ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ความกาลีแห่งอำนาจ [ตอนที่ 6]

8
มิถุนายน
2567

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในนามปากกา “อิสสระชน” ช่วงทศวรรษ 2480
 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดรเมื่อวันที่…[ต้นฉบับขาด]...ตามที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นี้ มีข้อความตรึงใจข้าพเจ้าอยู่ตอนหนึ่ง ในการอภิปรายถึงการตั้งตําแหน่งเลขาธิการนายกรัถมนตรี ในสมัยรัถบาลเก่าซึ่งใช้ระบอบการปกครองชนิดถืออํานาจเป็นธัม. ในการอภิปรายถึงเรื่องนั้น ทุกฝ่ายต่างรับต้องกันว่า การตั้งตําแหน่งเลขาธิการ นายกรัถมนตรีในสมัยรัถบาลเก่านั้น เปนการกระทําที่ผิดและปราสจากเหตุผลด้วยประการทั้งปวง เหตุใดสภาจึงยอมรับรองให้การกระทําที่ผิดและไร้เหตุผลนี้ผ่านออกมาเปนกดหมายได้ คําตอบได้เปิดเผยออกมาว่า การที่ต้องยอมเช่นนั้นเกี่ยวด้วยความบีบคั้นของอำนาจบางอย่าง.

ความข้อนี้ตรึงใจข้าพเจ้า ด้วยเหตุว่า นอกจากการตั้งตําแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ความบีบคั้นของอํานาจในระบอบอํานาจเปนธัมนั้น ได้ทําให้สภาและข้าราชการในสมัยนั้น ต้องทําใจยอมรับนับถือการกระทำที่ผิดและไร้เหตุผล ว่าเป็นการกระทําที่ถูกและชอบด้วยเหตุผล ไว้อีกมากเรื่องมากราวเท่าใดเล่า. ความข้อนี้ ตรึงใจข้าพเจ้าด้วยเหตุว่า ในเวลาที่อํานาจบงการความผิดและความไร้เหตุผลออกมาแล้ว ท่านข้าราชการฉะเพาะอย่างยิ่งในบรรดาพวกชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เมื่อจะต้องออกปากรับว่าเป็นการถูกต้องนั้น ท่านจะรู้สึกในจิตใจของท่านอย่างไร. ความผิดซึ่งอํานาจได้บงการออกมานั้น บางทีมันก็ชัดแจ้งเกินไป และใหญ่หลวงเกินไป จนทําให้พิศวงนักหนาว่าท่านข้าราชการเหล่านั้นท่านกล้ํากลืนให้ล่วงลําคอไปได้อย่างไร. ท่านที่ยอมรับการกระทําที่ผิดและไร้เหตุผลว่าเป็นการกระทําที่ถูก โดยเห็นเพียงแต่แสดงอาการพยักหน้าพอทําเนา แต่สําหรับท่านที่ต้อนรับความผิดว่าเป็นชอบ ด้วยการประโคมแตรสังข์ดุริยางค์สังคีตนั้น ท่านมีอุบายในการทําจิตใจของท่านให้เป็นสุขได้อย่างไรหนอ ท่านมีวิธีคิดหาคําตอบของท่านได้อย่างไรหนอ. ที่ทําให้ท่านได้ผลลัภแห่งคําตอบนั้นว่า การรักสาตําแหน่งและถานะอันผาสุกส่วนตัวไว้นั้น เป็นของคู่ควรแก่การยอมสละความพากพูมใจแห่งความเป็นมนุสยของท่าน เปนพลีแก่ธุลีบาทแห่งอํานาจนั้น.

นามธัมอํานาจนั้นใช่ว่าเป็นของชั่ว โดยที่แท้แล้ว ชุมชนใดถ้าปราสจากเสียซึ่งอํานาจบังคับ ชุมชนนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ จะกาหลวุ่นวายไม่เป็นส่ำ เราลองสมมุติดูว่า ถ้าเราเลิกล้างกดหมายอาญาเสียทั้งเล่มในบัดนี้ บ้านเมืองเราจะตั้งอยู่ในอาการอย่างไร เมื่อการ “จี้พุง” กลายเป็นการไม่ละเมิดกฎหมาย การล้วงลักยักยอกเอาเงินของแผ่นดินไปใช้เป็นอาญาประโยชน์ส่วนตัวไม่เป็นการละเมิดกดหมาย และการทุจริตคิดมิชอบอื่นๆ ก็ไม่มีอํานาจใดจะบังคับปราบปรามลงได้แล้ว ระเบียบแห่งสังคมของเราก็จะถล่มทลาย ดังนั้นอํานาจบังคับ ตามที่มีอยู่ในตัวบทกฎหมาย อันได้ตราขึ้นโดยยุติธัมนั้น จึงเปนเครื่องค้ำจุนโครงร่างของสังคมอย่างสําคัน และจะปราสจากเสียมิได้.

