ เมื่อได้พิจารณาพัฒนาการการเมืองการปกครองของไทยตลอด 90 ปี นับแต่การอภิวัฒน์ จึงได้คำตอบว่า ท่านเหล่านั้นเข้าใจสภาพสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีรากฐานจารีตประเพณีนิยม ระบบกฎหมายไทยเดิมก็เป็นระบบกฎหมายศาสนา การที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับจารีตประเพณีนิยม ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลคำหลอกลวงของกลุ่มเผด็จการอำนาจนิยมทางการเมืองและทางเศรษฐกิจได้โดยง่าย ผมเรียกกลุ่มเผด็จการอำนาจนิยมทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการผูกขาด หรือการสนับสนุนของเครือข่ายทางการเมือง โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การรักษาการผูกขาดและอำนาจนิยมทางธุรกิจ คือ การรักษาระบอบการเมืองให้เป็นเผด็จการ
“เผด็จการทางการเมือง” ชอบสภาพสังคมแบบจารีตประเพณีนิยม สังคมที่คนให้ความสำคัญกับศีลธรรมมากกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะที่เผด็จการทางเศรษฐกิจชอบเผด็จการทางการเมือง จะช่วยป้องกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สังคมประชาธิปไตยวิทยาศาสตร์ จะไม่มีทางเกิดขึ้นในสภาพสังคมที่มีทั้งเผด็จการทางการเมืองและเผด็จการทางเศรษฐกิจ
เพราะฉะนั้น การจะป้องกันสภาพเผด็จการทางการเมือง คือ การทำให้คนมีทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์ มองสรรพสิ่งด้วยเหตุด้วยผล และเห็นคุณค่าถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการจะสร้างทัศนคติเช่นนี้ร่วมกันในสังคม ต้องกำจัดอุปสรรคขั้นพื้นฐานเสียก่อน คือ ความอดยาก การที่ประชาชนได้รับการดูแลให้มีสิทธิและสวัสดิการทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอและเท่าเทียม จะทำให้พวกเขามีเวลาคิดถึงเรื่องส่วนรวม และถูกจูงใจด้วยคำหลอกลวงของกลุ่มเผด็จการทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ยากขึ้น
น่าเสียดายตลอด 90 ปี สังคมไทยยังคงห่างไกลกับการเป็นรัฐสวัสดิการมาก เวลาส่วนใหญ่ที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ คือ เวลาที่เผด็จการอำนาจนิยมทางเศรษฐกิจเฟื่องฟูจนเข้มแข็ง มากถึงขนาดที่แม้ประชาชนจะได้สิทธิได้เสียงในการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง อาจจะถูกพรากไปอีกโดยกลุ่มทุนที่สูญเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่เป็นธรรม
สิ่งที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นช่วยยืนยันว่า “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” เป็นรากฐานของการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 เป็นอุดมการณ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดที่จะช่วยสร้างสังคมประชาธิปไตยที่คนในสังคมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสันติสุขและความไพบูลย์อย่างแท้จริง อ.ปรีดีและผู้ร่วมอภิวัฒน์เป็นผู้ที่เข้าใจสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง และเป็นผู้มาก่อนกาล คือ มองเห็นว่าสังคมไทยจะต้องล้มลุกคลุกคลานไปอีกยาวนาน หากคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีทัศนคติในเชิงวิทยาศาสตร์ และไม่ได้รับสวัสดิการการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานในทางเศรษฐกิจจากรัฐ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สามารถวิเคราะห์แยกแยะ ตั้งคำถามและข้อสงสัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทัศนคติในเชิงวิทยาศาสตร์ สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมจารีตนิยมไปสู่สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย เราเห็นคนในสังคมตั้งคำถามต่อการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บ่อยขึ้น เราได้ยินการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติและจารีตประเพณีที่ไม่สมเหตุสมผลในหลายเรื่อง เช่น การบังคับให้แต่งเครื่องแบบในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การบังคับให้ตัดผมสั้น การเรียกร้องให้ยกเลิกระบบ SOTUS ซึ่งปัจจุบันคนในสังคมมองว่าเป็นข้อกำหนดที่ไม่สมเหตุสมผลและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แน่นอนข้อเรียกร้องเหล่านี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนในสังคมไม่มีทัศนคติในเชิงวิทยาศาสตร์ การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะการสมรสของเพศเดียวกัน ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการผลักดันให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่าจารีตนิยม อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายระดับชาติไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายในเวลานี้ เพราะกลไกนิติบัญญัติถูกครอบงำโดยเผด็จการจารีตนิยมทางการเมือง
ทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์ผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทรงพลังกำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองไทย ปรากฏการณ์นี้เป็นความหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับคืนมาอีกครั้ง คุณค่าทางจารีตประเพณีที่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมปรับตัวก็จะล้มหายตายจากไปในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยซึ่งได้เริ่มต้นโดยการอภิวัฒน์เมื่อ 90 ปีก่อน กำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักมาเป็นระยะเวลายาวนาน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ระบบและสถาบันทางกฎหมายและทางการเมืองทั้งหลายไม่อาจหลีกหนีการตรวจสอบ การประเมิน และการท้าทายอย่างเป็นเหตุเป็นผลจากประชาชน การปรับตัวและการตอบคำถามที่เป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ในห้วงกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และคุ้มครองอำนาจของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนีไม่พ้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและอยู่ในความสนใจของสังคม ศาลรัฐธรรมนูญที่ควรเข้าใจธรรมชาติของการปฏิบัติหน้าที่ของตนว่าอาจจะเป็นเหตุให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายกว่าคดีประเภทอื่น กลับออกกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ โดยหวังจะปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ จะเห็นได้ว่าวิธีการตอบสนองต่อความท้าทายลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่การปรับตัวที่ดี แต่เป็นการฝืนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง และเมื่อใดก็ตามที่คนเห็นว่าองค์กรนี้เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะนำมาสู่การยุบเลิกองค์กรในท้ายที่สุด
ถ้าจะเปรียบเทียบกับศาลยุติธรรมแม้ว่าจะปรับตัวไปมาก แต่ต้องปรับตัวให้เร็วกว่าเดิม ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดคดีละเมิดสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ผู้คนก็จะมีความหวังกับศาลยุติธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย ว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย ช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลในสังคมประชาธิปไตย คือ ศาลที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดของประชาธิปไตย การรักษาจารีตประเพณีนิยมให้มั่นคงสถาพร คือ การส่งเสริมให้คุณค่าทางจารีตประเพณี การปรับตัว การปล่อยให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีหรือเพื่อรักษาคุณค่าทางจารีตประเพณี จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรม
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การจัดการระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบสวัสดิการต้องอาศัยนโยบายทางการเมือง ของนักการเมืองที่จริงใจและเห็นความสำคัญของปัญหาปากท้องของประชาชน
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปน่าจะเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ เพราะประชาชนจะมีความคาดหวังต่อนักการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่านักการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนจะช่วยหยุดระบบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างถาวร และป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนมีอำนาจเหนือการเมืองและเหนือเจตจำนงของประชาชน ประสบการณ์การรัฐประหารสองครั้งหลังสุด น่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สุดให้กับประชาชนชาวไทยและนักการเมืองว่า อำนาจเผด็จการจารีตประเพณีนิยมไม่สามารถสร้างอธิปไตย สันติสุขและความไพบูลย์ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง
ในทางตรงกันข้าม เผด็จการพยายามพรากอำนาจอธิปไตยและความสามารถในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองไปจากประชาชน ด้วยการวางกลไกทางกฎหมายให้เกิดการสืบทอดอำนาจและนโยบายอย่างไม่รู้จบ และพยายามผูกขาดความมั่งคั่งและความไพบูลย์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ด้วยการสนับสนุนโดยกลุ่มเผด็จการอำนาจนิยมทางเศรษฐกิจ นักการเมืองที่มาจากระบบเลือกตั้งต้องช่วยกันหยุดวงจรการสืบทอดอำนาจ และประชาชนต้องไม่สนับสนุนความชอบธรรมของเผด็จการในการอ้างจารีตประเพณีนิยมในการสอบสืบทอดอำนาจอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ผมเชื่อว่าสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย จะไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของเผด็จการอีกต่อไป และหวังว่าผู้แทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม จะช่วยสืบสานอุดมการณ์ของผู้อภิวัฒน์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 90 ปีก่อน คือ การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานของการเมืองและกฎหมาย และมีสังคมนิยมเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจ หากทำได้สำเร็จ สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสันติสุข และมีความไพบูลย์อย่างแท้จริง สมดังเจตนารมณ์ของผู้อภิวัฒน์
ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070
- PRIDI Talks 16
- มุนินทร์ พงศาปาน
- การอภิวัฒน์สยาม 2475
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- ระบอบประชาธิปไตย
- ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- 24 มิถุนายน 2475
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
- Scientific Democratic Socialism
- สำนักกฎหมายธรรมชาติ
- สำนักมานุษยนิยมทางกฎหมาย
- Legal Humanism
- Natural Law
- Rationalize
- สถาบันพระมหากษัตริย์
- Conservative Liberalism
- SOTUS
- ปรัชญาการเมือง