แต่ว่านามธัมอํานาจอันมีสง่าราศรีและเป็นเนื้อนาบุญแห่งสังคมนี้ เมื่อตกไปอยู่ในกํามือของบุคคลใดอย่างเต็มขนาดแล้ว ก็มักจะจําแลงตนไปเป็นรูปความกาลี สิ้นสรีสิ้นสง่า ความกาลีแห่งอํานาจอันเปี่ยมล้นในกํามือของบุคคลนั้น ได้ชักนําให้บุคคล ทั้งที่เรื่องปัญญาและชามปัญญาเสียผู้เสียคนบ่นมานักต่อนัก และความเสียนั้น บางทีก็ร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่เสียแต่ตัว แต่เสียย้อนหลังขึ้นไปถึงโคตร์ และสืบต่อไปถึงชั่วลูกชั่วหลานอีกด้วย

ในขณะรําพึงถึงความกาลีแห่งอํานาจนี้ บังเอินนายสง่า กาญจนาคพันธุ์ สมาชิกวรรณคดีสมาคมนําเรื่องของผู้ซงอํานาจ 4 คน ได้แก่ นะโปเลียน ซีซาร์ และอาเล็กซันเดอร์ มาแสดงทางวิทยุกระจายเสียง ความรุ่งโรจน์ของบุคคลเหล่านี้ได้มาด้วยการบุกตลุยไปในกองเลือดของมนุษยชาติ. กถาเรื่องนั้นได้ชี้ให้เห็นว่า ความรื่นรมย์ในการเถลิงอํานาจของบุคคลเหล่านี้ มีอยู่ในเวลาอันจํากัด ท้ายที่สุดก็ประสพความประลัยไปทุกคน.

กล่าวตามคําของนายกาญจนาคพันธุ์เอง ก็คือ “คนทั้งสี่ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือโลก เปนมหาจักรพรรดิคือนะโปเลียน เซซเร อเล็กซาน เดอร์ โซรัส ล้วนถูกความปรารถนาโค่นถึงซึ่งความพินาสดับสูญอย่างน่าอนาถทั้งสิ้น” นายกาญจนาคพันธ์ ได้ชี้แจงว่า ความปรารถนาของนะโปเลียนเปนไปในทางเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าประเทสชาติ เช่นเคย รับสั่งกับเขตเตอนิดทูตผูกสัมพันธ์ไมตรีที่มาเจรจาสงบสึกสงคราม ว่า “...[ต้นฉบับขาด]...” นายกาญจนาคพันธ์ได้สรุปว่า “...[ต้นฉบับขาด]...”

คติที่นายกาญจนาคพันธ์มุ่งจะแสดงในกถาเรื่องนี้ คงใคร่จะให้เป็นข้อเตือนใจ ผู้ที่จะปกครองบ้านเมืองในภายภาคหน้า อย่าได้คิดอ่านสวาปามอํานาจให้เกินขนาดที่ควรไป และอย่าเพลินในการเบ่งอํานาจเกินไป จนนัยน์ตาก็มืดมัวและสองหูอื้อไป จนมิได้เห็นดวงหน้าอันหมองด้วยความคับแค้น และมิได้ยินเสียงบริภาสติเตียนของประชาราสดรที่ดังอึงคนึงไปตลอดทั้งแผ่นดิน.

การที่นายกาญจนาคพันธ์สมาชิกวรรณคดีสมาคม ได้นํากถาเรื่องนี้มาแสดงในยามนี้ ก็เป็นที่น่ายินดีนักหนา ใครๆ จะนึกเสียดายอยู่หน่อยก็แต่ว่า ในเวลาที่ล่วงแล้วมา ท่านสมาชิกวรรณคดีสมาคม มากท่านมัวไปฝักใฝ่เสียแต่ในการขับกาพย์อันสุนทร บําบวงอํานาจเปนการครื้นเครงอยู่นักหนา.

อันความกาลีแห่งอํานาจนั้น ย่อมจะแสดงออกมาเปนสองทางเสมอ ทางหนึ่ง แสดงออกมาจากผู้สวาปามอํานาจนั้นเข้าไป ทําให้ผู้สวาปามอํานาจแสดงพรึตติการณ์อันวิกลวิการต่างๆ ซึ่งผิดแผกไป จากพรึตติการณ์ของวิญญูชน และวิญญูชนก็ยากที่จะมีความคิดเข้าใจในพรึตติการณ์นั้นๆ ได้อีกทางหนึ่ง ความกาลีแห่งอํานาจจะสําแดงออกโดยพรึตติการณ์ของบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพยายามจะเอาสีรสะของตนเกลือกกลิ้งไปบนธุลีบาทแห่งอํานาจนั้น ด้วยหมายใจว่าเมื่อธุลีบาทแห่งอํานาจนั้น ได้ปกคลุมลงไปเหนือสีรสะของตนแล้ว ตนก็จะได้ใช้สีรสะอันดาดไปด้วยละอองธุลีบาท กอบโกยเอาลาภยศเปนอาณาประโยชน์ส่วนตนได้ โดยมิพักจะต้องคํานึงว่า แผ่นดินจะอาบไปด้วยน้ำตาแห่งความโสกสัลย์รันทดของ...[ต้นฉบับขาด]..ให้ แห่งคุณธัมเพียงใด บุคคลจําพวกนี้จะสาละวนอยู่แต่การประโคมดุริยางคแห่งการเยินยอ จนผู้สวาปามอํานาจกลายเป็นผู้มีดวงจักษุอันบอด และมีกรรมอันหนวก  ครั้นแล้ว เขาก็จะชวนกันประพรึตการ หยาบช้าอาธัมต่างๆ หนักมือขึ้นเปนลําดับ.

และครั้นแล้ว ก็จะมีอํานาจผู้ซื่อสัตย์และมีน้ำใจเจ็บร้อนด้วยราชการแผ่นดินอันวิปริตผันแปรไปจนเหลือที่จะทนดูได้สําแดงตนออกมาดังในพงสาวดารจีนเรื่องสามก๊ก เตาบูตันผวน คิดกําจัดพวกขันทีผู้หยาบช้าอาธัมของพระเจ้าเลนเต้ โดยมิได้อาลัยแก่ชีวิต ครั้งตั้งโต๊ะกําเริบเผด็จราชการแผ่นดินและประพรึตการหยาบช้าอาธัม เงาฮูฮ้องอุ้ม และโจโฉพร้อมด้วยอํานาจผู้ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินอีกหลายคนก็คิดล้างชีวิตตั๋งโต๊ะเสีย ภายหลังโจโฉผู้ฉวยโอกาสแห่งการจลาจล เสมือนนะโปเลียนได้ฉวยโอกาสแห่งการปฏิวัติของฝรั่งเศส คิดกําเริบจะตั้งตัวเปนกษัตริย์ ก็มีอํานาจผู้ซื่อสัตย์คิดกําจัดโจโฉอยู่ตลอดมา

ความกาลีแห่งอํานาจนี้ ได้มีมาแต่โบรานกาล นับตั้งพันๆ ปีมาแล้ว. ผลที่ปรากดก็มักจะลงรอยกันว่า ในท้ายที่สุดอธัมก็พ่ายแพ้ธัมทุกรายไป ผู้สวาปามอํานาจก็ถูกทําลายวายวอด และบุคคลจําพวกที่ยังชีวิตอยู่ด้วยการสอพลอหยาบช้าอาธัม ก็ต้องชดใช้ชีวิตของตนเพื่อผลกัมอันนั้น แต่ก็ประหลาดนักหนา ที่ชนรุ่นต่อมา หาได้จดจําแบบอย่างแห่งความประลัยเหล่านี้ไว้ไม่ สิ่งที่เคยเปนมาแล้วก็กลับเปนขึ้นอีก สตวรรสแล้วสตวรรสเล่า. เมื่อยุโรปได้ผ่านสมัยกลางแห่งลัทธิ Feudalism และได้ผ่านสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่สมัยการปติวัติ ฝรั่งเสส ค.ส. ๑๗๘๙ แล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่ามนุษยชาติได้สํานึกตระหนักอย่างจริงจังในความกาลีแห่งอํานาจและได้คิดค้นวิธีที่จะกําจัดความกาลีแห่งอํานาจนี้เสีย โดยวิธีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเปนวิธีอันประเสิดที่สุดเท่าที่มนุสยชาติจะได้เคยพบมา.

ประเทสไทยในปี พ.ส. ๒๔๗๕ ก็ได้รับเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้แทนระบอบเก่า ด้วยความมุ่งประสงค์ที่จะกําจัดความการแห่งอํานาจเหมือนกัน. แต่โดยที่ระบอบประชาธิปไตยในประเทสไทยยังเยาว์ วัยนัก และทั้งได้รับการฟูมฟักรักษาจากประชาชนไม่เพียงพอ อีกทั้งน้ําหนักแห่งความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินของมวลอํามาจไทยก็มีไม่พอ ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงแทบจะทลายลงไม่มีชิ้นดี ด้วยการบดขยี้ของอํานาจ.

แม้เราจะมีวิธีการกําจัดความกาลีแห่งอํานาจอยู่แล้วก็ดี แต่เราก็ได้พากันเห็นประจักส์แล้วว่า ความกาลีแห่งอํานาจก็อาจโผล่ออกมาสําแดงตนแก่เรา บดขยี้ความคิดจิตใจของเราและเดินลอยชายอยู่ได้เป็นเวลานับปีในแผ่นดินแห่งประชาธิปไตยแผ่นดินซึ่งอํานาจเป็นของปวงชนนี้

ฉะนั้นเราอย่าหลงไปว่า เมื่อมีระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือป้องกันความกาลีแห่งอํานาจแล้ว เราก็จะพากันนอนหลับสบายใจไปได้ เราเห็นประจักส์แล้วว่าความกาลีแห่งอํานาจ อาจเบ่งตัวของมันได้ในโครงร่างของประชาธิปไตยนี้ และเราอย่าหลงไปว่าความกาลีแห่งอํานาจ ซึ่งถูกทําลายไปครั้งหนึ่ง จะไม่โผล่ขึ้นมาอีกในภายภาคหน้า ถ้าเราพากันนอนหลับสบายต่อไป.

ระบอบการปกครองเป็นของไม่มีชีวิตวิญญาณ ไม่อาจปกปักรักสาตัวเองได้ กดหมายรัถธัมนูญจะไม่มีค่าสาระอันใด ถ้ามีผู้ละเมิด และไม่มีผู้ใดเจ็บร้อนต่อการที่กดหมายสูงสุดฉบับนั้นได้ถูกละเมิด. ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องการเลือดเนื้อและชีวิตปกปักรักสา.

ฉะนั้นแต่นี้ไปเมื่อหน้า ปวงชาวไทยจะต้องร่วมใจกันสอดส่องยืนยามพิทักส์รักสาประชาธิปไตยของเราให้จงดี. เราจะต้องจดจำความกาลีแห่งอํานาจไว้อย่างฝังใจ. มวลอํานาจจงเพิ่มความสัตย์ซื่อให้แก่การแผ่นดิน จงสําแดงความอาจหานที่จะทัดทานการกระทําอันโฉดเขลาอาธัม เยี่ยงอํานาจโบราณได้ประพรึติกันมา จงงดการประโคมดุริยางค์ให้แก่ความบ้าบอคอแตกต่างๆ. ฝ่ายพสกนิกร ก็จงสึกสาสิทธิของตัว สึกสาอํานาจหน้าที่ของผู้ปกครอง และอย่าถือตามผู้ใดโดยไร้ความคิดและเห็นเหตุผล.

ถ้าประชาชาวไทยมีความนับถือตนเองตามควรแล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็จะตั้งยั่งยืนนาน ความกาลีแห่งอํานาจก็จะไม่มาเดินลอยชายอยู่ได้ในแผ่นดินประชาธิปไตยของเรานี้. แม้เราจะสละความนับถือ ตนเองเสียเมื่อใด เราไม่แต่เพียงจะเปิดประตูหน้าต่างออกไว้ต้อนรับความกาลีแห่งอํานาจเท่านั้น เราเท่ากับเปิดทั้งหลังคาและใต้ถุนไว้ต้อนรับมันทุกด้านทีเดียว

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 22-23 กันยายน พ.ศ. 2487

 

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “เสรีภาพ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 103-109.

 

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :